แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อเช้าคณะสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มานิมนต์ให้บรรยาย หัวข้อที่นิมนต์ให้บรรยายคือการนำพุทธศาสนาเพื่อต่อต้านคอร์รัปชั่น น่าสนใจที่หัวข้อนี้ผู้ที่นิมนต์คือคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ทำงานเรื่องกฏหมายโดยตรง กฏหมายของบ้านเมืองส่วนหนึ่งคือเพื่อที่จะป้องปรามหรือป้องกันการคอร์รัปชั่น แต่อย่างที่เราทราบกันว่า เรื่องการคอร์รัปชั่นกลายเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาใหญ่โตของบ้านเมือง กฏหมายมีกี่ฉบับกี่มาตราก็ไม่สามารถที่จะป้องกันหรือยับยั้ง หรือแม้แต่บรรเทาการคอร์รัปชั่นได้ คณะกรรมการกฤษฎีกาก็คงจะเห็นปัญหานี้ว่ากฏหมายไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหานี้ จึงอยากจะได้แง่คิดทางพระพุทธศาสนา คงเพราะเห็นว่าเรื่องคอร์รัปชั่นใช้กฏหมายอย่างเดียวไม่พอ ต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนทัศนคติ หรือการพัฒนาจิตใจด้วย
ที่จริงเรื่องของการพัฒนาคนให้มีศีลธรรม พระพุทธเจ้าตรัสไว้ตั้งแต่ 2600 ปีมาแล้วว่า ต้องอาศัยปัจจัย 2 ประการคือ ปัจจัยภายนอก และ ปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอกได้แก่ สิ่งแวดล้อม รวมถึงกัลยาณมิตร แล้วครอบคลุมไปถึงกฏระเบียบด้วย นี้คือเหตุผลที่พระพุทธเจ้าเมื่อตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมา หลังจากที่คณะสงฆ์ได้เจริญงอกงามมา สุดท้ายก็ต้องมีการบัญญัติวินัย วินัยหรือสิกขาบทนี้พระพุทธเจ้าได้บัญญัติหลังจากตั้งคณะสงฆ์มาได้ 12 ปี เพราะว่าจำเป็นแล้ว ถึงแม้ว่าผู้ที่มาบวชจะมีความศรัทธาในพระรัตนตรัยแล้ว แต่เริ่มมีคนที่มาหาประโยชน์จากคณะสงฆ์ มาบวชเพราะว่าหวังลาภสักการะ แต่ก็ยังเป็นส่วนน้อย ซึ่งพระองค์ทรงเห็นแล้วว่าการที่พระภิกษุจะมีวิถีชีวิตที่ดีงามได้ต้องอาศัยกฏระเบียบ จึงบัญญัติพระวินัยขึ้นมา แล้วก็ทีแรกมีแค่ข้อเดียว ตอนหลังก็เพิ่มมาเป็น 2 ข้อ 3 ข้อ 4 ข้อ จนกระทั่ง 227 ข้อ ที่จริงยังมีอีกหลายข้อเรียกว่าเป็นสิกขาบทนอกปาติโมกข์ แต่สิกขาบทในปาติโมกข์มี 227 ข้อที่เรารู้จักกันดี เรื่องนี้เรียกปัจจัยภายนอกที่จะช่วยกล่อมเกลา แต่ต้องอาศัยปัจจัยภายในด้วย ปัจจัยภายในคือสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น หรือคุณธรรมที่สร้างขึ้นภายใน พุทธศาสนาแต่ก่อนจึงมีชื่อว่า ธรรมวินัย คำว่าพุทธศาสนาเป็นคำที่มาทีหลัง
สมัยพุทธกาลไม่มีคำว่าพุทธศาสนาในความหมายที่เราเข้าใจปัจจุบัน มีแต่คำว่าธรรมวินัย เวลาจะพูดถึงพุทธศาสนาสมัยก่อนจะใช้คำว่าธรรมวินัย หรือพรหมจรรย์ของพระศาสดา คำว่าธรรมวินัยนี้คลุมทั้งปัจจัยภายนอกคือวินัย แล้วก็การสร้างปัจจัยภายในคือธรรมะ ธรรมะจะแปลว่าคำสอนก็ได้ แต่เป็นคำสอนที่ทำให้เกิดความเจริญงอกงามภายใน ทำให้จิตใจใฝ่ดีแล้วก็เห็นความจริง แต่ตอนหลังคนมาให้ความสำคัญกับพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นระบบ หรือเป็นวิธีการกล่อมเกลาจิตใจคนจากภายใน ทาน ศีล ภาวนา ก็คือระบบที่ฝึกฝนกล่อมเกลาให้เกิดความเจริญงอกงามจากภายนอกเข้าสู่ภายใน จากการกระทำภายนอกคือ กาย วาจา แล้วก็ส่งผลถึงจิตใจ
ถ้าคนเราปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนาเช่น ทาน ศีล ภาวนา หรือหลักไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา เรื่องการคอร์รัปชั่นก็ไม่ต้องพูดถึงเลย กลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลย เพราะว่าถ้าปฏิบัติตามหลักไตรสิกขาอย่างแท้จริงแล้ว ความโลภจะเหลือน้อยมาก และถึงแม้จะมีก็ไม่ครอบงำจิตใจ กรณีนี้เราพูดถึงปุถุชนไม่ได้พูดถึงพระอริยเจ้า และปุถุชนที่ปฏิบัติตามหลักไตรสิกขาแล้วความโลภจะเหลือน้อยลง หรือถึงมีก็ไม่ครอบงำจิตใจให้ไปทำความชั่ว เช่นไปโกง หรือกระทำการทุจริต คอร์รัปชั่นเกิดขึ้นได้เพราะว่าความโลภที่ครอบงำใจ แต่ถ้าไม่มีความโลภหรือความโลภลดน้อยลงไปก็ไม่มีแรงผลักดันที่จะให้ไปทำชั่ว แล้วคนที่ปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนานั้น นอกจากสาเหตุที่ความโลภลดน้อยลงก็เพราะเห็นว่าเงินทองความมั่งมีหรือวัตถุเงินตรา ที่เรียกรวมๆเรียกว่ากาม ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ดีเลิศประเสริฐ
คนส่วนใหญ่เห็นว่าเงินทองเป็นเหมือนเสมือนพระเจ้า เป็นเหมือนคำตอบที่จะบันดาลความสุขความสำเร็จทุกอย่างให้ เกิดความหลงใหลในวัตถุ เงินทอง ในสิ่งเสพ ทำให้เกิดแรงจูงใจที่จะไปโกง ไปคอร์รัปชั่น ไปขโมย แต่ถ้าหากว่าศึกษาปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนา จะเห็นว่าเงินทองความมั่งมีไม่ใช่เป็นสรณะที่ประเสริฐ ไม่เป็นสรณะที่แท้ได้เลย ไม่สามารถจะเอาความสุขไปฝากไว้ หรือไปตั้งอยู่บนกองเงินกองทองได้เลย เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เที่ยง เงินทอง ความมั่งมี วัตถุ เงินตรา สิ่งเสพพวกนี้ไม่เที่ยง มีกับหมดเป็นของคู่กัน มีลาภกับเสื่อมลาภเป็นของคู่กัน เช่นเดียวกับมียศกับเสื่อมยศ บางคนรวยแล้วก็รวยเร็วแต่วันดีคืนดีก็กลับจน บางทีเงินก็ยังมีไม่ได้หายไปไหนแต่ค่าของเงินลดหดหายไป ยิ่งเกิดสงครามกลางเมืองเงินก็เหมือนกับแบงค์กงเต๊กเลย
ในเยอรมนีสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง จะซื้อขนมปังปอนด์หนึ่งต้องใช้เงินหลายแสนมาร์คเลย มาร์คหนึ่งปัจจุบันเมืองไทยก็ประมาณสิบบาท ในเมืองจีนก็เหมือนกันคือค่าเงินตกจนกระทั่งเงินกลายเป็นแบงค์กงเต๊กไปเลย มีเงินเป็นสิบๆล้านซื้อขนมปังได้ไม่กี่ปอนด์ ไม่รู้จะซื้อไก่ได้สักตัวหนึ่งหรือไม่ สิ่งนี้เป็นความไม่จีรังของทรัพย์สินเงินทอง มีแล้วก็หมด มียศก็เสื่อมยศ ฉะนั้นถ้าคนเราเอาความสุขของตัวเองไปผูกติดกับสิ่งเหล่านี้ ความสุขก็จะง่อนแง่นตามไปด้วย นอกจากความไม่จีรังของสิ่งเหล่านี้แล้วยังเป็นภาระทำให้เป็นทุกข์ด้วย เงินทองไม่ใช่เป็นสิ่งที่ประเสริฐเพราะว่าสร้างภาระ ทำให้เหนื่อย เหนื่อยตั้งแต่การไปแสวงหาแล้ว ต้องไปแย่งชิง ไม่ได้มาก็เสียใจ ได้มาก็ดีใจประเดี๋ยวประด๋าว เสร็จแล้วก็หนักอกหนักใจเพราะต้องคอยห่วงกังวล กลัวว่าคนจะขโมยไป แล้วหากคนขโมยไปได้จริงๆ หรือคนแย่งชิงไปก็เสียใจ คนที่เอาความสุขไปผูกติดกับวัตถุเวลาของหายเงินหายเป็นลมล้มตึงเลย บางคนหัวใจวาย ทองที่เก็บเอาไว้ถูกขโมยไป เพชรที่สะสมสูญหายไป เสียใจ เป็นทุกข์ พวกนี้เป็นภาระ คนที่เข้าใจธรรมะจะเห็นเลยว่าพวกนี้เป็นภาระที่ไม่น่ายึดถือ สร้างความทุกข์ให้
สมัยที่หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ ยังมีชีวิตอยู่ ท่านเป็นเกจิอาจารย์ที่มีคนนับถือมาก อยู่ที่วัดสะแก อยุธยา วันหนึ่งมีชายหนุ่มคนหนึ่งมากราบท่านแล้วเล่าว่าเพิ่งไปเช่าพระอุปคุตมา หลวงปู่ถามว่าเช่าไปทำไม เขาตอบว่าอยากรวยครับ หลวงพ่อก็เลยพูดเปรยๆ ขึ้นมาว่ารวยกับซวยมันใกล้กัน ชายหนุ่มคนนั้นงงเลย หมายความว่าอย่างไรครับหลวงพ่อ ทีแรกท่านก็บอกว่ามันเขียนคล้ายๆกัน รวยกับซวย ตอนหลังท่านก็อธิบายเพิ่มเติมว่า ความมั่งมีหรือเงินทองอยากได้ก็เหนื่อยแล้ว ไปแย่งชิงมาก็เหนื่อยอีก ได้มาแล้วก็เป็นทุกข์ แล้วถ้าหากมันหายไปก็เป็นทุกข์อีก คือทุกขั้นตอนเลยเต็มไปด้วยทุกข์ ครั้นพอมีแล้ว ยิ่งมีชนิดเป็นร่ำรวยก็ซวยก็คือเป็นภาระ แล้วเรื่องเงินทองถ้าเข้าใจคือ เห็นธรรมะจริงๆ จะพบว่าเงินทอง หรือกามวัตถุสิ่งเสพพวกนี้ให้ความสุขก็จริงแต่ก็เจือไปด้วยทุกข์มาก ให้สุขน้อยแต่ทุกข์มาก ไม่ใช่ว่ามันไม่ให้สุขก็ให้ความสุขแต่มันเป็นทุกข์มาก
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนกับว่า จุดไฟจุดไต้ที่ทำด้วยหญ้าแห้ง ไต้ที่ทำด้วยหญ้าแห้งพอเราจุดก็ให้แสงสว่าง แต่แสงสว่างที่เกิดขึ้นมันไม่นวล ไม่สว่างใสเหมือนหลอดไฟหรือเหมือนกับไฟที่จุดด้วยเชื้ออย่างอื่น นอกจากนั้นเควันที่เกิดขึ้นจากไต้ก็ระคายเคือง มิหนำซ้ำถ้าเกิดว่าจุดไปนานๆ แล้วไม่ยอมปล่อยมันก็จะไหม้มือ ประโยชน์มีแต่ว่าโทษมีมากกว่า แล้วประการต่อมาคือความสุขทิ่เกิดจากวัตถุสิ่งเสพมันชั่วครั้งชั่วคราวมาก ถึงแม้ว่าเงินหรือวัตถุสิ่งเสพไม่มีใครเอาไป ยังอยู่เหมือนเดิมยังเท่าเดิม แต่ความสุขที่เกิดจากสิ่งเหล่านี้ตอนที่ได้มาก็อยู่ได้ไม่นาน เหมือนกับเราที่เวลาตอนเราเป็นเด็กๆ เราซื้อของเราได้ของเล่นมาเราก็ดีใจแต่ความดีใจก็อยู่ได้แค่สองสามวัน หลังจากนั้นก็เบื่อแล้วก็อยากได้ของเล่นอันใหม่ พอโตขึ้นได้เสื้อมาเราก็ดีใจ เสื้อกางเกงกระโปรงของประดับเราตอนที่ได้มาก็ดีใจ แต่ความดีใจหรือความสุขอยู่ประเดี๋ยวประด๋าว ใส่ครั้งสองครั้งก็เบื่อแล้ว แล้วก็อยากได้ตัวใหม่อยากได้ของชิ้นใหม่ ของไม่หายแต่ความสุขเจือจางไปแล้ว
แม้แต่คนที่ถูกล็อตเตอรี่ได้เงินเป็นก้อนเป็นกำ เขาก็ให้มีการสอบถามความรู้สึกของคนที่ถูกล็อตเตอรี่ถูกสลากกินแบ่ง ทั้งกินแบ่งและทั้งกินรวบในอเมริกา เขาสอบถามเป็นพันคนเลย แล้วพบว่า 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ ความสุขของคนเหล่านี้อยู่ได้ไม่เกินหกเดือน คือตอนได้มาก็ดีใจ สวรรค์ทรงโปรด แต่ความดีใจความสุขนั้นอยู่ได้ไม่เกินหกเดือน หลังจากนั้นก็จะรู้สึกเฉยๆ เงินอาจจะยังอยู่ เงินยังอยู่ในธนาคารไม่ได้ไปไหน แต่ความสุขเจือจางไปแล้ว แล้วเราลองสังเกตดูในความสุขที่เกิดจากการเสพ สุขตอนที่ได้มาใหม่ๆ แต่พอผ่านไปไม่ช้าไม่นาน ความสุขก็เจือจาง
อาหารที่เรากินไม่ว่าจะเป็นอาหารฮ่องเต้ราคาแพงแค่ไหน ตอนที่กินมื้อแรกจานแรกก็อร่อย มีความสุข แต่ถ้าหากว่าเราลองกินทุกวัน กินทุกมื้อเลย กินไปสักอาทิตย์หนึ่ง รับรองเลยว่าความอร่อยจะค่อยๆจืดจาง รสชาติยังเหมือนเดิมแต่ความอร่อยในความรู้สึกของเราเจือจางไปแล้ว กินไปได้สักอาทิตย์หนึ่งรู้สึกเฉยๆแล้ว ถ้ากินต่อไปอีกอาทิตย์หนึ่งก็เริ่มเบื่อ ถ้ากินต่อไปอีกก็เริ่มเอียน แล้วถ้ากินอีกก็อาจจะกลายเป็นอาเจียนเลย ทำไมของที่เคยกินอร่อยแต่พอกินไปนานๆ กลับอาเจียน แบบนี้เป็นธรรมชาติของความสุขจากสิ่งเสพจากวัตถุ ถ้าคนที่ศึกษาธรรมเขาจะเห็นตรงนี้ แล้วเขาก็จะรู้ว่าวัตถุสิ่งเสพเงินตราไม่ใช่เป็นสรณะเป็นสิ่งที่จะให้ความสุขที่แท้ได้เลย สิ่งนี้ก็ทำให้ความโลภน้อยลง ความโลภลดลงไปเองเพราะเห็นว่าความสุขจากสิ่งเหล่านี้มีน้อย ไม่จีรัง แต่สร้างให้ความทุกข์เพิ่มขึ้น
แต่ไม่ใช่เท่านี้ คนเราบางครั้งแม้จะรู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี เห็นโทษของสิ่งต่างๆ แต่บางครั้งยังถลำเข้าไป อย่างที่เขามีคำพูดว่า ดีชั่วรู้หมดแต่อดใจไม่ได้ คนที่กินเหล้าเขาก็รู้ว่าเหล้ามีโทษอย่างไรบ้าง เป็นอันตรายอย่างไรบ้าง แต่จำนวนมากก็เลิกเหล้าไม่ได้ บุหรี่ก็รู้ว่ามีโทษ เห็นภาพคนเป็นมะเร็งอยู่หน้าซองบุหรี่ รู้แต่เลิกไม่ได้ เพราะห้ามใจไม่ได้ คนที่เที่ยวผู้หญิงหรือคนที่เจ้าชู้ ก็รู้ว่าเจ้าชู้ไม่ดี กิ๊กไม่ดี มีชู้ไม่ดี แต่ก็ห้ามใจไม่ได้ จิตใจที่อ่อนแอทำให้ไม่สามารถจะหักห้ามใจไม่ให้ถลำเข้าไปในสิ่งที่เป็นโทษเป็นภัยได้ คนหลายคนถึงแม้จะรู้ว่าวัตถุ สิ่งเสพ เงินตราให้ความสุขน้อยแต่เป็นทุกข์มากแต่ก็ยังหลงใหล ตรงนี้แหละที่ธรรมะหรือการปฏิบัติจะช่วยได้ คือทำให้จิตใจเราเข้มแข็งขึ้น เมื่อจิตใจเข้มแข็งเพราะว่ามีขันติ มีความอดทน รู้จักหักห้ามใจได้ จิตใจก็ไม่คล้อยไปตามสิ่งเสพ หรือไปกระทำสิ่งที่ผิดศีลผิดธรรมเช่นการคอร์รัปชั่น ห้ามใจได้ มีคนเอาเงินเอาเพชรเอาสร้อยเอาทองมาวางไว้เพราะว่าเผลอ ลืมทิ้งเงินเอาไว้ แต่หลายคนก็หักห้ามใจได้ไม่เก็บมาเป็นของตัว อย่างที่เราเคยได้ข่าวแท็กซี่หลายคนเขาเห็นกระเป๋าเอกสารใส่เงินเป็นแสนเป็นล้านแต่เขาก็ไม่เก็บมาเป็นของตัว ก็ไปแจ้งตำรวจ ทั้งๆที่โอกาสมีแต่ไม่ทำ แบบนี้เพราะเขาหักห้ามจิตใจได้
แต่คนสมัยนี้การหักห้ามใจเป็นเรื่องยากเพราะจิตใจไปตามใจกิเลส อยากได้อะไรแม่ก็ให้พ่อก็ให้ ได้อะไรได้ง่ายมาก ยิ่งสมัยนี้มีเสรีภาพที่จะทำอะไรตั้งมากมาย การตามใจกิเลสกลายเป็นเรื่องที่ทำเป็นปกติ ครั้นถึงเวลาหักห้ามใจก็หักห้ามยาก แต่ถ้าหากว่าเราฝึกจิตให้เรามีขันติรวมทั้งมีสติด้วยจะช่วยได้มาก กิเลสก็มาหลายรูปแบบ บางครั้งเราห้ามใจได้อยู่ แต่มันก็ยังหาทางหลอกเราให้หลง กิเลสก็สรรหาเหตุผลข้ออ้างมาทำให้เราเผลอทำตามอาการของมัน คนที่จะคอร์รัปชั่น อยู่ดีๆไม่ใช้ว่าเขาจะโกงเงินเป็นล้านหรือฉ้อราษฎร์สิบล้าน แต่เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ อาจจะเป็นการเริ่มต้นด้วยการเอาทรัพย์สินของใช้ในสำนักงานไปใช้ หรือยืมเงินคนแล้วไม่คืน ยืมเงินอาจจะยืมไปร้อยหนึ่งพันหนึ่งแล้วก็ไม่คืน ส่วนใหญ่ความชั่วที่ใหญ่โตก็เริ่มต้นจากความชั่วเล็กๆ และที่คนทำได้ก็เพราะว่ามีข้ออ้างว่านิดหน่อยเองไม่เป็นไร ถือวิสาสะบอกว่าขอยืม กิเลสจะสรรหาเหตุผลมาเพื่อให้เราหลงเชื่อมัน เริ่มจากเรื่องเล็กๆน้อยๆ ถ้าเราไม่มีสติเราก็จะหลงเชื่อข้ออ้างของกิเลสได้
เรื่องนี้ไม่ใช่แต่เฉพาะคอร์รัปชั่น คนที่ติดเหล้าคนที่ติดการพนันก็เริ่มต้นจากเรื่องเล็กๆ บางคนต่อต้านเหล้าด้วย ตัวอย่างเช่น เปี๊ยก โปสเตอร์ พวกเราอาจจะเคยได้ยิน เขาเป็นนักสร้างหนัง ก่อนที่เขาจะเป็นนักสร้างหนังเขาเป็นคนที่วาดโปสเตอร์เรียกว่าใบปิดหนัง ใบปิดเป็นโปสเตอร์เป็นที่มาของฉายาของเขา เขาเล่าว่าตอนที่เขายังหนุ่มมีเพื่อนร่วมงานร่วมเที่ยวอยู่สองคน หนึ่งในสองนั้นชื่อเกษียณ วันหนึ่งไปกินอาหารในร้าน เกษียณเห็นคนเมาในร้านก็พูดขึ้นมาว่าโง่ฉิบหายเลย กินเหล้าแต่ให้เหล้ากิน ด่าคนเมาว่าโง่ สองอาทิตย์ต่อมาทั้งสามคนก็ไปงานทำบุญบ้านของเพื่อน ทุกโต๊ะมีเบียร์ตั้งอยู่ สามคนนี้ก็อยากจะลองดูว่าทำไมคนถึงติดเหล้า ก็ลองชิมดู เห็นพ้องต้องกันว่ามันเปรี้ยวๆมันฟืดๆ ดูไม่น่าอร่อยเลยไม่น่าติดเลย
แต่สองสามเดือนหลังจากนั้นขณะที่กำลังวาดรูปกันอยู่ในสตูดิโอ เกษียณก็ไปบอกให้เด็กให้ไปซื้อเบียร์มา เปี๊ยก โปสเตอร์ ได้เห็นอย่างนั้นเขาก็เลยท้วงว่า อ้าว! ว่าคนอื่นแล้วแต่ทำไมกินเอง เกษียณบอกว่านายไม่รู้อะไร เหล้าเป็นของสถุล เบียร์เป็นของคนชั้นสูงมันช่วยผ่อนคลาย ก็ไม่ว่าอะไร หลังจากนั้นอีกสองสามเดือนปรากฏว่าเกษียณกินเบียร์วันละสี่ห้าขวดเลย วันไหนไม่กินเบียร์ทำงานไม่ได้ กินเบียร์ไปเรื่อยๆ ไปๆมาๆวันหนึ่งก็บอกให้เด็กไปซื้อแม่โขงมาเป๊กหนึ่ง เปี๊ยกก็เลยท้วงว่าไหนว่าเหล้าไม่ดีไหนว่าเหล้าเป็นของสถุลไง แล้วทำไมสั่งแม่โขงมา เกษียณก็บอกว่านายมีเหตุผลหน่อยสิ เดี๋ยวนี้ฉันต้องกินเบียร์วันละสี่ห้าขวดถ้าไม่กินก็ทำงานไม่ได้ แต่งานของเราอาชีพของเรารายได้น้อย รายได้ก็ไม่เท่าไหร่จะซื้อเบียร์กินวันละสี่ห้าขวดได้อย่างไร แล้วก็บอกว่าเหล้านี่แค่กินเป๊กเดียวเอาอยู่เลย เรื่องนี้ลงเอยตรงที่ว่าเกษียณกลายเป็นคนติดเหล้า แล้วเป็นอัมพาตแล้วก็ตายเพราะเหล้า
เรื่องนี้เป็นตัวอย่างของคนจำนวนมากที่ติดเหล้า คือเริ่มต้นจากการที่ด่าคนกินเหล้าว่าโง่ สุดท้ายก็โดนเหล้ากินยิ่งกว่า อาจจะยิ่งกว่าคนที่ตัวเองด่าซะอีก ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นได้ ก็เพราะว่ามันค่อยๆซึม ค่อยๆไหลไป ที่แรกก็ชิมดู พอชิมเสร็จก็ลอง ยังไม่กินเหล้าแต่กินเบียร์ก่อน กินนิดๆหน่อยๆ ตอนหลังกินมากวันละสี่ห้าขวด มีข้ออ้างว่าผ่อนคลาย ตอนหลังพอติดหนักเข้าไม่มีเงินซื้อก็ต้องกินเหล้า บอกว่ากินเหล้าเป๊กเดียวก็พอแล้ว เหล้าเป๊กเดียวก็เท่ากับเบียร์สี่ห้าขวดประหยัดดี ช่วยให้ทำงานได้ แล้วสุดท้ายก็ไม่ใช่เป๊กแล้ว กินกันเป็นขวดๆ
คนเราถลำสู่ทางความตกต่ำก็เพราะแบบนี้ คือค่อยๆถูกมันล่อมันหลอกไปทีละนิดๆ ชีวิตที่ตกต่ำเขาเรียกว่าอบาย อบายคือทางสู่ความตกต่ำ คนที่คอร์รัปชั่นก็เริ่มต้นคล้ายๆแบบนี้ เริ่มต้นจากทีละนิดทีละหน่อย พอทำบ่อยๆ ก็เริ่มทำหนักขึ้นๆ เพราะว่าไม่ระมัดระวัง อย่างคนที่ชื่อเกษียณแกไปว่าคนอื่นแทนที่จะกลับมาดูตัวเองว่าเราต้องระมัดระวัง แกกลับคิดว่ามีแต่คนโง่ที่กินเหล้า คนอย่างฉันเหล้าทำอะไรไม่ได้หรอก ประมาทแล้วก็ถูกเหล้าค่อยๆล่อ ค่อยๆหลอกไปทีละนิดๆ ความชั่วเริ่มต้นจากทีละนิดทีละหน่อย แล้วเราก็เผลอเราก็ประมาท แล้วก็ไม่มีสติรู้ทันลูกไม้หรืออุบายของกิเลส มันจะปรุงแต่งข้ออ้างปรุงแต่งเหตุผล แต่ถ้าเราปฏิบัติธรรม เราศึกษาธรรมด้วยการปฏิบัติ ไม่ใช่แต่ฝึกจิตให้มีขันติ แต่ฝึกจิตให้มีสติด้วย กิเลสจะล่อหลอกให้เราหลงได้ลำบาก เราจะรู้ทัน เราจะเผลอให้กับมันได้ยาก
หลวงพ่อเทียนเคยพูดกับหลวงพ่อคำเขียนว่า “ความคิดที่ลักคิดเหมือนคนที่ผลักเราข้างหลัง” เราลองนึกภาพดู อยู่ดีๆก็ถลาไปข้างหน้าเพราะมีคนผลัก ความคิดที่ลักคิดเหมือนกับคนที่แอบผลักเราข้างหลังโดยที่เราไม่รู้ตัว พอถูกผลักแล้วเป็นอย่างไร ก็ล้มคว่ำ แต่ถ้าเรามีสติเราก็จะรู้ทัน ความคิดหรือกิเลสจะมาผลักเราข้างหลังไม่ได้แล้วเพราะเรารู้ทัน แต่คนส่วนใหญ่โดนมันผลักวันละไม่รู้กี่เที่ยว โดนมันหลอกไป หลอกให้ทุกข์ หลอกให้หลง หลอกให้ทำชั่ว ซึ่งล้วนแต่แย่ทั้งนั้น ถึงไม่ทำชั่วแต่ก็ทุกข์ ทุกข์เพราะมันหลอก ความคิดหลอก กิเลสหลอก เอาเรื่องราวเก่าๆที่ผ่านไปแล้วมาทวนย้ำซ้ำเติมจิตใจตัวเอง หรือคิดถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นแต่ว่าวางไม่ได้ กินไม่ได้นอนไม่หลับ ถูกมันหลอกทั้งนั้น ทั้งๆที่คิดแล้วทุกข์แต่ก็ไม่ยอมวาง ยังกอดมันเอาไว้แน่น ยังยอมให้มันผลักอยู่เรื่อย แต่ถ้าเราฝึกสติดีเราจะรู้ทัน
ฉะนั้นก็จะช่วยทำให้เราไม่หลงไปตามอำนาจของกิเลสได้ง่ายๆ รู้ว่าเหล้าไม่ดีขณะเดียวกันก็ระมัดระวังไม่ให้ใจเผลอไปให้มันหลอก รู้ว่าคอร์รัปชั่นไม่ดีเวลามันจะมาล่อหลอกเราเราก็รู้ทัน จะมาไม้ไหนอุบายอะไรก็รู้ทัน ผลจากการปฏิบัติธรรมไม่เพียงช่วยทำให้เรารู้โทษของกาม รู้โทษของความมั่งมีหรือโลกธรรม รวมทั้งมีจิตใจมั่นคงแล้วก็รู้ทันกิเลสเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เราได้พบกับความสุขที่ประณีต คนเรายังหลงใหลในความสุขจากกาม ความสุขจากเงินทอง ความสุขจากวัตถุ เพราะว่าเป็นความสุขอย่างเดียวที่รู้จัก เป็นความสุขอย่างเดียวที่สัมผัสได้ มนุษย์เราโหยหาความสุข ถ้าหากว่าไม่เจอความสุขอย่างอื่นเลยก็ต้องเอาความสุขจากกามเป็นที่พึ่ง แต่ถ้าเราค้นพบเข้าถึงความสุขที่ประณีต ความสุขที่ประเสริฐกว่ากามสุข เราก็จะหันหลังให้มันได้ง่าย
คนสมัยนี้ ที่จริงก็ทุกยุคทุกสมัย ถ้าไม่รู้จักสุขที่ประณีตก็ยากที่จะเป็นอิสระจากกามสุข แล้วพอต้องพึ่งพิงกามสุขแล้วก็ต้องอดไม่ได้ที่จะต้องอยาก อดไม่ได้ที่ต้องมีความโลภ แล้วพอโลภมากๆ ก็ต้องยอมทำชั่ว แต่ถ้าเกิดว่าเราเข้าถึงความสุขที่ประณีต เราก็สามารถจะหันหลังให้กับความสุขที่หยาบๆได้ เหมือนกับเราเมื่อก่อนนี้เคยเล่นของเล่นที่ง่ายๆ แต่พอเรามาเจอของเล่นที่ดีกว่าสนุกกว่า ของเล่นประเภทยิงลูกหินหรือปั่นแปะหรือโอน้อยออกนี่เราก็ไม่เล่นแล้ว เพราะว่ามีของเล่นที่ดีกว่า คนเราถ้าเราเข้าถึงความสุขที่ประณีตที่ประเสริฐ เราจะสามารถจะหันหลังเมินเฉยให้ความสุขจากกามได้ แล้วความสุขประณีตมาจากไหน ก็เกิดจากการปฏิบัติ เกิดจากการที่เรารู้จักเข้าถึงความสงบ
พระพุทธเจ้าตรัสว่า สุขที่เกิดจากการไม่มีความสงบ ไม่มีความสงบเพราะสติสงบเพราะปัญญาสงบเพราะสมาธิ พระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นสุขที่เกิดจากการเสพ แต่สุขเกิดจากความสงบ สุขที่ประเสริฐจริงๆ คือสุขที่เกิดจากความสงบ สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี และถ้าเราปฏิบัติธรรมจนเข้าถึงความสุขที่ประณีต ความสุขจากลาภยศสรรเสริญก็จะไม่มีความหมายแล้ว กลายเป็นของต่ำจริงๆ ไม่อยากจะแปดเปื้อน พระพุทธเจ้าเมื่อทรงค้นพบพระธรรมหรือทรงตรัสรู้ ความสุขจากกามกลายเป็นเรื่องของต่ำ กลายเป็นเรื่องของที่น่ารังเกียจ ที่จริงก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้ คืนที่พระองคจะตรัสรู้พระองค์เกิดสุบินนิมิตอยู่ 5 อย่าง อย่างที่ 5 อันสุดท้ายคือพระองค์ฝันว่าได้ไปเจอภูเขา กองภูเขาลูกใหญ่เลย แต่เป็นภูเขาที่เกิดจากอาจม เป็นภูเขาอาจมทั้งนั้นเลย แล้วพระองค์ก็เดินอยู่บนภูเขานั้น เดินขึ้นเดินลงบนเขาอาจมนั้น แต่อาจมไม่สามารถจะแปดเปื้อนพระองค์ได้ สิ่งนี้เป็นนิมิตว่าพระองค์จะค้นพบพระธรรม จะตรัสรู้ จะเข้าถึงพระนิพพาน จิตจะเป็นอิสระจากกามได้ กามจะกลายเป็นของที่น่ารังเกียจที่ไม่สามารถจะแปดเปื้อนจิตใจพระองค์ได้
สำหรับผู้ที่เข้าถึงธรรมแล้ว กามกลายเป็นของที่หยาบ เป็นของที่น่ารังเกียจ ใจไม่เข้าไปหาเอง ความโลภที่อยากจะมีสิ่งเหล่านี้ก็หมดไป เหมือนกับเราก็คงไม่อยากจะได้อาจม เราเห็นอาจมหรือขี้เราก็อยากจะหนีอยากจะอยู่ห่าง เพราะเราเห็นว่าไม่ใช่เป็นของดีของวิเศษ แล้วคนที่เข้าถึงธรรมเพราะการปฏิบัติก็จะเห็นอย่างนั้น คือเห็นว่ามันเป็นโทษ แล้วความอยากที่จะมีอยากที่จะเสพก็ไม่หลงเหลือต่อไป แบบนี้ทำให้จิตใจไม่มีความอยากที่จะทำชั่ว ความอยากที่จะโกง ความอยากที่จะคอร์รัปชั่นเลย แต่การที่เราจะทำอย่างนั้นได้ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะคิดเอา ต้องเกิดจากการปฏิบัติ เมื่อมีการปฏิบัติจนกระทั่งเราได้เกิดประจักษ์แจ้งเห็นถึงโทษของมัน เห็นถึงโทษของลาภสักการะแล้ว จิตใจสามารถจะเข้าถึงสิ่งที่ประเสริฐกว่า ก็จะเมินเฉยไปได้เอง
สิ่งนี้คือคำตอบพุทธศาสนาว่า จะทำให้การคอร์รัปชั่นเป็นโมฆะได้อย่างไรบ้าง ไม่จำเป็นต้องต่อต้านแต่ไม่ทำเอง เพราะว่าจิตใจปรารถนาหรือเข้าถึงสิ่งที่ประเสริฐกว่า ตราบใดที่ยังไม่เข้าถึงสภาวะเช่นนี้ ต้องอาศัยการกัดฟัน อาศัยการข่ม อาศัยการบังคับตัวเองไม่ให้หลงใหล หรือไม่ให้ถลำเข้าไปในความชั่ว แต่ถ้าหากว่าเราเข้าถึงสภาวะธรรม เข้าถึงความสุขที่เกิดจากปัญญาแล้ว จะปฏิเสธไปเอง ก็เล่ามาให้ฟังเพื่อที่จะได้ว่าอาจจะเป็นประโยชน์ ที่จริงพูดยาวกว่านั้น แต่นี่พูดมาแบบย่อๆ