แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การปฏิบัติกรรมฐานเข้มก็ผ่านไปแล้วกว่าสองอาทิตย์ ใครที่มาตั้งแต่วันแรกก็เท่ากับว่าได้เจริญสติเป็นเวลา ๑๕-๑๖ วันเข้าไปแล้ว ถึงแม้ว่ายังจะเหลือเวลาอีกเกือบเดือนแต่ว่าก็อย่าไปคิดถึงวันเวลาที่เหลือให้มากนัก อีกกี่วันถึงจะหมดคอร์สก็ช่างมัน อย่าไปสนใจไม่ว่าจะเป็นวันพรุ่งนี้หรือวันมะรืนนี้ ไม่จำเป็นต้องนับถอยหลังด้วย พยายามอยู่กับวันนี้ชั่วโมงนี้ให้ดีที่สุด ยิ่งเรานึกถึงวันกลับมากเท่าไรหรือนึกถึงวันที่จบคอร์สมากเท่าไรก็จะยิ่งรู้สึกว่าเวลามันผ่านไปช้าเหลือเกินจนรู้สึกอึดอัด จนรู้สึกไม่สบายใจขึ้นมา
การอยู่กับปัจจุบันนั้นสำคัญมากเลย มันจะเหลือเวลาอีกกี่วันก็เป็นเรื่องของอนาคต แต่ว่าให้เราอยู่กับปัจจุบันแล้วก็ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด อยู่กับปัจจุบันด้วยความรู้สึกที่แจ่มใสใบหน้าที่ยิ้มแย้ม คนที่มาใหม่ๆวันแรกก็อาจจะรู้สึกตื่นเต้นหรือว่าท้าทาย แต่ว่าพอทำไปๆผ่านไปหลายวันหน้าก็จะเริ่มบึ้งมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว ความเครียดก็จะมารังควาญอยู่บ่อยๆ ก็ให้รู้จักยิ้ม ยิ้มกับการปฏิบัติ ตื่นเช้าขึ้นมาให้ยิ้มให้กับตัวเอง เพียงแค่เราฉีกยิ้มให้กับตัวเองก็ช่วยทำให้จิตใจผ่อนคลาย
แม้แต่เวลาที่เราจะกลับมาสู่การปฏิบัติ จากที่เดินจงกรมมาเป็นสร้างจังหวะ หรือจากสร้างจังหวะเปลี่ยนอิริยาบถมาเป็นการเดินจงกรม ก็ลองยิ้มก่อนที่เราจะเริ่มยกมือ ก่อนที่เราจะเริ่มก้าวเดิน บางทีเราไม่สังเกตหรอกว่าหน้าตาเราบูดบึ้ง แล้วพอหน้าตาบูดบึ้ง ใจมันก็บึ้งตามไปด้วยห่อเหี่ยวตามไปด้วย แต่ว่าทันทีที่เราฉีกยิ้มให้กับตัวเองความบึ้งความเครียดมันก็จะค่อยๆทุเลาลง แม้จะยิ้มที่ใบหน้าแต่มันก็ส่งผลถึงจิตใจ ในทางตรงข้าม ถ้าเราทำหน้าบึ้งเดี๋ยวใจเราก็ค่อยๆเครียดตามไปด้วย กายกับใจสัมพันธ์กันมาก
เพราะฉะนั้น เวลาปฏิบัติ ทำกายของเราให้พร้อมตั้งแต่สีหน้า ใบหน้า รวมทั้งร่างกายส่วนอื่นๆก็ให้คลายด้วย บางทีเราไม่สังเกตว่าพอเราเริ่มเดินหรือเดินไปสักพักหนึ่งมันจะเริ่มเกร็งเริ่มเครียดขึ้นมา มันก็จะสะสมมากเข้าๆทำให้รู้สึกปวดรู้สึกเมื่อย แล้วยิ่งกว่านั้นมันทำให้ใจเราเครียดด้วย พอใจเครียดสะสมแล้วบางทีเพียงแค่เริ่มยกมือเท่านั้นแหละมันก็เครียดแล้ว อาตมาเคยเป็นมาแล้ว พอปฏิบัติได้สัก ๒-๓ อาทิตย์ เนื่องจากวางใจไม่ถูก คิดจะเอา คิดจะคุมความคิด แล้วก็คอยจะเพ่งดู คอยเพ่งอวัยวะเพื่อให้จิตนิ่ง แล้วคอยตะปบความคิด มันก็ค่อยๆเครียดขึ้นไปเรื่อยๆ สะสมมากเข้าถึงจุดหนึ่ง เพียงแค่ยกมือสร้างจังหวะแค่ครั้งสองครั้งเท่านั้น มันก็เครียดตึงขึ้นมาเลยจนปฏิบัติต่อไม่ได้
ต้องเปลี่ยนอิริยาบถมาเป็นเดิน เดินเป็นหลักเลย กว่าจะกลับมาสร้างจังหวะได้ก็ผ่านไปเป็นอาทิตย์หลังจากที่แก้อารมณ์ของตัวเองได้ คือวางจิตวางใจให้ผ่อนคลาย พอเราทำกายของเราให้ผ่อนคลาย ใบหน้าแย้มยิ้ม ก็มาสู่การวางใจหรือการทำใจให้ถูก การปฏิบัตินี้สาระสำคัญไม่ได้อยู่ที่รูปแบบไม่ว่าจะเป็นเดินจงกรมหรือสร้างจังหวะ มันอยู่ที่การวางใจหรือการทำใจเป็นสำคัญ
หลักการที่สำคัญของการปฏิบัติโดยเฉพาะการเจริญสติแนวหลวงพ่อเทียน ข้อแรกคือ เห็น อย่าเข้าไปเป็น เห็นกับเป็นนี่มันต่างกัน ส่วนใหญ่แยกไม่ออก ทำๆไปมันก็เข้าไปในความคิด เข้าไปในอารมณ์ โดยเฉพาะความเครียด เข้าไปในความเครียดแทนที่จะเห็นความเครียด เมื่อหลายปีก่อนก็มีนักศึกษาคนหนึ่งเธอมาปฏิบัติ ปฏิบัติไปได้สัก ๓-๔ วันก็มาปรึกษาหลวงพ่อคำเขียน “หลวงพ่อ ทำอย่างไรดี หนูเครียดเหลือเกิน” หลวงพ่อท่านไม่ตอบ แต่ถามย้อนกลับไปว่า “ถามไม่ถูกนะ ถามใหม่” แกคิดสักพักแล้วก็ถามใหม่ว่า “หลวงพ่อ หนูเห็นความเครียดมันเยอะเหลือเกิน” ต่างกันไหมระหว่าง “หนูเครียดเหลือเกิน” กับ “หนูเห็นความเครียดเยอะเหลือเกิน” ส่วนใหญ่เป็นผู้เครียดไปแล้ว ไม่ได้เห็นความเครียดที่เกิดขึ้น
ต้องแยกให้ออกระหว่าง “เห็น” กับ “เป็น” เห็นความเครียด ไม่ใช่เป็นผู้เครียด การปฏิบัตินี่ไม่ใช่ว่าจะหวังแต่ความสงบอย่างเดียว บางทีความเครียดก็เกิดขึ้นได้ เกิดขึ้นก็ไม่เป็นไร เราเห็นมัน เห็นจะทำให้เราผ่านไปได้เร็ว แต่ถ้าเป็นนี่มันติดเลย มันติดตังเลย ถ้าเห็นนี่มันผ่านไปได้ง่าย แต่พอเป็นนี่มันติดเลยเหมือนกับว่าจมปลัก ระหว่างการเห็นกองไฟกับการเข้าไปในกองไฟอยู่กลางกองไฟนี่มันต่างกันมากเลย เห็นความโกรธกับเป็นผู้โกรธนี่ต่างกันเยอะเลย เห็นความโกรธก็เหมือนกับว่าเห็นกองไฟอยู่ข้างหน้า แต่เป็นผู้โกรธนี่ก็คือเข้าไปอยู่ในกองไฟ ถูกไฟเผา
ความโกรธความเครียดก็สามารถจะเกิดขึ้นได้กับนักปฏิบัติ ปฏิฆะความขัดใจสามารถจะเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ถ้าเราเห็น ไม่เข้าไปเป็น มันก็จะทำให้หลุดได้เร็ว ไม่ไปข้องแวะกับมัน เป็นนี่คือเข้าไปข้องแวะกับมันแล้ว เปรียบไปก็เหมือนกับว่าเรานั่งรถทัวร์ เราผ่านสถานที่ต่างๆไม่ว่าจะเป็นเมือง ไม่ว่าจะเป็นย่านชุมชน ภูเขา ทะเล ผ่านอย่างเดียวเลย ไม่แวะ แต่ถ้านั่งรถส่วนตัวนี่มันแวะตะพึดตะพือเลย เดี๋ยวเจอชายหาดก็แวะลงไปรับลม เดี๋ยวผ่านห้างสรรพสินค้าก็ลงไปช็อปปิ้ง นักปฏิบัติจำนวนมากก็จะเป็นอย่างนั้นคือข้องแวะกับอารมณ์ต่างๆหรือผัสสะต่างๆที่เกิดขึ้น พอได้ยินเสียงก็ไปข้องแวะกับเสียงนั้นเลย ถ้าเป็นเสียงที่เพราะก็เคลิ้มหลงใหลในเสียงนั้น แต่ถ้าเป็นเสียงรถยนต์ เสียงคนพูดคุยก็เข้าไปผลักไส ข้องแวะไม่ว่าจะเข้าไปเสพชื่นชมหรือว่าผลักไสนี่ไม่ถูกทั้งนั้น อย่างนี้ไม่เรียกว่าเห็นแล้ว เรียกว่าเข้าไปเป็นเลย เป็นผู้ยินดีในเสียงนั้น เป็นผู้ชังเสียงที่ได้ยินนั้น เห็นอย่างเดียว เห็นความไม่พอใจที่เกิดขึ้น เห็นความพอใจที่เกิดขึ้น ก็จะผ่านไปได้ เห็นความชอบที่เกิดขึ้นในเสียงนั้น เห็นแล้วก็ผ่านไปได้ แต่ถ้าเป็นเมื่อไร เป็นผู้ชอบเป็นผู้ชังก็ขาดสติ
เพราะฉะนั้น เห็นกับเป็นต้องแยกให้ถูก หลักการปฏิบัติการเจริญสติข้อแรกคือ เห็น อย่าเข้าไปเป็น ซึ่งมันก็จะไปโยงถึงข้อที่สองคือ ถ้าเห็นถูก เห็นเป็น ใจก็จะเป็นกลางกับทุกสิ่งไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ภายนอกหรืออารมณ์ภายใน อารมณ์ภายนอกก็เช่น เสียง หรือสิ่งที่มากระทบกาย อาจจะหมายถึงอาหารก็ได้ อาจจะหมายถึงแดดที่มากระทบกาย ส่วนอารมณ์ภายในก็หมายถึงความพอใจ ความยินดี ความหงุดหงิด ความชัง ความโกรธ เราต้องวางใจเป็นกลางกับสิ่งเหล่านั้น ถ้าเราวางใจเป็นกลาง อะไรเกิดขึ้นไม่ว่าภายนอกภายในก็ทำอะไรไม่ได้ เช่น เสียงที่ดัง ถ้าเราวางใจเป็นกลางกับเสียงนั้นก็ไม่ทุกข์ จะเป็นเสียงมอเตอร์ไซค์ จะเป็นเสียงพูดคุย แต่ที่ทุกข์ก็เพราะใจมันไม่เป็นกลางกับเสียงนั้น ใจมีความชัง มีความรู้สึกผลักไส อยากจะให้เสียงนั้นสงบ
นักปฏิบัติจำนวนมากวางใจเป็นกลางกับอารมณ์ภายนอกไม่ค่อยได้ ได้ยินเสียงพูดคุยกันข้างนอกก็แทนที่จะวางใจเป็นกลางก็เกิดความหงุดหงิดไม่พอใจ แต่สมมติว่าเกิดความหงุดหงิดแล้วเห็นความหงุดหงิดนั้นมันก็ยังดี แต่ส่วนใหญ่ก็เข้าไปเป็นเลย เป็นผู้หงุดหงิด ทีแรกวางใจไม่เป็นกลางก่อนคือมีความชังไม่พอใจ พอความไม่พอใจเกิดขึ้นอันนี้เรียกว่าอารมณ์ภายในเกิดขึ้นแล้ว แทนที่จะเห็นมันก็เข้าไปเป็นเลย หรือว่าพออารมณ์ภายในเกิดขึ้น มีความหงุดหงิด เห็นมันก็วางใจเป็นกลาง ไม่ไปข้องแวะกับมัน ไม่ไปกดข่มมัน ดูมันเฉยๆมันก็จะทำอะไรเราไม่ได้
การวางใจเป็นกลางนี่สำคัญมากเลย แต่ส่วนใหญ่นักปฏิบัติวางใจเป็นกลางได้ยากเพราะว่าตั้งธงเอาไว้แล้วว่าฉันต้องสงบ ปรารถนาความสงบ เพราะฉะนั้น พอมีความไม่สงบเกิดขึ้น ไม่ว่าความไม่สงบภายนอก เช่น เสียงดัง เสียงพูดคุยซุบซิบนินทากัน ก็จะไม่พอใจเพราะว่ามันไม่ตรงกับธงที่ตั้งเอาไว้ หรือว่าพอเกิดความฟุ้งซ่านขึ้นมาก็จะไม่ชอบความฟุ้งซ่านนั้น ก็จะพยายามผลักไสกดข่ม ผลก็คือยิ่งฟุ้งหนักเข้าไปใหญ่ ในทำนองเดียวกัน ยิ่งผลักไสเสียงที่ได้ยิน ยิ่งผลักมันเท่าไรมันก็ยิ่งรังควาญเรามากขึ้น เพราะทันทีที่เราไม่ชอบมัน ทันทีที่เราผลักไสมัน ก็เท่ากับว่าเราเปิดโอกาสให้มันมารังควาญเราหนักขึ้น
ถ้าเราวางใจเป็นกลางมันก็ทำอะไรเราไม่ได้ แต่เพราะไม่วางใจไม่เป็นกลาง เพราะความตั้งใจที่จะไปกดข่มมัน ผลักไสมัน กำจัดมัน ก็เลยเป็นทุกข์ แล้วก็ทำให้ยิ่งจดจ่อใส่ใจมันหนักเข้าไปใหญ่ เวลาเราเกลียดเวลาเราชังไม่ชอบอะไรก็ตาม แม้ใจอยากจะผลักไส แต่ว่ายิ่งผลักไสใจก็ยิ่งจดจ่อ เสียงที่ดังใจไม่ชอบ อยากจะผลักมันไป แต่มันก็ยิ่งจดจ่อหนักเข้าไปใหญ่ ทำให้เสียงนั้นดังขึ้นในความรู้สึกของเรา บางทีเขาพูดเบาๆ แต่พอเราได้ยิน ใจเราก็จ่อเลย จ่อที่เสียงนั้น แล้วก็จะรู้สึกว่ามันดังขึ้นเรื่อยๆ ความหงุดหงิดหรือปฏิฆะก็จะมากขึ้นๆจนกระทั่งอาจจะลืมตัวเพราะว่าความโกรธครอบงำ เดินไปว่าเขาว่าทำไมไม่หยุดพูดเสียที บางคนอาจจะไม่ทำถึงขนาดนั้น แต่ว่าใจมันบ่นทำไมไม่หยุดพูดเสียที ทำไมไม่หยุดคุยกันเสียที ตรงนี้ถ้าไม่เห็นมันก็เข้าไปเป็นเลย ไปเป็นผู้หงุดหงิดแทนที่จะเห็นความหงุดหงิดที่จะเกิดขึ้นในใจ
การวางใจเป็นกลางๆนี้หลวงพ่อเทียนท่านใช้คำว่า “รู้ซื่อๆ” “รู้เฉยๆ” คำว่ารู้เฉยๆเป็นคำที่คลุมที่พูดมาทั้งหมดเลย ก็คือเห็น รู้ก็คือเห็น ไม่เข้าไปเป็น รู้เฉยๆคือไม่ผลักไสแล้วก็ไม่ไขว่คว้ายึดติด จะเป็นอารมณ์ที่พอใจ อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจก็แล้วแต่ ก็รู้เฉยๆไม่ไปทำอะไรกับมัน ก็เหมือนกับนั่งรถทัวร์ มองไปที่หน้าต่างเห็นอะไรต่ออะไรก็ผ่านอย่างเดียว จะเป็นกองขยะหรือว่าจะเป็นสวนดอกไม้ ชายหาดที่งดงาม ก็ผ่านอย่างเดียว ไม่ลง ไม่เข้าไปข้องแวะ หรือเหมือนกับเราดูสายน้ำที่ไหลผ่านหน้าเรา มันจะมีกองสวะผ่าน หมาเน่าลอยน้ำผ่านมา หรือว่าเรือที่สวยงาม มีของกินมากับเรือเหล่านั้น ก็แค่เห็นมันเฉยๆแล้วก็ปล่อยให้มันผ่านไป นี่เป็นหลักง่ายๆที่เราต้องจับให้ได้ ถ้าเราจับหลักได้การปฏิบัติก็จะกลายเป็นเรื่องง่าย การเห็น ไม่เข้าไปเป็น หรือว่าวางใจเป็นกลางต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นไม่ว่าภายนอกภายใน ซึ่งรวมถึงเวทนา ความเจ็บ ความปวด ความเมื่อย ความคัน เราก็วางใจเป็นกลางกับมัน
ใหม่ๆก็ทำยาก การที่จะรู้เฉยๆ ใจเป็นกลางกับทุกอย่าง จริงๆถ้าหากว่ายังวางใจเป็นกลางกับสิ่งต่างๆไม่ได้ ลองรู้สึกเป็นบวกกับสิ่งนั้นดูก็ได้ เสียงที่ดัง คนที่กำลังพูดคุยกัน หรือว่าอากาศที่ร้อน เราก็มองในแง่บวกดูว่ามาช่วยฝึกเราให้เราเข้มแข็ง หรือว่าดีนะที่มันไม่ดังกว่านี้ ดีนะที่มันไม่ร้อนกว่านี้ เวลาเรารู้สึกเป็นบวกกับมันก็ทำให้เราไม่ทุกข์กับสิ่งนั้น วิธีนี้อย่าว่าแต่ใช้รับมือกับเสียงที่ดัง แม้กระทั่งเวลาเกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้น พอมองมันเป็นบวกก็ทำให้อยู่กับมันได้
บางคนเป็นมะเร็งเขาก็ทำใจให้เป็นบวกกับมะเร็ง แผ่เมตตาให้ก้อนมะเร็ง คุยกับก้อนมะเร็งว่าอย่ารบกวนกันเลย เวลาจะนอนก็ร้องเพลงกล่อมมะเร็งให้หลับไปด้วย จะได้ไม่มากวนกัน กล่อมมะเร็งเหมือนกับกล่อมลูก มีบางคนเป็นโรคสะเก็ดเงิน ปวดมากแต่เขาก็ไม่ได้ใช้ยา เพราะเขาวางใจให้เป็นบวกกับโรคสะเก็ดเงิน เวลาทำบุญก็บอกกับสะเก็ดเงินว่าถ้าเธอจะไปก็เอาบุญกุศลฉันไปด้วยนะ แต่ถ้าเธอจะอยู่เธอต้องระวังนะเพราะว่ายาที่ฉันกินมันแรง มันอาจจะเล่นงานเธอได้ เขาพูดกับสะเก็ดเงินแบบนี้เขาก็สามารถจะอยู่กับมันได้โดยที่ไม่ได้ใช้ยาระงับปวดเท่าไรเลย ทั้งที่ปวดมากแต่ว่าอยู่กับมันได้เพราะว่าทำใจให้เป็นบวกกับมัน ก็สามารถจะอยู่ร่วมกับโรคได้อย่างสงบ สามารถจะอยู่กับความปวดอยู่กับทุกขเวทนาได้โดยที่ใจไม่ทรมาน ทุกขเวทนาเป็นเรื่องของกาย ทุกข์ทรมานเป็นเรื่องของใจ คนที่เจอทุกขเวทนาถ้าหากว่ามองมันในแง่บวกใจก็ไม่ทุกข์ทรมาน หรือว่ามีโรคภัยไข้เจ็บรังควาน แต่ว่ามองมันรู้สึกกับมันในทางบวกก็อยู่กับมันได้ ปวดแต่กาย ใจไม่ปวด บางคนโดนฉายแสง คนอื่นแพ้จนกระทั่งอาเจียน ผมร่วง ไม่ไหว
แต่มีคนหนึ่งเป็นหัวหน้าพยาบาลต้องได้รับการฉายแสงในโดสในปริมาณที่สูง รวมทั้งเคมีบำบัดด้วยซึ่งคนส่วนใหญ่แพ้มาก แต่เธอก็ไม่รู้สึกแพ้เท่าไร คนก็แปลกใจว่าเธอทำได้อย่างไร มียีนส์ดีหรือเปล่าถึงไม่แพ้ เธอก็บอกไม่เกี่ยวเลย แต่ว่าเธอทำใจว่าเวลาฉายแสงก็นึกว่ากำลังได้รับแสงสวรรค์ เวลารับคีโมเคมีบำบัดก็นึกว่ากำลังได้รับน้ำทิพย์ เธอวางใจเป็นบวกกับสิ่งเหล่านี้ พอใจเปิดรับสิ่งเหล่านี้ร่างกายก็เปิดรับด้วย คือไม่ต่อต้าน ถ้าเกิดว่าใจต่อต้าน ยังไม่ทันฉายแสงเลยใจก็ต่อต้านแล้วก็กลัว พอได้รับการฉายแสงเข้าไปก็แพ้ทันทีเลยเพราะว่าร่างกายไม่รับ ร่างกายไม่ยอมรับก็เพราะว่าใจมันไม่ยอมรับตั้งแต่แรก เจอเคมีบำบัดก็แพ้ เพราะฉะนั้น ถ้าใจไม่รับ ใจต่อต้าน ร่างกายก็ต่อต้านตามไปด้วย แต่พอใจยอมรับ ร่างกายก็ต่อต้านน้อยลง มันก็รับได้มากขึ้น
นี้เป็นตัวอย่างของคนที่เจอสิ่งหนักๆ แต่พอน้อมใจให้เป็นบวกกับสิ่งเหล่านั้นความทุกข์ทรมานก็น้อยลง สิ่งที่เขาเจอเรียกว่าหนักหนากว่าที่เราเจอมากๆในการปฏิบัติ พวกเราไม่ได้เจอถึงขนาดนั้น เราอาจจะเจอแค่แดดร้อน เสียงดัง แมลงรบกวน แต่ถ้าเกิดว่าใจเรายังไม่รู้จักวางให้เป็นเราก็จะยิ่งทุกข์ทรมาน อาจจะทุกข์ทรมานกว่าตัวอย่างคนที่พูดมาเสียอีก ทั้งๆที่เราเจอนี่มันเบามากแต่พอใจมันต่อต้านแล้วสิ่งเล็กน้อยก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ เพราะฉะนั้น พยายามวางใจให้เป็นกลางกับสิ่งเหล่านี้ให้ได้ สิ่งที่มารบกวน อารมณ์ภายนอกอารมณ์ภายในที่เป็นลบ ถ้ายังวางใจเป็นกลางไม่ได้ก็ลองทำใจให้เป็นบวกดู แต่บางคนบอกว่าทำใจเป็นกลางยังไม่ได้เลย จะทำให้เป็นบวกได้อย่างไร ก็จะใช้อุบายอะไรก็ตามแต่ว่าอย่าให้ใจมันเป็นลบก็แล้วกัน
ถ้าเกิดว่าเราวางใจเป็นกลางได้ การที่จะรู้เฉยๆรู้ซื่อๆต่อสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นไม่ว่าภายนอกภายในมันก็ไม่ใช่เรื่องยาก มีความเครียดเกิดขึ้นมีความหงุดหงิดเกิดขึ้นเพราะว่าใจมันเผลอไปต่อต้าน แต่ว่าถึงแม้ความโกรธเกิดขึ้นแล้ว ความชังเกิดขึ้นแล้ว ก็ยังสามารถที่จะวางใจเป็นกลางหรือรับรู้มันด้วยใจที่เป็นกลางได้ รู้เฉยๆก็ได้ แม้ว่าตอนแรกจะพลาดไป ตอนที่เกิดผัสสะ ตอนที่เกิดการกระทบขึ้น หูได้ยินเสียง หรือว่าร่างกายไปต้องกับแสงแดดหรือแมลงที่รบกวน เกิดความไม่พอใจขึ้นมา เกิดความชังขึ้นมา ก็ยังมีโอกาสที่เราจะวางใจเป็นกลางต่ออารมณ์ภายในที่เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเราปฏิบัติได้ ถ้าสติเราไว แม้แต่ตอนที่เจอหรือกระทบกับอารมณ์ภายนอกก็สามารถจะเป็นกลางได้เร็ว ยุงกัดก็กัดไป เจ็บก็จริงแต่ว่าใจก็ไม่ได้เป็นทุกข์ มันบินมันว่อนก็ไม่ได้รู้สึกรังเกียจมัน ถ้าเรารับมือกับอารมณ์ภายนอกได้ การที่จะรับมือกับอารมณ์ภายในก็ทำได้ง่าย
แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องจับหลักอีกข้อหนึ่งให้ได้คือ ไม่ส่งจิตออกนอก กลับมาตามดูรู้ทันใจข้างใน ตอนที่ได้ยินเสียงดัง เสียงพูดคุย หรือว่าแมลงบิน สังเกตดูหรือเปล่าว่าใจเราไปอยู่ที่ไหน ใจเรามันส่งออกไปข้างนอกแล้ว ไม่ได้กลับมารู้ทันจิตใจตัวเอง ในขณะที่ใจบ่นพึมพำข้างในว่าทำไมเขาไม่หยุดพูดเสียที ทำไมเขาไม่หยุดคุยเสียที ทำไมมันร้อนเหลือเกิน ทำไมฝนไม่ตก ทำไมลมไม่มา ระหว่างที่บ่นอย่างนี้เคยกลับมาดูใจหรือเปล่าว่ามันกำลังมีความไม่พอใจเกิดขึ้น ทำไมไม่ถามใจตัวเองว่าเมื่อไรจะหยุดบ่นเสียที ได้แต่ไปเพ่งหรือส่งจิตออกนอก แล้วก็บ่นพึมพำว่าเมื่อไรเขาจะหยุดพูดเสียที
คนที่กลับมาดูใจ เขาจะไม่บ่นอย่างนั้น แต่เขาจะถามใจตัวเองว่าทำไมไม่หยุดบ่นเสียที ถ้าคนที่ส่งจิตออกนอกจะเฝ้าแต่ถามเฝ้าแต่บ่นว่าทำไมเขาไม่หยุดพูดเสียที นี่เป็นวิสัยของคนที่ส่งจิตออกนอก แต่คนที่กลับมาดูใจเขาจะถามไม่ใช่ถามอย่างนั้น เขาจะมาถามตัวเองว่าทำไมถึงไม่หยุดบ่นเสียที ทำไมถึงไม่วางใจเป็นกลางกับเสียงเหล่านี้สักที เราเคยถามอย่างนี้บ้างหรือเปล่าหรือได้แต่เรียกร้องให้คนอื่นเขาหยุดส่งเสียง หยุดพูด หยุดรบกวน ถ้าเกิดว่าคนส่งจิตออกนอกก็จะเป็นอย่างนี้ แล้วก็จะทุกข์ เพราะลืมที่จะมาเห็นอาการของใจที่เป็นลบต่อเสียงเหล่านั้น ถ้ากลับมาดูใจก็จะรู้ การรู้ซื่อๆรู้เฉยๆก็จะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก แต่เพราะมัวแต่ส่งจิตออกนอกนั่นแหละ ไม่กลับมาดูใจของตัว ก็เลยถูกความทุกข์ ความเครียด ความหงุดหงิด ความขัดใจเล่นงาน ถ้ากลับมาดูใจมันจะมีสติแล้วก็ไม่ปล่อยให้อารมณ์เหล่านี้มาเล่นงานจิตใจได้ จะดึงจิตออกมาจากอารมณ์เหล่านั้น เห็นมันแต่ไม่เข้าเป็น
การกลับมาตามดูรู้ใจเป็นหลักการสำคัญของการปฏิบัติ ฉะนั้น ถ้าเราหมั่นมาตามดูรู้ใจของตัวแล้วก็รู้จักวางใจเป็นกลางต่ออารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะอารมณ์ภายในที่เกิดขึ้นแล้วก็รู้เฉยๆ ไม่ผลักไส ก็จะทำให้เราสามารถที่จะเห็น ไม่เข้าไปเป็นได้ หลักการปฏิบัติก็มีไม่กี่อย่าง แต่ถ้าเราจับหลักไม่ได้เราก็จะไปเน้นที่รูปแบบหรือว่าพยายามไปเพ่ง ทำอะไรสารพัดเพื่อที่จะควบคุมจิตให้มันหยุดฟุ้งซ่าน ซึ่งก็ยิ่งเท่ากับทำให้ความเครียดเพิ่มมากขึ้น
นักปฏิบัติขยันอย่างเดียวไม่พอ ต้องจับหลักให้ได้ด้วย ถ้าจับหลักได้การปฏิบัติจะเป็นเรื่องง่าย เหมือนกับเรียนหนังสือ เรียนหนังสือนี่ถ้าจับหลักวิชาที่เรียนไม่ได้ การเรียนจะกลายเป็นเรื่องที่น่าเบื่อเพราะต้องอาศัยการท่องจำอย่างเดียว ท่องจำตะพึดตะพือเลย ท่องทุกวิชา ไม่ใช่แต่เฉพาะวิชาประวัติศาสตร์ ภาษาไทยภาษาอังกฤษคณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์ก็ท่อง มันกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อขึ้นมา การเรียนไม่สนุกเลยเพราะจับหลักไม่ได้ ท่องมากๆก็ท้อ ท่องเท่าไรก็จำไม่ได้ก็ยิ่งท้อเข้าไปใหญ่ แต่ถ้าจับหลักได้การเรียนจะเป็นเรื่องง่าย เผลอๆสนุกเสียอีกเพราะว่าสิ่งที่เรียนมาสามารถจับมันเข้าไปในกรอบที่เราคิดขึ้นมาได้ การเรียนเป็นเรื่องง่ายถ้าจับหลักได้ ถ้าจับไม่ได้การเรียนก็เป็นเรื่องยาก ฉันใดก็ฉันนั้น การปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้าจับหลักได้ก็เป็นเรื่องง่าย ถ้าจับไม่ได้แม้จะขยันแม้จะทำเต็มที่อย่างไรก็กลายเป็นความทรมาน
อย่างพระโสณะ พระโสณะเป็นพระในสมัยพุทธกาลที่มุ่งมั่นในการปฏิบัติมาก เรียกว่าใจเต็มร้อยกับการปฏิบัติแต่ว่าจับหลักไม่ถูก เดินจงกรมทั้งวันทั้งคืน ยิ่งเดินก็ยิ่งเครียด เดินจนเท้าแตก เดินไม่ได้ก็คลานเอา ทางเดินจงกรมนี่เรียกว่าแดงฉานเลยเพราะว่าเลือดไหล เดินขนาดนี้ก็ยังไม่บรรลุธรรม ก็รู้สึกท้อมาก คิดว่าชาตินี้เราคงเอาดีทางการปฏิบัติไม่ได้ อยากจะสึกหาลาเพศไป พระพุทธเจ้ารู้ก็เสด็จมาแล้วก็อธิบายโดยอุปมาพิณสามสาย เพราะว่าพระโสณะแต่ก่อนเคยเป็นนักดนตรี ลืมบอกว่าพระโสณะนี้เป็นพวกสุขุมาลชาติ เท้าบอบบาง เดินจงกรมไม่ทนเหมือนคนอื่น เดินไม่นานก็เท้าแตก เท้าแตกก็ยังไม่เลิกเดิน เดินไม่ได้ก็คลานเอาอย่างที่ว่า
พระพุทธเจ้าก็แนะนำอุปมาถึงการเล่นดนตรี เพราะว่าพระโสณะเคยเป็นนักดนตรีดีดพิณสามสาย พระพุทธเจ้าก็อธิบาย ถามพระโสณะว่าพิณถ้าขึงให้ตึงเล่นเพราะไหม พระโสณะบอกว่าไม่เพราะ ถ้าขึงหย่อนไปเพราะไหม ก็ไม่เพราะ จะทำอย่างไรถึงจะเพราะ ก็ต้องขึงให้พอดีๆ พระพุทธเจ้าต้องการบอกพระโสณะว่าท่านวางใจไม่ถูก ท่านวางใจแบบเครียดเกินไป พอวางใจไม่ถูก วางใจเครียด แม้จะขยันแค่ไหนก็ไม่ได้ผล แต่พอพระพุทธเจ้าอุปมาแบบนี้พระโสณะก็เข้าใจแล้ว วางใจให้พอดีๆ ปรากฏว่าไม่นานก็บรรลุธรรม
ก็คือขยันอย่างเดียวไม่พอ ขยันแต่วางใจไม่ถูกก็ทำให้กลายเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติได้ คือทำให้ท้อ ไม่อยากจะปฏิบัติแล้ว อยากจะสึกหาลาเพศออกมา แต่พอวางใจให้เป็น วางใจพอดีๆ ผลของการปฏิบัติก็บังเกิด อันนี้ก็จับหลักได้ พอจับหลักได้การปฏิบัติก็กลายเป็นเรื่องง่าย แต่ถ้าจับหลักไม่ได้หรือเข้าใจผิดนี่ทุ่มเทเท่าไรก็ไม่ได้ผล ขยันอย่างเดียวก็ไม่พอ อันนี้เขาเรียกว่าต้องขยันแต่พอดี ต้องวางใจพอดี ภาษาพระเรียกว่า “วิริยสมตา” คือความเพียรแต่พอดี ถ้าทำด้วยความคิดอยากที่จะเอา อันนี้ก็กลายเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติได้ อันนี้คนละเรื่องกับทางสายกลาง ทางสายกลางคือมัชฌิมาปฏิปทา แต่ว่าอันนี้ที่พระพุทธเจ้าแนะนำพระโสณะนี้เน้นให้ทำความเพียรแต่พอดี ความเพียรในที่นี้หมายถึงการวางใจ
ฉะนั้น ถ้าเราจับหลักไม่ได้ จับหลักไม่ถูก การปฏิบัติก็เนิ่นช้าไป แล้วก็อาจจะท้อถอยง่ายๆเพราะว่าทำเท่าไรๆก็เหมือนกับหัวชนกำแพง