แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พวกเราทุกคนย่อมรู้ดีว่าอากาศเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิต แต่บ่อยครั้งเรามักลืมความสำคัญของอากาศไป บ่อยครั้งก็ลืมไปด้วยว่าอากาศมีอยู่รอบตัวเรา เราจะมาเห็นความสำคัญของอากาศก็ต่อเมื่อไม่มีอากาศจะหายใจหรือว่าหายใจติดขัด ยิ่งคนที่ใกล้จะตายก็จะเห็นความสำคัญของอากาศมากทีเดียว จะให้อะไรก็ไม่เอา ขอให้มีอากาศหายใจหรือยอมที่จะแลกทุกอย่างเพื่อให้มีอากาศหายใจ ในยามที่ไม่มีอากาศนั่นแหละเราถึงจะเห็นความสำคัญของอากาศ หรือตระหนักว่าแท้จริงแล้วอากาศมีอยู่ แต่เรามองข้ามไป
ธรรมะนี่ก็เหมือนกัน ธรรมะทั้งหลายโดยเฉพาะสติ เป็นสิ่งจำเป็นสำคัญสำหรับจิตใจของทุกคน ถ้าไม่มีสติก็คลุ้มคลั่ง เป็นบ้า หรือว่าทุกข์ทรมานเศร้าโศกเสียใจ แต่คนเราไม่ค่อยเห็นคุณค่าของสติเท่าไรต่อเมื่อขาดมันไป สติมันอยู่กับเราตลอดเวลาแล้วก็ทำให้เราเป็นผู้เป็นคนได้ รวมทั้งทำให้คนอื่นที่เรารู้จักเป็นผู้เป็นคน แต่ถามว่าสติเป็นอย่างไรก็อาจจะอธิบายลำบาก บางครั้งก็บอกได้ยากว่าใครมีสติ แต่ถ้าใครไม่มีสตินี่ก็เห็นง่าย ใครไม่มีสติเมื่อไรเราก็รู้เลยว่าตอนนั้นเขากำลังคลุ้มคลั่ง ตอนนั้นเขากำลังเศร้าโศกเสียใจ ตอนนั้นเขากำลังโกรธ หรือว่ากลัว หวาดผวา อันนี้ก็ไม่ต่างจากอากาศ ต่อเมื่อไม่มีเราถึงจะเห็นความสำคัญหรือถึงจะได้ตระหนักว่าอากาศอยู่กับเรามาตลอด หลายสิ่งหลายอย่างเราจะเห็นความสำคัญก็ต่อเมื่อไม่มีมันแล้ว หรือเราจะเห็นว่ามันอยู่กับตัวเราตลอดเวลาที่ผ่านมาแต่ไม่เคยตระหนัก ต่อเมื่อมันตายไปถึงได้นึกเสียดาย ถึงค่อยนึกเสียดาย รู้จักมัน ใครมีสติหรือสติเป็นอย่างไรเราอาจจะนึกไม่ออก แต่พอเจอคนไม่มีสติเมื่อไร เราเห็นเราเข้าใจเลยว่าสติมันเป็นอย่างนี้เอง มันมีความสำคัญอย่างนี้เอง
เวลาอธิบายว่าสติคืออะไร ถ้าเราอธิบายในความหมายเชิงลบจะเข้าใจได้ง่ายกว่าก็คือไม่ลืม ถ้าอธิบายในเชิงว่าสติคือความระลึกได้ คนอาจจะเห็นภาพไม่ชัด แต่บอกว่าไม่ลืมอันนี้จะเห็นได้ชัดขึ้น สัมปชัญญะก็เหมือนกัน แปลว่าความรู้สึกตัว ความรู้ตัว แต่ถ้าเราแปลใหม่ว่าคือความไม่หลง สติคือไม่ลืม สัมปชัญญะคือไม่หลง อันนี้ก็จะนึกภาพออกเลยว่าทั้งสองอย่างนี้คืออะไร การมีสติพูดในแง่หนึ่งก็คือการไม่ลืมกายไม่ลืมใจ จะทำอะไรก็ไม่ลืมกายไม่ลืมใจ ถ้าเราสังเกต บ่อยครั้งเราทำก็ทำแต่ตัว แต่ว่าลืมกายลืมใจเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งถ้ามีอะไรมากระทบด้วยแล้วมันลืมใจได้ง่ายมาก
ตัวอย่างเรื่องพระที่กำลังถกเถียงกันว่า องค์ไหวหรือลมมันไหวกันแน่ เถียงกันจะเป็นจะตาย เสร็จแล้วท่านเว่ยหลางก็พูดแทรกขึ้นมาว่าจิตของท่านต่างหากที่ไหว อันนี้ก็เป็นการเตือนให้กลับมารู้กายรู้ใจ เพราะในขณะนั้นคนส่วนใหญ่ก็ลืมใจไปแล้ว ลืมใจลืมกายไป จิตกำลังถูกครอบงำด้วยความโกรธความไม่พอใจที่เห็นคนอื่นเขาคิดไม่เหมือนตัว มีความไม่พอใจ ขุ่นเคืองใจ ความโกรธ ความขุ่นเคืองครอบงำใจ แต่ไม่รู้อันนี้เรียกว่าลืมใจ ปล่อยให้ใจถูกกิเลสเล่นงาน ทิฏฐิ หรือว่าความขุ่นเคืองใจ แต่พอท่านเว่ยหลางพูดขึ้นมาอย่างนี้ผู้คนก็หยุดเถียงกันเลย กลับมารู้เห็นใจของตัวเองว่ามันกำลังกระเพื่อมแค่ไหน มันกำลังสั่นไหวแค่ไหนเพราะความขัดแย้งความแตกต่างทางความคิด
เวลาเราพูดคุยกันสนทนากันเราก็ลืมใจลืมกายของเราบ่อย เราปล่อยให้ใจถูกครอบงำด้วยอารมณ์ต่างๆที่เกิดจากผัสสะ เรื่องราวที่มากระทบ เสียงที่ได้ยิน พอลืมใจแล้วก็ลืมกายคือไม่รู้ว่ากายทำอะไร เวลาเรากินอาหารใจลอยก็ไม่รู้ตัว คิดถึงบ้าน คิดถึงงานการ คิดถึงเรื่องราวที่ผ่านไป เสร็จแล้วก็เกิดอารมณ์ เกิดความไม่พอใจ เกิดความเศร้าใจ ความทุกข์ก็เข้ามาครอบงำโดยที่ไม่รู้ตัว นี่เรียกว่าลืมใจปล่อยให้ความทุกข์เข้ามา พอลืมใจแล้วก็ลืมกาย กินก็ไม่รู้ว่ากิน กำลังเคี้ยวอยู่ก็ไม่รู้ว่าเคี้ยวอยู่ เหมือนกับเราเดินจงกรมสร้างจังหวะ เราปล่อยใจลอยไปไหนก็ไม่รู้ นั่นเรียกว่าลืมใจ เราก็เลยไม่รู้สึกเลยว่ากำลังเดินอยู่ กำลังยกมืออยู่
แต่เมื่อใดที่เรามีสติกลับมารู้กายรู้ใจ ไม่ปล่อยให้ใจเตลิดเปิดเปิงไป รักษาใจไม่ให้ความทุกข์ความเศร้ามาครอบงำย่ำยีจิตใจ ทำอะไรก็รู้ เรียกว่ารู้กายเคลื่อนไหว เห็นใจคิดนึก คืออันนี้ รู้กายเคลื่อนไหว เห็นใจคิดนึกก็เพราะว่ามีสติ เมื่อเผลอไป ระลึกขึ้นมาได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ กำลังสวดมนต์แล้วใจลอยไหลไปอดีตบ้าง ลอยไปอนาคตบ้าง ระลึกได้ว่ากำลังสวดมนต์อยู่ สติก็ดึงจิตกลับมาอยู่กับการสวดมนต์ เราก็สวดมนต์โดยที่เข้าใจเนื้อหาแล้วก็รู้จังหวะ แต่ถ้าเกิดว่าเราไม่มีสติ โดยเฉพาะคนที่ท่องบทสวดมนต์ได้คล่อง ใจจะลอยได้ง่าย ปากก็สวดไปแต่ว่าใจลอยไปไหนไม่รู้ เพราะว่าคนที่สวดมนต์ได้คล่องแล้วต่างจากคนที่อ่านบทสวดมนต์ ใจเขาจะมีความจดจ่อมากกว่าและสติก็จะมาอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง เพราะเผลอเมื่อไรก็สวดไม่รู้เรื่อง สวดไม่ได้เพราะจำไม่ได้ ส่วนคนที่ท่องได้คล่องปาก ปากก็ว่าไป ใจไม่รู้อยู่ไหน แต่พอมีสติระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ สติก็ดึงจิตกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว มีความรู้สึกตัวเกิดขึ้น ความรู้สึกตัวเกิดขึ้นเมื่อใจอยู่กับเนื้อกับตัว ใจอยู่กับเนื้อกับตัวเพราะว่ามันไม่เผลอไม่ลอยไม่ไหลไปไหน หรือถึงเผลอถึงลอยถึงไหลไปในอดีต จมหายเข้าไปในอนาคตหรือในอารมณ์ ระลึกได้ขึ้นมาว่ากำลังทำอะไรอยู่ ตัวที่ระลึกได้นั้นคือสติ เป็นตัวที่กำกับใจไม่ให้ลืม อันนั้นก็คือสติ
แล้วพอไม่ลืม ความไม่หลงก็ตามมา ไม่หลงคือว่าทำอะไรได้ถูกต้อง สวดมนต์ก็สวดได้ถูกจังหวะ ไม่มีเผลอ หรืออย่างเช่นตอนที่กล่าว นะโม ตัสสะ ที่นี่ ๒ จบแรกไม่แปล มาแปลจบที่ ๓ แต่ถ้าเกิดว่าสวดโดยที่ไม่มีสติหรือลืม พอถึงจบที่ ๓ ก็ยังสวดโดยไม่แปล อันนี้เรียกว่าเกิดความหลงขึ้นมาแล้วคือสวดได้ไม่ถูกต้อง ถ้าไม่หลง สวดได้ถูกต้อง ก็เรียกว่ามีสัมปชัญญะ หรือว่าเพราะอาศัยสัมปชัญญะ เราล้างชาม เราทำครัว หั่นผัก เราวางจานได้ถูกต้องถูกตำแหน่ง เราหั่นผักได้ถูกต้องอันนี้ก็เพราะอาศัยความรู้ตัว แล้วที่รู้ตัวได้ก็เพราะว่ามีสติช่วยกำกับจิตหรือช่วยทำให้ไม่ลืมกายไม่ลืมใจ ทำให้จิตนี้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวในยามที่เผลอไป
คนเราถ้าลืมแล้วก็หลงได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นการลืมตัว มันก็หลง ทำอะไรได้ไม่ถูกต้อง วางจานไม่เป็นที่ไม่ถูกตำแหน่งเพราะใจตอนนั้นกำลังลอย กำลังนึกถึงพ่อแม่ที่กำลังเจ็บป่วยหรือกำลังโกรธคนรักที่เขาไม่ซื่อตรงต่อเรา ใจลอยนี่ก็หลงแล้ว ล้างจานก็วางไม่เป็นที่ หรือว่าหั่นผักก็หั่นผิดๆถูกๆ ทำงานทำการแม้กระทั่งขับรถก็อาจจะเลี้ยวผิดซอยหรือผ่านเลยไป อย่างมีบางคนอยากจะรีบกกลับบ้านเพราะว่าลูกไม่สบาย ขณะที่กำลังจะกลับบ้านมีรถปาดหน้า พอถูกปาดหน้าก็โกรธก็เลยวิ่งแล่นไล่ตามจะปาดคืน แล่นไปจนกระทั่งถึงถนนที่จะต้องเลี้ยวเข้าบ้าน ตอนนั้นก็ลืมไป คิดแต่จะปาดเอาคืนอย่างเดียว ปาดเสร็จค่อยมารู้ว่านี่เราเลยบ้านเราไปเยอะแล้ว อันนี้เรียกว่าทั้งลืมทั้งหลง เพราะไม่มีสติ ตอนที่เกิดความโกรธเกิดความไม่พอใจตอนนั้นมันลืมใจไปแล้ว พอลืมใจลืมกายก็ลืมบ้าน ลืมหน้าที่ของตัวว่าจะต้องรีบกลับบ้านไปดูแลลูก พอลืมตัวก็ลืมอะไรต่ออะไรอีกมากมาย ก็ทำให้เกิดความผิดพลาด ผิดๆพลาดๆนี่เขาเรียกว่าหลง ต้องระวัง เพราะถ้าเราลืมกายลืมใจลืมตัวแล้วมันก็จะลืมอะไรอีกมากมายซึ่งบางอย่างอาจจะไม่สำคัญ แต่บางอย่างก็สำคัญมาก
มีผู้หญิงคนหนึ่งขับรถไปตอนเช้าวันอาทิตย์ ขับรถไปห้างใหญ่คล้ายๆบิ๊กซีหรือเดอะมอลล์เพื่อที่จะไปซื้อของพวกเครื่องใช้เครื่องครัว อาหาร ซื้อมาตุนไว้ ตัวเองทำอย่างนี้เป็นกิจวัตร เขาก็มีลูกน้อยอยู่คนหนึ่ง ปกติก็มีพี่เลี้ยงดูแล พี่เลี้ยงดูแลลูกที่บ้าน เขาก็ขับรถมาจ่ายตลาดมาซื้อของ แต่ว่าอาทิตย์นั้นพี่เลี้ยงเด็กไม่ว่าง เพราะฉะนั้น เมื่อจะมาจ่ายตลาดมาซื้อของก็ต้องเอาลูกเล็กติดรถมาด้วย แล้วก็ที่เคยมาตอนเช้าก็ต้องเลื่อนมาเป็นตอนบ่าย เอาลูกวางไว้ข้างหลังรถแล้วก็ขับรถไปถึงห้าง มันก็มีที่จอดรถใหญ่เป็นลานกว้างเหมือนกับบิ๊กซีเหมือนกับเทสโก้โลตัสบ้านเรา ระหว่างทางเขาก็นึกถึงว่าจะต้องซื้ออะไรบ้าง เพราะว่าตอนกลางคืนจะมีงานเลี้ยง ก็นึกถึงเมนูอาหารจะต้องซื้ออะไรบ้าง ใจก็ครุ่นคิดอยู่อย่างนั้น ขับรถไปก็คิดไป พอถึงห้างเขาก็จอดรถ ที่จอดรถก็เป็นลานกว้าง เสร็จแล้วก็รีบลงไปเพื่อที่จะไปซื้อของ ตอนนั้นเขาหมกมุ่นอยู่กับการซื้อของกับการคิดว่าจะซื้ออะไรก็เลยรีบลงจากรถ แล้วก็ลืมลูกเอาไว้หลังรถ
หายเข้าไปในห้างชั่วโมงสองชั่วโมงได้ พอออกมาเดินมาที่รถ ตกใจเพราะเพิ่งนึกได้ว่าเอาลูกติดมาด้วยแล้วลูกก็อยู่หลังรถในลานจอดรถที่กว้างโดนแดดเผา ๒ ชั่วโมง เด็กอายุแค่ขวบสองขวบ นึกภาพเอาแล้วกันว่าจะเป็นอย่างไร เด็กก็ตาย ตายเพราะถูกแดดเผา ตายเพราะขาดน้ำ คนเป็นแม่ก็เสียใจมาก อันนี้ก็เป็นอุทาหรณ์ คนเราถ้าหากว่าลืมตัวไม่มีสติแล้วนี่มันไม่ใช่แค่ตัวที่ถูกลืม ลูกก็ถูกลืมไปด้วย ตอนนั้นถ้าแม่มีสติ ใจอยู่กับปัจจุบัน ไม่ได้มัวแต่คิดว่าจะไปซื้ออะไร ถ้าใจเขาอยู่กับปัจจุบันเขาก็จะรู้หรือนึกขึ้นมาได้ว่าลูกนั่งติดรถมาด้วย แต่เพราะใจไม่อยู่กับปัจจุบัน ใจไปคิดถึงเรื่องการซื้อของซื้ออาหารตามเมนู
ฉะนั้น คนเราถ้าหากลืมกาย ลืมใจ ลืมตัวแล้ว หลายอย่างก็จะถูกลืมตามมาไม่ว่าจะเป็นงานการ ไม่ว่าจะเป็นผู้คนที่มีความสำคัญกับชีวิตของเรา คนเวลาโกรธกำลังโมโหก็จะลืมไปว่าคนที่กำลังทะเลาะด้วยคือพ่อคือแม่คือลูก พอลืมตัวแล้วมันลืมหมดพ่อแม่ลูก เสร็จแล้วก็เลยด่าว่าแรงๆหรือว่าใช้กำลัง ทำเสร็จแล้วถึงค่อยนึกได้ว่านี่ลูกเรา นี่พ่อแม่เรา นี่แฟนเรา ไม่ใช่เพราะความโกรธอย่างเดียว มีความโลภ ตัณหา ราคะ ทำให้หน้ามืด ก็ทำให้ลืมตัวได้และทำให้ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง คนเราหน้ามืดเห็นหลายอย่าง เช่น เห็นเงินเห็นทองเห็นของมีค่าวางอยู่บนโต๊ะไม่มีใครเห็นก็อยากได้ ขโมย เพราะคิดว่าไม่มีใครรู้ บางทีไม่ต้องของราคาแพงมาก แต่ถ้ามันอยู่ใกล้มือ แล้วก็คิดว่าทำโดยที่ไม่มีใครเห็นก็เอาไปได้ คนบางคนเห็นของตามห้างไม่มีเจ้าหน้าที่ร้านดูอยู่ใกล้ๆก็หน้ามืดหยิบคว้ามา อันนี้ก็เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ หรือหน้ามืดเพราะราคะ เกิดความรู้สึกทางเพศอย่างรุนแรงก็ไม่สนใจแล้ว ไม่สนใจว่าเป็นใคร ไม่สนใจว่าจะเกิดอะไรตามมา ผลเสียตามมาไม่รู้ อันนี้เขาเรียกว่าขาดสติ ตอนนั้นแหละที่เรียกว่าลืมทั้งกายลืมทั้งใจ ลืมตัว คนเราเป็นทาสของตัณหาได้ง่าย โลภะ โทสะ บางทีก็ลืมตัวเพราะความหลง โมหะ กินเหล้าเมามาย อันนี้ลืมตัวแน่นอน ติดยาเสพยาจนมึนจนเมา โลภ โกรธ หลง โลภะ โทสะ โมหะ พวกนี้เป็นศัตรูต่อสติสัมปชัญญะมาก ยังไม่ต้องพูดถึงเหตุร้ายที่ทำให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจ ที่ทำให้เกิดความกลัว
การมีสติระลึกได้ไม่ลืมตัวนี้สำคัญมาก การมาฝึกสติของเราก็เพื่อสะสมเพิ่มพลังให้กับสติ เพื่อที่เราจะไม่ลืมกายไม่ลืมใจได้ง่ายๆ เพื่อที่เราจะได้รู้ทันอารมณ์ รู้ทันความรู้สึกนึกคิด ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้ตัว การเจริญสติที่พาทำนี้ก็มีหลักง่ายๆ อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนท่านพูดย้ำอยู่เสมอคือ “เห็น” อย่าเข้าไปเป็น แค่เห็นอย่างเดียว ไม่เข้าไปเป็น “เห็น” นี่มันมีลักษณะของการออกมาดู “เป็น” นี่มันมีลักษณะของการเข้าไป ออกมาเห็นหรือเข้าไปเป็น อะไรเกิดขึ้นก็ให้ดู เห็นมัน เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับกายกับใจ เวลากายเคลื่อนไหวก็รู้สึกเห็นกายมันเคลื่อนไหว ไม่ใช่เห็นด้วยตาเนื้อ เห็นด้วยตาใน ใจเผลอคิดไปก็เห็นรู้ว่ากำลังคิดฟุ้งซ่าน ไม่เข้าไปในความคิดนั้น ไม่เข้าไปในอารมณ์นั้น ไม่ว่าความคิดหรืออารมณ์รวมทั้งเวทนา เวทนาคือความรู้สึกเช่นปวดเมื่อย ถ้าเห็นเวทนานี่มันไม่เข้าไปในความปวดความเมื่อย ก็เห็นว่าเป็นขาที่ปวดเมื่อยแต่ว่ามันไม่เข้าไปเป็นผู้ปวดผู้เมื่อย มีความโกรธ ความกลัว ความเศร้าเกิดขึ้น ก็เห็นว่ามันเกิดขึ้นกับใจแต่ไม่เข้าไปเป็นผู้เศร้า ผู้โกรธ ผู้เสียใจ
เป็น กับ เห็น นี้มันต่างกันมาก ถ้า เป็น แล้วมันก็ตามมาด้วยอาการดิ้น ดิ้นเพราะอยากได้หรือดิ้นเพราะอยากผลักไสออกไป โดยเฉพาะความทุกข์ใจ มันเกิดขึ้นจากการที่จิตมันดิ้น ดิ้นเพราะอยากจะได้มาไว้ในครอบครอง เพื่อจะได้เสพอารมณ์ที่พึงปรารถนาได้นานๆหรือยิ่งกว่าเดิม หรือดิ้นเพราะอยากจะผลักออกไป ความทุกข์ทั้งหลายเกิดเพราะตรงนี้ จิตมันดิ้น ได้ยินเสียง เสียงอาจจะไม่มีอะไร แต่พอจิตมันดิ้น มันอยากจะผลักออกไป ทุกข์เกิดขึ้นทันที เกิดความหงุดหงิด แล้วก็ปรุงแต่งต่อไป ทำไมเขาไม่ปิดเสียง ทำไมเขาไม่ดับเครื่อง ยิ่งเขาไม่ทำอะไรกับเสียงนั้นก็ยิ่งเกิดโทสะเกิดความไม่พอใจ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นที่ใจทั้งนั้นและเกิดขึ้นเพราะใจ ไม่ใช่เพราะเสียง เสียงเป็นปัจจัยรอง ปัจจัยหลักก็คือใจที่มันดิ้น ใจที่มันผลักไส อย่างที่เราสวดเป็นคาถาเมื่อสักครู่ ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐสุด สำเร็จได้ด้วยใจ ธรรมทั้งหลาย นี้ก็รวมถึงความสุขและความทุกข์ด้วย ความสุขและความทุกข์อยู่ที่ใจ เกิดเพราะใจ ถ้าทุกข์ ไม่ใช่เพราะเสียง ไม่ใช่เพราะใคร ไม่ใช่เพราะอากาศ แต่เป็นเพราะใจ ใจที่ผลักไส ใจที่มันดิ้น เจอสิ่งที่ทำให้ทุกขเวทนาจิตมันก็ดิ้นอยากจะผลักออกไป เจอสิ่งที่ทำให้เกิดสุขเวทนาจิตมันก็ดิ้นอีกแบบหนึ่ง ดิ้นอยากจะได้ บางทีไม่ใช่แค่ใจดิ้น ตัวก็ดิ้นด้วย อย่างลูกหลานของเราพอเขาอยากได้ขนมอยากได้ของเล่น เราไม่ให้ เขาก็ดิ้นพราดๆ อันนั้นเขากำลังแสดงธรรมให้เราเห็นว่าความทุกข์เกิดจากจิตที่มันดิ้น ความอยากได้ทำให้ลืมตัวแล้วก็เลยแสดงอาการอย่างนั้นออกไป
เพียงแค่เรามีสติเห็นจิตที่มันดิ้น ดิ้นเพราะอยากได้หรือดิ้นเพราะอยากผลักไสก็แล้วแต่ เพียงแค่เห็นเท่านั้นจิตก็กลับคืนสู่ความปกติได้ แต่ถ้าไม่เห็น ไม่มีสติ มันก็เข้าไปร่วมดิ้นกับเขาด้วยก็เลยทุกข์ใหญ่ ไม่ว่าจะหลวงพ่อเทียนหลวงพ่อคำเขียนก็สอนไว้ เวลาดูก็ให้รู้เฉยๆ ดูเฉยๆ รู้ซื่อๆ ไม่ต้องไปดิ้นกับมัน อะไรเกิดขึ้นแม้อารมณ์ที่เป็นอกุศลก็ไม่ต้องไปผลักมัน เห็นความโกรธเกิดขึ้น เห็นความกลัว เห็นความหงุดหงิดเกิดขึ้นก็ไม่ต้องไปผลักไสมัน ไม่ต้องไปต่อต้านมัน แค่รู้เฉยๆ ใจเป็นกลาง
นักปฏิบัติใหม่ๆเฉยไม่เป็น จิตมันดิ้น ดิ้นอยากจะผลักความโกรธออกไป ดิ้นอยากจะกดข่มความหงุดหงิด นึกในใจว่านักปฏิบัติโกรธไม่ได้ นักปฏิบัติต้องสงบสำรวม ต้องไม่โลภ ต้องไม่อิจฉา แต่พอมีความโกรธความอิจฉาความว้าวุ่นเกิดขึ้นก็พยายามกดมันเข้าไปเพราะคิดว่าจะทำให้จิตใจสงบได้หรือทำให้เราเป็นคนดีสมกับที่เรามุ่งมาดปรารถนา อันนี้เรียกว่าไม่ได้รู้เฉยๆแล้ว ตอนที่ไปพยายามกดข่มอารมณ์หรือความคิดที่เกิดขึ้นก็เป็นการดิ้นอีกแบบ เวลาเกิดอารมณ์ที่พึงปรารถนา เช่น ความสุข ความปีติ ก็อยากจะรักษาอยากจะครอบครองมันเอาไว้ พอมันเลือนหายไปก็เสียใจ ก็ดิ้นที่จะพามันกลับมา พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ความสงบความปีติเกิดขึ้น เหมือนกับชั่วโมงที่แล้ว เหมือนกับเมื่อวานนี้นี่ก็ดิ้นอีกแบบหนึ่ง สุดท้ายใจก็ไม่สงบ ยิ่งอยากสงบ ยิ่งอยากได้ความสงบก็กลับไม่ได้ เพราะว่าจิตมันไม่เป็นปกติ ไม่เป็นกลาง ไม่เป็นธรรมชาติ
เพราะฉะนั้น ให้เราสังเกตใจของเราที่มันดิ้นไม่ว่าด้วยอาการใดก็ตาม ไม่ว่าลักษณะใดก็ตาม เห็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาเกิดขึ้นกับกายกับใจก็ดูเฉยๆ ความปวดความเมื่อยเกิดขึ้นก็ลองดูเฉยๆ ไม่ต้องดิ้นเพื่อจะไปกดข่มมัน หรือไปคิดว่าเมื่อไรจะบรรยายเสร็จสักที เมื่อไรจะสวดมนต์เสร็จสักที จะได้ยืดแข้งยืดขา อันนี้ก็ดิ้นอีกแบบ เห็นมัน เห็นความอยาก แล้วก็ไม่ต้องทำอะไรกับมัน แค่ดูเฉยๆ รู้เฉยๆ เพราะถ้าไม่เฉยมันจะเข้าไปเป็น ไม่เฉยเมื่อไรมันเข้าไปเป็นเมื่อนั้น จิตที่ดิ้นอยากจะได้หรืออยากจะผลักไสพอเกิดขึ้นปุ๊บมันเข้าไปเป็นเลย ไม่ใช่เห็นแล้ว
หลักง่ายๆคือ เห็น ไม่เข้าไปเป็น หรือ รู้เฉยๆ นี่สำคัญมาก สำคัญตั้งแต่ต้นตั้งแต่เริ่มปฏิบัติจนกระทั่งถึงสุดท้ายเลย เพราะว่าคนที่ปฏิบัติธรรมได้เห็นธรรมสูงขึ้นไปเรื่อยๆก็จะมีสิ่งที่มาหลอกล่อ เกิดวิปัสสนูกิเลส มีความรู้ผุดโผล่ขึ้นมามากมาย มีอะไรต่างๆอีกมากมายที่ตามมาที่เกิดขึ้นเฉพาะกับคนที่ได้ปฏิบัติธรรมก้าวหน้าแล้ว หรือเกิดความหลงแม้กระทั่งว่าเป็นพระอรหันต์เป็นพระอริยเจ้าแล้ว ปัญญาพรั่งพรูออกมาก็ให้เห็น ไม่เข้าไปเป็น ไม่เป็นผู้รู้ ไม่เป็นผู้บรรลุอะไรทั้งสิ้น แค่เห็นเฉยๆ เพราะถ้าเป็นเมื่อไรนั่นก็คือถูกมันหลอกแล้ว มันหลอกทำให้เนิ่นช้า เพราะฉะนั้น ครูบาอาจารย์ท่านก็จะสอนย้ำว่าให้เห็นอย่างเดียว อะไรเกิดขึ้นก็เห็นอย่างเดียว ไม่เป็น ไม่ว่าบวกหรือลบ หลักนี้ใช้ได้ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงสุดท้ายเลย สุดท้ายคือจนกระทั่งพ้นทุกข์เห็นแจ้งในสัจธรรม ให้จับหลักนี้ให้ได้แล้วก็ทำให้คล่อง ทำให้ชำนาญ รู้ทัน ตัวการที่มันจะล่อให้เราเป็น ถ้าเรารู้ทันมันเราก็ไม่เข้าไปเป็นง่ายๆ ก็จะเห็นตะพึดตะพือ อันนั้นแหละเป็นหลักที่สำคัญมากของการปฏิบัติ