แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พวกเราที่นี่ต้องถือว่าเป็นผู้ที่โชคดี ที่ได้มาใช้ประโยชน์จากสถานที่แห่งนี้ในการปฏิบัติเพื่อการเจริญงอกงามของพวกเรา เป็นที่ที่หลวงพ่อคำเขียนได้ทุ่มเทมาเป็นเวลานาน เรียกว่าตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเลย หรือตั้งแต่เริ่มที่ท่านมาปักหลักอยู่ที่นี่ เพื่อให้เป็นสถานที่ที่เราจะได้ใช้ประโยชน์ในการเจริญภาวนา ที่จริงตอนที่หลวงพ่อมาปักหลักที่วัดป่าสุคะโต ท่านไม่ได้คิดว่าจะให้วัดป่าสุคะโตเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมในลักษณะนี้ หมายความว่าเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมสำหรับคนที่มาจากแดนไกล ตอนที่ท่านมาปักหลักที่นี่ท่านคิดถึงแต่อยากจะมาช่วยเหลือชาวบ้านบนหลังเขา
ก่อนหน้าที่ท่านจะมาปักหลักที่นี่ประมาณปี พ.ศ. 2519 ท่านเคยมาที่นี่ก่อนแล้วในปี พ.ศ. 2513 แต่ไม่ได้คิดที่จะสร้างสำนักอะไร เพราะว่าท่านมีกิจตามหลวงพ่อเทียนไปสอนธรรมตามที่ต่างๆ โดยเฉพาะที่วัดโมกข์(วัดโมกขวนาราม) จังหวัดขอนแก่น แล้วตอนหลังที่วัดสนามใน เมืองนนทบุรี แล้วท่านก็ได้พบว่าคนในเมืองสนใจธรรมะกันมาก มีคนมาปฏิบัติกันอย่างต่อเนื่อง ท่านรู้สึกว่าคนที่เข้าวัดเป็นคนดีอยู่แล้วไม่ค่อยน่าเป็นห่วง แต่สิ่งที่น่าห่วงคือคนที่ไม่ค่อยเข้าวัด แล้วท่านก็นึกถึงผู้คนบนหลังเขานี้ เพราะว่าผู้คนบนหลังเขานี้เรียกว่าศีลหรือธรรมไม่สนใจเลย ตอนที่ท่านไปอยู่ที่วัดภูเขาทองใหม่ๆ ชาวบ้านกินเหล้ากันในวัด เอาศาลาวัดเป็นทั้งเวทีหมอลำ แล้วหนักกว่านั้นคือเป็นบ่อนเล่นการพนันกันในวัด ท่านว่าตอนที่ท่านไปเริ่มบุกเบิกที่ภูเขาทองมีขวดเหล้ามากมายไปหมด ต้องชวนชาวบ้านเก็บกวาดเพราะมันเลอะเทอะมาก นี่คือกลุ่มคนที่หลวงพ่อท่านเป็นห่วงเพราะคนเหล่านี้ไม่สนใจธรรมะ
ส่วนคนในเมืองโดยเฉพาะที่วัดสนามในท่านไม่ค่อยห่วงเท่าไร เพราะว่าเขาใฝ่ใจในการปฏิบัติธรรม เดินเข้าวัดกันเป็นแถวมาปฏิบัติธรรม ตอนที่ท่านขึ้นมาปักหลักที่นี่หลังจากที่ช่วยงานหลวงพ่อเทียนมา 7-8 ปี หลวงพ่อเทียนไม่เห็นด้วย หลวงพ่อเทียนบอกว่า คนรู้ธรรมะทำไมมาหลบอยู่ในป่าเหมือนหนูเหมือนลิงเหมือนค่าง ขึ้นมาทำไม ท่านอยากให้ไปสอนธรรมะกับคนในเมือง อยากให้ไปช่วยงานที่วัดโมกข์ หรือไม่ก็ที่วัดสนามใน เพราะตอนนั้นคนในเมืองสนใจธรรมะมากขึ้น
หลวงพ่อเทียนท่านมาแนวการสอนหรือเผยแผ่ธรรมะ จะเรียกว่าคนละแบบกับหลวงพ่อคำเขียนก็ได้ หลวงพ่อเทียนท่านเน้นการตั้งสำนักใกล้เมือง เช่นที่วัดโมกข์ใกล้ขอนแก่น วัดสนามในใกล้กรุงเทพฯ ตอนหลังท่านไปสร้างสำนักทับมิ่งขวัญก็อยู่ในตัวจังหวัดเลย แต่หลวงพ่อคำเขียนท่านคิดไม่เหมือนหลวงพ่อเทียนและเพื่อนๆ ท่านปลีกมาอยู่บนเขาซึ่งตอนนั้นปี 2519 เรียกว่าเป็นเขตที่ทุรกันดาร ขึ้นมาลำบากมาก ต้องปีนเขาจากแก้งคร้อ ไม่มีถนน อาตมาก็ยังมาทันเลย มาช่วยหลวงพ่อคำเขียนทำผ้าป่าข้าวต้องปีนเขาขึ้นมา ปี 2523 หลวงพ่อท่านมาปักหลักที่นี่เพื่อชาวบ้านบนหลังเขาเป็นหลักเลย แล้วท่านช่วยทำให้คนที่ท่ามะไฟเริ่มมาสนใจธรรมะ สนใจศีลสนใจธรรม ห่างไกลอบายมุข
แต่ท่านก็รู้ว่าการช่วยเหลือชาวบ้าน นอกจากเรื่องธรรมะแล้วต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเขา ช่วยสงเคราะห์เขาในเรื่องต่างๆที่เขาเดือดร้อน ท่านเลยสร้างศูนย์เด็กขึ้นมา โดยไม่รู้ว่านั่นคือศูนย์เด็กแห่งแรกของจังหวัดชัยภูมิในปี 2521 เพื่อมาสงเคราะห์ลูกหลานชาวบ้าน พ่อแม่เขาจะได้ไปทำไร่สะดวก ไม่ต้องเอาลูกไปเจอแดดเจอฝนจน บางคนก็ตาย ตายเพราะเป็นไข้ พอท่านย้ายมาที่สุคะโตท่านยังคิดถึงเรื่องของการฟื้นฟูอาชีพของชาวบ้าน ศาลาหน้าที่ท่านสร้างใหม่ๆ ประมาณปี 2526 - 2527 ความคิดเดิมของท่านคืออยากจะเป็นที่ที่ชาวบ้านมาเรียนฝึกอาชีพเรื่องการเย็บผ้า ท่านอยากจะหาจักรเย็บผ้ามาไว้บนศาลาหน้า สอนชาวบ้านรู้จักการเย็บผ้าเป็นการเพิ่มรายได้
ส่วนพื้นที่ตรงนี้ท่านอยากจะชักชวนให้ชาวบ้านทำการเกษตร เกษตรแบบผสมผสานหรือเกษตรที่ไม่ต้องไปพึ่งตลาดมากนัก หรืออย่างน้อยๆเป็นที่ที่จะเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้าน เช่น ปลูกลำไย ปลูกกะท้อน รวมทั้งปลูกผัก นี่คือความคิดเดิมของหลวงพ่อเมื่อ 30 ปีที่แล้ว คือท่านไม่ได้คิดที่จะให้ที่นี่เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมสำหรับคนไกลๆ หรือคนเมือง เพราะท่านรู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก มันไกลมาก สมัยที่อาตมามาบวชกับท่าน บอกว่าจะมาขอปฏิบัติธรรมที่สุคะโต คือปี 2526 หลวงพ่อท่านไม่สะดวกที่จะรับ เพราะว่าสุคะโตตอนนั้นไม่ได้เหมาะสำหรับการที่จะรองรับคนจากที่ไกลๆ เสนาสนะก็น้อย ท่านแนะนำว่าให้มาปฏิบัติกับหลวงพ่อเทียนที่วัดสนามใน แล้วท่านจะมาเยี่ยมมาเยียนเป็นครั้งคราว มาชี้แนะการปฏิบัติที่วัดสนามในเพราะสะดวกกว่า
ดังนั้นการที่พวกเราได้มาอยู่ตรงนี้ถือว่าเป็นโชคมาก เพราะว่าความตั้งใจเดิมของหลวงพ่อ ไม่ได้หวังว่าคนอย่างพวกเราจะมาใช้ประโยชน์จากที่นี่ ท่านมุ่งไปที่ชาวบ้านเป็นหลัก แต่ว่าไปๆมาๆ ค่อยๆเริ่มมีคนจากในเมืองคนจากกรุงเทพฯ ค่อยๆขึ้นมาทีละคนสองคนสามคน แล้วก็ตามกันมาจนกระทั่งมีคนขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เหตุนี้ที่ทำให้ท่านเริ่มที่จะพัฒนาที่นี่ให้สามารถรองรับนักปฏิบัติจากที่ไกลๆได้ แล้วก็ค่อยทำทีละเล็กทีละน้อย เวลาพวกเรามาไม่ว่าจะเป็นพระหรือโยม ท่านจะให้พวกเราปฏิบัติเป็นหลักเลย ส่วนเรื่องอย่างอื่นท่านดูแลเองท่านจัดการเอง สมัยก่อนนี้ศาลาไก่มีอยู่แล้ว ศาลาไก่ถูกปรับปรุงเปลี่ยนแปลงปี 2527
แม้กระทั่งเรื่องน้ำประปาหลวงพ่อท่านก็ดูแลเองเลย มีมอเตอร์อยู่ตัวหนึ่งตรงใกล้ๆกับที่ปั้มน้ำปัจจุบัน ที่ตรงประตูทางเข้าเขตอุบาสกอุบาสิกา หลวงพ่อท่านรู้จักมอเตอร์ตัวนี้ดีมาก เหมือนว่าคุยกับมันรู้เรื่อง ใครคนอื่นที่ซ่อมไม่ถูกใจหรือซ่อมไม่ได้ แต่หลวงพ่อท่านซ่อมได้ หลวงพ่อท่านจัดการเรื่องน้ำเอง เรื่องเสนาสนะท่านก็เป็นคนจัดการปลูกสร้าง ไม่ได้ปลูกเองแต่จัดการให้พาชาวบ้านมาเลื่อยไม้มาปลูก เรียกว่าคนที่มาอยู่วัดที่มาปฏิบัติไม่ต้องทำอะไรก็ได้ นอกจากปฏิบัติ ส่วนเรื่องเสนาสนะ เรื่องปัจจัย 4 ท่านรับผิดชอบเอง ท่านทุ่มเทมาก
ตอนหลังพอมีคนมาอยู่มากขึ้น มีพระมาบวชมากขึ้นก็มีกำลังมาช่วย อย่างช่วงตอนหลังก็ได้อาจารย์ทรงศิลป์ ได้อาจารย์ตุ้ม ได้อาจารย์วัฒนชัย แล้วรุ่นหลังก็มีท่านสังข์มาช่วยเป็นมือเป็นไม้ ทำให้การพัฒนาปรับปรุงที่นี่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และสามารถรองรับคนได้มากขี้นๆเรื่อยๆ แต่ทุกวันนี้ท่านก็ยังไม่หยุด อย่างเมื่อเช้าวันนี้พอท่านเริ่มมีแรงท่านก็ไปที่ท่ามะไฟ ไปทำอะไร ไปสั่งดินมา 100 รถ เพื่อมาปรับปรุงตรงเชิงตะกอนที่สุคะโต ขนาดท่านอาพาธหนัก ถ้ามีแรงเมื่อไรท่านก็ยังคิดถึงเรื่องของการปรับปรุงที่นี่ให้เหมาะกับการอยู่และการปฏิบัติของพวกเรา ทั้งๆที่ท่านก็ชราและอาพาธขนาดนี้ ท่านยังนึกถึงพวกเรา แล้วนึกถึงคนอีกมากมายที่จะได้อาศัยประโยชน์จากที่นี่
เพราะฉะนั้นจึงบอกว่าพวกเราโชคดี ที่ได้มาใช้ประโยชน์จากที่ที่หลวงพ่อท่านได้ทุ่มเท และด้วยเหตุนี้ก็ควรที่จะสำนึกในบุญคุณของท่าน ซึ่งการที่จะตอบแทนบุญคุณของท่านก็ไม่มีอะไรดีไปกว่าการปฏิบัติ เพื่อให้สมประโยชน์อย่างที่ท่านมุ่งหวัง ทั้งๆที่เดิมทีท่านไม่ได้มุ่งหวังไว้อย่างนี้เลย แต่ก็เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัย ซึ่งเลยเป็นโชคของพวกเรา เรื่องการปฏิบัติท่านพูดย้ำอยู่เสมอว่า ให้เป็นงานหลักของพวกเรา ไม่ว่าการปฏิบัตินั้นจะมาในรูปไหน สิ่งสำคัญคือการมีสติ การสร้างความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้น ซึ่งต้องอาศัยความพากเพียรพยายาม
แต่ความพากเพียรพยายามอย่างเดียวไม่พอ ต้องอาศัยความเข้าใจในเรื่องการปฏิบัติด้วย ถ้าเราเข้าใจในเรื่องการปฏิบัติไม่ถูกต้องพากเพียรไปก็อาจจะมีปัญหา อย่างที่เล่าถึงผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งเขามีความเพียรในการปฏิบัติมาก แต่เขาวางใจไม่ถูกต้องเลยเกิดเป็นปัญหาขึ้นมาเรียกว่าสติแตก แล้วก็ยังไม่ค่อยมีสติไม่ค่อยมีความรู้ตัวเท่าไร เลยทำงานทำการก็ไม่ได้ จะใช้ชีวิตตามปกติยังใช้ไม่ได้เลย เพราะว่าสติไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัวเท่าไร แบบนี้เป็นเพราะว่าการเข้าใจธรรมะยังไม่ถูกต้อง เมื่อเข้าใจไม่ถูกต้องการปฏิบัติก็เลยผิดพลาด
มีหลักการปฏิบัติอยู่อย่างหนึ่งสำหรับชาวพุทธ ท่านใช้คำว่า ธรรมานุธรรมปฏิบัติ ที่เขาแปลกันทั่วไปคือแปลว่า ปฏิบัติธรรมน้อย คล้อยธรรมใหญ่ หรือถ้าพูดง่ายๆคือ ปฏิบัติธรรมโดยสมควรแก่ธรรม แปลให้ง่ายกว่านั้นคือ ปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้องตามจุดมุ่งหมายของธรรมะแต่ละข้อนั้น ธรรมะมีประโยชน์แต่มีจุดหมายเฉพาะที่เราต้องใช้ให้ถูก เราต้องเข้าใจก่อนว่ามีจุดหมายเพื่ออะไรแล้วก็ใช้ให้ถูก เมื่อใช้ถูกแล้วก็จะเกิดประโยชน์ ของดีต้องใช้ให้ถูกด้วย ของดีใช้ผิดเกิดปัญหาเหมือนกัน เหมือนกับรถยนต์มีประโยชน์แต่ถ้าเราขับไม่เป็นก็อาจจะสร้างความหายนะทำให้คนพิการหรือตายได้ ในแง่หนึ่งธรรมะแต่ละข้อๆก็เหมือนกับรถยนต์ หรือเหมือนกับพาหนะที่จะพาเราไปสู่จุดหมายแต่ละจุดๆ ส่งทอดกันไปเป็นช่วงๆ เราต้องเข้าใจตรงนี้ว่าธรรมะแต่ละข้อจะพาไปไหน มีจุดประสงค์อย่างไร แล้วก็ปฏิบัติให้ถูก ธรรมะแม้จะดีแต่ถ้าปฏิบัติผิดก็เกิดปัญหา
ด้วยเหตุนี้ยังมีพุทธภาษิต หรือมีข้อความข้อหนึ่งซึ่งเมื่อสักครู่เราพึ่งสาธยายไป “ธรรมที่ประพฤติดีแล้วย่อมนำสุขมาให้” หมายความว่า ถ้าเรามองอีกแง่หนึ่งคือ ธรรมะถ้าประพฤติไม่ดีก็ทำให้เป็นทุกข์ ธรรมะแม้จะดีแต่ถ้าประพฤติผิดก็สร้างทุกข์ให้ ธรรมที่ประพฤติดีแล้วย่อมนำสุขมาให้ แต่ถ้าประพฤติไม่ดีก็นำทุกข์มาให้เราต้องระวัง หรือทำให้ชีวิตจิตใจไม่พัฒนา ยกตัวอย่างเช่น ทานมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดละ เพื่อขัดเกลา เพื่อทำให้เรารู้จักปล่อยรู้จักวาง เป็นไปเพื่อลดละความเห็นแก่ตัว สิ่งนี้นอกเหนือจากการที่เป็นการช่วยเหลือผู้อื่นแล้วซึ่งคือประโยชน์ท่าน สำหรับประโยชน์ตนทานคือเพื่อช่วยลดละความเห็นแก่ตัว แต่ถ้าให้ทานไม่เป็นก็จะเป็นการพอกพูนกิเลส เช่นทำบุญให้ทานก็อยากมั่งอยากมี ทำบุญสิบอยากได้ร้อย ทำบุญร้อยอยากได้ล้าน ให้ทานก็อยากจะถูกหวย การให้ทานแบบนี้เป็นการให้ทานที่ไม่ถูกต้อง
พระสารีบุตรเคยพูดไว้ว่า “บัณฑิตเมื่อให้ทานย่อมไม่เห็นแก่อุปธิสุข” อุปธิสุขคือโลกียสุข ย่อมไม่ได้ให้ทานเพราะเห็นแก่อุปธิสุข หรือเพราะภพใหม่ ภพใหม่ เช่นขอให้เป็นคนรวยในชาติหน้า ขอให้ไปเกิดเป็นเทวดา แต่ให้ทานเพื่อกำจัดกิเลสและเพื่อไม่ก่อภพใหม่ ไม่ก่อภพใหม่คืออะไร คือเพื่อนิพพาน แบบนี้คือการให้ทานที่ถูกต้อง ซึ่งคนที่เป็นบัณฑิตจะรู้ว่าให้ทานเพื่ออะไร ให้ทานเพื่อละไม่ใช่เพื่อพอกพูน
ศีลก็เหมือนกัน ศีลเพื่อลดละโลภะโทสะโมหะ จำกัดขอบเขตของโลภะโทสะโมหะ ไม่ให้ออกมาทางกายวาจาจนกระทั่งก่อความเดือดร้อนทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น แต่ถ้ารักษาศีลไม่ดีก็กลายเป็นการเพิ่มพูนกิเลสเพิ่มพูนมานะ ไปดูถูกคนอื่นว่าเขาถือศีลน้อยกว่าฉัน ฉันไม่กินเหล้าแต่แกกินเหล้า หรือฉันถือศีล 8 แกถือศีล 5 แกอย่ามาเถียงฉัน มีบางคนเวลาเถียงกันเถียงสู้เขาไม่ได้ก็บอกเลยว่า เธออย่ามาเถียงฉัน ฉันถือศีล 8 เธอถือศีล 5 หยุดได้เลย มีคนอ้างแบบนี้ด้วย เอาศีลมาข่มคนอื่น แบบนี้เรียกว่าทำผิดแล้ว ทำผิดคือใช้ศีลหรือใช้ธรรมไปในทางที่ผิดพลาด เพราะไม่เข้าใจจุดมุ่งหมายของศีลว่าเพื่ออะไร เมื่อไม่เข้าใจก็ทำไปตามรูปแบบ แล้วก็เปิดช่องให้กิเลสเข้ามาแทรกได้
ภาวนาก็เช่นเดียวกัน ภาวนาเพื่อทำให้เกิดความสงบเป็นเบื้องต้น แล้วเกิดปัญญา แต่บางคนไปเข้าใจว่าภาวนาเพื่อให้ได้เกิดฤทธิ์ เห็นสี เห็นแสง อยากจะเพิ่มพลังจิตให้มีความสามารถพิเศษทางจิต เพื่ออะไร เพื่อสนองกิเลส เพื่อไปกดข่มคนอื่น หรือเพื่อใช้อำนาจพิเศษนั้นในการที่จะรังควานคนอื่น แบบนั้นเป็นการทำผิดวัตถุประสงค์ของภาวนา อย่างนี้เรียกว่าปฏิบัติผิด เมื่อปฏิบัติผิดก็เกิดปัญหาตามมา ธรรมะแต่ละข้อมีจุดมุ่งหมายที่เราต้องเข้าใจ สันโดษก็เหมือนกัน สันโดษหมายถึงการพึงพอใจในสิ่งที่มียินดีในสิ่งที่ได้ ซึ่งรวมไปถึงการอยู่ง่ายกินง่าย
บางคนไปเข้าใจว่าสันโดษหมายถึง พออยู่ง่ายกินง่ายแล้วก็ไม่ต้องไปทำงานอะไรมาก วันๆหนึ่งฉันใช้ 20 บาทก็พอ เพราะฉะนั้นถ้าหามาได้สัก 40 บาท หรือ 30 บาท ก็พอแล้ว หยุดหาแล้วก็นั่งเล่นนอนเล่น ใช้เวลาที่เหลือในการนั่งเล่นนอนเล่น นั่งเล่นนอนเล่นก็ดีแต่ถ้าใช้เวลาทั้งวันกับเรื่องแบบนี้ก็ไม่ถูกต้อง สันโดษมีจุดมุ่งหมายเพื่อเราจะไม่ไปเสียเวลากับการหาเงินหาทองมาก หรือไม่เสียเวลาไปกับการเสพการบริโภคมาก เราจะได้มีเวลาเหลือสำหรับการทำสิ่งอื่นที่มีประโยชน์มากกว่า เช่นการปฏิบัติธรรม หรือการช่วยเหลือเกื้อกูลส่วนรวม บางคนอาจจะไปอุปถัมภ์บำรุงพระศาสนา ไม่ได้ให้ใช้เวลาที่เหลือสำหรับการนั่งเล่นนอนเล่น แต่เพื่อเราจะได้ไปทำสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าการทำมาหากิน หรือการเสพการบริโภค หรือถ้าจะไปทำมาหาเงินก็ได้ แต่เงินนั้นไม่ใช่เพื่อการเสพการบริโภคส่วนตัวแต่เพื่อส่วนรวม เช่นอนาถบิณฑิกได้เงินมากท่านก็เอามาอุปถัมภ์บำรุงพระศาสนา ท่านยังทำมาหาเงินอยู่แต่ท่านใช้น้อยกินน้อยไม่ได้นั่งเล่นนอนเล่น
พระพุทธเจ้าท่านรู้ว่า สันโดษคนอาจจะเข้าใจผิดพลาด ท่านเลยสอนให้เอาวิริยะคู่กับสันโดษด้วย วิริยะคือความเพียร ถ้าสันโดษแล้วขี้เกียจนี่ผิดแล้ว สันโดษต้องตามมาพร้อมกับความขยัน ไม่ใช่นั่งเล่นนอนเล่น พระพุทธเจ้าท่านฉลาด ให้เอาวิริยะมากำกับสันโดษ เพื่อไม่ให้สันโดษกลายเป็นการไปสนองกิเลสหรือสนองตัณหา ความขี้เกียจเป็นผลของตัณหาอยากสบาย แล้วสันโดษอาจจะกลายเป็นความขี้เกียจได้ถ้าไม่มีวิริยะมากำกับ คนไทยจำนวนไม่น้อยเข้าใจสันโดษผิด แล้วก็ปฏิบัติผิดด้วย เลยทำให้คนมองว่าทำไมคนไทยขี้เกียจ
ในเรื่องการภาวนาก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราเข้าใจธรรมะแต่ละข้อๆมีจุดมุ่งหมายอะไร เราจะใช้ถูกและทำให้เกิดประโยชน์ ตัวอย่างเช่นโพชฌงค์ 7 โพชฌงค์ 7 เรียกองค์ธรรมแห่งการตรัสรู้ ซึ่งถ้าเราพิจารณาจะมีอยู่ 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นส่วนที่เน้นเรื่องความสงบ หรือส่งผลทำให้เกิดความสงบ เช่นสมาธิ ปัสสัทธิ อุเบกขา ธรรมะ 3 ตัวนี้มุ่งทำให้ใจสงบนิ่ง อีก 3 ตัวคือ วิริยะ ธัมมวิจยะ และปีติ ธัมมวิจยะเรียกง่ายๆว่าปัญญา 3 ตัวนี้ เป็นตัวฝ่ายถ้าภาษาฝรั่งเขาเรียว่า แอ็คชั่น (Action) ทำให้ใช้ในการทำการงานต่างๆ เวลาเราเซื่องซึม ถ้าใช้โพชฌงค์ไม่ถูกต้อง เช่นไปใช้สมาธิ ปัสสัทธิเ จะยิ่งง่วงยิ่งซึมเข้าไปใหญ่ ในเวลาที่เซื่องซึมท่านแนะว่าให้ใช้ตัว ปีติ วิริยะ แล้วก็ธัมมวิจยะ หรือปัญญา เช่นเวลาง่วงเหงาหาวนอนลองพิจารณาธรรมก็ทำให้จิตมันตื่นขึ้นมา เรื่องนี้พระพุทธเจ้าแนะพระโมคคัลลานะเหมือนกัน เวลาท่านง่วงมากให้ลองพิจารณาธรรมดู ในทางตรงข้ามเวลาฟุ้งซ่าน ถ้าขืนไปใช้วิริยะเข้าไปหรือใช้ธัมมวิจยะยิ่งฟุ้งซ่านหนักเข้าไปใหญ่ เราต้องเข้าใจว่าในเงื่อนไขแบบนี้ ต้องใช้สมาธิ ใช้ปัสสัทธิ หรืออุเบกขา จะช่วยทำให้ใจสงบลง ไม่ฟุ้งซ่าน
ฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่า ธรรมะนั้นมีจุดมุ่งหมายที่ค่อนข้างจะเฉพาะ เราใช้ไม่เป็นเกิดผลเสีย กำลังหดหู่ ง่วงซึม ไปใช้โพชฌงค์ฝ่ายที่ทำให้สงบนิ่งก็ยิ่งทำให้จิตดิ่งเข้าไปใหญ่ หรือกำลังฟุ้งซ่านอยู่ไปใช้ธรรมะสัมโพชฌงค์ในส่วนที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเพียร หรือกระตุ้นให้เกิดการไตร่ตรอง ธัมมวิจยะ ยิ่งทำให้เกิดความฟุ้งซ่านเข้าไปใหญ่ เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจว่า ธรรมะแต่ละข้อมีจุดมุ่งหมายอะไรแล้วก็ใช้ให้ถูกกับกรณี
การใช้ธรรมะให้ถูกกับกรณีนี้สำคัญมาก นอกเหนือจากการที่รู้จักใช้ธรรมะแต่ละข้อให้สมดุลกัน อย่างเช่นอินทรีย์ 5 ในอินทรีย์ 5 จะมีธรรมะอยู่ 2 คู่ ศรัทธากับปัญญา เรื่องนี้ช่วยเสริมกัน ศรัทธามากปัญญาน้อยเกิดปัญหาทำให้หลงไปเชื่อคนที่เป็นมิจฉาทิฐิก็ได้ เพียงเพราะเขาสร้างภาพได้ดีกว่า อย่างเช่นพวกที่ศรัทธาเณรคำโดยที่ไม่ได้ใช้ปัญญาประกอบก็โดนเณรคำหลอกไปแล้วมาเสียใจภายหลัง แล้วอาจจะท้อแท้เสื่อมศรัทธาในพระสงฆ์ในพระศาสนา แบบนี้ศรัทธามากไปเกิดผลเสีย แต่ปัญญามากไปก็มีปัญหาไม่ยอมลงให้ใครเลย ไม่เชื่ออะไรเลยสักอย่างต้องพิสูจน์ด้วยตัวเองตะพึดตะพือ ก็มีปัญหาได้เหมือนกัน เพราะว่าบางอย่างต้องอาศัยศรัทธาเป็นตัวเริ่มเพื่อที่จะให้เกิดการปฏิบัติ
เพราะฉะนั้นศรัทธากับปัญญาต้องเสมอกัน วิริยะกับสมาธิก็ต้องเสมอกัน สมาธิมีมากๆก็ขี้เกียจ อย่างหลวงพ่อคำเขียนสมัยที่ท่านเป็นคฤหัสถ์ ท่านหนักไปด้านสมถะมาก เวลาทำนาท่านคิดถึงแต่ห้องพระ อยากจะกลับมาภาวนามาทำสมาธิที่ห้องพระจะได้สงบ ไม่อยากทำอะไรเลย แบบนี้อาจจะนำไปสู่ความขี้เกียจได้ง่ายสำหรับหลายคนหรือเซื่องซึมไป แต่ถ้าวิริยะมากไปก็มีปัญหา เราต้องรู้ว่าธรรมะแต่ละข้อมีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร นอกจากรู้ว่าวัตถุประสงค์คืออะไรแล้ว ต้องรู้จักจุดอ่อนจุดแข็งแล้วก็เอามาเสริมให้ได้สมดุลกัน คือสมดุลกันระหว่างวิริยะกับสมาธิ สมดุลกันระหว่างศรัทธากับปัญญา แม้แต่โพชฌงค์ก็เหมือนกัน โพชฌงค์จะมี 2 คู่ที่ต้องใช้ให้สมดุล คือ วิริยะกับสมาธิ ปีติกับปัสสัทธิ ธัมมวิจยะกับอุเบกขา
แต่ในอินทรีย์ 5 ก็ดี ในโพชฌงค์ 7 ก็ดี มีตัวหนึ่งที่พิเศษกว่าใคร คือ สติ สติเรียกว่ามีคุณสมบัติหลายแง่ เป็นทั้งตัวเบรคก็ได้เป็นตัวเร่งก็ได้ ไม่เหมือนกับสมาธิ สมาธิจะเป็นตัวเบรคอย่างเดียว ทำให้สงบทำให้นิ่ง สติก็ทำให้นิ่งได้ แต่สติในอีกด้านหนึ่งสามารถจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ขยันก็ได้ให้ตื่นตัวก็ได้ เช่นเวลาโกรธอยากจะด่าอยากจะโวยวาย ถ้ามีสติทำให้ยับยั้งชั่งใจได้ แต่ในเวลาขี้เกียจไม่อยากทำอะไรเลย สติเป็นตัวเร่งให้ออกไปทำโน่นทำนี่ เวลาง่วงอย่างเช่นเวลาเราตื่นนอนยังง่วง ถ้ามีสติจะเกิดความกระตือรือร้น สติจึงมีลักษณะที่มีทั้งรุกแล้วก็รับ ถ้าพูดภาษาสมัยใหม่ เป็นทั้งตัวรุกและตัวรับ เป็นทั้งตัวนิ่งและตัวขับเคลื่อน ไม่เหมือนกับธรรมะอื่นๆ ในอินทรีย์ 5 หรือในโพชฌงค์ 7 เพราะฉะนั้นสติเป็นตัวประสานอย่างดี ศรัทธากับปัญญาจะได้สมดุลต้องมีสติ วิริยะกับสมาธิอยู่ได้สมดุลต้องมีสติเป็นตัวประสาน โพชฌงค์ 7 ที่เป็นคู่ 3-3 ก็มีสติเป็นตัวเชื่อม เป็นตัวประสานทำให้เกิดความสมดุล
ฉะนั้นถ้าเกิดว่าเรามีสติจริงๆ สติในความหมายที่เป็นสัมมาสติ ก็มั่นใจได้ว่าจะดำเนินชีวิตหรือจะทำกิจต่างๆได้อย่างพอดีๆ มีสติทำให้ไม่ขี้เกียจ และขณะเดียวกันก็ไม่ได้ขยันเกินไป เรื่องความเพียรแต่พอดี หรือวิริยะสมตา คือเพียรไม่ขี้เกียจเหมือนสายพิณที่หย่อน แล้วก็ไม่เพียรมากเหมือนสายพิณที่ตึง จะทำอย่างนั้นได้ต้องมีสติช่วยทำให้ความเพียรพอดีๆ ฉะนั้นสติเป็นตัวที่เอามาใช้ได้กับทุกกรณี เวลาง่วงใช้สติก็ดี เวลาฟุ้งซ่านใช้สติก็ดี เวลาง่วงซึมสติเป็นตัวทำให้เกิดความกระตือรือร้น เวลาฟุ้งซ่านมากสติช่วยเตือนหรือช่วยชะลอทำให้สงบลง ใช้ได้ทั้ง 2 กรณี ในขณะที่ธรรมะตัวอื่นในโพชฌงค์ 7 ใช้ได้เฉพาะกรณี
ฉะนั้นการเจริญสติสำคัญมากที่จะเป็นเครื่องมือ ทั้งหมดนี้เพื่อที่จะเน้นว่าเรื่องการปฏิบัติเราต้องเข้าใจว่า ในเรื่องความเพียรความขยันความทุ่มเทอย่างเดียวไม่พอ เราต้องเข้าใจว่าธรรมะแต่ละข้อมีวัตถุประสงค์อะไร เพื่อที่เราจะใช้ให้ถูก ปฏิบัติให้เป็น อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ธรรมที่ประพฤติดีแล้วย่อมนำสุขมาให้” ถ้าไม่เข้าใจก็ปฏิบัติผิด เมื่อปฏิบัติผิดแล้วก็นำทุกข์มาให้ ทำให้เกิดความเนิ่นช้า เกิดปัญหาตามมา ข้อนี้เป็นเรื่องที่เราต้องพิจารณาใคร่ครวญเอาเองด้วย ที่พูดมาก็เป็นเพียงแค่หลัก
และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมพระพุทธเจ้าถึงเน้นมาก เรื่องธรรมานุธรรมปฏิบัติ การปฏิบัติโดยสมควรแก่ธรรม เรื่องนี้ถือว่าเป็นองค์ธรรมข้อหนึ่งในการที่จะนำไปสู่การเป็นพระโสดาบัน คือกระบวนการแห่งการตรัสรู้จะมีอยู่ 4 ขั้น ขั้นที่หนึ่งคือ คบหาบัณฑิต ขั้นที่สอง คบหาเสร็จฟังธรรมจากท่าน ขั้นที่สาม มีโยนิโสมนสิการ ใคร่ครวญธรรม แล้วขั้นที่สี่ จึงค่อยธรรมานุธรรมปฏิบัติ คือลงมือปฏิบัติ เรื่องนี้คือ 4 ขั้นตอนที่นำไปสู่ความเป็นพระอริยเจ้า ธรรมานุธรรมปฏิบัติจะเป็นตัวท้ายตัวที่สี่ พวกเราอาจจะมีการคบกับครูบาอาจารย์ มีการคบกับบัณฑิต และได้ฟังธรรมแล้ว ต้องมีโยนิโสมนสิการด้วย แล้วจึงจะนำไปสู่ธรรมานุธรรมปฏิบัติ ซึ่งจะมีผลคือการเป็นพระโสดาบัน หรือพระอริยเจ้า นั่นจึงสำคัญมาก