แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ในคืนวันเพ็ญ 15 ค่ำเดือน 6 มีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นที่น่าสนใจ คือระหว่างที่พระองค์เสวยวิมุติสุขที่ใต้ต้นนิโครธ อชปาลนิโครธ มีมารมาทูลให้พระพุทธองค์เสด็จปรินิพพาน ธรรมชาติของมารนี้ชอบขัดขวางการทำความดี หรือการบรรลุธรรม มารนี้มารังควาญพระพุทธเจ้าตั้งแต่ก่อนที่จะตรัสรู้ ขัดขวางไม่สำเร็จก็ยังพยายามที่จะขัดขวางไม่ให้พระองค์ได้เผยแผ่แสดงธรรม มาทูลนิมนต์ให้พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน พระองค์ปฏิเสธ แล้วบอกว่าพระองค์จะเสด็จปรินิพพานก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไข 4 ประการ คือว่า เมื่อภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ได้ศึกษาธรรมเป็นพหูสูตแกล้วกล้าในธรรม และนอกจากนั้นก็ปฏิบัติสมควรแก่ธรรม ประพฤติตามธรรม และประการต่อมาคือว่าสามารถจะอธิบายแจกแจงแสดงธรรมให้ผู้คนเข้าใจได้ และสุดท้ายคือว่าเมื่อมีผู้ที่โจมตีจ้วงจาบก็สามารถที่จะกล่าวแก้อธิบายรวมทั้งแม้จะมีผู้ที่มีความเห็นหักล้างคำสอนของพระองค์ก็สามารถที่จะชี้แจงได้ ตราบใดที่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ยังไม่สามารถ ยังไม่มีคุณสมบัติเหล่านี้ พระองค์ก็จะยังไม่เสด็จปรินิพพาน
ทั้ง 4 ประการที่พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบมานี้สำคัญ เพราะมันเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่าชาวพุทธไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ควรมีหน้าที่อย่างไร ควรประพฤติตนอย่างไร โดยเฉพาะหน้าที่ที่มีต่อพระธรรมคำสอน หน้าที่ที่มีต่อพระศาสนา มารก็ยอมแพ้เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสตอบไปอย่างนั้น จนกระทั่ง 45 พรรษาผ่านไปมารก็มาทูลนิมนต์ให้พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้วก็อ้างว่าภิกษุก็ดี ภิกษุณีก็ดี อุบาสก อุบาสิกาก็ดี ตอนนี้ได้มีคุณสมบัติ 4 ประการแล้ว พระพุทธเจ้าก็เรียกว่าจำนนต่อเหตุผลของมารเลยปลงอายุสังขาร อันนี้เราคงพอทราบดีว่า พระองค์ทรงปลงอายุสังขาร 3 เดือน ก่อนที่จะเสด็จปรินิพพาน ตามเรื่องก็เพราะว่ามีมารมามาทวงสัญญา พระองค์เห็นว่าพระศาสนาก็มั่นคงแล้ว อุบาสก อุบาสิกา รวมทั้งภิกษุ ภิกษุณี ก็เรียกว่าได้ศึกษาปฏิบัติธรรม มีความสามารถในการแสดงธรรม สามารถที่จะกล่าวแก้ผู้ที่จ้วงจาบโจมตีพระธรรมได้เลยยอมที่จะปลงอายุสังขาร อันนี้เป็นสิ่งที่พึงพิจารณามากสำหรับพวกเราซึ่งถือว่าเป็นชาวพุทธ
อันที่พระพุทธองค์ตรัสตอบมาแสดงให้เห็นถึงความคาดหวังที่พระพุทธเจ้าทรงมีต่อชาวพุทธทั้งมวลทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ คือว่าเมื่อเป็นชาวพุทธแล้วก็ต้องเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาธรรม ต้องใช้ว่าพหูสูตทีเดียว พหูสูตคือผู้ที่รู้มาก รู้มากในเรื่องธรรมะ รู้รอบ ศึกษาธรรมจนเข้าใจ เข้าใจเสร็จแล้วก็ปฏิบัติโดยสมควรแก่ธรรม คือปฏิบัติให้ถูกต้อง ปฏิบัติด้วยความตั้งใจจนเห็นผล ศึกษาให้เข้าใจและปฏิบัติจนเห็นผล จะเห็นผลได้ก็เพราะทำอย่างถูกต้อง อันนี้เห็นผลแล้ว เกิดผลประจักษ์แก่ตัวเองแล้ว ความทุกข์บรรเทาเบาบาง หรือว่าเป็นอิสระจากความทุกข์แล้วก็ยังไม่พอ ต้องเผยแผ่แสดงแจกแจงธรรมะให้กับผู้อื่นเข้าใจได้ด้วย แล้วถ้าใครมาโจมตีจ้วงจาบก็สามารถที่จะชี้แจง ลัทธิที่โจมตีจ้วงจาบนี้ใช้คำว่าปรัปวาทะ ซึ่งรวมถึงความคิดความเชื่อที่หักล้างสวนทางกับคำสอนพระพุทธเจ้าทำให้คนเกิดมิจฉาทิฐิ เช่น บอกว่านิพพานไม่มี บุญกุศลไม่มี บาปบุญไม่มี อันนี้ก็ถือว่าเป็นปรัปวาทะอย่างหนึ่ง ซึ่งต้องชี้แจง ไม่ได้หมายถึงเฉพาะการโจมตีจ้วงจาบเท่านั้น สองส่วนหลังนี้ถือว่าเป็นหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวพุทธ
ทั้งสี่ประการนี้ถ้าจะแยกออกมา ถ้าจะจัดกลุ่มออกมาก็คือ ทำประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน หน้าที่ของชาวพุทธในเรื่องของประโยชน์ตนคือว่าศึกษาธรรมให้เข้าใจ แล้วก็ปฏิบัติธรรมให้เห็นผล ปฏิบัติโดยสมควรแก่ธรรมจนเกิดผลขึ้นแก่ตัวเอง อันนี้เรียกว่าพอประโยชน์ตนเกิดขึ้นแล้ว ขั้นต่อไปคือการบำเพ็ญประโยชน์ท่าน คือการแสดงธรรม เผยแผ่ธรรม ไม่ใช่พระก็สามารถจะทำได้ เป็นฆารวาสก็ทำตั้งแต่กับลูกกับหลาน กับคนใกล้ตัว หรือถ้ามีความสามารถก็เผยแผ่ให้มันกว้างออกไป จะเป็นครูบาอาจารย์หรือไม่ก็ตาม
ถ้ามีการกล่าวจ้วงจาบโจมตีก็ชี้แจงอธิบาย ไม่ต้องไปต่อล้อต่อเถียงกับเขา ไม่ต้องไปโจมตีด่าว่าเขา แค่ชี้แจงอธิบายเท่านั้นเอง ไม่ต้องถึงกับไปประท้วง ไปต่อว่าด่าทอ อันนั้นไม่ใช่วิสัยของชาวพุทธ พระพุทธเจ้าก็ไม่เคยทำ พวกพราหมณ์ พวกนิครนถ์ พวกเดียรถีย์ โจมตีใส่ร้ายพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ไม่เคยตอบโต้ด้วยความโกรธ ด้วยความไม่พอใจ บางครั้งก็นิ่งเงียบ บางครั้งก็อธิบาย อันไหนที่อธิบายแล้วเขาไม่ฟัง ท่านก็เงียบไว้ก่อนเพื่อให้ความจริงปรากฏ อย่างผู้ที่ใส่ร้ายพระพุทธเจ้าว่าทำให้ผู้หญิงท้องหรือไปฆ่าผู้หญิงตาย พระองค์ก็ไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องอธิบาย เพราะพูดไปเขาก็ไม่ฟัง พระองค์ก็นิ่งเงียบ แต่ก็ไม่หนี ไม่ไป จนกระทั่งความจริงปรากฏในเวลาต่อมาว่าพระองค์ถูกใส่ร้าย แต่ถ้าเป็นความเห็นแย้งที่จ้วงจาบหรือก่อให้เกิดมิจฉาทิฐิขึ้นมา พระองค์ก็อธิบาย
นี้ก็เป็นแบบอย่างของพวกเราชาวพุทธในการรักษาปกป้องพระพุทธศาสนา ปกป้องไม่ใช่ด้วยการไปต่อว่าด่าทอคนที่เห็นต่างหรือแม้กระทั่งคนที่โจมตีจ้วงจาบ แต่ชี้แจงด้วยเหตุด้วยผล ด้วยท่าทีที่ไม่โกรธ ท่าทีที่ประกอบไปด้วยเมตตามันก็เป็นการแสดงธรรมสื่อธรรมอย่างหนึ่ง การแสดงธรรมไม่ได้แสดงด้วยคำพูดด้วยเหตุด้วยผลเท่านั้น แต่มันแสดงด้วยอากัปกิริยาด้วยท่าที ไม่โกรธ ไม่ก้าวร้าว เดี๋ยวนี้มีผู้คนกลุ่มต่างๆ มากมายที่แสดงอาการดูหมิ่นดูถูกจ้วงจาบพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธศาสนา โดยรู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง อันนี้มันเป็นธรรมดาโลกในยุคที่มีเสรีภาพมีความคิดหลากหลาย แต่เราก็ไม่ควรนิ่งเฉย แต่ถ้าเราจะทำอะไรสักอย่างก็ไม่ใช่ทำด้วยความโกรธหรือความก้าวร้าว แต่ด้วยการใช้เหตุใช้ผล ด้วยความเมตตา ใช้ปิยวาจา อันนี้เขาเรียกว่าเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ท่าน
หน้าที่ของชาวพุทธที่มีต่อศาสนา ที่มีต่อพระธรรมก็คืออันนี้ ศึกษาให้เข้าใจ ปฏิบัติให้เห็นผล และชี้แจงให้ผู้คนได้เข้าใจอย่างถูกต้อง ถ้าบำเพ็ญแต่ประโยชน์ตนยังไม่พอ ต้องบำเพ็ญประโยชน์ท่านด้วย และที่จริงก็เกื้อกูลกันเมื่อเราบำเพ็ญประโยชน์ท่าน ก็เป็นการขัดเกลาฝึกฝนตน ลดละการเห็นแก่ตัวไปด้วย รวมทั้งฝึกความอดทนด้วย เวลาต้องเจอกับอุปสรรค เจอกับปัญหา เจอกับถ้อยคำที่ก้าวร้าวของผู้คน
ที่พูดมาให้สังเกตว่าเรื่องการทำบุญ เรื่องการสร้างวัดสร้างวาไม่ใช่เป็นหน้าที่หลักของชาวพุทธตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสมา พูดอย่างนี้ไม่ใช่ว่าไม่สำคัญ ก็สำคัญนะ เรื่องวัดวาอาราม เรื่องศาสน สถานศาสนวัตถุ แต่สิ่งสำคัญกว่า สิ่งสำคัญเป็นเบื้องแรกเลยก็คือการทำให้ธรรมะเกิดขึ้นในใจเราและทำให้ธรรมะเกิดขึ้นในใจของผู้คน ส่วนเรื่องวัตถุนั้นเป็นเรื่องตามมา บางคนหนักไปทางเรื่องทำบุญใส่บาตร เพราะคิดว่าเป็นการทำหน้าที่ของชาวพุทธแล้ว อันนั้นก็สำคัญอยู่ แต่มันก็ยังสำคัญรองลงมาจากการศึกษาธรรม ชาวพุทธหลายคนเรื่องการทำบุญก็ทำเต็มที่ แต่ไม่ค่อยขวนขวายเรื่องการศึกษาธรรมให้เข้าใจ เวลาพระจะแสดงธรรมก็ไม่ฟัง
สมัยที่อาตมาไปอยู่วัดอมราวดีประเทศอังกฤษ เสาร์อาทิตย์ก็จะมีคนไทยมาทำบุญถวายเพลกันคับคั่ง ที่วัดอมราวดีตอนบ่ายจะมีการแสดงธรรม บางทีหลวงพ่อสุเมโธก็แสดงธรรมเองเลย แต่ปรากฏว่าพอถึงตอนบ่ายคนไทยก็ค่อยๆ หายไป มาถวายเพลอย่างเดียว แต่พอพระจะแสดงธรรมก็หาย คงเหลือแต่พวกฝรั่ง ฝรั่งนี้ไม่ค่อยมาถวายเพลเท่าไร แต่เขาตั้งใจมาฟังธรรมมากเลย เวลามีจัดคอร์สปฏิบัติธรรมก็มีแต่ฝรั่งมา ส่วนอาหารไม่ขาดแคลนเพราะว่าคนไทยมาทำบุญเต็มที่ นี่ก็อาจจะเป็นเพราะไม่เข้าใจหน้าที่หรือสิ่งที่สำคัญสำหรับชาวพุทธนั้นคืออะไร ไปเข้าใจว่าเรื่องทำบุญเป็นเรื่องใหญ่ การทำบุญก็สำคัญอยู่ไม่ว่าทำบุญด้วยอาหารหรือด้วยวัตถุ แต่การศึกษาธรรมให้เข้าใจและปฏิบัติธรรมให้เกิดผล อันนี้สำคัญกว่า
ที่จริงการทำบุญก็เป็นการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน เป็นการบำเพ็ญทาน แต่ต้องศึกษาให้เข้าใจถึงจะบำเพ็ญทานได้อย่างถูกต้อง ถ้าไม่ศึกษาธรรมให้เข้าใจ บางครั้งการทำบุญการให้ทานก็อาจจะทำอย่างผิดๆ ได้ มีบางรายไปยืมเงินคนมาทำบุญ เสร็จแล้วไม่ได้คืนเงิน ชักดาบเลย อย่างนี้เรียกว่าเป็นการทำบุญไหม อยากจะทำบุญแต่ว่าไม่อยากใช้เงินของตัวก็เอาเงินของคนอื่นนั้นแหละมาทำบุญ เมื่อเอาเงินของคนมาทำบุญด้วยการกู้ยืมแล้วก็ควรจ่าย แต่ถ้าจงใจไม่จ่าย จงใจที่จะบ่ายเบี่ยงหรือชักดาบก็ถือว่าไม่ได้บุญ บางทีได้บาปด้วยซ้ำ เพราะเข้าข่ายอทินาทานอย่างหนึ่ง คือเอาเงินเขามาแล้วไม่จ่ายไม่คืน สู้อย่างนี้ไม่ต้องทำบุญดีกว่า หรือทำบุญด้วยใจก็คืออนุโมทนา เพื่อนๆ เขาทำบุญเราไม่มีเงิน เงินเราไม่พอ เราก็อนุโมทนา ก็ได้บุญเรียกว่า ปัตตานุโมทนามัย คือบุญที่เกิดจากการอนุโมทนาในความดีที่ผู้อื่นได้ทำ แต่คนไทยไม่รู้จักบุญชนิดนี้
อยากจะทำบุญแต่เสียดายเงินของตัวหรือตัวเองไม่มีเงินก็ไปยืมเงินเขามาเสร็จแล้วไม่ยอมจ่าย อันนี้ไม่ได้บุญ ได้บาปแทน หรือไปเข้าใจว่าจะทำบุญได้บุญเยอะๆ ต้องทำมากๆ ทำมากๆ ถึงจะได้บุญเยอะๆ อันนี้ก็ไม่ถูก เพราะว่าบุญมันไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงินหรือราคาข้าวของที่ถวาย อยู่ที่ใจ ใจเลื่อมใส ใจที่ศรัทธา ใจที่ปรารถนาดี รวมทั้งความผ่องใสเมื่อได้ทำบุญถวายทานด้วย
บางคนทำแม้จะเป็นเงินก้อนใหญ่ แต่จิตใจไม่มีความเลื่อมใส หรืออาจจะเลื่อมใสมีศรัทธาแต่ทำไปแล้วก็พบว่าเงินที่ตัวเองถวายมันน้อยกว่าเงินที่คนอื่นถวาย จิตใจก็เศร้าหมอง รู้สึกว่าเราได้บุญน้อยกว่าเขา หรือเขาได้บุญมากกว่าเรา พอจิตใจเศร้าหมอง บุญก็หล่นหายไปเยอะเลย เพราะว่าการทำบุญที่ถูกต้องอยู่ที่ใจตั้งแต่เริ่มก่อนที่จะทำบุญแล้ว ก่อนที่จะทำ จิตใจก็มีความเลื่อมใส ระหว่างที่ทำก็ทำด้วยจิตศรัทธา ทำเสร็จก็ผ่องใสเบิกบานนี้เรียกว่าได้บุญเต็มที่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ถ้าจิตใจไม่ผ่องใส เพราะคลางแคลงใจว่าเราได้บุญไหม บางคนเป็นเจ้าภาพถวายกฐิน แต่เนื่องจากตัวเองเป็นผู้หญิงก็คิดว่าผู้ที่ถวายน่าจะเป็นสามี พอทำพิธีเสร็จก็สงสัยว่าตัวเองจะได้บุญไหม เพราะว่าไม่ได้เป็นผู้ถวายผ้าด้วยตัวเอง แต่ให้สามีถวาย แค่คิดจิตใจก็เศร้าหมองแล้วพอเศร้าหมองบุญนี้ก็รั่วไหลไปพอสมควร
อันที่จริงถ้าเข้าใจ ถ้าศึกษาธรรมเข้าใจก็จะพบว่าบุญนั้นเกิดขึ้นได้ตั้งแต่การคิดแล้ว ตั้งแต่คิดที่จะถวายแล้ว ถึงแม้ไม่ได้ถวายด้วยตัวเอง ไม่ได้ถวายด้วยมือของตัวเองมันก็ได้บุญแล้ว และถ้าได้ศึกษาธรรมให้เข้าใจก็จะรู้ว่าการให้ทานก็เป็นเพียงแค่การบำเพ็ญธรรมขั้นต้น ยังมีศีล ยังมีภาวนาที่ต้องควรกระทำด้วย การรักษาศีลและการภาวนาให้เกิดสติสัมปชัญญะ เจริญสติเพื่อให้รู้กายรู้ใจไม่ลืมกายไม่ลืมใจ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในการทำกิจการงานต่างๆ รวมทั้งในอิริยาบถต่างๆ นี้ก็เป็นการประพฤติธรรมที่สำคัญมาก
การเจริญสติเป็นหัวใจของกรรมฐานแบบพุทธ กรรมฐานหรือสมาธิภาวนามีหลายแบบหลายศาสนา ศาสนาพราหมณ์ศาสนาฮินดูศาสนาคริสต์เขาก็มีภาวนา แต่ภาวนาแบบพุทธหัวใจก็คือสติปัฏฐาน 4 ที่นี้เวลาให้ทานแล้วเราต้องไม่ลืมการรักษาศีล เอาเงินใครยืมเงินใครไปทำบุญแล้วก็ต้องคืนเขา และขณะเดียวกันก็รักษาศีลในการดำเนินชีวิต แม้จะเป็นพ่อค้าแม้จะเป็นแม่ค้าก็รักษาศีล 5 ให้ได้ให้ครบถ้วน นี่ก็เป็นการทำหน้าที่ของชาวพุทธอย่างหนึ่ง คือเป็นการรักษาธรรมให้เกิดขึ้นในใจ เมื่อรักษาศีลแล้วก็ไม่ลืมการภาวนา ไม่ว่าจะเป็นเจริญเมตตาภาวนา เจริญมรณสติภาวนา หรือว่าสติปัฎฐาน 4 ก็ล้วนสำคัญ อย่างที่บอกไว้แล้วว่าสติปัฎฐาน 4 เป็นหัวใจกรรมฐานที่เราไม่ควรมองข้าม
ชีวิตนี้ยังมีลมหายใจอยู่ก็ไม่ควรปล่อยเวลาให้เปล่าประโยชน์ ใช้เวลาที่มีอยู่ในการเจริญสติไม่ว่าในระหว่างที่อยู่วัด หรืออยู่นอกวัด ในระหว่างทำกิจการงานต่างๆ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ สำคัญหรือไม่สำคัญ เช่น อาบน้ำ ถูฟัน หรือขับรถ อันนี้เราก็ไม่ลืมที่จะมีสติ รู้กายรู้ใจ รู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น ความคิดที่ผุดขึ้นมา การที่เราเห็นอารมณ์ความคิดที่เกิดขึ้นในใจ อันนี้ก็เรียกว่าเป็นการเห็นธรรมได้เหมือนกัน ถ้าเรามีสติไม่ลืมกายไม่ลืมใจ เวลาความโกรธเกิดขึ้นในใจ เวลาความเจ็บความปวดเกิดขึ้นที่กาย เราก็มีสติรู้ดูมัน เห็นมัน อันนี้ก็เท่ากับว่าเราเห็นธรรมที่เกิดขึ้นภายใน
คำว่าธรรมมันมีความหมายกว้าง ทุกอย่างที่เราเห็นด้วยสติด้วยใจ เมื่อมันเกิดขึ้นภายในก็เรียกว่าเห็นธรรมได้ เพราะถ้าเราเห็นด้วยสติ ก็จะเห็นมันเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ไม่ว่าอารมณ์ฝ่ายบวกหรืออารมณ์ฝ่ายลบ มันไม่เคยจีรังยั่งยืนเลย เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เหมือนกับลมที่ผ่านเข้ามาในศาลาแล้วมันก็พัดเลยออกไป มันเข้าทางหนึ่ง มันก็จะออกไปอีกทางหนึ่ง อารมณ์ความคิดความรู้สึกของเราก็เช่นเดียวกัน ที่จริงจะว่าเป็นของเราก็ไม่ได้ เพราะถ้ามีสติดูก็รู้ว่ามันไม่ใช่ของเรา มันเป็นสักแต่ว่าธรรมดาที่เกิดขึ้นเมื่อมีเหตุมีปัจจัย เมื่อรู้เมื่อเห็นว่ามันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา อารมณ์ทั้งหลายความคิดทั้งปวงแล้วก็เท่ากับว่าเราได้เห็นธรรม การเห็นธรรมนี่เห็นทั้งจากภายในก็ได้ หรือเห็นภายนอกก็ได้ เห็นธรรมภายในคือเห็นความคิดความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจ นิวรณ์ทั้งหลายแม้มันจะเป็นฝ่ายอกุศลก็เป็นธรรมะได้เหมือนกัน ความง่วงเหงาหาวนอน ความพยาบาท ความฟุ้งซ่านพวกนี้ล้วนแต่เป็นธรรมที่สามารถจะเปิดใจเราให้เห็นความจริงโดยเฉพาะในเรื่องไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นนอกถ้าเราเห็นเป็น เห็นอย่างมีสติ อย่างมีปัญญาก็เห็นธรรมได้เหมือนกัน ธรรมที่เกิดขึ้นจากภายนอกก็สามารถปรากฏแก่เราได้
พระภิกษุบางท่านในสมัยพุทธกาลท่านก็บรรลุธรรมจากการที่เห็นดอกบัวที่เคยเต่งตูม บาน เสร็จแล้วก็ร่วงโรย ท่านเห็นอนิจจังจากอาการของดอกบัว เห็นอนิจจังจากใบไม้ที่มันปลิด ใบไม้แห้งที่มันปลิดลงจากขั้ว คนธรรมดาเห็นก็รู้สึกเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าคนที่มีปัญญาเห็นปุ๊บ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ปรากฏแก่ใจ ไม่ใช่เหตุการณ์ธรรมดาๆ แม้กระทั่งเหตุร้าย มันก็สามารถจะสอนธรรมแสดงธรรมให้กับเราได้ พวกเราชาวพุทธก็ต้องฉลาดในการที่จะเห็นธรรมจากทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏขึ้นกับเราไม่ว่าธรรมดาหรือไม่ธรรมดา ไม่ว่าดีหรือร้าย โดยเฉพาะเวลาเกิดอะไรร้ายๆ ขึ้นมานั่นมันสอนธรรมได้อย่างดี อยู่ที่ว่าเราจะเห็นหรือเปล่า ถ้าไม่เห็นก็ทุกข์ระทมโกรธแค้น เรียกว่าขาดทุน แต่ถ้าเกิดว่าเห็น แม้จะเสียทรัพย์ เสียอย่างอื่นไป แต่ก็ได้ธรรมะเป็นกำไร
เมื่อปี 54 มีน้ำท่วมใหญ่ พวกเรารู้ดี บางคนก็เจอด้วยตัวเอง ผู้คนมากมายสูญเสียทรัพย์สินไป ที่สิ้นเนื้อประดาตัวก็ไม่น้อย แต่ส่วนใหญ่ทำใจไม่ได้ เศร้าโศกเสียใจ เครียด ล้มป่วยก็เยอะ ที่ฆ่าตัวตายก็ไม่น้อย แต่มีผู้หญิงคนหนึ่งเขาบอกว่าน้ำท่วมนี่มันก็สอนธรรมให้กับเขา เขาสูญเสียไปเยอะ แต่เขาก็พบว่าเหตุการณ์ครั้งนี้มันได้บอกกับเขาว่ามันไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลยอย่างแท้จริง ทรัพย์สมบัติที่มีก็เป็นเพียงแค่มาอยู่กับเราเพียงชั่วคราวเท่านั้น ไม่วันใดวันหนึ่งมันก็ไปจากเรา อันนี้น้ำท่วมมันสอนธรรมให้กับเขา เขาเสียทรัพย์แต่ว่าได้ธรรมะซึ่งมีคุณค่ากว่าทรัพย์ที่เสียไปมากมาย ทรัพย์สมบัตินั่นหาใหม่ได้ หรือซื้อเอาก็ได้ แต่ว่าธรรมะนี้มีเงินเท่าไรก็ซื้อไม่ได้ มันต้องเกิดจากการที่เห็นด้วยสติด้วยปัญญา แล้วถ้ารู้และตระหนักว่ามันไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลย ต่อไปมีความสูญเสีย มีความพลัดพรากที่ยิ่งกว่านั้นก็สามารถทำใจได้ เพราะว่าวางใจถูกตั้งแต่ต้นแล้ว คือไม่ได้ไปยึดมั่นถือมั่นไปกับมัน เพราะตระหนักถึงความไม่เที่ยง อันนี้เขาเรียกเห็นธรรมได้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเราเอง
มีฝรั่งคนหนึ่งเขาเดินอยู่ กำลังจูงหมา ตอนนั้นเป็นตอนเช้า อากาศกำลังดี เดินจูงหมาเล่น อยู่ดีๆ ก็มีผู้หญิงคนหนึ่งพุ่งเข้ามาชนข้างหลัง ผลักเขาล้มลง แล้วก็เอามีดสปาต้าจ้วงแทงเขา ตามลำตัว ตามแขน หน้าอก 40 แผล เสร็จแล้วก็หนีไป ปล่อยให้เขานอนจมกองเลือด ตอนที่เขาถูกชนเขานึกว่าเพื่อนแกล้ง แล้วก็นึกไม่ถึงว่าจะถูกแทง เพราะผู้หญิงคนนั้นเขาก็ไม่รู้จัก แต่ก็ห้ามไม่ทัน เดชะบุญที่มีคนมาพบพาเขาไปส่งโรงพยาบาล เขามารู้ภายหลังว่าผู้หญิงคนนั้นฆ่าคนมาแล้ว 3 คนในช่วงเวลาไม่ถึงสองอาทิตย์ อีกสองคนปางตาย 1 ใน 2 นั้นคือตัวเขานั่นแหละ ผู้หญิงคนนั้นฆ่าคนโดยที่ไม่ได้โกรธแค้นเป็นส่วนตัว แล้วก็ทำร้ายด้วยความที่ไม่รู้จักด้วยว่าเป็นใคร มีนักข่าวไปถามเขาว่าอยากจะบอกอยากจะพูดอะไรกับผู้หญิงคนนั้นหรือเปล่า แทนที่เขาจะโกรธ แทนที่เขาจะโมโหพยาบาทผู้หญิงคนนั้น เขากลับบอกว่าอยากจะถามผู้หญิงคนนั้นว่าทำไมถึงทำกับผมอย่างนี้ทำไม คือเขางงไปหมดแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น
แต่ที่สำคัญคือที่เขาตอบนักข่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตเขาบ้างหรือเปล่า เขาบอกว่ามันทำให้เขาได้คิด เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เขาได้คิดว่าวันหนึ่งตื่นเช้าขึ้นมาเดินเล่นอยู่ดีๆ ก็อาจจะมีรถเข้ามาพุ่งชนทับตายก็ได้ ชีวิตนี้ไม่มีอะไรแน่นอน สามารถจะตายวันนี้วันพรุ่งก็ได้ เพราะฉะนั้นจะต้องทำวันนี้ให้ดีที่สุด จะต้องทำสิ่งที่ดีที่สุดในวันนี้ อันนี้เป็นสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
คนส่วนใหญ่เวลาเจอเหตุการณ์แบบนี้ ถ้าไม่โกรธคนที่มาทำร้ายตัวเอง ก็จะต่อว่าชะตากรรมว่าทำไมถึงเป็นฉัน ฉันทำอะไรหรือถึงต้องมาเจอเรื่องซวยๆ แบบนี้ คนจำนวนมากจะตัดพ้อแล้วก็ทุกข์ระทมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ผู้ชายคนนี้เขากลับได้แง่คิดจากเหตุร้าย คือมันสอนให้เขาไม่ประมาทกับชีวิต มันสอนเขาว่าวันนี้คือวันที่ควรทำสิ่งที่ดีที่สุดเพราะพรุ่งนี้อาจจะไม่มีก็ได้
อันนี้ก็ถือว่าเขาได้เห็นธรรม เห็นธรรมจากเหตุร้ายที่เกิดขึ้น อย่างนี้เรียกว่าได้กำไรถึงแม้จะเจ็บตัวหรือต้องนอนป่วยโรงพยาบาลแต่มันทำให้เขาเห็นถึงความสำคัญของการไม่ประมาท ซึ่งก็เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้ฝากไว้เป็นปัจฉิมโอวาทก่อนที่จะเสด็จปรินิพพาน “ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด” หมายถึงต้องไม่ประมาทก็เพราะว่าสังขารมันไม่เที่ยง เพราะว่ามันไม่เที่ยง เพราะถ้ามันเที่ยงก็ไม่ต้องห่วงว่าจะไม่มีวันพรุ่งนี้ มีวันนี้ก็จะมีวันพรุ่งนี้ แล้วก็จะมีวันมะรืนนี้ แล้วก็จะมีวันต่อๆ ไป แต่เพราะสังขารไม่เที่ยงจึงประมาทไม่ได้ วางใจไม่ได้ว่าจะมีวันพรุ่งนี้ หรือแม้แต่จะมีเช้านี้ จะมีบ่ายนี้ด้วยซ้ำ อันนี้ก็เป็นธรรมเรียก อัปปมาทธรรม เหตุการณ์นี้ทำให้ผู้ชายคนนี้ได้สติว่าจะต้องทำวันนี้ให้ดีที่สุด
คำว่าสติกับคำว่าไม่ประมาทนี้ที่จริงก็อันเดียวกัน ความไม่ประมาททำให้เราไม่หลงใหลเพลิดเพลินในความสุขที่มี หรือทำให้เราไม่เพลิดเพลินในการงานที่หมกมุ่นจนลืมตัว ทำให้เรามีสติขึ้นมา และถ้าเรามีสติโดยเฉพาะการมีมรณะสติหรือการเจริญมรณะสติอยู่เสมอก็ทำให้เราเกิดความไม่ประมาท เร่งขวนขวายในการทำความดี อันนี้เรียกว่าเป็นตัวอย่างของคนที่สามารถเห็นธรรมจากภายนอก ถ้าเรารู้จักเห็นในเป็น เห็นนอกเป็น ก็สามารถจะเห็นธรรมได้ทั้งจากความรู้สึกนึกคิดหรือว่าความเจ็บความปวดหรือความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจหรือกาย และเมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้นก็สามารถจะเห็นธรรมจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้
บางคนต้องสูญเสียหนักๆ สูญเสียคนรัก สูญเสียลูก สูญเสียพ่อแม่ ถึงจะเห็นธรรมแต่ก็ยังถือว่าคุ้ม เพราะว่าการเห็นสำคัญมาก อย่างนางกีสาโคตมี นางปฏาจาราก็สูญเสียสำคัญมาก สูญเสียคนรัก สูญเสียลูก นางปฏาจาราสูญเสียลูกไม่พอ สูญเสียพ่อแม่ สูญเสียสามี จนแทบจะเป็นบ้าทั้งคู่ แต่ในที่สุดก็เห็นธรรมจากสิ่งที่เกิดขึ้น คือเห็นความไม่เที่ยงของสังขาร เห็นว่าชีวิตนี้มันเป็นทุกข์เหลือเกิน น้ำตาที่ไหล น้ำตาที่เกิดจากความทุกข์ความสูญเสียชาติแล้วชาติเหล่ารวมกันแล้วพอๆ กับมหาสมุทรทีเดียว พอเห็นเช่นนี้ก็เห็นโทษภัยของสังขารทำให้เกิดความเพียรในการปฏิบัติจนกระทั่งบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ทั้งสองท่าน ทั้งนางกีสาโคตมีและนางปฏาจารา อันนี้เขาเรียกว่าเป็นผู้ที่ฉลาดในการเห็นธรรมจากเหตุร้ายที่เกิดขึ้น มันก็กลายเป็นดีไปได้ อันนี้ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง ปฏิบัติธรรมโดยสมควรแก่ธรรม ก็ปฏิบัติธรรมจากชีวิตจริงนั่นแหละ ปฏิบัติธรรมจากเหตุร้ายที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ปฏิบัติธรรมจากการใช้อิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอนเท่านั้น
เราต้องฉลาดในการที่จะเห็นธรรมหรือปฏิบัติธรรมจากทุกขณะที่ทำกิจ ทุกอิริยาบถที่มีอยู่ และทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้องก็จะได้ผล เกิดเป็นความสงบ เกิดเป็นความสว่าง และเราจะสามารถที่จะเผยแผ่ธรรมให้ผู้คนได้พบกับความสงบและความสว่างได้ อันนี้แหละเป็นการอุปถัมภ์รักษาพระศาสนาที่ดีที่สุด ไม่ใช่การสร้างวัด ไม่ใช่การสร้างพระ อันนั้นสำคัญอยู่ แต่ถ้าหากผู้คนเอาแต่สร้างวัดสร้างพระ แต่ตนไม่ได้ศึกษาธรรม ไม่ได้ปฏิบัติธรรม แล้วธรรมะจะสืบทอดไปได้อย่างไร ธรรมะไม่สามารถจะสืบทอดไปได้ด้วยอิฐด้วยปูน แต่สืบทอดด้วยใจ ด้วยชีวิตของแต่ละคน