แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อตอนบ่ายมีสามีภรรยาคู่หนึ่ง อายุประมาณสักสามสิบต้นๆ มาหาที่ศาลาน้ำ ผู้หญิงดูตัวแข็งๆทื่อๆ แล้วก็เครียด มีอาการดูเพลียๆ ไม่ค่อยพูดไม่ค่อยจาเท่าไร ผู้ชายพูดเป็นส่วนใหญ่ บอกว่าภรรยาของเขาสนใจเรื่องการปฎิบัติด้วยการตามลมหายใจ เคยไปเข้าคอร์สเลยเกิดศรัทธาในการปฏิบัติ เมื่อกลับมาบ้านปฏิบัติเอง เปิดดูตามยูทูปดูคลิปวิดีโอต่างๆ ที่เขาแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติเพื่อจะได้ทำเอง ทำไปได้สักหกเจ็ดเดือนเริ่มมีอาการ โดยเฉพาะเมื่ออาทิตย์ที่แล้วมีอาการเหมือนกับสติแตก เกิดภาพหลอนคิดว่าตัวเองเป็นพระสารีบุตรมาเกิด พระสารีบุตรท่านไปแล้ว แต่เขายังเชื่อว่าตัวเองเป็นพระสารีบุตรมาเกิด แล้วมีความหลงหลายอย่าง ยังดีที่พอรู้ตัวบ้างว่าสติแตกเพราะว่านอนไม่หลับ ความคิดฟุ้งซ่าน ความจำเสื่อม พูดอะไรได้ยินสักพักเดี๋ยวก็ลืมแล้ว แล้วเขารู้ว่าตัวเองมีปัญหาแต่ยังแก้ไม่ได้ เลยให้สามีพามาหาที่นี่
ไม่รู้ว่าเขารู้ได้อย่างไรว่าที่นี่จะช่วยเขาได้ แต่ฟังจากอาการก็รู้เลยว่าเขาเพ่งมาก เขาเพ่งมากพยายามควบคุมความคิด พยายามบังคับจิตให้แนบแน่นอยู่กับลมหายใจ เพราะว่ามีความอยาก อยากจะบรรลุธรรม เขาได้ยินได้ฟังมาว่าถ้าปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังก็จะบรรลุธรรมได้ภายในเจ็ดวัน เจ็ดเดือน หรือเจ็ดปี แล้วเขาตั้งใจว่าเจ็ดเดือนจะเอาให้ได้ เลยมีอาการแบบนี้ ไม่สามารถที่จะแก้อารมณ์ของตัวเองได้ และนี่เป็นตัวอย่างของคนที่พอปฏิบัติแล้วพยายามไปบังคับควบคุมจิต ทำให้เกิดการเพ่งขึ้นมา เพ่งที่ลมหายใจก็ได้ หรือเพ่งที่มือก็ได้ พอเพ่งไปสักพักหนึ่งจิตเริ่มมีอาการเพี้ยน เพ่งกับเพี้ยนใกล้กันมาก แล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยกัน
บางคนที่หลวงพ่อคำเขียนท่านเคยเล่า ตอนที่ท่านไปสอนอยู่ที่วัดโมกข์ สังเกตว่าโยมผู้ชายคนหนึ่งไม่มาทำวัตรเช้า ท่านไม่ได้สังเกตหรือรู้สึกผิดปกติอะไร ได้เวลาฉันเช้าเวลาอาหารเช้าเขาก็ไม่มา พอท่านฉันเสร็จท่านก็เลยไปตามหาที่กุฎิ พอเรียกชื่อเขาเท่านั้นมีเสียงตะโกนออกมาว่า หลวงพ่อช่วยผมด้วย ช่วยผมด้วย มือมันติด มือมันค้าง ยกมือสร้างจังหวะ ยกมือแล้วมันไม่ลงมันค้างตั้งแต่เช้าแล้ว ตั้งแต่เช้ามืดมาทำวัตรไม่ได้ ค้างจนกระทั่งถึงตอนอาหารเช้ามือก็ยังไม่ลง เขยื้อนขยับไม่ได้ พยายามกรวดน้ำแผ่เมตตา เพราะคิดว่าคงไม่ไปทำกรรมอะไรมาสักอย่างก็ไม่ได้ผล หลวงพ่อท่านรู้แล้วว่าเป็นเพราะว่าเพ่ง เมื่อเจอแบบนี้หลวงพ่อรู้เลยว่าต้องชวนคุย หรือชวนดึงจิตออกมาจากการปฏิบัติ ท่านถามว่ามีลูกกี่คน ห้าคนครับ มีครอบครัวกันหมดรึยัง มีแล้วครับ แล้วตอนนี้อยู่กับใคร อยู่กับลูกสาวครับ มีหลานไหม มีครับมีหลายคน เป็นห่วงหลานบ้างไหม ห่วงบ้างบางทีก็ไม่ห่วง อย่างมาที่นี่ก็ไม่ห่วงครับ คุยไปสักพักมือแกก็ตกเลยแล้วแกก็ไม่รู้ตัว ยังคุยยังตอบคำถามหลวงพ่ออยู่ สักพักถึงค่อยรู้ว่ามือตกลงแล้ว อ้าว! มือตกตั้งแต่เมื่อไร ทำไมมือตก ก็เพราะว่าจิตเลิกเพ่ง หลวงพ่อชวนคุย จิตที่เคยเพ่งอยู่ที่มือก็ออกมาข้างนอก ออกมารับรู้ ออกมาสนทนา ลืมเรื่องการปฏิบัติไป จิตพอเลิกเพ่งมือก็หลุดเอง
ฉะนั้นอย่างผู้หญิงคนนี้ก็เหมือนกัน เขาก็อาการเรียกว่าไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัวเท่าไร เกร็งๆ คุยกับเขาก็พูดคำตอบคำ แนะนำเขาไปว่าปัญหาของเขาเกิดจากความอยากบรรลุธรรม อยากควบคุมจิต อยากให้จิตสงบ พอมีความอยากแล้วจิตเลยไปเพ่ง คือการมีความพยายามบังคับจิตให้แนบแน่นอยู่กับลมหายใจให้ไม่คิด พอบังคับจิตเข้าไปจิตก็ไม่ยอม ธรรมชาติของจิตชอบวิ่งชอบเที่ยวเหมือนกับเด็กเล็กๆ ไปบังคับเขามากๆ เขาก็อาละวาดเลย หรือวัยรุ่นก็เหมือนกัน พ่อแม่ไปบังคับวัยรุ่นมากๆ ก็พยศอาละวาด จิตก็เหมือนกัน ไปบังคับเขาแบบนี้อาจจะเข้าใจคำว่ากำหนดไม่ถูกต้อง ไปฟังครูบาอาจารย์บอกว่าให้กำหนดลมหายใจ ให้สูดลมหายใจแล้วปล่อย ไปได้ยินมาอย่างนี้ก็เข้าใจว่ากำหนดคือไปบังคับไปเพ่ง พอเพ่งเข้าจิตก็อาละวาดจนเกิดอาการเพี้ยนขึ้นมา เวลาคุยกับเขาก็บอกให้ลองวางความอยากลง แล้วปล่อยใจให้เป็นธรรมชาติ อย่าไปบังคับอย่าไปกำหนดแบบเพ่งอย่างนั้น แล้วให้เขาทำตามสบาย ให้เขาอย่าทำความเพียรมาก
ความเพียรมากเกินไปก็มีปัญหา อย่างพระโสณะ ทำความเพียรมาก ขนาดว่าเท้าแตกเป็นแผลยังไม่ยอมหยุดไม่ยอมพัก ยังเดินทั้งๆที่เท้าเป็นแผล ทางเดินจงกรมมีเลือดเป็นทางเลย เดินทั้งวันทั้งคืน พอเดินไม่ได้ก็คลาน คลานเท่าไรก็ยังไม่บรรลุธรรมก็ยิ่งเครียด ยิ่งเครียดยิ่งพยายามที่จะทำให้มากขึ้น จนกระทั่งเกิดความท้อ จนกระทั่งพระพุทธเจ้าต้องมาสอนมาแนะโดยการเปรียบเทียบกับพิณสามสาย เพราะว่าพระโสณะเคยเป็นนักดนตรีเล่นพิณสามสาย ถามพระโสณะว่า พิณที่ขึงไว้แน่นขึงไว้ตึงดีดแล้วไพเราะไหม ไม่ไพเราะครับ แล้วสายพิณที่ขึงไว้หย่อนไพเราะไหม ก็ไม่ไพเราะครับ ต้องขึงพอดีๆ ฉันใดก็ฉันนั้นความเพียรก็ต้องทำความเพียรแต่พอดี ถ้าทำความเพียรมากไปก็เกิดโทษได้
ความเพียรเป็นของดี แต่ถ้าทำเกินไปเลยความพอดีไปก็เกิดโทษ บอกเขาอยู่สามข้อ หนึ่ง ให้วางความอยากลงเสีย สอง ให้หยุดบังคับจิตได้แล้ว ปล่อย อย่าไปเพ่งมัน และสาม ทำความเพียรแต่พอดี พูดจบก็ให้เขาทวนว่า เมื่อสักครู่แนะนำอะไร เขาตอบไม่ได้ เขาจำไม่ได้เลยว่าเมื่อสักครู่พูดว่าอะไร ต้องให้สามีช่วยทวนว่าที่แนะนำไปสามข้อคืออะไร ความจำเรียกว่าแย่มาก ที่จริงเป็นเพราะว่าไปเพ่งมากกว่า พอจิตไปเพ่งที่ลมหายใจพูดอะไรไปเขาก็ไม่ค่อยรับรู้ แล้วคนก็เข้าใจว่าเพ่งนี่ดี แต่ที่จริงมันทำให้ความรู้ตัวทั่วพร้อมหย่อนหายไป พูดอะไรไปฟังไม่รู้เรื่องไม่สามารถจะจับสาระสิ่งที่พูดได้ เพราะจิตไม่ได้ไปรับรู้คำพูดอย่างสบายๆ มันไปอยู่ที่ลมหายใจ ก็ชวนให้สามีเขาพาเดินรอบๆสระ พาชมนกชมไม้ไป ให้จิตส่งออกนอกบ้างไม่ใช่เพ่งเข้าใน เพ่งเข้าในมากๆมีปัญหา แต่คนชอบนักเพราะว่าคิดว่าทำแล้วจะสงบ แล้วพอสงบแล้วก็ยิ่งทำเข้าไปใหญ่ สุดท้ายจิตพยศขึ้นมาเกิดอาการเพี้ยน
หลวงพ่อคำเขียนท่านเล่าว่า สมัยที่ท่านบวชใหม่ๆ กับหลวงพ่อเทียน วันหนึ่งท่านปฏิบัติอยู่ในกุฏิ เวลาท่านปฏิบัติอยู่ในกุฏิท่านปิดหน้าต่างปิดประตู หลวงพ่อเทียนมาสอบอารมณ์ มาถึงหน้ากุฏิถามว่า ทำอะไรอยู่ หลวงพ่อคำเขียนตอบมาจากในกุฏิว่า กำลังปฏิบัติอยู่ครับ หลวงพ่อเทียนถามว่า เห็นผมไหม ไม่เห็นครับหลวงพ่อคำเขียนตอบ แล้วทำอย่างไรถึงจะเห็น เปิดประตู พอท่านเปิดประตูเสร็จ หลวงพ่อเทียนถามว่าเห็นผมหรือยัง เห็นแล้วครับ แล้วในห้องเห็นไหม เห็นครับ ให้ทำอย่างนี้เห็นทั้งข้างนอกและข้างใน แล้วท่านก็เดินไป หลวงพ่อคำเขียนทีแรกก็งงๆ ว่าหลวงพ่อเทียนต้องการจะบอกอะไร ในที่สุดท่านก็รู้ว่าอย่าส่งจิตออกนอกมากเกินไป และอย่าเพ่งเข้าในมากเกินไป เพ่งเข้าในมากเกินไปก็ไม่รับรู้สิ่งภายนอก แต่ถ้าปล่อยใจออกไปข้างนอกมากๆ ก็ไม่รู้ใจของตัว
คนส่วนใหญ่ส่งจิตออกนอกมากเลยไม่รู้ใจของตัว ส่วนนักปฏิบัติจะทำตรงข้ามจะเพ่งเข้าในก็เลยไม่รับรู้เรื่องภายนอก หลวงพ่อเทียนท่านพยายามสอนพยายามแนะว่า ให้วางใจพอดีๆ รู้ทั้งนอกรู้ทั้งใน แบบนี้คืออาการความรู้ตัวทั่วพร้อม นักปฏิบัติบางคนพยายามที่จะเพ่งอยู่ตลอด บางทีหลวงพ่อเทียนท่านเดินไปแล้วก็เอาผ้าคลุมศีรษะเอาไว้ เอาผ้าคลุมศีรษะเสร็จแล้วท่านก็ดึงผ้าออก นี่คือวิธีการสอนของท่านสมัยก่อน นักปฏิบัติต้องไปถอดรหัสเอาเองว่าหลวงพ่อเทียนต้องการบอกอะไร เพราะสมัยก่อนท่านสอนไม่ค่อยเป็นด้วยคำพูด ท่านสอนด้วยอากัปกริยาแบบนี้ คนเลยเรียกว่าท่านสอนเหมือนอาจารย์เซน ให้ไปคิดเอาว่ากำลังสอนอะไร คิดไปคิดมาก็รู้เลยว่าท่านกำลังสอนว่า อย่าไปจมอยู่กับความคิด หรืออย่าไปจมอยู่กับความสงบ ซึ่งจะเหมือนกับว่าคลุมศีรษะด้วยผ้าก็มืด ให้ถอดผ้าคลุมศีรษะออกจะได้เห็นข้างนอก แต่ก็ไม่ใช่ส่งจิตออกนอก
นักปฏิบัติเราต้องรู้เท่าทันความอยาก ความอยากเป็นปัญหาของนักปฏิบัติเลย ถึงแม้ว่าเป็นเพราะความอยากเราถึงมาที่นี่ มาอยู่แบบต้องจากบ้านจากความสะดวกสบายมาเพราะความอยาก แต่ทันทีที่เราลงมือปฏิบัติต้องวางความอยากลง หลายคนทำไปยังทิ้งความอยากไม่ได้ มีแต่ความอยากเพิ่มพูนมากขึ้น มีนักปฏิบัติคนหนึ่งบ่นกับหลวงพ่อเฟื่อง โชติโก ท่านมรณภาพไปนานแล้ว อยู่จังหวัดระยอง บ่นกับหลวงพ่อเฟื่องว่า ทำมาตั้งนานแล้วยังไม่ได้อะไรเลย หลวงพ่อตอบว่า ปฏิบัติเพื่อละไม่ใช่เหรอ เขาปฏิบัติเพื่อละไม่ได้เพื่อเอา นักปฏิบัติจำนวนมากยังทำด้วยความอยาก กิเสลครองใจก็ยังไม่รู้ ถ้าดูจิตดูใจเป็นต้องเห็นกิเลส ตัวความอยากที่ครอบงำจิตใจ พออยากแล้วอดไม่ได้ที่ต้องไปบังคับจิตให้หยุดคิดให้หยุดฟุ้ง เลยกลายเป็นเพ่งไป
แล้วสุดท้ายไม่ว่าจะเป็นลมหายใจก็ดี หรือไม่ว่าจะเป็นกายที่เคลื่อนไหวก็ดี เลยกลายเป็นคุกไป ลมหายใจหรือกายที่เคลื่อนไหวมือที่เคลื่อนไหวไปมา หรือพูดง่ายๆ คือกายนี้เขาถือว่าเป็นอารมณ์ของการภาวนา อารมณ์ในที่นี้หมายถึงว่าเป็นวัตถุของการภาวนา เป็นสิ่งที่ใช้กำหนดจะเรียกว่าเป็นบ้านก็ได้ เราใช้กายเป็นบ้านของใจ ให้ใจมาอยู่ที่กาย ให้ใจมารู้กาย ให้มาอยู่กับกายเหมือนว่ากายนี้เป็นบ้าน แต่นักปฏิบัติจำนวนมากทำให้กายเป็นคุกเพื่อขังใจ ไม่ให้จิตออกมา ให้จิตอยู่กับกายอย่างแนบแน่น เป็นการบังคับกาย ไม่ว่าจะเป็นลมหายใจหรือมือหรือรูปก็เลยกลายเป็นคุกไป แยกให้ออกระหว่างบ้านกับคุกต่างกันมาก เราอยู่บ้านเราจะออกไปไหนเมื่อไรก็ได้ แต่เราไม่ออกเพราะเรารู้สึกว่าอยู่บ้านแล้วสบายอบอุ่น แต่คนที่ใจแตกจะเพ่นพานอยู่บ้านไม่ได้ หรือเรียกว่าอยู่บ้านไม่ติด แบบนี้ก็เป็นลักษณะของคนจำนวนมาก วัยรุ่นก็อยู่บ้านไม่ติด
การอยู่บ้านไม่ติดยังมีความหมายถึงว่า การที่ปล่อยใจฟุ้ง ใจลอย ไม่ยอมกลับมารู้กาย แต่พอหันมาสนใจการปฏิบัติก็ทำให้กายกลายเป็นคุกไปขังจิตเอาไว้ จิตก็ไม่ยอม พยายามสู้พยายามแหกคุกอยู่เรื่อย พอแหกคุกบ่อยเข้าก็ต้องเพิ่มความแข็งแรงความแข็งแกร่งของคุกให้แน่นหนามากขึ้น คือบังคับหนักเข้าไปใหญ่ คราวนี้จิตเลยประท้วงเลยต่อสู้ อาการเพี้ยนเกิดจากการที่ไปบังคับจิตอย่างนั้น มีอาการหลายอย่างต่างกันไป บางคนก็หนักหัว บางคนก็ตัวแข็ง ตัวแข็งลุกไม่ขึ้น บางคนยกมือแล้วค้างไม่ลงอย่างที่เล่ามา ให้กลับมาทำใจให้สบายๆ รู้บ้างไม่รู้บ้างไม่เป็นไรแต่ขอให้ทำไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันอย่าปล่อยใจฟุ้ง อย่าไปหาเรื่องคิด อย่ามัวแต่ส่งจิตออกนอก แล้วอย่าไปบังคับจิตจนกระทั่งอึดอัด เมื่อเราปฏิบัติด้วยใจที่สบาย วางความอยากลง เพียงแค่รู้เฉยๆว่าจิตทำอะไร จะช่วยทำให้ความรู้สึกตัวค่อยๆกลับมา
ความรู้สึกตัวที่พูดมาไม่ใช่หมายถึงการที่ตื่นจากหลับหรือตื่นจากสลบเท่านั้น คนที่ตื่นจากสลบทางการแพทย์อาจจะเรียกว่ารู้สึกตัวแล้ว คนที่ฟื้นจากยาชายาสลบเริ่มกระดิกนิ้วได้เริ่มพูดได้ หมอก็เรียกว่ารู้สึกตัวแล้ว แต่ในทางธรรมยังไม่เรียกว่ารู้สึกตัว รู้สึกตัวนี้ใจต้องอยู่กับเนื้อกับตัว วางอดีตวางอนาคต เรียกว่าเกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ทำอะไรใจเต็มร้อยอยู่กับสิ่งนั้น หรือถ้าไม่ได้ทำใจก็เต็มร้อยอยู่กับปัจจุบัน ใจเต็มร้อยไม่เหมือนกับใจเต็มร้อยที่เขาโฆษณาในโทรทัศน์ เต็มร้อยคือใจอยู่กับปัจจุบันอยู่กับเนื้อกับตัว แล้วเมื่ออยู่กับเนื้อกับตัวแล้วก็จะทำให้เกิดชีวิตชีวาขึ้นมา ชีวิตไม่ได้หมายถึงการเพียงแค่มีลมหายใจเข้าออกหรือหัวใจเต้น การแพทย์บอกว่าหายใจเข้าใจมีหัวใจเต้นแสดงว่ามีชีวิต แต่ชีวิตจริงๆมีความหมายมากกว่านั้น คือต้องมีชีวาด้วย หรือมีความตื่นรู้ มีความรู้สึกแจ่มใจเบิกบาน ซึ่งเกิดจากการที่มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม
ถ้าเรามีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม เราถึงจะเรียกว่ามีชีวิตอย่างแท้จริง ถ้าหากว่าไม่มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ใจไปหลงจมอยู่กับความคิดไปอยู่กับอารมณ์เรียกว่า ไม่มีชีวิตชีวา แม้มีลมหายใจบางทีเหมือนกับตายก็มี เมื่อเช้าอาจารย์สุรินทร์พูดถึงคำพูดของท่านทะไลลามะ ที่คนถามว่าท่านรู้สึกว่ามนุษยชาติมีพฤติกรรมอะไรที่แปลกบ้าง ท่านตอบหลายอย่าง แล้วอย่างหนึ่งท่านพูดว่า คนทุกวันนี้อยู่เหมือนกับว่าไม่มีวันตายหรืออยู่เหมือนคนลืมตาย แล้วเวลาตายก็ตายโดยที่ไม่เคยมีชีวิตอยู่เลย ตอนที่อยู่ก็อยู่เหมือนจะไม่มีวันตาย และครั้นถึงวันตายก็ตายโดยที่ไม่ได้อยู่อย่างแท้จริง หมายความว่าอย่างไร ตายโดยที่ไม่ได้อยู่อย่างแท้จริง คือตายโดยที่ทั้งตลอดชีวิตไม่ได้มีความรู้สึกตัวเลย ตราบใดที่คนเราอยู่โดยที่ไม่มีความรู้สึกตัวก็เหมือนว่าไม่ได้อยู่จริงๆ การมีชีวิต 30 ปี 40 ปี 50 ปี โดยที่ไม่มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม จิตไม่ได้สัมผัสกับการตื่นรู้แจ่มใสเบิกบานก็หมือนกับว่าไม่ได้อยู่จริงๆ เขาเรียกว่าตายทั้งเป็นก็ได้
เมื่อเราเกิดมาทั้งทีมีลมหายใจเข้าออกแล้ว ขอให้ได้เราได้อยู่จริงๆ แต่ละวันผ่านไปแต่ละชั่วโมงผ่านไปด้วยความรู้สึกตัว ใจอยู่กับเนื้อกับตัว มีความรู้สึกเต็มร้อยทุกขณะทุกวินาที และเมื่อถึงตอนนั้นเวลาเราจะตายเราก็จะไม่เสียดายชีวิตหรือเวลาที่ผ่านมา แล้วคนที่เขามีความรู้สึกตัวเต็มร้อยหรือรู้สึกตัวทั่วพร้อม เขาจะสามารถเก็บเกี่ยวความสุขได้อย่างง่ายดาย ความสุขที่มีอยู่รอบตัว สามารถที่จะเห็นคุณค่าของการทำความดี เห็นคุณค่าของการทำสิ่งดีงาม มันจะมาเองเพราะเขาย่อมรู้ว่าเมื่อทำสิ่งนี้แล้วทำให้เกิดความสุข ชีวิตจะมีค่า หน้าที่อะไรที่ควรทำก็ไม่ไม่ละเลย ไม่นิ่งดูดาย หรือไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไป แต่จะทำสิ่งนั้นด้วยความกระตือรือร้น เพราะเมื่อมีความรู้สึกตัวแล้วก็จะมีสติ มีสติคือความไม่ประมาท แล้วคนที่ไม่ประมาทจะรู้ว่าสักวันหนึ่งเขาก็ต้องตาย ประเภทว่าอยู่เหมือนคนลืมตาย หรืออยู่แบบไม่คิดว่าจะไม่มีวันตายก็จะไม่มีในความคิดของเขา
คนทุกวันนี้อยู่แบบลืมตายมากเลย แบบนี้เพราะว่าไม่มีสติ ปล่อยชีวิตไปตามกระแส ตามกระแสกิเลสบ้าง ตามกระแสสิ่งเร้าเย้ายวนบ้าง ตามคนโน้นคนนี้ไปบ้าง สุดแท้แต่สิ่งแวดล้อมใดๆจะพาไป ชีวิตแบบนี้เป็นชีวิตที่จะลืมตัวได้ง่าย ลืมแม้กระทั่งว่าสักวันหนึ่งตัวเองต้องตาย ไม่ใช่ลืมแค่นั้นแต่ลืมอย่างอื่นด้วย ลืมสิ่งที่ควรทำให้กับชีวิตของตัว ลืมสิ่งที่ควรทำให้กับพ่อแม่คนรัก เพราะว่ามัวแต่เพลิดเพลิน มัวแต่สนุกสนาน มัวแต่หลงใหลไปกับสิ่งที่เห็นเฉพาะหน้า กว่าจะรู้ตัวบางทีตอนที่ใกล้ตายแล้ว พอใกล้ตายแล้วค่อยมารู้ว่ามีหลายอย่างที่เรายังไม่ได้ทำเลย เราปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไปอย่างไร้ประโยชน์ เมื่อถึงตอนนั้นก็สายไปเสียแล้ว
ฉะนั้นถ้าหากว่าเราอยากให้จะชีวิตของเราเป็นชีวิตที่มีค่า ต้องพยายามเรียกสติกลับมาสู่ใจของเรา แล้วอยู่อย่างรู้สึกตัวทั่วพร้อม พาใจกลับมาอยู่กับปัจจุบัน เราก็จะเรียกว่ามีชีวิตชีวาอยู่ทุกขณะ อย่างที่เราสวดบทสวดเมื่อสักครู่ที่บอกว่า “ผู้เป็นอยู่แม้เพียงราตรีเดียวก็น่าชม” หมายความว่า คนที่แม้มีชีวิตอยู่เพียงแค่วันเดียวคืนเดียวแต่เป็นชีวิตที่อยู่กับปัจจุบัน “เห็นธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าในที่นั้นๆ อย่างแจ่มแจ้งไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน แล้วพอกพูนอาการเช่นนั้นไว้” คนอย่างนี้แม้จะอยู่เพียงแค่วันเดียวคืนเดียวคุ้มค่ากว่าคนที่อยู่ได้ร้อยปี แต่อยู่ด้วยความหลง อยู่ด้วยความลืม เพราะว่าชีวิตของเขาไม่เป็นชีวิตอย่างแท้จริง เขาเรียกภาษาสมัยว่าไม่มีชีวิตชีวา แม้จะอยู่ก็เหมือนตาย หรือเรียกว่าตายทั้งเป็น ตายทั้งเป็นไม่ได้แปลว่าถูกไฟเผาตายทั้งเป็น ถูกหินถล่มถูกตึกถล่มตายทั้งเป็น แต่หมายถึงว่า แม้จะมีลมหายใจอยู่แต่ไม่มีชีวิตชีวา ไม่มีความรู้สึกตัว เพราะไปอยู่กับอดีตบ้าง ไปอยู่กับอนาคตบ้าง อยู่กับอารมณ์ต่างๆบ้าง เลยไม่เคยอยู่กับตัวเองอยู่กับปัจจุบันอย่างแท้จริง จะว่าเป็นภารกิจอย่างหนึ่งก็ได้ที่เราควรทำให้กับชีวิตของเรา เกิดมาทั้งทีแล้วต้องได้พบได้ประจักษ์สิ่งนี้บ้าง การเกิดมาเป็นมนุษย์ของเราจึงจะมีความหมาย แล้วจะได้คุ้มค่ากับการที่ได้เกิดมาแล้วมีลมหายใจ ไม่ใช่ว่าหายใจรดทิ้งไปวันๆ เพื่อที่จะรอวันตาย ซึ่งจะตายเมื่อไรก็ไม่รู้ แล้วพอใกล้เข้ามาแล้วถึงค่อยรู้ว่า ที่ผ่านไปเป็นการปล่อยเวลาให้สูญเปล่าไปอย่างน่าเสียดาย