แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีเกร็ดตอนหนึ่งเกี่ยวกับหลวงปู่กินนรี ท่านเป็นลูกศิษย์รุ่นแรกๆของหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล หลวงปู่เสาร์เป็นทั้งรุ่นพี่เป็นทั้งอาจารย์ของหลวงปู่มั่น ส่วนใหญ่จะรู้จักหลวงปู่มั่นกันแต่หลวงปู่เสาร์จะรู้จักน้อยหรือไม่ค่อยรู้จักเลย แล้วยิ่งหลวงปู่กินนรีคนก็รู้จักน้อยเพราะว่าท่านไม่ค่อยโด่งดัง หลวงปู่กินนรีคือองค์ที่เคยเล่าว่าหลวงพ่อชาเคยไปฝึกปฏิบัติกับท่าน แล้วได้รับคำสอนที่มีประโยชน์มากเกี่ยวกับเรื่องการภาวนาขณะเย็บผ้าปะชุนจีวร ไม่ใช่คิดแต่จะไปภาวนาอย่างเดียวจนกระทั่งต้องรีบปะรีบชุน เป็นบทเรียนที่สำคัญของหลวงพ่อชาที่ทำให้ตระหนักว่าการภาวนาทำได้ทุกอย่าง ทำได้ทุกเวลาทุกที่ ไม่ใช่เฉพาะแต่เวลาเดินจงกรมหรือนั่งภาวนาเท่านั้น มีคราวหนึ่งมีแม่ชีคนหนึ่งซึ่งก็เป็นลูกศิษย์ของท่าน เกิดอาการเพี้ยนขึ้นมาแล้วมายืนด่าท่านที่หน้ากุฏิ มาด่าท่านเสียหายเลยแต่หลวงปู่กินนรีท่านก็นิ่ง พระที่เป็นอุปฐากสมณะทนไม่ได้อยากจะเข้าไปจัดการอยากจะเข้าไปด่าตอบ หลวงปู่กินนรีทักท้วงว่าอย่าไปแย่งบาปจากเขาเลย ให้นั่งฟังเฉยๆเถอะ ท่านพูดสั้นๆแค่นี้พระอุปฐากก็สงบ
เมื่อเวลามีใครมาด่าเราแล้วเราด่าตอบนี้ไม่ต่างจากการไปแย่งบาปจากเขา ให้เราลองพิจารณาแบบนี้ แย่งบาปในแง่ที่ว่าถ้าไปด่าตอบก็ทำให้จิตใจเป็นอกุศลจิตใจร้อนรุ่ม แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดสักเท่าไรว่าการไปด่าตอบหรือการไปร่วมวงกับเขาเป็นการไปแย่งบาปจากเขา ปล่อยให้เขาทำบาปไปคนเดียวเถอะ เราอย่าไปแย่งบาปจากเขา หลายคนคิดว่ายุติธรรมแล้วเขาด่าเราเราก็ด่าตอบ แต่หาได้เฉลียวใจหรือตระหนักว่าเป็นการไปแย่งบาปจากเขามา แย่งบาปอาจจะดูเบาไป อาจจะดูเบาไปเพราะว่าเหมือนกับว่าเราไปแย่งเขามา แย่งบาปจากเขามา ๓๐, ๔๐ เปอร์เซนต์ ยังน้อยกว่าคนที่ด่าเรา แต่พระพุทธเจ้าตรัสหนักกว่านั้นอีก
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ผู้ใดโกรธตอบผู้ที่ด่า ผู้นั้นเลวกว่าคนด่า” ผู้ใดโกรธตอบคนที่ด่าผู้นั้นเลวกว่าคนที่ด่า เลวกว่าอย่างไร เลวกว่าตรงที่ทำลายทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน คือพอไปด่าเขาจิตใจก็รุ่มร้อน จิตใจเป็นอกุศลเกิดความทุกข์ และไม่พออาจจะทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผิดศีลผิดธรรมเข้าไปใหญ่ เช่นใส่ร้ายเขา พูดจาจ้วงจาบเขา ใช้คำที่รุนแรง แบบนี้ถือเป็นการทำที่ผิดศีลข้อที่สี่ การใช้วาจาที่เป็นความหยาบคายซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ เวลาด่าตอบต้องพยายามขุดเอาคำพูดที่รุนแรงที่สุด กลายเป็นการแข่งระหว่างกันว่าใครจะด่าได้แสบกว่ากัน คิดว่าจะชนะกันด้วยวิธีนี้ บางทีไปขุดเอาโคตรเหง้าของเขามาด่า ซึ่งเท่ากับกระตุ้นให้เขามีความโกรธแค้นมากขึ้น อย่างนี้เป็นการทำลายทั้งประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน ตัวเองก็เป็นทุกข์ทำให้คนอื่นก็เป็นทุกข์ด้วย พระพุทธเจ้าแนะว่าอย่าโกรธตอบคนที่ด่า ผู้ใดไม่ด่าตอบคนที่ด่าผู้นั้นชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้ยาก เป็นสงครามภายใน เป็นสงครามสู้กับกิเลสเพราะกิเลสหรืออัตตาที่อยากจะให้เราด่าตอบ แต่ถ้าเราไม่ทำตามกิเลสไม่ทำตามบัญชาของอัตตาก็เท่ากับว่าเราชนะ
พระพุทธเจ้ายังตรัสว่า “ผู้ใดเมื่อถูกด่าแต่ตั้งสติไว้ได้สงบใจ ผู้นั้นชื่อว่าได้ทำประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน” ประโยชน์ตน คือไม่ไปผลีผลามหรือไม่ไปทำอะไรที่ผิดพลาด เพราะว่าอย่างที่บอกไว้แล้วว่าคนเราพอเวลาโกรธก็ลืมตัว แล้วลืมตัวแล้วก็จะผิดศีลผิดธรรม หรือสร้างความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นกับตนเองและกับผู้อื่น แต่ถ้าหากไม่ด่าตอบแต่มีสติสงบใจไว้ได้ ถือว่าเป็นการทั้งเยียวยาตนเองและเยียวยาผู้อื่น เวลาเราสงบขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งด่าเอาด่าเอา ช่วยทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเกิดสติขึ้นมาได้เหมือนกัน เวลาเรานิ่งแต่อีกฝ่ายหนึ่งด่า ความนิ่งของเราจะเป็นกระจกที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รู้ตัวขึ้นมา เขารู้ตัวเขากำลังโกรธ พอรู้ตัวว่าเขากำลังโกรธเขาก็จะเริ่มสงบลง
เคยมีครูคนหนึ่งไปเรียกลูกศิษย์มา ลูกศิษย์คนนี้เรียนมัธยมแล้วก็โดดเรียนเป็นประจำ ไม่สนใจการเรียน ท่าทางเกเร ครูไปเรียกมาแล้วถามว่าเธอหายไปไหน ทำไมเธอไม่มาเรียนหนังสือ พอถามแค่นี้เด็กก็โมโห โกรธ อาละวาด ท่าทางกระฟัดกระเฟียด แล้วก็ขว้างโต๊เตะโต๊ะเตะเก้าอี้ แต่ครูยังสงบครูไม่ตอบโต้ ครูไม่ด่าว่านักเรียนว่าทำไมเธอไร้มารยาท ทำไมเธอทำแบบนี้กับครู ครูมีเมตตาและก็เข้าใจ เด็กก็สงบ พอสงบสักพักเขาเริ่มที่จะอธิบายหลังจากครูได้ถามย้ำอีกทีว่า ทำไมไม่มาเรียนหนังสือ เขาอธิบายว่าที่บ้านเขาต้องทำมาหากิน บ้านยากจน พ่อเขาไม่อยากให้มาเรียนหนังสือ ทำมาหากินดีกว่าเรียนไปก็ไม่มีประโยชน์ มาโรงเรียนก็ถูกครูว่า ถูกครูดูถูก คือเขาเริ่มพูดดีๆแล้ว แล้วพูดไปพูดมาเขาก็เริ่มยอมรับว่าที่เขาทำนั้นไม่ถูก การเอะอะโวยวาย กระฟัดกระเฟียด หรือการไม่สนใจเรียนหนังสือ และเด็กยอมรับเองหลังจากที่ครูสงบ ครูไม่ต่อล้อต่อเถียงไม่ตอบโต้ ความสงบของครูเป็นเหมือนกระจกให้นักเรียนได้รู้ตัว ได้เห็นความโกรธและอาการไม่น่ารักของตัว อย่างนี้เรียกว่าเป็นการเยียวยาจิตใจนักเรียนได้เหมือนกัน
อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ถ้าหากว่าเราสงบเรามีสติได้ การกระทำของเราจะเยียวยาได้ทั้งตัวเราและเยียวยาอีกฝ่ายหนึ่งด้วย” แบบนี้เรียกว่าเป็นการทำทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน แต่ถ้าหากว่าไม่สามารถจะคุมสติเอาไว้ได้ ความโกรธของเราที่เกิดขึ้นสามารถจะผลักให้เราทำอะไรที่น่าเกลียดก็ได้ ซึ่งต้องมาเสียใจภายหลัง และสมัยนี้ความโกรธถ้าได้พูดถ้าได้แสดงออกไปแล้วไม่ใช่หายไปกับสายลม บางทีถูกบันทึกเอาไว้ เพราะสมัยนี้คนเราระบายความโกรธความเกลียดทาง Facebook ทาง Social Media หรือทางสื่อต่างๆ แล้วการพูดอย่างนั้นการเขียนอย่างนั้นกลายมาเป็นผลเสียของตนเองในภายหลัง เช่นพอโตขึ้นแล้วไปสมัครงาน หรือพอมีอาชีพการงานดีๆ ปรากฎว่ามีคนเข้าไปขุดคุ้ยเอาคำพูดที่หยาบคาย ที่แสดงถึงความโกรธความเกลียด เอามาประจานทำให้เสียผู้เสียคนเหมือนกัน บางคนถึงกับต้องลาออกจากงานเลยเพราะว่าไปแสดงไปพูดข้อความที่ดูถูกผู้หญิง หรือไปดูถูกคนที่เขายากจนกว่า ไปดูถูกคนที่นับถือศาสนาต่างจากตัว อย่างในชาวฝรั่งเขาถือมากเรื่องของการดูถูกด้วยเหตุผลทางศาสนา ด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติหรือการดูถูกทางเพศ มีอาชีพอะไรที่ดีพอเขาขุดคุ้ยเอาคำพูดเหล่านี้ขึ้นมาที่ปรากฎอยู่ใน Facebook ใน Social Media เรียกว่าเสียผู้เสียคนกันไปเลย อาจต้องลาออกจากงานหรือถูกปลดออกจากตำแหน่ง เพราะว่าเป็นการเสียชื่อทำลายภาพพจน์ของบริษัทขององค์กร
นอกจากคนเราจะโกรธเพราะถูกด่าแล้ว บางทีก็อาจจะโกรธที่เจอภาพหรือเจอการกระทำที่ไม่ถูกอกถูกใจ ทำให้เกิดความโกรธ พอเกิดความโกรธแล้วก็ลืมตัว แสดงอาการออกอะไรมา อาการที่หนักกว่าสิ่งที่ตัวเองเห็นหรือสิ่งที่ตัวเองได้รับรู้มาเสียอีก เมื่อสัก ๒๐ ปีก่อน ที่นี่ฉันอาหารเป็นพา เป็นพาคือเป็นวง แล้วก็ไปฉันตรงชั้นสอง ชั้นบนของศาลาหน้านี้ สมัยก่อนมีทั้งฉันเช้าฉันเพลก็ฉันเป็นวงๆ ฉันเป็นวงละ ๓ บ้าง ฉันเป็นวงละ ๒ บ้าง บางทีก็เป็นวงละ ๔ ปรากฏว่ามีพระรูปหนึ่งหงุดหงิดไม่พอใจที่พระอีกรูปหนึ่งซึ่งฉันในวงเดียวกัน ท่านฉันแล้วเคี้ยวเสียงดัง ดังจับๆๆๆๆ แล้วบางทีจับตักอาหารใช้ช้อนเสียงกระทบกับจาน เป็นอย่างนี้อยู่หลายครั้ง วันแล้ววันเล่าวันแล้ววันเล่า
สุดท้ายท่านอดรนทนไม่ได้หงุดหงิด ฉันอยู่ดีๆก็ทิ้งจานทิ้งช้อนส้อมแล้วลุกขึ้นมาด่าพระรูปนั้นว่า ฉันเสียงดังเหลือเกินไม่เกรงใจกันเลย ปรากฎว่าสิ่งที่ท่านทำหนักกว่าที่พระอีกรูปหนึ่งทำกับท่านอีก เพราะว่าพระอีกรูปหนึ่งแค่ฉันเสียงดัง แต่ตัวท่านที่แสดงออกมารบกวนทั้งวง วันนั้นเลยเหมือนวงแตก อยู่ดีๆเกิดอะไรขึ้นไม่รู้ มีพระทิ้งจานทิ้งช้อนทิ้งส้อมตะโกนขึ้นมา กลายเป็นว่า ไปว่าเขาฉันเสียงดังแต่ตัวเองกลับทำเสียงดังยิ่งกว่า ถ้าคนธรรมดาคนที่มีสติเขาไม่ทำแบบนี้ ที่ทำแบบนั้นก็เพราะความลืมตัว ที่ลืมตัวได้ก็เพราะความโกรธ ความหงุดหงิด ไปว่าเขาว่าทำเสียงดังแต่ตัวเองกลับทำเสียงดังยิ่งกว่าคนที่ตัวเองว่าเสียอีก แบบนี้เพราะอะไรเพราะความโกรธ แล้วน่าสังเกตว่าเป็นเรื่องที่สะสมมาทีละเล็กทีละน้อย
สิ่งนี้เป็นแง่คิดสำหรับพวกเราด้วย พวกเราที่อยู่ด้วยกันไม่ว่าจะเป็นโยมเป็นพระ อยู่ด้วยกันทีแรกก็ไม่มีอะไร แต่พอมีเรื่องอะไรที่กระทบกันเล็กๆน้อยๆ วันแล้ววันเล่า วันแล้ววันเล่า ความหงุดหงิดความไม่พอใจสะสมตัวมากขึ้น บางทีไม่ใช่เรื่องอะไรเลย เช่นจะฉันเสียงดัง พระที่นั่งข้างหน้านั่งข้างๆฉันเสียงดัง อาจจะสวดมนต์ไม่เข้ากัน เราสวดเสียงสูงอีกคนสวดเสียงต่ำ เราสวดห้วนๆแต่อีกคนลากเสียงยาวไม่เข้ากัน ทีแรกก็ไม่เป็นอะไรแต่พอสะสมไปสะสมไป วันแล้ววันเล่าจากวันเป็นอาทิตย์จากอาทิตย์เป็นเดือน คราวนี้เริ่มไม่พอใจขึ้นมาแล้ว พอไม่พอใจขึ้นมาก็อาจจะโวยวาย มารู้ตัวอีกทีก็แสดงอาการที่คนเขาตื่นตกใจกันทั้งศาลาเลยก็มี สิ่งนี้เพราะความลืมตัว และลืมตัวเพราะอะไร ลืมตัวเพราะความโกรธ เพรความหงุดหงิด ทั้งๆที่อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ
อย่างที่บอกไว้แล้วว่าเสียงดังไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือใจของเราที่ชอบที่ปฏิเสธหรือเป็นลบกับเสียงนั้น และยิ่งรู้สึกเป็นลบกับเสียงนั้น ยิ่งปฏิเสธยิ่งผลักไส ใจก็ยิ่งยึดติดกับเสียง ไม่ชอบเสียงนี้จิตก็ยิ่งไปจดจ่ออยู่กับเสียงนี้ ไม่ชอบเสียงที่ลากยาวจิตก็ไปจดจ่อกับเสียงที่ลากยาวนี้ ไม่ชอบเสียงที่ห้วนสั้นหรือเสียงสูงใจก็ไปจ่ออยู่ตรงนั้น ก็เลยมีความไม่พอใจเกิดการสะสมมากขื้น ถึงจุดหนึ่งถ้าไม่มีสติรู้ทันก็ลืมตัวขึ้นมาได้ ต้องมาเตือนตัวอยู่เสมอว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เสียง ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การกระทำของคนอื่น แต่อยู่ที่ใจของเราที่วางเอาไว้ไม่ถูก เพียงแค่เราปล่อยวางไม่ต้องสนใจ เสียงก็กลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไป
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “มือที่ไม่เป็นแผลจับต้องยาพิษก็ไม่เป็นอะไรไม่เกิดอันตราย แต่ถ้ามือเป็นแผลเมื่อไรจับต้องยาพิษ ยาพิษนั้นก็จะกลายเป็นยาอันตรายถึงตายได้” หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ปัจจัยภายนอกแต่อยู่ที่ปัจจัยภายใน ถ้ามือไม่เป็นแผลเจออะไรที่หนักๆ เจออะไรที่อันตรายก็ไม่เป็นอะไร มือเปรียบเป็นปัจจัยภายใน ความทุกข์ใจเหมือนกันเปรียบเหมือนความทุกข์ใจที่เราวางไว้ไม่ถูก ไม่ได้อยู่ที่สิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง แม้แต่คำด่านั้นถ้าเราไม่ไปจดจ่ออยู่คำด่า เราฟังแล้วเราก็ปล่อยวาง หรือเราไม่เอาตัวเราเข้าไปเทียบเข้าไปเคียงก็ไม่เกิดความทุกข์ขึ้นมา
เปรียบได้เหมือนกับเราเข้าไปในสวนมะพร้าว แล้วมีลิงตัวหนึ่งเป็นลิงเกเร ชอบแกล้งคน พอมันเห็นเราเดินเข้ามาในสวน มันก็เอามะพร้าวขว้างมาที่ตัวเรา ถ้าเราเห็นลูกมะพร้าวที่กำลังพุ่งมาที่ตัวเรา เราควรจะทำอย่างไร เอาหน้ารับเอาตัวรับหรือหลบ คนฉลาดเขาไม่เอาหน้ารับไม่เอาตัวรับ เขาหลบ คำด่าก็ไม่ต่างจากมะพร้าวที่ลิงเกเรขว้างมารวมถึงคำต่อว่าด้วย คนฉลาดเขาจะไม่เอาตัวรับคำด่านั้น แต่เขาจะหลบ แต่คนส่วนใหญ่เขาทำอย่างไรกัน เขาเอาตัวรับคำด่า เลยรู้สึกเจ็บปวดขึ้นมา เขาด่าฉันเขาว่าฉัน อย่างนี้คือสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นกับคนทั่วไป
พระพุทธเจ้าท่านเคยถูกพราหมณ์คนหนึ่งด่าท่าน ไปด่าถึงเชตวัน เพราะว่าบริวารเพื่อนเขาพี่น้องเขาที่เป็นพราหมณ์หันมาสมาทานพระรัตนตรัย หันมาเป็นชาวพุทธ หันมาเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า โกรธแค้นมากก็ด่าๆๆๆ พระพุทธองค์นิ่งเฉยจนกระทั่งเขาด่าจนพอใจ พระพุทธเจ้าเริ่มสนทนากับเขา ถามพราหมณ์คนนี้ว่า พราหมณ์เคยมีคนมาบ้านท่านไหม เคยมีอาคันตุกะมาเยี่ยมเยียนท่านไหม พราหมณ์คนนี้บอก มีสิมีมากมาย ฉันไม่ได้เป็นคนสิ้นไร้ไม้ตอกมีมามากด้วย พราหมณ์เมื่อมีแขกมาที่บ้านท่านทำอย่างไร ข้าพเจ้าก็เอาของเอาน้ำเอาของขบเคี้ยวมาต้อนรับ ไม่ได้เป็นคนยากจนอะไร พราหมณ์เมื่อท่านเอาของมาต้อนรับแขกแล้วแขกไม่รับของนั้นไม่กินของนั้น ของนั้นจะเป็นของใคร ก็เป็นของข้าพเจ้าสิ ฉันใดก็ฉันนั้น “เมื่อท่านด่าเราแต่เราไม่รับคำด่าของท่าน คำด่านี้จะเป็นของใคร” พราหมณ์ได้ฟังก็อึ้งเลย คือคำด่าจะได้ผลก็ต่อเมื่อเรารับเอาคำด่านั้น แต่ถ้าเราไม่รับคำด่าก็เป็นโมฆะก็ไร้ผล
แต่คนส่วนใหญ่เขาด่าเราด่าผิดด่าถูกอย่างไร ก็ไปรับเอาคำด่ามาเป็นของตัวแล้วก็โกรธเสียเอง หลวงพ่อชาเคยพูดเตือนบอกว่า เวลาใครด่าว่าเราเป็นหมาเป็นเดรัจฉานอะไรก็ตาม ก่อนจะโกรธเขาก็ลองเอามือคลำก้นว่ามีหางงอกออกมาหรือไม่ ถ้าไม่มีหางงอกออกมาก็อย่าไปด่าเขา ถ้ามีหางงอกออกมาค่อยโกรธเขา อย่างนี้คือเราไม่รับคำด่าเขา เมื่อเราไม่รับคำด่าเขาเราก็ไม่ทุกข์ มีคนเปรียบเทียบไว้น่าสนใจ คำด่าว่าก็เหมือนกับจดหมายที่ส่งจ่าหน้าซองถึงผู้รับ แต่ถ้าจดหมายนั้นผู้รับไม่รับจดหมายนี้จะเป็นอย่างไร จดหมายก็ตีกลับมาถึงผู้ส่ง เราเคยส่งจดหมายใช่ไหม ถ้าเขาไม่รับมันก็ตีกลับมาที่ผู้ส่ง คำด่าเหมือนกันด่าไปแล้วไม่รับมันก็ย้อนกลับมาที่ตัวคนด่า
เราต้องฉลาดในการที่จะไม่รับเอาคำด่านั้น อย่าเอาตัวตนไปรับคำด่า จะใช้วิธีอย่างหลวงพ่อประสิทธิ์ก็ได้ หลวงพ่อประสิทธิ์ท่านอยู่วัดถ้ำยายปริก ท่านมรณภาพไปแล้ว เป็นผู้บุกเบิกฟื้นฟูวัดถ้ำยายปริกซึ่งเคยเป็นวัดร้างที่เกาะสีชัง ตอนที่ท่านไปฟื้นฟูใหม่ๆ มีพวกอันธพาลพวกนักเลงท้องถิ่นไม่พอใจ คงอยากจะฮุบที่ของวัดเอาไว้ก็พยายามหาทางกลั่นแกล้งด่าว่าก่อกวน ทีแรกท่านไม่อยากจะต่อล้อต่อเถียงอยากจะย้ายไปที่อื่น แต่ตอนหลังเห็นประโยชน์ของวัดเลยพยายามที่จะอยู่ต่อ แล้วก็อดทนต่อคำด่าคำว่าของเขา แต่จะเรียกว่าอดทนก็ไม่ได้เพราะว่าท่านก็มีวิธีของท่าน ในการที่จะอยู่กับหรือรับมือกับคำด่าได้โดยที่ใจไม่ทุกข์
มีเรื่องเล่าว่าวันหนึ่งท่านเดินเข้าไปในหมู่บ้านผ่านหน้าบ้านของนักเลงคนหนึ่ง ซึ่งนักเลงคนนี้ร้ายมากชอบแกล้งพระ บางทีพระเดินบิณฑบาตรก็เดินชนพระจนกระทั่งบาตรกระเด็น พอเขาเห็นหลวงพ่อประสิทธิ์เดินผ่านมาเขาก็ด่าเสียๆหายๆ หลวงพ่อประสิทธิ์ได้ฟังเช่นนั้น ปกติคนเราพอถูกด่าก็จะทำอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างนี้ คือทำเป็นไม่รู้ทำเป็นหูทวนลมไม่ได้ยิน หรือสอง โกรธแล้วก็ด่ากลับ หลวงพ่อประสิทธิ์ไม่ทำทั้งสองอย่าง หลวงพ่อประสิทธิ์เดินเข้าไปหาเขา หน้าตายิ้มแย้ม ไปถึงตัวเลยแล้วก็จับแขนเขย่าถามว่า มึงด่าใครมึงด่าใคร ก็ด่ามึงน่ะสิหนุ่มคนนั้นบอก เออแล้วไปที่แท้ก็ด่ามึง อย่าด่ากูแล้วกัน แล้วท่านก็เดินออกไปเลย หมอนั่นงงไปเลย ตกลงกูด่าใครวะ คือหลวงพ่อประสิทธิ์ไม่เอาตัวกูไปรับคำด่า ท่านเลยรู้สึกว่า เออหมอนี่มันด่ามึงไม่ได้ด่ากู แบบนี้เรียกว่าเป็นคนที่รู้จักหลบ
เหมือนกับเราเห็นมะพร้าวเขวี้ยงใส่เรา ถ้าเราฉลาดเราต้องหลบไม่เอาหน้ารับไม่เอาตัวรับ เมื่อหลบแล้วมะพร้าวก็กระเด็นตกพื้น เราจะทำอย่างไรกับมะพร้าวลูกนั้น เราจะเอามะพร้าวลูกนั้นขว้างกลับไปที่ลิงตัวนั้นหรือไม่ คนฉลาดเขาไม่ทำอย่างนั้นกัน เขาไม่เสียเวลาเขาไม่เสียแรงเอามะพร้าวขว้างกลับไปที่ตัวลิง ถึงแม้มะพร้าวลูกนั้นจะไม่ได้กระทบตัวเขาก็ตาม คนฉลาดเขาจะเอามะพร้าวกลับบ้านหรือไม่ก็เฉาะกิน เพราะว่าเนื้อมะพร้าวคงอร่อยน้ำคงจะอร่อยด้วย สิ่งนี้เป็นวิสัยของบัณฑิตของคนฉลาด คือข้อที่หนึ่ง ไม่ยอมที่จะรับคำด่านั้น รู้จักหลบรู้จักหลีกไม่เอาตัวตนเขาไปรับ ข้อที่สอง รู้จักใช้ประโยชน์จากคำด่านั้น ไม่ว่าจะเป็นคำด่า คำตำหนิติเตียน มีประโยชน์ทั้งนั้น อยู่ที่ว่าจะรู้จักมองจะรู้จักใช้หรือไม่ เหมือนกับมะพร้าวถึงแม้มันจะทำร้ายคนให้หัวแตกได้ แต่มันก็ยังมีประโยชน์ถ้ารู้จักเฉาะเอาน้ำเอาเนื้อของมันมากิน
คำต่อว่าด่าทอมีประโยชน์ เช่นอาจจะทำให้เราเห็นข้อผิดพลาดของเรา เห็นสิ่งที่เราควรแก้ไข คำตำหนิมีประโยชน์ตรงนี้มาก หรืออย่างน้อยก็ช่วยลดละตัวตนของเราได้ คุณเล็ก พิริยะพันธ์ เจ้าของเมืองโบราณ ซึ่งเสียชีวิตไปนานแล้วพูดว่า วันไหนไม่ถูกตำหนิวันนั้นเป็นอัปมงคล เพราะคำตำหนิช่วยเตือนใจสอนใจเขาได้มาก เพราะว่าคนรวยเศรษฐีมักจะมีแต่คนชม มีแต่คนประจบประแจงจนกระทั่งตัวเองอาจจะเหลิง พอมีคนมาตำหนิมาต่อว่าก็ช่วยทำให้เกิดสติขึ้นมาได้เหมือนกัน ไม่เหลิง ไม่หลงตัวลืมตน ไม่เห็นว่าตัวเองเป็นเทวดา เห็นว่าตัวเองเป็นมนุษย์ที่มีผิดพลาดได้ เรื่องนี้เป็นประโยชน์กับตนเอง หรือทำให้รู้จักตัวเอง
แต่คำด่าว่าบางอย่างมีแต่คำด่าล้วนๆ ไม่ได้มีสาระอะไรเลยก็ยังมีประโยชน์ ทำให้รู้จักคนพูดคนที่ด่าว่าเราว่าเขามีนิสัยอย่างไร บางทีคนเราจะรู้จักใครไม่ได้รู้จากคำชม ไม่ได้ดูจากคำพูดดีๆของเขา ไม่ได้ดูจากคำชมของเขา ไม่ใช่ดูจากรอยยิ้มของเขา แต่ดูจากคำตำหนิของเขา เขาใช้คำพูดอย่างไร เขาแสดงอารมณ์ออกมาอย่างไร ตัวความโกรธประจานคนโกรธ คำด่าว่าไม่ว่าจะว่าด้วยคำรุนแรงแค่ไหน สุดท้ายเป็นการฟ้องเป็นการประจานคนพูดว่าเขามีนิสัยใจคออย่างไร สิ่งนี้ทำให้เราได้รู้จักเขาว่าเขาเป็นคนอย่างนี้ เราจะได้ระมัดระวังไว้ หรือเราจะได้วางระยะไว้กับเขา เขาด่าแบบเสียๆหายๆ แสดงว่าเขาเป็นคนที่ใจร้อน เป็นคนที่ไม่รู้จักคิด เราต้องรู้แล้วว่าเขาเป็นพาลชน พระพุทธเจ้าสอนว่า “อเสวนา จ พาลานํ” อเสวนาจะพาลานัง การไม่คบคนพาลเป็นมงคลอันสูงสุด พอเราไม่คบเราก็ได้ประโยชน์แล้ว ได้ทำมงคลอันสูงสุดข้อแรกเลย คือประโยชน์ที่เราน่าจะรู้จักใช้จากคำด่า หรือมิเช่นนั้นคำด่าก็สอนให้เราเข้าใจเรื่องธรรมะ โดยเฉพาะเรื่องโลกธรรมแปด โดยเฉพาะข้อที่สรรญเสริญกับนินทาเป็นของคู่กัน
เคยเล่าให้ฟังแล้วว่า หลวงพ่อทองรัตน์เดินบิณฑบาตแล้วมีคนเอาบัตรสนเท่ห์ใส่บาตรท่าน ท่านก็รู้ว่าแบบนี้เป็นข้อความที่ด่าว่าท่าน พอมาถึงวัดท่านรีบห่มจีวรอย่างดีแล้วสวมสังฆาฏิ แล้วก็บอกเณรว่าวันนี้ได้รับอมฤตธรรมจากเทวดาเป็นของหายาก เณรอ่านให้ฟังซิ เณรก็อ่านให้ฟัง “พระผีบ้าไม่รู้จักมีวินัยไม่สำรวม ชอบประจบประแจงชาวบ้าน ถึงเดินดินบินบนก็ไม่มีใครนับถือ ให้ออกไปจากวัดนี้ไม่งั้นจะฝากตะกั่ว” เขียนแรงมากหาว่าท่านเป็นพระผีบ้า แล้วท่านได้ฟังเสร็จท่านก็บอก ดีนะนี่เพิ่งรู้ว่าโลกธรรมเป็นอย่างนี้แต่ก่อนได้ยินได้ฟังมา คือได้ลาภเสื่อมลาภ ได้ยศเสื่อมยศสรรเสริญ นินทาสุขทุกข์ วันนี้ได้เห็นได้รู้จักโลกธรรมตัวจริงเลย เก็บเอาไว้ใต้ฐานพระของดีของหายากนะเณร เอาคำด่าว่านี้มาใช้เป็นเครื่องสอนใจถึงเรื่องโลกธรรม สอนตัวเองด้วยสอนเณรด้วย จะทำให้เราไม่เหลิงเวลาเราได้รับคำสรรเสริญ จะได้เตือนใจว่าวันนี้ได้รับคำชมพรุ่งนี้อาจจะได้รับคำด่า หรือเช้าอาจมีคนชมตอนเย็นอาจจะมีคนด่าก็ได้
เพราะฉะนั้นอย่าไปเหลิงมากกับคำชมเพราะเดี๋ยวจะต้องเจอคำด่าแล้วจะทุกข์ คำด่าก็สอนโลกธรรมให้กับเราหรืออาจจะทำให้เราได้เห็นตัวเราเอง อย่างที่พูดไว้เมื่อสักครู่นี้ เรื่องนี้เคยเล่าแล้วเรื่องหลวงพ่อพุธ ที่ท่านโดนเด็กอายุ ๕ ขวบที่ยืนอยู่ใกล้ๆแม่กำลังจะใส่บาตรพูดใส่ท่านว่า มึงบ่แม่นพระดอกมึงบ่แม่นพระดอก ท่านโกรธมากเลยทีแรกแต่ก็มีสติ พอโกรธปุ๊ปก็มีสติ แล้วพูดกับตัวเองขึ้นมาว่า จริงของมันเราไม่ใช่พระถ้าเราเป็นพระเราต้องไม่โกรธ เอาคำด่าเอาคำพูดของเด็กมาเป็นเครื่องเตือนใจสอนใจว่าเราจะต้องฝึกอีก เพราะเรายังโกรธอยู่ไม่ใช่พระ พอท่านกล้ายอมรับความจริงแบบนี้เป็นวิสัยของบัณฑิตมากเลย แล้วท่านก็เรียกเด็กคนนี้ในเวลาต่อมาว่าเป็นอาจารย์ คือทำให้ท่านได้เห็นตัวเอง ทำให้ท่านได้รู้จักตัวเอง
เพราะฉะนั้นถ้าเราพิจารณาดูมะพร้าวที่ลิงขว้างมาให้กับเรามีประโยชน์ฉันใด คำพูดคำด่าที่ใครต่อใครประเคนให้เราก็มีประโยชน์ฉันนั้น อยู่ที่ว่าเราจะรู้จักหาประโยชน์แบบไหน ข้อสำคัญจะทำแบบนั้นคืออย่าไปหลงตัวอยู่กับความโกรธ เพราะถ้าเราเผลอใจเมื่อไรพอมีคำพูดอย่างนี้มากระทบเราจะโกรธ พอเราโกรธเราก็ลืมตัว พอลืมตัวเราทำอะไรได้ทั้งนั้น บางคนอาจจะถึงกับฆ่าแฟนเพราะว่ามีการกระทบกระทั่งกัน ด่าว่ากัน โกรธห้ามใจไม่อยู่คว้ามีดคว้าจอบที่อยู่ใกล้ตัวมาฟาดตาย เสร็จแล้วก็มาเสียใจ บางทีพ่อฆ่าลูกเพราะความโกรธลูกเถียงพ่อเถียงไม่ตกฟาก พ่อโมโหมากเอาปืนยิงลูก พอรู้ว่าลูกตายแล้วทำใจไม่ได้ยิงตัวเองตายตาม เรื่องแบบนี้ก็มีอยู่เพราะความโกรธ พอโกรธแล้วทำให้ลืมตัว
แต่ถ้าเราฉลาด เราเจริญสติมาแล้วก็ควรจะถือว่าความโกรธที่เกิดขึ้นในใจ หรือความโกรธที่เกิดขึ้นในใจของคนอื่นก็ตาม เป็นแบบฝึกหัดสอนเราเป็นโจทย์ที่สอนเราเรื่องการฝึกสติ หรือทดสอบว่าเรามีสติพอไหม เขาว่าเราเขาด่าเราให้ถือว่าเป็นเครื่องฝึกสติหรือทดสอบว่าเรามีสติไหม ถ้าเราโกรธเราก็สอบตกแต่ก็ไม่เป็นไรเอาใหม่พยายามใหม่ ลองตั้งหลักแบบนี้ว่าเขากำลังมาฝึกกำลังมาทดสอบสติของเรา และขณะเดียวกันถ้าเรามีความเผลอโกรธ ไม่มีสติอยู่ในใจ ให้ถือว่าเป็นแบบฝึกหัดอีกแบบหนึ่ง ที่จะมาสอนให้เรารู้จักมีสติทัน เห็นความโกรธไม่เป็นผู้โกรธ ความโกรธเกิดขึ้นยังไม่สายที่เราจะเห็นมัน ที่เราจะมีสติในการเห็นมัน แต่ถ้าให้ดีต้องมีสติตั้งแต่ตอนที่เกิดผัสสะเสียงกระทบหู พอมีสติปุ๊บความโกรธเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะว่ามีสติมีความรู้สึกตัว ก็ไม่เอาตัวตนเข้าไปรับ ไม่เป็นเจ้าของคำด่า วางได้ แต่ถ้าไม่มีสติเกิดความโกรธไปแล้วก็ยังไม่สายที่จะมีสติรู้ทันความโกรธ เห็นความโกรธไม่เป็นผู้โกรธ ถือว่าเป็นแบบฝึกหัดอีกแบบหนึ่งซึ่งเราต้องเจอ เราต้องเผชิญ เราต้องผ่านไปให้ได้ ถ้าไม่ผ่านก็ต้องเจอใหม่เจอแล้วเจออีกจนกว่าจะผ่านได้ เพราะฉะนั้นเป็นของมีประโยชน์เหมือนกันถ้าเรารู้จักใช้