แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เราคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า ทำดีอย่าหวังผล ผลในที่นี้คนก็มักจะหมายถึงผลประโยชน์ส่วนตัว อย่างเช่นเมื่อเราให้ทานนะเราทำบุญถวายพระเราก็ไม่หวังว่าจะได้รับคำชื่นชมสรรเสริญ ไม่ได้ทำเพื่อสร้างภาพ ไม่ได้ทำเพื่อหวังความมีหน้ามีตา หรือแม้กระทั่งไม่ได้หวังว่าจะได้ไปเกิดในสวรรค์ หรือว่าโชคดีมั่งมีศรีสุข แต่ทำเพื่อมุ่งประโยชน์แก่ผู้รับ เมื่อช่วยเหลือใครแล้วก็ไม่ได้หวังว่าเขาจะมาตอบแทนความดีของเรา หรือแม้กระทั่งสำนึกในบุญคุณของเรา ไม่ได้หวังจะให้เขามาชื่นชมสรรเสริญเราแต่ทำเพราะต้องการจะช่วยเขาจริงๆ เห็นเขาตกทุกข์ได้ยากก็อยากจะช่วย
ที่จริงนอกจากจะทำดีไม่หวังผลแล้วนะ บางทีเราก็ต้องรู้จักทำดีปล่อยวางผลด้วย ผลในที่นี้ไม่ได้หมายถึงประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้นนะอาจจะรวมถึงผลประโยชน์อย่างอื่น บ่อยครั้งเราทำดีก็ยังไม่วางผลเท่าไหร่ จะคอยดูนะว่าผลมันจะเกิดขึ้นอย่างไร เช่น เวลาถวายอาหารพระ ถวายจีวรหลวงพ่อ ถวายไปแล้วก็คอยดูว่า ท่านจะฉันอาหารของเราไหม ท่านจะห่มจีวรของเราไหม ฉันแล้วเป็นยังไง รสชาดเป็นอย่างไรชอบไหม อันนี้ก็เรียกว่าทำดีแล้วแต่ยังไม่วางผลซึ่งบางครั้งก็ทำให้ทุกข์นะเพราะว่าพอรู้ว่าหลวงพ่อท่านยังไม่ได้ฉัน จีวรที่ถวายก็ท่านก็ไปมอบให้กับพระรูปอื่นซึ่งมีจีวรเศร้าหมองจีวรเก่า อย่างนี้คนถวายก็เสียใจว่า หลวงพ่อยังไม่ได้สนองศรัทธาของเราอย่างเต็มร้อย แต่ถ้าเราถวายไปแล้วเราก็วางเสีย ท่านจะฉันอาหารนั้นหรือไม่ ก็แล้วแต่ท่าน ท่านจะห่มจีวรหรือถวายให้คนอื่นก็เป็นเรื่องของท่าน ทานที่เราทำ ความดีที่เราบำเพ็ญ สำเร็จแล้วจะสบายใจ ถ้าทำความดีก็ต้องรู้จักวางผลบ้าง
อันนี้รวมไปถึงการทำความเพียรด้วย เช่นการปฏิบัติธรรมด้วย ปฏิบัติธรรมแน่นอนเราเรามาวัดเรามาทำความเพียรก็เพราะว่า มันมีวัตถุประสงค์ที่เราอยากจะทำให้มันเกิดขึ้น แต่ทันทีที่เราทำก็ต้องวางผล หมายความว่ามันจะสำเร็จเมื่อไหร่ผลจะเกิดขึ้นอย่างไรก็ไม่สนใจ ตั้งหน้าตั้งตาทำความเพียร
ตัวอย่างที่ดีก็คือตัวอย่างของพระมหาชนก พระมหาชนกพวกเรามุกคนคงรู้จักดีแต่บางทีเราก็ไม่รู้ว่าความสำคัญของท่านเป็นอย่างไร พระมหาชนกก็เป็นพระโพธิสัตว์ในชาติท้ายๆก่อนที่จะมาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะแล้วก็บำเพ็ญความเพียรจนกระทั่งมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหตุการณ์สำคัญในชีวิตพระมหาชนกที่คนรู้จักกันดี ก็คือตอนที่เรือเดินสมุทรล่มอับปาง เพราะว่าโดนพายุซัดกระหน่ำ พระมหาชนกก็อยู่ในเรือก็ต้องลอยคออยู่กลางทะเล คนอื่นที่เดินทางมาด้วยก็จมน้ำตายหมด แต่พระมหาชนกท่านเกาะแผ่นไม่เอาไว้ได้แล้วก็ลอยคออยู่กลางทะเลอยู่พักหนึ่ง แล้วท่านก็ตัดสินใจว่ายเข้าหาฝั่ง ฝั่งนี่ไม่เห็นเลย มองไปทางไหนก็เห็นแต่ทะเล แต่ท่านก็ไม่มีความท้อแท้ก็ว่าย บอกว่าท่านว่ายอยู่เจ็ดวันเจ็ดคืน เจ็ดวันเจ็ดคืนทีเดียว ก็คงจะไม่ได้ว่ายตลอดบางช่วงคงจะพักลอยคออยู่กลางทะเลแล้วก็ว่ายใหม่
ความเพียรของพระมหาชนกนั้นพระอินทร์รับรู้ ก็เลยไปบอกนางมณีเมขลาว่าให้มาช่วย นางมณีเมขลาเป็นเทพธิดาที่ดูแลท้องทะเล เมื่อนางมณีเมขลาเหาะมาถึงก็เห็นพระมหาชนกว่ายๆๆๆ กลางมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ไม่เห็นฝั่ง ก่อนที่จะลงมือ แม้จะมองไม่เห็นฝั่ง แต่ข้าพเจ้าก็ว่าย เพราะเห็นประโยชน์ของความเพียร นางมณีเมขลาก็ถามต่ออีกว่าท่านจะเพียรไปทำไมในเมื่อฝั่งอยู่ไกลมาก เพียรเท่าไหร่ๆก็ไม่มีทางถึงหรอกตายสถานเดียว พระมหาชนกก็ตอบว่า แม้ทำความเพียรแล้วแม้ตายก็ได้ชื่อว่าไม่เป็นหนี้ เทวดาบิดามารดาและญาติมิตรก็ติเตียนไม่ได้ แล้วท่านก็พูดต่อไปว่าคนเรานี่ถ้ารู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรและทำความเพียรนั้นอย่างเต็มที่ผลประโยชน์แห่งความเพียรนั้นย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน นางมณีเมขลาก็ยอมจำนนต่อคำตอบของพระมหาชนกก็เลยช่วยอุ้มพระมหาชนกขึ้นฝั่ง
พระมหาชนกแน่นอนว่าว่ายน้ำเพื่อจะถึงฝั่งแต่ขณะที่ว่ายน้ำก็ไม่ได้คิดแต่ว่าเมื่อไหร่จะถึง เมื่อไหร่จะถึงมองไม่เห็นฝั่งแต่ก็ยังว่ายแม้ไม่รู้ว่าจะถึงฝั่งหรือเปล่าก็ยังว่ายอันนี้เรียกว่าทำดีโดยปล่อยวางผลหรือทำความเพียรสร้างเหตุโดยปล่อยวางผล ซึ่งก็ทำให้สามารถที่จะมีความเพียรได้ต่อเนื่อง คนเราทำอะไรไปแม้จะเป็นสิ่งดี แต่พอใจมันไปเกาะติดอยู่ที่ผล ว่าเช่นจะต้องถึงฝั่ง ว่ายไปหนึ่งวันไม่ถึงฝั่งบางทีก็ท้อแล้ว ว่ายไปสองวันไม่ถึงฝั่งไม่เห็นฝั่งอย่างนี้ก็ท้อแล้ว ระหว่างว่ายนี่ก็เป็นทุกข์แล้วก็ทำให้ความเพียรย่อหย่อน แต่พระมหาชนกท่านไม่สนใจว่าจะถึงฝั่งหรือไม่แม้มองไม่เห็นก็ว่ายๆ ๆ แล้วก็ว่าย เรียกว่าทำความเพียรเต็มที่ เป็นการทำดีโดยปล่อยวางผล แม้ตอนว่ายก็หวังว่าว่ายเพื่อให้ถึง แต่ว่าพอลงมือว่ายแล้วก็วางผล
อันนี้เป็นตัวอย่างที่ดี เวลาเราทำอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเดินทาง ไม่ว่าจะทำมาหากิน ไม่ว่าจะเรียนหนังสือทำความเพียรปฏิบัติธรรม เราก็พยายามทำเต็มที่ เช่นเวลาเดินทาง เอ้อเราก็ไตร่ตรองก่อนเดินทางว่า เส้นทางนี้ไปจุดหมายแน่เชียงใหม่ รถที่เราขับเราก็ตรวจตราให้ดีว่า ไม่มีอะไรบกพร่อง หรือถ้านั่งรถเมล์ ก็ให้แน่ใจ่วาเป็นสายที่จะไปถึงเชียงใหม่ เมื่อรู้แน่ชัดแล้วว่าใช่แน่ ถึงเวลาเราขับรถหรือว่านั่งรถเราก็ปล่อยวางได้เลยจุดหมายปลายทาง เพราะว่ายังไง ถ้าไม่ลงจากรถก่อนหรือว่าถ้ารถไม่เกิดอุบัติเหตุถึงแน่อันนี้เรียกว่าวางผล
เวลาเราเรียนหนังสือก็เหมือนกันเราก็เรียนเต็มที่ส่วนคะแนนมันจะออกมาอย่างไรสอบแล้วจะได้เกรดเท่าไหร่วางเอาไว้ก่อนเพราะมันเป็นเรื่องอนาคต ไม่ใช่คอยพะวงว่า โอ้ยเราจะสอบได้ไหมนี่ ถ้าสอบได้ต่ำกว่าสองเราคงแย่แน่ๆเลย ยังไม่ทันจะสอบเลยก็ทุกข์เสียแล้ว ทำให้ท้อแท้ในการทำความเพียร ในขณะที่เรียนหนังสือ อ่านหนังสือเตรียมสอบก็วางผล
ปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติธรรมเราก็ทำความเพียร ส่วนความสงบจะเกิดขึ้นหรือไม่ ปัญญาจะเกิดขึ้นหรือไม่ ความรูสึกตัวจะต่อเนื่องหรือไม่ ไม่เอามาเป็นข้อกังวล ไม่ยึดติด เรียกว่าทำดีแล้วก็รู้จักวางผล อย่างนี้มันจะช่วยได้เยอะถ้าคนเรารู้จักวางไว้ ความเพียรมันจะมีกำลังได้มาก หลายคนมักจะพูดว่ามันต้องมีเหยื่อล่อ มันต้องมีรางวัลล่อมันถึงจะเกิดแรงจูงใจ ต้องคิดถึงผลสำเร็จเอาไว้เพื่อล่อใจให้ขยัน แต่ปัญหาก็คือ ถ้ามันเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา มันเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลานาน ทำเท่าไร่ก็ยังไม่เกิดผลอย่างที่ต้องการสักทีมันก็จะท้อเกิดความุกข์ขึ้นมาแล้วก็เลยเลิกทำไปเลย
คนที่มาบวชแล้วก็มาด้วยไฟอยากจะบรรลุนิพพานเป็นพระอรหันต์ให้ได้ภายในพรรษานี้ โอ้โหทำความเพียรใหญ่เลย บางทีทำไปครบพรรษาแล้วยังไม่บรรลุนิพพานเลย ท้อ เลิกเลยสึกไปเลย ไอ้แบบนี้ก็มีบางทีไม่ใช่สามเดือนหนึ่งปี ทำเต็มที่แต่ทำด้วยความเครียดหน้าดำคร่ำเคร่ง อันนี้เรียกว่าทำดีแต่ไปยึดผล ฉะนั้นต้องฝึก ทำความดีแต่ปล่อยวางผล เริ่มตั้งแต่เวลาเราช่วยเหลือใคร เวลาทำบุญให้ทาน ลองฝึกบ้าง เออถวายอาหารหลวงพ่อ ถวายเสร็จก็ปล่อยวางให้ถือว่าอาหารที่ถวายนั้นไม่ใช่ของเราแล้วเป็นของหลวงพ่อแล้ว ฝึกปล่อยวางความยึดติดถือมั่นในตัวกูของกู ไม่ต้องไปคอยเฝ้ามองว่า หลวงพ่อจะฉันหรือเปล่า บางคนถวายไปแล้ว วันรุ่งขึ้นก็เขียนไลน์มาถามว่าฉันหรือยัง หรือว่าโทรศัพท์มาถามว่าเป็นยังไง ใจยังพะวงถึงผล ก็ไม่ได้หวงของแล้วแล้วก็ไม่ได้หวงแหนอะไรแต่ว่ามันอยากจะรู้ว่า หลวงพ่อฉันหรือยัง ระหว่างที่ไม่รู้ก็ทุกข์ พอรู้ว่าหลวงพ่อไม่ได้ฉันก็ยิ่งทุกข์ใหญ่ บุญที่มันจะได้ก็เลยหายไป กลายเป็นแทนที่จะได้เต็มร้อยก็อาจจะเหลือสักเจ็ดสิบแปดสิบเพราะว่าจิตที่ขุ่นมัว ก็ฝึกเอาไว้ ไม่ใช่แค่ทำดีไม่หวังผลอย่างเดียว ทำดีก็ต้องรู้จักวางผลด้วย ไม่ว่าผลนั้นจะเกิดขึ้นกับเราเองหรือผลจะเกิดขึ้นกับคนอื่นก็ตาม