แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อสัก ๓๐ ปีก่อน ตรงหอไตรกับพื้นที่รอบๆ เป็นสวนปลูกไม้ผลเต็มพื้นที่ ก็ไม่เชิงเต็มเพราะว่ามีพื้นที่อีกส่วนหนึ่งสำหรับปลูกผัก หลวงพ่อท่านตั้งใจให้เป็นพุทธเกษตร ชักชวนชาวบ้านมาเพื่อที่จะปลูกผักเอาไปขาย เอาไปบริโภคด้วย จะได้ลดรายจ่ายแล้วก็จะได้มีรายได้เพิ่มขึ้น ช่วยลดหนี้สิน เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ทำไร่มันไร่ข้าวโพดแล้วเป็นหนี้มาก อะไรๆ ก็ต้องซื้อหมดแม้กระทั่งมะละกอ พริก แทนที่จะปลูกกินเองที่บ้าน เลยชักชวนชาวบ้านมาปลูกผัก แถวนี้จะมีป้ายอยู่ป้ายหนึ่งเขียนว่า “ปลูกผักแก้จน ดับมืดมนพึงปลูกสติ” อันนี้ก็สะท้อนถึงแนวคิดของหลวงพ่อในเวลานั้นว่าท่านอยากจะให้วัดนี้เป็นทั้งสถานที่ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลชาวบ้านในเรื่องเกี่ยวกับการทำมาหากิน อันนี้เป็นส่วนทางกายหรือส่วนทางโลก ในส่วนของทางธรรมหรือจิตใจ ท่านอยากจะให้ที่นี่ช่วยฝึกจิตฝึกใจของผู้คนโดยอาศัยการเจริญสตินี่แหละที่จะดับความหลง ทำให้เกิดแสงสว่างในจิตใจ ซึ่งจะนำความเจริญมาสู่ชีวิต แต่โครงการนี้ตอนหลังก็พักไป เรื่องพุทธเกษตรปลูกผักแก้จนก็ทำไม่สำเร็จ แต่ว่าดับมืดมนพึงปลูกสติก็ยังทำ ผ่านมา ๓๐ ปีแล้วก็ยังทำ แล้วก็ได้รับความสนใจจากผู้คนมากขึ้น โครงการปลูกผักไม่สำเร็จคนไม่สนใจ แต่โครงการดับมืดมนด้วยสติได้รับความสนใจจากผู้คน ผู้คนเข้ามาปฏิบัติเจริญสติที่นี่ปีหนึ่งก็เรียกว่าหลายพัน รวมๆ แล้วอาจจะเป็นหมื่นก็ได้
สติช่วยดับความมืดมนในจิตใจ ทำให้เกิดโพธิ “โพธิ” คือความรู้ หรือความตื่นรู้ ความรู้แจ้งก็ได้ โพธิจะงอกงามในจิตใจได้ก็ต้องอาศัยสติ ปลูกสติขึ้นก่อน โพธิในเรือนใจก็จะงอกงามตามมา ทำให้เกิดความสว่างไสว เกิดปัญญา แต่คนทั่วไปยังไม่ค่อยเห็นคุณค่าของโพธิหรือความสว่างไสวในจิตใจ ส่วนหนึ่งก็เพราะไม่รู้ตัวว่าความมืดมนครอบงำจิตใจอยู่ ความมืดมนในที่นี้หมายถึงความหลง คนเราบางทีอยู่กับสิ่งใดนานๆ ก็จะไม่รู้หรอกว่าสิ่งนั้นกำลังเป็นปัญหาหรือมีสิ่งนั้นอยู่ด้วยซ้ำ มันมีคำพูดว่า “นกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ” นกมันอยู่กับฟ้านานๆ จนกระทั่งไม่รู้สึกว่ามีฟ้าด้วยซ้ำ ปลาก็อยู่กับน้ำตั้งแต่เกิด อยู่ใกล้ชิดกับน้ำ สัมผัสกับน้ำมาตลอด แต่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีน้ำ คนที่เกิดมาพร้อมกับความหลงก็ไม่รู้ตัวหรอกว่ามีความหลงครอบงำใจ จนกระทั่งเริ่มรู้จักกับความไม่หลงหรือเริ่มรู้จักกับความรู้ตัว คนที่อยู่กับความลืมตัวมาตลอดไม่รู้จักหรอกว่ามีความลืมตัว จนกระทั่งพอได้รู้จักความรู้ตัวขึ้นก็จะเกิดการเปรียบเทียบแล้วเกิดฉุกใจขึ้นมาว่าที่ผ่านมาเราอยู่กับความลืมตัว อยู่กับความหลง หรืออยู่กับความมืดมนมาตลอด
อันนี้เกิดขึ้นกับคนที่เริ่มมาปฏิบัติมาเจริญสติ แต่ก่อนเขามีแต่ความคิดเต็มหัวเลย ความคิดฟุ้งซ่าน จนกระทั่งไม่รู้สึกว่ามันมีความสงบที่สามารถจะเกิดขึ้นได้ มันมีภาวะที่ว่างจากความคิดในจิตใจของเราได้ พอได้มาเจริญสติก็ได้เห็นว่ามันมีความรู้ตัวเกิดขึ้นได้ มันมีความสว่างไสวเกิดขึ้นได้ และตอนนั้นแหละถึงรู้ว่าที่ผ่านมาเราหลง เราลืมตัว เราไม่รู้ตัว เราอยู่ในความมืดมน อันนี้สำหรับคนที่มาปฏิบัติใหม่ๆ เนื่องจากยังไม่ค่อยสัมผัสกับความรู้สึกตัว บางทีปฏิบัติไปก็ไม่รู้ว่าทำถูกหรือทำผิด เวลาครูบาอาจารย์พูดถึงความรู้ตัว ความรู้สึกตัว ก็สงสัยว่ามันคืออะไร เพราะไม่เคยรู้จักหรืออาจจะไม่ได้สัมผัสมันเท่าไรเลย ที่จริงความรู้ตัว ความรู้สึกตัวนี้เกิดขึ้นกับทุกคนแต่ว่าเป็นแบบชั่วครั้งชั่วคราว อาจจะรู้สึกตัวแวบๆ แล้วถูกความไม่รู้ตัวความลืมตัวครอบงำเอา แต่พอได้ปฏิบัติและทำถูกวิธี มีความรู้สึกตัวต่อเนื่อง ตอนนี้แหละจะเริ่มจับทางถูกแล้ว การปฏิบัติก็จะเจริญก้าวหน้าได้ แต่ใหม่ๆ จะยังจับทางไม่ค่อยถูก เพราะยังไม่รู้เลยว่าความรู้ตัวคืออะไร ความรู้สึกตัวมันเป็นอย่างไร หรือถึงแม้จะรู้แล้ว การที่จะวางใจให้เป็นธรรมชาติธรรมดาเพื่อความรู้ตัวหรือความรู้สึกตัวเกิดขึ้นตอนนี้ยังทำไม่ค่อยได้เพราะมีความตั้งใจมาก พอมีความตั้งใจมากจิตมันไม่เป็นธรรมชาติ พอไม่เป็นธรรมชาติ ความรู้ตัว ความรู้สึกตัวมันก็หลบหายไป แต่ก็ไม่เป็นไร ขอให้ตั้งใจทำ
แล้วก็ต้องยอมรับว่าตอนที่เริ่มทำใหม่ๆ มันมีอุปสรรคเยอะ จะเรียกว่าเป็นมารมาขวางกั้นก็ได้ แต่มารในที่นี้มีชื่ออีกชนิดหนึ่งเขาเรียกว่า “นิวรณ์” นิวรณ์คืออุปสรรคแห่งการทำความดีหรือการเข้าถึงความดี ความดีในที่นี้หมายถึงความสงบและความสว่างในจิตใจ ใหม่ๆ จะต้องเจอกับอุปสรรคแบบนี้เยอะ ตัวแรกที่เกิดขึ้นบ่อยกับคนส่วนใหญ่คือความง่วง ความง่วงเหงาหาวนอน ทั้งๆ ที่เป็นเวลาสว่างกลางวัน ที่ง่วงนี่ไม่ใช่ร่างกายมันเหนื่อยอ่อน แต่ว่าใจเบื่อหน่ายมากกว่า ใจไม่มีสิ่งเร้า จิตใจคนสมัยใหม่โดยเฉพาะคนที่มาจากในเมืองมันถูกปลุกเร้าถูกกระตุ้นเร้ามาตลอดด้วยผัสสะทั้งรูป รส กลิ่น เสียง โดยเฉพาะรูป จะเป็นภาพ เป็นข้อความ sms หรือเสียงเพลง เสียงผู้คนพูดคุย เสียงจากสิ่งแวดล้อม เสียงรถรา พอมาอยู่ในป่า อยู่ในสถานที่แบบนี้ซึ่งไม่ค่อยมีสิ่งเร้าเท่าไร ทุกอย่างเป็นไปอย่างเนิบช้า ขณะเดียวกันต้องมาทำอิริยาบถเดิมๆ ยกมือกลับไปกลับมา เดินจงกรม ตอนทำใหม่ๆ มันก็ยังตื่นอยู่เพราะว่ามันเป็นของใหม่ อะไรที่เป็นของใหม่ใจมันจะตื่นจะสนใจ แต่พอทำไปสักพักมันเริ่มเก่าเริ่มจำเจแล้ว แล้วที่เคยยกมือสร้างจังหวะต้องใช้ความพยายาม ตอนนี้ก็ไม่ต้องใช้ความพยายามแล้วเพราะมันเป็นอัตโนมัติไปแล้ว คราวนี้มันก็จะเริ่มง่วง มันอยากจะไปหาผัสสะใหม่ๆ อยากจะพูดอยากจะคุย อยากจะไปเจออะไรที่ไม่เหมือนเดิมไม่ซ้ำซาก
ใจคนเราเหมือนกับลิง ลิงต้องเคลื่อนไหวเสมอ สังเกตไหมถ้าเวลาลิงนั่งอยู่นิ่งๆ มันหลับเลย ที่ภูหลงนี้มีลิงอยู่หลายฝูง เวลาที่มันเล่นกันมันตื่นตัวมาก แต่พอมันนั่งเฝ้ารอเราเผลอ นั่งเฝ้าดูพระฉันอาหาร นั่งเฝ้าดูฆราวาสกินอาหาร มันกะจะรอทีเผลอ แต่เราก็ไม่ยอมเผลอ มันก็นั่งอยู่บนต้นไม้อยู่บนกิ่งไม้ มันนั่งไปสักพักสัก ๑๐ นาที ๑๕ นาทีมันก็เริ่มง่วง บางทีมันก็หลับเลย แต่ว่ามันเก่ง มันสามารถที่จะใช้มือ ใช้เท้า ใช้หางเกี่ยวต้นไม้ทำให้สามารถจะทรงตัวได้แม้แต่หลับ แต่มันหลับได้เร็วมาก ใจของคนเรานี้ก็เหมือนกัน ยกมือสร้างจังหวะ ๕ นาที ๑๐ นาทีบางทีง่วงแล้ว ใหม่ๆ จะเป็นอย่างนั้น ให้รู้ว่ามันธรรมดา และใจเรามันปรับตัวได้ อย่าไปท้อถอย บางคนทำ ๕ นาที ๑๐ นาทีง่วง พอบอกให้ทำ ๒๐ นาทีร้องเลย ไม่ไหวหรอก แต่พอให้ทำจริงๆ นี่เริ่มได้แล้ว จิตเราเริ่มปรับตัวได้ พอทำนานเป็นชั่วโมงความง่วงก็ค่อยๆ ลดลง แต่พอทำ ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมงความง่วงก็จะเพิ่มมากขึ้น อยากนอน คือถ้าเราเพลียก็ควรนอน แต่ส่วนใหญ่มันไม่ใช่เพลียกาย แต่เป็นความเบื่อของใจ เพราะฉะนั้น ถ้าเรานอนมันก็จะได้ใจ จิตมันรู้เลยว่าถ้าง่วงแบบนี้แล้วได้นอนมันก็จะยิ่งง่วงบ่อยขึ้นๆ แล้วถ้าเราทำตามมันเราก็จะแพ้มัน แล้วมันก็จะง่วงแบบนี้อยู่เรื่อยๆ
เพราะฉะนั้น จะต้องสู้กับมัน จะต้องฝืน เช่น เปลี่ยนอารมณ์ด้วยการเปลี่ยนอิริยาบถ สมมติว่าเราสร้างจังหวะง่วงเราก็เปลี่ยนมาเป็นเดิน หรือถ้าเดินง่วงก็ลองลงมานั่งสร้างจังหวะ หรือทำให้เร็วขึ้น ยกมือให้เร็วขึ้นเพื่อกระตุกกระตุ้นใจให้ตื่น เดินให้เร็วขึ้น ตัวช่วยหนึ่งที่ดีมาก ผมก็ใช้บ่อยสมัยที่ฝึกใหม่ๆ คือใช้น้ำ จะมีคูน้ำอยู่ข้างตัว พอง่วงทีก็เอาน้ำมาลูบหน้า ง่วงหนักเข้าก็เอาหัวจุ่มลงไปในคูน้ำไปเลย มันก็ช่วยได้ หรือถ้ายังไม่ไหวก็อาบน้ำไปเลย เพราะน้ำช่วยปลุกใจให้ตื่นได้ ใช้ตัวช่วยแบบนี้ดีกว่าไปหลับ เพราะอย่างที่บอก ถ้าหลับแล้วก็จะไม่หายง่วง มันจะง่วงซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะว่าจิตมันฉลาด กิเลสมันฉลาด มันรู้ว่าถ้าง่วงแบบนี้แล้วได้หลับมันก็จะทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ อีกอันหนึ่งที่ช่วยได้คือเดินออกไปมองฟ้า สมมติเราปฏิบัติอยู่ในศาลานี้ง่วง เราก็ลองเดินออกไป มองท้องฟ้าไปที่ที่โล่งสว่างๆ ใจก็สว่างไปได้เหมือนกัน ยิ่งเห็นท้องฟ้ากว้างๆ ความง่วงก็จะบรรเทาลง
นอกจากความง่วงแล้วยังมีอีกอันหนึ่งที่เกิดขึ้นบ่อยคือความฟุ้งซ่าน อันนี้ดูเหมือนตรงข้ามกันเลย ง่วงที่ว่าความคิดไม่ค่อยออกมาเพราะไม่มีอะไรมาเสพ ไม่มีสิ่งใหม่ๆ มาให้จิตเสพไม่ว่ารูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส หรือธรรมารมณ์คือความคิด แต่บางคนหรือว่าจะเกิดในลำดับถัดไปใกล้ๆ กันก็ได้คือความฟุ้งซ่าน หลายคนจะบ่นว่าตอนไม่ปฏิบัติความคิดมันน้อย มันไม่มากเลย แต่ทำไมพอปฏิบัติความคิดมันเยอะกว่าตอนไม่ปฏิบัติเสียอีก อันนี้ก็อาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ หรือไม่ใช่เป็นอย่างนั้น ความจริงความคิดอาจจะเท่าเดิมแต่ว่าไม่สังเกต ตอนที่เราไม่ปฏิบัติเราไม่ได้สังเกตเราก็เลยรู้สึกว่าความคิดมันน้อย แต่พอเราปฏิบัติเราสังเกตมากขึ้นเราก็พบว่าความคิดมันเยอะ ที่จริงนั่นแหละอาจเป็นภาวะปกติของเราแต่เราไม่รู้
แต่ก็เป็นไปได้ว่าพอมาปฏิบัติแล้วความคิดมันเยอะกว่าปกติ อันนี้เพราะจิตไม่มีอะไรที่น่าสนใจให้มันจดจ่อ เช่น ถ้าเราอยู่บ้านเราอาจจะจดจ่ออยู่กับเฟสบุ๊ค จดจ่ออยู่กับงาน จดจ่ออยู่กับโทรทัศน์ จดจ่ออยู่กับการทำครัว จิตก็ไม่ฟุ้งซ่านไปไหน แต่พอมาเดินจงกรม สร้างจังหวะ อิริยาบถนี้มันไม่น่าสนใจเพียงพอให้จิตจดจ่อได้ มันก็เลยดิ้นไปหาอารมณ์อื่นที่น่าสนใจมาเสพ ถ้าเขยื้อนไปไหนไม่ได้ ต้องอยู่สร้างจังหวะ เดินจงกรม ก็หาเรื่องปรุงแต่งขึ้นมา คิดเรื่องโน้นคิดเรื่องนี้เพื่อให้ใจได้เสพอารมณ์ที่น่าพอใจ แล้วจะได้มีความสุขอยู่กับความจำเจของสถานที่ได้ หรืออาจจะเป็นเพราะว่าเวลาเรามาใส่ใจกับจิตใจ มันเปรียบเทียบเหมือนกับเรามาเริ่มทำความสะอาดบ้านที่เคยรกร้าง ลองนึกภาพบ้านรกร้างมีหยากไย่มีฝุ่นมาเกาะมากมาย บางทีฝุ่นเกาะเป็นมิลลิเมตรเป็นเซนติเมตรเลย เวลาเราต้องการทำความสะอาดบ้านหลังนี้ ทำความสะอาดพื้นให้สะอาด เราอาจต้องเริ่มต้นด้วยการกวาดก่อน แต่พอเรากวาดนี่ฝุ่นฟุ้งเลย บางคนบอกว่าทำความสะอาดฝุ่นฟุ้งกว่าตอนที่ไม่ทำความสะอาดเสียอีก เพราะฉะนั้นปล่อยไว้เหมือนเดิมดีกว่า คืออย่าทำความสะอาดมันเลย ถ้าทำแบบนี้บ้านก็ไม่สะอาดสักที เราต้องยอม ถ้าเราต้องการทำให้บ้านสะอาดเราต้องยอมที่จะเจอกับฝุ่นฟุ้ง แค่กวาดทีเดียวฝุ่นก็ฟุ้งแล้ว ถ้าเรากลัวฝุ่นฟุ้งแล้วเราเลยบอกว่าอย่างนั้นฉันไม่ทำอะไรแล้ว บ้านก็ยังสกปรกเหมือนเดิม แต่ถ้าเราเห็นว่ามันเป็นธรรมดา ฝุ่นมันก็ฟุ้งตอนทำความสะอาดใหม่ๆ ทำไปๆ ทนหน่อย ขั้นนี้ต้องใช้ความอดทน ต้องใช้ความเพียรด้วย ให้ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา มันเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว เราต้องมั่นใจแบบนี้ว่าความฟุ้งซ่านเกิดขึ้นชั่วคราว แล้วเราก็จะผ่านไปได้ ต่อไปมันก็จะเริ่มสงบ แล้วถ้าทำถูกจริงๆ ก็จะสงบ ค่อยๆ สงบไป อย่าไปท้อถอย บางทีกิเลสมันพยายามหาเรื่องชวนให้เราเลิกปฏิบัติ แล้วก็อ้างว่าพอปฏิบัติแล้วฟุ้งมากเหลือเกิน ตอนไม่ปฏิบัติไม่เห็นฟุ้งอย่างนี้เลย อย่าปฏิบัติมันเลย อันนี้เป็นลูกไม้อุบายของกิเลส เราอย่าไปหลงเชื่อ
นอกจากความง่วง ความฟุ้งซ่านแล้ว ความเครียด ความอึดอัดก็เป็นอีกตัวหนึ่ง ความเครียดมักจะเกิดขึ้นกับคนที่พอเริ่มตั้งใจปฏิบัติ พอเริ่มตั้งใจปฏิบัติ ความจริงจังจะทำให้จิตคอยไปเพ่ง คอยไปบังคับควบคุมความคิด อันนี้จะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักปฏิบัติเป็นจำนวนมากคือเพ่งที่กาย หรือไม่ก็ไปดักเฝ้าดูความคิด ดักทำไม? ดักเพื่อที่จะได้พอมันเผลอคิดออกมา ความคิดออกมาก็ตะปบมันเลย อยากจะจัดการกับความคิด อยากจะเอาชนะมัน เพราะรู้สึกว่าความคิดฟุ้งซ่านนี้มันไม่ดี ต้องจัดการ พอไปดักดูดักเฝ้าความคิดมันก็จะเหนื่อย เช่นเดียวกันกับเวลาที่เราเพ่ง เวลาเพ่งเราไปบังคับจิต จิตมันไม่ยอม ธรรมชาติจิตมันจะสู้ เราจะไปบังคับมัน มันจะสู้ มันจะขัดขืน แล้วยิ่งเราพยายามควบคุมบังคับมันเราก็ยิ่งเหนื่อย เพราะฉะนั้น พอเพ่งไปอาจจะไม่กี่ชั่วโมงหรือบางคนอาจจะทำได้ถึง ๒-๓ วันแล้วก็จะเริ่มเครียด แล้วความเครียดก็จะมากขึ้น อันนี้ให้รู้ว่าเป็นเพราะว่าเราวางใจไม่ถูก เราอยากจะให้ความคิดหมดไปหรือเราอยากจะหยุดความคิด ที่อยากจะหยุดความคิดก็เพราะว่าอยากจะสงบ ความอยากสงบเป็นอุปสรรคสำหรับนักปฏิบัติเพราะมันทำให้จิตไม่เป็นธรรมชาติ จะมีการเพ่ง มีการบังคับ และบังคับอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ก็จะยิ่งอึดอัด
หลวงพ่อคำเขียนท่านเล่าว่าตอนที่ท่านเริ่มมาปฏิบัติกับหลวงพ่อเทียน ตอนนั้นท่านยังเป็นฆราวาสอยู่ อายุ ๓๐ แล้ว ท่านบอกว่ารู้สึกอึดอัดเบื่อหน่ายมากเลยกับการปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียน เพราะว่าท่านติดสงบ ท่านชอบความสงบ ท่านคุ้นกับการปฏิบัติแบบที่เรียกว่าสมถะมาก ท่านทำแล้วสงบ แต่พอมาปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียนต้องยกมือ ดูไม่งามเลย ดูไม่สำรวม ในใจก็เถียง ในใจก็ค้านว่ามันจะได้ผลจริงหรือ อันนี้ก็เกิดวิจิกิจฉาขึ้นมา คือความลังเลสงสัย ความไม่แน่ใจ เป็นนิวรณ์อีกตัวหนึ่งซึ่งทำให้การปฏิบัติไม่เจริญก้าวหน้า คนที่ปฏิบัติใหม่ๆ จะมีความรู้สึกลังเลสงสัยแบบนี้ ซึ่งเท่ากับไปเพิ่มความเครียดความอึดอัดให้มากขึ้น
ความเครียดเกิดขึ้นได้จากคนที่เห็นว่าการปฏิบัตินี้ดี แต่ตั้งใจจะบังคับควบคุมความคิดให้เป็นไปอย่างที่ต้องการ คือไม่ให้คิด ให้ใจสงบ หรืออีกประเภทหนึ่งก็คนที่ไม่ค่อยเชื่อไม่ค่อยศรัทธาแนบแน่นกับการปฏิบัติก็จะตั้งข้อสงสัย ทำไปก็ทำไม่ได้ด้วยใจที่เต็มร้อย อันนี้ให้เรารู้ว่าถ้าจะทำถ้าจะปฏิบัติก็ต้องรู้ทันความลังเลสงสัยนี้ด้วย ต้องวางมันลงเสีย มันจะสงสัยก็ให้มันสงสัยไปแต่อย่าไปหลงเชื่อมัน บางทีเราก็ต้องอยู่กับความสงสัย ถ้าวางไม่ได้ มันยังสงสัยอยู่ ก็ลองอยู่กับมัน ไม่จำเป็นต้องไปหาคำตอบให้มัน เพราะการไปหาคำตอบก็อาจจะเป็นอุบายของกิเลสแบบหนึ่ง กิเลสมันจะป่วนเราหลายแบบ ด้วยการสร้างข้อสงสัย ข้อถกเถียงขึ้นมา ข้อโต้แย้ง หรือยั่วยุให้เราไปหาคำตอบเพราะว่ามันอยากคิด มันอยากเสพความคิด
ทำไปๆ เราจะรู้ทันอุบายของกิเลสที่มาในหลายรูปแบบ รวมทั้งกิเลสที่อยากจะสงบด้วย อยากบังคับจิตให้เป็นไปอย่างที่ต้องการซึ่งทำไม่ได้เพราะจิตเป็นอนัตตา เรื่องความเครียดนี้หลายคนไม่ชอบ แต่มองให้ดีมันก็มีประโยชน์ ความเครียดเป็นตัวฟ้องว่าเราทำผิด เราวางใจผิด เพราะถ้าเจริญสติถูกวิธีมันไม่มีเครียด มันสบายๆ เห็นความคิดแล้วมันยิ้มให้กับความคิดด้วยซ้ำ อย่างที่พูดเมื่อวาน หลวงพ่อท่านบอกสติทำให้สดชื่น เห็นความคิดพวกนี้มันยิ้มให้กับความคิดเลย มันไม่โกรธ มันไม่เป็นปฏิปักษ์กับความคิด เพราะหน้าที่ของสติคือรู้ทันเฉยๆ ไม่ต้องไปทำอะไรกับความคิด คิดดีก็ช่าง คิดไม่ดีก็ช่าง
ส่วนใหญ่คนที่เพ่งนี่ก็เพราะว่าความคิดมันเยอะ แล้วเลยพยายามที่จะจัดการกับความคิด ที่ความคิดเยอะเพราะอะไร? เพราะเผลอ หลายคนหรือนักปฏิบัติใหม่ๆ ทีแรกมันเผลอก่อน เผลอแล้วเกิดอะไรขึ้น? ก็ฟุ้ง ฟุ้งแล้วไม่ชอบก็เลยสวิงไปอีกทางหนึ่งคือไปเพ่ง พอไปเพ่งก็เกิดปัญหาอีกเหมือนกัน เป็นสุดโต่ง ๒ ทาง เผลอก็สุดโต่งทางหนึ่ง เพ่งก็สุดโต่งอีกทางหนึ่ง บางคนคิดว่าเผลอไม่ดี เพราะฉะนั้นเพ่งดีกว่า เพ่งก็ไม่ถูกเหมือนกัน เป็นสุดโต่ง ทางสุดโต่งนี้มันไม่ใช่มีแค่กามสุขัลลิกานุโยคหรืออัตตกิลมถานุโยค การเผลอก็จัดเป็นกามสุขัลลิกานุโยคได้ คือมันตามใจกิเลส ตามความคิด การไปเพ่งคือการบังคับจิตบังคับใจ นี่ก็เป็นอัตตกิลมถานุโยค ทรมานตนอีกแบบหนึ่งได้เหมือนกัน
การเจริญสติคือแค่รู้เฉยๆ รู้ซื่อๆ อย่างที่หลวงพ่อเทียน หลวงพ่อคำเขียนท่านเน้นอยู่เสมอ รู้ซื่อๆ มันคือทางสายกลางระหว่างสุดโต่ง ๒ ทางคือเผลอกับเพ่ง แต่ใหม่ๆ จะให้รู้ซื่อๆ นี่ก็ทำกันไม่เป็นหรอกเพราะว่าเป็นของใหม่ มันก็จะสวิงไปที่ความเผลอก่อน แล้วก็เลยฟุ้ง แล้วก็จะพยายามไปบังคับจิตไม่ให้คิดไม่ให้ฟุ้ง มันก็เลยเพ่ง สำหรับคนที่เพ่งก็ต้องค่อยๆ ลองหย่อนมาสักหน่อย เราไปเอาจริงเอาจังมากเกินไป เอาจริงเอาจังมากเกินไปไม่ใช่ของดี ความเพียรก็เหมือนกัน ความเพียรมากเกินไปก็ไม่ใช่ของดี อย่างที่พูดเมื่อวานนี้ พระพุทธเจ้าสอนพระโสณโกฬิวิสะว่าให้เพียรแต่พอดี ความตั้งใจก็เหมือนกัน ตั้งใจแต่พอดี ถ้าไม่ตั้งใจเลยก็เผลอ หาเรื่องคิด ฟุ้งไปเรื่อย เดินจงกรมทั้งวันแต่ไม่ได้อะไรเลยเพราะว่าย่อหย่อน ไม่ตั้งใจ ตั้งใจมากไปก็กลายเป็นเพ่ง กลายเป็นตึงไป ทำใจกลางๆ อะไรที่มันเป็นกลางๆ พอดีๆ นี่มันยากเสมอ แต่มันทำได้ฝึกได้
สำหรับคนที่ตั้งใจมากก็ลองทำใจเล่นๆ หรือลองนึกในใจว่าทำเล่นๆ หลวงพ่อเทียนท่านพูดเสมอกับนักปฏิบัติให้ทำเล่นๆ ทำเล่นๆ แต่ให้ทำจริงๆ ทำเล่นๆ คืออย่าไปตั้งใจมาก มันจะผิดมันจะพลาดมันจะฟุ้งก็ช่างมัน ไม่เป็นไร เริ่มต้นใหม่ คิดดีก็ช่าง คิดไม่ดีก็ช่าง แต่ให้ทำจริงๆ คือทำไปเรื่อยๆ ทำไม่หยุด เคยถามหลวงพ่อเทียนตอนที่ไปอยู่กับท่านใหม่ๆ วัดสนามในว่า หลวงพ่อ วันหนึ่งปฏิบัติสักกี่ชั่วโมง ทีแรกคิดว่ามันมีเวลาปฏิบัติเหมือนกับเวลาราชการ ๙ โมงเช้าถึง ๔ โมงเย็น หลวงพ่อเทียนตอบว่าให้ทำทั้งวันตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนเข้านอนเลย ฟังอย่างนี้เราก็ตกใจ เพราะขนาดทำแค่ ๒-๓ ชั่วโมงเราก็ไม่ไหวแล้ว ให้ทำทั้งวันหรือ แต่ที่จริงถ้าทำอย่างที่ท่านบอกมันก็ทำได้ ทำเล่นๆ ไป ไม่ต้องไปบังคับจิต มันเผลอเมื่อไร เผลอไปกี่มากกี่น้อย รู้ทันก็เอาใจกลับมา ให้มีสติรู้ตัวอยู่กับการทำกิจต่างๆ รู้บ้างไม่รู้บ้างไม่เป็นไร แต่ทำไปเรื่อยๆ ทำเล่นๆ ไป บางทีทำจริงๆ กลับเนิ่นช้า
หลวงพ่อคำเขียนท่านเล่าว่าท่านได้ผลช้ากว่าใครเลย คนที่มาปฏิบัติหลายคนอาทิตย์สองอาทิตย์ก็เห็นผลแล้ว เห็นรูปนามแล้ว ท่านต้องเป็นเดือนเลย เพราะทีแรกก็สงสัยไม่แน่ใจคลางแคลงใจในวิธีการ แต่ตอนหลังก็เอาจริงเอาจังมากขึ้น ท่านเป็นคนที่ชอบทำอะไรต้องจริงจัง จะไม่ให้แพ้ใคร ท่านเล่าว่าเวลาทำนา คนอื่นเขาเกี่ยวข้าวได้ ๕๐ ถัง ท่านบอกว่าท่านต้องได้ ๑๐๐ ถัง จะไม่ให้น้อยกว่าใคร ตรงนี้ก็เลยทำให้เนิ่นช้าได้เหมือนกัน
อันนี้ก็เป็นประสบการณ์ที่ช่วยนักปฏิบัติมากที่สอนให้รู้จักวางใจพอดีๆ เป็นกลางๆ การปฏิบัติไม่ได้อยู่ที่รูปแบบ ไม่ได้อยู่ที่ว่ายกมืออย่างไร ถูกต้องหรือเปล่า มันอยู่ที่ใจมากกว่า ถ้าวางใจถูก วางใจเป็นกลางๆ ไม่เผลอ ไม่เพ่ง ให้ทำสบายๆ แต่ทำไม่หยุดก็จะเห็นผลได้