แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีคำแนะนำอันหนึ่งที่อาตมาได้ยินบ่อย เวลาหลวงพ่อคำเขียนท่านสอนนักปฏิบัติธรรม คำแนะนำที่ว่านี้ก็คือให้รู้จักฉวยโอกาส ฉวยโอกาสในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการหาช่องทางเอารัดเอาเปรียบใคร แต่หมายถึงฉวยโอกาสในการเจริญสติ ใช้ทุกเวลาทุกกิจกรรมทุกอิริยาบถในการเจริญสติ แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในรูปแบบหรือเดินจงกรมสร้างจังหวะ อิริยาบถน้อยใหญ่ หรือว่ากิจวัตรทั้งหลายทั้งปวง เราก็ฉวยโอกาสนั้นในการปฏิบัติ โดยเฉพาะการเจริญสติ ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ทำได้ตลอดเวลา
ตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมา เราล้างหน้า เราถูฟัน เช็ดตัว ล้างมือ อาบน้ำ ทำครัว หั่นผัก กินข้าว หรือแม้แต่เวลาเข้าห้องน้ำ ไม่ว่าถ่ายหนักถ่ายเบา เราก็เจริญสติได้ อาจจะคลึงนิ้วไปด้วย ตามลมหายใจไปด้วย หรือเวลาเรากระพริบตา กลืนน้ำลาย อันนี้ก็เป็นช่วงเวลาที่เราสามารถเจริญสติได้ทั้งนั้น ก็คือ รู้กายรู้ใจ แม้แต่การพูดคุยสนทนากัน การเคลื่อนไหวกายอาจจะไม่ชัดนักแต่ว่าเราก็ดูใจได้ ว่าอารมณ์ความรู้สึกในขณะที่สนทนาเป็นอย่างไร เราลืมตัวลืมใจไปกับเรื่องราวที่สนทนากันรึป่าว หรือว่าใจเราไปอยู่ที่อื่น หูได้ยินเสียงแต่ว่าใจไม่รู้ไปไหน บางทีหูก็ดับไปเลยก็มีเพราะว่าใจไปจดจ่ออยู่กับสิ่งอื่นแทน รู้ตัวรู้ว่าใจเผลอไปก็ดึงจิตกลับมา รับรู้ถ้อยคำที่เขากำลังพูดคุยกับเรา เรื่องราวบางอย่างฟังแล้วเราก็ดีใจก็เห็นความดีใจนั้น เรื่องราวบางอย่างได้ยินแล้วก็เสียใจน้อยใจ หรือว่าโกรธเราก็ให้รู้ทัน อันนี้แหละมันเป็นการฉวยโอกาสที่นักปฏิบัติธรรมต้องฉลาดไม่ว่าจะอยู่ในเวลาใด
เราคอยเพื่อนนัดเพื่อนเอาไว้เพื่อนยังไม่มา ถ้าไม่ฉลาดไม่รู้จักฉวยโอกาสก็จะกลายเป็นการว่าเปิดช่องให้ความโกรธ ความหงุดหงิดมันมาครอบงำใจ รังคราญเล่นงานจิตใจของเรา แต่ในระหว่างที่เราคอยเพื่อนเราก็ฉวยโอกาสในการเจริญสติ คลึงนิ้วเบาๆ พลิกมือไปมา อาจจะไม่ต้องถึงกับสร้างจังหวะก็ได้ เพราะว่าคนอาจจะเยอะแยะเดี๋ยวจะไม่รู้ว่าเราทำอะไร อยู่ในเมืองเราคอยรถเมล์ระหว่างที่คอยอยู่นั้นก็ฉวยโอกาสซะเลย ฉวยโอกาสเจริญสติ อันนี้กลายเป็นได้กำไร ถ้าไม่ฉวยโอกาสขาดทุน กิเลสหรือว่าความทุกข์มันจะฉวยโอกาสเล่นงานเรา เราจะฉวยโอกาสทุกโอกาสในการเจริญสติ สร้างกุศลให้กับจิตใจ หรือจะปล่อยให้กิเลสและความทุกข์ฉวยโอกาสเล่นงานเรา มี 2 ทางเลือกเท่านั้นแหละ ถ้าเราไม่ฉวยโอกาสเจริญสติหรือว่าสร้างกุศลในใจ กิเลส ความทุกข์และก็มารจะฉวยโอกาสเล่นงานรังครานจิตใจของเรา
อยู่ในกรุงเทพฯรถติด ติดไฟแดงแทนที่จะหงุดหงิด แทนที่จะกระสับกระส่าย เพราะว่าใจคิดถึงแต่ว่าเมื่อไหร่ไฟจะเปลี่ยนเป็นไฟเขียว หรือว่ากังวลว่าจะไปไม่ถึงเป้าหมาย ถ้าคิดแบบนี้ขาดทุน รถติดก็มีเวลา มีเวลาเจริญสติไม่ว่าจะเป็นคนขับหรือว่าเป็นคนนั่งก็ตาม ไฟแดงก็เตือนใจเราว่าให้หยุดฟุ้งซ่านได้แล้ว ถ้ามองไฟแดงไม่เป็นมันก็เกิดความหงุดหงิด เพราะไฟแดงหมายถึงการที่ต้องรอ หมายถึงการที่ถึงที่หมายช้าลง แต่ถ้ามองว่าไฟแดงก็หมายถึงการเตือนใจให้หยุด หยุดฟุ้งซ่าน ก็ทำให้เราได้โอกาสในการเจริญสติมากขึ้น ฉวยโอกาสในทุกเวลา ฉวยโอกาสในทุกอิริยาบถ
รวมทั้งไม่ว่าจะอยู่ในเหตุการณ์ใดต้องฉวยโอกาสให้เป็น มีอะไรมากระทบกับเราว่าจะเป็นสิ่งที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ ที่เรียกว่า อิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่น่าพอใจทำให้ใจเราฟู เราก็มีสติเห็นใจที่มันฟูขึ้นมา ไม่หลงเพลิน เวลามีหรือเจอรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่ไม่น่าพอใจที่ทำให้ใจแฟบหรือว่าเป็นลบขึ้นมาก็ให้มีสติรู้ทัน อย่างนี้ก็ได้กำไร อย่างเช่นเวลาแมลงมันมากวน บินว่อน หรือว่ายุงกัดรู้สึกเจ็บขึ้นมา คัน อันนั้นเป็นโอกาสดีที่เราต้องรีบฉวยให้มาดูเวทนาที่เกิดขึ้น คือความทุกข์ คือความคัน ความปวด รวมทั้งเห็นใจที่มันเป็นลบ เช่น บ่น โวยวาย ตีโพยตีพาย หรือว่าโกรธ โกรธยุง โกรธแมลง อยากจะตบ อยากจะบี้มัน หรือแม้แต่จะปัดมันไปไกลๆ ถ้าเรามีสติรู้ทันใจ รู้ทันอารมณ์ รู้ทันความคิด นี่ก็เท่ากับเราได้กำไรแล้ว แม้ว่าจะปวด แม้ว่าจะคัน อันนั้นเป็นเรื่องกาย แต่ว่าใจเราได้ฝึกสติมากขึ้น
รวมทั้งเวลามีคนชม หรือว่าคนต่อว่า แต่สังเกตไหมว่าเวลามีคนชมใจเราเป็นอย่างไร ใจเราก็ยินดีเพลิดเพลิน แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้รู้ทันใจของตัวเองเท่าไหร่ ปล่อยให้ความอยากครอบงำ ก็คือว่าอยากฟังอีก ในทางตรงข้ามเวลาเขาต่อว่า หรือว่าวิจารณ์เรา รู้สึกว่าเจ็บปวด รู้สึกว่าเป็นทุกข์ แล้วก็อยากจะตอบโต้ อยากจะตอบโต้ด้วยคำพูดที่เจ็บแสบ หรือว่าฝากคำต่อว่าไปให้เขา คนที่คุยคนที่บอกเราให้ไปให้ ไปฝากให้คนที่เขาพูดถึงเรา ใจมันไปจดจ่ออยู่ตรงนั้นก็เลยไม่มีสติเห็นใจตัวเอง อย่างนี้ขาดทุน เพราะว่าถูกความทุกข์ความโกรธมันเผารนจิตใจ ที่จริงถ้าเป็นคนที่ฉลาด ก็จะฉวยโอกาสไม่เพียงแต่ดูจิตดูใจของตัว เวลาได้รับคำชมหรือว่าถูกตำหนิ แต่ว่ายังสามารถจะเป็นตัวเร่งกระตุ้นให้ทำความดี เวลามีคนตำหนิเรานอกจากเราจะไม่ทุกข์ เพราะคำตำหนิเนื่องจากมีสติรู้ทันแล้ว ก็ยังได้ถือเป็นข้อที่พินิจพิจารณาเพื่อการปรับปรุงแก้ไขตนเอง หรือว่าทำความดีให้มากขึ้น
พระพุทธเจ้าเคยตรัสกับพระนันทิยะ พระนันทิยะนี่ตอนหลัง ภายหลังก็ได้เป็นพระอรหันต์ ตอนนั้นท่านยังเป็นปุถุชนอยู่ พระพุทธเจ้าก็ตรัสกับพระนันทิยะ ที่จริงก็สั่งสอนทั่วไป และพระนันทิยะก็อยู่ในเหตุการณ์ ท่านก็นำมาเล่าให้พระองคุลีมาล ซึ่งตอนนั้นยังเป็นปุถุชนอยู่ เพิ่งบวชใหม่ๆ ก็เล่าให้พระองคุลีมาลฟังว่า พระพุทธเจ้านี้สอนอะไร พระพุทธเจ้าก็สอนว่า เมื่อมีคนตำหนิต่อว่า ก็ให้ถือโอกาสในการเร่งทำความดี เขาต่อว่าเขาวิจารณ์ว่าเราไม่ดีอย่างโน้นไม่ดีอย่างนี้ ก็ให้เร่งทำความดี เร่งปรับปรุงแก้ไขตัวเอง และถ้าเกิดว่าเขาชมเราก็ให้ถือโอกาสที่จะทำความดีให้เพิ่มพูนมากขึ้น คือไม่ว่าเจอลบหรือบวก ก็รู้จักใช้ประโยชน์จากมันในการที่ทำความดี สร้างกุศลให้เพิ่มพูนมากขึ้น ที่ไม่ดีก็แก้ไขให้เป็นดีซะ หรือที่ดีอยู่แล้วก็ทำให้ดีมากขึ้น อันนี้ก็เรียกว่าเป็นผู้ที่รู้จักหาประโยชน์จากสิ่งต่างๆทั้งบวกและลบ พระองค์ตรัสว่า ผู้ใดที่รู้จักถือประโยชน์จากอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิต
อิฏฐารมณ์ ก็คือ อารมณ์ที่น่าพอใจ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่น่าพอใจ เรียกว่า อิฏฐารมณ์ หรือบางทีเราก็เรียกง่ายๆ ว่า ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ ก็คือโลกธรรม4 ฝ่ายบวก
อนิฏฐารมณ์ ก็คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่ไม่น่าพอใจ ที่บีบคั้นทำให้เกิดทุกขเวทนา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา และก็ทุกข์
คนส่วนใหญ่เวลาเจอสุขก็ไม่รู้จักใช้ประโยชน์จากมัน ก็คือว่าเพลิดเพลินกับความสุขแล้วก็เลยไม่เป็นอันทำอะไร พอสบายแล้วก็เลยนั่งเล่น นอนเล่น หรือว่าประมาท อันนี้เป็นโทษ แต่ถ้าเกิดว่ามีความสุขแล้วก็ใช้โอกาสนั้นทำความดี เช่น พอสบายแล้วก็มาเจริญสติ ทำให้เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายและจิตใจปลอดโปร่ง สุขกับสมาธินี่มันควรจะมาด้วยกัน คือพอสุขแล้วก็ทำให้จิตใจอยากจะบำเพ็ญสมาธิ สมาธิในที่นี้ก็คือภาวนา แต่คนส่วนใหญ่พอสุขแล้วก็อยากจะนั่งเล่นนอนเล่นไม่ทำอะไร หรือว่าพอมีสุขภาพดีอย่างคนหนุ่มคนสาว มีร่างกายแข็งแรงก็ใช้ร่างกายนั้นในการไปแสวงหาความสุขความเพลิดเพลิน แทนที่จะมาปฏิบัติธรรมหรือเข้าวัด เขาก็บอกว่าเอาไว้แก่ก่อน แก่แล้วค่อยเข้าวัด ในขณะที่ฉันยังหนุ่มยังสาว ฉันขอสนุกสนานเพลิดเพลิน อันนี้เรียกว่าประมาท ไม่รู้จักใช้ประโยชน์จากความเป็นหนุ่มสาวให้เกิดประโยชน์ แต่ใช้ไปในทางที่เป็นโทษ เพราะว่าความเพลิดเพลินในสุขในวัยที่ยังมีพลานามัย
และในทางตรงกันข้ามเมื่อเจออนิฏฐารมณ์ เจอสิ่งที่มากระทบที่ทำให้ไม่สบายก็รู้จักใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้น เริ่มต้นตั้งแต่มีสติ มีสติเห็นทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น เห็นทุกข์แต่ไม่เป็นผู้ทุกข์ แค่เพียงเรามั่นดูจิตเราก็จะเห็นพวกนี้ไม่ยาก เห็นทุกข์แต่ไม่เป็นผู้ทุกข์ และก็ไม่ใช่แค่นั้น ยังสามารถใช้ประโยชน์จากความทุกข์ได้ด้วย เช่น เขาว่าเรา เขาตำหนิเรา ก็เห็นความโกรธที่เกิดขึ้น พอไม่โกรธแล้วก็เอาสิ่งที่เขาพูดมาพิจารณาว่ามันจริงมั้ย ที่จริงก็เอามาแก้ไขทำให้มันดีมากขึ้น เปลี่ยนความบกพร่องให้เป็นความสมบูรณ์ เปลี่ยนความผิดพลาดให้กลายเป็นความถูกต้อง
ที่จริงในตอนที่เกิดความโกรธนี้ก็ถ้าไม่เพียงแต่รู้ทันความโกรธได้เท่านั้น แต่ยังสามารถจะเห็นต่อไปว่าความโกรธมันแสดงว่าเรายังมีทิฐิมานะอยู่ ทำไมถึงโกรธก็เพราะยังมีความสำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นคนดี ฉันเป็นคนเก่ง ฉันเป็นคนฉลาด ฉันเป็นคนสวย ฉันเป็นคนเสียสละ ฉันเป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ พอเขาพูดหรือเขาตำหนิเราในทางตรงข้ามมันโกรธขึ้นมาเลย คือถ้าไม่สำคัญตนมั่นหมายว่าฉันเก่ง ใครก็ว่าอะไรเรา เราก็ไม่ได้โกรธอะไร ถ้าไม่สำคัญตนว่าฉันเป็นคนดี ฉันเป็นคนเสียสละ ใครเขาว่าอะไรเรา เราก็ไม่โกรธ ความถือตัวแบบนี้แหละเรียกว่า มานะ คนมีมานะมันชอบชูธง ชูธงให้โดดเด่น ให้เห็น
อย่างในบทที่เราสวดพุทธคุณ 100 ประการ ก็มีประการหนึ่งที่พระพุทธเจ้าท่านผู้บรรลุแล้วคือความเป็นผู้ที่ไม่มีมานะ ท่านเปรียบเหมือนกับว่าลดธงลง คนเรานี่มักจะชูธงเสมอ คือชูอัตตา ตอนที่ชูอัตตานี่ไม่รู้ตัว มารู้ตัวตอนที่เขาว่าเรา เขาว่าเราเช่นว่า เราชูธงหรือเราสำคัญมั่นหมายว่าเราเก่ง พอมีคนมาตำหนิว่าเราทำไม่ถูกอย่างโน้นทำไม่ดีอย่างนั้นนี่มันโกรธขึ้นมาเลย หรือพอเราที่เป็นคนที่มีความเสียสละเอื้อเฟื้อ พอมีคนพูดถึงเราว่า เราเห็นแก่ตัวคิดถึงแต่ตัวเองนี่มันโกรธขึ้นมาเลย เพราะว่ามันเป็นการกระทบกับอัตตาของเรา ที่เรายึดมั่นถือมั่น บางทีไม่เห็น ไม่เห็นตัวมานะ ไม่เห็นอัตตาตัวนี้ มาเห็นก็ตอนที่โกรธ ถ้าเราพิจารณาว่าทำไมถึงโกรธก็จะเห็นเลยว่า เพราะตัวนี้แหละตัวทิฐิมานะ มานะคือความถือตัวว่าดีอย่างโน้นเก่งอย่างนี้ ส่วนทิฐินั้นคือการถือมั่นในความคิดความเห็น
เวลามีความคิดเรื่องใดนี่เราก็จะหวงแหนและก็เชื่อมั่นว่ามันถูกมันดี พอมีคนมาวิจารณ์ความคิดนี้ว่ามันยังบกพร่องอยู่ ไม่เข้าท่า ก็โกรธขึ้นมาได้เหมือนกัน หรือว่าเจอคนที่คิดไม่เหมือนเราก็โกรธแล้ว บางคนที่เขายังไม่ทันที่จะวิจารณ์ความคิดของเรา ความคิดนี้อาจจะเป็นศาสนา อุดมการณ์ทางการเมืองก็ได้ หรือความคิดเกี่ยวกับเรื่องวัดวาอาราม การปฏิบัติ เห็นคนอื่นเขาปฏิบัติคนละทางกับเรา ก็เริ่มจะขุ่นข้องหมองใจแล้ว ไม่พอใจ เห็นคนที่เขาปฏิบัติคนละสายกับเรา เราเริ่มชักจะรู้สึกไม่ดีกับเขาแล้ว อันนี้มันเกิดจากทิฐิ มันมากระทบกับทิฐิที่เรายึดถือก็ทำให้โกรธ ทำให้ไม่พอใจ เจอแบบนี้ก็ดีเหมือนกัน ถ้าเรารู้จักฉวยโอกาสรู้จักหาประโยชน์ก็จะทำให้เราได้เห็นกิเลสของตัวเอง
เวลาที่เราจะเห็นกิเลสได้ดีก็คือตอนที่เจอความทุกข์ตอนที่เกิดอารมณ์ จะเป็นความโกรธ ความไม่พอใจ ความหงุดหงิด ความเสียใจ ความน้อยเนื้อต่ำใจ หรือความอิจฉาพยาบาท อารมณ์พวกนี้มันเป็นตัวที่สะท้อนกิเลสได้ดีมาก ตอนที่ดีใจตอนที่มีความสุขอาจจะเห็นกิเลสไม่ชัด แต่พอตอนโกรธขึ้นมาหรือเครียดขึ้นมา ดูให้ดีอันนั้นกิเลสทั้งนั้นเลย เพราะถ้าไม่มีกิเลสไม่มีความทุกข์ ถ้าเรารู้จักฉวยโอกาส หรือว่ารู้จักหาประโยชน์เราก็จะเห็นกิเลส และเราก็รู้ว่า อ้อนี่แหละคือตัวการที่เราต้องจัดการแก้ไขปรับปรุง ความยึดมั่นว่าเป็นคนดี พอเห็นมันเราก็ต้องพยายามลดความยึดมั่นตรงนี้ เร่งทำความดีโดยที่ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นคนดี
ทำดีสำคัญกว่าเป็นคนดี เป็นคนดีมันก็อาจจะทำให้เกิดความยึดมั่นถือมันว่า นี่ฉันดีฉันประเสริฐกว่าคนอื่น เกิดความหลงตัวลืมตนอีกแบบหนึ่ง มันจะเกิดอาการยกตนข่มท่านได้ง่าย แต่ถ้าเกิดว่าเราขยันทำความดีโดยที่ไม่ไปสนใจว่าจะเป็นคนดีอันนี้ดีกว่า ทำความดีโดยที่ไม่เป็นคนดี หรือไม่สำคัญมั่นหมายว่าเป็นคนดี ความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นคนดีก็ยังเป็นมานะตัวหนึ่ง ก็ยังนำไปสู่การเกิดภพเกิดชาติ แต่เราก็ยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญมั่นหมายตรงนี้ จนกว่าจะมีคนมาว่าเรา ว่าเราไม่ดี ว่าเราเห็นแก่ตัวทำเพื่อตัวเอง หรือมาพูดว่าเราไม่ใช่นักปฏิบัติธรรม หรือพูดว่าปฏิบัติธรรมแล้วทำไมถึงเป็นแบบนี้
นักปฏิบัติธรรมไม่มีคำพูดไหนที่จะรุนแรงเท่ากับมาว่าว่าเราไม่ปฏิบัติ หรือว่าปฏิบัติแล้วทำไมยังโกรธอยู่ แค่นี้นี่ก็ยังฉุนแล้วไม่ต้องจ้วงจาบถึงพ่อถึงแม่ เพียงแค่พูดเท่านี้ก็โมโหแล้วนั่นแหละตัวมานะล่ะ ต้องฉลาดในการที่จะมองให้เห็น พอเห็นกิเลสตัวนี้แล้ว เราก็จะได้รู้ว่าตัวเรานี่แหละมันคือ ธงที่เราชูโดยที่ไม่รู้ตัว ต้องรู้จักลดมันลงบ้าง เอามันลงบ้าง กำราบมันลงบ้าง เราอาจจะขอบคุณด้วยซ้ำที่เมื่อกี้นี้ ขอบคุณที่เขาว่าเรา มันทำให้เราเห็นกิเลสตัวนี้ นี่คือวิสัยของบัณฑิต นี่คือวิสัยของนักปฏิบัติธรรมที่รู้จักหาประโยชน์จากอิฏฐารมณ์
และก็อนิฏฐารมณ์ อันนี้รวมไปถึงเวลาเกิดความเจ็บความป่วย ความสูญเสียพลัดพรากอย่างที่พูดเมื่อวานซึ่งเป็นธรรมดาของโลก เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วย่อมมีความทุกข์ ความไม่พอใจเป็นธรรมดา ปฏิกิริยาแรกก็คือไม่ยอมรับปฏิเสธ ก็ต้องมีสติเห็น เห็นอาการของใจที่มันปฏิเสธ ที่มันบ่นที่มันโวยวาย พูดง่ายๆ คือมีความทุกข์ เห็นมัน พอเห็นมันแล้วความทุกข์ใจก็จะบรรเทาเบาบางลง มันมีแต่ความทุกข์กาย หรือว่าเกิดความเสื่อม ที่เกิดจากทรัพย์สมบัติหรือคนรัก นอกจากมีสติไม่เปิดโอกาสให้ความทุกข์มันเข้ามาครอบงำใจแล้ว ก็ยังถือโอกาสได้ประโยชน์จากเหตุการณ์นั้นซะเลย ก็คือพิจารณาว่า มันมีประโยชน์อย่างไรบ้าง
ประโยชน์อย่างแรกที่เกิดขึ้นเลย ที่ได้ก็คือมันฝึกให้เราอดทนเข้มแข็ง เวลาเจอความเจ็บความป่วยความพลัดพรากสูญเสียมันฝึกมันฝึกใจเรา อย่างแรกคือให้เราอดทน รวมทั้งเวลาถูกต่อว่าถูกตำหนิ ให้เราอดทนให้เรามีขันติ ให้เรามีความมั่นคงเข้มแข็งในจิตใจ แต่นอกจากฝึกขันติแล้วยังสามารถจะฝึกสติให้เราได้ด้วย ทุกเหตุการณ์ไม่ว่าบวกหรือลบนี่สามารถที่จะเอามาใช้ในการฝึกสติ นอกจากสติแล้วก็ได้ขันติ ยุงกัดก็ฝึกขันติได้ ทำไงเราถึงจะสงบนิ่งได้โดยที่ไม่ไปทำร้ายมัน นี่อดกลั้นต่ออารมณ์ที่มากระทบ ลองดูเถอะเขาสอนเราหลายอย่าง ฝึกให้เราปล่อยวางก็ได้ เวลาของหายเวลาเงินถูกขโมย เราทุกข์เพราะอะไร เราทุกข์เพราะว่าเรามีความยึดติดอยู่ ยึดติดถือมั่นว่าเป็นของกูๆ ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่ของกูแล้ว มันเป็นของใครก็ไม่รู้ไปแล้ว เวลาน้ำท่วมพลัดพาทรัพย์สมบัติไปก็ยังเสียใจ เพราะยังยึดว่าเป็นของกู ๆ แต่นั่นเป็นอดีตไปแล้ว ของกูเป็นอดีตไปแล้ว ปัจจุบันเป็นของใครก็ไม่รู้ เมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้ก็เออถือว่าเขามาฝึกให้เรารู้จักปล่อยวาง
เจ็บป่วยก็เหมือนกันยังทุกข์เพราะอะไร เพราะว่ายังมีความยึดมั่นว่า มันต้องไม่ป่วยมันต้องแข็งแรง อายุยังไม่มากเลยทำไมป่วยแล้ว ยังไม่ทันถึง 70 เลย ทำไมถึงเป็นอย่างนี้แล้ว ยังมีความยึดมั่นว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ยึดมั่นว่ามันเที่ยงยึดมั่นว่าเป็นของเรา ความทุกข์ที่เกิดขึ้นมันสอนมันฟ้องว่าเรายังมีความยึดมั่นถือมั่นอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากทุกข์ก็ต้องปล่อยวาง โรคภัยไข้เจ็บมันสอนเราให้รู้จักปล่อยวางไม่ใช่แค่ความอดทนเท่านั้น นอกจากสอนเราแล้วนอกจากฝึกใจเราแล้วมันยังสอนใจเราด้วย สอนใจเราให้เห็นความจริง ให้เห็นความไม่เที่ยงของสังขาร ให้เห็นว่าร่างกายนั้นมันเป็นรังของโรค มันมีความเสื่อมอยู่ตลอดเวลา
แต่ก่อนนี้ก็ไปหลงเพลิดเพลินในร่างกายนี้ว่าจะเป็นที่มาแห่งความสุข บางคนทุกวันนี้ถือเอาร่างกายนี้เป็นแหล่งที่มาของความสุข พยายามประดับประดาร่างกาย พยายามใช้ร่างกายนี้ในการเสพสุข ไม่ใช่เสพสุขทาง ทางตา ทางจมูก ทางปาก ทางหู ทางสัมผัสเท่านั้น แต่ยังพยายามทำให้ร่างกายนี้มันดูดี เพื่อคนก็จะได้ชื่นชมสรรเสริญเรา พอผมงอกนิดหน่อย พอมีสิว พอเริ่มเหี่ยวย่นแล้วก็เป็นทุกข์แล้ว เพราะรู้สึกว่ามันจะไม่ดูดีในสายตาของใคร อันนี้เป็นความหลงของคนในยุคนี้มาก ถึงกับไปดัด ไปแปลง ไปผ่า เพื่อให้มันดูดี อันนี้ทั้งหมดก็เกิดมาจากความหลงว่าร่างกายนี้มันจะเป็นที่มาของแห่งความสุขจนลืมไปว่ามันคือรังของโรค มันคือทุกข์ที่ซ่อนอยู่ท่ามกลางความสุข แต่พอเราเริ่มแก่หรือเจ็บป่วยขึ้นมา เราก็เห็นแล้วว่าจริงๆ แล้วก็สังขารร่างกายมันไม่ใช่เช่นนั้น มันเต็มไปด้วยความเสื่อมความทุกข์ แถมไม่ใช่ของเราอีกต่างหาก เพราะถ้าเป็นของเรา เราต้องดัดแปลงแก้ไขทำให้มันดีได้ อันนี้แหละคือธรรมะที่เขาสอนเรา
สมบัติทั้งหลายทั้งปวงที่หายไปเขาก็สอนเราว่ามันไม่ใช่ของเราเลย มันแค่อยู่กับเราเพียงแค่ชั่วคราว แล้วสักวันก็ต้องเป็นของคนอื่น หรือว่าคืนสู่ดิน น้ำ ไฟ ลม หรือว่าคืนสู่ธรรมชาติ เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม แผ่นดินไหว มันกลืนทรัพย์สมบัติไปหมดไม่รอด พากลับคืนสู่ธรรมชาติ หรือมิเช่นนั้นก็กลายเป็นของคนอื่นไปซะ อย่างเขาที่เรียกว่าสมบัติผลัดกันชม ทั้งหมดก็คือสัจธรรมที่อนิฏฐารมณ์สอนเรา คือสัจธรรมที่เหตุร้ายเขาสอนเรา เราต้องรู้จักฉลาด สามารถจะมองเห็นสัจธรรมจากเหตุการณ์เหล่านี้ อันนี้เรียกว่าเป็นผู้รู้จักถือประโยชน์ หาประโยชน์จากอนิฏฐารมณ์ อันนี้คือการรู้จักฉวยโอกาส ฉวยโอกาสจากแม้กระทั่งเหตุการณ์ที่ร้ายๆ ในการที่จะตรอกย้ำธรรมะ หรือเปิดใจให้เห็นธรรมะ เราอย่าเสียโอกาสนั้นไป เวลาถูกตำหนิถูกต่อว่า เวลาเงินหายถูกโกงนี่คือโอกาสที่เราจะต้องรู้จักฉวย เพื่อที่จะได้เปิดใจให้เห็นธรรมะ คือเอามาใช้เพื่อฝึกใจให้มีความอดทน ให้รู้จักมีสติ รู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น ในขณะที่เกิดเหตุการณ์เหล่านั้น อันนี้เป็นวิสัยของนักปฏิบัติธรรมเลย
นักปฏิบัติธรรมที่ฉลาดไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นก็ดีทั้งนั้น แม้แต่ความเครียดที่เกิดขึ้นในขณะที่ปฏิบัติมันก็ดีที่ทำให้เรารู้ว่าเราวางใจไม่ถูกต้อง เพราะว่าอาจจะมีความยึดติดถือมั่นบางอย่าง เช่น อยากให้ใจสงบ พอไม่สงบ ก็เครียดขึ้นมาเลย เพราะผิดหวัง เพราะขุ่นเคืองใจ เมื่อรู้เช่นนี้ก็วางวางความคาดหวังให้ใจอยู่กับปัจจุบัน ตราบใดที่เรายังมีความคาดหวังและยึดมั่นอยู่ในความคาดหวังบางอย่างแสดงว่าใจเราไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน ใจอยู่กับอนาคต ไปอยู่กับผลที่ยังไม่เกิดขึ้น
อารมณ์ทุกอย่างไม่ว่าบวกหรือลบที่เกิดขึ้นในใจ มันยังสอนให้เราได้เห็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้ ความโกรธก็ไม่เที่ยง ความทุกข์ก็ไม่เที่ยง ความเครียดความหงุดหงิดก็ไม่เที่ยงเห็นมันซะ มันไม่เที่ยงเพราะมันตั้งอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้เพราะมันต้องเสื่อมไป ความโกรธก็เป็นทุกข์ ความหงุดหงิดก็เป็นทุกข์ ก็คือมันทนอยู่ในสภาพเดิมก็ไม่ได้ มันไม่สามารถที่จะตั้งอยู่ได้มันก็ต้องเสื่อมไป ความทุกข์ก็เป็นทุกข์ แต่หมายถึงทุกขเวทนา ทุกขเวทนาก็เป็นทุกข์ คือมันไม่สามารถจะอยู่ในสภาพเดิมได้มันต้องเสื่อมสลายไป เพราะอะไรเพราะว่ามันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา
ถ้าเรารู้จักดูใจก็จะเห็นว่าแม้กระทั่งกิเลสแม้กระทั่งอารมณ์อกุศลที่เกิดขึ้น มันก็สะท้อนหรือแสดงสัจธรรมให้เราเห็นได้ ไม่ใช่แค่อนิฏฐารมณ์เท่านั้น แม้แต่กระทั่งอกุศลธรรม อนิฏฐารมณ์คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่ไม่น่าพอใจอันนี้เรียกเป็นฝ่ายภายนอกก็ได้ ส่วนอกุศลธรรมนี่ก็คือ อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจภายใน ทั้งอนิฏฐารมณ์และก็อารมณ์อกุศลนี่ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ทั้งนั้น ถ้าหากเรารู้จักมองรู้จักใช้มัน รู้จักหาประโยชน์จากมัน แต่ถ้าเป็นเช่นนี้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นก็ดีทั้งนั้น อยู่ที่ว่าเราจะมองเห็นรึป่าว เครื่องทดสอบนักปฏิบัติธรรมก็คือว่ารู้จักหาประโยชน์จากเหตุการณ์ที่มันแย่ๆ หรือว่าจากอนิฏฐารมณ์รวมทั้งอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นในใจรึป่าว ถ้ายังหาประโยชน์จากมันไม่ได้ ก็ยังเรียกว่าสอบไม่ผ่าน ไม่เป็นไรก็สอบใหม่ได้ ยังมีโอกาสที่จะสอบซ่อมได้อีกหลายครั้ง เรายังมีเวลา