แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อคืนฝนตกหนักมาก ลมก็แรง และคนที่นอนเต็นท์คงจะนอนลำบาก อาจจะนอนไม่หลับเลยด้วยซ้ำเพราะน้ำซึมเข้ามา ก็อย่าถือว่าเป็นเคราะห์ ให้ถือว่าเป็นบททดสอบของพวกเราก่อนที่พวกเราจะได้กลับบ้านกลับสู่ภูมิลำเนา เพราะว่าการปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้นครบ 40 วัน วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่จะได้อยู่วัดเพื่อปฏิบัติ บททดสอบนี้ถือว่าคู่ควรกับพวกเรา เพราะว่าพวกเราได้ปฏิบัติธรรมกันมาหลายวัน ควรจะเอาวิชาความรู้เอาประสบการณ์มาใช้เพื่อจะได้ผ่านบททดสอบนี้ได้ เป็นโอกาสที่เราจะได้ย้อนมาดูใจของเรา เวลาฝนตก เวลาเจอเหตุการณ์ทำนองนี้ เรารู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจหรือไม่ เห็นความกังวลความวิตกหรือความกลัวที่เกิดขึ้น รวมทั้งความหงุดหงิดที่แทรกเข้ามาหรือไม่ ถ้าไม่เห็นถือว่าสอบตก เมื่อเห็นแล้วสามารถที่จะวางใจให้เป็นปกติได้ ฝนตกก็ตกไปแต่ใจเราไม่กระเพื่อม เมื่อนอนไม่หลับก็เป็นเรื่องของกายไปแต่ใจไม่เป็นทุกข์ แม้ว่าเต็นท์จะเปียกแต่ใจเราไม่เปียกด้วย หรือแม้แต่กายจะเปียกแต่ใจเราไม่เป็นทุกข์ ที่จริงในชีวิตจริงหรือเมื่อเรากลับไปที่บ้านเราต้องเจออะไรที่หนักว่านี้มาก พายุฝนยังถือว่าเบาอยู่ บางทีเราต้องไปเจอกับพายุอารมณ์ หรือพายุของโลกธรรมที่พัดกระหน่ำ
พายุอารมณ์หมายถึงพายุอารมณ์ของผู้คนรอบข้าง และพายุอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจที่สร้างความปั่นป่วนในจิตใจด้วยก็ได้ พายุโลกธรรมหมายถึงความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ หรือคำติฉินนินทา หรือความทุกข์ที่พัดเข้ามากระหน่ำชีวิตจิตใจของเรา ถ้าเราได้ฝึกใจไว้ดี ฉลาดที่จะกลับมาดูใจของเรา เวลาที่เจอสิ่งภายนอกมากระทบเราจะผ่านไปได้ด้วยดี แล้วเราจะฉลาดขึ้นและเราจะแกร่งกล้าขึ้น เพราะว่าอุปสรรคทั้งหลายล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ถ้าเรารู้จักใช้ เมื่อพวกเราได้ปฏิบัติจนจบคอร์ส กลับไปสู่โลกภายนอกก็คงจะมีอะไรต่างๆมากมาย ที่ทำให้เราไม่สามารถจะปฏิบัติอย่างสงบอย่างสบายหรืออย่างอิสระเหมือนอยู่ที่นี่ได้ เพราะที่ภายนอกเร่งรีบรุงรังด้วยภาระ และมีอารมณ์ต่างๆมากระทบ แต่ทั้งหมดนี้ไม่ถึงกับเป็นอุปสรรคสำหรับการปฏิบัติธรรม ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับการดูจิตดูใจหรือเจริญสติ ที่จริงกลับเป็นประโยชน์ด้วยซ้ำ ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานการณ์ใด ทำอะไรก็ตาม
อย่าลืมที่หลวงพ่อคำเขียนท่านได้แนะนำเอาไว้ ที่อาตมาเคยเอามาพูดแล้วคือ “รู้จักฉวยโอกาส” ต้องฉลาดในการฉวยโอกาส ฉวยโอกาสในทุกเหตุการณ์ ทุกอิริยาบถ ทุกกิจกรรมในการภาวนา โดยเฉพาะในการมารู้เท่าทันจิตใจ ความคิด และอารมณ์ของเรา ยิ่งถ้าเป็นกิจกรรมหรืออิริยาบถที่มีการเคลื่อนไหวด้วยแล้ว เราสามารถใช้ในการรู้กาย หรือรู้สึกก็ได้ รู้กาย รู้ใจ สองอย่างนี้ทำได้ตลอดเวลาทุกโอกาส ธรรมะมีคุณสมบัติประการหนึ่งคือ อะกาลิโก แปลว่า ให้ผลได้ไม่จำกัดกาล แต่ที่จริงนอกจากให้ผลได้ไม่จำกัดกาลแล้ว ยังสามารถจะปฏิบัติได้ไม่จำกัดกาลด้วย ไม่ใช่ว่าต้องมาอยู่วัดถึงจะปฏิบัติได้ ไม่ใช่ว่าต้องอยู่ห้องพระ อยู่คนเดียวเงียบๆ ถึงจะปฏิบัติได้ ทุกเวลาตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน ไม่ว่าทำอะไรก็ตาม เราต้องรู้จักฉวยโอกาสเอามาใช้ในการปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะการเจริญสติ ใช้ได้ตั้งแต่กิจกรรมเล็กน้อยถึงใหญ่ ใช้ได้ในทุกเหตุการณ์
แม้เวลาเราจะเจอเหตุการณ์ที่เราไม่ชอบ เช่นรถติด หรือผู้คนไม่มาตามนัด หรือมีคนพูดกระทบกระทั่งประชดประชันให้ได้ยินกับหู ทั้งหมดก็อย่าปล่อยใจให้ทุกข์ อย่าปล่อยใจให้หัวเสียหงุดหงิด ต้องรู้จักเอามาใช้ในการฝึกสติของเรา ใช้โอกาสเหล่านี้มาดูใจว่าใจเป็นอย่างไร รถติดแต่จิตไม่ตก คนจำนวนมากรถติดก็จิตตกทันทีเพราะวางใจไม่เป็น เพราะว่าจิตส่งออกนอก แต่ถ้ากลับมาดูใจก็เห็นความหงุดหงิดที่เกิดขึ้น เห็นแล้วก็วาง ใจก็กลับเป็นปกติได้ กลับดีเสียอีกได้พักได้สงบจิต เห็นสัญญาณไฟแดงไม่หงุดหงิดเลย ถือว่าเขามาเตือนให้เราหยุดฟุ้งซ่าน ให้เราหยุดส่งจิตออกนอก กลับมาตามลมหายใจ กลับมารู้กายที่กำลังคลึงนิ้วเบาๆ หรือเห็นจิตที่กำลังกระเพื่อมหงุดหงิด สิ่งนี้ก็เรียกว่าเป็นการบ้านให้เราได้ฝึกสติ แล้วมีการบ้านให้เราฝึกอย่างนี้ตลอดเวลา แม้แต่อิริยาบถธรรมดาๆ กินข้าว อาบน้ำ ซักผ้า กวาดบ้าน พวกนี้ยิ่งมีประโยชน์เข้าไปใหญ่ ช่วยให้เราสร้างความรู้สึกตัว รู้กายรู้ใจได้ อย่างที่พูดแล้วว่าเราต้องรู้จักมองย้อนศรบ้าง อย่ามัวแต่ส่งจิตออกนอก กลับเข้ามารู้กายรู้ใจของเราอย่างต่อเนื่อง
นักปฏิบัติที่ฉลาดก็จะรู้จักฉวยโอกาส แล้วรู้จักหาประโยชน์จากทุกเหตุการณ์ ทุกกิจกรรม หรือทุกผัสสะที่เกิดขึ้น คนที่ทำเช่นนั้นพระพุทธเจ้าสรรเสริญว่าเป็นบัณฑิต อย่างที่พระนันทิยะได้เล่าให้องคุลีมาลฟังว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไรแก่ท่าน มีตอนหนึ่งท่านเล่าว่า พระพุทธเจ้าสอนว่า “ผู้ใดก็ตามที่รู้จักหาประโยชน์ทั้งจากอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ บุคคลเช่นนี้แลที่พระพุทธองค์สรรเสริญว่าเป็นบัณฑิต” อิฏฐารมณ์หมายถึง การเห็น การได้ยิน หรือการได้มาซึ่งอารมณ์ที่น่าพอใจ ไม่ว่าจะเป็นรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ก็ตาม อนิฏฐารมณ์ได้แก่ อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ไม่ว่าจะเห็นทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือได้มาซึ่งอารมณ์นั้น เช่นได้ลาภ ได้ยศ ได้สุข ได้สรรเสริญ
ทั้งอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ ถ้าเราได้รู้จักใช้ประโยชน์จากมันถือว่าเป็นบัณฑิต แต่ถ้าไม่รู้จักใช้ประโยชน์จากมันถือว่าเป็นพาลชนหรือคนพาล คือคนไม่ฉลาด เช่นพอเจออิฏฐารมณ์อารมณ์ที่น่าพอใจ ก็เกิดความเพลิดเพลินยินดีจนประมาท จนใหลหลง แล้วก็ปล่อยให้ประมาท ใครชมเราเราก็ปลื้ม ปลื้มแล้วก็เลยหลงตัวลืมตนว่าฉันเก่งฉันแน่ สิ่งนี้ก็นำไปสู่ความประมาทได้ หรือถูกตำหนิ ถูกต่อว่า ก็เกิดความขุ่นเคือง ฉุนเฉียว แทนที่จะนำคำพูดเหล่านั้นมาพิจารณาเพื่อปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น อย่างที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า “เมื่อมีใครต่อว่า มีใครว่ากล่าว หรือว่าประสบความเสื่อม ก็ปรารภสิ่งเหล่านั้น ใคร่ครวญสิ่งเหล่านั้น เพื่อกระตุ้นเร่งเร้าให้สร้างความดี หรือสร้างความเจริญให้เกิดขึ้น” คำว่ากระตุ้นเร่งเร้าท่านใช้คำว่า สังเวช สังเวคะ หรือ สังเวชะ ไม่ใช่สลดหดหู่ ไม่ใช่เศร้าหมอง แต่เพื่อเกิดความตื่นตัว รู้สึกต้องเร่งเร้า อะไรที่เขาพูดแล้วถูกต้องเราก็ปรับปรุงแก้ไข แบบนี้เรียกว่ารู้จักใช้ประโยชน์จากอนิฏฐารมณ์
คนฉลาดหรือบัณฑิตเมื่อประสบกับอารมณ์ที่น่าพอใจ แม้จะมีความอภิรมย์ยินดี แต่ก็ใช้ความอภิรมย์ยินดีเป็นแรงกระตุ้น หรือกำลังใจส่งเสริมให้ทำความดีมากขึ้น ไม่ใช่เคลิบเคลิ้มหลงใหลแล้วก็อยู่เฉยไม่ทำอะไรเลย หรือเกิดกิเลสตัณหาพอกพูนมากขึ้น อารมณ์ที่น่าพอใจสามารถโน้มนำจิตให้เกิดราคะขึ้นได้ เกิดความยึดติดขึ้นได้ แต่ถ้าผู้ที่ฉลาดผู้ที่เป็นบัณฑิต เจออิฏฐารมณ์ เจอรูป รส กลิ่น เสียง ที่น่าพอใจหรือที่น่ายินดี นอกจากจะรู้เท่าทันความยินดีนั้นแล้วยังสามารถใช้ประโยชน์จากมันได้
อย่างพระนาคสมาล มีเรื่องเล่าว่าวันหนึ่งท่านเดินบิณฑบาตในเมือง มีขบวนฟ้อนรำขบวนใหญ่ แล้วท่านเหลือบไปเป็นหญิงสาวที่กำลังฟ้อนรำ ประดับประดาด้วยเครื่องหอม ด้วยอัญมณี แล้วรำฟ้อนอย่างสวยงาม ในขณะนั้นเห็นหน้าหญิงสาวเห็นฟันในขณะที่เธอยิ้ม แทนที่พระนาคสมาลจะเกิดราคะ ท่านก็มีสติ ท่านกลับมองเห็นว่านี่แหละคือบ่วงของมารที่ล่อให้เราหลงใหลแล้วติดยึดจนเกิดทุกข์ขึ้นมา ท่านเห็นรอยยิ้มของหญิงสาวท่านกลับเห็นโทษของสังขาร ในชั่วขณะนั้นเอง ใจท่านก็ปล่อยวาง เห็นว่าสังขารเป็นโทษเป็นทุกข์ ท่านปล่อยวาง จิตก็หลุดพ้น แบบนี้เรียกว่าเป็นผู้ที่ฉลาดอย่างยิ่งในการหาประโยชน์จากอิฏฐารมณ์ แทนที่จะปล่อยใจให้เกิดราคะเกิดตัณหา ท่านกลับเกิดปัญญา
อย่างนี้คือวิสัยของนักปฏิบัติธรรม คือไม่ว่าจะตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง หรือลิ้นรับรส พูดง่ายๆคือ ไม่ว่าจะมีผัสสะอะไรเกิดขึ้นก็สามารถใช้ประโยชน์จากมันได้ เพราะที่จริงแล้ว รูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสก็เป็นธรรมะ ไม่ว่าจะเป็นรูปที่น่ายินดีหรือไม่น่ายินดีก็ตามก็ล้วนแล้วแต่เป็นธรรมะ สามารถสอนธรรมให้กับเราได้ หรือสามารถฝึกใจของเราให้เกิดธรรมะขึ้นได้ เคยมีคนถามหลวงปู่มั่นว่า ท่านเป็นพระป่า ไม่ได้เรียนสูง ปริยัติก็ไม่ได้เรียนมาก แต่ทำไมท่านถึงเข้าใจธรรมได้อย่างลึกซึ้ง ทั้งๆที่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในป่าในดง หลวงปู่มั่นตอบว่า “ธรรมะมีอยู่ทุกหย่อมหญ้าสำหรับผู้มีปัญญา” ธรรมะมีอยู่ทุกหย่อมหญ้า มีอยู่รอบตัวเราไม่ว่าจะเป็นรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส รวมทั้งอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายในก็ล้วนแล้วแต่เป็นธรรมะ จะเป็นอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ จะเป็นสิ่งแวดล้อมรอบตัว จะเป็นผัสสะที่เกิดขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็นธรรมะที่สอนธรรมให้กับเราได้ สอนให้เห็นความไม่เที่ยง ความไม่จีรัง สอนให้เห็นทุกข์ สอนให้เห็นความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของทุกสิ่ง
ลองเปิดใจดูทุกสิ่งรอบตัวสอนธรรมะ สอนไตรลักษณ์ให้กับเราตลอดเวลา อยู่ที่ว่าเราจะเปิดใจมองหรือไม่ แม้แต่ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับเราก็สอนธรรมให้กับเรา สอนให้เห็นความไม่เที่ยง สอนให้เห็นความเป็นทุกข์ที่ติดมาประจำสังขารของเรา เวลาเกิดเหตุที่ไม่น่าพึงพอใจ เกิดความสูญเสีย งานการไม่ประสบความสำเร็จ สิ่งนั้นก็เป็นธรรมะ สอนธรรมะให้กับเราเหมือนกัน สอนว่าไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลย สอนให้เห็นว่าทุกอย่างนั้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมความสำเร็จก็เกิดขึ้น เมื่อเหตุปัจจัยไม่พร้อมมีเหตุร้ายเข้ามาแทรกก็เกิดความล้มเหลว ถ้าเราเข้าใจความจริงตามเหตุตามปัจจัย เราสามารถใช้มันสร้างความเจริญขึ้นได้ เห็นอะไรเห็นใครก็ตามสอนธรรมะได้ทั้งนั้น เห็นคนเมาก็สอนได้ สอนธรรมะให้กับเราได้ แต่ถ้ามัวแต่ส่งจิตออกนอก ไม่หันกลับเข้ามาดูใจ หรือไม่น้อมเข้ามาใส่ตัวก็ไม่เห็นธรรมะ
อย่างที่ได้เล่าถึงคนที่ชื่อเกษียณ ที่เห็นคนเมาแล้วก็พูดกับเพื่อนว่าคนเมานี่โง่ กินเหล้าจนเหล้ากิน ถ้าเกิดว่าเขาฉลาดหน่อยคือกลับมาเอาสิ่งที่เห็นนั้นมาสอนใจตัวเองว่า เราต้องระวังอย่าเป็นอย่างเขา ก็จะทำให้เขาไม่หลงตัวแล้วก็เผลอ จนกระทั่งในที่สุดเป็นคนติดเหล้า ติดเหล้าจนกระทั่งเป็นอัมพาตเพราะเหล้า แล้วก็ตายเพราะเหล้า แบบนี้เพราะเขาไม่รู้จักย้อนมามองตน เห็นคนกินเหล้าแล้วเขากลับมองว่าโง่ เขาคิดว่าตัวเองฉลาดเป็นคนที่ไม่มีทางที่จะตกหลุม ไม่มีทางที่จะตกเป็นทาสของเหล้าได้ เหล้าเล่นงานแต่คนโง่แต่ไม่ใช่ฉันเพราะฉันฉลาด เหล้าทำอะไรฉันไม่ได้ แบบนี้ประมาท แต่ถ้าเขาฉลาดเขาก็จะเอามาเป็นเครื่องสอนใจตัวเองว่าเราอย่าประมาท อย่าเป็นอย่างเขาเพราะถ้าเราเป็นอย่างเขา เสียผู้เสียคนเลย ถ้ามองย้อนกลับเข้ามาดูตัวแบบนี้ป่านนี้เขาอาจจะยังมีชีวิตอยู่ก็ได้ แล้วเขาอาจจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่คนที่ตายเร็วเพราะเหล้า
เมื่อเรารู้จักมอง ทุกอย่างก็สามารถจะสอนธรรมให้กับเรา รู้จักน้อมเข้ามาใส่ตัว สอนไตรลักษณ์ก็ดี สอนเรื่องโทษของความประมาทก็ดี หรือสามารถจะฝึกใจเราด้วยก็ได้ ไม่ใช่แค่สอนแต่ฝึกเราด้วย ฝึกให้เรามีสติ เวลาเจอแดดร้อน อากาศหนาว ฝนตก ทางแฉะ ยุงกัด แมลงรบกวน เขามาสอนให้เราดูใจว่าใจเราเป็นอย่างไร ไม่ใช่มัวแต่หงุดหงิดรำคาญว่าทำไมฝนไม่หยุดตกสักที ทำไมรถไม่หายติดสักที แต่ไม่ย้อนกลับมาดูใจว่าทำไมเราไม่หยุดบ่นสักที คนเรามักจะถามว่าทำไมๆ กับสิ่งภายนอก แต่ไม่ถามตัวเองว่าทำไมไม่หยุดบ่น ทำไมไม่หยุดทุกข์ ไม่หยุดโวยวายสักที เพียงแค่เราย้อนกลับมาถามตัวเองเช่นนี้ ก็ทำให้เราได้สติขึ้นมา แมลงมันจะบินวนรบกวนอย่างไ เราก็อย่าไปบ่นไปรำคาญมันว่าเมื่อไรมันจะหยุดบิน หยุดวน หยุดรบกวนสักที ให้มีสติมาดูใจของเรา เราจะเห็นว่าเราโง่ต่างหากที่ไปเรียกร้องให้แมลงเหล่านั้น สิ่งภายนอกต่างๆเป็นไปตามใจเรา เมื่อเราเห็นใจเราก็จะหยุดบ่น หยุดโวยวายไปเอง
สิ่งนี้ฝึกสติ ฝึกให้เรารู้จักดูกาย ดูเวทนา ดูจิต เวลาปวดเวลาเมื่อยก็ควรจะมองว่าเป็นโอกาสดีที่เราจะเรียนดูเวทนา ดูเวทนาในเวทนาเป็นอย่างไร ดูเวทนาในเวทนาคือ ดูเวทนาว่าเป็นเวทนาไม่ใช่เรา ดูเวทนาดูอย่างไรก็ลองฝึกดู ใหม่ๆดูไม่เป็นก็ตรงเข้าไปในเวทนาเป็นผู้ปวดผู้เมื่อย แต่ต่อไปดูเป็นก็เห็นเวทนาโดยที่ไม่เป็นผู้ปวดผู้เมื่อย ตอนเกิดความปวดความเมื่อยใจเป็นอย่างไร ใจมันบ่น ใจมันโวยวาย ใจมันผลักไส ใจมันหงุดหงิด เห็นหรือไม่ อย่างนี้คือโอกาสดีที่จะทำให้เราได้ฝึก ฝึกทั้งเวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา แล้วก็กายานุปัสสนาด้วย กายเป็นอย่างไรในตอนที่ปวดเมื่อย บางทีตึงบางทีหัวใจก็เต้นเร็ว เพราะว่ามีความหงุดหงิดเกิดขี้นก็ส่งผลต่อร่างกาย ให้เราสามารถที่จะเจริญกายานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา ได้อย่างน้อยก็สามอย่าง ในขณะที่ความปวดความเมื่อยได้เกิดขึ้นกับเรา ในขณะที่ถูกยุงกัด ในขณะที่แดดแผดเผา
สิ่งนี้เป็นโอกาสที่เราจะใช้ประโยชน์ ใช้ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ใช้ผัสสะที่เกิดขึ้น ใช้ทุกอารมณ์ที่รับรู้ ไม่ว่าจะเป็นทางตาหูจมูกลิ้นทั้งใจด้วย ในการที่สอนธรรมให้กับเรา แล้วก็ฝึกใจให้กับเรา หรือใช้ทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องใคร่ครวญในการที่จะพิจารณาเห็นกิเลสที่ซุกซ่อนอยู่ ทุกครั้งที่มีความทุกข์ใจให้เราตระหนักว่ากิเลสกำลังอาละวาด กิเลสมันกำลังรังควาน ความทุกข์ใจที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่เกิดจากมีรากเหง้ามาจากกิเลส รวมทั้งความยึดติด เช่นยึดติดในสิ่งของ ยึดติดในหน้าตา ยึดติดในภาพลักษณ์ หรือยึดติดในความคิด เวลาทำอะไรผิดพลาดแล้วก็รู้สึกไม่พอใจ รู้สึกกังวล รู้สึกหัวเสีย เป็นเพราะความยึดติดในภาพลักษณ์ในหน้าตา ซึ่งบางทีเดินอยู่ดีๆ ก็เกิดสะดุดขึ้นมาต่อหน้าธารกำนัล เสียความรู้สึกมากเลย ความรู้สึกที่ว่าเสียนั้นมาจากความรู้สึกยึดติดในหน้าตาภาพลักษณ์ อยากให้คนเขาเห็นเราในภาพลักษณ์ที่ดี แต่ถ้าเรารู้ทันกิเลสตัวนี้ รู้ว่ากิเลสกำลังรังควานรบกวนเรา รู้แล้วก็วางมัน มันก็จบ
สิ่งที่เกิดขึ้นมาเป็นแค่อดีต ไม่ทำให้หงุดหงิด ไม่ทำให้หัวเสีย เวลาใครต่อว่าติฉินนินทา แล้วเกิดความไม่พอใจร้อนรุ่มขึ้นมา นั่นเป็นเพราะความยึดติดในตัวตน เกิดมีเกิดเป็นเพราะความหลงตัวว่าฉันเก่งฉันแน่ เพราะฉะนั้นใครมาตำหนิใครมาวิจารณ์ไม่ได้ เป็นต้องโกรธ ความโกรธเป็นตัวฟ้องตัวประจานกิเลสที่ซุกซ่อนในใจ กิเลสพวกนี้บางทีมันหลบมันซ่อน แต่พอมีอะไรขัดใจขึ้นมาพอมีอะไรไม่ถูกใจขึ้นมา มันจะโผล่มาเลย โผล่มาคือทำให้เป็นทุกข์ แต่ถ้าเรารู้จักใคร่ครวญความทุกข์ เราจะเห็นตัวกิเลสที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง เห็นแล้วเป็นอย่างไร เห็นแล้วก็ดี เห็นแล้วเรารู้ว่าจะต้องจัดการกับกิเลสตัวนี้ เพราะบางทีมันซุกซ่อนไม่ให้เห็น
มีพระรูปหนึ่งในสมัยพระพุทธกาล คิดว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์ แล้วก็หลงคิดเช่นนี้ถึงหกสิบปี หลงคิดว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์ถึงหกสิบปี เพราะว่าตัวเองใจสงบราบเรียบ วันหนึ่งเข้าไปในป่าเจอช้างป่าวิ่งไล่ ตกใจกลัว ตอนที่ตกใจกลัวทำให้รู้เลยว่าเรายังเป็นปุถุชน หลงผิดมาถึงหกสิบปี แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์จะไม่กลัว เพราะว่าไม่มีตัวตนจะให้กลัว แต่ความกลัวที่เกิดขึ้นตอนที่ถูกช้างป่าไล่ ทำให้ท่านเห็นเลยว่าเรายังเป็นปุถุชนอยู่ สิ่งนี้ดูเหมือนเป็นข่าวร้าย ข่าวร้ายว่ายังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ แต่ข้อดีคือทำให้รู้ว่ายังต้องฝึกฝนตน และท่านก็ได้ประโยชน์ความกลัว เพราะความกลัวทำให้เห็นกิเลส บางคนคิดว่าตัวเองบรรลุธรรมแล้ว ไปเห็นซากศพของหญิงสาว เกิดกามราคะ พอเกิดกามราคะก็ได้รู้เลยว่าเรายังมีกิเลสอยู่ ยังมีราคะหรือมีตัณหาอยู่ ไม่ใช่อรหันต์ สิ่งนี้ก็ถือว่าเป็นข้อดี ทำให้รู้ว่าจะต้องจัดการกับกิเลสตัวนี้
ฉะนั้นถ้าเวลาเราเจอทุกข์เราต้องฉลาด ฉลาดเรียกว่าฉลาดทุกข์ก็ได้ ฉลาดทุกข์คือเอาทุกข์นี้มาใคร่ครวญ เพื่อจะได้เห็นกิเลสของตัวเอง แล้วจะได้หาทางจัดการ แต่ถ้าไม่ฉลาดจะกลายเป็นคร่ำครวญแทน ทุกข์ไม่ได้มีไว้คร่ำครวญ ทุกข์มีไว้ใคร่ครวญ ปัญหาไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม ปัญหามีไว้ให้แก้ แต่จะแก้ได้ต้องรู้สาเหตุก่อน ปัญหาภายนอกก็สาเหตุหนึ่ง ปัญหาภายในคือความทุกข์ใจก็สาเหตุหนึ่ง ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องกิเลส เรื่องความยึดติด ฝากเอาไว้ให้พวกเราไปพิจารณาว่า ไหนๆเรามาปฏิบัติธรรมได้ บางคนทำความเพียรมาจนครบ 40 วันก็น่าจะได้วิชาความรู้ ได้หลักคิด ได้วิธีการนำไปปฏิบัติ เพื่อให้การใช้ชีวิตของเราในโลกที่กว้างมากเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง และเพื่อทำให้เราเกิดความเจริญก้าวหน้า สามารถจะใช้ทุกข์ให้เกิดประโยชน์ เพื่อนำไปสู่การเกิดปัญญาได้