แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ทุกวันเราตื่นแต่เช้ามืดเพื่อมาทำวัตรสวดมนต์ เช่นเดียวกับตอนเย็นก็มาทำวัตรสวดมนต์ บทสวดมนต์ก็จะเป็นบทเดิมๆ สวดเช่นนี้วันแล้ววันเล่า ในระหว่างวันเราปฏิบัติเดินจงกรมสร้างจังหวะทำความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้นในอิริยาบทเดิมๆ ทำเช่นนี้วันละหลายชั่วโมง ยกมือสร้างจังหวะวันหนึ่งก็เป็นพันเป็นหมื่นครั้ง เดินจงกลมก็เดินกลับไปกลับมาเป็นร้อยเป็นพันเที่ยว ทุกวันเราทำกิจวัตรซ้ำๆกันอย่างนี้ หลายคนอาจจะรู้สึกว่าซ้ำซากและจำเจ และพาลให้เบื่อกับการปฏิบัติหรือการใช้ขีวิตในวัด แท้ที่จริงแล้วเราไม่ควรจะมองว่าเป็นความซ้ำซาก หรือไม่ควรรู้สึกไม่ดีกับความจำเจอย่างนั้น อาจจะซ้ำเดิมแต่ว่าไม่ได้ซ้ำซาก
บทสวดแต่ละบทแม้เราจะสาธยายมาครั้งแล้วครั้งแล้ว วันแล้ววันเล่า ถ้าเราทำใจของเราให้เป็นปัจจุบัน รับรู้ถึงบทสวดแต่ละบทๆ เราจะพบว่ามีอะไรใหม่ๆ ให้เราได้เรียนรู้ ตัวอาตมาสวดมนต์มาซ้ำแล้วซ้ำเล่าคงจะเกือบหมื่นครั้งแล้ว แต่ก็ยังมีอะไรใหม่ๆ ให้ได้คิด ให้ได้ให้เรียนรู้จากบทสวด อยู่ที่ว่าเราจะเปิดใจของเราให้รับรู้สิ่งที่เป็นปัจจุบันด้วยความรู้สึกสดด้วยความรู้สึกใหม่หรือไม่ ถ้าเราสวดไปเหมือนนกแก้วนกขุนทองปากว่าไปแต่ใจไม่รู้อยู่ไหนก็คงจะไม่ค่อยได้ประโยชน์อะไรมาก นอกจากช่วยให้ใจไม่ไปคิดในทางอกุศล หรือทำให้กายวาจามันไม่ทำชั่ว ที่จริงเพียงแค่ทำวัตรสวดมนต์ก็ช่วยให้เรารักษาศีลได้ครบทีเดียวเลย เพราะว่าพอเราสวดมนต์เรารักษาศีล จะไปฆ่าใครก็ไม่ได้ จะไปลักทรัพย์ จะไปประพฤติผิดในกาม จะไปโกหก หรือว่าจะไปดื่มน้ำเมาก็ทำไม่ได้ ศีลห้าครบในขณะที่เราสวดมนต์
รวมทั้งในขณะที่เราเดินจงกรมสร้างจังหวะด้วย ถ้าเราทำใจของเราให้เป็นปัจจุบัน รับรู้ประสบการณ์ต่างๆให้เป็นปัจจุบัน ด้วยความรู้สึกสดความรู้สึกใหม่เราจะได้อะไรมากกว่านั้น เดินจงกรมก็เช่นเดียวกันแม้ว่าจะเดินเที่ยวแล้วเที่ยวเล่า ถ้าเราเดินอย่างมีสติใจอยู่กับปัจจุบันจะไม่ใช่ของเก่าจะไม่ใช่ของเดิม แต่ละเที่ยวจะเป็นประสบการณ์ที่ใหม่อยู่เสมอ ยกมือสร้างจังหวะก็เช่นเดียวกัน แต่ละจังหวะๆ ถ้าใจเราอยู่กับปัจจุบันจะไม่ใช่เป็นของซ้ำซากจะเป็นของใหม่ จะได้สติเพิ่มพูนอยู่ตลอดเวลา ให้เราอย่าไปรังเกียจกิจวัตรที่ทำซ้ำๆ ไม่ใช่ว่าไร้ประโยชน์
ที่จริงถ้าเรามองให้ดี ชีวิตเราอยู่ได้ก็เพราะการทำซ้ำๆ เราหายใจเข้าหายใจออกทั้งชีวิตทั้งชาติไม่รู้กี่ล้านครั้ง ก็มีแค่สองจังหวะเท่านั้นคือเข้ากับออก ถ้าเกิดว่าเราไม่ชอบว่ามีแค่นี้ เราอยากให้มีจังหวะใหม่ สิ่งนั้นก็อาจจะเป็นอันตรายต่อร่างกายต่อชีวิตของเราด้วยซ้ำ ถ้าหัวใจของเราซึ่งทำให้เราอยู่รอดได้ก็เพราะมันเต้น มันก็เต้นเป็นจังหวะซ้ำๆนั้นไม่ได้มีอะไรใหม่เลย แต่เมื่อใดก็ตามที่มันเกิดเต้นผิดจังหวะหรือมีจังหวะใหม่ๆ นี้อันตรายแล้วเดือดร้อนแล้ว เราต้องขอบคุณหัวใจที่มันเต้นจังหวะเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ต้องขอบคุณลมหายใจที่หายใจเข้าออกเพียงเท่านี้ ไม่มีอะไรที่ใหม่ไปกว่านี้หรือแปลกไปกว่านี้ เพราะถ้ามันขืนทำอะไรที่ใหม่หรือแปลกไปกว่านี้ก็อาจจะอยู่ไม่รอดก็ได้ นั่นหมายความว่าเกิดความเจ็บป่วยขึ้นแล้ว
ชีวิตเราอยู่รอดได้เพราะเรากินอาหารก็กินแต่ข้าว สมัยก่อนมีแต่ข้าวก็กินข้าวทุกวันๆ ไม่เห็นมีใครบ่นว่าซ้ำซากจำเจ แต่ตอนหลังดีหน่อยมีขนมปังมีก๋วยเตี๋ยวมีอย่างอื่นเข้ามา แต่แม้กระนั้นเรายังหนีไม่พ้นต้องกินเช้ากินกลางวันหรือโยมก็กินเย็นด้วย ไม่มีอะไรแตกต่างไปจากนี้ เพราะที่มันทำซ้ำๆ ถึงทำให้เราอยู่รอดได้ ไม่ใช่แต่การดำรงชีวิตที่ทำให้เราต้องอาศัยการพึ่งพาทำซ้ำๆ การเรียนรู้การศึกษาก็ต้องอาศัยการทำซ้ำๆ เป็นจุดเริ่มต้น เราลองนึกถึงตอนที่เราเป็นเด็กเล็กๆ สองขวบสามขวบหรือเด็กอนุบาล เราเขียนหนังสือเป็นตัวได้อย่างไร กอไก่ ขอไข่ เพราะเราขีดเขียนตัวหนังสือซ้ำไปซ้ำมา นึกภาพออกไหมตอนเป็นเด็ก กอไก่ โย้หน้าโย้หลังอย่างไรบ้าง แต่ในที่สุดเราก็เขียนเป็นตัวได้ เพราะอะไร เพราะเราทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ใช่ร้อยครั้งอาจจะเป็นพันครั้งหรือหมื่นครั้ง ไม่ใช่แค่เขียนกอไก่ขอไข่ แต่การเขียนเป็นประโยค หรือการท่องสูตรคูณ เราก็ท่องซ้ำไปซ้ำมา ทำซ้ำๆ
การศึกษาการเรียนรู้ของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการฝึกทักษะที่ใช้มือหรือการที่ใช้หัว หนีไม่พ้นที่จะทำซ้ำๆ เช่นเดียวกับภาษาอังกฤษ กว่าเราจะมีความรู้ได้เราต้องทำแบบฝึกหัดไม่รู้กี่ร้อยกี่พันกี่หมื่นครั้ง อาตมาจำได้เลยตอนที่จะสอบเข้ามหาวทิยาลัย ต้องทำแบบฝึกหัดนับได้เลยประมาณเกือบห้าพันข้อ ภาษาอังกฤษอย่างเดียวแบบฝึกหัดทำสามจบ จบละประมาณพันห้าพันหก ทำซ้ำไปซ้ำมาจนกระทั่งได้คำตอบหรือได้คะแนนที่น่าพอใจจากการทดสอบของตัวเอง ก็ทำให้มั่นใจว่าถ้าสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่พลาด แต่ก่อนจะมาถึงตรงนั้นก็ทำแบบฝึกหัดมาตั้งแต่เล็กจนโต ตั้งแต่ชั้นประถมปีที่หนึ่งถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ห้าก็ไม่รู้กี่พันข้ออาจจะเป็นหมื่นข้อ ก็ทำซ้ำๆ เพราะฉะนั้นชีวิตเราเป็นหนี้บุญคุณการทำซ้ำๆ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของร่างกาย อวัยวะต่างๆในตัวเรา หรือการที่เราได้ใช้ความเพียร ทำสิ่งเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
มาถึงการปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน เราหนีไม่พ้นที่จะทำซ้ำๆ อย่าไปรังเกียจ ยุคนี้เป็นยุคที่ชอบของใหม่ ชอบอะไรใหม่ๆอยู่เสมอ อยู่นิ่งไม่ได้ เวลาเราดูภาพในจอโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นภาพโฆษณาหรือภาพหนัง ภาพแช่ไม่เกินห้าวินาทีแล้วก็เปลี่ยนใหม่ๆ เดี๋ยวนี้ถ้าภาพแช่เกินห้าวินาทีถือว่าใช้ไม่ได้ ต้องให้เหลือสองวินาทีสามวินาทีแล้วก็เปลี่ยน คนที่เกิดมาแบบนี้คุ้นกับเทคโนโลยีแบบนี้ ก็จะทนอะไรซ้ำๆแค่สิบวินาทีหรือสิบนาทีไม่ได้ จะเริ่มกระสับกระส่าย หรือไม่เช่นนั้นถ้าทำนานกว่านี้ก็จะง่วงนอนไปเลย แต่ว่าการใช้ชีวิตของเราในที่นี้จะช่วยให้เราหลุดออกมาจากสภาพที่ชอบยึดติดกับความใหม่ๆ จนรังเกียจความซ้ำเดิมมองว่าเป็นความซ้ำซากจำเจไป
ปรับใจของเราให้พึงพอใจหรือให้เห็นประโยชน์ของความซ้ำเดิม เพราะชีวิตทั้งทางกายและทางใจของเราต้องพึ่งพาสิ่งเหล่านี้ อย่าไปรังเกียจความซ้ำเดิมความจำเจมีคุณประโยชน์มาก และมันจะไม่ซ้ำเดิมจะไม่ซ้ำซากถ้าใจเราอยู่กับปัจจุบัน เราจะได้สัมผัสรับรู้อารมณ์ใหม่ๆอยู่เสมอ ทั้งภายนอกและภายใน สิ่งที่เกิดขึ้นในใจของเรา อารมณ์ต่างๆ ความคิดอะไรต่างๆ ไม่ได้ซ้ำเดิม แม้จะคิดเรื่องเดิมแต่ว่าไม่ใช่ตัวเดิมมันเป็นของใหม่ เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ ที่คิดเมื่อวานกับวันนี้มันคนละตัวกัน หรือที่คิดเมื่อสักครู่นี้เมื่อห้านาทีที่แล้วกับตอนนี้ หรือแม้กระทั้งเมื่อวินาทีที่แล้วกับตอนนี้ เป็นคนละอันกันแล้ว เหมือนกับแม่น้ำที่ไหลอยู่ต่อหน้าเราเป็นของใหม่อยู่เสมอ มีนักปราญช์กรีกคนหนึ่งบอกว่า ไม่มีใครจะหย่อนเท้าหรือเหยียบเท้าลงไปในแม่น้ำสายเดียวกันได้สองครั้ง เหยียบได้แค่ครั้งเดียว อีกครั้งต่อมาที่เหยียบไม่ใช่แม่น้ำสายเดิมแล้ว เป็นของใหม่
ฉะนั้นจะว่าไปแล้วไม่มีอะไรที่เป็นของซ้ำเดิม มีแต่ของใหม่เสมอแม้เราจะคิดดูเหมือนเป็นเรื่องเดิมก็ตาม จริงอยู่หลายคนอาจจะรู้สึกว่าทำไปซ้ำๆ แล้วเบื่อ ความเบื่อเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับนักปฏิบัติจำนวนมาก แต่อย่าไปผลักไสความเบื่อ อย่าไปรังเกียจความเบื่อ ที่จริงควรจะพอใจด้วยซ้ำที่มีความเบื่อ เพราะความเบื่อเป็นเครื่องหมายว่าชีวิตเรามีความราบเรียบ ไม่มีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ ไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้น ถ้าเกิดว่าคนรักของเราตาย เราจะยังเบื่ออยู่ไหม ไม่เบื่อแล้วกลายเป็นความเศร้ามาแทนที่ ถ้าเราถูกด่าเราจะยังเบื่ออีกไหม ความเบื่อหายไปความโกรธมาแทนที ถ้าเราถูกน้ำร้อนลวก ถูกของแหลมทิ่ม ถูกงูกัด จะยังเบื่ออีกมั้ย ความเบื่อมันหายไปแล้วมีความปวดและมีโทสะมาแทนที่ มีความกลัวด้วยซ้ำ การที่เรามีความเบื่อเกิดขึ้นแปลว่าชีวิตเราปกติราบเรียบ ไม่มีอะไรที่เป็นเหตุร้ายใดกับชีวิตของเรากับตัวเรากับจิตใจของเรา เลือกเอาระหว่างความเบื่อกับความโกรธ ระหว่างความเบื่อกับความเสียใจ เราจะเอาอะไร
มองให้ดีความเบื่อแปลว่าชีวิตเรายังปกติอยู่ ไม่มีความสูญเสีย ไม่มีความเจ็บปวด ไม่มีใครมากระทำ ทั้งด้วยวาจาหรือด้วยการลงไม้ลงมือ เมื่อใดก็ตามที่มีความเบื่อนั้นหมายความว่าชีวิตเราไม่มีเหตุร้าย เพียงแต่ว่าราบเรียบเกินไป แม้กระนั้นก็ต้องขอบคุณ แต่อย่างที่บอกถ้าเราปฏิบัติด้วยการวางใจให้เป็นก็จะไม่เบื่อด้วยซ้ำ เพราะแต่ละขณะเป็นของใหม่อยู่เสมอ และอาจจะมีบางขณะที่ทำให้เราเกิดปิ๊งขึ้นมาวาบขึ้นมา เกิดความรู้ขึ้นมา เกิดปัญญาสว่างวาบขึ้นมา ขณะนั้นเป็นตอนไหนเราไม่รู้ บางท่านเดินจงกรมอยู่ก็เกิดเข้าใจเรื่องรูปนาม บางท่านตามลมหายใจอยู่ดีๆ ก็สว่างเข้าใจเรื่องพระไตรลักษณ์ ขณะไหนเวลาไหน บอกไม่ได้ แต่สามารถจะเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ถ้าหากว่าเรามองหรือตระหนักว่า แต่ละขณะนั้นใหม่อยู่เสมอ ไม่ซ้ำเดิม ในการปฏิบัติ การอดทนรอคอยเป็นสิ่งสำคัญเพราะว่าต้องใช้เวลา
มีอาจารย์ญี่ปุ่นท่านหนึ่ง อาจารย์โยเนโอะ อิชิอิ เคยเป็นอาจารย์ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอนประวัติศาสตร์ ท่านพูดภาษาไทยได้คล่อง แต่ไม่ใช่เฉพาะภาษาไทยและญี่ปุ่นที่รู้ ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี รวมทั้งภาษาโบราณ บาลี สันสกฤต เทวนาครี ลาติน ก็รู้มากชนิดใช้งานได้พูดได้ คนชมว่าท่านอัจฉริยะด้านภาษา แต่ท่านปฏิเสธ ท่านบอกว่าเป็นเรื่องของความเพียรทั้งนั้น และท่านก็บอกว่าการเรียนภาษาเหมือนการตักน้ำด้วยกระชอนให้เต็มแก้ว การเรียนภาษาจะให้เข้าใจภาษาต่างประเทศไม่ต่างจากการเติมน้ำให้เต็มแก้วด้วยกระชอน พวกเราคงรู้จักกระชอนนที่เขาใช้ตักพวกลูกน้ำ ลองนึกดูว่ากว่าน้ำจะเต็มแก้วจะต้องตักกี่ครั้ง เพราะว่าน้ำรั่วไหลคงเหลือน้ำติดกระชอนแค่หนึ่งหยดหรือสองหยดเท่านั้น จะทำให้น้ำเต็มแก้วจะต้องใช้เวลานานเท่าไร อาจารย์อิชิอิ บอกว่า เวลาจะจำศัพท์แต่ละภาษาจะต้องเปิดดิกชันเนอรี่ (Dictionary) แบบเปิดแล้วเปิดอีกเป็นร้อยครั้ง แล้วถ้าทิ้งเวลาผ่านไปแค่วันสองวันอาจต้องกลับมาเปิดอีก กว่าจะจำศัพท์ได้หมดเป็นพันตัวนานแค่ไหน ต้องอาศัยความเพียร
การเจริญสติของเราก็ไม่ต่างจากการเรียนภาษาต่างประเทศ เรียนภาษาต่างประเทศต้องอาศัยสติแต่เป็นสติแบบโลกๆ ส่วนของเราใช้สติที่เรียกว่า สัมมาสติ คือรู้กายรู้ใจ ไม่ใช่ระลึกเรื่องอะไรนอกตัวเลย ระลึกรู้ หรือไม่ลืมกายไม่ลืมใจ ดังนั้นการปฏิบัติของเราไม่ต่างจากการเติมน้ำให้เต็มแก้วด้วยกระชอน กว่าจะเต็มแก้วก็อีกนาน แต่ก็อย่าท้อเพราะว่าในขณะที่สติค่อยๆ เติมลงไปในใจเราทีละนิดๆ ก็มีความคืบหน้าอยู่ การปฏิบัติธรรมเราต้องวางใจให้ถูก อย่าไปมุ่งอยู่ที่จุดหมายปลายทาง เหมือนกับการเดินทางไกล ใครก็ตามที่ใจจดจ่ออยู่แต่จุดหมายปลายทางจะเดินด้วยความทุกข์ แต่ถ้าเดินด้วยการเอาใจอยู่กับปัจจุบัน จะไม่ทุกข์ อาจจะเพลินด้วยซ้ำ เพราะว่าสองข้างทางมีวิวทิวทัศน์ที่งดงามให้ดูตลอดเวลา
จุดหมายอยู่ไกลใจอยู่กับปัจจุบัน สิ่งนี้เป็นเคล็ดลับของการเดินทาง การจาริกแสวงบุญก็เหมือนกัน จุดหมายจะอยู่อีกกี่ร้อยกิโลเมตร แต่ว่าคุณค่าความสำคัญอยู่ที่ปัจจุบัน อยู่ที่การฝึกหัดขัดเกลาแต่ละขณะๆ คนที่จาริกแสวงบุญเดินเป็นร้อยๆกิโลเมตร เขาไม่ทุกข์เพราะว่าใจเขาอยู่กับปัจจุบัน ดังนั้นการปฏิบัติของเราก็เหมือนกัน ใจอยู่กับปัจจุบัน อย่าไปอยู่ที่จุดหมายปลายทาง ขืนไปจอจ่ออยู่ตรงนั้นในที่สุดก็จะท้อแท้ง่ายๆ เพราะว่าเอาแต่คิดว่าเมื่อไรจะถึงสักที เมื่อไรจะได้สักที เมื่อไรจะเห็นรูปนามสักที คนที่คิดแบบนี้จะทำไม่ได้นาน
หลายคนบอกว่ามาปฏิบัติเพื่อให้ได้บรรลุนิพพาน บางคนมาบวชแต่บวชได้ไม่กี่ปีก็สึกไป เพราะว่าไม่ถึงสักที นิพพานไม่แจ้งสักที ตลอดเวลาที่บวชสองสามปีก็อยู่ไปด้วยความทุกข์ หรือบางทีอยู่แค่สองสามเดือนก็ทุกข์เพราะว่าใจจดจ่ออยู่ที่จุดหมาย ต้องน้อมใจมาอยู่กับปัจจุบัน หลวงพ่อคำเขียนบอกว่า “มันจะถึงก็เมื่อมันถึง และถ้ามันยังไม่ถึงก็อย่าไปสนใจมัน” ทำไปเรื่อยๆ ให้ถือว่าในขณะที่ทำนั้น สติค่อยๆ เติมเข้าไปทีละนิดๆ เหมือนกับน้ำที่เติมเข้าไปในแก้วทีละหยดๆ และให้มองอย่างนี้ว่า ในขณะที่เราปฏิบัติ เราไม่ได้แค่ปลูกสติเท่านั้น แต่ขอให้ปลูกฉันทะในใจเราด้วย
ฉันทะสำคัญมาก ฉันทะคือความพอใจ หรือความใฝ่ในการปฏิบัติ เป็นสิ่งสำคัญมาก สำหรับสัมมาวายะ คือความเพียรชอบ อย่างที่เราสวด “ทำความพอใจให้เกิดขึ้น ปรารภกับความเพียร ประคองตั้งจิตไว้ เพื่อจะป้องกันอกุศลกรรมที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ทำความพอใจให้เกิดขึ้น ปรารภความเพียรประคองตั้งจิตไว้ เพื่อจะละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว รวมทั้งทำความพอใจให้เกิดขึ้น ปรารภความเพียรประคองตั้งจิตไว้ เพื่อจะสร้างกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น และสุดท้ายทำความเพียรประคองตั้งจิตไว้ ทำความพอใจให้เกิดขึ้น ปรารภความเพียร ประคองตั้งจิตไว้ เพื่อจะทำกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้มากขึ้น” สัมมาวายามะ เริ่มต้นตรงที่ว่า ทำความพอใจให้เกิดขึ้น ตรงนี้ที่เรียกว่าฉันทะ ฉันทะแปลว่าความชอบที่ได้ทำขึ้นก็ได้ ถ้าเราปลูกฉันทะให้เกิดมีขึ้น แม้ออกจากวัดไปเราก็ยังปฏิบัติอยู่ ถึงแม้จะยังไม่ถึงจุดหมายปลายทางที่ต้องการก็ตาม
ฉันทะสำคัญมากแม้ว่าจะยังไม่เกิดความรู้สึกตัว หรือเห็นรูปนาม หรือเกิดปัญญาญาน แต่ถ้าฉันทะมากพอก็นำไปสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่องได้ ฉันทะสำคัญสำหรับการปฏิบัติ เช่นเดียวกับที่สำคัญสำหรับการเรียนรู้ ความใฝ่รู้ก็คือฉันทะนั่นเอง ถึงแม้บางคนจะจบชั้นประถมสี่ แต่ถ้ามีความใฝ่รู้ก็มั่นใจได้ว่าความรู้จะเจริญงอกงามมากขึ้น แต่จบปริญญาตรี จบปริญญาโท จบปริญญาเอก แล้วไม่มีความใฝ่รู้เลย ความรู้ที่มีอยู่ในหัวจะไม่มีวันงอกเงยขึ้นมาได้เลย เผลอๆจะหมดหดหายไปด้วยซ้ำ หรือใช้การไม่ได้ เพราะความรู้เป็นความรู้เก่า จบปริญญาตรี จบปริญญาเอก แต่ไม่มีความใฝ่รู้ สู้จบประถมสี่แต่มีความใฝ่รู้ไม่ได้ จบประถมสี่แต่มีความใฝ่รู้แม้ความรู้ตั้งต้นเขาจะน้อยกว่าแต่ว่าเขาเรียนรู้ตลอดเวลา ในที่สุดก็จะมากกว่าคนจบปริญญาเอกด้วยซ้ำ
นักปฏิบัติก็เหมือนกัน ถึงแม้ว่าบางคนอาจจะได้คุณวิเศษบางอย่าง เช่นได้ความสงบ หรือมีสติรู้ตัวมากมาย แต่ไม่มีความใฝ่ในการปฏิบัติ ในที่สุดสิ่งที่ได้มาก็จะเลือนหายไป ส่วนบางคนถึงแม้ว่าสติเขายังจับหลักไม่ได้ ความรู้ตัวก็ยังไม่ชัดแต่ว่าเขามีความใฝ่ปฏิบัติ ก็มั่นใจได้ว่าในที่สุดก็จะเกิดพัฒนาการในทางจิตใจ การภาวนาก็จะเจริญงอกงามมากขึ้น เพราะฉันนั้นถือว่าฉันทะหรือความใฝ่ปฏิบัติสำคัญที่เราควรปลูกให้มีมากขึ้น ยังไม่รู้ไม่เป็นไร แต่ขอให้มีฉันทะเอาไว้สำคัญมาก เหมือนกับที่เราเรียนหนังสือ ถึงแม้เราจะรู้ไม่มากแต่ขอให้มีความใฝ่รู้เอาไว้อนาคตดีแน่ ไม่รู้ไม่เป็นไร ขอให้มีฉันทะเอาไว้ ให้ปลูกฉันทะให้มีขึ้นในใจของเรา ฉันทะคือความใฝ่ทำ อย่าให้ตัณหามันมาครอบงำใจเรา ฉันทะคือความใฝ่ทำ ตัณหาคือความอยากได้ ระหว่างความอยากได้กับความใฝ่ทำ อะไรสำคัญกว่ากัน
นักปฏิบัติหลายคนทำด้วยความอยากได้อยากมีอยากเอา สิ่งที่อยากได้อยากมีอยากเอาถึงแม้จะไม่ใช่รูปธรรม เช่น วัตถุ เงินทอง แต่เป็นปัญญาญาณถ้าได้มาจากแรงจูงใจที่เป็นตัณหาแล้วก็ไม่ปลอดภัย มาปลูกฉันทะ คือความอยากทำดีกว่า อยากได้กับอยากทำต่างกัน อยากทำแค่ได้ทำก็มีความสุขแล้ว แต่อยากได้ทำแล้วไม่มีความสุขจนกว่าจะได้ ไม่อยากทำแต่ที่ทำเพราะอยากได้ เหมือนกับคนที่ทำงานหาเงินหลายคนไม่อยากทำงานแต่อยากได้เงินเอาเงินไปซื้อนั่นซื้อนี่ ไม่อยากทำแต่อยากได้ เพราะฉะนั้นจึงทำงานด้วยความทุกข์รอคอยวันเงินเดือนออก แต่คนที่มีความอยากทำเขามีความสุขทุกวัน เขาไม่รอแค่วันที่สามสิบคือวันเงินเดือนออก เขามีความสุขทุกวันเขามีความสุขทุกชั่วโมง ส่วนเงินเดือนนั้นเป็นผลพลอยได้ เราลองพิจารณาให้เห็นความแตกต่าง คนทำงานเพราะมีฉันทะ คนทำงานเพราะแรงตัณหา อะไรดีกว่ากัน
การปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน เราต้องปลูกฉันทะให้มีขึ้น อย่าให้ตัณหามาเป็นใหญ่ครอบงำใจ ที่ทำแล้วทุกข์เพราะว่ายังไม่ได้โน้นไม่ได้นี้สักที เพราะทำด้วยตัณหา ไม่ใช่ทำเพราะฉันทะ ถ้าทำเพราะฉันทะ จะสุขทุกวันทุกชั่วโมง มีความพอใจอยู่ตลอดเวลา และฉันทะที่เกิดขึ้นได้เพราะเห็นคุณค่าของการปฏิบัติ และใจอยู่กับปัจจุบัน ไม่ชะเง้อไม่จดจ่ออยู่กับจุดหมายที่ปรารถนาจะให้เกิดขึ้น ให้วางใจในการปฏิบัติให้ดี เริ่มตั้งแต่การเห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำซ้ำๆ และแม้จะมีความเบื่อเกิดขึ้นก็ให้รู้ว่าอารมณ์เบื่อกว่าอารมณ์อื่น แปลว่าชีวิตเรายังปกติ ไม่มีความสูญเสีย ไม่มีความเจ็บป่วย ไม่มีใครมาทำอะไรเรา และใจอยู่กับปัจจุบัน แม้ว่าจุดหมายเราจะสูงส่งเพียงใด แต่ตราบใดที่ยังเป็นอนาคต เราต้องอยู่กับปัจจุบัน และปลูกฉันทะให้มีขึ้นให้ได้ เพื่อมาทดแทนตัณหา