แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อาตมาได้อ่านบทสัมภาษณ์ของนักดนตรีคนหนึ่ง ชื่อจักรวาล เสาธงยุติธรรม แต่ว่าหลายคนรู้จักในชื่อ หนึ่ง จักรวาล ได้ทราบว่าเขาเป็นกรรมการในการแข่งดนตรีชื่อว่า The Mask Singer แล้วก็ดังจากรายการนี้ ประวัติเขาน่าสนใจ เขาเล่าถึงตอนที่เขาได้ไปเรียนที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ เขาเรียนเอกไวโอลิน แต่ว่าเขาอยากเรียนเปียโน เนื่องจากไม่ได้เรียนเอกเปียโน เพราะฉะนั้นจะไปฝึกเล่นเปียโนอย่างนักศึกษาทั่วไปก็ทำไม่ได้ ก็ต้องไปแอบดูอาจารย์คนหนึ่งซึ่งเขาซ้อมเปียโนทุกเช้า จะเรียกว่าครูพักลักจำก็ได้ ก็สังเกตแล้วก็จำเสียง เขาอ่านโน้ตก็ไม่ค่อยเป็นแต่ว่าใช้ฟังเสียงแล้วก็ดูเอา พออาจารย์ไม่อยู่เปียโนว่างเขาก็ไปลองซ้อมดู ทำอย่างนี้ทุกเช้า ทั้งๆ ที่ตัวเองก็นอนดึกเพราะตัวเองต้องไปเล่นดนตรีหาเงิน อาจารย์คุณหนึ่งก็รู้ ก็อนุญาตให้เขาใช้เปียโนของวิทยาลัยซ้อม
เขาทำอย่างนี้วันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า จนกระทั่งสามารถจะเล่นเปียโนได้คล่อง อันนี้เรียกว่าเรียนเอง แล้วเขาก็พูดถึงประสบการณ์ช่วงที่อยู่วิทยาลัยนาฏศิลป์ว่า วิชาการอาจจะไม่ได้มากจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ แต่เขาได้ความรักมากเลยจากครู “ครูทุกคนก็รักผม ผมคิดว่าอันนี้มันสำคัญกว่าวิชาการ” อันนี้เป็นคำพูดที่น่าคิด วิชาการที่เรียนมาจากการสั่งสอนของครูนี้สำคัญน้อยกว่าความรักที่ครูให้กับนักเรียนนักศึกษา บางทีวิชาการที่เรียน นักเรียนก็ลืม หรือว่าเอาไปใช้ไม่ได้ เพราะมันล้าสมัยแล้ว สมัยนี้ความรู้มันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก แม้แต่ความสามารถหรือเทคนิคทางการแพทย์มันก็ล้าสมัยเร็ว
มีหมอใหญ่คนหนึ่งบอกว่า ๓ ใน ๔ ที่แกใช้ในการรักษาคนไข้ หรือแกใช้ในการทำมาหากินนี้ แกไม่ได้เรียน ในขณะที่เป็นนักศึกษาแพทย์ เป็นแพทย์ฝึกหัด หรือแพทย์ประจำบ้าน แต่ว่าแกเรียนเอง สิ่งที่เรียนมาจากมหาวิทยาลัยนำไปใช้ไม่ได้แล้ว เพราะเทคโนโลยีมันพัฒนาเร็วมาก เช่น สลายนิ่วด้วยไฟฟ้า สลายนิ่วด้วยเสียง ด้วยอัลตร้าซาวน์ หรือผ่าเส้นเลือดโดยส่องกล้อง พวกนี้มันไม่มีสอนหรอกในมหาวิทยาลัยหรือตอนเป็นแพทย์ประจำบ้านเพราะว่าตอนนั้นเทคโนโลยีมาไม่ถึง หนึ่ง จักรวาลก็คงทำนองนี้ รู้สึกว่าวิชาการที่ได้มามันไม่สำคัญเท่ากับความรักของครู ความรักของครูทำให้เด็กนักเรียนนักศึกษาเกิดความอยากรู้อยากเห็น เกิดความเพียรพยายาม รวมทั้งรักในสิ่งที่ตัวเองเรียนด้วย อย่างวิชาการทางดนตรีแกก็ไม่ได้มีมาก แต่แกก็ได้โอกาสในการใช้เครื่องดนตรีของวิทยาลัยจนกระทั่งกลายเป็นนักดนตรีที่เก่ง เป็นที่เรียกร้องต้องการของนักร้องคนดังๆ เพราะว่าแกสามารถเล่นดนตรีให้ตรงกับเสียงและก็สไตล์ของนักร้องแต่ละคน คือปรับการเล่นของตนเองให้ตรงกับลักษณะของนักร้อง นักร้องก็เลยออกมาดี ผลงานก็ออกมาดี
อาตมาคิดว่าเรื่องความรักที่ครูมีต่อศิษย์นี่สำคัญ อาจจะมากกว่าวิชาการความรู้ มันไม่ใช่แค่วิชาความรู้ทั่วไปเท่านั้น นอกจากความรู้ทางโลกและความรู้ทางธรรมนี้หรือที่เราเรียกพุทธศาสนา บางทีสิ่งที่จะดึงดูดให้คนรุ่นใหม่ เด็ก เยาวชน หันมาสนใจพุทธศาสนาได้นี้มันไม่ใช่ความรู้ที่ครูจะถ่ายทอดให้ อันนั้นเป็นเรื่องรอง แต่สิ่งแรกที่สำคัญคือ “ความรักหรือเมตตากรุณา” ถ้าหากว่าครูมีเมตตากรุณา ครูในที่นี้อาจจะรวมถึงพ่อแม่รวมถึงพระด้วย ซึ่งอยากจะให้ลูก อยากจะให้ลูกศิษย์มีคุณธรรมมีความซาบซึ้งศรัทธาในพระพุทธศาสนา สิ่งสำคัญที่จะดึงดูดเขาได้เป็นอย่างแรกคือความรักความเมตตา แต่บางทีคนที่สนใจธรรมะ หรือว่าครูศีลธรรมหรือแม้แต่พระ เวลาเจอเด็กบางคนที่เขาอาจจะเฮี้ยว อาจจะไม่เรียบร้อย เช่น ผมยาว แต่งตัวไม่สุภาพ ไม่รู้จักนุ่งขาวห่มขาว บางทีก็ไม่พอใจแล้ว เห็นเด็กผมยาว เห็นเด็กเฮี้ยว แทนที่จะให้ความรักความเมตตากับเด็กเหล่านั้น กลายเป็นว่าไม่ชอบ ไปชอบเด็กที่เขาเรียบร้อย แต่งตัวสุภาพ ความไม่ชอบของครูมันก็ทำให้เด็กหันหลังให้กับพุทธศาสนา หรือหันหลังให้กับเรื่องของศีลธรรมได้ง่าย เด็กบางคนเขาก็เฮี้ยวอย่างนั้นแหละ อาจจะเป็นคนที่ฉลาด ชอบซักชอบถาม เด็กที่ชอบถาม ครูบางคนก็ไม่ชอบ
ไอน์สไตน์สมัยที่เขาเป็นนักเรียนมัธยม เขาชอบซักชอบถามมากเลยเกี่ยวกับวิชาวิทยาศาสตร์ แต่ครูไม่ชอบ เราก็รู้ใช่ไหมว่าไอน์สไตน์เขาฉลาดหลักแหลมมาก บางทีเด็กฉลาดเขาจะชอบซักชอบถาม แล้วถามในเรื่องที่ครูอาจจะไม่เคยคิด แต่ถามไปแล้วครูกลับไม่พอใจ เช่น ถามว่าพระพุทธเจ้ามีจริงหรือ รู้ได้อย่างไรว่าพระพุทธเจ้ามีจริง รู้ได้อย่างไรว่าคำสอนของพระพุทธองค์ในพระไตรปิฎกเป็นของจริง เวลาครูหรือพระเจอลูกศิษย์ถามแบบนี้ก็ไม่พอใจแล้ว หาว่าลองของ หาว่ามาท้าทาย อันนี้เรียกว่าไม่มีความอดทน หนักแน่น แล้วก็ขาดเมตตา คือว่าถ้ามีเมตตาเด็กนี้จะถามในเชิงท้าทาย จะท้าทายเพราะอยากลองของ หรือท้าทายเพราะอยากรู้ ก็ยังมีเมตตาเห็นว่าเป็นเด็ก การที่จะมองเขาว่าเป็นเด็กหรือการที่จะเข้าใจนิสัยของเด็กเหล่านี้ก็ต้องมีปัญญา ความเข้าใจเป็นเรื่องของปัญญา ถ้าเข้าใจเด็กว่า เด็กมันก็เป็นอย่างนี้แหละเป็นวัยของเขา โดยเฉพาะเด็กสมัยนี้บางทีพูดจาไม่มีสัมมาคารวะ ก็ไม่ว่าอะไร เพราะรู้ว่ามันเป็นแบบนี้เอง แต่ต่อไปกล่อมเกลาเขาก็จะมีสัมมาคารวะได้ง่าย แต่ผู้ใหญ่สมัยนี้จะไม่ค่อยชอบเด็กเท่าไรแล้ว โดยเฉพาะเด็กที่ชอบถามชอบซัก โดยเฉพาะถามแล้วไม่มีสัมมาคารวะ ไม่ใช่เพราะว่าเขามีเจตนาลบเจตนาร้ายต่อครู หรือว่าต่อพระ มันเป็นอย่างนั้นเอง มันเป็นการหล่อหลอมในแวดวงของเด็กสมัยนี้ เพราะฉะนั้นต้องมีเมตตา มีเมตตามากๆ อย่าไปเกลียดเขา แต่เมตตามันจะเกิดขึ้นได้ต้องมีปัญญาคือความเข้าใจ เข้าใจว่ามันเป็นอย่างนี้เองเด็กสมัยนี้ จะไปคิดว่าสมัยก่อนเราไม่ทำแบบนี้ เราไม่พูดแบบนี้ความคิดแบบนี้ไม่ถูกนะ เพราะว่าสมัยก่อนกับสมัยนี้ไม่เหมือนกันแล้ว
เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจเด็ก ก็สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงให้เด็กเขากลายเป็นคนที่ศรัทธาในพุทธศาสนาได้ หรือว่าศรัทธาในเรื่องคุณธรรม ที่บ้านกาญจนาภิเษกนี้ ป้ามลหรือว่าผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก เด็กๆ ที่เข้าไปอยู่แต่ละคนเฮี้ยวๆ ทั้งนั้น คือเป็นเด็กที่อาจจะเคยฆ่าคน เคยข่มขืน หรือเคยทำร้าย แต่เนื่องจากอายุยังน้อยไม่บรรลุนิติภาวะ ไม่พ้น ๒๐ ก็ต้องมาอยู่สถานแบบนี้ ไม่ใช่คุก แต่ละคนก็เฮี้ยว ครูมลนี้แกก็มีความรักความเมตตา แล้วก็มีปัญญาด้วยก็คือเข้าใจเด็กว่า คนเหล่านี้ ที่มีนิสัยแบบนี้เพราะมีประสบการณ์ที่เจ็บปวดในวัยเด็ก อาจจะขาดความอบอุ่น ถูกละเลย ถูกคนเหยียดหยามเพราะเรียนไม่เก่ง หรือเพราะยากจนมันก็เลยเฮี้ยวแบบนี้แหละ และบางทีก็ต้องการการยอมรับจากเพื่อน ก็เลยทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องเพื่อให้เพื่อนชม เช่น ไปข่มขืน ไปรุมโทรม
พวกนี้บางทีไม่ได้ต้องการอะไรมากกว่าการยอมรับของเพื่อน เพราะเพื่อนคือทั้งหมดของเขา เนื่องจากพ่อแม่ก็ไม่เอา ครูก็ไม่เอา พ่อแม่ก็ไม่ชอบเด็กนิสัยแบบนี้ ครูก็ยิ่งไม่ชอบใหญ่ ก็ยิ่งผลักให้เด็กพวกนี้ไปคบเพื่อนไม่ดี แต่ป้ามลแกก็ใช้ความรัก ความเมตตา และความเข้าใจ เปลี่ยนเด็กพวกนี้ให้กลายเป็นเด็กเรียบร้อยได้ เรียบร้อยหมายถึงคุณธรรม ผมอาจจะยาว ยังมีรอยสักแต่ว่าเป็นเด็กดี รู้จักผิดชอบชั่วดี ออกจากคุกแล้วไม่หวนกลับมาติดคุกอีก อันนี้ก็เป็นผลงานที่สำคัญของบ้านกาญจนาภิเษกที่ป้ามลดูแลอยู่
เมื่อเช้าก็พูดถึงท่าน พอมยุน สุนิม พระเกาหลี ท่านก็ดึงดูดใจวัยรุ่นหนุ่มสาวชาวเกาหลีมากเลย ชาวเกาหลีเขาจำนวนไม่น้อยก็เฮี้ยวเพราะว่าเป็นเด็กที่เกิดในยุคดิจิตอล เด็กที่เกิดในยุคดิจิตอลต่างจากเด็กรุ่นก่อนมากเลย เด็กที่เกิดเติบโตมาพร้อมกับอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์สมาร์ทโฟน หรือว่าแท็บเล็ตพวกนี้ ก็จะมีนิสัยอารมณ์แตกต่างจากคนรุ่นก่อนมาก แต่ว่าท่านมีเมตตาให้กับเด็กเหล่านี้ มีเมตตาเพราะเข้าใจว่าเป็นธรรมชาติของเด็ก ธรรมชาติของวัยรุ่น จะเฮี้ยวไปบ้างหรือว่าจะเกรียนไปบ้าง จะตั้งคำถามท้าทายบ้างก็ไม่โกรธ มีความหนักแน่น บางคนพยายามอธิบาย เด็กนี้ถ้าเกิดถามแปลกๆ ถามแรงๆ แล้วผู้ใหญ่ฟังอธิบายด้วยความใจเย็น อธิบายด้วยสติและปัญญานี่ เด็กเขาจะกลับมานับถือได้ง่าย แต่เดี๋ยวนี้ผู้ใหญ่ไม่ค่อยมีความอดทน ไม่ค่อยมีความหนักแน่นมั่นคงกับเด็กเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นเด็กมัธยมหรือว่าเป็นเด็กมหาวิทยาลัย ถ้าเด็กเฮี้ยวเด็กดื้อไม่ค่อยเชื่อฟังครูก็เริ่มขุ่นแล้ว แล้วก็เริ่มเกลียดหรือว่าเริ่มโกรธ ความโกรธความเกลียดนี่แหละที่จะทำให้เด็กเบื่อหน่ายการเรียน แล้วก็หันหลังให้กับโรงเรียน หันหลังให้กับครู แล้วก็หันไปคบเพื่อนที่ไม่ดี
เพราะฉะนั้นเวลาเราสอนพุทธศาสนา อย่าคิดแต่จะสอนวิชาความรู้ หรือว่าสอนเรื่องพิธีกรรมว่าจะต้องไหว้อย่างไร แต่งตัวอย่างไร สิ่งสำคัญกว่าโดยเฉพาะเป็นจุดเริ่มต้นเลยคือความรัก ความเข้าใจ ความหนักแน่นอดทน มันจะดึงให้เด็กหันมาสนใจพุทธศาสนา หันมาฟังหันมาศรัทธาครูได้ เขาจะแต่งตัวเฮี้ยวอย่างไร แต่งตัวไม่สุภาพ จะไม่ค่อยขยันทำการบ้าน เวลาเราพูด เขาก็คุยกัน สิ่งเหล่านี้เป็นบททดสอบครูอย่างดีเลย ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือพระ ว่าเราจะมีเมตตากับเขาได้ไหม เพราะจุดเด่นของพุทธศาสนาคือเมตตาและกรุณา หรือว่ากรุณาและปัญญา เราจะสอนพุทธศาสนาให้เขาศรัทธาก็ต้องแสดงกรุณาและปัญญาให้เขาเห็นด้วย ให้เขาสัมผัสได้ด้วย สอนพุทธศาสนาแต่ว่าสิ่งที่เราสอนหรือว่าการกระทำของเรา มันไม่มีทั้งกรุณาและปัญญา เขาจะศรัทธาได้อย่างไร หรือถึงจะเข้าใจ สิ่งที่เข้าใจนั้นก็ไม่ใช่พุทธศาสนาแต่เป็นความเชื่อที่ถูกยัดเยียดเพราะเด็กอยากได้คะแนนหรือเพราะเด็กกลัวครูก็แล้วแต่ อันนั้นมันไม่ใช่พุทธศาสนา พุทธศาสนาประกอบด้วยปัญญาและกรุณา