แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ตั้งใจฟัง เพราะเสียงอาตมาอาจจะดังไม่เท่ากับเสียงฝน ข้างหลังได้ยินหรือเปล่า ได้ยินนะ เราทราบดีกันแล้วว่า วันนี้เป็นวันวิสาขบูชา วันวิสาขบูชาก็เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพุทธศาสนา ในพุทธศาสนาแบบบ้านเราวันสำคัญ มีอยู่ ๓ วัน วันมาฆบูชา วิสาขบูชา แล้วก็ อาสาฬหบูชา แต่ละวันก็เป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวกับพระพุทธองค์ มีบางท่านแยกให้เห็นความแตกต่างระหว่าง ๓ วัน วันมาฆบูชา ท่านเรียกว่า วันพระสงฆ์ วันวิสาขบูชา เรียกว่า วันพระพุทธ วันอาสาฬหบูชา วันพระธรรม ที่เรียกวันมาฆบูชาว่า วันพระสงฆ์ ก็เพราะว่า มีพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูปมาประชุมพร้อมกันโดยที่มิได้นัดหมาย หลังจากที่ผ่านพ้นพรรษาแรกไป วันพระพุทธ ใช้เรียกวันวิสาขบูชา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ส่วนวันอาสาฬหบูชาเรียกว่าวันพระธรรม เพราะเป็นวันที่พระองค์ได้แสดงปฐมเทศนาหรือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ในบรรดา ๓ วัน วันวิสาขบูชาถือว่าสำคัญที่สุด
คราวนี้วันวิสาขบูชาที่เรียกว่า เป็นวันพระพุทธนี้ ที่จริงแล้วก็มีข้อธรรมให้เราได้พิจารณา จะเรียกว่าเป็นวันที่สื่อถึงพระธรรมได้ไม่น้อยทีเดียว ไม่ใช่เป็นเพียงแค่วันพระพุทธเท่านั้น การที่วันประสูติกับวันปรินิพพาน เกิดขึ้นในวันเดียวกันคือสิบห้าค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก็เหมือนกับจะเตือนใจให้เราระลึกว่า เกิดกับตายเป็นของคู่กัน คนเราเมื่อเกิดมาแล้วก็หนีความตายไม่พ้น อันนี้เป็นความจริงที่ผู้คนส่วนใหญ่มักจะมองข้าม เวลาเราฉลองวันเกิดกัน เรากี่คนที่จะนึกได้ว่าสักวันหนึ่งเราต้องตาย ขณะที่เราดีใจที่ได้ฉลองวันเกิด เราเฉลียวใจบ้างหรือเปล่าว่า เมื่อวันตายมาถึง ความดีใจก็จะกลายเป็นความเศร้าโศกเสียใจ แต่ถ้าเราตระหนักว่า เกิดกับตายเป็นของคู่กัน การระลึกเช่นนี้ก็ช่วยทำให้เรายอมรับความตายได้ง่ายขึ้น เพราะการระลึกถึงความตายอยู่เสมอทำให้เราคุ้นชินกับความตาย กลัวความตายน้อยลง
วันวิสาขบูชาอย่างน้อยควรจะเตือนใจให้เราได้ตระหนักถึงความจริงที่ว่า เกิดมาแล้วก็ต้องตาย เกิดกับตายเป็นของคู่กัน แม้แต่พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นมหาบุรุษ ซึ่งมีปาฏิหาริย์ มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์มากมาย ทรงถึงพร้อมด้วยมหาปุริสลักษณะ ก็ยังหนีไม่พ้นความตาย และก่อนที่จะตาย ก็ต้องเจอกับความเสื่อม ความชรา มีสมัยหนึ่งพระอานนท์ เมื่อได้มานวดเฟ้นอุปัฏฐากพระพุทธองค์ ก็แปลกใจถึงกับอุทานขึ้นมาว่า ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลย พระพุทธองค์ซึ่งทรงเคยมีพระฉวีวรรณหรือพระผิวพรรณที่งดงาม มาบัดนี้ไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเสียแล้ว มหาปุริสลักษณะที่ทรงถึงพร้อม ๓๒ ประการ มาตอนนี้ อวัยวะก็เหี่ยวย่น ร่างกายค้อมไปข้างหน้า คือเดินไม่ตรงแล้ว อินทรีย์ทั้งห้า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ของพระองค์ ก็แปรผัน แปรปรวนไป อันนี้เป็นคำพรรณนาของพระอานนท์ที่กล่าวถึงพระวรกายของพระพุทธเจ้า ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีผิวพรรณผ่องใส เดินตัวตรง แต่เมื่ออายุถึงวัยแปดสิบ ใกล้ปรินิพพานก็แปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น นี่ขนาดพระพุทธเจ้าก็ยังหนีไม่พ้นความชราภาพ และในที่สุดก็ความตาย และเราซึ่งเป็นปุถุชน เราจะหนีความจริงข้อนี้ไปได้อย่างไร
วันวิสาขบูชาเตือนใจให้เราระลึกถึงสัจธรรมที่เราทุกคนต้องประสบ เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องตาย ในระหว่างนั้นก็ต้องเจอกับความทุกข์ เจอกับความแก่ ความชรา ความเจ็บป่วย ความพลัดพราก สูญเสีย ล้วนแล้วแต่เป็นความทุกข์ทั้งสิ้น แต่การที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ โดยมีวันวิสาขบูชาเป็นที่ระลึกนึกถึง ก็ถือว่าเป็นข่าวดี เพราะแม้คนเราจะต้องประสบกับความทุกข์ แต่ก็สามารถจะเป็นอิสระจากความทุกข์ได้ เป็นอิสระจากความแก่ ความชรา ความเจ็บป่วยและความตายได้ การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องยืนยันว่า มนุษย์เราสามารถจะค้นพบทางออกจากทุกข์ได้ และอันนี้ก็ควรจะเป็นจุดมุ่งหมายหรือปณิธานของพวกเราชาวพุทธ อันนี้เป็นแก่นธรรมอย่างหนึ่งที่เราควรจะได้ตระหนักเมื่อระลึกถึงการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า บางครั้งวันวิสาขบูชาในความเข้าใจของคนทั่วไปเป็นเพียงแค่วันสำคัญวันหนึ่งในพุทธศาสนา เป็นวันที่ควรแก่การไปทำบุญ เข้าวัด ฟังธรรม หรือเวียนเทียน เข้าใจแต่เพียงเท่านั้น แต่ที่จริงถึงแม้จะไม่ได้ไปเข้าวัด ฟังธรรม ใส่บาตร หรือเวียนเทียน แต่ถ้าเราพิจารณาถึงข้อธรรมจากวันวิสาขบูชา จากเหตุการณ์ ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ซึ่งบังเกิดขึ้นในวันเดียวกันคือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เราก็จะได้ประโยชน์กับการดำเนินชีวิต
อันที่พูดมานี้เป็นตัวอย่างว่า วันวิสาขบูชานี้ไม่ใช่เป็นแค่วันพระพุทธ แต่สามารถจะเป็นวันพระธรรมได้ด้วย เพราะในด้านหนึ่งก็เตือนใจให้ระลึกถึงสัจธรรมความจริง เรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่ทุกคนต้องประสบ แต่ขณะเดียวกัน ก็ชี้แสดงให้เราเห็นถึงจุดมุ่งหมายของชีวิตที่เราพึงมี คือการพัฒนาตน พัฒนาจิตใจ เพื่อออกจากทุกข์ จุดมุ่งหมายของชีวิตที่พระพุทธองค์ได้ทรงเป็นแบบอย่างคือการที่บำเพ็ญเพียร เพื่อเข้าถึงพระนิพพาน หลุดพ้นจากวัฏสงสาร อันนี้ถือว่าเป็นจุดมุ่งหมายที่ชาวพุทธเราควรจะมี แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ตระหนักถึงข้อนี้เท่าไหร่
จุดมุ่งหมายในชีวิตของคนส่วนใหญ่มักจะหนีไม่พ้นเรื่องความร่ำรวย ความมั่งมี ความสำเร็จทางโลก ความมีอำนาจ วาสนา บารมี ซึ่งเท่ากับว่ายังคงพาตนให้จมหมุนวนอยู่ในความทุกข์ แม้จะประสพความสำเร็จอย่างที่ตั้งจิตเอาไว้ อย่างที่ตั้งความมุ่งหมายเอาไว้ แต่มันก็ยังหนีความทุกข์ไม่พ้นอยู่ดี เพราะสิ่งที่แสวงหาแม้จะครอบครองได้ แต่มันก็เป็นความสำเร็จชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้นเอง ถ้าผู้คนส่วนใหญ่ไม่ตระหนักถึงความจริงอันนี้ ไปคิดว่ามันเป็นความสำเร็จ เป็นจุดมุ่งหมายที่ถ้าไปถึงได้จะมีความสุข แต่มันเจือไปด้วยความทุกข์อย่างยิ่ง มันทุกข์ตั้งแต่คิดแล้ว เพราะพอคิดแล้วก็อยาก พออยากแล้วจิตใจก็รุ่มร้อนด้วยอำนาจของตัณหา ยิ่งเกิดการดิ้นรนที่จะให้ได้อย่างที่ต้องการ ก็หมายถึงการต้องต่อสู้แย่งชิงกับผู้อื่น บางทีไม่ได้แย่งชิงกับใคร แย่งชิงกับพี่น้อง ยิ่งพ่อแม่มีมรดกมากมาย เดี๋ยวนี้พี่น้องก็ทะเลาะกันเอง เพื่อจะได้มรดก แย่ง ทะเลาะกันไม่พอ บางทีถึงกับวางแผนกำจัด ไม่ได้กำจัดเฉพาะพี่น้องเพื่อจะได้มรดกคนเดียว ความอยากได้มรดกไวๆ ก็อาจถึงขั้นไปวางแผนฆ่าแม้กระทั่งพ่อแม่ด้วย อย่างที่เป็นข่าวนักศึกษาจ้างคนให้ไปฆ่าพ่อแม่และพี่ชาย เพื่อตัวเองจะได้มรดกจากพ่อแม่เพียงผู้เดียว สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการติดคุกติดตาราง เผลอๆ อาจจะโดนประหารชีวิตด้วย นี่มันทุกข์แท้ๆ เลย มันทุกข์ตั้งแต่เริ่มคิดแล้ว แม้จะสำเร็จก็หาความสุข หาความสงบเย็นในจิตใจไม่ได้ นับประสาอะไรกับความล้มเหลว ถ้าผู้คนถือเอาความมั่งมี ความร่ำรวย เป็นจุดมุ่งหมายของชีวิต บางทีมันก็ลงเอยแบบนี้ ลงเอยด้วยการทำความชั่ว หรือถึงแม้จะหลีกหนีความชั่ว ก็ยังหนีความทุกข์ไม่พ้น ทุกข์เพราะไม่ประสพความสำเร็จ หรือทุกข์เพราะต้องคอยหวงแหน ต้องคอยรักษาเอาไว้ ไม่ให้สูญเสีย ไม่ให้ใครแย่งชิงเอาไป แต่สุดท้ายมันก็ต้องสูญเสียอยู่วันยังค่ำ บางทีก็โดนน้ำท่วมพัดพาไปอย่างเหตุการณ์เมื่อสามปีที่แล้ว บางทีก็ถูกโกง บางครั้งเหตุการณ์บ้านเมืองก็แปรผัน ค่าเงินตก ทรัพย์สินราคาลดฮวบ หุ้นก็ตก ก็เศร้าโศกเสียใจ ถ้าเราเอาสิ่งเหล่านี้เป็นจุดมุ่งหมายของชีวิตแล้ว มันก็หาความสุขได้ยาก ยังหมุนวนอยู่ในความทุกข์
การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าได้ทำให้เราได้พบความจริงว่า สิ่งเหล่านี้ เงินทอง ชื่อเสียง วัตถุ มันไม่ใช่เป็นสรณะของชีวิต มันมีสิ่งหนึ่งที่ประเสริฐกว่า เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ตกอยู่ภายใต้ความไม่เที่ยง อนิจจัง มันแฝงไปด้วยทุกข์ อยู่ตลอดเวลา และมันไม่ใช่ตัวตนที่จะยึดมั่นถือมั่นได้ การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทำให้เปิด ทำให้มนุษย์ผู้คนได้ตาสว่าง และเห็นว่าความสุขที่แท้ หรือจุดมุ่งหมายของชีวิตอันประเสริฐนั้นอยู่ที่ไหน ในวันที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ อาจจะเรียกว่าคืนก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้พระองค์มีสุบินนิมิตอยู่ห้าประการ สุบินนิมิตคือ ความฝัน ข้อที่ห้านี้น่าสนใจ คือพระองค์ฝันว่า มีภูเขาก้อนใหญ่ เป็นภูเขาลูกใหญ่ ภูเขาลูกนี้ล้วนแต่เป็นกองคูถทั้งสิ้น กองคูถก็อุจจาระนั้นเอง ลองจินตนาการว่า ฝันเห็นว่าอุจจาระกองใหญ่ท่วมเป็นภูเขา และพระองค์เดินอยู่บนภูเขาลูกนี้แต่ไม่แปดเปื้อนเลย คูถหรืออุจจาระนั้นไม่แปดเปื้อนพระองค์เลย ไม่ว่าพระองค์จะเดินขึ้นหรือเดินลง ถ้าคนธรรมดาเวลาฝันถึงกองคูถ กองอุจจาระนี่ ก็คิดว่าเป็นฝันร้าย ฝันไม่ดี แต่สุบินนิมิตที่ว่ามานี่เป็นฝันดี แปลว่าพระองค์นี้จะตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ เพราะการที่คูถ (อุจจาระ) ไม่แปดเปื้อนพระองค์ ทั้งๆ ที่เดินย่ำลงไปบนภูเขาลูกนั้นก็แสดงว่า กามสุขหรือโลกธรรมนั้นจะไม่แปดเปื้อนพระองค์ คือเป็นอิสระ อันนี้คือคุณสมบัติของผู้ที่เข้าถึงธรรม จิตก็หลุดพ้น โลกธรรมไม่อาจครอบงำ ทำให้จิตใจเป็นทาส หรือชักนำให้อยู่ในความทุกข์ได้
ถ้าเราสามารถที่จะบำเพ็ญเพียรโดยเอาการตรัสรู้ของพระองค์เป็นแนวทาง ถือเอาการค้นพบพระธรรมของพระองค์นี้เป็นจุดมุ่งหมายของชีวิต มันจะทำให้เราเกิดความตั้งมั่น ในวันที่พระองค์จะตรัสรู้นี้ เราก็คงทราบดี พระองค์ตรัสรู้ในยามสาม คือช่วงระหว่าง ตีสอง ถึง หกโมง แต่ก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้นั้น พระองค์ได้ทำความเพียร ด้วยการตั้งจิตอธิษฐาน พระพุทธเจ้าหรือเจ้าชายสิทธัตถะใช้เวลาถึง ๖ ปี ในการทำความเพียรไม่ประสบความสำเร็จ แต่ในคืนที่พระองค์จะตรัสรู้นั้น พระองค์ตั้งจิตอธิษฐาน ไม่ได้ขอ อธิษฐานไม่ได้แปลว่าขอ ให้สำเร็จ ไม่ได้ขอเทวดา ไม่ได้ขอใครเลย แต่อธิษฐานแปลว่าความตั้งจิตมั่น ตั้งจิตมั่น ตั้งจิตแน่วแน่ในการจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในคืนนั้นก่อนที่จะบำเพ็ญสมาธิภาวนา พระองค์ตั้งจิตอธิษฐานว่าอะไร พระองค์ตั้งจิตอธิษฐานว่า แม้เนื้อและเลือดในสรีระของเราจะเหือดแห้ง คงเหลือแต่หนัง เอ็น และกระดูก ตราบใดที่เรายังไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ก็จะไม่ลุกจากบัลลังก์นี้ อันนี้เป็นคำ เป็นความตั้งมั่นของพระพุทธองค์ ซึ่งทำให้คืนนั้นพระองค์สามารถที่จะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณได้ในที่สุด
คำอธิษฐานของพระองค์นี้เราควรจะน้อมใจพิจารณา เพราะในการทำความเพียรแม้เราจะปรารถนาดีอย่างไร มันก็มีอุปสรรค มีบางคน อันที่จริงก็หลายคนทีเดียว มาบวชด้วยความตั้งมั่นว่าจะปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระนิพพาน แต่พอบวชได้แค่ปีเดียว หรือบางคนบวช ๓ ปี ยังไม่บรรลุไม่เห็นอะไรเลยก็ท้อแท้แล้ว สึกหาลาเพศไป อันนี้เรียกว่าไม่ได้ตั้งจิตอธิษฐานอย่างที่พระพุทธองค์ได้ทรงทำเป็นแบบอย่าง พวกเราถ้าจะมีจุดมุ่งหมายของชีวิตที่จะมุ่งหลุดพ้นจากความทุกข์ แต่ก็ต้องมีความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคง่ายๆ และคำอธิษฐานของพระพุทธเจ้าในคืนนั้น ในเย็นนั้นให้เราระลึกนึกถึงไว้อยู่เสมอ เพื่อจะทำให้เกิดความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ในการบำเพ็ญธรรม อย่าย่อท้อต่ออุปสรรคง่ายๆ
ที่จริงในคืนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานมีธรรมะสำคัญอีกข้อหนึ่ง ที่เราต้องระลึกนึกถึงเสมอ อย่างที่เมื่อกี้เราก็ได้สวดไป ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระองค์แสดงโอวาทครั้งสุดท้าย เรียกปัจฉิมโอวาท ว่า “ท่านทั้งหลายจงทำความเพียรให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด“ หรือ “ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด“ อันนี้เป็นโอวาทครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้าที่กระตุ้นให้เกิดความไม่ประมาทขึ้น หลายคนก็รู้ว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานในวันนี้ แต่อาจจะลืมไปว่าพระองค์ได้มอบมรดก มรดกธรรม ให้กับชาวพุทธอย่างไรบ้าง มรดกของพระพุทธเจ้าก็มีสั้นๆ เท่านั้น คือ เตือน ย้ำให้เราตระหนักว่า ต้องทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม เพราะอะไร เพราะว่า สังขารไม่เที่ยง วะยะธัมมาสังขารา สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เพียงแค่นี้ก็เป็นเหตุผลเพียงพอที่เราจะต้องบำเพ็ญเพียรด้วยความไม่ประมาท ที่จริงความไม่ประมาทนั้นแหละที่จะกระตุ้นให้เราเกิดความเพียรขึ้นมา ในการประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อการพ้นทุกข์
อันนี้แหละคือสาระในทางธรรม ที่เราควรจะระลึกนึกถึง หรือน้อมนำเป็นเครื่องเตือนใจอยู่เสมอ ระลึกถึงความจริงของชีวิตว่าเราต้องมีความตายเป็นที่สุด แต่ขณะเดียวกัน ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ควรตั้งจุดมุ่งหมายของชีวิตให้เป็นไปในทางที่ประเสริฐ เป็นไปเพื่อการหลุดพ้นจากความทุกข์ ที่จริงสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้มีมากมาย แต่หัวใจสำคัญคือการตรัสรู้ในเรื่อง อริยสัจจ์ ๔ พระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าเองว่า พระองค์ได้พบ หรือว่ามีญาณ บังเกิดกับพระองค์เป็นลำดับ
ยามหนึ่ง คือ ตั้งแต่ หกโมงเย็น ถึง สี่ทุ่ม ทรงบังเกิดเรียกว่า ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ แปลง่ายๆ ว่า การระลึกชาติได้ อันนี้เรียกแปลแบบภาษาชาวบ้าน แต่การแปลแบบนี้ก็อาจทำให้เข้าใจผิดว่ามีตัวตน เกิดขึ้นชาติแล้วชาติเล่าเวียนเกิดเวียนตาย แต่ที่จริงญาณนี้ หมายความว่า ญาณระลึกได้ถึงขันธ์ที่เคยอาศัย ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือการระลึกได้ถึงขันธ์ที่เคยอาศัยในอดีต ไม่ใช่เคยเกิดเป็นคนโน้นเป็นนี่เป็นคนนั้นคนนี้ ท่านใช้คำว่า ขันธ์ ไม่ใช่คน ระลึกได้ถึงขันธ์ที่เคยอาศัยในอดีต
ยามสอง คือ สี่ทุ่ม ถึง ตีสอง พระองค์บังเกิดญาณ ที่เรียก จุตูปปาตญาณ คือการเห็นถึงการดับและการเกิดของสัตว์ทั้งหลาย อันนี้ก็เรียกว่าเกิดทิพยจักษุก็ว่าได้
ยามสาม คือยามสุดท้าย ตีสอง ถึง หกโมงเช้า ญาณสำคัญคืออาสวักขยญาณ อาสวักขยญาณ คือญาณที่ทำให้หลุดพ้นจากอาสวะ อาสวะคือ กิเลสนั่นเอง ที่หลุดพ้นเพราะอะไร เพราะเห็นความจริง เห็นความจริงที่เราเรียกง่ายๆ ว่า อริยสัจจ์ ๔ รู้ว่าทุกข์คืออะไร ทุกข์เกิดจากอะไร และทุกข์จะดับไปเพราะอะไร และหนทางในการดับทุกข์
แต่จริงๆ แล้ว สิ่งที่พระองค์พบก็คือ ปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง คงได้พิจารณาปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทพูดง่ายๆ ก็คือว่า กระบวนการเกิดทุกข์ ว่าทุกข์นั้นมันเกิดขึ้นมาอย่างไร มีสิบสอง ๑๒ ขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ แล้วค่อยถึงเกิดทุกข์ขึ้นมา ทุกข์โทมนัส อุปายาส พระองค์พิจารณาขบวนการเกิดทุกข์ ว่าทุกข์เกิดจากอะไร เห็นเป็นขั้นตอน อันนี้เรียกว่า สมุทัย และพระองค์พบต่อไปว่า ทุกข์จะดับไปเพราะอะไร เริ่มต้นตั้งแต่อวิชชาดับ สังขารดับ วิญญาณดับ นามรูปดับ สฬายตนะดับ ผัสสะดับ เวทนาดับ มันก็ทำให้ ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ ดับไปด้วย ที่เรียกว่า เห็นกระบวนการดับทุกข์ และจะทำให้กระบวนการดับทุกข์เกิดขึ้นได้ยังไง อันนี้แหละ มรรคมีองค์ ๘
อันนื้คือสัจธรรม ความจริงที่ถ้าเราศึกษาเพิ่มเติมก็ควรจะเข้าใจ เพราะว่าแม้เราตั้งใจว่า เราจะบำเพ็ญเพียรเพื่อการดับทุกข์ แต่ถ้าเราไม่รู้วิธีการ ไม่รู้กระบวนการ มันก็ดับทุกข์ไม่ได้ และวันวิสาขบูชา มันมีสาระในทางธรรมมากมายที่จะศึกษา ฝากเอาไว้ให้พวกเราได้ระลึกนึกถึง นำไปศึกษาพิจารณาแล้วก็ปฏิบัติ