แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คนเรา เวลามาถวายทาน จะเป็นใส่บาตรหรือถวายสังฆทาน ก็อยากจะได้บุญ คำว่าบุญก็ต้องรู้จักให้ดีเพราะเดี๋ยวนี้มีความเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนมาก ตัวอย่างง่ายๆ เวลาจะกรวดน้ำหรืออุทิศบุญกุศลให้ใคร เดี๋ยวนี้บางคนมีความเข้าใจว่าถ้าเราอุทิศให้คนอื่นบุญกุศลของเราจะเหลือน้อยลง ยิ่งเราอุทิศให้กับใคร บุญของเราก็จะมากขึ้นไปด้วย เป็นบุญที่เรียกว่า ปัตติทานมัย ปัตติทานมัยคือการอุทิศบุญกุลคลให้กับผู้อื่น จะเป็นผู้ล่วงลับ จะเป็นเจ้ากรรมนายเวร หรือแม้แต่คนที่มีชีวิตอยู่ก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้เราไม่เพียงแต่หวงเงิน แต่เรายังหวงบุญด้วย จะอุทิศหรือเราจะแผ่บุญกุศลให้ใครก็ไม่เห็นพอใจ ไม่อยากทำ เพราะคิดว่าบุญกุศลเหมือนกับเงิน ยิ่งให้กระเป๋าเราก็เหลือน้อยลง แต่บุญไม่ใช่อย่างนั้น บุญยิ่งให้เราก็ยิ่งได้ แล้วเดี๋ยวนี้มีบางคนเข้าใจไปว่า เวลาพระจะให้พร หรือเวลาเหมือนจะอุทิศบุญกุศลให้ใคร ถ้ามีคนอื่นมาร่วมรับพรด้วย มาร่วมรับบุญด้วย ก็จะได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แบบนี้ก็มี
มีเพื่อนที่เป็นพระเล่าให้ฟัง มีสามีภรรยาคู่หนึ่งมาถวายสังฆทาน พอทำพิธีถวายเสร็จท่านก็จะให้พร และก็เป็นโอกาศที่เจ้าตัวจะได้กรวดน้ำ แกคงมาเหมือนกับสะเดาะเคราะห์เพราะมีเคราะห์ แต่ว่าพอพระจะให้พรตัวภรรยาก็ออกไป พระท่านก็รออยู่ว่าเมื่อไรภรรยาจะกลับมาเพื่อให้พรพร้อมกัน ก็ไม่กลับเข้ามาสักที พอสอบถามสามีก็ได้ความว่า เขากลัวว่าถ้าเขามารับพรด้วย พรที่สามีจะได้หรือกุศลที่จะได้ก็จะน้อยลงเพราะต้องหารสอง เรื่องนี้คิดกันแบบนี้ มันไม่เหมือนอาหาร ไม่เหมือนกับเงิน เงินนี่ถ้าให้ใครถ้ามีน้อยคนตัวหารก็น้อยแต่ละคนก็ได้มาก แต่ถ้าคนมากแต่ละคนก็ได้น้อยลงเพราะต้องหารเฉลี่ยให้เท่าๆกัน อาหารก็เหมือนกัน อาหารที่มีมากแต่คนกินมีมากด้วยแต่ละคนก็ได้น้อยลง แต่บุญไม่ใช่อย่างนั้น
พรก็เหมือนกัน จะกี่คนๆรับพรรับบุญก็ได้เท่ากัน ที่จริงจะว่าได้เท่ากันก็ไม่ถูก เพราะมันอยู่ที่ใจ ถ้าใจตอนนั้นใจโปร่งใจโล่งใจเบาสบายก็รับหรือได้บุญเต็มๆ เหมือนกับน้ำที่จะใส่แก้ว น้ำจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่ว่าแก้วว่างหรือไม่ ถ้าแก้วว่างก็รับน้ำได้เต็มๆ แต่ถ้าแก้วมีน้ำอยู่แล้วสักครึ่งหนึ่งหรือหนึ่งในสาม แถมเป็นน้ำขุ่นๆด้วย เติมน้ำใสน้ำขาวลงไปก็ได้แค่ครึ่งเดียวที่เหลือก็ล้นหมด เวลาเรามาทำบุญก็ต้องทำใจให้โปร่งให้โล่งสบาย จึงมีประเพณีว่าก่อนที่จะถวายสังฆทานก็ให้มีพิธีกรรมเล็กน้อยก่อน เช่น กล่าว นโมฯ สามจบ แล้วก็กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย แล้วก็อาจจะมีการสมาทานศีลด้วย ทั้งหมดนี้ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้ใจสงบ ให้ใจโล่งปลอดโปร่ง ทำให้เกิดความปิติ เวลาถวายทาน ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังจากที่ถวายทาน ถ้าระหว่างที่ถวายกังวลว่าจะไม่ใครถ่ายรูปเลย แล้วจะไปขึ้นเฟสบุ๊คอย่างไร จิตใจก็หม่นหมองแล้ว เดี่ยวนี้จะทำบุญต้องมีคนมาถ่ายรูป พอไม่มีคนมาถ่ายรูป หรือลืมเอากล้องมา ลืมเอาโทรศัพท์มา ไม่สบายใจแล้วจิตใจหม่นหมองแล้ว ตรงนี้แหละที่ทำให้ได้บุญน้อย เพราะว่าจิตใจไม่โปร่งไม่โล่ง
แล้วเวลาทำบุญ ถวายทาน ถวายสังฆทาน จะกรวดน้ำก็ได้ ไม่มีน้ำก็นึกในใจก็ได้ เรียกว่ากรวดแห้ง นึกถึงผู้ที่ล่วงรับที่เราจะอุทิศส่วนกุศลไปให้ แล้วก็ไม่ต้องนึกว่าพระจะสวดยะถาฯ หรือไม่ แล้วก็ไม่ต้องเจาะจงว่าต้องสวดยะถาฯ เท่านั้น เคยไปบิณฑบาตรแถวบ้านตาดรินทอง มีชาวบ้านพึ่งกลับมาจากในเมืองสงสัยจะไปทำงานมาหลายปี เมื่อใส่บาตรเสร็จแล้วก็รอกรวดน้ำ อาตมาก็เริ่มสวดอะภิวาทะนะสีฯ เธอก็ไม่ยอมกรวดน้ำสักที จนจบแล้ว แกก็พูดขึ้นมาว่า หลวงพ่อสวดยะถาฯ หน่อย แต่อะภิวาทะนะสีฯ ก็เป็นส่วนหนึ่งของบทยะถาฯ อยู่แล้ว แกเข้าใจว่าต้องยะถาฯ ถึงจะได้บุญมาก ถ้าไม่ยะถาฯ ได้บุญน้อย ไม่เกี่ยวกันเลย มันอยู่ที่ใจ
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจประเสร็ฐสุด สำเร็จได้ด้วยใจ จะทำบุญอยู่ที่ใจเป็นสำคัญ บุญจะได้มากหรือน้อยอยู่ที่ใจ แล้วก็ไม่ได้อยู่ที่ว่าเจ้าตัวจะต้องเป็นคนถวายด้วยมือหรือเปล่า บางรายเจ้าภาพทอดกฐินเป็นผู้หญิง ถึงเวลาจะทอดผ้าก็ให้สามีทอด พอสามีทอดผ้าเสร็จ ตัวโยมผู้หญิงก็คิดว่าเราจะได้บุญหรือเปล่า เพราะเราไม่ได้ถือผ้าเอง ที่จริงไม่จำเป็นว่าเราจะต้องถือผ้าเองหรือว่าถวายผ้าเองประเคนผ้าเอง แค่ทำใจให้โปร่งโล่งปิติยินดีแค่นี้ก็ได้บุญแล้ว แต่พอจิตใจกังวลกังขาสงสัยว่า เราจะได้บุญหรือไม่ ตรงนี้แหละที่ทำให้ได้บุญน้อยลงเพราะจิตใจหม่นหมองแล้ว ที่จริงเป็นผู้หญิงก็ถวายผ้าได้ จะเป็นผ้าป่าผ้ากฐินก็ตาม ไม่จำเป็นต้องแตะตัวกันก็ได้ บางทีเตะตัวกันเป็นสิบๆคนเลย มันไม่เกี่ยว บุญเป็นเรื่องของใจ ไม่ใช่เรื่องของรูปแบบ ไม่ใช่เรื่องของพิธีกรรม พิธีกรรมเป็นแค่ตัวช่วย จะแตะไม่แตะตัว จะใช้น้ำไม่ใช้น้ำก็ไม่สำคัญ ไม่มีเงินถวายแค่อมุโมทนายินดีก็ได้บุญแล้ว เรียกว่า ปัตตานุโมทนามัย
อย่างมีคราวหนึ่งนางวิสาขาถวายศาลา โดยสร้างอย่างดีเลยถวายแก่สงฆ์ เพื่อนของนางไม่มีเงินก็อนุโมทนาเสมือนว่ายินดี เสมือนกับว่าเป็นผู้ถวายเอง ร่วมอนุโมทนายินดีในนางวิสาขา ปรากฏว่าพอตายก็มีวิมานบนสวรรค์รองรับ นางสงสัยว่าวิมานนั้นได้มาจากไหน ก็ได้คำตอบว่าได้มาจากการอนุโมทนาในบุญที่นางวิสาขาทำไว้ แบบนี้ไม่ต้องใช้เงิน แค่มีจิตใจยินดี ใครทำความดีก็อนุโมทนา ไม่อิจฉาเขา ไม่อิจฉาแม้กระทั่งว่าเขาถวายมากเราถวายน้อย ที่จริงแม้แต่การบอกทาง บอกทางคนแปลกหน้าว่ามาทำบุญมาตรงนี้เป็นทางเข้าวัด เป็นทางไปวิหาร นี่ก็ได้บุญแล้ว มีอุบาสิกาบางคนตายไปแล้วก็ได้ไปอยู่ในสวรรค์ นางถามว่าทำบุญอะไรมาถึงได้มาอยู่ในวิมาน ก็ได้คำตอบว่าเพราะว่าบอกทางคนมาทำบุญ
เห็นได้ว่าการทำบุญทำได้หลายวิธีมากเลย ไม่ต้องใช้เงินก็ได้ ทำเสร็จพิธีกรรมเป็นเรื่องรอง เมื่อได้บุญแล้วก็ควรเผื่อแผ่ไปให้คนอื่น อย่าไปงกบุญ สมัยนี้เราเอาความคิดแบบโลกๆ ซึ่งมีความเห็นแก่ตัว มีความแก่งแย่งแข่งขันกันมาใช้กับศาสนา อย่างเช่นการให้เงิน ถ้าให้เงินกับคนอื่นมากเราก็จะเหลือน้อย พอเอาวิธีคิดนี้มาใช้กับการทำบุญก็เลยงกบุญ ทำบุญแล้วก็ไม่อยากอุทิศให้ใคร แทนที่เราจะเอาธรรมะมาช่วยทำให้การคิดการกระทำทางโลกของเราสะอาดมันบริสุทธิ์มากขึ้น เรากลับเอาความคิดทางโลกที่มีความเห็นแก่ตัว ตัวใครตัวมัน มาใช้กับการทำบุญ มาใช้กับศาสนา เวลาพระจะให้พรก็ไม่อยากให้คนมารับพร เดี่ยวมาก กลัวว่าพรที่ตัวเองจะได้น้อยลงเพราะว่ามีคนมารับพรมาก พรก็ต้องกระจายไปคนอื่น อย่างนี้ไม่ใช่โปรยทาน โปรยทานนี่ถ้าคนมากเราก็จะได้น้อย คิดเอาแบบทางโลก อะไรที่มีมากๆ ถ้ามีคนมารับมากส่วนแบ่งก็จะเหลือน้อย
ในเรื่องทางธรรมไม่ใช่แบบนั้น ยิ่งให้ยิ่งได้ ผู้ให้ความสุขยิ่งได้รับความสุข เวลาพระจะให้พร ชวนคนมารับพรด้วยกัน แสดงถึงนิสัยของความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และไม่ต้องกลัวว่าพรของตัวเองจะได้น้อยลง ยังได้เท่าเดิม หรืออาจจะได้มากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะว่ามีจิตใจเมตตากรุณา ปิติยินดีที่เพื่อนมาได้พรด้วย หรือได้บุญกุศลด้วย ต้องระวังอย่าเอาความคิดทางโลกมาใช้กับเรื่องของศาสนากับเรื่องของการทำบุญ จะทำให้การทำบุญหรือเรื่องของศาสนาผิดไป ต้องเอาเรื่องของศาสนาเรื่องของธรรมะมาช่วยยกระดับการใช้ชีวิตทางโลก หรือการอยู่แบบโลกๆให้ดีขึ้น ให้สูงส่งขึ้น มีความเมตตากรุณามากขึ้น เห็นแก่ตัวน้อยลง