แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การเจริญสติเป็นวิธีปฏิบัติที่ทำง่ายๆ แค่ตัวอยู่ไหน ใจอยู่นั่น ก็เท่ากับเป็นการฝึกสติของเราให้รวดเร็วฉับไว ตัวอยู่ไหนใจอยู่นั่น ถ้าพูดให้เป็นรูปธรรมก็คือว่า ทำอะไรก็ทำทีละอย่าง กินก็กิน ไม่ต้องคิดอะไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานเรื่องการ เรื่องลูกหลานที่ยังสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ หรือว่าพ่อแม่ที่ยังเจ็บป่วยก็วางเอาไว้ก่อน ทำงานก็ทำแต่งานที่กำลังอยู่เฉพาะหน้า ไม่ใช่ทำไปบ่นไป หรือทำไปก็คิดถึงงานที่ค้างคาอยู่ ที่จะต้องทำตอนกลางวัน หรือว่าวันรุ่งขึ้น อันนี้เราทำสองอย่างหรือทำหลายอย่าง บางทีกินข้าวไปก็เล่นไลน์ไป หรือว่าตอบเมล์ไป อันนี้ก็ทำสองอย่าง มันก็ทำให้สติไม่เจริญก้าวหน้า ทำให้ใจฟุ้งซ่านได้ง่าย บั่นทอนสุขภาพจิต
การเจริญสติก็ยังอาศัยวิธีการที่เรียกว่า รู้เฉยๆ ใจไม่ต้องทำอะไร ใจแค่รู้ว่ากายทำอะไรก็พอแล้ว ไม่ต้องไปคิดนึก ไม่ต้องไปทำอะไรกับอารมณ์ความฟุ้งซ่านที่เกิดขึ้น การไม่ทำนี้ แค่รู้เฉยๆ น่าจะง่ายกว่าการทำ แต่คนก็มักจะทำโน่นทำนี้ ถ้าไม่ทำด้วยกายก็ทำด้วยใจ ก็เลยกลายเป็นว่าทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก การเจริญสตินี้มันก็คือ วิธีการที่ทำง่ายๆ เมื่อตอนเดินจงกiมเมื่อเช้าก็มีคนถามว่า ทำไมคนเราถึงชอบทำง่ายให้เป็นยาก ก็บอกไปว่าเป็นเพราะคนเรานี้ การศึกษาเราถูกฝึกฝนอบรมให้คิดอะไรซับซ้อน พอคิดอะไรซับซ้อนเข้ายิ่งมีวิชาความรู้มากนี้ จะเริ่มทำอะไรง่ายๆ ไม่เป็นแล้ว ก็จะทำหรือใช้วิธีการที่ยากๆ
มันมีเรื่องเล่าว่าโรงงานแห่งหนึ่งนี้ เขาผลิตสบู่ ยาสีฟัน ผลิตเสร็จก็ต้องใส่กล่อง กระบวนการผลิตเริ่มจากการผลิตกล่องยาสีฟัน สบู่ แล้วก็ใส่กล่องเล็ก แล้วก็เอากล่องเล็กเข้าไปในกล่องใหญ่ มันก็เลื่อนไปตามราง จนกระทั่งกระบวนสุดท้ายก็ยกกล่องนี้ขึ้นรถ เดี๋ยวนี้มันไม่ได้ใช้คนยกแล้ว เขาใช้ปั้นจั่นยก ก็มีปัญหาว่ากล่องหลายกล่องที่เอาขึ้นรถเพื่อจะไปส่งตามห้างสรรพสินค้าเพื่อส่งลูกค้า มันเป็นกล่องเปล่า ลูกค้าบ่นมาว่าทำไมมีแต่กล่องเปล่า โรงงานก็ต้องเอาไปแก้ไข ก็คิดหาวิธีว่าทำยังไงถึงจะมีการป้องกันไม่ให้มีกล่องเปล่าเข้าไปถึงลูกค้า จึงไปติดต่อบริษัทที่ปรึกษาให้ช่วยแก้ปัญหานี้ เขาก็มีข้อเสนอว่าให้เปลี่ยนระบบการผลิตใหม่ โดยเฉพาะตรงปลายสายการผลิตนี้ให้มีเซนเซอร์เครื่องวัดว่าถ้าน้ำหนักกล่องนี้เบาๆ แสดงว่าเป็นกล่องเปล่า เมื่อเครื่องวัดตรวจจับได้ก็จะส่งสัญญาณให้หยุด เพื่อที่จะได้จัดการกับกล่องเปล่านั้น เช่น เอากล่องนั้นออกไปจากสายพาน หรือไม่ก็หาสินค้ามาเติมให้เต็ม ก็ใช้เงินไปหลายร้อยล้าน ร้อยยี่สิบล้านได้
แต่คราวนี้มันก็มีปัญหาว่าสายพานการผลิตมันก็จะหยุดเรื่อยๆ เพราะมันมีกล่องเปล่าหลุดเข้ามาอยู่เรื่อย หยุดทีหนึ่งก็วุ่นวายกัน พยายามหาทางแก้ไขว่า ทำอย่างไรถึงจะให้กระบวนการผลิต มันต่อเนื่องไปได้ ก็ยังแก้กันไม่ได้ แต่ก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ มีกล่องเปล่าน้อยลง มาคราวหนึ่งมีการไปสำรวจว่า สายการผลิตไหนที่ไม่มีปัญหาเรื่องกล่องเปล่า แล้วก็ไม่ค่อยมีการหยุดสายพานการผลิตสักเท่าไหร่ ขณะที่สายพานการผลิตอื่นนี้มันมีการหยุดเป็นประจำ เพราะมันมีกล่องเปล่าโผล่เข้ามา ลอดเข้ามา พบว่ามีสายพานหนึ่งมีสถิติดีมาก ไม่มีกล่องเปล่าเล็ดลอดมาเลย ไม่มีการส่งสัญญาณให้หยุด และไม่มีการหยุดสายพานผลิตด้วย เขาก็ไปดูว่ามันทำได้อย่างไร
พบว่ามีเด็กคนหนึ่งเป็นวัยรุ่น คุมสายพานนี้ ตรงปลายพานสายพานนี้มันมีพัดลมตัวหนึ่ง เมื่อถามว่าพัดลมตัวนี้มีไว้ทำไม เขาบอกว่าพัดลมนี้มีไว้เวลามีกล่องเปล่า พอโดนลมกล่องก็ปลิว ก็รู้แล้วว่านี้คือกล่องเปล่า กล่องเปล่านี้มันปลิวก่อนไปถึงตัวเซนเซอร์ เพราะฉะนั้น มันก็ไม่มีเสียงดัง เขาใช้พัดลมนี้แก้ปัญหา ตัวละร้อยยี่สิบบาทเท่านั้น สามารถที่จะแก้ปัญหาของโรงงานนี้ได้โดยใช้พัดลม พัดลมเป่านี้ก็รู้ว่ากล่องไหนที่มันเปล่า ไม่ต้องใช้ตัวเซนเซอร์ที่ไปโยงไปกับระบบสายการผลิต เด็กคนนี้ก็ไม่ได้มีการศึกษาสูงแต่ก็ใช้สามัญสำนึกง่ายๆ ว่ากล่องเปล่านี้มันเช็คได้โดยใช้พัดลม พอกล่องเปล่ากระเด็นไป ถ้ายังไม่ถึงปลายสายพาน มันก็ไม่ส่งเสียงดัง ก็แก้ปัญหานี้ได้
นี้เป็นวิธีการแก้ปัญหาของเด็กวัยรุ่น ซึ่งไม่ได้จบดอกเตอร์เลย แต่เขาสามารถแก้ปัญหาได้ มันก็ชี้ว่าการแก้ปัญหานี้ บางทีเราคิดซับซ้อนไป ใช้เงินเป็นหลายร้อยล้าน ทั้งๆ ที่มันแก้ได้ด้วยเงินไม่กี่บาทเท่านั้นเอง ความคิดแบบซับซ้อนนี้มันก็ทำให้คนเรา แม้กระทั่งในการดำเนินชีวิตก็กลายเป็นเรื่องยุ่งยากขึ้นมา
มันมีเรื่องเล่าซึ่งพวกเราอาจเคยได้ยิน เศรษฐีคนหนึ่งเป็น CEO บริษัทใหญ่ ไปเดินตามชายหาด ก็ไปเห็นไปที่สะพานปลาแห่งหนึ่ง ก็มีลุงกำลังนั่งเล่น ก็ถามว่า
เศรษฐี: ลุงทำอะไร
ลุง: ฉันเป็นชาวประมง
เศรษฐี: ลุงมีเรือกี่ลำ
ลุง: ก็มีเรือลำเดียว
เศรษฐี: อ้าว แล้วลุงทำไมตอนนี้ไม่ไปออกหาปลาล่ะ
ลุง: ออกหาปลาทำไม ตอนนี้ฉันก็มีพอแล้ว
เศรษฐี: ออกไปหาปลาจะได้มีปลาเยอะๆ ไง
ลุง: แล้วมีปลาเยอะๆ เอาไปทำอะไร
เศรษฐี: มีปลาเยอะๆ ก็จะได้มีเงินไปซื้อเรือหลายลำ
ลุง: มีเรือหลายลำนี้เอาไปทำไม
เศรษฐี: ก็จะได้จับปลาได้เยอะขึ้น จะได้มีเงินไปซื้อเรือลำใหญ่เลย
ลุง: ซื้อเรือลำใหญ่ไปทำไม
เศรษฐี: ก็จะได้จับปลาได้เยอะขึ้นไง
ลุง: แล้วจับปลาได้เยอะขึ้นมีประโยชน์อะไร
เศรษฐี: ลุงก็จะได้ทำงานน้อยลงไง มีความสุข มานั่งพักผ่อน
ลุง: ก็ฉันกำลังทำอยู่แล้วนี้ไง
ลุงคิดแบบง่ายๆ ความสุขของแกก็ง่ายๆ ก็คือว่า มีความสุขอยู่แล้ว นั่งพักผ่อนอยู่ริมทะเล อยู่บนสะพานปลา แต่นักธุรกิจนี้ซึ่งเรียนสูง จบ MBA ต้องคิดให้มันซับซ้อน ต้องหาปลาให้มากจะได้มีเรือเยอะๆ มีเรือเยอะๆ ก็จะได้มีปลามากขึ้น พอมีปลามากขึ้น ก็จะได้มีเรือลำใหญ่ขึ้น พอมีเรือลำใหญ่ก็จะได้หาปลาได้เยอะ แล้วก็จะได้มีเงินเยอะ มีเงินเยอะก็จะได้มีความสุข ไม่ต้องทำงาน ทั้งที่ลุงแกก็ทำอยู่แล้ว
นี้คือ ความแตกต่างระหว่างคนที่คิดซับซ้อนกับคนที่มองตรง ไม่ต้องคิดซับซ้อนมากเรื่องความสุขนี้ เดี๋ยวนี้คนเราทำให้ชีวิตเราซับซ้อน ทั้งๆ ที่จุดหมายเรานี้ก็ไม่ต่างจากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ คือมีความสุข แต่ว่าชีวิตของเราซับซ้อนมากขึ้น อันนี้ก็เป็นเพราะการศึกษามีส่วนมาก การทำอะไรง่ายๆ นี้อย่าไปดูถูก มันมีประโยชน์ มันมีประสิทธิภาพด้วยซ้ำ
เมื่อสิบกว่าปีก่อน มีคนไข้คนหนึ่งไปผ่าตัด แค่ริดสีดวงทวารกับผ่านิ่ว ปรากฏว่าผ่าได้แค่วันเดียวคนไข้ก็มีไข้ขึ้นสูง และตรวจไปตรวจมา ปรากฏว่าตับวาย ไม่นานต่อมาไตวาย และอวัยวะก็เริ่มแย่ลง แค่สองวันนี้คนไข้คนนี้กำลังจะตายแล้ว หัวใจนี้ไม่ไหวแล้ว ต้องเข้าห้องไอซียู ปั๊ม ใส่ท่อสารพัด เลยดีขึ้นมาหน่อย 7-8 วัน พอวันที่ 10 ก็ทรุดใหม่ คราวนี้ต้องระดมหมอ ทั้งหมอผู้เชี่ยวชาญตับ หมอเชี่ยวชาญกระเพาะ หมอเชี่ยวชาญหัวใจ เข้ามามะรุมมะตุ้ม กว่าจะรู้ว่าที่คนไข้เป็นอย่างนี้เพราะติดเชื้อในกระแสเลือด แล้วเชื้อนี้มาจากไหน มาจากท่อ คนไข้นี้มีท่อเยอะแยะไปหมด และพบว่าคนไข้ที่เป็นแบบนี้ไม่ได้มีแค่คนเดียว แต่ละโรงพยาบาลก็มีเยอะไปหมด ที่จริงเป็นปัญหาของโรงพยาบาลแทบทุกแห่งคือคนไข้ติดเชื้อ และเชื้อนี้มาจากท่อที่ต่อโน่นต่อนี้ เขาก็พยายามที่จะแก้ปัญหานี้ แก้อย่างไรก็ไม่ได้ลดการติดเชื้อสักเท่าไหร่ เพราะคนไข้ต้องใช้ท่อเยอะ แล้วท่อนี้ถ้าค้างไป 1 อาทิตย์ 2 อาทิตย์นี้เชื้อเยอะแล้ว จะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้มีเชื้อติดอยู่ในท่อ ก็ลำบาก
จนกระทั่งมีหมอคนหนึ่งสังเกตว่า มันมีอะไรผิดปกติ หมอคนนี้ก็เลยเสนอผู้บริหารว่า ใช้วิธีนี้ได้ไหม วิธีแกง่ายมากเลย ใช้กระดาษ 1 แผ่น แล้วก็เอาดินสอหรือปากกา 1 ด้าม ทำการเช็คลิสต์ เช็คว่าก่อนที่จะทำหัตถการคนไข้นี้ จะต้องมีกระบวนการ 5 ขั้นตอนนี้ ก็คือ
ทีแรกผู้บริหารก็ไม่เชื่อว่ามันจะได้ผลหรอ แกก็บอกว่าลองเช็คดูว่าหมอ พยาบาล มีใครบ้างที่ครบทั้ง 5 ขั้นตอน ปรากฏว่าส่วนใหญ่จะไม่ครบ ขาดไปข้อใดข้อหนึ่ง หมอก็แนะนำว่า ให้บังคับพยาบาลและหมอทุกคน ต้องเช็คลิสต์ก่อนจะทำอะไรคนไข้นี้ ต้องทำให้ครบ 5 ขั้นตอนก่อนไปทำหัตถการ หัตถการคนไข้คนหนึ่งนี้ เกือบ 200 ครั้งต่อวัน มันไม่ใช่น้อยเลย พอทำ 5 ขั้นตอนนี้ โรคอาการติดเชื้อที่เคยมีถึงกว่า ๑๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ มันลดเหลือ 0 คนไข้ที่ตายเพราะการติดเชื้อนี้แทบเป็น 0 เลย แล้วก็ประหยัดงบประมาณ ประหยัดเตียงได้เยอะแยะ ในห้องไอซียู อันนี้ก็ทำให้กระบวนการเช็คลิสต์เริ่มได้รับความสนใจว่า แค่เช็คลิสต์เท่านั้น ใช้กระดาษ 1 แผ่น แล้วก็ปากกา 1 ด้ามนี้มันช่วยลดอัตราการตายของคนไข้ ไม่ต้องให้คนไข้ไปตายในห้องไอซียู หรือว่าไปปั้ม ไปยึด ไปยื้อกันในห้องไอซียู มันช่วยได้มากเลย ไม่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญด้านตับ หัวใจ หรือว่ากระเพาะ แค่หมอธรรมดา พยาบาลธรรมดานี้ทำ 5 ขั้นตอนให้ครบ ปัญหาก็หมดไป
นี้คือเป็นตัวอย่างว่า บางทีวิธีง่ายๆ นี้มันได้ผลมีประสิทธิภาพกว่าวิธีที่ยุ่งยากซับซ้อนเสียอีก แต่คนไม่ค่อยเชื่อ เพราะคนชอบจะคิดอะไรยุ่งยากซับซ้อน ตอนที่หมอแกเสนอเช็คลิสต์ 5 ข้อนี้ หมอส่วนใหญ่ก็ไม่เชื่อ แต่พอวิจัยดูแล้ว ทดลองดูแล้วมันก็ได้ผล ภายใน 1 ปีนี้เห็นผลชัดเจนเลย วิธีง่ายๆ นี้ที่ไม่ซับซ้อน เราอย่าไปดูถูก บางทีมันมีประสิทธิภาพกว่าวิธีที่มันยุ่งยาก การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน บางทีวิธีง่ายๆ นี้มันได้ผลดีกว่าวิธีที่มันยุ่งยากซับซ้อนเสียอีก