แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ขอคารวะพระคุณเจ้า และขอเจริญพรญาติโยมทุกท่าน เมื่อเช้านี้เราได้มีการปลูกต้นสาละกัน ใครที่มาเมื่อเช้าก็ได้มีส่วนร่วมในการปลูก การปลูกต้นสาละนี้เป็นสิ่งที่เหมาะกับสถานที่และก็โอกาส โอกาสที่ว่านี้ ผู้จัดปรารภว่าเนื่องในวันวิสาขบูชา ซึ่งจะมาถึงจริงๆ คืออีกสิบวันข้างหน้า แต่ว่าเราได้จัดขึ้นก่อนโดยปรารภในเทศกาลวิสาขบูชา เหมาะกับสถานที่ก็ตรงที่ว่า ที่นี่ชื่อว่าสวนลุมพินี พวกเราก็คงจะทราบว่าวิสาขบูชาเป็นวันที่ระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติ ระลึกถึงวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน พระพุทธเจ้าประสูติที่ลุมพินีวัน สวนลุมพินีมีชื่อนี้ก็เพื่อระลึกถึงลุมพินีวัน อันเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าประสูติเมื่อครั้งเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ และเราคงจะทราบต่อไปด้วยว่าพระองค์ประสูติใต้ต้นสาละ ณ ลุมพินีวัน ลุมพินีวันเป็นป่าที่อุดมไปด้วยต้นสาละ นอกจากพระพุทธองค์ประสูติใต้ต้นสาละแล้ว เมื่อพระองค์ปรินิพพานก็ทรงปรินิพพานใต้ต้นสาละด้วย เพราะฉะนั้นการปลูกสาละให้เป็นสวนป่าในบริเวณที่เป็นสวนลุมพินีนี้ จึงเป็นสิ่งที่เหมาะสม โดยเฉพาะเรามาปลูกกันเนื่องในโอกาสวิสาขบูชา สวนสาละที่จะเกิดขึ้นมีชื่อว่าสวนสาละวัน ก็คือสวนแห่งต้นสาละ
ต้นสาละมีความหมายมีความสำคัญสำหรับชาวพุทธ นอกจากพระพุทธองค์ประสูติและปรินิพพานใต้ต้นสาละแล้ว พระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ไม่ว่าปัจเจกพุทธะ ได้แก่ พระเวสสภูก็ทรงตรัสรู้ใต้ต้นไม้ที่ชื่อว่ามหาสาละคือสาละใหญ่ เพราะฉะนั้นในโอกาสต่อไปเมื่อเราได้มาที่นี่และได้เห็นสาละเจริญเติบโตเป็นสวนสมชื่อว่า สวนสาละวัน ก็ขอให้เราระลึกถึงพระพุทธองค์ทั้งในปัจจุบันและในอดีต และขณะเดียวกันก็ระลึกถึงความสำคัญของต้นสาละ ที่จริงในสมัยพระพุทธกาลมีเหตุการณ์สำคัญหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นที่เกี่ยวเนื่องเกี่ยวโยงกับต้นสาละ ในสมัยพระพุทธกาลมีป่าแห่งหนึ่งชื่อป่าโคสิงคะสาละวัน ก็คือสวนหรือป่าสาละชื่อโคสิงคะ คำสอนสำคัญที่ปรากฏเป็นพระสูตรในพระไตรปิฎกก็เกิดขึ้นที่ป่าโคสิงคะสาละวัน มีเกร็ดหรือเรื่องเล่าว่า สมัยหนึ่งพระอานนท์ได้ชวนพระโมคคัลลานะให้ไปเยี่ยมพระสารีบุตร พระสารีบุตรนั้นท่านอยู่ที่ป่าโคสิงคะสาละวัน เมื่อพระโมคคัลลานะ พระอานนท์ และพระที่สำคัญอีกหลายท่านไปพบกับพระสารีบุตร พระสารีบุตรก็ออกมาต้อนรับและกล่าวว่า ป่านี้เป็นรมณีย์ ต้นสาละกำลังออกดอกบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่วป่า นิมนต์ท่านมาเถิด อันนี้ไม่ใช่เป็นครั้งเดียวที่มีการกล่าวต้อนรับพระสหธรรมมิกด้วยการเอ่ยว่า “ที่นี่เป็นที่รมณีย์” นอกจากพระสารีบุตรแล้วก็มีอีกหลายท่าน เมื่อจะกล่าวต้อนรับพระอาคันตุกะ ท่านก็จะกล่าวว่าถิ่นนี้ป่าแห่งนี้เป็นรมณีย์ รมณีย์ก็คือที่ร่มรื่น
ป่าสาละ หากว่าจะมีในอนาคต ไม่ว่าที่นี่หรือที่ไหน ก็จะชวนให้เราระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในสมัยพระพุทธกาล ระลึกถึงไม่ใช่แค่พระพุทธเจ้า แต่รวมถึงพระสงฆ์สาวกที่ท่านได้ใช้อาศัยในป่า เช่น ป่าสาละ ในการบำเพ็ญประพฤติปฏิบัติธรรม คำว่ารมณีย์เป็นคำที่สำคัญที่เราชาวพุทธควรตระหนัก นอกจากจะเป็นประเพณีหรือธรรมเนียมของพระที่สมัยก่อนล้วนอยู่ป่า เวลากล่าวต้อนรับอาคันตุกะก็จะชี้ชวนให้เห็นว่าสถานที่นี้น่าพำนัก ด้วยการกล่าวว่า “ที่นี่เป็นที่รมณีย์” ถ้าเป็นป่าสาละท่านก็จะกล่าวว่า ต้นสาละกำลังออกดอกบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่วป่า ทำไมท่านถึงกล่าวต้อนรับอาคันตุกะด้วยการพรรณนาถึงสภาพธรรมชาติของป่า ก็เพราะว่าพระสมัยก่อน ท่านมีฉันทะมีความพึงพอใจในที่ที่สงบร่มรื่นหรือที่ที่เป็นรมณีย์ ไม่ใช่เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ แต่เพื่อบำเพ็ญภาวนาและเพื่อการอยู่โดยผาสุกในทางจิตใจ
ที่จริงไม่ใช่แต่เฉพาะพระสงฆ์สาวกที่ประสงค์หรือชื่นชมสถานที่ที่รมณีย์ แม้กระทั่งพระพุทธเจ้าเมื่อพระองค์ตัดสินพระทัยที่จะบำเพ็ญเพียรเพื่อการตรัสรู้ หลังจากที่พระองค์ค้นพบว่าคำสอนของอุทกดาบสนั้น ไม่ใช่เป็นหนทางแห่งการตรัสรู้ พระองค์ก็มุ่งหน้าไปทำความเพียรด้วยวิธีอื่น และเมื่อพระองค์มาถึงตำบลอุรุเวลาริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา พระองค์ประทับใจในสถานที่แห่งนั้นเพราะอะไร เพราะว่าเป็นที่รมณีย์ ดังพระองค์ได้ตรัสกับพระองค์เองว่า ภูมิภาคถิ่นนี้เป็นที่รมณีย์หนอ มีไพรสนฑ์ร่มรื่นน่าชื่นบาน มีแม่น้ำไหลผ่าน น้ำไหลเย็นชื่นใจ อีกทั้งชายฝั่งท่าน้ำก็ราบเรียบ โคจรคามคือที่บิณฑบาตรก็มีโดยรอบ เป็นสถานที่ที่เหมาะที่จะบำเพ็ญเพียรสำหรับผู้ประสงค์ทำความเพียร แล้วพระองค์ก็ตัดสินใจว่าพระองค์จะประทับตรงนั้น เพื่อที่จะทำความเพียรเพื่อให้บรรลุธรรม พระองค์ใช้เวลาหกปีอยู่ตรงนั้น จนกระทั่งบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ
ถ้าเราได้ฟังสิ่งที่พระองค์ได้ตรัสกับพระองค์เอง เมื่อได้มาเห็นสถานที่ที่ร่มรื่นเป็นรมณีย์ แล้วคงจะตระหนักว่าการตรัสรู้ของพระองค์ ธรรมชาติ ต้นไม้ ความร่มรื่น มีส่วนสำคัญมาก และที่น่าสนใจก็คือว่าไม่ใช่แต่พระพุทธองค์พระองค์นี้ที่ตรัสรู้ใต้ต้นไม้ พระพุทธองค์ในอดีตย้อนถอยหลังไปยี่สิบเจ็ดพระองค์ ก็ล้วนตรัสรู้ใต้ต้นไม้ นอกจากพระเวสสภูซึ่งตรัสรู้ใต้ต้นสาละ พระกัปปุสัตทะก็ตรัสรู้ใต้ต้นไม้จี้ พระโกนาคมนะก็ตรัสรู้ใต้ต้นมะเดื่อ พระกัสสปะตรัสรู้ใต้ต้นนิโครธ และมีการพยากรณ์ว่าต่อไปเมื่อพระศรีอาริยเมตไตรยตรัสรู้ ก็จะตรัสรู้ใต้ต้นกากะทิง ซึ่งต้นเหล่านี้เราอาจจะไม่ค่อยเคยเห็นหรือรู้จัก แต่มีการพยากรณ์ไว้
น่าสนใจว่า ทุกพระองค์ตั้งแต่ปัจจุบันย้อนถอยหลังไปถึงอดีตและในอนาคตตรัสรู้ใต้ต้นไม้ เพราะอะไร ก็เพราะว่าต้นไม้ให้ความร่มรื่นร่มเย็นเหมาะกับการบำเพ็ญเพียร เหมาะกับการเจริญภาวนา และไม่ใช่แค่ต้นไม้ต้นเดียว แต่ต้นไม้รายรอบที่ประกอบกันเป็นสถานที่รมณีย์ ก็ทำให้เกิดความร่มเย็น ทั้งร่มเย็นทางกายและในจิตใจ ดังนั้นความเป็นรมณีย์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยต้นไม้ที่ประกอบกันเป็นป่า ยิ่งถ้ามีลำห้วยลำธาร มีแม่น้ำใสไหลเย็นผ่าน ก็จะยิ่งทำให้เป็นสถานที่ที่สงบสงัด ควรแก่การบำเพ็ญภาวนา นี่คือประโยชน์ นี่คืออานิสงส์อย่างหนึ่งของต้นไม้ที่มีคุณค่าที่เราชาวพุทธควรจะตระหนัก
ต้นไม้และธรรมชาตนี้มีคุณค่ามีประโยชน์มากมายหลายประการ เราก็ทราบดีอยู่แล้วว่าต้นไม้ที่ประกอบกันเป็นป่า มีความสำคัญในการผดุงให้ระบบนิเวศน์เป็นไปอย่างสมดุล ทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล เวลาเราพูดถึงฝนเราก็จะนึกถึงฟ้า เราใช้คำว่าฝนฟ้า แต่ที่จริงนอกจากฟ้าและฝน ต้นไม้ก็สำคัญ ฝนไม่ได้อยู่ที่ฟ้า แต่ยังสัมพันธ์กับต้นไม้ ยิ่งถ้าต้นไม้ปลูกกันเป็นพรืดกลายเป็นทะเลต้นไม้ที่เราเรียกว่าป่า ก็จะช่วยทำให้ระบบนิเวศน์ไหลเวียนเป็นปกติ อาตมาได้มีโอกาสได้ไปฟังการบรรยายของผู้รู้ด้านป่าและความสัมพันธ์กับภูมิอากาศ เขาจะชี้ให้เห็นเลยว่าต้นไม้และป่าผืนใหญ่นี้มีส่วนสำคัญมากในการทำให้เกิดฝนเกิดความชุ่มชื้น ยกตัวอย่างเช่น ป่าอเมซอนในอเมริกาใต้ เหนือขึ้นไปจะมีสิ่งที่เรียกว่าแม่น้ำลอยฟ้า flying river แม่น้ำเหล่านี้ก็จะไหลอยู่เหนือป่าอยู่บนฟ้าอย่างต่อเนื่อง และทำให้เกิดฝนตกในพื้นที่โดยรอบป่าอเมซอน ซึ่งอาตมาก็เชื่อว่าคงไม่ใช่ป่าอเมซอนแห่งเดียว ป่าพื้นที่อื่นๆ ก็มีแม่น้ำลอยฟ้าที่ช่วยทำให้เกิดฝน เกิดความชุ่มชื้น ในทะเลเขามีการประมาณว่า พื้นที่ในทะเลหนึ่งตารางเมตรจะมีน้ำคืนสู่ท้องฟ้า คือระเหยไปประมาณหนึ่งลิตรในหนึ่งวัน แต่ถ้าเป็นป่าน้ำที่ระเหยสู่ฟ้าแล้วกลายเป็นฝนมีมากเป็นแปดเท่า และเฉพาะต้นไม้ต้นใหญ่ๆ ต้นหนึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว ถ้าเป็นในป่าจะคายน้ำวันละถึงหนึ่งพันลิตร ซึ่งรวมกันแล้วก็จะกลายเป็นฝนตกมาสู่พื้นที่โดยรอบ
มนุษย์เราผูกพันกับระบบนิเวศน์อย่างแยกไม่ออก เราเป็นหนี้บุญคุณต้นไม้ เป็นหนี้บุญคุณป่ามาก ในระดับปัจเจก ต้นไม้และพื้นที่สีเขียวมีความสำคัญต่อร่างกายและจิตใจของเรา ไม่เพียงแต่ปัจจัยสี่ที่เราได้จากป่าจากต้นไม้ การที่เรามีสุขภาพดีก็เป็นอานิสงส์ที่ได้จากต้นไม้และพื้นที่สีเขียว ในเนเธอร์แลนด์เขามีการวิจัยพบว่าคนที่อยู่ในพื้นที่รัศมีหนึ่งกิโลเมตรโดยรอบเป็นพื้นที่สีเขียว จะมีโรคน้อยกว่าคนอื่นซึ่งเป็นโรคสำคัญทั้งนั้น เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคหืด โรคไมเกรน โรคซึมเศร้า และอีกนับสิบโรค คนที่อยู่ในพื้นที่ในรัศมีโดยรอบเป็นพื้นที่สีเขียวจะเป็นโรคเหล่านี้น้อยกว่า โดยที่คุณยังไม่ต้องทำอะไรเลย แค่อยู่ตรงนั้น ยังไม่ต้องออกกำลังกายด้วยซ้ำ แต่ถ้าออกกำลังกายด้วย ก็ยิ่งได้รับอานิสงส์ เป็นที่รู้กันดีว่าธรรมชาติช่วยทำให้จิตใจเราสงบ จิตใจเราเย็นสบาย ผู้ป่วยที่ผ่าตัดใหญ่ ถ้าได้เห็นธรรมชาติทางหน้าต่างเขาจะอยู่ จะหายไว จะใช้ยาน้อย สามารถจะฟื้นตัวและออกจากโรงพยาบาลได้เร็วกว่าคนที่อยู่ในห้องที่มีแต่กำแพงทั้งสี่ด้าน โดยเฉลี่ยคนที่เห็นธรรมชาติในขณะพักฟื้นจะอยู่ในโรงพยาบาลน้อยกว่าแปดวัน อันนี้สำหรับคนที่ผ่าตัดใหญ่ เช่น ผ่าตัดหัวใจ
ป่าหรือต้นไม้มีคุณค่าอย่างมากและที่สำคัญก็คือ นอกจากมีคุณค่าต่อสุขภาพ มีประโยชน์ต่อจิตใจ ยังมีความสำคัญในทางพัฒนาธรรมะให้เจริญงอกงามขึ้นมาในใจของแต่ละคนด้วย เราสามารถจะกล่าวได้ว่า ต้นไม้หรือป่ากับธรรมะนี้แยกจากกันไม่ออก เมื่อพระพุทธองค์แสดงธรรม พระองค์ก็จะส่งเสริมให้พระสาวกได้ไปปฏิบัติธรรม ทำความเพียรในป่า ดังมีสำนวนว่า “นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง ภิกษุทั้งหลายพึงทำความเพียรขจัดกิเลส อย่าประมาท อย่าได้มีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจในภายหลัง” คือพอฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าเสร็จก็ให้ไปปฏิบัติธรรม ปฏิบัติที่ไหน ใต้ต้นไม้หรือว่าในถ้ำ เพราะฉะนั้นพระสงฆ์ตั้งแต่สมัยพุทธกาลเป็นต้นมา ที่มุ่งบำเพ็ญเพียรเพื่อความออกจากทุกข์หรือเพื่อการพ้นทุกข์ ท่านก็จะอาศัยธรรมชาติอาศัยป่านี่แหละเป็นสถานที่ภาวนา มีพระอรหันต์หลายท่านที่ได้กล่าวสรรเสริญหรือบรรยายถึงความสำคัญของป่า อย่างพระอรหันต์ท่านหนึ่งท่านกล่าวเป็นคาถาซึ่งไพเราะมากว่า “ขุนเขาเขียวดังเมฆ รุจิเรขงามดี มีวารีใสเย็นและใสสะอาด ดารดาษด้วยแมลงค่อมทอง มองแล้วรื่นรมย์ใจ” บางท่านมีความเพียรในการภาวนามาก เพราะการที่ได้สัมผัสกับความรื่นรมย์ในถิ่นรมณีย์ อย่างเช่นพระภูตะเถระท่านก็กล่าวเป็นคาถาว่า “ยามใด ณ ริมฝั่งธารใส มวลไม้ป่านานาพันธุ์บานสะพรั่ง ภิกษุนั่งบำเพ็ญฌานภาวนา ยามนั้นจงรู้เถอะว่าไม่มีสุขใดยิ่งใหญ่ไปกว่า” บรรยากาศความรื่นรมย์ทำให้พระอย่างเช่นพระภูตะเถระ ท่านเกิดกำลังใจในการทำความเพียร
อีกท่านหนึ่งพระเอกะวิริยะเถระวิหารีเถระ ท่านก็กล่าวเป็นคาถา คาถาเหล่านี้ท่านกล่าวหลังจากที่ท่านตรัสรู้แล้ว เช่นท่านกล่าวว่า “ยามสายลมเย็นพริ้วอ่อน กลิ่นหอมอวลขจดขจรไปทุกทิศ ฉันนั่งสงบจิต ณ ยอดผา แต่เพียงขจัดอวิชชาไปจากใจ” ท่านเหล่านี้เลือกที่จะไปบำเพ็ญภาวนาในป่า ท่ามกลางต้นไม้ในถิ่นรมณีย์ ก็เพื่ออาศัยธรรมชาติแวดล้อม น้อมใจให้สงบและพิจารณาธรรมจนเกิดปัญญาสว่างไสว หลุดพ้นออกจากความทุกข์ มีบางท่านกำลังฉันอยู่ โยมแม่เอาอาหารมาถวาย ท่านฉันอยู่ พิจารณาก็เห็นความเกิดดับขณะที่ฉัน ณ ตอนนั้นเรียกว่าปัญญากำลังจะเกิด ท่านก็หยุดฉันเลย แล้วก็เข้าป่าเพื่อบำเพ็ญภาวนาต่อ ปรากฏว่าพอเข้าป่าบำเพ็ญภาวนา ท่านก็บรรลุธรรม ปัญญาเห็นแจ้งในสัจธรรม หลุดพ้นจากกิเลสเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นจึงมีธรรมเนียมที่พระที่ต้องการภาวนาเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ ท่านก็จะเดินเข้าไปในป่า อาศัยป่าเป็นที่ฝึกฝน จวบจนกระทั่งในรุ่นของเรา ก็ยังมีธรรมเนียมพระป่า ซึ่งบางท่านก็ไม่ได้เพียงแต่อยู่ป่าแบบเป็นวัด แต่เป็นการธุดงค์เข้าไปในป่า
สมัยหนึ่งเคยมีสมเด็จพระราชาคณะท่านหนึ่ง ท้วงติงหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต คือพระราชาคณะท่านนี้ ท่านได้ยินกิตติศัพท์ว่าหลวงปู่มั่น ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้เป็นถึงกับหลวงปู่ ยังอยู่ในวัยฉกรรจ์ ชอบจาริกธุดงค์ในป่า หนังสือหนังหาก็ไม่เรียน แต่เข้าไปในป่า จาริกอยู่ผู้เดียว ท่านก็ทักว่าไปในป่าแต่ผู้เดียวแต่ลำพังนี่ จะมีสหธรรมมิกตักเตือนได้อย่างไร จะได้ฟังธรรมะจากไหน หลวงปู่มั่นท่านตอบว่า “พระเดชพระคุณ ขอให้วางใจ อย่าได้ห่วงกระผมเลย กระผมอยู่ในป่า ได้ฟังธรรมะตลอดเวลา เสียงจักจั่นเรไร เสียงนกเสียงกา เสียงช้างเสือเหล่านี้ ล้วนเป็นเสียงธรรมะทั้งสิ้น กระผมได้รับการเตือนจากเสียงธรรมชาติอยู่ตลอดเวลาว่า คนเราหรือตัวเองนี้มาจากไหนและจะไปไหน เวลาเห็นกิ่งไม้ร่วงหล่นทับถม เวลาเห็นต้นไม้เขียวครึ้ม และเวลาเห็นต้นไม้ตายซาก ทั้งหมดนี้เป็นธรรมะที่เตือนให้กระผมระลึกถึงธรรม เป็นการเตือนให้เกิดสติและสัมปะชัญญะ กระผมอยู่ในป่ามีเสียงเตือนมีเสียงธรรมะอยู่ตลอดเวลา พระเดชพระคุณจึงอย่าได้ห่วงกังวลกับกระผมเลย” ตอนหลังท่านยังกล่าวว่าสมเด็จพระราชาคณะท่านนั้นยังเคยได้กล่าวท้วงติงท่าน ไม่ใช่ท้วงติงแต่ถามว่า “ท่านไม่ได้เรียนหนังสือสูง ทำไมกล่าวธรรมะได้ลึกซึ้ง ทำไมกล่าวธรรมะได้ถูกต้องทั้งที่เรียนหนังสือน้อย” ท่านก็ตอบไปว่า“ธรรมะมีอยู่ทุกหย่อมหญ้าสำหรับผู้มีปัญญา” จะเห็นได้ว่าธรรมะแยกไม่ออกจากธรรมชาติ การที่ได้อยู่ท่ามกลางต้นไม้ท่ามกลางธรรมชาติ สามารถจะน้อมใจเราให้เห็นธรรม เห็นสัจธรรมความจริง
หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ ซึ่งเป็นหลวงพ่อของอาตมาก็เคยกล่าวว่า ธรรมะนี้ไม่ได้แยกขาดไปจากธรรมชาติที่ไหน ธรรมะก็คือตัวธรรมชาตินี่เอง คนเราสามารถบรรลุธรรมได้จากการสังเกตธรรมชาติ เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่วัดสมัยก่อน ท่านก็จะเป็นวัดที่เต็มไปด้วยต้นไม้ หรือคงสภาพความเป็นป่าเอาไว้ตามธรรมเนียมวัดป่า หรือไม่แต่วัดในเมืองสมัยก่อนก็เป็นอาราม อารามก็คือสถานที่ร่มรื่นเป็นรมณีย์ ซึ่งก็คือมีต้นไม้จนสภาพกลายเป็นป่า และท่านจะรักษาหวงแหนไว้ไม่ยอมให้ใครมาตัดง่ายๆ แม้จะเป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินหรือว่าอ้างเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน เช่น วัดสมอรายหรือวัดราชาธิวาสในปัจจุบัน เคยมีกฐินพระราชทานจะมายังวัดนั้น มหาดเล็กก็อยากจะตัดกิ่งไม้เพื่อให้สัปทนผ่านเข้าไปถึงตัววิหารหรือโบสถ์ได้ เจ้าอาวาสไม่ยอม บอกว่าตัดไม่ได้ จะเสด็จก็เสด็จ จะไม่เสด็จก็ไม่เสด็จ แต่ห้ามตัด อันนี้ท่านพูดถึงในหลวงรัชกาลที่สอง ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านเอง ว่าจะเสด็จก็ได้ ไม่เสด็จก็ได้ แต่ห้ามตัด สมัยที่หลวงพ่อชายังมีชีวิตอยู่วัดหนองป่าพง ก็เป็นป่าทึบ มีพระชีหลายคนเป็นมาลาเรีย เจ้าหน้าที่มาก็เสนอว่าควรจะตัดต้นไม้บ้าง เพื่อจะได้โปร่ง ลมจะได้พัดพาสะดวก คนจะเป็นมาลาเรียน้อยลง หลวงพ่อชาท่านไม่ยอม ท่านบอกว่าคนตายก็ได้แต่ว่าป่าห้ามตัด ท่านบอกว่าพระชีตายก็ตาม อาตมาตายก็ตาม แต่ให้รักษาป่าเอาไว้ อันนี้เพราะท่านเห็นคุณประโยชน์ของป่า เห็นคุณประโยชน์ของต้นไม้ว่า เป็นสิ่งสำคัญในการที่จะส่งเสริมธรรมะให้เกิดขึ้นในจิตใจของผู้คน เพราะฉะนั้นพวกเราชาวพุทธ เมื่อเราตระหนักถึงความสำคัญของต้นไม้ว่าเชื่อมโยงกับธรรมะ จึงควรเห็นความสำคัญของต้นไม้ ควรพยายามรักษาต้นไม้รักษาป่าเอาไว้ แล้วก็เพียรพยายามปลูกกันให้มากขึ้น
การปลูกต้นไม้ พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นบุญ ดั่งมีพุทธพจน์ว่า “ผู้ใดปลูกสวนปลูกป่า สร้างสะพาน จัดที่บริการน้ำดื่ม ขุดบ่อหรือหนองน้ำ ให้ที่พักอาศัย บุญของผู้นั้นย่อมเจริญทั้งวันและทั้งคืน” ถ้าเราหันมาทำบุญกันแบบนี้มากขึ้น คือ นอกจากการสร้างโบสถ์สร้างวิหาร มาปลูกป่าสร้างสวนให้มีมากขึ้น ก็เป็นการทำบุญเหมือนกัน และสำหรับการปลูกต้นไม้มากๆ ก็เท่ากับเรากำลังฟูมฟักธรรมะให้เจริญงอกงาม จะเรียกได้ว่าการปลูกต้นไม้เป็นการสร้างวิหารให้กับพระพุทธองค์ก็ได้ อันนี้อาตมาไม่ได้พูดเอง แต่ว่าได้ฟังมาจากนักปลูกต้นไม้ท่านหนึ่ง ท่านพูดดีมาก ท่านว่า“การปลูกต้นไม้ก็คือการสร้างวิหารถวายพระพุทธเจ้า” วิหารนี้เพื่ออะไร ก็เพื่อพระนักปฏิบัติจะได้มาทำความเพียรภาวนา คุณประโยชน์ของวิหารจะได้แก่อะไร ถ้าไม่ใช่เป็นสถานที่สำหรับการฟังธรรม การศึกษาธรรม และการปฏิบัติธรรม ประโยชน์นอกนั้นถือว่าเป็นส่วนรองหรือว่าเป็นกระพี้ และที่ใดที่จะเหมาะสำหรับการทำความเพียร ถ้าไม่ใช่ใต้ต้นไม้ ถ้าไม่ใช่ในป่า ถ้าไม่ใช่ที่รมณีย์
การปลูกต้นไม้ถือว่าเป็นการตอบแทนคุณพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงมอบศาสนา มอบธรรมะให้กับเราเพื่อนำไปสู่หนทางแห่งความพ้นทุกข์ เพื่อใช้ดับความรุ่มร้อนในใจ เพื่อทำให้ชีวิตจิตใจได้สัมผัสความสงบเย็น เมื่อเราได้ประโยชน์จากศาสนา เราก็ควรจะส่งเสริมให้ศาสนาหรือคำสอนของพระองค์ดำรงคงอยู่ต่อไป และวิธีหนึ่งก็คือการปลูกต้นไม้มากๆ การรักษาป่า การส่งเสริมให้มีที่รมณีย์อย่างกว้างขวาง เพราะสถานที่เหล่านั้นจะทำให้ผู้คนจิตใจสงบเย็น โอบอ้อมอารีมีเมตตา นั่นคือธรรมะ หรือยิ่งกว่านั้นก็คืออาศัยภาวะที่เป็นรมณีย์นั้นในการเฝ้าดูจิตใจ เห็นความจริงของกายและใจ หรือเห็นความจริงของธรรมชาติที่เชื่อมโยงกันเป็นสหสัมพันธ์ชนิดที่ไม่สามารถที่จะแยกออกมาเป็นเราเป็นเขา เป็นสัตว์ เป็นคน บุคคล อย่างที่เราเห็นโดยสามัญได้
การปลูกต้นไม้เป็นการสืบต่อศาสนา เป็นการฟูมฟักธรรมะ ให้เจริญงอกงามซึ่งเป็นการตอบแทนบุญคุณของพระพุทธเจ้าอย่างหนึ่ง และก็เป็นการตอบแทนบุญคุณของต้นไม้ เป็นการตอบแทนบุญคุณของธรรมชาติด้วย ในเมื่อธรรมชาติได้มีส่วนทำให้มีพระพุทธเจ้ามาหลายพระองค์จวบจนทุกวันนี้ อย่างที่ได้กล่าวไว้แล้วว่าเป็นเพราะบำเพ็ญภาวนาใต้ต้นไม้ พระพุทธองค์จึงตรัสรู้ เราเป็นหนี้บุญคุณธรรมชาติมาก เราเป็นหนี้บุญคุณต้นไม้มาก การปลูกต้นไม้ ขยายต้นไม้ให้แพร่พันธุ์ออกไปให้กว้างขวาง เป็นการตอบแทนบุญคุณของต้นไม้และเป็นการบูชาคุณของพระพุทธเจ้า เราควรทำให้การปลูกต้นไม้เป็นประเพณี เป็นประเพณีที่สมสมัย ทำให้การทำบุญในวันสำคัญของชีวิตคนเรา ยึดโยงแยกไม่ออกจากการปลูกต้นไม้ เมื่อใครที่มีลูก แล้วมีสมาชิกใหม่ในครอบครัว จะเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง ถ้าหากว่าได้มีการปลูกต้นไม้ในวันที่ลูกของเราได้คลอดออกมา ให้ต้นไม้ต้นนั้นเป็นเสมือนเพื่อนของลูกน้อยของเรา เป็นเพื่อนไม่ใช่เฉพาะในยามเป็นทารก แต่เป็นเพื่อนเมื่อเขาโตขึ้นเป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น ให้เขาได้รู้สึกสัมพันธ์ผูกพันกับต้นไม้ต้นนั้น เวลามีงานสำคัญของชีวิต เช่นทำบุญวันเกิด เราควรจะสร้างประเพณีปลูกต้นไม้เพื่อทำบุญในวันเกิด ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เปิดสำนักงานใหม่ เราก็ปลูกต้นไม้กันในที่สาธารณะเท่าที่มีโอกาส แม้กระทั่งวันแต่งงาน เราก็ควรทำบุญกันด้วยการปลูกต้นไม้กันให้มากขึ้น วาระสำคัญในชีวิตของเรามีหลายอย่าง วัยเกษียณ วันที่เกษียณจากราชการ วันที่เกษียณจากงาน เราก็ปลูกต้นไม้หรือมอบต้นไม้ให้แก่กัน วันสำคัญทางศาสนา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันมาฆบูชา ก็ทำบุญกันด้วยการปลูกต้นไม้ จริงอยู่การปลูกต้นไม้ในวาระแบบนั้นก็ไม่ได้มากต้นเท่าไหร่ แต่ถ้าหากว่าชาวพุทธเราจำนวนมาก มีประเพณีแบบนี้กันมากขึ้น แต่ละปีต้นไม้ที่ปลูกใหม่ก็จะมีไม่น้อย
แม้กระทั่งเมื่อเราปลงศพหรือปลงสรีระของผู้มีพระคุณ งานศพเราก็มอบต้นไม้ให้แก่กัน หรือว่าเมื่อเราโปรยเถ้าโปรยถ่านของคนที่เรารัก นอกจากจะโปรยไปที่แม่น้ำเราอาจจะฝังดินแล้วกลบด้วยต้นไม้ ให้เถ้าถ่านของผู้ที่เรารักได้แปรกลายเป็นธรรมชาติ มันไม่ใช่เป็นความสูญเสียแต่เป็นการสร้างสรรด้วย การกลับคืนสู่ดินน้ำไฟลมแห่งร่างของผู้ที่เรารัก ในที่สุดก็กลับคืนมาใหม่เป็นต้นไม้ที่เขียวขจี และช่วยกันเสริมสร้างให้สถานที่บริเวณนั้นเป็นที่รมณีย์ เพื่อให้ผู้คนเกิดความสงบเย็นในจิตใจ มีความโอบอ้อมอารี หรือมีสถานที่ที่เอื้อต่อการบำเพ็ญภาวนา ถ้าหากว่าเราช่วยกันปลูกให้มากขึ้น ต่อไปธรรมเนียมการให้ต้นไม้ก็จะกลายเป็นประเพณี ในเมืองนอกการให้ต้นไม้เป็นของขวัญ เริ่มจะกลายเป็นประเพณีไปแล้ว ไม่ได้ซื้อของเล่น ซื้อโทรศัพท์ ให้เป็นของขวัญเท่านั้น แต่ว่ามอบต้นไม้ให้เป็นของขวัญที่มีชีวิตและอยู่ยั่งยืนนาน เป็นของขวัญที่จะเตือนใจให้เราระลึกถึงวันเวลาและโอกาสที่ดีๆ เป็นการเสริมสร้างความทรงจำหรือระลึกถึงความทรงจำที่ยั่งยืนนาน เรามาชวนกันสร้างประเพณีด้วยการปลูกต้นไม้ ด้วยการหยิบยื่นต้นไม้ให้แก่กัน ปลูกด้วยใจ ให้ด้วยมือ จะเป็นบุญที่มีอานิสงส์มาก และก็จะช่วยเป็นการตอบแทนบุญคุณ ทั้งของพระพุทธเจ้า และตอบแทนบุญคุณของธรรมชาติ ที่จะให้ผลยั่งยืน
อาตมาก็ขออนุโมทนาทุกท่านที่ได้มาร่วมงาน รวมทั้งได้จัดงานซึ่งปีนี้เป็นปีที่สองแล้ว ก็หวังว่าเราจะมีงานแบบนี้อย่างต่อเนื่องไปทุกปี แล้วจะมีผู้คนมาร่วมเพื่อทำให้งานนี้ได้เผยแพร่ความสำนึกว่าปลูกต้นไม้คือปลูกธรรมะ ขอเจริญพร