แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อาตมารู้จักฝรั่งคนหนึ่งเป็นชาวอังกฤษ ตอนที่รู้จักนั้นอาตมายังเป็นแค่นักเรียนมัธยม ม.ศ.5 ฝรั่งคนนี้ชื่อ นิโคลัส เบนเนตต์ เป็นที่ปรึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ทำงานให้กับยูเนสโก เป็นคนที่ผลักดันขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปการศึกษาเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว เป็นคนที่เรียกว่าสมัยใหม่ แต่มาสนใจพุทธศาสนาและปรัชญาตะวันออก ภรรยาก็เป็นครูโยคะคนแรกของอาตมา 40 ปีที่แล้วโยคะเป็นเรื่องของคนคร่ำครึ ยังไม่ได้เป็นเรื่องสมัยใหม่เหมือนกับปัจจุบัน แต่ฝรั่งคู่นี้เรียกว่าเล่นโยคะได้ก้าวหน้ามาก อาทิตย์หนึ่งจะมีการอดอาหาร สมัยนั้นการอดอาหารเป็นเรื่องแปลก อย่าว่าแต่คนไทยเลยฝรั่งก็ถือว่าเป็นเรื่องตลก อดอาหารอาทิตย์ละครั้งอาทิตย์ละวัน แต่เดี๋ยวนี้การดีท็อกซ์เป็นที่นิยมกัน การดีท็อกซ์ก็ต้องมีการอดอาหาร นิโคลัสมาทำงานที่เมืองไทยหลายปีประมาณเกือบ 10 ปี แล้วตอนหลังเขาอยากจะไปทำงานในประเทศที่ยากจนกว่าเมืองไทย ตอนที่เขาอยู่เมืองไทยเขาทำงานแบบสมบุกสมบันมาก ไปช่วยชาวเขา เดินทางไปขึ้นเขาลงห้วย เพื่อส่งเสริมเรื่องการศึกษาสำหรับชาวเขา
ตอนหลังย้ายไปเนปาล ไปทำงานให้ธนาคารโลก เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงแต่ไม่ยอมอยู่เมืองหลวง เลือกที่จะไปทำงานในชนบทไกลๆ ซึ่งรถก็ไปไม่ค่อยถึง ต้องนั่งเครื่องบินไป ตอนที่เขาไปอยู่เนปาลก็มีธุระต้องเข้าเมืองหรือมาเมืองหลวงบ่อยๆ เป็นระยะๆ เพื่อมาประชุมกับรัฐมนตรีหรือข้าราชการระดับสูง ที่ๆเขาอยู่ก็ไกล จะเดินทางก็ต้องนั่งเครื่องบิน สนามบินหรือที่ถูกคือลานบินไม่ใช่สนามบินเรียกว่าลานบินดีกว่า ก็อยู่ห่างจากเมืองที่เขาพักมาก ต้องขึ้นเขาประมาณ 2 ชั่วโมง ใช้คำว่าขึ้นเขานี่ไม่ถูก ต้องเรียกว่าปีนเขาดีกว่าเพราะว่าไม่ได้นั่งรถ ต้องปีนเขาประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วก็ลงเขาไปยังหุบเขา อย่างนี้เร็วหน่อยก็เป็นแค่ชั่วโมงหนึ่ง ไปถึงแล้วก็ไม่ได้แปลว่าจะนั่งเครื่องบินได้ เพราะว่าถ้าภูมิอากาศไม่ดีเครื่องบินลงจอดไม่ได้ ปีนเขาแล้วก็ลงเขา ถึงลานบินแล้วก็ต้องรอ รอนี่ก็ไม่รู้ว่าจะรอกี่ชั่วโมงกว่าเครื่องจะลงได้ บางวันรอเป็นวันเลย เครื่องบินไม่มาเพราะว่าทัศนวิสัยไม่ดี เนื่องจากเนปาลอย่างที่เราทราบว่าเป็นภูเขา ก็ต้องปีนกลับ กลับบ้านอีก 2-3 ชั่วโมง แล้ววันรุ่งขึ้นค่อยมาใหม่ มาวันที่สองก็ไม่แน่ว่าจะได้นั่งเครื่องหรือไม่ ก็บอกว่าบางช่วงขึ้นเขาลงห้วยไปกลับทุกวันตลอดทั้งอาทิตย์เลย กว่าจะได้มีโอกาสนั่งเครื่องบินไปกาฐมาณฑุ ถ้าเป็นเราคงหงุดหงิดน่าดูเลย เพราะว่าปีนเขาก็เหนื่อยอยู่แล้ว เสร็จแล้วก็ต้องไปนั่งรอ รอก็ไม่มีความแน่นอนเลยว่าจะได้เดินทางหรือไม่ และบางครั้งก็เสียเที่ยว เสียเวลาต้องกลับไปที่พัก เหนื่อยอีกต่างหาก
แต่นิโคลัสเป็นคนที่ฉลาด เขาเป็นคนที่วางใจถูก เขาบอกว่าถ้าเราเอาไปจดจ่อที่จุดหมายปลายทาง ไม่ว่าที่ลานบินหรือที่กาฐมาณฑุ มันจะเครียด ยิ่งหาความแน่นอนไม่ได้ก็ยิ่งทุกข์เข้าไปใหญ่ แต่เขาได้เรียนรู้ว่า มันจะดีกว่าถ้าหากว่าไม่ต้องไปสนใจจุดหมายปลายทางระหว่างที่ปีนเขา ระหว่างที่เดินทางก็มีความสุขกับการเดินทาง ชมนกชมไม้ ชื่นชมธรรมชาติ แล้วถ้าเหนื่อยก็จิบกาแฟ จิบกาแฟในป่าบนเขา ชมวิวก็มีความสุขดี พอเขาปรับใจแบบนี้ การเดินทางไปลานบินไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทุกข์ทรมานเลย เพราะว่าจุดหมายไม่ได้อยู่ที่ลานบินแล้ว แต่อยู่ที่สิ่งที่เขาพบเห็นระหว่างทาง มีความสุขระหว่างทาง กลายเป็นเรื่องเพลิดเพลินได้
คนส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นอย่างนี้ คนส่วนใหญ่เวลาเดินทางก็คิดแต่ว่าจะให้ถึงจุดหมายปลายทาง ถ้ามีอะไรที่ทำให้ไปไม่ถึง หรือถึงช้า หรือไม่มีความแน่นอน รถจะมาเมื่อไรก็ไม่รู้ เดินทางเสร็จแล้วก็ยังมีรถติดก็หงุดหงิด หลายคนทั้งๆที่ไปเที่ยว แต่หงุดหงิดตลอดทางเลย เพราะว่าใจเขาไปจดจ่ออยู่ที่จุดหมายข้างหน้า ทั้งๆที่ระหว่างทางก็มีสิ่งสวยงามให้ชื่นชมได้
อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ เป็นคนหนึ่งที่น่าสนใจ ตอนอายุ 50 ปีต้นๆ ตัดสินใจเกษียณจากราชการ เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลับเชียงใหม่ เมื่อเกษียณแล้วก็ตั้งใจว่าจะเดินเท้าจากเชียงใหม่กลับไปบ้านเกิดที่สมุย ระหว่างทาง 1,500 กิโลเมตรได้ ไม่ใช่เดินเท้าเปล่าๆ ตั้งปณิธานว่าจะไม่พกเงิน จะไม่มีเงินสักบาทติดตัวไปเลย เป็นการแสวงบุญ เป็นการจาริก ยิ่งกว่าพระธุดงค์อีก พระธุดงค์ยังมีโอกาสยังมีความหวังว่าจะมีคนใส่บาตรทุกเช้า ถ้าอยู่ในย่านชุมชนหรือผ่านหมู่บ้าน แต่อย่างกรณีอาจารย์ประมวล ไม่แน่ใจเลยว่าจะมีคนให้อาหารหรือไม่
แถมแกมีเงื่อนไขข้อหนึ่งคือจะไม่ขออาหารใคร ไม่ขอน้ำไม่ขออาหารใคร สุดแท้แต่คนอื่นเขาจะเมตตา แล้วก็จะไม่ไปนอนค้างบ้านเพื่อนด้วย จะไปในที่ที่ไม่มีคนรู้จัก สามข้อนี้นับว่ายากลำบากมาก มีช่วงหนึ่งเดินผ่านดอยอินทนนท์ เลยคิดว่าแวะขึ้นไปยอดดอยหน่อย วันนั้นคงไม่ได้กินข้าวเลย ไม่มีคนให้ข้าว เดินเกือบจะถึงแล้วก็หมดแรงเป็นลม มีคนขับรถผ่านมาก็เลยพาขึ้นดอย แล้วก็ให้ข้าวให้น้ำ พอมีเรี่ยวมีแรงให้พักกาย จิตใจค่อยแจ่มใส อยู่บนดอยสักพักก็เดินลงมา พอลงมาปรากฎว่าเห็นทัศนียภาพสวยงามมาก ถึงกับออกปากว่ามันอัศจรรย์เหลือเกิน ทัศนียภาพที่เห็นสองข้างทางระหว่างลง สักกพักก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า เมื่อสักครู่นี้ เมื่อไม่กี่ชั่วโมงเราก็เดินมาทางนี้ ขึ้นมาทางนี้ ทำไมไม่เห็นเลยทัศนียภาพ ก็ได้คำตอบว่าตอนนั้นจิตใจไปอยู่ที่จุดหมายข้างหน้าคือยอดดอย แล้วพอจิตใจไปจดจ่ออยู่กับจุดหมายก็เลยคิดแต่จะเดินไปให้ถึง ก็เลยเหนื่อย ลืมมองไปว่าสองข้างทางสวยมาก
คนที่เดินทางหลายคนเขามองไม่เห็นความสวยงามของสองข้างทาง หรือไม่รู้จักเก็บเกี่ยวความสุขระหว่างเดินทาง เพราะใจเขาไปอยู่ที่จุดหมาย เรื่องของนิโคลัสกับอาจารย์ประมวลไม่ใช่เป็นแง่คิดสำหรับการเดินทางเท่านั้น แต่ยังเป็นแง่คิดสำหรับการทำงานด้วย เวลาทำงานคนส่วนใหญ่ก็รอว่าเสร็จเมื่อไรถึงจะมีความสุข คิดถึงแต่ว่าเมื่อไรจะเสร็จสักทีๆ แต่ที่จริงถ้าเรารู้จักมีความสุขในระหว่างทำงาน ไม่ต้องรอให้สุขเมื่อมันเสร็จ แต่ระหว่างที่ทำงานเราก็มีความสุขไปด้วยก็ไม่ยาก เหมือนกับเรียนหนังสือ เรียนหนังสือจะไปหวังว่าจะสุขก็ต่อเมื่อเรียนจบ หรือเมื่อคะแนนออก คะแนนต้องดีๆด้วย ต้องคะแนนสูงด้วย อย่างนี้เครียด เด็กสมัยนี้เรียนหนังสือไม่มีความสุขเพราะไม่รู้จักมีความสุขระหว่างเรียน คือต้องมีฉันทะในการเรียน พอมีฉันทะในการเรียนแล้ว ระหว่างที่เรียนก็มีความสุข ไม่ต้องรอให้สุขตอนเมื่อมันเสร็จ หรือเรียนจบ หรือเมื่อผลสอบออกมา
ภาวนาก็เหมือนกัน ภาวนานี่หลายคนหงุดหงิดแล้วก็เครียดกับการภาวนาหรือการปฏิบัติธรรม เพราะว่าใจไปจดจ่ออยู่ที่จุดหมาย ไปจดจ่ออยู่กับผลที่จะเกิดขึ้น เช่น ความสงบ การมีปัญญา การพ้นทุกข์ พอคิดแบบนี้เข้าเริ่มเครียดเลย พอทำไปๆ ก็ยิ่งเครียด ยิ่งหงุดหงิด เพราะไม่ถึงสักที ไม่ได้อย่างที่หวังสักที แต่ถ้าเราวางจุดหมายปลายทางหรือผลสำเร็จที่คาดหวังเอาไว้ก่อน ระหว่างที่ทำ ยกมือก็ดี เดินจงกรมก็ดี เป็นอย่างไร สบายไหม มีความคิดเกิดขึ้นก็รู้ทันมัน รู้แล้ววาง รู้แล้ววาง ผลข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จะรู้รูปนาม จะมีความสงบ จะพ้นทุกข์หรือไม่ เป็นเรื่องข้างหน้า อย่าไปสนใจ พยายามอยู่กับปัจจุบันให้ได้ และหาประโยชน์จากปัจจุบันขณะ
ไม่ว่าเราเดินทาง ไม่ว่าเราทำงาน ไม่ว่าภาวนา ไม่ว่าเรียนหนังสือ แน่นอนจุดหมายปลายทางคือสิ่งที่เราอยากจะไปให้ถึงเราจึงเดินทาง ความสำเร็จคือสิ่งที่เราปรารถนาเราจึงลงมือทำงาน ความสงบความพ้นทุกข์คือสิ่งที่เราอยากจะไปให้ถึงเราจึงมาภาวนา แต่ทันทีที่ลงมือเดินทางหรือทำงานหรือภาวนา ก็ให้รู้จักฉลาดในการมีความสุขกับสิ่งที่ทำ มีความเพลิดเพลินระหว่างเดินทาง ไม่ว่าจะถึงหรือไม่ ไม่ว่าจะถึงเมื่อไร ก็ไม่เสียโอกาสที่จะเก็บเกี่ยวความสุข หรือทำให้เกิดความเพลินเพลินในระหว่างเดินทาง ขณะที่ทำงานจะเสร็จหรือไม่ จะถึงหรือยัง เป็นเรื่องอนาคต เสร็จแล้วจะเป็นอย่างไรก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะควบคุมบังคับบัญชาได้ ไม่มีความแน่นอนเลยว่าเสร็จแล้วจะเป็นอย่างไร ไม่แน่นอนว่าจะเสร็จหรือไม่ แต่ในระหว่างที่ทำก็ไม่เครียด ในระหว่างที่ทำก็อยู่กับปัจจุบันไป ใช้สติใช้ปัญญา ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ ถ้าใจอยู่กับปัจจุบันก็เพลิน มีความเพลิน ภาวนาก็เหมือนกัน
หรือแม้กระทั่งมาจำพรรษา ไม่ต้องไปกังวลหรือไปครุ่นคิดว่าเมื่อไรจะได้ความสำเร็จอย่างที่ปรารถนา เมื่อไรจะออกพรรษาสักที แต่ละวัน แต่ละชั่วโมง แต่ละนาที เราก็จิตใจผ่อนคลาย มีความสุขกับการปฏิบัติไป แบบนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายและก็เป็นสิ่งที่ควรทำด้วย อย่างที่พูดเมื่อวานว่า เวลาที่เหมาะสำหรับการปฏิบัติคือ ตอนนี้ ไม่ว่าการปฏิบัตินั้นจะเป็นภาวนา จะเป็นการทำงาน จะเป็นการเดินทาง หรือปลูกต้นไม้ ปลูกป่า กว่าจะเป็นป่าได้นี่หลายปี ก็อย่าไปกังวลว่าเมื่อไรจะเป็นป่า อย่าไปกังวลว่าเมื่อไรมันจะโต เราทำปัจจุบันขณะให้ดี ระหว่างที่ทำก็มีความสุขด้วย ถ้าเราสนใจในปัจจุบัน ทำแต่ละขณะให้ดี เดี๋ยวมันก็เสร็จเอง ก็สำเร็จเอง เดี๋ยวก็ถึงเอง
รถจะติดอย่างไรจิตก็ไม่ตก ที่จิตตกหงุดหงิดก็เพราะว่าคิดแต่จุดหมายปลายทางว่าเมื่อไรจะถึง พอรถติด รถแน่นขนัด ก็หงุดหงิดแล้ว ลองคิดว่าระหว่างที่รถติดเราจะทำอะไรให้มีประโยชน์ เช่นตามลมหายใจ พลิกมือไปพลิกมือมา หรือสนทนาพูดคุยกับลูกที่มาในรถด้วย เวลาที่เรามีอยู่ในโลกนี้เหลือน้อยไปทุกทีๆ ถ้าเราปล่อยเวลาแต่ละนาทีให้กับความทุกข์กับความหงุดหงิด ใช้ไปกับความหงุดหงิด อย่างนี้เรียกว่าไม่ฉลาด เวลาเราเหลือน้อยแล้ว แต่ละนาทีที่ผ่านไปควรจะเป็นช่วงเวลาที่เรามีความสุข มีความผ่อนคลาย หรือได้ใช้ประโยชน์ ไม่ใช่หมดไปกับความทุกข์ หมดไปกับความหงุดหงิด การอยู่กับปัจจุบันขณะสำคัญมาก คนไม่ค่อยเห็นคุณค่า
เคยมีคนมาหาอาตมา แล้วก็พอสนทนาสักพักแกก็ถามว่า เรียกว่าขอดีกว่า ขอคำแนะนำในเรื่องการปฏิบัติเพื่อการดำเนินชีวิต ก็บอกแกว่าก็ให้รู้จักอยู่กับปัจจุบันขณะ แกทำท่างง ไม่ใช่ไม่เข้าใจ แกคิดว่าแกเข้าใจแต่แกรู้สึกว่าแค่นี้เองเหรอ แค่นี้เองเหรออยู่กับปัจจุบันขณะ ก็บอกว่าสำคัญนะปัจจุบันขณะ ที่เราทุกข์ก็เพราะเราไม่รู้จักอยู่กับปัจจุบัน เราปล่อยให้เวลาแต่ละขณะหมดเปลืองไปกับหงุดหงิดความวิตกกังวล เพราะใจไปจดจ่ออยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นข้างหน้า หรือยังไม่เกิดขึ้น ไม่รู้แกเข้าใจหรือไม่
เสร็จแล้วแกก็เล่าเรื่องประสบการณ์ เรื่องการทำงานของแก แกเล่าไปก็เป็นเรื่องของความวิตกกังวลเกี่ยวกับงานการ และเหตุที่ทำให้วิตก เป็นเรื่องความสำเร็จว่าไม่รู้ว่าจะสำเร็จ ไม่รู้ว่ามันจะเสร็จหรือไม่ บางทีก็คิดไปถึงเรื่องที่ผ่านไปแล้ว มีความเสียใจในสิ่งที่ผ่านไปแล้ว สิ่งที่แกเล่าเป็นเรื่องความทุกข์ที่เกิดจากการที่ไม่ได้อยู่กับปัจจุบันขณะทั้งนั้นเลย เพราะใจไปอยู่กับอดีตบ้าง ไปอยู่กับอนาคตบ้าง แกเล่ามาแท้ๆ สิ่งที่แกเล่าล้วนแล้วแต่เป็นผลจากการที่ไม่รู้จักเอาใจมาอยู่กับปัจจุบัน แต่แกไม่เห็น แกรู้สึกว่าการอยู่กับปัจจุบันเป็นคำแนะนำที่ดูเหมือนง่าย ไม่ค่อยสำคัญเท่าไร แต่ความทุกข์ของแกที่เล่ามาล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องการไม่รู้จักอยู่กับปัจจุบัน
อย่าว่าแต่การทำงานหรือการใช้ชีวิตเลย แม้แต่ว่าภาวนา ถ้าเราอยู่กับปัจจุบันไม่เป็นก็เครียด ใจไปอยู่กับอดีตบ้าง หรือไปจดจ่อว่าเมื่อไรจะได้ผลสักที เมื่อไรจะเห็นผลสักที เมื่อไรจะสงบสักที กลายเป็นรู้สึกหงุดหงิดกับอาการที่เกิดขึ้น ทั้งๆที่สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร ที่จริงความฟุ้งซ่านที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะๆ มาเพื่อให้เราได้เรียนรู้ มาเพื่อให้เราได้ฝึกฝน ให้รู้วิธีปล่อยวาง ความฟุ้งซ่านที่เรารู้สึกว่ามารบกวนจิตใจทำให้ไม่สงบที่จริงมันมาเพี่อเป็นครู มาเพื่อฝึกให้เรารู้จักรู้ทันมันอย่างรวดเร็ว อย่างที่พูดไปเมื่อวาน มันมาเพื่อให้เราได้เรียนรู้ว่า ความฟุ้งซ่าน ความโกรธ ความหงุดหงิด มันมีหน้าตาอย่างไร มันมีอาการอย่างไร มันโผล่ให้เรามาเห็นบ่อยๆ เราก็จะจำมันได้ พอเราจำลักษณะอาการมันได้ พอมันมาครั้งต่อๆไป เราก็จะรู้ทัน เหมือนกับเราจำหน้าโจรได้ เราจำเสียงได้ พอเราจำได้พอเขาจะมาหลอกเรา เราก็รู้ทัน เขามาเพื่อให้เราฉลาด เพื่อให้เรารู้ทัน ถ้าเราใฝ่รู้เราก็ได้ประโยชน์ ไม่ได้เสียประโยชน์เลยจากการที่มีความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น เราได้เรียนรู้
อย่างนี้เป็นส่วนหนึ่งของการทำปัจจุบันให้ดีที่สุด คือการอยู่กับปัจจุบัน คือรักษาใจไม่ให้ทุกข์และหาประโยชน์จากทุกอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ระหว่างที่เดินทางก็มีความสุขกับการเดินทาง ระหว่างที่ทำงานก็ทำงานด้วยความเพลิดเพลิน ระหว่างที่ภาวนาใจก็ไม่เครียด มีความพอใจในการภาวนา ไม่ว่าจะถึงจุดหมายปลายทางหรือไม่ หรือแม้จะมีอุปสรรคเกิดขึ้นก็ได้เรียนรู้จากอุปสรรค ก็ฉลาดขึ้นทุกทีฉลาดขึ้นทุกครั้งที่มีอุปสรรค เครื่องบินจะมาหรือไม่ เราก็ได้เรียนรู้เรื่องการปล่อยวาง มาก็ดี ไม่มาก็ไม่เป็นไร ก็ชื่นชมธรรมชาติไป หรือไม่ก็จิบชาไป แล้วก็ได้เรียนรู้เรื่องการปล่อยวางไปในตัวด้วย เรียกว่าเป็นความหมายของการอยู่กับปัจจุบัน ทำปัจจุบันให้ดี เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นตรงนี้หรือตอนนี้ ไม่ว่าทำอะไร หรือไม่ว่าเจออะไร มีประโยชน์ทั้งนั้น อย่างน้อยๆก็ผ่อนคลายสบายใจ ดีกว่านั้นคือได้เรียนรู้เกิดปัญญาขึ้นมา มีคุณภาพจิตที่พัฒนาขึ้น