แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ที่ประเทศอเมริกาเดี๋ยวนี้มีคนนับถือพุทธศาสนามาก แล้วเขาไม่ได้สนใจแค่พิธีกรรม เขาสนใจเรื่องสมาธิภาวนาด้วย เพราะฉะนั้นเขาจึงมีสถานปฏิบัติธรรมกระจายอยู่ทั่วอเมริกา ส่วนใหญ่ก็ฆราวาสดูแล เพราะเขาไม่ค่อยมีพระ สถานปฏิบัติธรรมที่ไม่ใช่เป็นวัด ส่วนใหญ่สมาคมเป็นเจ้าของแล้วบริหารกันในรูปของกรรมการสมาคม ทีนี้มีสถานปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งเขาสนใจอยากจะให้สมาชิกนอกจากรู้เรื่องสมาธิภาวนาแล้ว ยังอยากจะให้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี เพราะว่าความขัดแย้งเดี๋ยวนี้เกิดขึ้นไปทั่ว คนไม่รู้วิธีที่จะแก้ไข แม้แต่ความขัดแย้งในครอบครัวระหว่าง พ่อ แม่ ลูก หรือระหว่างสามี ภรรยา บางทีมันก็กลายเป็นความรุนแรง ด่าทอต่อว่า ทำลายข้าวของ อันนี้ไม่ต้องพูดถึงความขัดแย้งระหว่างเพื่อนบ้านหรือในที่ทำงาน เขาก็เลยเชิญวิทยากรมาให้การอบรมเกี่ยวกับทักษะการแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ซึ่งอันนี้ก็ถือว่าเป็นงานที่สอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าพระองค์ก็สอนว่าไม่ไห้ใช้ความรุนแรง ให้ใช้ความดีเอาชนะความชั่ว ความโกรธชนะความไม่โกรธ อันนี้แหละคือพื้นฐานของสันติวิธี
วิทยากรที่มานี้ก็ไม่ใช่ชาวพุทธ คือฝรั่งเดี๋ยวนี้ที่ไม่นับถือศาสนาก็เยอะ ก็มาอบรมสองวัน วันแรกราบรื่นด้วยดี วันที่สอง วิทยากรบอกว่าจะให้มีกิจกรรมสมมติ โดยใช้สิ่งที่เรียกว่าบทบาทสมมติ (role play) บทบาทสมมติก็คล้ายๆ ละครแต่มันไม่มีบทให้ท่อง มันต้องว่ากัน ต้องด้นกันสดๆ บทบาทสมมติสถานการณ์ก็คือว่ามีผู้ก่อการร้ายจับตัวประกันมาสองคน วิทยากรก็สมมติตัวเองว่าเป็นผู้ก่อการร้ายแล้วมีผู้อบรมสองคนมาสวมบทบาทเป็นตัวประกันถูกขังอยู่ในมุมห้อง ส่วนคนที่เหลือก็ให้มาช่วยกันเจรจากับผู้ก่อการร้ายว่าทำอย่างไรถึงจะปล่อยตัวประกันได้
พอแจกบทแล้วเล่าสถานการณ์เสร็จก็เริ่มต้นเลย เริ่มต้นอย่างไร ผู้ก่อการร้ายนี้ก็สูบบุหรี่ จุดบุหรี่สูบ คนในห้องก็โวยเลยว่าจุดได้อย่างไร นี่มันห้องสวดมนต์ มันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของเรา เรามีกฎห้ามสูบบุหรี่ในห้องสวดมนต์ ลองนึกภาพ ถ้าเกิดมีคนสูบบุหรี่ในหอไตรฯ มันคล้ายๆ กันหรือมันยิ่งกว่านั้นเสียอีก ผู้ก่อการร้ายบอกว่ากฎระเบียบอะไรของคุณผมไม่สนใจ ผมไม่รู้เรื่องอะไรทั้งสิ้น ว่าแต่ว่าพวกคุณจะมาเจรจาเรื่องไม่สูบบุหรี่หรือว่าจะเจรจาเรื่องการปล่อยตัวเพื่อนของคุณไป ที่เหลือก็ไม่ยอม รบเร้าให้ได้ว่า สูบบุหรี่ไม่ได้ในห้องนี้ เราเป็นห้องสวดมนต์ห้องทำสมาธิ ผู้ก่อการร้ายก็บอกว่า ก็ได้ๆ ผมไม่สูบบุหรี่ก็ได้ ว่าแล้วก็เดินไปที่พระพุทธรูปแล้วก็ก็บี้บุหรี่ตรงพระเพลาหรือตักของพระพุทธรูป โกรธกันใหญ่เลยคราวนี้ โกรธกันใหญ่เลย มีคนตะโกนขึ้นมาว่า คุณทำอะไร นี่มันพระพุทธรูปนะ ผู้ก่อการร้ายก็บอกว่า ผมไม่สนใจพระพุทธรูปของคุณ ผมไม่ได้นับถืออยู่แล้ว ผมไม่สนใจ ตกลงคุณยังจะเจรจาเรื่องปล่อยตัวประกันอยู่หรือเปล่า ถ้าคุณไม่สนใจเจรจาปล่อยตัวเพื่อนของคุณ ผมก็จะกลับแล้ว อีกคนหนึ่งก็ไม่ยอม คนที่เหลือก็ไม่ยอม ก็โวยวายใหญ่ว่าทำอย่างนี้มันถูกที่ไหน
มีคนหนึ่งก็พูดขึ้นมาว่า เราก็รู้คุณไม่ใช่พุทธ แต่คุณก็ควรจะเคารพสถานที่ เราเชิญคุณมาเพื่อมาอบรมสันติวิธี คุณควรจะเคารพสถานที่ของเรา พระพุทธรูปของเรา พอพูดอย่างนี้เข้า ผู้ก่อการร้ายก็พูดว่า คุณอยากให้ผมเคารพสถานที่หรือ อยากจะรู้ไหมว่าผมเคารพสถานที่อย่างไร ว่าแล้วก็เดินไปที่ใกล้ๆ พระพุทธรูป แล้วก็ฉี่ตรงมุมห้อง คราวนี้ทุกคนตะลึงตกใจ โมโห ทุกคนต่างกรูกันไปที่ตัววิทยากรที่สมมติเป็นผู้ก่อการร้าย แล้วก็เตะ ต่อย บางคนก็ถีบ เป็นพัลวันชุลมุนเลย ผู้ก่อการร้ายสุดท้ายก็เอาตัวรอดออกมาได้ แล้วก็หนีออกไปเลย ก่อนจะหนีก็บอกว่า ให้ตัวประกันเป็นอิสระแล้ว เรื่องก็จบเท่านี้
คราวนี้มันน่าคิดว่าทำไมการอบรมสันติวิธีมันจึงลงเอยด้วยการใช้ความรุนแรง คนที่มาอบรมก็อยากจะเรียนรู้เรื่องสันติวิธีถึงกับไปเชิญวิทยากรมา แต่ทำไมถึงลงเอยด้วยการเตะ ถีบ ต่อยวิทยากร ทั้งที่หลายคนก็เป็นพวกที่รักสันติ บางคนก็กินมังสวิรัติมาหลายปี ยุงก็ไม่ตบ แต่ทำไมถึงไปเตะ ไปถีบคนอื่นเขา เกิดอะไรขึ้น ทำไมสิ่งที่เกิดขึ้นมันตรงข้ามกับนิสัยใจคอหรือว่าตรงข้ามกับสิ่งที่เรามุ่งมาดปรารถนา อยากจะเรียนรู้เรื่องสันติวิธี แต่ว่ากลายเป็นลงเอยด้วยการใช้ความรุนแรง ถามว่าตัวประกันได้อิสระไหม ก็ได้ แต่ว่าถ้าให้คะแนนก็เรียกว่าทั้งชั้นนี้ตก เพราะว่าไม่ได้ใช้สันติวิธี ทำไมมันถึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่าความลืมตัว เมื่อเห็นสิ่งที่ตัวเองเคารพ เช่น พระพุทธรูป หรือสถานที่ถูกจ้วงจาบ เนื่องจากมีความยึดติดถือมั่นในสถานที่มาก มีความยึดติดในพระพุทธรูปมากว่าเป็นสิ่งที่ควรเคารพ พอสิ่งที่ตัวเองนับถือ สิ่งที่ตัวเองเคารพมันถูกกระทำหรือถูกปฏิบัติด้วยความไม่สุภาพ ก็เกิดอาการลืมตัว พอลืมตัวแล้วก็สามารถจะทำสิ่งที่ไม่เคยทำหรือไม่คิดว่าจะทำ หรือทำสิ่งที่ตรงข้ามกับความปรารถนาของตัวก็ได้ อยากจะมาเรียนเรื่องสันติวิธีแต่ว่าลงเอยด้วยการใช้ความรุนแรง
ความลืมตัวมันเกิดเพราะความยึดติดถือมั่น ยึดติดถือมั่นในพระพุทธรูป ยึดติดถือมั่นในความถูกต้อง มันก็น่าคิดว่าเมื่อเจอความไม่ถูกต้องเกิดขึ้นเราก็อยากทำให้มันถูกต้อง เมื่อเขาสูบบุหรี่ เมื่อเขาไม่เคารพพระพุทธรูป เมื่อเขาฉี่ในห้องสวดมนต์ อันนี้คือความไม่ถูกต้อง แต่ที่จริงมันเป็นความไม่ถูกต้องที่เขาแกล้งทำ วิทยากรเขาแกล้งทำ เขาแกล้งทำเพื่ออะไร เพื่อเขาแหย่ แหย่ว่าเราจะคุมอารมณ์ได้ไหม เพราะสันติวิธีมันต้องมีการควบคุมอารมณ์ด้วย แต่คนเหล่านี้ก็เป็นนักปฏิบัติทำสมาธิภาวนามาเยอะ แต่พอเจอการยั่วยุแบบนี้สติแตกเลย อาจจะเป็นเพราะว่าไม่ได้ฝึกสติมาเพียงพอ อาจจะฝึกแต่สมาธิ พอเจอสิ่งยั่วยุเข้า สติเอาไม่อยู่ เห็นความไม่ถูกต้องเกิดขึ้นกับสิ่งที่ตัวเองเคารพ อยากจะทำให้มันถูกต้อง แต่สุดท้ายกลายเป็นทำความไม่ถูกต้องให้เกิดขึ้น แล้วก็เป็นความไม่ถูกต้องที่มันรุนแรงกว่า ที่มันแย่กว่ากว่าอีกฝ่ายหนึ่งด้วย อีกฝ่ายหนึ่งก็แค่ทำสิ่งไม่ถูกต้องกับวัตถุ แต่ว่าชาวพุทธกลุ่มนี้อยากจะรักษาความถูกต้อง แต่สุดท้ายกลายเป็นทำความไม่ถูกต้องให้เกิดขึ้น นี้เป็นโทษของความยึดติดถือมั่น แม้แต่การยึดติดถือมั่นในความถูกต้องมันก็เกิดโทษได้
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าหญ้าคาถ้าจับไม่ดีก็บาดมือ ความเป็นสมณะถ้าบรรพชิตรักษาไว้ไม่ถูกมันก็ฉุดให้ลงนรก หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าสิ่งที่ดีหรือสิ่งที่ดูจะไม่มีพิษไม่มีภัยถ้าปฏิบัติผิดมันก็เกิดโทษได้ เรียกว่าทำผิดในสิ่งที่ถูก การเคารพพระพุทธรูปการเคารพสถานที่มันก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ว่าถ้าไปยึดติดถือมั่นมากๆ มันสามารถจะชักนำให้ไปสู่ความไม่ดีได้ อันนี้ก็เป็นตัวอย่างว่าคนเราเวลาเห็นความไม่ถูกต้องเกิดขึ้น ถ้าเราไม่มีสติ ถ้าเราไม่ระวังตัว เราเองนั่นแหละจะทำให้เกิดความไม่ถูกต้องที่ยิ่งกว่าที่เราเห็นหรือที่เรารับรู้ด้วยซ้ำ ความไม่ถูกต้องนี้มันก็เกิดขึ้นจากความยึดติดถือมั่น
อันนี้ก็เป็นบทเรียนที่เตือนใจเรา และสิ่งที่มันไม่ใช่แค่เหตุการณ์สมมติ ในโลกแห่งความเป็นจริงเดี๋ยวนี้มันจะมีเหตุการณ์ทำนองนี้ว่าสิ่งที่เรานับถือ สิ่งที่เราผูกพัน สิ่งที่เราเคารพ คนอื่นเขาไม่ได้เห็นเหมือนกับเรา แล้วบางทีเขาก็ทำด้วยความไม่รู้บ้าง หรือด้วยเจตนาบ้าง เรียกว่าจ้วงจาบดูหมิ่น คราวนี้เมื่อมันมีความไม่ถูกต้องเกิดขึ้นเราจะทำให้ความถูกต้องมันกลับคืนมาก็ต้องมีสติ เราก็ต้องใช้ความถูกต้อง ใช้สิ่งที่ดีงามเข้าไปแก้ไข ไม่ใช่ว่าพอเขาทำไม่ถูกเราก็เลยถือสิทธิ์ว่าฉันก็ต้องทำไม่ถูกกับแกบ้าง เช่น ชนแล้วหนี จับมาได้ มาชนรถฉัน มาชนท้ายรถฉัน รถราคาแพงด้วย มอเตอร์ไชค์ชนแล้วก็หนีไป แต่ว่าเจ้าตัวคนที่ขี่มอเตอร์ไซค์ก็รู้ว่าผิดก็กลับมา กลับมาเพื่อจะขอโทษขอโพย เจ้าของรถนี้ไม่พอใจมาก รถเป็นรถคันโปรดด้วย ใจจะสลายเห็นรถมีรอยขูดรอยบุบ ก็ไปลากคอคนขับมอเตอร์ไซค์มาตบมาต่อย แล้วก็พูดว่าทำไมถึงหนี ทำไมถึงหนี คือต้องการสั่งสอนว่าชนแล้วอย่าหนี แต่ว่าสิ่งที่ตัวเองทำมันแย่กว่าชนแล้วหนี เพราะว่าชนแล้วหนีมันก็แค่ทำลายทำให้รถบุบ แต่ว่าไปต่อยเขามันผิดกฎหมายยิ่งกว่าการทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ในเมื่อเขาทำไม่ถูก เราก็อย่าพลอยทำไม่ถูกซ้ำเติมเข้าไปใหญ่ นี้ต้องระวังว่าความยึดมั่นในความถูกต้อง เช่น ชนแล้วอย่าหนี อันนี้คือความถูกต้องเป็นมารยาทของสังคม ในเมื่อเราเห็นว่าอันนี้เป็นสิ่งดีที่ควรจะเคารพ ดี แต่ถ้าไปยึดมั่นมากๆ ระวังว่าเราจะกลายเป็นคนที่ทำความไม่ถูกต้องคนที่สองแล้วก็ทำหนักกว่าเดิม
บางทีเราเห็นลูก ลูกทำไม่ดี เราพ่อแม่เป็นคนที่ธรรมะธัมโมอยากจะให้ลูกเป็นคนดีมีศีล แต่บางทีลูกก็ไม่เอาถ่านอาจจะไม่ถึงกับสำมะเลเทเมา แต่ว่าไม่ค่อยเชื่อฟังพ่อแม่ชอบเถียงพ่อแม่ หรือว่าอาจจะกลับบ้านดึก งานการหรือการบ้านก็ไม่ค่อยทำ พ่อก็ว่า ลูกก็เถียง พ่อยิ่งโกรธใหญ่ว่าคนดีเด็กดีเขาไม่เถียง พ่อก็เลยใช้ความรุนแรง ตบ บางทีตบหน้าลูกหรือว่าตีลูก หรือถึงไม่ตีไม่ตบแต่ด่าแรงๆ มันก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องแล้ว ถ้าลูกทำไม่ดีก็ไม่ได้แปลว่าเราจะมีสิทธิ์ทำในสิ่งที่ไม่ดี หรือทำในสิ่งที่แย่กว่า แต่มันก็เป็นเพราะความยึดมั่นถือมั่น ยึดติดในความดี พอยึดติดในความดีแล้วอยากจะให้ลูกดีเหมือนตัว หรืออยากจะให้ลูกดีอย่างที่ตัวเองคิด พอลูกไม่ดีก็โกรธ ใช้ความรุนแรงด้วยวาจาบ้าง ด้วยการกระทำบ้าง
มีพ่อคนหนึ่งเสียใจลูกไปชกต่อยกับเพื่อนที่โรงเรียน ครูใหญ่ก็มาแจ้งเพราะการต่อยในโรงเรียนมันเป็นเรื่องที่เป็นความผิดที่ร้ายแรงมาก ครูใหญ่ก็มาแจ้งผู้ปกครอง พอลูกกลับมาถึงบ้าน พ่อก็ว่าลูกว่าทำไมถึงไปต่อยเขา ลูกก็บอกว่าเป็นเพราะเพื่อนมาดูถูกเหยียดหยามมาแกล้ง พ่อก็บอกว่าเขาแกล้งเรา เราก็ไม่ควรจะใช้ความรุนแรง พูดกันดีๆ ใช้สันติวิธี เขาทำไม่ถูกเราก็อย่าไปทำผิดซ้ำสอง ลูกก็เถียงว่าจะยอมให้เขาทำ ยอมให้เขาแกล้งเราได้อย่างไร เขาจะหาว่าเราเป็นคนอ่อนแอ ถ้าเราปล่อยให้เขาทำเขาก็จะหาว่าเราหน้าตัวเมีย พ่อก็บอกว่าถ้าเขาว่าเราก็ช่างสิ แต่เราต้องหนักแน่นอดทน ลูกก็ไม่พอใจเพราะว่ามันทำอย่างนี้มันหยามขี้หน้ากัน พ่อก็บอกว่าอย่างไรก็ต้องทน เขาด่าว่าเราเป็นหน้าตัวเมียเราก็ต้องยอม ลูกก็เลยโมโหว่าเพราะพ่อทำอย่างนี้พ่อก็เป็นคนขี้ขลาดเหมือนกัน ใครๆ ก็ว่าพ่อหน้าตัวเมียเหมือนกัน พ่อโกรธมาก ตบลูกเลย พ่อสอนให้ลูกใช้สันติวิธี แก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ใครว่าเราอย่าไปโกรธ แต่พอลูกไม่ใช้สันติวิธี พ่อโมโหตบลูกเลย นี้เพราะอะไร เพราะยึดมั่นในสันติวิธี พ่อยึดมั่นในสันติวิธีมาก พอลูกไม่ยึดมั่นเหมือนพ่อ พ่อโกรธ แถมเถียงพ่ออีก พ่อตบเลย
ยึดมั่นอะไรก็ตามถ้าไปยึดมั่นถือมั่นมากมันจะกลายเป็นทำตรงข้าม เพราะอะไรรู้ไหม เพราะว่าเวลายึดมั่นมันจะมีความยึดมั่นว่าเป็นตัวกูของกู มันจะมีตัวกูเข้ามา พอมีตัวกูเข้ามาอันนี้อันตรายแล้ว เพราะว่าบางทีเราคิดว่าเรากำลังปกป้องความถูกต้อง แต่ที่จริงเรากำลังปกป้องตัวกูมากกว่า คือเรากำลังแก้แค้นเพราะตัวกูถูกกระทบ เช่น เรานับถือพระพุทธรูป เราก็นับถือว่าพระพุทธรูปของกู พระพุทธรูปของกู พอมีคนมาทำไม่ดีกับพระพุทธรูปก็จะรู้สึกว่ากูถูกคุกคาม กูถูกท้าทาย มันมีตัวกูเข้ามาแทรกซึ่งทำให้เกิดความลืมตัว ทำให้เกิดความโกรธ สิ่งที่ทำไม่ใช่เพื่อปกป้องพระพุทธรูป แต่ปกป้องตัวกู หรือว่าแก้แค้น ที่ตัวกูมันถูกดูถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม อันนี้เป็นเรื่องที่มันละเอียดอ่อนมากที่เราต้องหันมาใคร่ครวญ ทุกครั้งที่มีความยึดติดถือมั่นมันจะมีตัวกูของกูเข้ามาแทรกแล้วก็เข้ามาบงการ
อย่าว่าแต่สิ่งที่เรานับถือถูกคุกคามหรือว่าถูกจ้วงจาบเลย เวลาเรานับถืออะไรหรือนับถือใครก็ตามถ้าคนๆ นั้นพูดไม่ถูกใจเราเราก็โกรธ เราไม่ใช่โกรธเฉพาะคนที่ทำไม่ดีกับสิ่งที่เรานับถือหรือกับคนที่เรานับถือ แม้กับคนที่เรานับถือเองเขาทำไม่ถูกใจเราเราก็โกรธ
ในสมัยพุทธกาลมีคราวหนึ่งพระสารีบุตรกำลังจะจาริกไปที่ไกล พระในวัดเชตวันก็มาเข้าแถวคอยส่ง อันนี้เป็นธรรมเนียมเข้าแถวคอยส่ง พระสารีบุตรท่านเป็นคนสุภาพ เวลาเดิน ก่อนที่จะเดินออกก็ทักทายพระที่มายืนรอส่งท่าน ถามชื่อ ถามโคตร ถามวงศ์ตระกูล ก็ถามอย่างนี้กับทุกคน แต่มีคนหนึ่งเขาเคารพพระสารีบุตรมากเลย แต่ว่าพระสารีบุตรเดินผ่านไม่ทักเขา ไม่ถามเขา เขาโกรธ เขาโกรธมากเลย เผอิญชายจีวรของพระสารีบุตรไปถูกตัวเขา เขาก็เลยหาเหตุใส่ร้ายพระสารีบุตรว่าทำร้ายเขา ไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระสารีบุตรทำร้ายข้าพระองค์ ก็เลยต้องมีการไต่สวนกัน สุดท้ายพระสารีบุตรก็บริสุทธิ์
แต่ประเด็นก็คือว่าทำไมคนซึ่งศรัทธาพระสารีบุตรทำไมจึงลงเอยด้วยการใส่ร้ายพระสารีบุตร ศรัทธามันน่าจะเป็นเมื่อศรัทธาใครก็น่าจะยอม ใครทำอะไรก็ยอม ใครทำอะไรกับเราก็ยอม ใครเขาจะว่า ครูบาอาจารย์จะว่าเราเราก็ยอม อันนี้เรียกว่าศรัทธา แต่ว่าคนจำนวนไม่น้อยพอศรัทธาแล้ว ศรัทธาใครก็ตาม ยิ่งศรัทธามากๆ ก็อยากจะให้เขาให้ความสำคัญกับเรา ถ้าไม่ศรัทธาพระสารีบุตร พระสารีบุตรเดินผ่านพระรูปนั้นก็คงจะเฉยๆ แต่เพราะศรัทธามากก็อยากจะให้พระสารีบุตรให้ความสำคัญกับเรา ไอ้ตัวที่อยากให้ความสำคัญกับเราคืออะไร คือตัวกู มานะ อยากจะให้พระสารีบุตรให้ความสำคัญกับตัวกู แต่พอพระสารีบุตรเดินผ่าน ไอ้ตัวกูก็โกรธ โกรธ หาทางแก้แค้น
คนเราเป็นอย่างนี้เยอะ ศรัทธาใครก็ตาม พอครูบาอาจารย์พูดไม่ถูกใจเรา เช่น อาจจะตำหนิ อาจจะทักท้วง โกรธเลย จากความรักความเทิดทูนกลายเป็นความคิดแค้น เทวทัตก็เป็นเหมือนกัน เทวทัตอยากได้ความยอมรับจากพระพุทธเจ้า ที่แรกก็อาจจะศรัทธาถึงออกบวช แต่สุดท้ายก็กลายเป็นศัตรูผู้หมายปองพระพุทธเจ้า
พระรูปหนึ่งชื่อพระสุภัททะก็ศรัทธาพระพุทธเจ้า เมื่อทราบว่าพระพุทธเจ้าจะเสด็จมายังในเมืองของตัวเองก็กระตือรือร้นบอกญาติพี่น้องบอกเพื่อนให้เตรียมอาหารมาถวายท่าน บางทีก็ไปบังคับเขาด้วยให้เตรียมอาหารมาถวายพระพุทธเจ้า ตัวเองถึงกับลงมือปรุงอาหารเองเลย พระพุทธเจ้าทราบ เมื่อพระองค์ทราบพระองค์ก็รู้ว่าไม่ถูกต้อง ไปเกณฑ์คนไปบังคับให้มาถวายอาหารพระองค์ พระองค์ก็เลยเดินผ่าน ไม่ได้เข้าไปรับอาหารจากพระสุภัททะ พระสุภัททะก็โกรธ โกรธเลย และที่พระองค์เดินผ่านก็เพราะเห็นว่าสิ่งที่พระสุภัททะทำไม่ถูกต้อง
แต่พระสุภัททะมองไม่เห็นโทษของตัวเอง โกรธ แค้นพระพุทธเจ้า พอวันหนึ่งได้ข่าวว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพาน แกดีใจเลย บอกกับพระมหากัสสปะว่ากับพระที่รู้ข่าวซึ่งกำลังเศร้าโศกเสียใจว่า เศร้าโศกเสียใจไปทำไม ตอนนี้พระพุทธเจ้าไม่อยู่แล้ว ตอนที่พระองค์อยู่พวกเราเดือดร้อนกันมาก เพราะพระองค์คอยห้ามโน่นห้ามนี่ ตอนนี้พระองค์ไม่อยู่แล้ว เรามีอิสระแล้ว จะเสียใจไปทำไม อันนี้เป็นความคิดที่เกิดจากความรู้สึกแค้นพระองค์ อันนี้แหละคือที่มาที่ทำให้พระมหากัสสปะเห็นความสำคัญของการสังคายนา จึงมีสังคายนาสามเดือนหลังจากพุทธปรินิพพาน ซึ่งในแง่หนึ่งก็ต้องขอบคุณพระสุภัททะ เพราะถ้าไม่พูดแบบนี้พระมหากัสสปะก็ไม่มีความคิดว่าจะให้มีการสังคายนา ในแง่หนึ่งก็ต้องขอบคุณพระสุภัททะ
แต่ประเด็นคือว่าคนที่เคารพพระพุทธเจ้ามากๆ ทำไมถึงกลายเป็นแค้น ยิ่งเคารพมากยิ่งต้องระวัง เพราะว่าไอ้ตัวกูของกูมันจะเข้ามาแทรก มันจะเข้ามาแทรก เคารพเป็นสิ่งที่ดีแต่ถ้าไม่มีสติมันจะเข้ามาแทรก ตัวกู อาจารย์ของกู แล้วก็ปรารถนาให้อาจารย์ของกูให้ความสำคัญกับตัวกู พออาจารย์ไม่ให้ความสำคัญกับกูแถมว่ากูเสียอีก โกรธเลย ตัวกูมันสั่งเลยว่าต้องหาทางแก้แค้นให้สาสม ความยึดมั่นถือมั่นไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ สิ่งของ บุคคล ต้องระวังเพราะว่ามันสามารถทำให้เราทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้ แม้ว่าสิ่งที่เรานับถือมันจะเป็นสิ่งดี แต่ว่าพอไปยึดถือเข้ามันจะกลายเป็นการชักนำให้เราทำผิดได้
หลวงพ่อเฟื่อง โชติโก ลูกศิษย์หลวงปู่มั่นเคยกล่าวไว้ ถึงความเห็นของเราจะถูก แต่ถ้ายึดเข้าไว้มันก็ผิด แต่ถ้าเรายึดเข้าไว้มันก็ผิด ที่จริงอันนี้พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้นานมาแล้วว่าธรรมทั้งหลายไม่ควรยึดมั่นถือมั่น พระองค์เปรียบว่าธรรมของพระองค์เหมือนกับแพที่พาเราข้ามถึงฝั่ง พอถึงฝั่งแล้วคนฉลาดเขาก็เดินขึ้นฝั่งเลย แต่คนโง่ก็ยังแบกแพขึ้นฝั่ง แล้วพระองค์ก็เลยอุปมาว่าธรรมของพระองค์เปรียบเหมือนกับแพที่พาขึ้นฝั่ง ไม่ควรจะยึดมั่นถือมั่น นับประสาอะไรกับอธรรม อธรรมนี่ยิ่งไม่ต้องพูดถึง
เพราะฉะนั้นเวลาเรานับถือหรือศรัทธาอะไรก็ตามก็ต้องให้มีสติ อย่าให้มันกลายเป็นความยึดมั่นถือมั่นไป เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ตัวกู ของกู มันจะเข้ามาครอบงำแล้วก็ชักนำให้เราทำในสิ่งที่ไม่ถูกได้ โดยเฉพาะความโกรธความเกลียด เวลาคนเขาไม่เคารพ เขาจ้วงจาบ เขาดูหมิ่นสิ่งที่เรานับถือหรือคนที่เราศรัทธา คนธรรมดาก็ต้องมีตัวกู พอเจอเหตุการณ์แบบนี้ก็อาจจะโกรธ แต่ก็ให้มีสติเอาไว้ เพราะถ้าไม่มีสติ ความโกรธด้วยอำนาจของตัวกูมันก็จะทำให้เราทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เขาทำไม่ถูกเราก็ต้องแก้ เราก็ต้องท้วงติง แต่ถ้าเราไม่ระวังตัว เรานั่นแหละที่จะกลายเป็นคนทำไม่ถูกเสียเอง และเป็นความไม่ถูกที่มันยิ่งกว่าที่คนอื่นทำเสียอีก