แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้เป็นวันสำคัญของเราชาวพุทธ เป็นวันที่ผู้คนได้พร้อมใจกันมาทำบุญด้วยการถวายทานก็ดี รักษาศีลก็ดี และด้วยการภาวนาเพื่อให้สมกับเป็นวันบุญสำคัญในพระพุทธศาสนา แต่ที่จริงแล้ววันนี้ไม่ใช่เป็นแค่วันที่ควรแก่การมาทำบุญตามประเพณีของเราชาวพุทธเท่านั้น แต่ควรจะเป็นวันที่เราได้มาใคร่ครวญถึงความสำคัญของเหตุการณ์ที่มีความหมายอย่างยิ่ง ต่อเรื่องที่ไม่ใช่แค่เป็นเพียงประวัติศาสตร์ของชาวพุทธ แต่เป็นประวัติศาสตร์ของชาวโลกทีเดียว เพราะว่าเมื่อสองพันหกร้อยกับอีกสองปีที่ประเทศอินเดีย ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งเป็นสถานที่ที่หนทางแห่งอิสรภาพได้ประกาศเป็นครั้งแรกโดยพระบรมศาสดา
ก่อนหน้านั้นอาจจะมีผู้รู้เกิดขึ้นมากมายแต่ท่านไม่แสดงธรรม ท่านไม่สอนเรียกว่าเป็นปัจเจกพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าท่านบรรลุถึงอิสรภาพแล้ว พ้นทุกข์แล้วแต่ท่านไม่เผยไม่แสดงหนทางแห่งอิสรภาพนั้น แต่ว่าพระพุทธเจ้าของเราไม่เพียงแต่ทรงค้นพบหนทางแห่งอิสรภาพ แต่ยังนำมาประกาศนำมาเผยนำมาแสดง ด้วยการแสดงปฐมเทศนาธัมมจักกัปปวัตนสูตรอย่างที่เราได้สาธยายเมื่อสักครู่ ขอให้รู้ว่าธรรมะนั้นคือแผนที่สู่การดับทุกข์ เป็นแผนที่ที่จะนำมนุษย์ไปสู่อิสรภาพ ถ้าพูดภาษาสมัยใหม่คือโรดแมป (Road map) เป็นโรดแมปที่ไม่เคยมีมนุษย์คนไหนได้ค้นพบมาก่อน มีพระพุทธองค์ที่ทรงไม่เพียงแต่บรรลุด้วยพระองค์เอง แต่นำมาแสดงอย่างเป็นระบบอย่างเป็นระเบียบ เมื่อเราได้สวดและพิจารณาตามก็จะเห็นลำดับของโรดแมปนี้
มนุษย์เราถูกครอบงำด้วยความทุกข์มาช้านาน เรียกว่าตั้งแต่เกิดมาเป็นมนุษย์หรือก่อนที่จะครองร่างมนุษย์อีก คือตั้งแต่เป็นสัตว์เดรัจฉาน มนุษย์เราพัฒนามาเป็นสัตว์ชั้นสูง แต่ไม่ว่าจะสูงแค่ไหนก็ยังถูกครอบงำด้วยความทุกข์ อย่างที่เราได้สวดมนต์ทำวัตรเช้าทุกวัน มีข้อความตอนหนึ่งว่า “เราทั้งหลายเป็นผู้ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว เป็นผู้ที่มีความทุกข์เบื้องหน้าแล้ว” เป็นผู้ที่ถูกความทุกข์ครอบงำแล้ว ความทุกข์ที่ว่าคือเมื่อเกิดขึ้นมาก็ต้องเจอกับความแก่ ความเจ็บป่วย ความพลัดพรากสูญเสีย ความโศก ความรำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ แล้วสุดท้ายก็จบลงด้วยความตาย
มนุษย์คนแล้วคนเล่าต้องประสบกับชะตากรรมนี้ ไม่ว่าจะร่ำรวยยิ่งใหญ่แค่ไหน เป็นพระเจ้าจักรพรรดิที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นอเล็กซานเดอร์ ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าอโศก หรือจักรพรรดิที่ตามมาอีกมากมาย แม้แต่ผู้ที่มีอำนาจเหนือชีวิตของผู้คนอย่างคนที่สร้างทัชมาฮาลชื่อ ชาห์ชะฮัน ยิ่งใหญ่แค่ไหนก็สุดท้ายก็จบลงด้วยความทุกข์ อย่างเช่นชาห์ชะฮันก็ตายในคุก ถูกลูกชายคือออรังเซพเป็นผู้ที่ทำปิตุฆาต ออรังเซพแม้จะยิ่งใหญ่แค่ไหนเมื่อจะตายเขาก็ไม่มีความสุขเหมือนกัน เขาพร่ำเพ้อเวทนาคร่ำครวญเหมือนกับว่าชีวิตมีแค่นี้เองหรือ สิ่งนี้เป็นชะตากรรมของมนุษย์ ไม่ว่าร่ำรวยยิ่งใหญ่แค่ไหน
แต่ในที่สุดประตูสู่อิสรภาพก็เปิดขึ้น จากการที่พระพุทธเจ้าได้เผยได้แสดงหนทางสู่อิสรภาพ อิสรภาพจากความทุกข์ คือแม้คนเราเกิดมาแล้วยังต้องแก่ต้องเจ็บต้องพลัดพรากสูญเสียและต้องตายในที่สุด แต่สามารถจะยกจิตให้เป็นอิสระจากความทุกข์เหล่านั้นได้ คือแม้ทุกข์กายอย่างไรเพราะถูกบีบคั้นด้วยความแก่ ความเจ็บ ความพลัดพรากสูญเสีย และความตาย แต่ใจไม่เป็นทุกข์ด้วย ไม่มีใครหนีความทุกข์ที่ว่า มาก็จริงแต่จิตใจสามารถที่จะไม่เป็นทุกข์ได้ สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศทรงนำมาแสดง คืออิสรภาพทางจิตใจ ซึ่งถ้าเป็นการบรรลุอิสรภาพโดยสมบูรณ์ หมายความว่าแม้กระทั่งความแก่ ความเกิด และความตายก็เป็นอันยุติ ไม่มีเกิดไม่มีตายอีกต่อไป
ตราบใดที่ยังเกิดก็ต้องเจอความทุกข์อยู่ร่ำไป แล้วความเกิดก็เป็นทุกข์ เรานึกภาพเด็กที่คลอดออกมาจากท้องแม่ เขาทุกข์เขาทรมานแค่ไหน เขาตื่นตกใจ ที่ถ้าโชคดีก็รอด ส่วนใหญ่ก็โชคดีคือรอดแต่มีจำนวนหนึ่งที่ไม่รอด หรือถึงรอดมาแม้ว่าจะมีพ่อแม่ร่ำรวยแค่ไหนก็ยังต้องเจอความทุกข์ อย่างที่ว่ามาจึงต้องถูกครอบงำด้วยความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ แต่เมื่อไรก็ตามที่สามารถที่จะเข้าถึงอิสรภาพ ที่ว่าเป็นอิสรภาพทางใจ จะไม่มีเชื้อให้ไปเกิดอีกต่อไป หลุดเพราะว่าหลุดพ้นจากวัฏสงสารแล้ว อิสรภาพที่ว่าไม่ใช่แค่อิสรภาพจากความทุกข์ แต่ยังหมายถึงความหลุดพ้นจากวัฏสงสาร ที่เป็นเหมือนกรงขังครอบงำชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าจะชีวิตมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะอยู่ในขันธ์ใดก็ตาม
เพราะฉะนั้นวันอาสาฬหบูชาจึงเป็นวันสำคัญ ที่เราควรจะใคร่ครวญเพื่อเข้าใจและเห็นถึงความหมายของวันนี้ ซึ่งจะทำให้เรากลับมาถามตัวเราเองด้วยว่า แล้วเราจะมีชีวิตอย่างที่เรามีอยู่ คือยู่ไปวันๆ หรืออยู่เพื่อเสพสุขไล่ล่าหาทรัพย์สมบัติ แสวงหาชื่อเสียงเกียรติยศ เสร็จแล้วแม้ได้ประสบความสำเร็จก็ยังเจอความทุกข์ ถูกความทุกข์บีบคั้นจนกระทั่งถึงวันสิ้นลม เราจะอยู่แบบนั้นหรือ หรือเราจะทำมากกว่านั้น เพราะว่ามนุษย์เรามีความสามารถ มีศักยภาพที่จะเข้าถึงความสุข และชีวิตที่ประเสริฐกว่านั้นได้ ให้เราพิจารณาบทสวดหรือคำเทศนาของพระพุทธเจ้าที่เราได้สาธยายมาสักครู่ พิจารณาดูจะพบว่า คนเราไม่จำเป็นต้องเกิดมาแล้วปล่อยชีวิตไปตามกระแส เพื่อที่จะต้องเจอความทุกข์บีบคั้น แม้จะหวังว่าทรัพย์สินเงินทองชื่อเสียงเกียรติยศจะช่วยทำให้เรามีความสุขได้ แต่ก็เป็นสุขชั่วคราวเท่านั้นเอง สุดท้ายก็หนีความทุกข์ไม่พ้น แต่หนทางแห่งความพ้นทุกข์นั้นมีอยู่ เพียงแต่ว่าเราต้องหันมาดำเนินชีวิตที่พระพุทธเจ้าเรียกว่าทางสายกลาง
ทางสายกลางคือ อริยมรรคมีองค์แปด ทำไมจึงเรียกว่าทางสายกลาง เพราะว่าทางสุดโต่งอีกสองทางที่ขนาบ หรือขนาบซ้ายขวา ทางสุดโต่งทางแรกเรียกว่าการเพลิดเพลินในกามสุข การพัวพันอยู่ในกามสุข อย่างที่พระพุทธเจ้าได้เคยประสบหรือได้เคยผ่านมาแล้วสมัยที่ได้เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ทุกอย่างเท่าที่สามารถปรนเปรอกิเลสได้ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่น่าพอใจก็ถูกนำมาเสนอเสพแล้วเสพอีก แต่ก็ไม่พบความสุขที่แท้เลย แบบนี้คือ "กามสุขัลลิกานุโยค" อีกทางหนึ่งซึ่งเป็นทางสุดโต่งอีกด้านคือ การทรมานตน เป็นวิธีการที่ตรงข้ามกับการปรนเปรอตนด้วยกามสุข ทางสุดโต่งทางแรกเรียกว่าปรนเปรอด้วยผัสสะด้วยอารมณ์ที่น่าพอใจ ส่วนทางสุดโต่งอีกทางหนึ่งเป็นการทรมานตน อดอาหาร กลั้นลมหายใจ ยืนกลางแดด หรือนอนบนตะปู หรือกินอุจจาระวัวอุจจาระควาย สิ่งนี้คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทดลองมาหมดแล้ว และพบว่าไม่ใช่ทางแห่งความพ้นทุกข์ และพระองค์ได้พบว่า ทางสายกลาง จะเป็นหนทางแห่งอิสรภาพได้ สู่การพ้นทุกข์ สู่การพ้นจากวัฏสงสาร
สมัยนี้คำว่าทางสายกลางเราก็คุ้นหูและคุ้นใจดี แต่สมัยพุทธกาลเป็นของแปลกใหม่มาก เพราะว่าไม่มีใครนึกเลยว่าจะมีเส้นทางสายนี้ที่จะนำพาไปสู่การพ้นทุกข์ได้ ทางสายกลางที่ประกอบไปด้วยอริยมรรคมีองค์แปด ถ้าสรุปง่ายๆ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา พวกเราคงจะรู้จักคำว่าไตรสิกขา สิกขาแปลว่าศึกษา หรือการปฏิบัติสามอย่างคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลเป็นเรื่องการฝึกกายวาจา ส่วนสมาธิเป็นเรื่องการปฏิบัติทางจิต ปัญญาคือการปฏิบัติไปเพื่อทำให้เกิดปัญญาขึ้นมา ทำให้เกิดวิชชา ทำให้เกิดแสงสว่าง ทำให้เกิดจักษุขึ้นมา บางคนรู้สึกว่าองค์แปดประการนี้จำยาก ถ้าสรุปย่อๆก็เหลือแค่สาม ศีล สมาธิ ปัญญา แต่จะลงมือรักษาศีลได้ เราต้องมีความเชื่อที่ถูกก่อน ต้องมีความเห็นที่ถูกก่อน เริ่มตั้งแต่ความเห็นว่าทางสุดโต่งสองทางนั้นไม่มีทางพาเราพ้นทุกข์ได้
สมัยนี้คงไม่มีใครคิดว่าการทรมานตนจะพาเราพ้นทุกข์ได้ แต่อีกทางสายหนึ่งยังมีคนเชื่ออยู่มากเลย คือเชื่อว่าการหาสิ่งเสพมาปรนเปรอตน หาเงินหาทองหาทรัพย์สมบัติเพื่อจะได้มี มีของอร่อยๆ ได้ฟังเพลง ได้เสพสุข ได้ใช้กระเป๋าแบรนด์เนม ได้มีรถยนต์คันละหลายสิบล้าน พวกนี้จะเป็นหนทางแห่งความสุขได้ ในยุคบริโภคนิยมผู้คนก็หลงไปสู่กามสุขัลลิกานุโยคกันมาก กามสุขัลลิกานุโยคที่พระพุทธเจ้าปฏิเสธเมื่อสองพันหกร้อยปีที่แล้ว ทุกวันนี้ก็ยังเฟื่องฟูอยู่ เฟื่องฟูหนักขึ้นด้วย ผู้คนจำนวนมากตั้งเป้าจุดหมายในชีวิตขอให้รวย รวยแล้วก็รวย ที่จริงรวยอย่างเดียวไม่พอต้องรวยกว่าด้วย แม้จะรวยแต่เห็นคนอื่นรวยกว่าก็ทุกข์ คนสมัยนี้ไม่ได้ปรารถนาแค่รวยแต่ว่าอยากจะรวยกว่าด้วย ถ้าตัวเองรวยแต่รวยน้อยกว่าคนอื่นก็ทุกข์ ก็ต้องแข่งขันเพื่อที่จะรวยให้ได้มากกว่าคนอื่น หรืออย่างน้อยก็ต้องเท่าๆกัน ความคิดว่ารวยจะทำให้ ให้มีความสุขไม่มีความทุกข์ ก็เป็นกามสุขัลลิกานุโยคแบบหนึ่ง แต่ที่จริงเป็นหนทางแห่งความทุกข์
สมัยที่หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสระแก อยุธยา ท่านยังมีชีวิตอยู่ วันหนึ่งมีหนุ่มคนหนึ่งมากราบท่าน ปกติท่านชอบมานั่งอยู่หน้ากุฏิ หนุ่มคนนั้นก็บอกกับหลวงปู่ว่าพึ่งไปเช่าพระอุปคุตมา ราคาแพงทีเดียว หลวงปู่ถามว่าไปเช่ามาทำไม เขาตอบว่าอยากรวยครับ หลวงปู่ก็เลยเปรยขึ้นมาเบาๆว่า รวยกับซวยนี่มันใกล้กัน เขางงถามท่านว่าหมายความว่าอย่างไรครับหลวงปู่ ทีแรกท่านบอกมันเขียนคล้ายๆกัน แต่ตอนหลังท่านอธิบายเพิ่มเติมว่าจะหามามันก็ทุกข์ คือต้องเหนื่อยกับการหา ได้มาแล้วก็เหนื่อยกับการรักษา เสร็จแล้วพอมันหายไปก็ทุกข์อีก คือเรียกว่าทุกข์ทั้งขึ้นทั้งล่อง ทุกข์ตั้งแต่เริ่มต้นหา หาแล้วไม่ได้ก็ทุกข์ แม้หาได้สำเร็จก็ยังทุกข์กับการรักษากลัวคนมาแย่งชิงเอาไป ต้องติดกล้องวงจรปิดต้องสร้างกำแพงต้องใส่ตู้เซฟ
ไม่ต้องพูดถึงคนที่ไปคอรัปชั่นมายิ่งต้องมีภาระมากขึ้นในการเก็บในการซ่อน บางรายบอกไม่เอาเช็คจะเอาเงินสด เพราะว่าเอาเช็คแล้วตามหาได้ กฎหมายฟอกเงินตามไปถึงได้ มีหลักฐาน จึงเอาเป็นเงินสด เอาเงินสดก็มีปัญหาอีกว่าเก็บไว้ที่ไหน จะฝังดินก็ไม่ได้ เก็บไว้ที่บ้านก็ต้องซ่อนให้ดีอย่าให้คนมาเปิดเห็น แต่เคยมีโจรเคยปล้นบ้านปลัดกระทรวงกระทรวงหนึ่ง ปรากฏว่าเจอเป็นเงินสดหลายสิบล้าน ขนมาได้แค่เจ็ดแปดล้าน สุดท้ายเป็นข่าวใหญ่โตเพราะว่าโจรถูกจับได้ ก็เลยเปิดเผยว่าบ้านนั้นมีเงินสดเกือบยี่สิบล้าน ทำไมเอาเงินสดเก็บไว้ที่บ้านเพราะว่าไม่รู้จะเก็บที่ไหน จะเอาไปซื้อที่ดินก็ไม่ได้เพราะคนขายไม่ได้ขายที่ดินด้วยเงินสด สิ่งนี้ก็เป็นภาระ เป็นความซวยอย่างหนึ่งของคนที่หาเงินมาด้วยวิธีนี้ สุดท้ายถ้าถูกจับได้ก็ยิ่งซวยหนักขึ้น ที่หลวงปู่ดู่ท่านบอกว่ารวยกับซวยก็น่าคิดทีเดียว เพราะฉะนั้นท้ายที่สุดเลย ไม่ใช่เป็นหนทางแห่งความพ้นทุกข์ได้ ความมั่งมีแบบนี้รวมทั้งการปรนเปรอตนด้วยรูปรสกลิ่นเสียงที่น่าพอใจ
ทางหลุดพ้นเริ่มต้นด้วยการมีสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบว่าทางสองทางที่ว่ามา ไม่ว่าจะเป็นการทรมานตนก็ดี หรือการแสวงหามั่งมีปรนเปรอตนด้วยวัตถุสิ่งเสพก็ดี ไม่มีทางที่จะนำพาให้พบกับความสุขอย่างแท้จริงได้ สัมมาทิฏฐิยังมีความหมายว่า คือความเห็นชอบว่าทำดีต้องได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว ไม่ใช่เรื่องบังเอิญว่าทำชั่วแล้วจะได้ดี ทุกอย่างมีเหตุมีปัจจัย สัมมาทิฏฐิคือความเชื่อเรื่องกรรม เชื่อว่าคนเราจะสุขหรือทุกข์ก็เพราะกรรมที่ได้ทำ ไม่ใช่กรรมที่ทำเมื่อชาติที่แล้ว มีคนเดี๋ยวนี้มีความเชื่อที่แพร่หลายว่าทุกสิ่งที่เราเจอในวันนี้เดี๋ยวนี้ ไม่ว่าสุขหรือทุกข์นั้นเป็นผลจากกรรมเก่าในอดีตชาติ ป่วยก็เพราะอดีตชาติ ป่วยเพราะกรรมเก่าในอดีตชาติ ทำมาค้าขายไม่ขึ้นไม่ประสบความสำเร็จก็เพราะกรรมในอดีตชาติ เอะอะอะไรก็บอกว่าเป็นเพราะกรรมในอดีตชาติ เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นคำสอนในพระพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าตรัสว่า คำสอนนอกพระพุทธศาสนามี ๓ อย่าง อย่างที่หนึ่ง คือความเชื่อที่ว่าอะไรที่เกิดขึ้นกับเราในวันนี้ไม่ว่าสุขหรือทุกข์เป็นเพราะกรรมในอดีต ท่านเรียกว่า ปุพเพตกเหตุวาท ความเชื่อแบบนี้เป็นลัทธิชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า ปุพเพกตเหตุวาท คือเป็นลัทธินอกพระพุทธศาสนา อย่างที่สอง อีกลัทธิหนึ่งบอกว่าสุขหรือทุกข์ก็เพราะการดลบันดาลของพระเจ้าของเทวดา สมัยนี้คงจะรวมถึงพระราหูด้วย ก็เลยเกิดประเพณีเกิดค่านิยมไปเซ่นไหว้ไปบวงสรวงเทวดามากมายชื่อแปลกๆ เรื่องนี้ก็เป็นความเชื่อนอกพระพุทธศาสนา ถึงแม้ว่าการบวงสรวงนั้นจะทำในวัดก็ให้รู้ว่านั่นไม่ใช่พระพุทธศาสนา มีชื่อว่าอิศวรนิรมิตเหตุวาท คือความเชื่อว่าสุขทุกข์เกิดจากการดลบันดาลของเทวดาหรือพระเจ้า ถ้าเชื่อแบบนี้ก็ไม่สนใจทำความดี ก็เอาแต่เซ่นสรวงบูชา ไปหาพระที่เขาเชื่อว่าขลัง อย่างเช่นชายหนุ่มคนที่ว่าก็ไปเช่าพระอุปคุตมา เพราะคิดว่าจะทำให้รวยได้โดยที่ไม่ต้องเหนื่อย ไม่ต้องทำงาน สิ่งนี้ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างที่สามคือความเชื่อว่า สุขทุกข์นั้นไม่มีสาเหตุ เป็นความบังเอิญไม่มีเหตุไม่มีผลทั้งสิ้น เป็นเรื่องของโชคชะตาเป็นเรื่องของความบังเอิญ ถ้าเชื่อแบบนี้ก็ไม่สนใจที่จะเดินหรือปฏิบัติทางสายกลาง คนที่จะเชื่อแล้วพาตนดำเนินบนทางสายกลางต้องมีสัมมาทิฏฐิ ในข้อที่ว่าทางสุดโต่งสองทางก็ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ และมีความเชื่อมีความเห็นว่า ต้องทำความดีด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้น อริยมรรคมีองค์แปดเ เริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิ
แบบนี้เมื่อมีสัมมาทิฏฐิแล้วก็ต้องมี การดำริชอบ คือการดำริที่ไม่ถูกครอบงำด้วยความอยากคือ ตัณหา ความพยาบาท หรือความมุ่งร้าย เพราะถ้าคิดแบบนี้หรือถูกครอบงำด้วยกิเลสแบบนี้ก็ทำความดีได้ยาก จะทุกข์ตั้งแต่คิดแล้ว แค่คิดด้วยตัณหาก็ทุกข์แล้ว อยากได้นั่นอยากได้นี่ เพียงแค่อยากก็ทุกข์แล้ว เพราะว่าพอมีความอยากขึ้นจิตใจก็รุ่มร้อน พอมีความอยากได้รถอยากได้บ้านอยากได้โทรศัพท์อยากได้แก้วแหวนเงินทองอยากได้ตำแหน่ง ก็ทุกข์ตอนนั้นทันทีเลย เพราะว่าเวลาที่คนเราอยาก สิ่งที่เราอยากคือสิ่งที่เรายังไม่มี พอรู้ว่าเราไม่มีนั่นไม่มีนี่ก็เป็นทุกข์เลย ตอนที่ไม่อยากนี่ก็มีความสุขสบายดี แต่พออยากปุ๊บก็จะรู้สึกว่าฉันยังไม่มีโน่นยังไม่มีนี่ แค่ความคิดแบบนี้ก็ทุกข์แล้ว ความพยาบาทก็เช่นเดียวกัน ความพยาบาทคือความโกรธ อยากจะทำร้ายเขา แล้วถ้าวางแผนคิดทำร้ายเขาจริงๆ แบบนี้ยิ่งทุกข์เข้าไปใหญ่ คนเราทุกข์เพราะความคิด
เพราะฉะนั้นความดำริชอบก็สำคัญเหมือนกัน ในการที่จะนำพาเราให้เจริญในอริยมรรคมีองค์แปด คนเราถ้ามีความคิดมุ่งร้ายไม่จะอยากจะทำความดี จะไม่สนใจที่จะรักษาศีล หรือถ้ามีตัณหามากๆ การที่จะรักษาศีลข้อที่สอง คือไม่ขโมย อทินนาทานก็ยาก ถ้ามีความโลภ มีความพยาบาท มีความมุ่งร้าย รักษาศีลข้อที่หนึ่งก็ยาก คือปาณาติบาต เพราะฉะนั้นการที่คนเราจะเจริญในองค์มรรคได้ คือเริ่มต้นที่จะทำความดี ต้องมีความเชื่อ มีความเห็นที่ถูก และมีความดำริที่ถูกด้วย เพราะฉะนั้น สัมมาทิฏฐิ หรือ สัมมาสังกัปปะ จึงเป็นสองข้อแรก หลังจากนั้นจะนำไปสู่ สัมมาวาจา สัมมาอาชีวะ สัมมากัมมันตะ คือศีลห้า แต่ท่านตัดมาเหลือแค่สามข้อแรก
คนเราจะมุ่งมั่นในการทำความดี เริ่มตั้งแต่มีสัมมาวาจา พูดจริง ไม่พูดเท็จ ไม่พูดจาส่อเสียด และประสงค์ที่จะมีอาชีพที่บริสุทธิ์สะอาด ซึ่งหมายถึงการไม่คอรัปชั่น การไม่โกง ไม่หลอกลวง รวมทั้งไม่พัวพันในอบายมุข เพราะมีสัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะเป็นจุดเริ่มต้น คราวนี้พอกายวาจาได้รับการอบรมด้วยสัมมาวาจา ด้วยสัมมากัมมันตะ ด้วยสัมมาอาชีวะแล้ว ตอนนี้ก็เข้ามาฝึกใจ แล้วเริ่มต้นด้วยสัมมาวายามะ สัมมาวายามะคือความเพียรพยายาม ความเพียรพยายามต้องอาศัยใจ ใจสู้ ใจที่ไม่ยอมท้อถอย ใจที่อดทน จึงจะทำให้เกิดความเพียรที่ชอบได้ แล้วคราวนี้มาเจริญสร้างสัมมาสติ และสัมมาสมาธิ ทั้งสัมมาสติและสัมมาสมาธิจะเป็นตัวบ่มเพาะให้ปัญญาเกิด ช่วยทำให้สัมมาทิฏฐิมีการพัฒนาเป็นความเห็นชอบที่ละเอียดประณีตมากขึ้น จนถึงขั้นเห็นว่า ไม่มีอะไรที่เป็นตัวเราของเราเลย เรียกว่า รู้ว่ากายและใจนี้ ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เรียกว่าละสักกายทิฏฐิได้
ถ้ายังมีสักกายทิฏฐิ ความเห็นความหลงว่ากายใจนี้เป็นเราเป็นของเรา ยังไม่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิที่ที่ถูกต้องบริบูรณ์ พวกเราในที่นี้จะมีสัมมาทิฏฐิในระดับหนึ่ง แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกลงไปยังมีสิ่งที่เรียกว่ามิจฉาทิฏฐิก็ได้ อย่างเช่นเชื่อว่ากายและใจนี้เป็นเราเป็นของเรา ร่างกายนี้เป็นของเรา ใจนี้เป็นของเรา แต่ถ้ามันเป็นของเราจริงก็ต้องห้ามไม่ให้แก่ไม่ให้เจ็บไม่ให้ป่วย ห้ามไม่ให้เป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้ สั่งให้มันวิ่งได้ ให้คนแก่สามารถสั่งให้ร่างกายวิ่งได้เหมือนกับตอนที่ยังเป็นหนุ่ม ถ้าทำอย่างนั้นได้จริงจึงเรียกว่าร่างกายนี้เป็นของเรา ใจนี้ถ้าเป็นของเราจริงก็สั่งให้ใจหยุดโกรธได้ สั่งให้ใจหยุดฟุ้งซ่านก็ได้ เวลาจะนอนก็บอกให้ใจสงบสักทีฉันจะนอน ก็สั่งได้ แล้วเราสั่งได้หรือไม่
ทำไมเดี๋ยวนี้คนมีปัญหามากเรื่องนอนไม่หลับ นอนไม่หลับเพราะอะไร ไม่ใช่เพราะตาค้างแต่เพราะใจต่างหากที่ฟุ้งซ่านคิดไม่หยุด สั่งให้หยุดมันไม่ยอมหยุด ยิ่งสั่งให้หยุดมันยิ่งพยศยิ่งต่อต้านยิ่งขัดขืน เพราะอะไร เพราะว่าใจไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ถ้ายังเห็นใจเป็นเรากายเป็นเราเป็นของเราเรียกว่ายังมีสักกายทิฐิ ถ้ายังมีสักกายทิฏฐิเรียกว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิได้ คือยังมีความเห็นที่เจือไปด้วยอวิชชา แต่เราจะเห็นเราจะละสักกายทิฏฐิได้ ด้วยการเจริญสติการเจริญสัมมาสมาธิ และเมื่อเราพูดง่ายๆ คือเราภาวนานั่นเอง ภาวนาหรือวิปัสสนา และถ้าเราไม่เพียงแต่ทำความดีด้วยการมีสัมมาวาจา สัมมาอาชีวะ สัมมากัมมันตะ แต่เราฝึกใจให้เห็นความจริง ปัญญาที่เกิดขึ้นนั้นจะทำให้เราเห็นทางสายกลางได้ละเอียดมากขึ้น ทางสายกลางที่เรารู้จักคือ อริยมรรคมีองค์แปด คือทางที่ไม่ใช่การทรมานตนหรือการพัวพันในกาม
ส่วนใหญ่ทางสุดโต่งสองทางเราเห็นแค่นั้นเรารู้จักแค่นั้น แต่ที่จริงทางสุดโต่งมีละเอียดกว่านั้น ซึ่งเราจะเห็นได้เราจะเข้าใจได้ก็ต่อเมื่อเราได้เจริญภาวนาสัมมาสติ สัมมาสมาธิ จะเห็นว่าจริงๆแล้ว ถึงแม้ทุกวันนี้เราไม่ได้ไปพัวพันกับกามสุขัลลิกานุโยคแล้ว เราไม่เป็นคนที่ใช้ชีวิตอย่างเพลย์บอยเอาแต่เที่ยวเอาแต่สนุกสนาน เราไม่ใช่คนที่ทรมานตนด้วยอย่างพวกโยคีหรือฤาษีชีไพร แต่เราอาจจะหลงในทางสุดโต่งที่ละเอียดกว่านั้นได้ เช่นเวลาสุขก็สุขจนมากมาย เวลาเจออารมณ์ที่น่าพอใจก็เคลิบเคลิ้มหลงใหล เช่นดูหนังฟังเพลงไพเราะก็ห้ามใจไม่อยู่ต้องขยับเท้าส่ายเอว เพลินไปกับความสนุกสนาน หรือเพลินไปกับอารมณ์ที่น่าพอใจ ใครชมเราเราก็ปลาบปลื้มยินดีคือเพลินในสุข สิ่งนี้ก็ถือว่าทางสุดโต่งอีกทางหนึ่งที่ละเอียดกว่าเดิม อีกอย่างหนึ่งคือการจมอยู่ในทุกข์ การจมในทุกข์ เช่น ความโกรธ ความเศร้า ความเสียใจ เวลาถูกคนตำหนิติเตียนก็หงุดหงิดไม่พอใจ แล้วก็จมอยู่ในอารมณ์นั้น เวลาเงินหาย รถถูกขโมยไป หรือสูญเสียคนรักก็เศร้าจมอยู่ในความเศร้านั้น ถ้าจมอยู่ในความทุกข์ อยู่ในอารมณ์เศร้าอย่างนี้ก็เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค ได้เหมือนกัน แต่เป็นอัตตกิลมถานุโยคแบบละเอียด ซึ่งเราจะไม่เข้าใจจนกว่าเราจะได้ปฏิบัติธรรม แล้วเรารู้จักรักษาใจให้เป็นปกติได้
เจออารมณ์ที่น่าพอใจก็ไม่เคลิบเคลิ้มไม่ฟู เจออารมณ์ที่ไม่น่าพอใจก็ไม่จมอยู่ในอารมณ์เหล่านั้นไม่แฟบ ตราบใดที่ยังเพลินในสุขจมในทุกข์ก็ยังรียกว่ายังพลัดอยู่ในทางสุดโต่งได้ หรือเวลาเราปล่อยใจไปตามกิเลส ปล่อยใจไปตามกิเลสนี้เรียกว่าพัวพันในกามได้ โดยเฉพาะกิเลสที่อยากได้โน่นอยากได้นี่ที่เป็นวัตถุสิ่งเสพน่าพอใจ แม้เพียงแค่ฝัน ฝันกลางวันอยากได้โน่นอยากได้นี่ เพลินใจไปตามกิเลสก็เป็นทางสุดโต่งอันหนึ่ง หรือพยายามกดข่มอารมณ์ความรู้สึกก็เป็นทางสุดโต่งอีกทางหนึ่ง ที่อยู่ในหมวดประเภทอัตตกิลมถานุโยค คือการทรมานตน การบีบคั้น ไม่ใช่บีบคั้นกายแต่บีบคั้นใจ บีบคั้นใจด้วยการกดข่มอารมณ์ความรู้สึก แบบนั้นเรียกว่าทรมานตน แต่ถ้าไม่บีบคั้นแต่ปล่อยใจไปตามกิเลส ไม่ว่าจะเป็นความอยากได้คือตัณหา ความโกรธ ปล่อยมันไปเต็มที่เลย แม้เพียงแค่ความคิดก็เรียกว่าเป็นการพัวพันในกามได้ เห็นหรือไม่ว่าทางสุดโต่งมีทั้งหยาบแบบหยาบและแบบละเอียด แบบละเอียดนี่เราจะไม่เข้าใจจนกว่าเราจะได้ภาวนา ได้เจริญในสัมมาสติ สัมมาสมาธิ
หรือเวลาปล่อยใจลอยไปตามความคิด อย่างเช่นขณะที่เรานั่งฟังก็ปล่อยใจลอยไปตามความคิด แบบนั้นก็สุดโต่งอย่างหนึ่ง หรือการพยายามที่ไปกดข่มบังคับห้ามความคิด แบบนั้นก็สุดโต่งอีกทางหนึ่ง บางคนสงสัยว่าถ้าไม่ห้ามความคิดแล้วจะทำอย่างไรกับความคิดที่ไม่ดี เป็นความคิดชั่ว ทางสายกลางคือ มีสติรู้ทัน เห็นความคิด ไม่ใช่กดข่มความคิด มีความโกรธก็ไม่ใช่ปล่อยใจไปตามความโกรธ แต่การกดข่มก็ไม่ใช่ทางเหมือนกัน ก็มีประโยชน์แต่ยังไม่ใช่ทางสายกลางที่ประณีต ทางสายกลางคือรู้ทันอารมณ์นั้น เห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้เราได้เรียนรู้การเห็นทุกข์ด้วย
คนเราเวลาเจอทุกข์เป็นทุกข์เลย เพราะไม่รู้จักเห็นทุกข์ เวลาเจอทุกข์ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องเป็นทุกข์เสมอไป แต่เมื่อใดก็ตามที่เราไม่มีสติเราก็เป็นทุกข์ เช่นปวดเช่นเมื่อยตอนนี้ ถ้าส่วนใหญ่ก็ปล่อยใจจนเป็นผู้ปวดผู้เมื่อย แทนที่เราจะเห็นความปวดความเมื่อยว่ามันเกิดขึ้นกับกายเกิดขึ้นที่เท้าที่ขาของเรา ถ้าไม่เจริญสติจะไม่เข้าใจว่าการเป็นทุกข์และการเห็นทุกข์ต่างกันอย่างไร พระพุทธเจ้าสอนเรื่องอริยสัจสี่ เรารู้ใช่มั้ยว่าอริยสัจสี่คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แต่ที่จริงในโอวาทปาฏิโมกข์ ในธัมมจักกัปปวัตนสูตรซึ่งเราสาธยายเมื่อสักครู่ ท่านยังพูดถึงท่าทีที่ควรเกี่ยวข้องกับธรรมะแต่ละข้อในอริยสัจสี่ กล่าวคือ ทุกข์นอกจากเราจะต้องรู้ว่าหมายถึงอะไรคือ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความป่วยก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักที่ไม่พอใจก็เป็นทุกข์ พลัดพรากจากสิ่งที่รักสิ่งที่พอใจก็เป็นทุกข์ สิ่งเหล่านี้เรารู้แล้วว่าทุกข์คืออะไร แต่เราต้องรู้ว่ากิจที่ควรทำหรือท่าทีที่ควรมีต่อทุกข์คืออะไร
พระพุทธเจ้าท่านพูดธรรมะหมวดหนึ่งในในปฐมเทศนาคือ กิจในอริยสัจ กิจในอริยสัจคือ กิจที่ควรทำ ท่าทีที่พึงมีต่ออริยสัจแต่ละข้อ เช่นทุกข์ พระองค์ตรัสว่า “ทุกข์เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้” กำหนดรู้ภาษาบาลีท่านใช้คำว่าปะริญญา สิ่งที่ควรกำหนดรู้ก็คือปะริญเญยย ปะริญเญยยยันติ หมายความว่าป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ สิ่งที่ควรกำหนดรู้เราไปเข้าใจว่ากำหนดรู้คือการเพ่ง แต่ปะริญญาแปลว่ารู้รอบ ปะริญเญยยยันติถ้าแปลให้ดีคือสิ่งที่ควรรู้รอบ หรือสิ่งที่ควรเข้าใจให้ทั่วถึง เริ่มตั้งแต่รู้ว่าทุกข์เกิดขึ้นกับกายกับใจ และเราเห็นทุกข์นั้นแทนที่จะเป็นทุกข์ ถ้าเราไม่เจริญสติ ไม่รู้จักสัมมาสติเราจะไม่สามารถที่จะเห็นทุกข์ได้ เราจะไม่สามารถที่จะรู้ทุกข์อย่างทั่วถึงได้ ทุกข์ไม่ได้มีไว้เป็น และทุกข์ไม่ได้มีไว้โกรธ ทุกข์ไม่ได้มีไว้เกลียดด้วย บางคนบอกว่าเกลียดทุกข์เหลือเกิน แบบนี้ก็ไม่ถูก คนที่ฉลาดเขาจะรู้ว่าทุกข์ไม่ใช่สิ่งที่ต้องเกลียด ไม่ใช่สิ่งที่ต้องกลัว แต่ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องรู้ให้ทั่วถึง เราจะรู้ให้ทั่วถึงเราต้องเผชิญหน้ากับทุกข์ แล้วก็พิจารณาด้วยสติ
ถ้าเราเข้าใจถ้าเราศึกษาใคร่ครวญธัมมจักกัปปวัตนสูตร อย่างที่เราสาธยายมา เราจะพบวิธีในการที่จะรับมือกับความทุกข์ เราจะพบวิธีในการที่จะเกี่ยวข้องกับความทุกข์อย่างถูกต้อง ทุกวันนี้พอเจอทุกข์เป็นทุกข์เลย ไม่ว่าทุกข์จะมาในรูปไหนก็เป็นทุกข์ คือทุกข์กายทุกข์ใจ ทุกข์กายแต่ไม่ทุกข์ใจนี้เป็นไปได้ ทำได้ เสียแต่ของแต่ใจไม่เสียก็ทำได้ ความโกรธเกิดขึ้นแต่ไม่เป็นผู้โกรธแบบนี้ทำได้ มีทุกข์เกิดขึ้นแต่ไม่เป็นผู้ทุกข์ก็ทำได้ และที่จริงความจริงเป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า “มีความทุกข์แต่ไม่มีผู้ทุกข์” แต่เพราะความหลงทำให้เกิดความสำคัญมั่นหมายเป็นผู้ทุกข์ขึ้น
ฉะนั้นถ้าเราไม่ภาวนาเจริญสติ เราไม่ใช้สติเข้ามาดูทุกข์เพื่อให้รู้จักทุกข์อย่างทั่วถึง รู้รอบอย่างที่ท่านใช้คำว่าปะริญญา เราก็ยังจมอยู่ในความทุกข์ต่อไป และประตูแห่งความพ้นทุกข์ก็จะปิดทันที แต่ถ้าเราเริ่มรู้จักที่จะเห็นทุกข์ เริ่มรู้จักที่จะใคร่ครวญความทุกข์ พิจารณาความทุกข์ ประตูแห่งความพ้นทุกข์ก็จะเริ่มเปิด ทุกข์ไม่ใช่สิ่งที่ต้องละ สิ่งที่ต้องละคือสมุทัย สมุทัยคือตัณหาอวิชชา นั่นคือสิ่งที่ต้องละ ส่วนทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องรู้ รู้ให้ทั่วถึง ปะริญญา หรือ ปะริญเญยยยันติ เป็นสิ่งที่ควรรู้ให้ทั่วถึง ถ้าเพียงแค่เราเข้าใจ เข้าใจด้วยการใคร่ครวญ ตรงนี้จะช่วยทำให้เรารับมือกับความทุกข์ได้ดีขึ้น และคือจุดเริ่มต้นของการพ้นทุกข์ แม้ว่ายังต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องพลัดพรากสูญเสีย และต้องตาย แต่จิตใจสามารถที่จะหลุดจากความทุกข์ไม่เป็นทุกข์ได้ ดังนั้นฝากให้พิจารณา ที่จริงในพระสูตรนี้มีข้อที่ควรพึงใคร่ครวญพิจารณามากมาย แต่ที่พูดมานี้เป็นเพียงแค่การเอาบางประเด็นที่สำคัญมาให้เราได้พิจารณา เพื่อนำไปใช้กับชีวิต นำไปใช้ในการรับมือกับความทุกข์ ซึ่งเราต้องเจอไม่ช้าก็เร็ว หรือกำลังเจออยู่แล้วก็ได้