แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พวกเราเป็นผู้ใฝ่ธรรม ธรรมะนี่ต้องทำให้ซึมซับเข้ามาอยู่กับเนื้อกับตัวอยู่กับจิตกับใจ จะทำให้ซึมซับเข้ามากับเนื้อกับตัวกับจิตกับใจได้อย่างไร การอ่านการฟังก็เป็นวิธีการอย่างหนึ่ง แต่ว่าไม่พอต้องปฏิบัติด้วย คราวนี้เมื่อจะปฏิบัติธรรมก็ต้องเข้าใจขอบเขต ความหมายของการปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะในพระพุทธศาสนา
การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาถ้าพูดง่ายๆก็คือ การทำความดีและการเปิดใจให้เห็นความจริง ความดีเป็นสิ่งที่ต้องทำ ความจริงเป็นสิ่งที่ต้องเห็นต้องเข้าถึง ถ้าทำดีก็คือทำดีที่กาย วาจา ใจ ทำให้กายดี วาจาดี ใจดี
กายดีไม่ได้หมายถึงว่ามีสุขภาพดีไม่เจ็บไม่ป่วย อันนั้นมันเป็นส่วนประกอบเป็นส่วนเสริม แต่กายดีในที่นี้ หมายถึงมีพฤติกรรมทางกายที่ดีไม่เบียดเบียนใคร ไม่ใช้กายนี้ในการเอารัดเอาเปรียบใคร จะใช้กายนี้เพื่อการทำความดี เริ่มตั้งแต่การให้ทาน การรักษาศีล ศีลเป็นกำแพงขวางกั้นไม่ให้เราไปทำชั่ว แล้วเมื่อไม่ทำชั่วเราก็ต้องทำความดีเสริมเข้าไป
วาจาดีไม่ได้หมายถึงว่าเฉพาะแค่พูดเพราะ พูดเพราะแต่ว่าเป็นคำเท็จ เป็นคำประจบประแจงป้อยอก็ได้ อันนั้นไม่ใช่ความหมายของคำว่า พูดดี พูดดีก็คือพูดความจริง พระพุทธเจ้าใช้คำว่า หลั่งคำสัตย์ วาจาของเรามีคำสัตย์ที่หลั่งออกมา เป็นความจริง เป็นประโยชน์ พูดจริงแล้วไม่พอต้องมีประโยชน์ด้วย ฉะนั้นความจริงแต่ไม่มีประโยชน์พระพุทธเจ้าก็ไม่ตรัส เป็นความจริงแล้วมีประโยชน์แล้วก็ต้องพูดให้ถูกเวลาด้วย ไม่ใช่แต่เฉพาะคำตำหนิ วิจารณ์ แม้แต่คำชม คำสรรเสริญ พระพุทธเจ้าก็สอนว่าให้รู้จักพูดถูกกาละเวลา พูดผิดกาละเวลาก็เป็นโทษ เช่นอาจจะทำให้เจ้าตัวเกิดความหลงตัว ลืมตน หรือทำให้คนอื่นอิจฉาพยาบาท บางทีเราเจตนาดีเราก็พูดชมเขา แต่ว่าคนอื่นนี้เขาไม่พอใจ เขาอิจฉา คนที่ได้รับคำชมก็เลยกลายว่าเป็นมีศัตรูโดยที่ไม่รู้ตัว นี้เรียกว่า ชมโดยที่ไม่ได้ดูกาลเทศะแม้ว่าเจตนาดี พูดที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแม้จะเป็นคำตักเตือนแต่ก็พูดด้วยจิตที่มีเมตตา วาจาไพเราะ ถูกเวล่ำเวลา ก็จะเกิดประโยชน์
พูดดีแล้ว ใจก็ต้องดีด้วย ใจดี คือใจที่มีเมตตา ใจที่มีความกรุณา มีความอดกลั้นต่ออารมณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งมีความสงบ มีความตื่นรู้ เบิกบานด้วย นี่ต้องอาศัยภาวนา ทาน ศีล นี่เป็นเครื่องช่วยกล่อมเกลาให้กายวาจานั้นดี ส่วนใจจะดีได้ต้องอาศัยภาวนา ภาวนาอย่างที่เราปฏิบัติแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นเมตตาภาวนา หรือว่าการเจริญสติปัฏฐาน หรือว่าการทำสมถกรรมฐาน ก็เพื่อให้ใจมีคุณภาพดี มีเมตตา ไม่มุ่งร้าย ไม่หวั่นไหวต่อความอิจฉาพยาบาทหรือโทสะที่เข้ามาครอบงำ ที่เข้ามารังควานจิตใจ
ฉะนั้นการทำภาวนาก็เป็นการทำความดีอย่างหนึ่ง แต่ว่าเป็นการกระทำที่จิตที่ใจ ซึ่งนำไปสู่วาจาที่ดีและการกระทำที่ดีงามตามไปด้วย แต่ถามว่าเท่านี้พอหรือยัง ก็ยังไม่พอ ต้องเปิดใจให้เห็นความจริง เห็นสัจธรรมด้วย ถ้าหากว่าใจเข้าถึงสัจธรรมและขณะเดียวกันก็ทำความดีทั้งกาย วาจา ใจ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือความสุข
ความดี ความจริง และความสุข เป็นสิ่งสำคัญมากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสอยู่เสมอ นอกจากเรื่องความทุกข์แล้ว พระพุทธเจ้ายังตรัสเรื่องความสุข และความดี ความจริงนี้เป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดความสุขอย่างแท้จริง ความสุขไม่ได้เกิดจากความมี คนทุกวันนี้เข้าใจว่าจะสุขได้ต้องมีเยอะๆ ต้องเสพเยอะๆ ต้องได้เยอะๆ อันนั้นไม่ใช่ธรรมะ เป็นเรื่องโลก เป็นคำสอนเป็นความเชื่อในทางโลก ซึ่งสวนทางกับธรรมะหรือพุทธศาสนา ความสุขจะเกิดขึ้นได้ไม่ใช่จากการมี การได้ การครอบครอง แต่เกิดจากการทำความดี ทั้งกาย วาจา ใจ และการเห็นความจริง
พวกเรามาเจริญภาวนากันอยู่ที่นี้ ต้องเข้าใจว่าเราไม่ใช่เพียงแค่ฝึกใจของเราให้ดี ฝึกใจให้สงบ ให้มีสติตื่นรู้เท่านั้น แต่ว่าต้องนำไปสู่การเห็นความจริงด้วย เห็นความจริงคือเกิดปัญญานั่นเอง ความดียังไม่ทำให้จิตหลุดพ้น ความดียังไม่ช่วยทำให้จิตหลุดพ้นจากกิเลส ความดียังไม่ช่วยทำให้จิตหลุดพ้นจากวัฏสงสาร แต่ปัญญาที่เห็นความจริงนั่นแหละเป็นตัวสำคัญเป็นเหมือนกุญแจที่จะเปิดประตูสู่ความพ้นทุกข์อย่างแท้จริงได้ เพียงแค่ทำความดีแม้จะเป็นการดีที่ลงลึกเข้าไปถึงจิตใจ ก็ยังไม่ทำให้พ้นทุกข์ หรือหลุดพ้นจากวัฏสงสารได้ จิตใจที่สงบถึงขั้นมีเมตตา อาจถึงขั้นที่มีฌาน เข้าถึงฌาน 4 ฌาน 8 ก็ไปได้แค่ชั้นพรหม แต่ไม่สามารถจะไปเลยกว่านั้นได้ เป็นชั้นพรหมก็มีเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในนั้นยาวนานแค่ไหน สุดท้ายก็ต้องหวนกลับมาสู่ภพที่ต่ำกว่า เป็นมนุษย์ หรือว่าอาจจะถึงเดรัจฉานก็ได้ ก็เวียนว่ายตายเกิดแบบนั้นแหละ เพียงแต่ว่าถ้าทำความดีแล้วก็จะทำให้ได้ไปอยู่ในภพภูมิที่เป็นสุคติ ก็คือตั้งแต่มนุษย์ขึ้นไป หรือว่าทำให้จิตได้พัฒนาจนกระทั่งเหมือนกับว่าอยู่ในชั้นพรหม
ต่อเมื่อได้เกิดปัญญาเห็นความจริง ความจริงที่ว่าคือสัจธรรม ถึงจะหลุดพ้นจากวัฏสงสารได้ แต่ถึงแม้ว่าบางคนอาจจะบอกว่าไม่ได้หวังขนาดนั้น ไม่ได้หวังนิพพาน หวังแค่ขอให้มีความสุข ถ้าต้องการความสุขที่เที่ยงแท้ยั่งยืน เป็นความสุขที่เจือด้วยความทุกข์น้อย ก็ต้องหมั่นภาวนา เพื่อให้ใจได้เห็นความจริงด้วย ทำความดีอย่างเดียวไม่พอ ต้องให้ใจเห็นความจริงถึงจะได้มีความสุข แม้จะยังไม่ใช่เป็นความสุขขั้นบรมสุขคือนิพพาน แต่ว่ามันก็ช่วยทำให้อยู่ในโลกนี้ได้อย่างปกติสุข
ทีนี้จะเห็นความจริง เห็นแค่ไหน บางคนก็บอกว่าการเห็นความจริงเป็นเรื่องยาก เพราะว่าต้องเห็นความจริงถึงขั้นปรมัตถ์ ต้องเห็นความจริงว่ามันเป็นไปตามกระแส คือ ปฏิจจสมุปบาท หรือว่าเห็นแจ่มแจ้งในอริยสัจ 4 หลายคนก็อาจจะรู้สึกท้อขึ้นมาว่า เห็นอย่างนี้เป็นเรื่องยาก ปฏิจจสมุปบาท แม้แต่จะอ่านหรือทำความเข้าใจก็ยังเป็นเรื่องยาก อริยสัจ 4 ก็ยังพอไหวพอจะเข้าใจได้ แต่ว่าพอลงไปถึงสมุทัย นิโรธ แล้วนี่ก็รู้สึกว่ายาก หรือว่าจะลดลงมาแค่เห็นความจริงเรื่องรูปนาม เห็นความจริงว่ามันไม่มีตัวเรา มันไม่มีตัวชั้น มันมีแต่รูป กับ นาม มีแต่ กาย กับ ใจ เพียงแค่เห็นอย่างนี้ก็ยากแล้ว ปฏิบัติมาเป็นปีแล้วก็รู้ว่ามันมีแต่รูปกับนาม แต่ว่ามันไม่เห็นเสียที สิ่งที่รู้เป็นแค่รู้จำ แต่ว่าไม่ได้รู้จักหรือว่าประจักษ์แจ้ง แล้วเมื่อไหร่จะรู้จะเห็นถึงขั้นปฏิจจสมุปบาท ชนิดที่เรียกว่า ตัดสังโยชน์ทั้ง 10 ได้ ก็เลยกลายเป็นว่าการเห็นสัจธรรมความจริงเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องเหลือวิสัย
ที่จริงยังไม่ต้องไปเห็นจริงขนาดนั้นก็ได้ เอาแค่เห็นความจริงอย่างที่เราสวดเมื่อสักครู่นี้ ที่ท่านกล่าวไว้ในอภิณหปัจจเวกขณ์ ก็คือเห็นว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดาจะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้ มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาจะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้ มีความตายเป็นธรรมดาจะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้ เราจะพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งหลาย อันนี้คือสัจธรรมที่มันไม่ต้องใช้ปัญญามากในการทำความเข้าใจ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เราก็รู้อยู่ แต่ว่าเราไม่ค่อยได้พิจารณาให้มันแจ่มแจ้ง หรือไม่ค่อยได้เปิดใจรับความจริงอันนี้เท่าไหร่
อภิณหปัจจเวกขณ์ 4 ประการนี้ ไม่ต้องใช้ ไม่ต้องเป็นคนที่มีปัญญาเลอเลิศหรือว่าเป็นคนช่างคิดก็ได้ ไม่ได้อ่านหนังสือธรรมะมามากมันก็เข้าใจได้ว่านี่จริงทีเดียวเลย ความแก่ก็ดี ความเจ็บก็ดี ความตายก็ดี ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจก็ดี พวกนี้ไม่มีใครหลุดพ้น ล่วงพ้นได้ มันเป็นสัจธรรมความจริงที่เห็นแจ่มแจ้งได้ แต่ว่าใจเราไม่ค่อยยอมรับมันเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นถ้าเราพิจารณาหรือเตือนใจอยู่เสมอ มันจะช่วยทำให้ความทุกข์ของเราลดน้อยลง ความทุกข์ที่ว่าหมายถึงทุกข์ใจ ส่วนทุกข์กายก็ยังเกิดขึ้น เพราะว่าความแก่ ความเจ็บ ความตาย และความพลัดพรากก็คือความทุกข์อย่างหนึ่ง ไม่มีใครหนีพ้น เป็นความทุกข์ที่เกิดกับกาย เป็นความทุกข์ที่เกิดกับคนรักของรักของหวง แต่ว่าไม่จำเป็นจะต้องทุกข์ใจก็ได้
ทำอย่างไรถึงจะไม่ทุกข์ใจ คำตอบมีอยู่แล้ว ก็คือการพิจารณาความจริง 4 ประการนี้ ยังไม่ต้องเห็นความจริงถึงขั้นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ได้ บางคนบอกว่า อนิจจังก็พอเข้าใจได้ ทุกขังรู้สึกเข้าใจได้ยากขึ้น พอเรื่องอนัตตานี่ไม่เข้าใจเลยว่าหมายถึงอะไร ไม่เป็นไรยังไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร เอาแค่ว่า อภิณหปัจจเวกขณ์ ซึ่งเป็นความจริงพื้นฐาน เปิดใจยอมรับมันจริงๆ และเวลาที่เหมาะสำหรับการเปิดใจยอมรับ ก็คือตอนที่เราเจอทุกข์กับตัวแล้ว ก็คือว่าตอนที่เราเจ็บ ตอนที่เราป่วย หรือว่าตอนที่กำลังแก่ชรา รวมทั้งตอนที่เกิดความพลัดพรากสูญเสียด้วย
สังเกตไหมเวลาที่ของหาย เงินหาย หรือเวลาของรัก เช่น เพชรนิลจินดา ถูกขโมยไป ใจมันไม่ยอมรับเลย ใจมันไม่ยอมรับว่าความสูญเสียได้เกิดขึ้นแล้ว ใจมันต่อต้าน ใจมันปฏิเสธ ยิ่งตอนที่เจ็บป่วยหรือได้ข่าวว่าเจ็บป่วย เช่น หมอบอกว่า “เป็นมะเร็งนะป้า” “เป็นมะเร็งนะลุง” ใจมันต่อต้านขึ้นมาทันที มันไม่ยอมรับ หลายคนก็พูดเข้ามาในใจว่า “ทำไมต้องเป็นชั้น ชั้นอุตส่าห์ทำความดีมา ทำไมไม่เป็นกับคนอื่น ทำไมต้องเป็นกับชั้น” อันนี้แหละเป็นอาการของจิตที่มันไม่ยอมรับความจริง มันไม่ยอมรับ มันปฏิเสธ แล้วโอกาสอย่างนี้แหละที่เราจะต้องเปิดใจยอมรับความจริงให้ได้ เพราะถ้าจิตไม่ยอมรับความจริง มันไม่ใช่แค่ทุกข์กายอย่างเดียว มันจะทุกข์ใจด้วย จนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ บางทีขี้ไม่ออกด้วย หรือเวลาของหาย ของหายไม่ว่าจะราคาแพงเท่าไหร่ พอใจมันไม่ยอมรับก็กินไม่ได้นอนไม่หลับเหมือนกัน บางทีป่วยเลย จะอายุมากหรือน้อยก็ตาม พอของรักของหวงหายไป เป็นมรกต เป็นทับทิม เป็นทอง เป็นเพชร หรือหนักกว่านั้นคือคนรัก บางทีเขาไม่ได้ตายจากไป เขาเพียงแต่ทิ้งเราไป เช่นสามีทิ้งภรรยา ภรรยาทิ้งสามี หรือว่าแฟนเขาทิ้งไป มันปวดร้าวมาก นอนไม่หลับ ต้องกินยา เกิดอาการเครียด นี่เป็นอาการของการที่ใจปฏิเสธ ใจไม่ยอมรับ แล้วทำไมใจไม่ยอมรับ ก็เพราะว่าไม่เคยได้นึกถึงความจริงข้อนี้เลย
ฉะนั้นคนที่ไม่เคยนึกถึงความจริงทั้ง 4 ข้อ พอเจอเข้ากับตัว มันจะต่อต้าน มันจะปฏิเสธ แล้วพอเราปฏิเสธมันก็จะทุกข์ใจ แทนที่จะเสียแต่ของ แทนที่จะเสียแต่ทรัพย์ ใจก็เสียด้วย ความสุขก็หายไป ชีวิตกลายเป็นสิ่งบูดเน่า ไม่อยากอยู่ วันเวลาแต่ละนาทีที่เคลื่อนไปมันช่างแสนช้าและทิ่มแทงจิตใจ แต่ทันทีที่เรายอมรับความจริงได้ มันปล่อยมันวางเลย พอยอมรับความจริงได้ว่านี่เป็นธรรมดาของมนุษย์ เป็นธรรมดาโลก มันจะวางได้ และจิตใจก็จะไม่ทุกข์ ความทุกข์กายอาจจะยังมีอยู่ แต่ว่าความทุกข์ใจไม่มีแล้ว เพราะฉะนั้นที่เราพิจารณาหรือสาธยายเมื่อสักครู่นี้ อย่าสาธยายแต่ปาก แต่ว่าหมั่นพิจารณาอยู่เสมอ เพื่อว่าพอมีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับเรา เราก็จะได้มีสตินึกถึงมันได้ทัน
และถ้าเราพิจารณาอยู่เสมอจากเรื่องราวข่าวสารที่เราได้ยินได้ฟัง คนนั้นตาย คนนี้ป่วย บางทีก็เป็นเพื่อน บางทีก็เป็นญาติผู้ใหญ่ บางคนก็ไม่รู้จักแต่ว่าเราอ่านจากข่าว ได้ยินจากโทรทัศน์ ก็น้อมเข้ามาใส่ตัว ลองน้อมเข้ามาใส่ตัว สักวันหนึ่งอาจจะเกิดขึ้นกับเรา สักวันหนึ่งอาจจะเกิดขึ้นกับคนที่เรารัก มันจะช่วยทำให้ใจเราค่อยๆยอมรับความจริงอันนี้ได้ แล้วก็เตือนใจเราไม่ให้ประมาท พอเราเตือนใจเราอยู่เสมอหรือเรายอมรับความจริงนี้ได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นแค่ระดับการรู้จำ แต่การพิจารณาสม่ำเสมอ มันทำให้เรามีสติรู้ทันเวลามันเกิดขึ้นกับเราเอง เราก็จะหมดเสียศูนย์ได้สักพัก เราก็จะชาไปสักครู่ หรือว่าเสียสติไปพักหนึ่ง เสร็จแล้วก็มีสติขึ้นมาได้ แล้วพอเรายอมรับมันได้ มันก็จะทำให้เราสามารถที่จะเดินหน้าต่อไปได้ ทำให้เราไม่มีจิตที่เศร้าหมองหดหู่
ข้อที่ 5 ก็สำคัญเหมือนกัน อภิณหปัจจเวกขณ์ข้อที่ 5 เรามีกรรมเป็นของของตน เราจะต้องเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น เรามีกรรมเป็นแดนเกิด เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย นี่ก็เป็นหัวใจอย่างหนึ่งของชาวพุทธ ก็คือว่าอยากได้อะไรหรือว่าอยากเป็นอะไร มันก็ต้องอาศัยกรรมคือการกระทำของเราเป็นที่พึ่ง อยากประสบความสำเร็จในชีวิต อยากสอบได้ อยากหายป่วย หรือว่าอยากมีความสุข ร้องขอไม่ได้ จะพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ไม่ใช่วิสัย แต่ต้องอาศัยพึ่งพาการกระทำของเรา
คำว่า กรรม ก็คือ การกระทำ คนเราทุกวันนี้ไม่ค่อยได้พึ่งกรรมแล้ว เราไปพึ่งอย่างอื่น ไปพึ่งเส้นสายบ้าง พึ่งเงินทอง หรือว่าพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์บ้าง อยากสอบได้แทนที่จะขยันหมั่นเพียรก็อาศัยเส้นสายอาศัยเงินไปซื้อเกรด เดี๋ยวนี้ปริญญาทั้งโท เอก ตรีด้วยซ้ำ จำนวนมากที่ออกมาจากมหาวิทยาลัยต่างๆในเมืองไทยนี้ซื้อเอากันเยอะแยะเต็มไปหมด วิทยานิพนธ์ก็ไม่ได้ทำเอง แต่จ้างคนอื่นทำ หรือแม้แต่ตำแหน่งก็ไม่ได้เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของตน แต่เกิดจากการวิ่งเต้นใช้เส้นสายหรือใช้เงิน อันนี้สร้างค่านิยมที่ทำให้คนไม่พึ่งพาความเพียรของตน แต่ไปพึ่งพาสิ่งอื่นแทน แบบนี้ไม่ใช้วิสัยของชาวพุทธ ชาวพุทธเราต้องพึ่งพาการกระทำซึ่งประกอบไปด้วยความเพียร
พระพุทธเจ้าตรัสว่ามนุษย์ล่วงพ้นได้เพราะความเพียร เราอยากมีความสุขในชีวิตนี้ก็ไม่ควรจะพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือว่าไม่ควรหวังบุญอย่างเดียว เดี๋ยวนี้หวังบุญกันมาก จะทำบุญก็หวังว่าจะร่ำรวย จะหายป่วย จะไม่มีทุกข์ จะปลอดจากอันตราย จะมีแต่ความสุขความเจริญ อันนี้เป็นความหวังที่ค่อนข้างจะลมๆแล้งๆ เพราะว่าให้ร่ำรวยอาจจะเป็นไปได้ แต่ว่าถ้าไม่ได้ทำความเพียรมันก็เป็นความร่ำรวยชั่วครู่ชั่วยาม หรือว่าหวังความสุข แต่ว่าไม่รู้จักฝึกใจให้เห็นความจริง รวยแค่ไหนประสบความสำเร็จเพียงใดมันก็ยังทุกข์ใจอยู่
เพราะฉะนั้นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตมีหน้ามีตามีตำแหน่ง ที่เป็นโรคเครียดจนความดันขึ้น หรือว่าต้องกินยานอนหลับ หรือต้องกินยาคลายเครียดก็เยอะนะ เพราะอะไรเพราะว่าเขาไม่คิดที่จะฝึกใจเปิดใจให้เห็นความจริงจนกระทั่งรู้จักปล่อยวางได้ หรือมองว่าความทุกข์ความผันผวนปรวนแปรในชีวิตนี้ก็เป็นธรรมดาโลก ดังนั้นถ้าเราพึ่งความเพียรของเรา โดยเฉพาะไม่เพียงแต่ทำมาหากินประกอบสัมมาอาชีวะ แต่ว่ามาปฏิบัติธรรม มาเจริญภาวนายอมลำบากยอมเสียเวลาอย่างที่พวกเราทำอยู่นี้ และไม่ย่อหย่อนต่อความยากลำบาก รู้จักอดทนรอคอยได้ ก็จะทำให้เราสามารถที่จะเข้าถึงจุดหมาย โดยเฉพาะถ้าเราปฏิบัติอย่างถูกต้อง ก็จะไม่เพียงแค่สงบชั่วครั้งชั่วคราว แต่ว่าจะเกิดปัญญาที่ช่วยพาจิตออกจากความทุกข์ได้
ดังนั้นการเจริญสติปัฏฐานนี้มันเป็นการกระทำที่เรียกว่า กรรม เหมือนกัน เป็นกรรมดี ถ้าเราอยากได้ความสุขก็ต้องประกอบกรรมดีด้วยตัวเอง และเมื่อเราทำกรรมดีแล้วเราย่อมได้รับผลของกรรมนั้น เราจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น รับผลของกรรมนั้นไม่ได้แปลว่ารับแต่วิบาก เดี๋ยวนี้คนไปเข้าใจว่า เราเกิดมาเพื่อใช้กรรมหรือรับผลของกรรมที่ทำไว้ชาติที่แล้ว อันนี้เป็นความเข้าใจที่ยังคลาดเคลื่อนมาก แล้วก็ยิ่งไปคิดว่าเราต้องรับผลของกรรมที่เป็นกรรมเลวในชาติที่แล้ว อันนี้ยิ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนใหญ่ เราไม่ได้เกิดมาเพื่อใช้กรรมเท่านั้น แต่เราเกิดมาเพื่อสร้างกรรมด้วยและถ้าเราสร้างกรรมดีเราก็จะได้รับผลแห่งกรรมดีนั้น
คำว่าเราจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น รวมถึงรับผลของกรรมดีด้วยและไม่ใช่กรรมดีของชาติที่แล้ว แต่หมายถึงกรรมดีที่ทำในชาตินี้ในวันนี้ แต่ว่ากรรมบางอย่างแม้ว่าเป็นกรรมดีแต่ไม่ใช่ว่ามันจะให้ผลเร็วมันอาจจะให้ผลช้า เหมือนกับปลูกต้นไม้ เราเอาต้นไม้ลงดินวันนี้ไม่ว่าจะเป็น มะม่วง ทุเรียน ไม่ใช่ว่าเราจะได้กินมะม่วง ได้กินทุเรียน พรุ่งนี้หรือว่าอาทิตย์หน้าหรือว่าเดือนหน้าอาจจะ 4-5 ปีหรือ 10 ปี ถ้าหากว่าต้นไม้ยังไม่ออกดอกออกผล ก็อย่าเพิ่งบ่นอย่าพึ่งท้อแท้ว่าทำไมปลูกแล้วไม่ได้ผล ต้นไม้มันโตก็เห็นอยู่ เพียงแต่ว่ามันยังไม่ออกดอกออกผลเพราะมันยังไม่ถึงเวลา แต่ถ้าเราดูแลเอาใจใส่ดีมันต้องออกแน่นอน เราต้องมั่นใจว่าสิ่งที่เราทำมันต้องออกผล ชาวสวนทุกคนชาวไร่ทุกคนเขามั่นใจว่าต้นไม้ที่ลงไป ถ้าดูแลมันดีๆ เหตุปัจจัยอำนวย เช่น มีฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ไม่นานหรืออาจจะนานก็ได้ แต่ยังไงมันต้องเกิดผลแน่
การปฎิบัติธรรม การเจริญสติอย่างที่พวกเราทำ เราก็ต้องมีความเชื่อมั่นแบบนี้ด้วย ว่าสิ่งที่เราทำถ้าเราทำถูกวิธีมันย่อมเกิดผล ความเชื่อมั่นเช่นนี้เราเรียกว่าศรัทธา เราต้องศรัทธา มีศรัทธาในกฎแห่งกรรม กฎแห่งกรรมในที่นี้หมายถึงว่าทำดีย่อมได้ดี เมื่อเจริญสติย่อมมีสติเป็นผลอย่างแน่นอน แต่ว่าสติที่เกิดขึ้นเขาเกิดขึ้นทีละนิดทีละหน่อย หนึ่งวันผ่านไปอาจจะมองไม่เห็นเหมือนกับต้นไม้หนึ่งวันเราไม่เห็นความเติบโตหรอกแต่ที่จริงมันเติบโตทุกขณะ ใครบอกว่าต้นไม้ไม่โตนี่เราคงเถียง เพียงแต่ว่าเราไม่เห็นมันโตเพราะมันค่อยๆโตค่อยๆโตหนึ่งวันนี้ยังมองไม่เห็นหรอก แต่ถ้าเราเอากล้องมาถ่ายบันทึกภาพการเติบโตของต้นกล้านี้เราจะเห็นเลยว่ามันโตทุกขณะ ยิ่งถ้าเป็นไผ่ด้วยแล้วนี้ เห็นความเติบโตของมันทุกชั่วโมง
แต่ต้นไม้บางอย่างโดยเฉพาะต้นไม้ที่มีค่ามันจะเติบโตช้า แต่มันเติบโตทุกขณะ การปฏิบัติธรรมของเราก็เช่นเดียวกัน เมื่อเราเจริญสติ สติมันก็เกิดขึ้นมาทีละนิดทีละหน่อย ไม่ใช่ไม่มีแต่ว่าอาจจะเห็นได้ไม่ชัดเจน ถ้าเราไปจ้องมองเราก็อาจจะรู้สึกว่ามันไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย คนที่จ้องมองคอยดูผลบ่อยๆนี่ระวังว่าจะทุกข์
เหมือนกับคนที่ปลูกต้นไม้ ปลูกมะม่วง ปลูกพะยูง แล้วก็คอยจ้องดูมันทุกวันเลย เพราะฉะนั้นคนที่จ้องมองแบบนี้นี่ทุกข์ เพราะจะรู้สึกว่ามันไม่โตสักที หรือว่าโตไม่ทันใจ หรือบางทีคิดว่ามันไม่โตเลย ที่จริงมันโตมันงอกทุกขณะ ถ้าเราไม่จ้องมองมัน ปล่อยเวลาผ่านไปสักอาทิตย์หนึ่งหรือ 1เดือนก็จะเห็นเลยว่ามันเติบโตจริงๆ นักปฏิบัติธรรมถ้าเอาแต่จ้องดูว่าสติเราโตไปถึงไหนแล้วจะทุกข์มาก บางทีไม่ต่างกับคนที่จ้องดูเข็มชั่วโมง เข็มชั่วโมงนี่ถามว่ามันเคลื่อนไหม มันเคลื่อน แต่ดูเผินๆเหมือนมันไม่ขยับเลย แต่เราลองหลับตาดูซัก 10 นาที 20 นาทีก็จะเห็นเลยว่ามันเคลื่อนเยอะมากทีเดียว แต่ถ้าเราไปจ้องมองมันเราจะรู้สึกว่ามันไม่เคลื่อน และรู้สึกว่าเวลามันผ่านไปช้าเหลือเกินเกิดความทุกข์ขึ้นมาอีก ฉะนั้นนักปฏิบัติธรรมให้มั่นใจว่าการปฏิบัติของเราถ้าเราทำถูก ผลย่อมเกิดขึ้นแน่นอน ต้องมีศรัทธาต้องมีความเชื่อมั่น แต่ต้องระลึกว่ามันเกิดขึ้นทีละนิดทีละหน่อย อย่างช้าๆ เราต้องรู้จักคอย
มีอาจารย์ชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง ชื่อว่าอาจารย์อิชิอิ มีชื่อมากในหมู่นักประวัติศาสตร์ไทยเพราะว่าท่านมีผลงานด้านประวัติศาสตร์ไทย อาจารย์อิชิอิไม่ได้ จบปริญญาที่ไหนเลย ปริญญาตรี มาเมืองไทยตั้งแต่อายุ 20เศษๆ เป็นคนฉลาดมากแล้วก็ความสามารถพิเศษ เรียกว่าความสามารถพิเศษก็ไม่ได้ เรียกว่าคุณสมบัติที่ไม่เหมือนใคร ก็คือ เป็นคนที่มีความรู้ด้านภาษามาก ทั้งภาษาญี่ปุ่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาอิตาลี ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน รวมทั้งภาษาโบราณ เช่น บาลี สันสกฤต เทวนาครี ก็มีคนพูดกับอาจารย์อิชิอิว่าท่านเป็นอัจฉริยะด้านภาษา อาจารย์อิชิอิก็ปฏิเสธว่าไม่ใช่เลย ผมก็เหมือนคนทั่วไป คนก็ถามว่าท่านมีหลักยังไงในการเรียนภาษา ท่านบอกว่า การเรียนภาษาต่างประเทศมันไม่ต่างกับการตักน้ำให้เต็มด้วยกระชอน พวกเรารู้จักกระชอนไหม กระชอนที่ทำด้วยผ้า ที่เค้าเอาไว้จับลูกน้ำ เติมน้ำให้เต็ม ตักน้ำให้เต็มด้วยกระชอน ลองคิดดูสิว่ากว่ามันจะเต็มแก้ว มันต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ อาจารย์อิชิอิบอกว่าการเรียนภาษาต่างประเทศเป็นแบบนั้นเลย ก็คือต้องหัดเปิดดิกชั่นนารีหรือพจนานุกรมบ่อยๆ คำๆหนึ่งนี่จำยังไงมันก็ลืม ต้องเปิดพจนานุกรมบ่อยๆ อาจจะร้อยครั้งหรือว่าหลายร้อยครั้ง ถึงจะจำศัพท์เพียงคำหนึ่งได้ ในภาษาหนึ่งนี่มีกี่คำที่ต้องจำถึงจะรู้ได้ ถึงจะเข้าใจ อย่างต่ำก็ 3000 คำ 5000 คำก็ต้องเปิดพจนานุกรมแล้ว เรียกว่าไม่ใช่หมื่นๆแต่เป็นแสนๆครั้ง กว่าจะจำศัพท์ได้ถึง 3000 คำ 5000 คำ
การเจริญสติก็ไม่ต่างจากการเรียนภาษา ที่จริงการที่เราจะจำภาษาต่างประเทศเราก็ต้องใช้สติ สตินี่เป็นเครื่องมือที่ช่วยในเรื่องการจำ เราจะจำศัพท์ได้จำภาษาต่างประเทศได้เราต้องใช้สติ แต่ว่าเป็นสติที่เกี่ยวกับเรื่องนอกตัว สติที่เรากำลังฝึกนี้ เป็นสติที่เกี่ยวกับเรื่องการรู้กายรู้ใจไม่ลืมกายไม่ลืมใจ สติแปลว่าไม่ลืม จำได้ อย่างเราพอทำวัตรเสร็จเราจำได้ว่ากุฏิเราหรือว่าเต็นท์เราอยู่ตรงไหน การจำได้นี่แหละคือสติ เป็นการฝึกสติ แต่ว่าสติที่เราฝึกนี้เป็นสติอีกแบบหนึ่งคือสัมมาสติ คือ สติที่ช่วยให้รู้กายรู้ใจไม่ลืมกายไม่ลืมใจ แต่ว่าก็ต้องอาศัยวิธีการเดียวกันคือการทำบ่อยๆ ทำซ้ำๆ จะเรียนภาษาต่างประเทศได้ก็ต้องนึกบ่อยๆนึกซ้ำๆเปิดพจนานุกรมบ่อยๆเปิดพจนานุกรมซ้ำๆใช้ซ้ำๆ
เจริญสติปัฏฐานก็เหมือนกัน ต้องทำซ้ำๆแล้วมันก็ให้ผลช้า ไม่ต่างจากการเติมน้ำให้เต็มด้วยกระชอนเหมือนกัน ถามว่าตักน้ำด้วยกระชอนใส่แก้วแต่ละครั้งๆมันมีน้ำติดมาไหม ก็มีน้ำติดแต่มันทีละหยดสองหยด แต่มันไม่เคยไม่มีน้ำติดเลย ตักแต่ละครั้งได้ผลทั้งนั้น ตักแต่ละครั้งมีผลเกิดขึ้นทั้งนั้น แต่ว่ามันมีผลเกิดขึ้นทีละนิดทีละหน่อย เราต้องอดทนเราต้องรู้จักรอคอยไม่เร่งรีบแล้วผลมันก็จะเกิดขึ้นในที่สุด อันนี้คือคุณสมบัติของนักปฏิบัติธรรม คุณสมบัติของผู้ที่ต้องการฝึกฝนจิตใจให้เห็นสัจธรรม การที่เห็นความจริงมันก็ต้องสัมผัสกับความจริงอยู่บ่อยๆอยู่บ่อยๆ จนกระทั่งจิตนี้มันยอมรับ มันยอมแพ้ มันไม่ต่อต้านเปิดใจรับความจริง และเมื่อเราเห็นความจริงไม่ใช่แค่รู้จำ เวลาแก่ เวลาเจ็บ เวลาป่วย พลัดพรากสูญเสีย เราก็จะเห็นว่ามันเป็นธรรมดาและตรงนี้ก็ช่วยให้เราเกิดความปกติสุขได้ ยังไม่ทันได้เห็นไตรลักษณ์เลย ยังไม่ถึงกับเห็นรูปนาม ยังไม่ถึงกับเห็นปฏิจจสมุปบาท แต่มันก็ช่วยได้เยอะแล้ว ได้เห็นอย่างนี้แหละก็จะเป็นพื้นฐานไปช่วยทำให้ได้เห็นความจริงเรื่องรูปนาม เห็นความจริงเรื่องไตรลักษณ์ อริยสัจ 4 หรือว่าปฏิจจสมุปบาทได้
แต่ก็อย่าคาดหวังจะเห็นสิ่งยากๆ ตราบใดที่สิ่งง่ายๆพื้นๆ เช่น ความแก่ ความเจ็บ ความพลัดพรากสูญเสีย ความตาย เรายังไม่ยอมพิจารณาไม่ยอมเปิดใจ ต่อเมื่อเราเปิดใจยอมรับ 4 ประการนี้ รวมทั้งพยายามพึ่งความเพียรของตัว ถือเอากรรมคือการกระทำของตนเป็นที่พึ่ง แล้วก็เชื่อมั่นว่าถ้าทำกรรมดีแล้วผลดีย่อมเกิดขึ้นกับเราอย่างแน่นอน อาจจะช้าแต่ว่าเกิดขึ้นแน่นอน เพราะว่ากรรมทุกอย่างย่อมไม่ไร้ค่าย่อมเกิดผล เพราะว่าเราทุกคนนั้นเป็นผู้รับผลของกรรมที่ได้กระทำ กรรมของคนอื่นก็ไม่สำคัญเท่ากับกรรมที่เราได้กระทำ ถ้าได้กระทำแล้วผลแห่งกรรมนั้นย่อมเกิดขึ้นกับเราอย่างแน่นอน ขอให้เป็นกรรมดีก็ตาม