แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อวานก็ได้พูดถึงหลักในการปฏิบัติโดยเฉพาะเจริญสติ คือ การวางใจเป็นกลางต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งกับกาย และใจ อารมณ์ภายนอก คือ สิ่งที่เห็น ได้ยิน สัมผัส จับต้อง ที่มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรืออารมณ์ภายใน หมายถึง ความโกรธ ความไม่พอใจ ความหงุดหงิด ความยินดี ไม่ว่าบวก หรือลบ ก็ไม่ชอบ ไม่ชัง ไม่ผลักไส ไม่ไขว่คว้า อันนี้แหละที่จะทำให้เราสามารถที่จะเห็นโดยไม่เข้าไปเป็นได้ เพราะทันทีที่เข้าไปผลักไส หรือไขว่คว้า ด้วยความชัง หรือความชอบก็ตาม มันก็กลายเป็นตก ติดล่ม หรือเข้าไปเป็น ไม่สามารถจะเห็นสิ่งใดอย่างที่เป็นจริงได้
การเจริญสติ คือ การเห็นความจริง ไม่ใช่ไปบังคับจิตให้เป็นไปอย่างที่อยาก อันนี้พูดถึงเรื่องการวางใจให้เป็นกลาง นอกจากมีความหมายว่า ไม่ชอบ ไม่ชัง ไม่ผลักไส ไม่ไขว่คว้า อย่างที่พูดเมื่อสักครู่แล้วเนี่ย มันยังหมายถึงว่า ไม่เผลอ ไม่เพ่งด้วย เผลอนี่ก็เป็นสุดโต่งอีกทางหนึ่ง เพ่งก็เป็นสุดโต่งอีกทางหนึ่ง เผลอนี่ก็หมายถึงว่าปล่อยใจฟุ้งไปตามความคิด หรือว่าปล่อยตัวปล่อยใจไปตามกิเลส อันนั้นก็ไม่ใช่ หรือว่าพยายามบังคับจิต ควบคุมใจให้มันสงบ ให้มันนิ่ง ให้เป็นไปอย่างที่ต้องการ อันนั้นก็ไม่ใช่
วางใจเป็นกลาง ๆ คือ เป็นกลางระหว่างไม่เผลอกับไม่เพ่ง ไม่ปล่อยใจฟุ้งไปตามกิเลส และก็ไม่ไปบังคับควบคุมจิต ลองสังเกตดูใจของเราเวลาปฏิบัติ มันมักจะเหวี่ยงไปในทางใดทางหนึ่ง เมื่อใดก็ตามที่เผลอไป ปล่อยใจฟุ้งลอย ความรู้สึกตัวก็เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อใดก็ตามที่ไปเพ่ง ไปพยายามบังคับควบคุมจิต หรือแม้แต่ไปเพ่งที่กาย ความรู้สึกตัวก็เกิดขึ้นไม่ได้ ความรู้สึกตัวเกิดขึ้นได้เมื่อใจเป็นกลาง ๆ ไม่เพ่งเข้าไปข้างในเกินไป และก็ไม่พุ่งออกนอกเกินไป ถ้าเพ่งเข้าไปแต่ข้างใน ไม่รับรู้ข้างนอก นี่ก็ไม่ใช่นะ หรือรู้แต่ข้างนอก เพราะจิตมันส่งออกนอกไปตะพึดตะพือ แต่ไม่เห็นข้างใน มันก็ไม่ใช่เหมือนกัน
หลวงพ่อคำเขียนเคยเล่าว่า สมัยที่ปฏิบัติใหม่ ๆ กับหลวงพ่อเทียน ก่อนที่ท่านจะมาปฏิบัติ ท่านก็ติดสงบ ติดสมถะมาก หลวงพ่อเทียนก็ทราบ วันหนึ่งในขณะที่หลวงพ่อคำเขียน ซึ่งเข้าใจว่าตอนนั้นยังเป็นโยมอยู่ ปฏิบัติอยู่ในกุฏิ หลวงพ่อเทียนท่านก็เดินมาสอบอารมณ์ กุฏิของหลวงพ่อคำเขียนตอนนั้นนี่ปิดประตูปิดหน้าต่างเลย หลวงพ่อคำเขียนได้ยินเสียงฝีเท้านะ ก็รู้ว่าหลวงพ่อเทียนกำลังมาสอบอารมณ์ หลวงพ่อเทียนก็ถามว่า “กำลังทำอะไรอยู่” หลวงพ่อคำเขียนก็ตอบว่า “กำลังเดินสร้างจังหวะครับ” หลวงพ่อเทียนก็พูดต่อไปว่า “ให้เห็นทั้งข้างนอก และข้างในนะ”
เสร็จแล้วก็ถามหลวงพ่อคำเขียนว่า “เห็นข้างในไหม” “เห็นครับ” “แล้วข้างนอกล่ะเห็นไหม” “ไม่เห็นครับ” “แล้วทำไงถึงจะเห็นข้างนอก” “ต้องเปิดประตูครับ” ท่านก็เดินไปเปิดประตู หลวงพ่อเทียนก็ถามต่อไปว่า “เห็นข้างนอกหรือยัง” “เห็นแล้วครับ” ท่านก็พูดต่อไปว่า “เนี่ยให้ทำอย่างนี้นะ เห็นทั้งข้างใน เห็นทั้งข้างนอก” เราฟังดูนี่ เราเข้าใจไหมว่าหลวงพ่อเทียนต้องการจะบอกอะไร ท่านต้องการที่จะบอกว่า อย่าไปเพ่งเข้าในมากเกินไป จนไม่รับรู้สิ่งที่อยู่ข้างนอก หรือสิ่งที่อยู่รอบตัว และคนส่วนใหญ่จะไม่เป็นอย่างนั้น คนส่วนใหญ่นี่จะไปเพ่ง หรือส่งจิตออกนอกจนลืมใจของตัว อันนั้นก็สุดโต่งอีกทางหนึ่งเหมือนกัน
นักปฏิบัติเมื่อเริ่มรู้วิธีก็จะพยายามไม่ส่งจิตออกนอก แต่ว่าจะกลับสวิง หรือสุดโต่งมาอีกทางหนึ่ง คือว่าเพ่งข้างใน ซึ่งอาจจะหมายถึงการบังคับจิตให้ไปอยู่กับกาย เพ่งที่มือ เพ่งที่เท้า หรือว่าไปจับจ้องเฝ้าดูความคิด มันยังไม่คิดเลย ก็ไปดักรอมันเสียก่อนละ อันนั้นก็ไม่ถูกนะ เคยพาคนเดินจงกรมที่ภูหลง เดินไปตามทางบิณฑบาต สองข้างทางก็เป็นไร่ เป็นทุ่ง ก็มีเสียงนกร้อง มีเสียงจิ้งหรีดตลอดทางเลย อากาศก็กำลังดีมากเพราะว่าเป็นช่วงรุ่งอรุณ เดินไปกลับก็ประมาณ 45 นาที เสร็จแล้วก็ถามความรู้สึกระหว่างที่เดิน ประโยคหนึ่งก็ถามว่า “มีใครได้ยินเสียงจิ้งหรีดหรือเปล่า” เกือบครึ่งบอกว่า “ไม่ได้ยิน” ทั้ง ๆ ที่เสียงจิ้งหรีดมันระงมตลอดทางเลย เกือบครึ่งบอกไม่ได้ยิน ก็เลยถามต่อไปว่า “ทำไมถึงไม่ได้ยิน” ส่วนใหญ่ก็ตอบว่า “ตอนนั้นกำลังคิดถึงบ้าน” บางคนก็ตอบว่า “กำลังห่วงคิดถึงงาน ห่วงกังวลอยู่” พอคิดเรื่องแบบนี้นะ หูก็ไม่รับรู้แล้วว่ามีเสียงจิ้งหรีดอยู่ อันนี้เรียกว่าส่งจิตออกนอก พอส่งจิตออกนอก การที่จะรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขณะที่อยู่รอบตัวก็ไม่มี ไปคิดถึงอนาคตก็ตาม ไปคิดถึงอดีตก็ตาม หรือว่าส่งจิตออกนอกตัวไปโน่น เสียงจิ้งหรีดที่อยู่ต่อหน้าต่อตา หรืออยู่รอบตัวก็ไม่ได้ยิน
มีคราหนึ่งก็พาคนเดินอยู่ในกรุงเทพฯ พาคนเดินไปตามถนน ก็ประมาณ 40 นาที กลับมาก็ถามว่า “ได้ยินเสียงนกไหม” ก็มีบางคนบอก “ไม่ได้ยิน” นกมันก็ส่งเสียงตลอดนะ ถึงแม้จะเป็นกรุงเทพฯ ถามว่า “ทำไมถึงไม่ได้ยิน” ก็ตอบว่า “เพราะตอนนั้นไปเพ่ง จิตมันไปเพ่ง ไปแนบ ไปกำหนดที่เท้า ก็เลยไม่ได้ยิน” อย่างนี้ทั้งสองกรณีก็เรียกว่าไม่มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม รู้สึกตัวทั่วพร้อมมันหมายถึงว่ารู้ทั้งข้างนอก และรู้ทั้งข้างใน รู้นอกก็คือว่าได้ยิน มีเสียงนกร้อง เสียงจิ้งหรีดดังก็ได้ยิน แต่ได้ยินแล้วก็ผ่าน ถ้าได้ยินแล้วไปจดจ้อง ไปจดจ่อ นกอะไร จิ้งหรีดอยู่ไหน ทำไมถึงมีจิ้งหรีดเยอะแยะ อันนี้เรียกว่าส่งจิตออกนอกไปแล้ว แต่ถ้าเพียงแต่สักแต่ว่าได้ยิน รู้ว่าได้ยินแล้วก็ผ่านเลยไป ถามว่าได้ยินไหม ได้ยิน แต่ว่าใจไม่ได้ฟุ้ง ไม่ได้ปรุงแต่งต่อไป
ส่งจิตออกนอกมันก็ไม่รับรู้ ถึงสิ่งที่อยู่รอบตัว เพราะว่าขาดความรู้สึกตัวทั่วพร้อม หรือว่าเพ่งเข้าใน อาจจะไปเพ่งที่มือที่เท้า หรือไปอยู่กับคำบริกรรม พุทโธ ซ้ายหนอ ขวาหนอ มันก็ไม่รับรู้สิ่งที่อยู่ข้างนอก ไม่ต้องพูดถึงเรื่องสิ่งที่อยู่ในใจ ก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ นักปฏิบัตินี่เราก็วางใจให้เป็นกลาง ๆ ไม่ปล่อยจิตพุ่งออกข้างนอกเกินไป และก็ไม่บังคับจิตให้มันแนบนิ่งอยู่แต่ข้างใน ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเกิดว่าเราไม่รู้จักวางใจให้เป็นกลาง ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมเกิดขึ้นได้เมื่อใจอยู่กับปัจจุบัน ใจอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ไหลไปอดีต ไม่หลงไปอนาคต ไม่จมอยู่ในอารมณ์ หรือว่าไปเพ่งไปจ้องสิ่งที่อยู่รอบตัว เมื่อใจอยู่กับเนื้อกับตัว เมื่อเคลื่อนไหวก็รู้สึก ยกมือก็รู้สึก เดินก็รู้สึก รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของมือ รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของเท้า รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของทั้งตัว แต่ถ้ารู้สึกชัดเกินไป หรือรู้สึกชัดมาก ๆ นี่ก็ นั่นไม่ใช่ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมแล้ว อันนั้นน่าจะเป็นการเพ่ง นั่นไม่ใช่เป็นการเจริญสติแล้ว ถ้าชัดมาก ๆ นี่แสดงว่าเพ่ง อย่างยกมือสร้างจังหวะนี่เห็นการเคลื่อนไหวของมือนี่มันเป็นสายเลย ให้รู้ว่านั่นเพ่งแล้ว
ความรู้สึกตัว เวลายกมือมันจะเป็นขณะ ขณะ ขณะ หลวงพ่อคำเขียนท่านเปรียบเหมือนกับโซ่ ที่เหมือนกับห่วงโซ่ที่คล้องกัน ทีละข้อ ทีละข้อ ทีละข้อ ทีละห่วง ทีละห่วง มันจะไม่เหมือนกับเหล็กเส้น เหล็กเส้นนี่มันยาวเป็นพรืด สังเกตดูความรู้สึกของเราเวลายกมือ เวลาเดิน มันชัดเหมือนกับเหล็กเส้นหรือเปล่า คือ มันต่อเนื่องเป็นเส้นเป็นสายเลย อันนั้นแปลว่าเพ่ง แต่ถ้ามันเป็นความรู้สึกตัว ความรู้สึกที่เป็นขณะ ๆ เหมือนกับโซ่ที่คล้องกันทีละข้อ ๆ อันนั้นก็ใช่แล้ว ความรู้สึกตัว ใหม่ ๆ นี่มันก็จะต่อกันไม่กี่ข้อ แล้วมันก็หลุด แต่ทำไป ๆ บ่อยขึ้น ๆ สายโซ่มันก็จะยาวขึ้น ๆ แต่มันก็ยังเป็นข้ออยู่ คือ มันเป็นขณะ ๆ ไม่ใช่เป็นสาย หลายคนอยากจะให้ความรู้สึกตัวมันชัด พอมีความอยากแบบนี้ขึ้นมาทีไร มันก็จะเพ่งทันทีเลย เพ่งที่มือ เพ่งที่เท้า
การที่ไปเพ่งที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายมันจะทำให้เกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อมไม่ได้ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม คือ มันรู้สึกไปทั้งตัว ไม่ได้ไปเพ่งที่จุดใดจุดหนึ่ง เปรียบเหมือนกับเราดูภาพ เราดูภาพไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ เราจะดูรู้เรื่องได้ว่าภาพนั้นคืออะไร เกี่ยวกับอะไร เราก็ต้องดูรวม ๆ เราไม่ไปเพ่งที่จุดใดจุดหนึ่ง ที่มุมใดมุมหนึ่ง ถ้าเราเพ่งที่มุมใดมุมหนึ่ง เราก็จะเห็นภาพรวม ๆ ได้ไม่ชัดเจน หรือว่าไม่เข้าใจ มันเหมือนกับเวลาเรามองหน้าคนนะ เวลาเรามองหน้าคน เราจะรู้ว่าคนนี้เป็นใคร เราก็มองรวม ๆ ทั้งใบหน้าของเขา เราไม่ได้ไปเพ่งที่ตา ที่จมูก ที่ปาก เวลาเราคุยกับใคร เราก็มองเห็นหน้าเขารวม ๆ เราก็รู้ว่าเขาเป็นใคร แต่ถ้าเราไปเพ่งที่มือ เพ่งที่ตา เพ่งที่จมูก เพ่งที่ปาก บางทีก็อาจจะไม่รู้ชัดด้วยว่าเขาเป็นใคร แล้วเวลาเรามองหน้าเขารวม ๆ ตาอาจจะไม่ชัด ปากอาจจะไม่ชัด จมูกอาจจะไม่ชัด เหมือนกับการที่ไปเพ่งที่เฉพาะส่วนนั้น แต่แค่นั้นก็พอแล้ว อย่าไปชัดมาก เพราะถ้าชัดมากแปลว่าเพ่ง ลองสังเกตดูเวลาเรามองหน้าใครเราไม่ได้มองที่จุดใดจุดหนึ่ง เรามองรวม ๆ
การปฏิบัติให้เกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อมก็เหมือนกัน มันเป็นความรู้สึกรวม ๆ ที่ไม่ได้เกิดจากการเพ่ง แต่เท่านั้นมันก็เรียกว่าชัด แต่มันไม่ได้ชัดมาก ถ้าชัดมากเมื่อไหร่ก็เพ่งเมื่อนั้น ความรู้สึกมันเบา ๆ เบา ๆ ถ้าทำให้เป็นธรรมชาติ ทำให้เป็นธรรมดา มันก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม แต่ถ้าไปอยากมันเมื่อไหร่ ไปมีความอยากเกิดขึ้นนี่เป็นปัญหา อันนี้คืออุปสรรคสำคัญของนักปฏิบัติ คือ ทำด้วยความอยาก แน่นอนความอยากทำให้เรามาถึงนี่ ความอยากทำให้เราออกจากบ้าน ทิ้งความสะดวกสบายมาถึงนี่ ยอมเสียเวลาอาทิตย์สองอาทิตย์เพื่อที่จะมานี่ แต่เมื่อมาถึงแล้วเมื่อลงมือปฏิบัติก็ให้วางความอยากลง ให้มีแต่ความเพียร
ลองทำความเพียรโดยที่ไม่อยาก ทำความเพียรโดยวางความอยากลงบ้าง มันจะทำให้เราทำได้นาน จะทำให้เราปฏิบัติโดยไม่หน้าดำคร่ำเครียด ที่หน้าดำคร่ำเครียด หรือที่เคร่งเครียดมากก็เพราะมันมีความอยาก อยากให้สงบ อยากให้มีสติรู้ตัว อยากให้เห็นรูปเห็นนาม แต่พอไม่เห็น พอไม่มีความสงบเกิดขึ้น หรือพอมีเสียงดัง ความไม่พอใจเกิดขึ้นทันที ความขัดอกขัดใจเกิดขึ้นทันที บางคนนี่พอรู้ว่าความหงุดหงิดเกิดขึ้น ความขัดอกขัดใจเกิดขึ้น ไม่ชอบมันนะ ไม่ชอบก็พยายามกดข่มมัน มันก็ยิ่งทำให้ปัญหาหนักขึ้น แทนที่จะเห็นมัน หรือรู้เฉย ๆ รู้ซื่อ ๆ หรือวางใจเป็นกลางกับอารมณ์เหล่านั้น ก็กลับจะไปเล่นงาน จะไปพันตูกับมัน ก็ถูกมันหลอกให้เข้าไปพัวพัน เลยไปเครียดหนักเข้าไปใหญ่ ถอนใจออกมาแค่ดูมันเฉย ๆ เป็นกลางกับมัน ไม่ชังมัน เห็นมันอย่างที่มันเป็น มันก็ช่วยทำให้หลุดจากอารมณ์นั้นได้ แล้วทำให้กลับมาสู่ความรู้สึกตัวได้ง่ายขึ้น
สำคัญมาก เราทำความเพียรโดยที่ไม่อยาก หรือวางความอยากลง มันเหมือนกับการเดินทางไกล จุดหมายอยู่ไกลก็ตาม แต่ว่าจุดหมายอยู่ไกลเราต้องเดิน ต้องขยันเดิน แต่ระหว่างที่เดินนั้น ก็ให้จิตใจละวางจุดหมายปลายทางลงเสีย กลับมาอยู่กับปัจจุบัน ทำความเพียรโดยที่วางความอยากลง มันจะทำให้เราสามารถที่จะเดินได้ไม่หยุด เดินได้ต่อเนี่อง ไกลแค่ไหน ใช้เวลากี่วัน กี่เดือน หรือเป็นปีก็ยังเดินต่อไป เพราะว่าใจอยู่กับปัจจุบัน ถ้าทำด้วยความอยากแล้วนี่มันก็จะคิดแต่ว่าเมื่อไหรจะถึง เมื่อไหร่จะถึง เมื่อไหร่จะถึง ความคิดนี่แหละที่มันบั่นทอนจิตใจ ทำให้ท้อ ทำให้คลายความเพียรได้ง่ายมาก
เมื่อสัก 3-4 ปีก่อนมีคุณป้าคนหนึ่ง อายุเกือบ 70 แกน่าสนใจมาก แกเป็นแม่ค้าขายผัก แล้วก็แกอยากจะได้บัตรได้ใบขับขี่ แต่ก่อนแกจ้างคนขนผัก ตอนหลังแกอยากจะขับรถเอง ก็ต้องไปทำใบขับขี่ ประเทศเกาหลีนี่ใบขับขี่นี่มันซื้อไม่ได้ ใช้เส้นก็ไม่ได้ ต้องไปสอบเอง สอบภาคปฏิบัติไม่มีปัญหา แต่สอบข้อเขียน 30 ข้อ ใน 50 ข้อเธอทำไม่ได้ ทำได้ไม่เคยถึง 30 ข้อเลย ก็ต้องสอบใหม่ เธอสอบแล้วสอบอีก สอบแล้วสอบอีก มันเป็นข่าวก็เพราะว่าเธอสอบแล้ว 775 ครั้งก็ยังไม่ได้ สอบมาแล้ว 775 ครั้ง เธอก็ไม่ละความเพียร ถ้าเป็นเมืองไทยนี่สอบ 10 ครั้งไม่ได้ก็เลิกแล้ว ใช้เส้นดีกว่า หรือไม่ก็เอาเงินยัด แต่นี่คุณป้าคนนี้แกสอบมาแล้ว 775 ครั้ง แกก็ยังสอบไม่ได้ เป็นข่าวเลย แต่ตอนหลังก็เป็นข่าวอีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้น 7-8 เดือน (พฤศจิกายน ปี 52) เป็นข่าวเพราะว่าเธอสอบได้แล้ว หลังจากที่สอบมา 950 ครั้ง
ความเพียรนี่น่ายกย่องมาก เพียรมากจริง ๆ ก็น่าคิดว่าทำไมเธอถึงสอบได้มากมายขนาดนั้น สอบ 100 ครั้งไม่ได้ก็ยังสอบ 200 ครั้งไม่ได้ก็ยังสอบ เธอทำแบบนี้ได้ก็เรียกว่าถึงแม้จะมีความอยากได้มาก ๆ ก็จริง แต่พอสอบแล้วนี่ก็ต้องวางความอยาก เพราะถ้าอยากมาก ๆ แล้วไม่ได้ สอบได้ไม่เกิน 100 ครั้งหรอกก็เลิก แต่เพราะว่าคุณป้าคนนี้แกไม่ได้หมายมั่นว่าจะต้องสอบให้ได้ สอบไม่ได้ก็สอบใหม่ สอบอีก สอบอีก สอบไปเรื่อย ๆ ถ้าความเพียรแบบนี้นี่พวกเราซึ่งเป็นนักปฏิบัติธรรมนี่ควรจะเอาเยี่ยงอย่าง หรือทำให้ได้ยิ่งกว่านั้น เพราะว่านี่แค่ต้องการทำใบขับขี่นี่ยังมีความเพียรขนาดนั้น ใบขับขี่มันก็มีประโยชน์ก็จริง แต่มันก็ไม่ช่วยทำให้พ้นทุกข์ได้ สิ่งที่เราทำอยู่นี่ มันช่วยให้พ้นทุกข์ได้ มันมีคุณค่า มีความหมายยิ่งกว่าใบขับขี่ที่คุณป้าคนนั้นอยากได้เสียอีก แต่ถ้าหากว่าความเพียรของเราน้อยกว่าคุณป้าคนนี้ก็แสดงว่าเราไม่ได้ตั้งใจจริง แต่ถ้าเราจะทำอย่างนั้นได้ เราก็ต้องวางความอยากลง ในขณะที่ปฏิบัติก็ต้องวางความอยาก ซึ่งจะทำให้เราเนี่ยไม่ท้อถอยง่าย ๆ เวลามันไม่เกิดผลอย่างที่อยาก ได้ไม่ได้ก็ทำ
นี่เป็นหัวใจของนักปฏิบัติ เป็นสปิริตของนักปฏิบัติ ได้ไม่ได้ก็ทำ ทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าผลมันจะปรากฏ หรือถึงผลจะไม่ปรากฏก็ยังทำอยู่ต่อไป อันนี้แหละคือสิ่งที่ทำให้พระมหาชนกเป็นที่รู้จัก และก็เป็นแบบอย่างที่สำคัญมาก พระมหาชนกนี่เราก็คงทราบนะว่าฉากสำคัญของท่านก็คือตอนที่เรือเดินสมุทรมันแตกกลางทะเล และท่านก็มีแต่ไม้แผ่นหนึ่งเกาะ อยู่กลางทะเล ถ้าไม่ยอมแพ้ไม่ยอมท้อถอยก็ต้องว่ายเข้าหาฝั่ง แต่ท่านว่ายไป 7 วัน 7 คืนก็ยังไม่เห็นฝั่งเลย ก็ยังว่ายต่อ จนกระทั่งพระอินทร์ทนดูไม่ได้ ก็เลยบอกให้นางมณีเมขลาลงมาช่วย เพราะนางมณีเมขลามีหน้าที่ช่วยคนที่เดือดร้อนในทะเล
นางมณีเมขลาเห็นพระมหาชนกว่ายน้ำอยู่กลางทะเล แปลกใจ ก็เลยถามพระมหาชนกว่า “ทำไมท่านจึงว่ายน้ำตลอด 7 วัน 7 คืน ทั้ง ๆ ที่ไม่เห็นฝั่งเลย มันมีประโยชน์อะไร” พระมหาชนกก็ตอบว่า “ข้าพเจ้าเห็นประโยชน์ของการทำความเพียร แม้ไม่เห็นฝั่งก็จะทำความเพียรอยู่ต่อไป” ก็คือว่ายไม่หยุด นางมณีเมขลาก็ถามว่า “ท่านว่ายแบบนี้ท่านก็ตายเปล่า มีประโยชน์อะไร” พระมหาชนกก็ตอบว่า “ข้าพเจ้าเห็นประโยชน์ของความเพียร” ก็ย้ำอีกว่า “แม้ว่าทำความเพียรแล้ว แม้ว่าจะต้องตาย แต่หากได้ทำความเพียรอย่างถึงที่สุดแล้ว ก็ถือว่าไม่เป็นหนี้ใคร ไม่อายใคร ไม่อายญาติพี่น้อง ไม่อายเทวดา” แล้วท่านก็พูดอีกว่า “เมื่อรู้ประสงค์ของการทำกิจการงานใดก็ตาม ถ้าหากทำความเพียร แม้จะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม ผลแห่งความเพียรนั้นย่อมประจักษ์แก่ตน” คือ ท่านไม่สนใจนะว่าสำเร็จ หรือไม่สำเร็จ ถึงฝั่ง หรือไม่ถึงฝั่ง แต่ว่าความเพียรมันย่อมส่งผลอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องสนใจอะไรแล้วว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น ขอให้ทำความเพียรไปเรื่อย ๆ เพราะแน่ใจว่าสิ่งที่ทำนั้นมันได้ผลแน่
อันนี้จะเรียกว่าการที่ท่านว่ายน้ำไม่หยุดทั้ง ๆ ที่มองไม่เห็นฝั่ง จะทำอย่างนั้นได้ ใจมันต้องวาง วางจากความปรารถนาที่จะถึงฝั่ง เพราะถ้าใจคิดตลอดเวลาว่าเราจะต้องถึงฝั่งให้ได้ ๆ ว่ายไม่กี่วัน หรือว่ายไม่กี่ชั่วโมงก็ท้อแล้ว ความหมดหวังมันเกิดขึ้นจากการที่มีความหวังมาก ๆ การมีความหวังมาก ๆ ก็คือความอยาก ถ้าไม่วางความอยากลง มันก็จะหวังตะพึดตะพือ แล้วพอไม่เป็นไปอย่างที่หวัง มันก็จะท้อ นักปฏิบัติอย่างพวกเรานี่ต้องทำความเพียรให้เต็มที่ ไม่น้อยไปกว่าคุณป้าชาวเกาหลีคนที่ว่า
แต่ขณะเดียวกันก็ต้องวางความอยากลงด้วย จะสำเร็จไม่สำเร็จก็ทำ จะสงบหรือไม่สงบก็ทำ รู้รูปนามหรือไม่ก็ทำ ทำไม่หยุด ใจอยู่กับปัจจุบัน ไม่ชะเง้อคอมองว่าเห็นเป้าหมายหรือยัง บางคนทำไปก็ถามอยู่นั่นแหละว่าไปไกลแค่ไหนแล้ว สำเร็จได้แค่ไหนแล้ว แล้วคนที่เฝ้าแต่ถามนะว่าเมื่อไหร่มันจะได้ผล เมื่อไหร่มันจะสงบ เมื่อไหร่มันจะหายฟุ้ง เมื่อไหร่มันจะรู้สึกตัว ถ้าถามแบบนี้ไม่นานก็จะท้อ เพราะว่าไม่ได้ ไม่เห็น ไม่พบอย่างที่อยาก ให้วางความอยากลง ไม่ต้องถาม ไม่ต้องสนใจจุดหมายปลายทางข้างหน้า อ