แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เช้านี้เราพร้อมใจกันสาธยายพระพุทธคุณร้อยบทถือว่าเป็นสิริมงคล สิริมงคลที่ว่านี้เกิดขึ้นได้ไม่ใช่เพียงเพราะว่าปากเราเปล่งถ้อยคำอันงดงามออกมา แต่ใจเราก็น้อมไปถึงพระพุทธคุณนั้น เมื่อใจน้อมนำแล้วเกิดเป็นกุศล อย่างนั้นเรียกว่าสิริมงคลได้เกิดขึ้นประการหนึ่งแล้ว เมื่อเราน้อมใจนอกจากจิตใจเป็นกุศลแล้วเรายังเกิดศรัทธามั่นคงแน่นแฟ้นในพระพุทธองค์ ในฐานะที่เป็นที่พึ่งอันประเสริฐของเรา ทำให้เรามีพลังในจิตใจว่าศรัทธานี้เป็นพลังอย่างหนึ่ง เป็นหนึ่งในพละ 5 ทำให้ใจเรามีพลังในการที่จะนำพาชีวิตของเราให้ตั้งมั่นอยู่ในธรรมะ พยายามที่จะป้องกันอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็ถ่ายถอนออกไป รวมทั้งพยายามที่จะทำความดี ฝึกฝนพัฒนาตนเพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และที่มีอยู่แล้วให้เจริญงอกงามมากขึ้น ในการที่จะทวนกระแสกิเลสนี้ต้องอาศัยพลังในจิตใจและศรัทธาที่เรามีต่อพระรัตนตรัย รวมทั้งที่มีต่อพระพุทธองค์ จะช่วยทำให้เรามีพละกำลังในการที่จะทวนกระแสเพื่อนำชีวิตของเราไปสู่ภาวะที่ดีงาม
นอกจากศรัทธาที่มีต่อพระพุทธองค์รวมทั้งพระรัตนตรัยแล้ว ถ้าหากว่าเราได้พิจารณาพระพุทธคุณทั้งหลายเหล่านี้ซึ่งมีอยู่มากมาย พิจารณาว่าเป็นอุดมคติของชีวิต เพราะคุณสมบัติโดยเฉพาะภาวะภายในที่ปราศจากทุกข์ ให้ถือว่าเป็นอุดมคติของชีวิตที่เราจะมุ่งหน้าไปสู่ แบบนี้ก็จะยิ่งเป็นสิริมงคลมากขึ้น เพราะเหมือนกับว่าเรามีทิศทางที่จะไป เรามีจุดหมายที่จะไป คนเราถ้าไม่มีจุดหมายหรือมีจุดหมายก็จริงแต่ไม่ใช่เป็นจุดหมายที่ดีงาม ก็ลงเอยไปสู่ทางตันทางอบายได้ง่าย หรือไปสู่ความทุกข์ได้ง่าย แต่ถ้าเรามีจุดหมายอันดีงามที่เราเรียกว่าอุดมคติ แม้จะสูงส่งเหลือเกิน แต่ก็มีประโยชน์ในการกำหนดทิศทางของชีวิตของเรา ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องไปให้ถึงก็ได้ แต่อย่างน้อยก็เป็นเครื่องกำหนดทิศทางของเรา เหมือนดาวเหนือสมัยก่อนเดินทางโดยอาศัยดาวเหนือ ดาวเหนือไม่ได้มีไว้เพื่อไปให้ถึง แต่ดาวเหนือมีไว้เพื่อบอกทิศทาง ไม่มีใครที่จะบินหรือเหาะไปถึงดาวเหนือได้ แต่ได้อาศัยดาวเหนือในการกำหนดไปให้ถึงจุดหมาย
พระพุทธคุณทั้งร้อยประการนี้เปรียบเสมือนกับดาวเหนือ คือสูงส่งชนิดที่ว่าอาจจะไปไม่ถึงก็จริง แต่สามารถจะบอกทิศบอกทางที่ถูกให้กับเราได้ ทำให้เรามีจุดหมายในชีวิตที่ดีงาม และอาศัยความเพียรอาศัยศรัทธาที่เกิดมีขึ้นอย่างที่พูดไปแล้วเป็นตัวขับเคลื่อน จะสังเกตว่าพระพุทธคุณทั้งร้อยประการนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับความยิ่งใหญ่ เรื่องของอำนาจบารมี เรื่องของความมั่งคั่งร่ำรวย แต่เป็นเรื่องของภาวะภายในที่งดงาม ที่สะอาด ที่บริสุทธิ์ ปราศจากมลทิน ไม่มีกิเลสเข้ามาทำให้เศร้าหมองได้ และไม่มีอะไรมาบีบคั้นให้สะท้านสะเทือนใจได้ เกิดได้เพราะอะไร เกิดจากการที่มีปัญญา ปัญญาในเรื่องอะไร ปัญญาในเรื่องความจริงของชีวิต โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่าทุกข์
ในคืนที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระองค์ก็ตรัสรู้เรื่องนี้ พระองค์ได้พิจารณาและได้เห็นความจริงที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท คือขบวนการแห่งการเกิดทุกข์ ปฏิจจสมุปบาทพระองค์ได้ค้นพบและพิจารณาจนกระทั่งแจ่มแจ้งตลอด 3 ยาม ทำให้จิตหลุดพ้นได้ หลุดพ้นจากความทุกข์เพราะว่าได้เข้าใจความทุกข์อย่างแจ่มแจ้ง พระองค์ได้เห็นกระบวนการของการเกิดทุกข์ ปฏิจจสมุปบาททั้งกระบวนการที่เกิดทุกข์และกระบวนการที่ดับทุกข์ และทรงนำมาแสดงในรูปของอริยสัจ 4 ตอนที่พระองค์แสดงธรรมให้กับยสกุลบุตรจนบรรลุธรรม ก็ไม่ได้แสดงด้วยปฏิจจสมุปบาท แต่แสดงโดยอาศัยหลักอริยสัจ 4 เป็นการเอามาอธิบายใหม่ ความจริงที่พระองค์ค้นพบบางทีอธิบายด้วยปฏิจจสมุปบาทอาจจะเข้าใจยาก พระองค์อธิบายใหม่ในรูปของอริยสัจ 4 ภาษาสมัยใหม่เรียกว่า Repackage ก็ได้ เอามาใส่ Package ใหม่ ก็เข้าใจได้ง่ายขึ้น แต่สาระเหมือนเดิมคือการเข้าใจเรื่องความทุกข์เป็นเรื่องแรกเลย
สิ่งที่พระองค์ค้นพบคือเรื่องของทุกข์และทางดับทุกข์ เรื่องทุกข์จึงเป็นเรื่องที่เราต้องเข้าใจให้ได้กระจ่าง อาจไม่ถึงกับแจ่มแจ้ง แต่การเข้าใจอย่างกระจ่างหรือการเข้าใจอย่างถูกต้องจะช่วยนำพาชีวิตของเราไปในทางที่พ้นทุกข์ เป็นการเจริญรอยตามพระพุทธองค์และพระอรหันต์ทั้งหลายได้ เวลาพูดถึงทุกข์ คำว่าทุกข์เป็นหัวใจสำคัญของคำสอนของพระพุทธเจ้า และเป็นหัวใจในคำสอนของพระพุทธศาสนาเลยทีเดียว จนกระทั่งบางคนเข้าใจว่า พระพุทธศาสนาเป็นพวกทุกข์นิยม คือนิยมทุกข์ หรือมองโลกในแง่ร้าย เห็นแต่ทุกข์ๆ แต่ที่จริงแล้วที่ให้เห็นเพื่อจะได้พ้นทุกข์ เพื่อจะได้เข้าถึงความสุขอย่างแท้จริง สุขที่ประเสริฐนั้นมีอยู่แต่ต้องผ่านการเข้าใจทุกข์เสียก่อน ทุกข์เป็นทางผ่านที่จะนำไปสู่สุขได้ แต่ทางผ่านนี้จะผ่านได้ก็ต่อเมื่อเข้าใจทุกข์อย่างถูกต้อง
เวลาพูดถึงทุกข์มี 2 ระดับ หรือ 2 ความหมาย ความหมายแรกหมายถึงทุกขเวทนา คือทุกข์กายทุกข์ใจ ความหมายที่สอง เป็นความหมายที่กว้างมาก หมายถึงสภาวะยืนพื้นของทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม อย่างที่เราได้สาธยายกันบ่อยๆ ว่า “สัพเพ สังขารา ทุกขัง” สังขารทั้งหลายทั้งที่เป็นรูปธรรมนามธรรมนั้นเป็นทุกข์ เสาก็ดี บ้านเรือนก็ดี แม้กระทั่งความรู้สึก เช่นเวทนาก็เป็นทุกข์ในความหมายนี้ ทุกข์ในความหมายที่สองหมายถึงสภาวะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ สภาวะที่ไม่คงตัวสภาวะที่ต้องเสื่อมไปอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เป็นสภาวะที่พร่องไม่สมบูรณ์หรือไม่เสถียร บางทีท่านใช้คำว่าไม่คงตัว ไม่คงตัวก็คือไม่เสถียร เป็นตั้งแต่ในระดับอะตอมไปจนถึงจักรวาล อะตอมก็ไม่เสถียร โดยเฉพาะกัมมันตรังสีไม่เสถียรเห็นได้ชัด ในธาตุอื่นๆก็ไม่เสถียรเหมือนกัน ไปถึงจักรวาลเลยก็ไม่เสถียร มีความแปรเปลี่ยน มีความเกิดดับเกิดขึ้นตลอดเวลา สิ่งนี้คือทุกข์ในความหมายที่สองที่ท่านใช้คำว่า สภาวะทุกข์ หรือตัวสภาวะยืนพื้น
คำที่ใช้เรียกอีกคำหนึ่งคือว่า “สังขารทุกขตา” คือทุกข์ที่เป็นสภาวะของสังขารทั้งปวง ไม่ว่ารูปธรรมหรือนามธรรม ส่วนทุกข์ที่เป็นเวทนาไม่ว่าจะเป็นเวทนาทางกายก็ตามทางใจก็ตาม มีคำเรียกอีกคำหนึ่งว่า “ทุกขทุกขตา” เราอย่าไปสนใจคำบาลีเลยแต่ขอให้สนใจความหมายก็พอว่า เวลาท่านพูดถึงทุกข์เราต้องสามารถจำแนกได้ว่า ท่านพูดถึงทุกข์ในความหมายไหนจะทำให้ไม่สับสน ทุกข์ที่เป็นทุกขเวทนาทางกายทางใจ ในบททำวัตรเช้าของเราก็จะสาธยายเป็นประจำ ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ รวมถึงเหตุการณ์ที่นำไปสู่ทุกข์ ประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ พลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็ทุกข์ นี่แหละท่านหมายถึงทุกขเวทนาที่เรียกว่า “ทุกขทุกขตา” เป็นทุกข์ที่พระพุทธเจ้าเอ่ยถึงมากในอริยสัจ 4
แต่ถ้าเป็นทุกข์ที่เป็นสภาวะยืนพื้นท่านจะพูดถึงเวลาสอนเรื่องไตรลักษณ์ ทุกข์ในไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือสภาวะทุกข์ที่ยืนพื้นที่เกิดกับทุกอย่าง ซึ่งทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับสลายไป แต่ในบททำวัตรเช้าที่เราสาธยายไม่ได้พูดแต่ทุกขเวทนาทางกายทางใจเท่านั้น ในตอนท้ายจะปิดท้ายทุกข์ 12 ประการว่า “ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์” หมายถึงทุกข์ยืนพื้น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นตัวทุกข์ คือมันพร่อง ไม่สมบูรณ์ ไม่เสถียร อยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ถูกบีบคั้นด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ทั้งภายนอกภายใน ขันธ์ 5 เกิดจากเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยแปรปรวนมันก็แปรปรวนและดับสลายไปได้ สิ่งนี้เป็นธรรมดา
การเข้าใจความจริงเกี่ยวกับทุกข์แบบนี้สำคัญมาก เพราะจะช่วยทำให้เราเกี่ยวข้องกับทุกข์อย่างถูกต้อง เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นทุกข์อย่างถูกต้อง ทั้งที่เป็นทุกขเวทนา และที่เป็นสภาวะทุกข์ เช่น ถ้าเป็นทุกขเวทนาเราก็มีสติรู้ เวลาเราปวดกาย ปวดเมื่อยที่เท้า ปวดเมื่อยที่ขา เราก็มีสติรู้ จะทุกข์แต่กายใจไม่ทุกข์ ทุกข์แต่กายใจไม่ทุกข์ เปรียบเสมือนกับที่คุณหมอคงศักดิ์ได้พูดเมื่อตอนบ่ายเมื่อวานว่า เปรียบเหมือนธนูดอกเดียว ส่วนธนูดอกที่สองยิงผิดเป้าไม่ถูก แต่คนทั่วไปพอเจอทุกขเวทนาเข้า ทีแรกเกิดที่กายก่อนแล้วก็ไม่เห็นมัน ไม่รู้ก็เลยทุกข์ใจไปด้วย เพราะว่าไม่มีสติรู้เวทนา เวทนาทางใจเลยตามมาติดๆ
แต่ถ้าเป็นทุกข์ที่เป็นสภาวะทุกข์ที่เกิดกับทุกอย่าง หรือความจริงที่ว่าทุกอย่างเป็นทุกข์ ถ้าเรารู้จักดีพอ เราจะไม่ไปยึดมั่นถือมั่นกับมัน เมื่อไม่ไปยึดมั่นถือมั่นกับมันถึงเวลาที่มันแปรปรวนไป มันเสื่อมสลายไป ใจก็ไม่ทุกข์ เป็นเพราะคนเราไม่เห็นความจริงตรงนี้ ไม่เห็นว่าสิ่งทั้งหลายนั้นเป็นทุกข์ ก็เลยไปยึดถือสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะสิ่งที่ให้ความสุขกับเรา เช่น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่น่าพอใจ เรียกว่าอิฎฐารมณ์ ก็ไปยึดมัน รูปธรรมก็ได้แก่ทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียงเกียรติยศ เป็นสิ่งที่ผู้คนหมายปองเพราะให้ความพอใจ แต่เนื่องจากมันไม่สามารถที่จะอยู่ในสภาพเดิมได้ ต้องแปรปรวนไป พอไปยึดมันแล้วมันหายไปก็เสียใจก็ผิดหวังก็โศกเศร้าคับแค้นใจ
อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ผู้ใดเพลิดเพลินรูปที่น่าพอใจ คือเพลิดเพลินในทุกข์” ทุกข์ในที่นี้หมายถึง สิ่งที่ไม่อาจอยู่ในสภาพเดิมได้ สิ่งที่พร่อง สิ่งที่ไม่คงตัว สิ่งที่ไม่เสถียร เมื่อไรก็ตามที่เราเพลินใจในสิ่งเหล่านี้และยึดมั่นถือมั่นกับมัน ก็จะมีทุกข์เป็นที่สุดโดยเกิดผลตามมา ทุกข์ตัวนี้หมายถึงทุกขเวทนา เมื่อใดก็ตามที่เราเพลินในสิ่งที่เป็นทุกข์ คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส รวมทั้งธรรมารมณ์ด้วย เมื่อใดก็ตามที่เราเพลิดเพลินในสิ่งที่เป็นทุกข์ก็จะมีทุกข์ตามมา ทุกข์ 2 ตัวนี้คนละอันกัน ทุกข์ตัวแรกคือสิ่งที่มันพร่อง ไม่สมบูรณ์ ไม่เสถียร สิ่งที่มันต้องดับไป ต้องเสื่อมไป และต้องดับไปในที่สุด ส่วนทุกข์ตัวที่ 2 คือทุกขเวทนา ถ้าเราเข้าใจว่าทุกข์ 2 ตัว คนละความหมายจะเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ถูกต้อง เวลาพระพุทธเจ้าตรัสว่า “มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป” ท่านไม่ได้หมายถึงทุกขเวทนา ท่านหมายถึงทุกข์ที่มันเป็นสภาวะยืนพื้น ซึ่งเกิดกับขันธ์ทั้ง 5 ทุกชนิด สิ่งทั้งปวงล้วนแล้วแต่เป็นทุกข์ ไม่ว่าสิ่งที่เราเห็นด้วยตา สิ่งที่เราได้ยินด้วยหู รับรู้ด้วยเสียง หรือรับรู้ด้วยลิ้นคือรส สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นทุกข์คือต้องเสื่อมไปในที่สุด รวมทั้งทุกข์ที่เกิดกับสภาวะทางนามธรรมในจิตใจด้วย
การรู้ทุกข์เป็นประโยชน์ในการที่เราจะเกี่ยวข้องกับมันอย่างถูกต้อง ทุกข์เป็นสิ่งที่หนีไม่พ้น โดยเฉพาะทุกขเวทนาทางกาย เพราะกายประกอบไปด้วยธาตุทั้ง 4 หรือธาตุทั้ง 5 ล้วนแล้วแต่เป็นตัวทุกข์ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องป่วย ไม่ต้องรอให้แก่ไม่ต้องรอให้เจ็บให้ป่วยแค่นั่งนานๆก็ทุกข์แล้ว และมันแสดงออกมาเป็นทุกขเวทนา เราหนีไม่พ้น แต่ถ้าเราเกี่ยวข้องกับมันอย่างถูกต้องก็ไม่เป็นทุกข์ ทุกข์หนีไม่พ้นต้องเกิดขึ้น แต่ถ้าเราเกี่ยวข้องอย่างถูกต้องก็ไม่เป็นทุกข์ แล้วเราจะเกี่ยวข้องอย่างถูกต้องอย่างไร คำตอบคือรู้ทุกข์ พระพุทธเจ้าจึงสอนว่า “ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องรู้ หรือกำหนดรู้” เรากำหนดรู้ใช้คำว่าปริญญา เหมือนกับที่ใช้กับคนที่จบมหาวิทยาลัยได้รับปริญญา แต่ปริญญาในความหมายนี้คือเป็นเครื่องรับรองว่ามีความรู้ แต่ว่าปริญญาจริงๆ ไม่ต้องอาศัยเครื่องรับรอง แค่รู้ทุกข์ว่าเกิดขึ้น สิ่งนี้ก็เป็นปริญญาได้ แต่มีความหมายที่กว้างกว่าลึกกว่านั้น
การรู้ทุกข์นี้สำคัญ เมื่อทุกข์เกิดขึ้นแล้วรู้ทุกข์ก็ไม่เป็นทุกข์ แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ทุกข์หรือเกี่ยวข้องกับทุกข์ไม่เป็น ก็เลยเป็นทุกข์ เป็นทุกข์ในที่นี้คือทุกขเวทนา ดังนั้นการรู้ทุกข์เป็นสิ่งสำคัญมาก เป็นหัวใจสำคัญของการพ้นทุกข์ รู้ทุกข์มีความหมายว่าอะไร ความหมายแรกเป็นความหมายพื้นๆ คือรู้ว่าทุกข์คืออะไรได้แก่อะไร เช่นรู้ว่า เกิดก็เป็นทุกข์ แก่ก็เป็นทุกข์ เจ็บก็เป็นทุกข์ ความโศกความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจก็เป็นทุกข์ อย่างที่เราได้สวดเป็นการสาธยายทุกข์ในรูปต่างๆ รู้ว่าทุกข์คืออะไร หมายถึงอะไร แบบนี้เป็นการรู้ด้วยการท่องจำก็ได้หรือรู้ด้วยความคิดก็ได้ แต่รู้ทุกข์มีความหมายมากไปกว่านั้น ความหมายอีกชั้นหนึ่งคือ เวลาทุกข์เกิดขึ้นกับเรา เราก็รู้ คือรู้ตัวเมื่อเกิดทุกข์ บางทีทุกข์เกิดขึ้นแล้วไม่รู้ตัว คนโกรธแล้วไม่รู้ว่าตัวเองโกรธ เกลียดแล้วไม่รู้ว่าเกลียด เมื่อคนเมาแล้วไม่รู้ว่าตัวเองเมา คนบ้าก็ไม่รู้ว่าตัวเองบ้า แต่เมื่อใดก็ตามที่รู้ตัวว่าทุกข์เกิดขึ้น เมื่ออกุศลธรรมเกิดขึ้นที่มันเผาลนจิตใจ แบบนั้นเรียกว่าเป็นอีกแง่ของการรู้ทุกข์ได้
รู้ทุกข์อีกประการต่อมาคือ เมื่อมีทุกข์เกิดขึ้นก็รู้ว่า ทุกข์เกิดขึ้นกับกายทุกข์เกิดขึ้นกับใจ ไม่ใช่เราทุกข์ แต่เป็นรูปทุกข์หรือเป็นนามทุกข์ สิ่งนี้ลึกลงมาอีกหน่อย คนส่วนใหญ่เวลาเกิดทุกข์ขึ้นมาจะรู้สึกว่าฉันทุกข์ เราทุกข์ ฉันปวด กูปวด มีแต่กูเป็นเจ้าของความทุกข์หรือเป็นผู้ทุกข์ แบบนี้ไม่ใช่รู้ทุกข์ รู้ทุกข์คือรู้ว่าทุกข์ที่เกิดขึ้นมันเกิดกับกายกับใจ เป็นกายที่ทุกข์ใจที่ทุกข์ ไม่ใช่เราทุกข์ ไม่มีตัวเราเป็นผู้ทุกข์ ตรงนี้ต้องอาศัยสติ สติทำให้เราเห็นว่าที่ปวดเป็นกายปวดไม่ใช่เราปวด ที่โกรธเป็นใจที่โกรธไม่ใช่เราโกรธ และตอนหลังก็รู้ต่อไปอีกว่า ทุกข์เกิดขึ้นกับกาย ทุกข์เกิดขึ้นกับใจ ความโกรธเกิดขึ้นกับใจ ความทุกข์เกิดขึ้นกับร่างกาย แต่ว่ามันเป็นคนละอันกัน กายก็อันหนึ่ง เวทนาก็อันหนึ่ง ใจก็อันหนึ่ง ความโกรธก็อันหนึ่ง เห็นว่าทุกข์เกิดกับกาย ทุกข์เกิดกับใจ
แล้วก็รู้ไปอีกขั้นหนึ่งว่า ทุกข์เกิดกับขันธ์ทั้ง 5 ดังนั้นเห็นขันธ์ย่อยออกมาแล้ว ทีแรกเห็นแต่ตัวเราๆ ทุกข์เรา เราทุกข์ รูปกับนามทุกข์ต่างหาก แล้วเห็นย่อยไปอีกเป็นขันธ์ทั้ง 5 มันทุกข์ ทุกข์เกิดกับขันธ์ทั้ง 5 ไม่ใช่เราทุกข์ ไม่มีผู้ทุกข์ ตรงนี้ต้องอาศัยปัญญา ปัญญาที่เห็นว่าความทุกข์เกิดกับขันธ์ทั้ง 5 ไม่มีตัวเราที่เป็นผู้ทุกข์ และถ้าเห็นไปถึงขั้นสุดท้ายก็จะเห็นว่า ขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์ สิ่งทั้งหลายคือทุกข์ทั้งนั้น ตอนที่เห็นว่าความทุกข์เกิดกับขันธ์ทั้ง 5 คือเห็นว่าทุกข์เกิดเฉพาะครั้งเฉพาะคราว เช่น หิว แดดร้อน ฝนตก เป็นโรค ป่วย แก่ เจ็บ เหล่านี้คือทุกข์เกิดกับขันธ์ทั้ง 5 หรือหลงลืมนึกอะไรไม่ออก นึกชื่อคนไม่ออก สมองเริ่มเสื่อม หรือเกิดขึ้นเป็นครั้งเป็นคราว
ตอนที่มองเห็นว่าทุกข์เกิดกับขันธ์ทั้ง 5 ยังเป็นทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งเป็นคราว หิว ปวดหัว ไม่สบาย แต่พอเห็นไปถึงขั้นว่า ขันธ์ทั้ง 5 เป็นทุกข์ทั้งนั้น หรือเป็นทุกข์ล้วนๆ ตรงนี้คือการเห็นความจริงในขั้นไตรลักษณ์ เห็นว่าขันธ์ทั้ง 5 หรือสิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์ทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่จะให้ความสุขกับเราได้เลย ไม่มีอะไรที่จะยึดมั่นถือมั่นได้เลย พอเห็นตรงนี้มันก็วาง ไม่มีความอยากไม่มีความยึดอีกต่อไป ที่อยากเพราะคิดว่ามันจะให้ความสุขกับเราได้ แต่พอรู้ว่าหรือเห็นว่ามันทุกข์ทั้งนั้น เหมือนกับกองไฟเหมือนกับก้อนถ่าน ก็ไม่เอาแล้ว เพราะไม่รู้จะเอาไปทำไม จับก้อนถ่านมันก็เผาก็ลวกทำให้กายเป็นทุกข์ แต่ที่จับนี่เราไม่ได้จับด้วยกาย แต่เราจับด้วยใจคือความยึดถือนั่นเอง ถ้าเห็นแบบนี้มันวางเลย วางเพราะว่าไม่รู้ว่าไม่เห็นว่ามันมีดีที่ตรงไหน พอวางได้ก็เกิดความเบา คือความสบาย เป็นความสบายความเบาที่เกิดจากการที่เห็นว่า สิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์ ดังนั้นพอเห็นทุกข์ก็ทำให้มีความสุขได้ เห็นทุกข์ก็ทำให้มีความสุขได้ถ้าเห็นอย่างที่กล่าวมา การเห็นทุกข์ต้องอาศัยปัญญา ซึ่งต้องอาศัยสติเป็นตัวบุกเบิก
ดังนั้นการเจริญสติปัฏฐานสำคัญมากในการที่จะทำให้พ้นทุกข์ได้ ตอนแรกสติทำช่วยทำให้เห็นว่า ทุกข์เกิดขึ้นกับกายกับใจไม่ใช่เกิดขึ้นกับเรา แต่ตอนหลังเมื่อนำสติมาใช้ดูกายดูใจอย่างต่อเนื่องก็จะเห็นว่า กายและใจนี้เป็นทุกข์ เกิดปัญญาขึ้นมาว่าขันธ์ทั้ง 5 เป็นทุกข์ทั้งนั้น ตรงนี้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจากวิปัสสนา เพราะฉะนั้นคำว่ารู้ทุกข์เป็นคำสำคัญทีเดียว ซึ่งเราต้องเข้าใจความหมายของมันทุกระดับ แล้วก็สามารถปฏิบัติให้ได้ลึกลงไปเรื่อยๆ ลึกลงไปเรื่อยๆ เพียงแค่รู้ทุกข์ว่าทุกข์คืออะไร เหมือนกับที่เราท่องมาเป็นแค่เบื้องต้นเท่านั้นเอง แต่ต้องเจริญสติจนกระทั่งเห็นทุกข์เมื่อมันเกิดขึ้น รู้ตัวเมื่อทุกข์เกิดขึ้น และรู้ว่าทุกข์เกิดขึ้นกับกายกับใจไม่ใช่เราทุกข์ แล้วจะเห็นลึกลงไปเรื่อยๆ ลึกลงไปเรื่อยๆ และการรู้ทุกข์อย่างถึงที่สุด คือรู้ว่าขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์อย่างที่เราสวดกันทุกวันๆ จะทำให้การหลุดพ้นจากความทุกข์เกิดขึ้นได้
เพราะฉะนั้นทุกข์มีประโยชน์ถ้าเราใช้มันให้เป็นหรือเกี่ยวข้องกับมันให้ถูก คือใคร่ครวญพิจารณา แต่ถ้าเกี่ยวข้องกับมันไม่เป็น เช่นไปเป็นทุกข์ แทนที่จะเห็นทุกข์ก็เป็นทุกข์เรียกว่าขาดทุน และคนส่วนใหญ่คร่ำครวญกับทุกข์ ไม่ได้เอามาพิจารณาไม่ได้เอามาใคร่ครวญเท่าไร พอใคร่ครวญหรือพิจารณาก็จะรู้จักทุกข์ดีขึ้น ถ้าใช้ทั้งสติทั้งปัญญาเข้ามาในการรู้ทุกข์จนเข้าใจทุกข์อย่างแจ่มแจ้ง การหลุดพ้นจากความทุกข์ก็เป็นไปได้ หลุดพ้นในที่นี่คือใจไม่ทุกข์ แก่ก็ยังแก่อยู่ หรือยังหนีความเจ็บความปวดไม่พ้น แต่นั่นเป็นเรื่องของกาย ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องก็ยังเป็นทุกข์อยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัย 4 ไม่ว่าจะเป็นผู้คนที่เราเกี่ยวข้อง คนที่เป็นพ่อแม่ลูกหลานยังเป็นทุกข์อยู่ ทั้งทุกขเวทนาทั้งที่เป็นสภาวะทุกข์ แต่เนื่องจากเราไม่ยึดมั่นถือมั่นกับมัน เพราะรู้แล้วว่ามันเป็นทุกข์ทั้งนั้น ใจก็ไม่เป็นทุกข์ต่อไป
คำว่าพ้นทุกข์คือ ใจไม่ทุกข์ เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งที่เป็นทุกข์ทั้งหลาย และพอรู้อย่างแจ่มแจ้งจนไม่มีกิเลสที่เป็นปัจจัยให้ไปเกิดได้ คือไม่มีการเกิดอีก พอไม่มีการเกิด ก็ไม่มีการแก่ ไม่มีการเจ็บ ไม่มีการป่วย ไม่มีการตาย สิ่งนี้เป็นชัยชนะต่อการเกิดแก่เจ็บตาย ชัยชนะต่อการเกิดแก่เจ็บตาย ไม่ได้หมายความว่าเกิดแล้วไม่ตาย แต่หมายถึงไม่มีเหตุปัจจัยให้ไปเกิดตั้งแต่แรก เพราะฉะนั้นก็ไม่มีความแก่ความเจ็บความตาย เพราะฉะนั้นเรื่องความทุกข์ให้เราพยายามเข้าใจให้ดี เริ่มตั้งแต่ทุกข์ที่ท่านพูด ท่านพูดในความหมายอะไร ทุกข์ในอริยสัจหรือทุกข์ในไตรลักษณ์ เป็นทุกข์ที่หมายถึงทุกขเวทนา หรือทุกข์ที่เป็นสภาวะทุกข์ แล้วจะได้เข้าใจ พอเข้าใจแล้วไม่สับสนแล้ว จะทำให้การปฏิบัติของเราเป็นไปได้ง่ายขึ้น