แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การปฏิบัติธรรม คำๆนี้เดี๋ยวนี้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ถ้าเป็นสัก 30–40 ปีก่อนอาจจะสงสัยว่าคำนี้หมายความว่าอย่างไร แต่ความเข้าใจหรือความคุ้นกับคำนี้ก็ไม่ได้แปลว่า จะมีความเข้าใจที่ถูกเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม เพราะว่าเดี๋ยวนี้เวลาพูดถึงการปฏิบัติธรรมก็จะนึกถึงในบางแง่บางมุมเท่านั้น โดยเฉพาะเรี่องการทำกรรมฐานหรือภาวนา อันที่จริงแล้วปฏิบัติธรรมมีความหมายที่กว้าง เรียกว่าการประพฤติธรรมก็ได้ การประพฤติธรรมมีตั้งแต่พื้นฐานคือการให้ทาน การให้ทานเป็นการปฏิบัติธรรมถ้าวางจิตวางใจได้ถูก อย่างที่พูดไว้แล้วการรักษาศีลก็เป็นการปฏิบัติธรรม หากว่าเป็นการลดละ โลภะ โทสะ โมหะ หรือขัดเกลากิเลสในใจตน ภาวนาหรือการทำกรรมฐานก็ใช่ การทำกรรมฐานมีมากมายหลายวิธีอย่าไปเข้าใจว่ามีวิธีเดียว
พระอรรถกถาจารย์หรือครูบาอาจารย์สมัยก่อนท่านจำแนกว่ากรรมฐานมี 40 วิธี การระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็เป็นปฏิบัติธรรมได้ เรียกว่าพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ การระลึกถึงความดีที่ได้ทำก็เรียกว่าการปฏิบัติธรรมได้ เรียกว่าศีลานุสสติ การระลึกถึงเทวดาอารักษ์ที่เป็นตัวแทนแห่งความดีที่ทำให้เกิดความอบอุ่นใจก็เป็นการปฏิบัติธรรมหรือกรรมฐานได้ เรียกว่าเทวตานุสสติ หรือการระลึกถึงการให้ทานการเผื่อแผ่แบ่งปันก็เป็นกรรมฐานอย่างหนึ่ง เรียกว่าจาคานุสสติ รวมถึงการระลึกถึงความตายที่จะต้องเกิดขึ้นกับเราอย่างแน่นอนไม่วันใดก็วันหนึ่ง ก็เป็นการปฏิบัติธรรมได้ เรียกว่ามรณสติหรือมรณานุสสติ การแผ่เมตตา การเจริญภาวนา เพื่อให้เกิดเมตตา กรุณา สิ่งนี้ก็เป็นกรรมฐานได้เหมือนกัน
แต่ที่นี่เราเน้นหนักเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน จุดมุ่งหมายคือเพื่อเจริญสติ และสร้างความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้น กรรมฐานอื่นๆ ที่พูดมาเมื่อสักครู่มีจุดมุ่งหมายกันไปคนละแบบ เช่นเพื่อทำให้เกิดศรัทธา เกิดความอบอุ่นใจเมื่อได้ระลึกถึงพระรัตนตรัย หรือเพื่อให้เกิดความไม่ประมาท เพราะว่าได้เจอมรณสติ เกิดความรู้สึกเร่งรีบในการที่จะต้องทำความดีหรือการทำกรรมฐาน เพื่อฝึกให้เกิดมีเมตตากรุณาในใจ ดับความโกรธ ความรุ่มร้อน ความพยาบาท ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ละวิธีมีจุดหมายต่างกัน สติปัฏฐานอย่างที่บอกไปแล้วว่า จุดมุ่งหมายคือเพื่อเพิ่มพูนสติโดยเฉพาะสัมมาสติให้เกิดขึ้น และสร้างความรู้สึกตัวในอิริยาบถต่างๆ เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน หรือการเดินหน้า ถอยหลัง เหลียวหน้า แลหลัง คู้ขา เหยียดขา การทรงจีวรสังฆาฏิ หรือการอุจจาระปัสสาวะ พูด กิน ดื่ม สิ่งเหล่านี้เป็นโอกาสที่จะสร้างความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้น
และเมื่อความรู้สึกตัวเกิดขึ้นในอิริยาบถใดๆก็ตาม จะไม่มีความรู้สึกว่าฉันทำนั่นฉันทำนี่ ความรู้สึกตัวขณะที่เดิน ความรู้สึกตัวในการกิน ในการดื่ม ในการนั่ง ถ้าเป็นความรู้สึกตัวที่แท้ไม่มีความคิดว่าฉันกำลังยืนเดินนั่งนอน หรือกำลังทำนั่นทำนี่ มีแต่ความรู้สึกว่ากำลังทำนั่นทำนี่ แต่ไม่ใช่มีความคิดว่าตัวฉันทำนั่นทำนี่ เวลาเดินถ้าเดินแล้วไปคิดหรือไปบริกรรมว่าฉันกำลังเดิน อย่างนี้ไม่ถูกแล้ว อาจจะถูกถ้าหากว่าทำเพื่อให้เกิดสมาธิแนบแน่น แต่ไม่ใช่ความรู้สึกตัว อาจจะถูกสำหรับกรรมฐานแบบอื่น แต่ถ้าเป็นการสร้างความรู้สึกตัวนี้ไม่ใช่ เพราะเมื่อมีความรู้สึกตัวแล้วจะไม่มีความคิดหรือความสำคัญมั่นหมายว่ามีกูหรือมีฉันทำนั่นทำนี่ เวลานั่งถ้ารู้สึกตัวว่านั่งจะไม่มีความคิดว่าฉันนั่งหรือกูนั่ง กินก็เหมือนกัน ยกมือสร้างจังหวะก็เช่นเดียวกัน แต่บางคนไม่เข้าใจก็จะไปพยายามคิดขึ้นมาว่า ฉันกำลังยกมือ ฉันกำลังเดิน สิ่งนั้นเป็นความคิด ไม่ใช่ความรู้สึกตัว
ความรู้สึกตัวไม่ต้องอาศัยความคิด อย่างที่เราได้ฟังที่หมอพงษ์ศักดิ์พูดถึงหลวงปู่ดูลย์ที่ท่านพูดว่า “คิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดคิดถึงรู้” รู้ในที่นี้ที่จริงท่านหมายถึง รู้ในเรื่องไตรลักษณ์ รู้แจ่มแจ้งในสัจธรรม แต่เก็อามาใช้ได้กับความรู้สึกตัวหรือความรู้ตัว ความรู้ตัวไม่ได้อาศัยการคิด คิดเท่าไรก็ไม่รู้ตัว ต่อเมื่อหยุดคิดถึงจะรู้สึกตัวขึ้นมา การคิดเป็นเรื่องของสมอง ส่วนความรู้สึกตัวเป็นเรื่องของใจ คนละส่วนกัน ถ้าจะคิดก็ใช้สมอง แต่ถ้าจะรู้สึกตัวเราต้องใช้ใจเข้าไปสร้างขึ้นมา เข้าไปสัมผัสรับรู้หรือสัมผัสรู้ก็ได้ เหมือนกับรูปจะเห็นต้องใช้ตาจะใช้หูไม่ได้ เสียงจะฟังก็ต้องใช้หูจะใช้ตารับเสียงไม่ได้ มันคนละหน้าที่ ถ้าจะพูดถึงเรื่องความรู้สึกตัวแล้วเป็นเรื่องของใจเรื่องของจิตที่จะรับรู้ทำหน้าที่นี้ ไม่ใช่เรื่องของความคิด เพราะฉะนั้นคิดเท่าไรก็ไม่รู้สึกตัว จนกว่าจะหยุดคิดแล้วก็ใช้ใจ สำหรับคนที่อยู่กับความคิดมาตลอดใช้ความคิดกับทุกเรื่องแม้กระทั่งเวลาปฏิบัติก็ยังใช้ความคิด จะยังไม่สามารถเข้าถึงหรือเกิดความรู้สึกตัวได้ จนกว่าจะวางความคิดลง
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติของหลวงพ่อเทียน หรือการเจริญสติปัฏฐานจะไม่มีบริกรรม ตราบใดที่ต้องการให้เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา แต่ถ้าจะบริกรรมก็เพราะต้องการให้จิตสงบเป็นสมาธิ แบบนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งจุดมุ่งหมายแตกต่างกันไป ก็ไม่ผิด เพราะว่าอย่างที่บอกกรรมฐานมีหลายวิธี มีจุดมุ่งหมายแตกต่างกัน แต่ถ้าเป็นเรื่องความรู้สึกตัว เรื่องของสติแล้วไม่ต้องใช้บริกรรม ใช้ใจเข้าไปรับรู้ รับรู้แบบสดๆ สิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวในแต่ละขณะๆที่เกิดขึ้น ต่อเมื่อไม่มีความรู้สึกตัวหรือเกิดความหลงเมื่อไรความรู้สึกว่ามีตัวกูก็จะเกิดขึ้น ทุกครั้งที่ตัวกูเกิดขึ้นหรือเกิดมีความสำคัญมั่นหมายว่าตัวกูแปลว่าหลงแล้ว แปลว่าไม่รู้สึกตัวแล้ว ถ้าไม่รู้สึกตัวก็จะมีตัวกู ถ้ารู้สึกตัวเมื่อไรตัวกูหายไป ความรู้สึกตัวเป็นปฏิปักษ์กับความสำคัญมั่นหมายว่าตัวกู มีความรู้สึกตัวเมื่อไรตัวกูก็ดับ เพราะว่าตัวกูเกิดจากการปรุงแต่ง และการปรุงแต่งเกิดขึ้นเมื่อหลง คือไม่มีสติ ไม่รู้ตัว แต่พอรู้ตัวขึ้นการปรุงแต่งก็หยุดก็ดับ ความรู้สึกหรือสำคัญมั่นหมายว่าตัวกูก็หายไป เหมือนกับความมืดหายไปเมื่อเจอแสงสว่างสาดส่องเข้าไป เวลาเราเจริญสติ เวลาเราเดินจงกรม ถ้าหากว่ามีความรู้สึกว่าตัวกูๆ ทำนู่นทำนี่แสดงว่า นั่นไม่ใช่สติ นั่นไม่ใช่ความรู้สึกตัว
ฉะนั้นใครที่ศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาทก็จะเข้าใจ โดยเฉพาะตอนที่ท่านว่าด้วยเรื่อง ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน และก็เกิดภพชาติตามมา ภพชาติไม่ใช่หมายถึงเกิดเป็นตัวเป็นตนในชาติต่อไป แต่หมายถึงว่าความรู้สึกว่ามีตัวกูขึ้นมา คำว่าชาติคือการเกิด คำว่าชาติคือเกิดความรู้สึกว่ามีตัวกูขึ้นมา เกิดขึ้นเพราะมีอุปาทาน และที่มีอุปาทานก็เพราะว่ามีตัณหา ที่มีตัณหาเพราะว่ามีเวทนา แต่เมื่อมีสติ ไม่ว่าสติในขั้นผัสสะ หรือสติหลังจากที่เกิดเวทนาแล้ว มันไม่ปรุงเป็นตัณหา ตัณหาดับ อุปาทานภพชาติก็จะดับ พูดง่ายๆ คือไม่มีตัวกูเกิดขึ้นมา ต้องเข้าใจว่าตัวกูเป็นสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมาไม่ได้มีอยู่จริง ไม่เหมือนกับกายกับใจ กายกับใจอันนี้ของจริง แต่กายกับใจนี้ก็ยังเกิดดับๆอยู่ แต่ว่าเป็นของจริง แต่ตัวกูนี้ปรุงแต่งขึ้นมาเพราะหลง ของจริงมีแค่สองอย่างคือกายกับใจ ตัวกูไม่ใช่ของจริง เป็นมายา
เมื่อเวลาเราเจริญสติ เมื่อเราเดินก็ตาม สร้างจังหวะก็ตาม ถ้ามีสติก็จะเห็นว่าที่เดินนี่กายเดิน หรือที่ยกมือนี่กายยกหรือรูปยกมือ ไม่ใช่ฉันเดินหรือกูเดิน ไม่ใช่ฉันยกมือหรือกูยกมือ เวลาเกิดเวทนาก็จะเห็นเวทนาเกิดขึ้น เช่นความปวดความเมื่อยแต่ไม่ใช่มีความสำคัญมั่นหมายหรือความคิดว่าฉันปวดฉันเมื่อย ที่มีความรู้สึกว่าฉันปวดฉันเมื่อยเพราะไม่มีสติ เพราะไม่รู้สึกตัว ถ้ามีสติจะเห็นเวทนาคือความปวดความเมื่อย แต่ไม่มีผู้ปวดผู้เมื่อย เวลาเกิดความคิดปรุงแต่งขึ้นมาคิดโน่นคิดนี่ หรืออารมณ์เกิดขึ้น ความโกรธ ความชอบ ความเสียใจ ถ้ามีสติก็จะเห็นความโกรธเกิดขึ้นในใจ แต่ถ้าไม่มีสติเมื่อไรก็เกิดความรู้สึกว่าฉันโกรธ ฉันปวด ฉันเศร้า ฉันเสียใจ ฉันคิด รวมทั้งฉันเครียด มีตัวฉันเกิดขึ้น ตัวฉันรู้สึกเป็นเจ้าของนั่นนี่ หรือทำนั่นทำนี่ ในยามที่ไม่มีสติ
เวลาที่เราเดินจงกรม ช่วงที่เราไม่มีสติก็จะไปคิดว่าฉันเดิน ฉันยกมือ แต่พอมีสติความคิดปรุงแต่งว่าฉันทำโน่นฉันทำนี่ก็หายไป มีแต่รูปที่กำลังเดิน กายที่กำลังนั่ง หรือใจที่คิด หรือมีความคิดเกิดขึ้นที่ใจ จะไม่มีตัวฉันว่าเดินว่าคิดว่าโกรธว่าเครียด ความแตกต่างตรงนี้ เห็นกับเป็นต่างกันตรงนี้ ถ้าเห็นมันไม่เป็น เป็นหมายความว่ามีตัวกูขึ้นมา เป็นผู้ปวด ผู้เมื่อย ผู้คิด ผู้ปวด ผู้เครียด แต่ถ้ามีสติเห็นแต่ความปวด ความเมื่อย เห็นความโกรธ เห็นความเครียด เพราะฉะนั้นสตินี้หลวงพ่อคำเขียนท่านใช้คำว่า มันเป็นตัวถลุง ถลุงเราใช้กับแร่ ขี้แร่ที่เราถลุงจนแยกแร่ออกมาเป็นส่วนๆ สติมันถลุงตัวความสำคัญมั่นหมายว่า ตัวกู จนเหลือแต่รูปกับนาม กายกับใจ ตอนไม่มีสติก็มีแต่ตัวกูอยู่นั่นแหละ แต่พอมีสติ เหลือแต่รูปกับนาม กายกับใจ ตัวกูมันหายไป ที่พูดว่าตัวกูหายไปที่จริงไม่ถูกนัก ต้องพูดว่าความปรุงแต่งว่ามีตัวกูมันหายไป เพราะที่จริงไม่มีตัวกูตั้งแต่แรกแล้ว มีแต่กายกับใจ มีแต่รูปกับนาม แค่นั้นเอง
และในสติปัฏฐานเราได้สาธยายกันอยู่บ่อยๆ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เห็นกายในกาย ความหมายหนึ่งคือเห็นกายว่าเป็นกาย ไม่ใช่ว่าเห็นกายว่าเป็นเราหรือเห็นกายว่าเป็นของเรา เห็นเวทนาในเวทนาความหมายหนึ่งคือเห็นเวทนาเป็นเวทนา ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เห็นจิตในจิตก็คือเห็นจิตว่าเป็นจิต ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เห็นธรรมในธรรมก็เหมือนกัน ถ้ามีสติจะเห็นว่า กายเป็นกายไม่ใช่เรา เวทนาเป็นเวทนาไม่ใช่เรา เห็นจิตเป็นจิตไม่ใช่เรา แต่ถ้าไม่มีสติเมื่อไรก็ไปปรุงว่า กายเป็นเรา เวทนาเป็นเรา จิตเป็นเรา จิตในที่นี้หมายถึงความคิดหรืออารมณ์ที่ปรุงแต่ง ซึ่งบางทีเรียกว่าจิตตสังขาร รวมทั้งราคะ โทสะ
ฉะนั้นคนเราไม่ใช่ว่าจะมีความรู้สึกสำคัญมั่นหมายว่ามีกูของกูตลอดเวลา เวลาที่เรามีสติเมื่อไรตัวกูก็หายไป หรือความสำคัญมั่นหมายว่าตัวกูก็หายไป ในภาวะเช่นนั้นกิเลสก็หายไปด้วย คนเราถ้ามีกิเลสอยู่ตลอดเวลาก็บ้าแล้ว แต่จริงๆแล้วไม่ได้มีกิเลสตลอดเวลา มันมีภาวะที่จิตว่าง หลวงพ่อพุทธทาสท่านใช้ว่า “จิตว่างเป็นครั้งคราวไม่ได้ตลอดเวลา” จิตว่างนี้หมายถึงว่าว่างจากความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวตน จะเรียกว่าว่างจากกิเลสก็ได้ ว่างจากอัตตาตัวตนก็ได้ คนเราจะมีภาวะที่จิตว่างจากกิเลสจากอัตตาตัวตน ตอนที่มีความรู้สึกตัว ตอนที่มีสติ แต่คนทั่วไปก็ไม่ใช่ว่าจะมีสติต่อเนื่อง หรือจะมีความรู้สึกตัวต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นจะเรียกว่าส่วนใหญ่แล้วไม่รู้สึกตัวมากกว่า ส่วนใหญ่จะหลงมากกว่าก็จะมีตัวกูขึ้นมามีของกูขึ้นมา แล้วก็เลยทุกข์ได้ง่าย มีอะไรมากระทบตัวกูอยู่ตลอดเวลา ทำให้ทุกข์อยู่บ่อยๆ ทุกข์ทั้งวันก็ได้ แต่เนื่องจากไม่ได้หลงเช่นนี้ไปตลอด เลยรอดพ้นจากความบ้าหรือความเครียดหนักๆ
แต่พอเรามาปฏิบัติ เรามาเจริญสติ เรามาสร้างความรู้สึกตัวจะทำให้จิตว่างต่อเนื่อง ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ เหมือนกับว่าเป็นการเติมช่องว่างให้กับจิต ทำให้ไม่มีกิเลสเข้ามาแทรกหรือมาครอบงำกำกับอยู่ตลอดเวลา จะทำให้ใจโปร่งเบา ใจไม่ทุกข์ไปอย่างต่อเนื่องเท่าไร ความรู้สึกตัวทำให้ใจเบา เพราะว่าในภาวะนั้นไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่าตัวกู หรือไปแบกไปยึดอะไรต่างๆ ว่าเป็นของกู ดังนั้นถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ก็จะเห็นได้เลยว่าความรู้สึกตัวกับการมีตัวกูตรงข้ามกัน รู้สึกตัวเมื่อไรตัวกูก็หายไป แต่พอไม่รู้สึกตัวเมื่อไรตัวกูก็โผล่ขึ้นมา แล้วก็มาครองจิตครองใจของเรา ถ้าไม่อยากให้ตัวกูมันครองจิตครองใจก็ต้องสร้างสติสร้างความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สติหรือความรู้สึกตัวเป็นตัวสลายอัตตาตัวตน อย่างนี้พูดแบบง่ายๆ เพราะจริงๆ ตัวตนไม่ได้มีตั้งแต่แรกแล้ว มีแต่ความยึดมั่นถือมั่น หรือมีแต่ความสำคัญมั่นหมายว่ามีตัวกู
เคยเล่าให้ฟังแล้วถึงเรื่องท่านพาหิยะซึ่งตามหาพระพุทธเจ้า เพราะว่าอยากจะพบพระอรหันต์ที่แท้ ก็เดินเป็นวันเป็นคืนไม่ได้หยุดเพื่อมายังเชตวัน มาถึงขณะที่พระพุทธเจ้ากำลังเสด็จออกบิณฑบาต ท่านพาหิยะไฟแรงมาก มาถึงก็อาราธนาให้พระพุทธเจ้าแสดงธรรมเดี๋ยวนั้นเลย ทั้งๆที่ยังไม่หายเหนื่อยเลย พระพุทธเจ้าก็ไม่แสดงธรรม เพราะทรงเห็นว่าจิตของท่านพาหิยะยังไม่พร้อม ยังร้อนเร่าอยากรู้ธรรม ความร้อนเร่าอยากรู้ธรรมก็ไม่ใช่ดีสำหรับการปฏิบัติสำหรับการฟังธรรม ต่อเมื่อจิตของท่านพาหิยะค่อยๆสงบลงหลังจากพุทธเจ้าปฏิเสธถึงสามครั้ง แล้วพระองค์ก็แสดงธรรม แสดงธรรมกลางถนนเลยว่า “เมื่อเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็นรูป เมื่อได้ยินเสียงก็สักแต่ว่าได้ยินเสียง เมื่อรู้อารมณ์ก็สักแต่ว่ารู้อารมณ์ เมื่อรู้แจ้งในธรรมารมณ์ก็สักแต่รู้ว่ารู้แจ้งในธรรมารมณ์ เมื่อนั้นตัวเธอจะไม่มี ไม่มีทั้งในโลกนี้ และในโลกหน้า และระหว่างโลกทั้งสอง เมื่อนั้นเป็นที่สุดแห่งทุกข์” ท่านพาหิยะได้ฟังแล้วก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ทันทีเลย ได้ชื่อว่าเป็นเอตทัคคะด้านตรัสรู้เร็ว แต่ไม่ทันได้บวช เพราะว่าพอออกไปจากที่นั้นจะไปหาเครื่องบริขารก็โดนวัวขวิดตาย
คำสอนของพระพุทธเจ้าสำคัญมาก เพราะสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนคือเรื่องของสติ เมื่อเห็นสักแต่ว่าเห็น เมื่อได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน เมื่อรู้อารมณ์สักแต่ว่ารู้อารมณ์ เมื่อรับรู้ธรรมารมณ์ก็สักแต่รับรู้ว่ารับรู้ธรรมารมณ์ นี้คือสติ เมื่อมีสติเวลาเกิดผัสสะอะไรเกิดขึ้นตามมาก็ไม่มีตัวเธอ ไม่มีตัวเธอคือไม่มีการปรุงแต่งว่าตัวกู ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้าและระหว่างโลกทั้งสอง เมื่อไม่มีตัวกูนั่นแหละที่สุดแห่งทุกข์ สติเป็นอุบายเป็นมรรควิธีการสลายตัวตนเช่นเดียวกับความรู้สึกตัว สติคือความระลึกได้ สัมปชัญญะคือความรู้ตัว เป็นพี่น้องเป็นฝาแฝดกัน สติที่ว่าความระลึกได้คือระลึกได้เรื่องกายเรื่องใจ ไม่ลืมกายไม่ลืมใจ เมื่อไม่ลืมกายไม่ลืมใจ ไม่หลงไปในอดีตอนาคต จิตกลับมาอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับเนื้อกับตัว ความรู้สึกตัวก็เกิดขึ้น เมื่อความรู้สึกตัวเกิดขึ้น การปรุงแต่งว่าตัวกูก็ดับไป ก็แปลกดีพอรู้สึกตัวก็ไม่มีตัวกู แต่พอไม่รู้สึกตัวเมื่อไรก็มีตัวกูขึ้นมา
การเจริญสติของเราก็ให้ลองพิจารณาดูว่า เวลาเราทำอะไรไปปรุงตัวกูขึ้นมาหรือไม่ อย่างเช่นการที่ไปคิดเอาว่าฉันเดินฉันนั่ง คอยคิดอยู่ตลอดเวลาเสมือนกับว่าคือการเจริญสติ เสมือนกับว่าทำอย่างนี้จะรู้สึกตัว แบบนั้นไม่ใช่ อย่างที่บอกไว้แล้วว่าในการสร้างความรู้สึกตัวไม่ต้องใช้ความคิด ใช้แค่จิต ให้จิตมาอยู่กับปัจจุบัน จิตอยู่กับเนื้อกับตัว ความรู้สึกก็เกิดขึ้นเอง เมื่อความรู้สึกตัวเกิดขึ้นทำอะไรใจก็รู้ เช่นหายใจเข้าออก ยกมือสร้างจังหวะ เดิน หรือขยับนิ้ว กลืนน้ำลาย กระพริบตา อิริยาบถน้อยใหญ่เหล่านี้ ใจจะรู้สึกได้เมื่อใจอยู่กับเนื้อกับตัว เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา แล้วพอรู้สึกตัวได้ ใจมาอยู่กับเนื้อกับตัวได้ เพราะว่าใจไม่หลงไปในอดีตอนาคต ไม่หลุดออกไปนอกตัว ที่ทำเช่นนั้นได้เพราะมีสติ ไม่ลืมกาย ไม่ลืมใจ หรือถึงจะเผลอไป ออกไปอดีต ไปอนาคต จมอยู่ในอารมณ์ ก็รู้สึกตัว รู้ตัวขึ้นมา ระลึกได้ขึ้นมา ระลึกได้ขึ้นมาก็ดึงจิตกลับคืนมาอยู่กับเนื้อกับตัว ความรู้สึกตัวก็เกิดขึ้น
เมื่อความรู้สึกตัวเกิดขึ้น ความสำคัญว่าตัวกูก็หายไป ชาติภพในปฏิจจสมุปบาทก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะว่ามันขาดตอนวงจรขาดตอน คือพอเกิดผัสสะแล้วมีเวทนา หรือแม้มีตัณหาก็ตาม มีสติเข้ามาตัดวงจรนั้น เมื่อมีสติวงจรก็ขาดไม่ต่อเนื่อง ไม่ปรุงเป็นอุปาทาน ภพชาติ แล้วก็ชรา มรณะ แต่ถ้าไม่มีสติแล้วก็ไปจนสุดสายเลย ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพชาติ ชรา มรณะ อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น ยึดมั่นถือมั่นอยากจะเป็นดารา อยากจะเป็นนักร้อง ก็ทำให้เกิดความดิ้นรนขวนขวาย อาจจะซ้อม อาจจะคอยเกาะติดดารา คอยเลียนแบบ การกระทำเช่นนี้ การขวนขวายแบบนี้เรียกว่ากรรมภพ เป็นภพชนิดหนึ่งเรียกว่า กรรมภพ คือกรรมที่ทำให้เกิดภพ
เมื่อขวนขวายอย่างนี้ อุตส่าห์ไปฝึกไปซ้อม ไปร้อง คอยติดตามดารา เลียนแบบเขา ความเป็นดาราความเป็นนักร้องก็ค่อยๆเกิดขึ้น สภาวะความเป็นนักร้องเกิดขึ้น เรียกอุปัตติภพ ความเป็นนักร้องพอเกิดขึ้นก็เกิดความสำคัญมั่นหมายแล้วว่า ฉันเป็นนักร้อง แบบนี้ชาติเกิดขึ้นแล้ว ชาติ ชรา มรณะก็ตามมา เพราะว่าเกิดแล้วต้องมีเสื่อม ต้องมีดับไป มันเกิดในชั่วขณะจิตหรือว่าเกิดในช่วงเวลาไม่นาน รู้สึกว่าฉันเป็นนักร้อง แต่พอไปออกรายการ หรือไปซ้อม ไปแสดง ไปคัดเลือก ปรากฏว่าตก เสียใจ เสียความรู้สึกเลยว่าฉันไม่ใช่นักร้อง ฉันเป็นนักร้องไม่ได้ ชรา มรณะเกิดแล้ว แล้วตามมาด้วยทุกข์โทมนัส ความเศร้าโศกเสียใจ
ความทุกข์ที่เรียกว่าทุกข์ใจอย่างที่พูดแล้ว เกิดขึ้นเมื่อมีชรา มรณะ และชรามรณะเกิดขึ้นได้เมื่อมี ภพ ชาติ คือมีความรู้สึกว่าตัวกู พูดสั้นๆคือ ความทุกข์เกิดขึ้นได้เมื่อมีตัวกู แต่พอไม่มีตัวกูความทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้น ทุกข์ใจไม่เกิดแต่ทุกข์กายยังเกิดขึ้น เพราะว่าร่างกายของเราตกอยู่ภายใต้ความเสื่อม ไม่ว่าจะเป็นปุถุชนหรือพระอรหันต์ก็ต้องเสื่อมทั้งนั้น ต้องเจ็บต้องป่วย ต้องปวดต้องเมื่อย ไม่มีอะไรกินก็หิว นั่งนานๆก็ปวด หรือเจ็บป่วยก็เกิดทุกขเวทนา แต่ใจไม่ทุกข์ด้วย โดยเฉพาะ เมื่อความรู้สึกว่าตัวกูไม่มี มันก็เป็นแต่เรื่องของกาย กายป่วยแต่ว่าฉันไม่ป่วยด้วย กายปวดฉันไม่ปวดด้วย กายเจ็บฉันไม่เจ็บด้วย ท้องหิวแต่ว่าฉันไม่รู้สึกหิวด้วย
ดังนั้น ถ้าหากว่าไม่อยากทุกข์โทมนัสก็ต้องจัดการกับความรู้สึกว่าตัวกู ซึ่งวิธีที่สำคัญคือการสร้างสติ เอาความรู้สึกตัวขึ้นมาแทนที่ความหลง รู้สึกตัวเมื่อไรความหลงก็หายไป หรือพอมีสติเมื่อไร วงจรปฏิจจสมุปบาทก็ขาดตอน ไม่ต่อไปถึงอุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ เพราะฉะนั้น ทุกข์โทมนัสก็ไม่เกิดขึ้น ฉะนั้นถ้าเราเข้าใจปฏิจจสมุปบาทแง่นี้ ก็จะเกิดทิศทางในการปฏิบัติ ทำให้มีความมั่นใจในการปฏิบัติ แล้วก็ไม่หลงทางในการปฏิบัติด้วย