แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เคยมีพระเซนจากประเทศญี่ปุ่นไปเยี่ยมหนองป่าพง วัดหนองป่าพง แล้วก็ไปถามหลวงพ่อชาซึ่งเป็นเจ้าอาวาสว่า ภาวนานี้ ภาวนาทำไม ภาวนาเพื่ออะไร ทำไมต้องภาวนาด้วย ภาวนาแล้วได้อะไร ถามแบบเซนนะ หลวงพ่อชาท่านก็ตอบ กินข้าวไปทำไม กินข้าวเพื่ออะไร ทำไมต้องกินข้าว กินข้าวแล้วได้อะไร ตอบเท่านี้ อาคันตุกะชาวญี่ปุ่นก็ยิ้มเลย แล้วก็เข้าใจ เลิกถามต่อแล้ว พวกเราหลายคนอาจจะมีคำถามนี้เหมือนกับพระเซนชาวญี่ปุ่นนะ ปฏิบัติธรรมไปทำไม ทำไมต้องปฏิบัติ ทำไปทำไม ทำแล้วได้อะไร เชื่อว่าคำตอบของหลวงพ่อชาก็คงจะทำให้เราเข้าใจมากขึ้น โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปหาคำตอบเพิ่มเติม หลวงพ่อชาท่านก็ไม่ได้ตอบอะไร ท่านเพียงแต่ถามกลับไปเท่านั้น
ทำไมพระเซนถึงเข้าใจ ทั้งๆ ที่หลวงพ่อก็ไม่ได้ตอบอะไรเลย คงเพราะเห็นว่าการภาวนาไม่ต่างจากการกินข้าว เรากินข้าวเพื่อให้ร่างกายมีกำลัง มีสุขภาพดี ภาวนาก็ทำให้จิตใจมีกำลังวังชา แล้วก็มีสุขภาพดีเหมือนกัน แต่แปลกที่คนเราไม่ค่อยถามว่า กินข้าวไปทำไม ทำไมต้องกินข้าว กินข้าวเพื่ออะไร กินข้าวแล้วได้อะไร คนส่วนใหญ่ไม่ถาม อาตมาคิดว่าคงจะน้อยมากที่จะถามคำถามนี้ แต่พอเรื่องภาวนานี้ถามใหญ่เลย เหมือนกับว่าจะต้องรู้คำตอบให้ชัดก่อน ถึงจะภาวนา แต่ทุกวันนี้เราก็กินข้าวโดยที่เราไม่เคยมีคำถามแบบนี้ในใจเลยแม้แต่น้อย เรากินข้าวโดยที่เราไม่ได้มีคำตอบให้กับตัวเองว่า กินข้าวไปทำไม กินแล้วได้อะไรนะ ทำไมต้องกินด้วย คนส่วนใหญ่ไม่ถามแต่ก็กินทุกวัน กินวันละหลายมื้อด้วย
แล้วก็อีกหลายอย่างที่เราทำโดยที่ไม่ได้ถาม เล่นเกมไปทำไม เล่นแล้วได้อะไร อย่างอื่นด้วยนะ ไปชอปปิ้ง ดูหนัง ดูโทรทัศน์ บางทีเราก็ไม่ได้ถาม แต่เราก็ให้เวลากับมันวันละเป็นชั่วโมงชั่วโมง แต่พอจะมีคนชวนมาภาวนาก็ถามใหญ่ ซักใหญ่เลย ภาวนาเพื่ออะไร ภาวนาไปทำไม ทำแล้วได้อะไร ซึ่งถ้าเกิดว่าจริงๆ แล้วเรามองว่าภาวนาก็คือ การกินข้าวชนิดหนึ่งนั่นเอง แต่ไม่ใช่กินข้าวเพื่อบำรุงกาย แต่เป็นการบำรุงใจ และใจนี่ก็สำคัญด้วย พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจประเสริฐสุด สำเร็จได้ด้วยใจ” คนเราถ้าดูแลแต่กาย แต่ว่าใจไม่ดูแล มันก็หาความสุขได้ยาก ก็เหมือนกับคนทุกวันนี้ มีความสุขกาย สบายกาย สบายอย่างที่ไม่เคยมีคนยุคไหนเทียบเท่าได้ แต่ก็มีความทุกข์ใจอย่างที่ไม่มีคนยุคไหนเทียบเท่าได้เหมือนกัน
อันนี้เพราะอะไร เพราะว่าสนใจแต่กาย สนใจแต่ความสะดวกสบายทางกาย สนใจแต่ปรนเปรอกาย แต่ว่าใจไม่เคยสนใจเลย ดังนั้นพอไม่สนใจจิตใจ ร่างกายมันก็ป่วยโน่นป่วยนี่ บางทีไม่มีสาเหตุ ความเจ็บป่วยทางกายหลายอย่างก็มีสาเหตุจากจิตใจ บางคนก็ไปหาหมอเพราะเป็นโรคใจสั่น บางคนก็ปวดหัว ปวดท้องเรื้อรัง บางคนก็ท้องเสีย พวกนี้หาสาเหตุทางกายไม่พบ แต่พอสาวไปสาวมาก็พบว่า เป็นเพราะมีความวิตกกังวลบ้าง เป็นเพราะว่ามีความโกรธแค้นพยาบาทบ้าง การที่ปล่อยให้ใจถูกความวิตกกังวลหรือว่าความแค้นความโกรธเล่นงาน แสดงว่าอะไร แสดงว่าไม่ดูแลจิตใจ
ภาวนาก็ไม่ใช่อะไรมาก คือการเยียวยาจิตใจ ด้วยเป็นทั้งอาหารและเป็นทั้งยา เยียวยาจิตใจให้หายทุกข์ แล้วก็บำรุงจิตใจ หล่อเลี้ยงจิตใจให้เจริญงอกงามด้วย ที่จริงเวลากินข้าว ถ้าเรากินถูกวิธีกินเป็น ก็จะได้ทั้งสองอย่าง คือบำรุงกายด้วยบำรุงใจด้วย อย่างเช่นเวลาเรากิน เรากินอย่างมีสติ ไม่ต้องคิดนึกอะไร อย่างที่บอกไว้แล้ว ทำทีละอย่าง กินข้าวใจก็อยู่กับการกินข้าว ใจไม่ต้องไปคิดโน่นคิดนี่ ไม่ต้องคิดว่าเดี๋ยวกินข้าวเสร็จจะไปทำอะไร จะต้องไปเจอคนที่ไหน แค่รู้ว่ากายมันกำลังทำอะไร การกินก็จะเป็นการกินที่บำรุงทั้งกาย บำรุงทั้งใจ เพราะว่าเวลาใจเรามีสติ กินอย่างมีสติ เราก็เคี้ยวอาหาร เราก็เคี้ยวแบบไม่รีบไม่รน คนเดี๋ยวนี้เคี้ยว รีบเคี้ยวรีบกลืน ก็เพราะว่านึกถึงแต่งานที่จะทำ นึกถึงสิ่งที่จะต้องจัดการต่อไป
ทีนี้ถ้าเราเคี้ยวอย่างช้าๆ สุขภาพก็ดี ขณะเดียวกันใจก็ไม่เครียด แล้วถ้าเรากินอย่างมีสติ มันก็เป็นการเติมสติเข้าไปในใจ สตินี่ก็เป็นอาหารใจอย่างหนึ่ง เวลาเคี้ยวก็ไม่ต้องคิดอะไร แค่ใจอยู่กับการเคี้ยว แต่ถ้ามันเผลอคิดก็รู้ทัน รู้แล้วก็วาง เวลาอาหารอร่อย ใจมันก็เพลินกับสุขเวทนาก็ให้รู้ ให้เห็นมัน อย่าเข้าไปเพลินกับรสชาติอาหารจนลืมตัว เดี๋ยวจะเคี้ยวเอาเคี้ยวเอา บางทีลืมกลืน หรือว่ากินอย่างมูมมาม เพราะว่าอาหารมันอร่อย อันนี้ก็เป็นผลเสียต่อกาย เวลาเจออาหารที่ไม่อร่อย มันเผ็ดบ้าง มันเปรี้ยว ไม่คุ้น ก็แค่รู้ว่าใจมันไม่ชอบ แล้ววางมันลงซะ ความไม่ชอบนั่น ไม่ต้องเข้าไปเป็นผู้ไม่ชอบ กินก็กินแบบสบาย อันนี้ก็เป็นการบำรุงใจไปด้วย
ทำอย่างเดียวได้สอง กินอาหารนี่ทำอย่างเดียวได้สอง คือ ได้ทั้งอาหารกาย ได้ทั้งอาหารใจ แต่ว่าคนส่วนใหญ่ไม่ใช่ทำอย่างนั้น มักทำสองอย่างสามอย่างพร้อมกัน ไม่เหมือนกันนะ ระหว่างทำอย่างเดียวได้สอง กับทำหลายๆอย่างพร้อมกัน ซึ่งบางทีไม่ได้อะไรเลย อาหารก็ไม่ได้บำรุงสุขภาพ ใจก็ว้าวุ่น การหายใจก็เหมือนกัน เวลาเราหายใจ มันไม่ใช่แค่เอาออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ไม่ใช่เอาอากาศไปเลี้ยงร่างกาย อวัยวะต่างๆ ในตัวเราเท่านั้น แต่ว่าถ้าเราเอาใจใส่ลงไปในลมหายใจ ลมหายใจก็จะกลายเป็นลมวิเศษ เป็นลมที่สามารถจะดับความร้อนในใจเราได้ เวลาโกรธ เวลาโมโห ใจเรามันร้อนเหมือนกับถูกไฟเผาลน เติมลมวิเศษลงไป มันก็จะไปดับ มันก็จะไปทำความสงบเย็นให้กับจิตใจของเรา เวลามีความหนักอกหนักใจอะไร แบกอะไรไว้ เติมลมวิเศษลงไป มันก็จะช่วยปัดเป่าสิ่งที่หนักอกหนักใจออกไปได้ มีความรู้สึกถูกบีบคั้น ด้วยความกลัวหรือด้วยความวิตกกังวล เติมลมวิเศษลงไปมันก็จะขยายใจให้เปิดกว้าง โปร่งโล่งเบาสบาย ลมวิเศษนี้ก็ไม่ได้มาจากไหนหรอก ก็มาจากลมหายใจธรรมดาของเรานั่นแหละ เพียงแต่เติมใจลงไป ใส่ใจลงไป มันก็ได้ทั้งสิ่งที่บำรุงเลี้ยง ได้ทั้งอากาศ ได้ทั้งออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกาย และได้ความสงบเย็นไปบำรุงจิตใจ อันนี้ก็ทูอินวันเหมือนกันนะ ทำหนึ่งได้สอง ดีกว่าทำหลายอย่าง แต่ไม่ได้ดีสักอย่างเลย หรือไม่ได้อะไรเลย ลองสลับกันดู จากทำหลายอย่างพร้อมกันแต่ไม่ได้อะไร มาเป็นทำอย่างเดียวหรือทำทีละอย่าง แต่ว่ามันได้สองอย่าง คือได้ทั้งกาย ได้ทั้งใจด้วย
การภาวนาเป็นเรื่องที่ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อน บางคนก็เข้าใจว่า จะภาวนาได้ต้องนุ่งขาวห่มขาว ไม่มีผ้าขาวไม่มีชุดขาวภาวนาไม่ได้ อันนี้ไม่ใช่นะ หรือจะภาวนาได้ต้องมีการขอศีลก่อน มีการขอกรรมฐานก่อน พอไม่รู้ว่าจะอาราธนาศีลยังไง ไม่รู้จะกล่าวคำขอกรรมฐานยังไง ก็เลยไม่ทำเลย มันไม่ใช่อย่างนั้น มันทำง่ายๆ ทำได้ตลอดเวลา ทำได้ทุกที่ทุกเวลา อยู่ในห้องน้ำก็ทำได้ อย่าไปคิดว่าทำไม่ได้ มีคนถามว่าอยู่ในห้องน้ำนี่จะภาวนาได้ไหม ไปคิดว่ากรรมฐานหรือภาวนาเป็นของสูง ต้องทำเวลาอยู่ต่อหน้าพระพุทธรูป หรืออยู่ในห้องพระ หรืออยู่ในวัด บางคนถามว่าอ่านหนังสือธรรมะนี่ อ่านอยู่ในห้องน้ำได้ไหม มันทำได้อยู่แล้ว มันดีกว่าไปอ่านหนังสือโป๊ในห้องน้ำใช่เปล่า หรือว่าดีกว่าปล่อยใจลอย เครียดวิตก หงุดหงิด
ความดีนี้ ทำที่ไหนก็ดีทั้งนั้น จะทำในห้องน้ำหรือว่าจะทำตรงไหนก็ตาม เพราะว่ามันเป็นการบำรุงกายบำรุงใจ อย่าให้การทำความดี การทำบุญ การรักษาศีลหรือการภาวนา เป็นเรื่องยุ่งยากเต็มไปด้วยพิธีกรรมรุงรัง ความจริงมันไม่ได้มีอย่างนั้น สมัยพุทธกาลก็ไม่มีพิธีกรรมอะไร ปัญจวัคคีย์ก็บรรลุธรรมได้โดยที่ไม่ต้องขอศีล ไม่ต้องขอกรรมฐาน ดังนั้นถ้าเราเข้าใจสาระของการภาวนา ก็สามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา แม้แต่เวลากินอาหาร เวลาเดิน เวลาอยู่ในห้องน้ำ เวลาอาบน้ำ เวลาทำครัวล้างจาน ทำได้ทุกที่ทุกเวลา