แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อนัตตลักขณสูตร ที่เราสาธยายเป็นพระสูตรที่สำคัญ ถ้ามองในแง่ประวัติศาสตร์เป็นพระสูตรแรกที่พระองค์ได้อธิบายความจริงที่เรียกว่า อนัตตลักษณะ หรือภาวะความเป็นอนัตตาของสรรพสิ่งโดยเฉพาะขันธ์ 5 และคำอธิบายเหล่านี้พระองค์นำไปใช้ในการอธิบายเวลาแสดงธรรมให้พระสาวกฟัง รวมทั้งกล่าวโต้แย้งเวลาสนทนากับพรามณ์ในลัทธิอื่นที่เรียกว่าอัญญเดียรถีย์ แล้วถ้าอ่านบทสนทนาเหล่านี้ อ่านหลายๆตอนก็จะคล้ายๆที่เราสวดสาธยายเมื่อสักครู่ แต่น่าสังเกตว่าพระพุทธองค์เลือกแสดงหรือสอนทำนองนี้ไม่ใช่ทั่วไป กับฆราวาสแล้วส่วนใหญ่แทบจะไม่ค่อยได้ฟังจากพระพุทธเจ้าเรื่องเกี่ยวกับอนัตตาเลย
ขนาดอนาถบิณฑิกเศรษฐีซึ่งอยู่ใกล้ชิดพระพุทธเจ้ามาเป็นเวลาหลายสิบปี ไม่น้อยกว่า 30 ปี ได้ฟังเกี่ยวกับเรื่องอนัตตาจริงๆ ตอนที่ใกล้ตาย ป่วยหนักแล้วพระพุทธเจ้าก็มอบมหายให้พระสารีบุตรไปโปรดท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ก็ไปโปรดหลายครั้ง ท่านพระอานนท์ก็ไปด้วย แต่ที่สำคัญคือตอนที่พระสารีบุตรได้แสดงธรรมให้อนาถบิณฑิกเศรษฐีฟังเรื่อง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่เป็นอนัตตา อนาถบิณฑิกเศรษฐีเรียกว่าซาบซึ้งมาก แล้วก็แปลกใจว่าทำไมไม่เคยได้ยินได้ฟังคำเทศนาอย่างนี้จากพระพุทธองค์เลย ก็เลยพูดต่อไปว่าต่อไปขอให้พระองค์ได้มีพระกรุณาแสดงธรรมที่ลึกซึ้งแบบนี้ให้กับคฤหัสถ์ได้ฟังบ้าง ที่พระพุทธองค์แสดงธรรมเหล่านี้ให้กับฆราวาสไม่กี่คนไม่ค่อยบ่อยก็คงเพราะว่าเป็นเรื่องเข้าใจยาก สำหรับคนทั่วไปพระองค์สอนในเรื่องของ ทาน ศีล ภาวนา หรือเรื่องความเป็นอนิจจัง ทุกขัง แต่พอเป็นเรื่องอนัตตาแล้วพระองค์จะเลือกสอน
เช่นเดียวกับเรื่องปฏิจจสมุปบาท เป็นเรื่องยากอีกเรื่องหนึ่งที่พระองค์ไม่ได้แสดงแก่คนทั่วไป แต่มาถึงยุคของเราแล้วก็ถือว่าพวกเราโชคดีที่ได้มีโอกาสฟังธรรมของพระพุทธเจ้าในเรื่องยากๆแบบนี้ แม้ว่าจะไม่เข้าใจบ้างแต่อย่างน้อยก็ได้อ่านได้ฟังเป็นพื้นฐานสำหรับการปฏิบัติและการพิจารณาความจริงของชีวิต เพราะว่าเรื่องอนัตตาก็ดี เรื่องปฏิจจสมุปบาทก็ดี เป็นหัวใจคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วเป็นเอกลักษณ์ของพระพุทธศาสนาก็ว่าได้ เพราะว่าศาสนาอื่นสอนกันหลายอย่าง แต่ที่ไม่ได้สอนเลยหรือไม่ได้พูดเลยคือเรื่องอนัตตารวมทั้งเรื่องปฏิจจสมุปบาทด้วย เรื่องนี้เป็นลักษณะเด่นเป็นเอกลักษณ์ของพระพุทธศาสนาเลยทีเดียว ที่ทำให้แตกต่างจากศาสนาอื่นทั้งหลายทั้งปวงที่มีอยู่ในโลกนี้ เพราะว่าศาสนาทั้งหลายล้วนแล้วแต่สอนให้เชื่อว่ามีอัตตาที่เที่ยงแท้ยั่งยืนคงทนเช่นพระเจ้า พระเจ้าก็เป็นตัวแทนของอัตตาที่ผู้คนมีความยึดมั่นถือมั่น ถ้าไม่ใช่พระเจ้าก็เป็นอาตมันหรือปรมาตมันอย่างลัทธิพราหมณ์ฮินดูก็มีความเชื่อแบบนี้
เนื่องจากคำสอนของอนัตตานี้เป็นเองยาก เพราะฉะนั้นชาวพุทธจำนวนมากมีความเชื่อในเรื่องสำคัญๆ อาจจะคล้ายกับศาสนาอื่น คือเชื่อในเรื่องอัตตา ถึงแม้จะไม่เชื่อในเรื่องพระเจ้า แต่ไปๆมาๆก็ไปหาสิ่งอื่นมาเป็นอัตตาแทน เช่น นิพพาน คนไทยชาวพุทธจำนวนมากเชื่อว่านิพพานเป็นอัตตา ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านเปรียบเทียบได้ดีว่า “นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา ขึ้นอยู่กับมุมมอง ขึ้นอยู่กับภูมิธรรมของบุคคล” ท่านยกตัวอย่างเช่น ผู้หญิงคนหนึ่งถ้าเจอลูก ลูกก็เรียกผู้หญิงคนนั้นว่าแม่ แต่ผู้หญิงคนนั้นถ้าเจอบิดา บิดาก็จะเรียกผู้หญิงคนนั้นว่าลูก คนๆหนึ่งเป็นได้ทั้งแม่และลูก ขึ้นอยู่กับว่าผู้เรียกเป็นใคร อยู่ในระดับใด ถ้าผู้เรียกเป็นลูกก็เรียกผู้หญิงคนนั้นว่าแม่ ถ้าผู้เรียกเป็นพ่อก็เรียกผู้หญิงคนนั้นว่าลูก นิพพานก็เหมือนกันเป็นอัตตาสำหรับคนที่มีภูมิธรรมระดับหนึ่ง แต่เป็นอนัตตาสำหรับคนที่มีภูมิธรรมที่สูงขึ้นไป เพราะฉะนั้นเวลาเถียงว่านิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา ก็เป็นได้ทั้งสองอย่างสุดแท้แต่มุมมองของผู้นั้นว่าเข้าใจธรรมะในระดับไหน ถ้าเข้าใจระดับพื้นๆก็มองว่านิพพานเป็นอัตตา แต่ถ้ามีธรรมะสูงก็เห็นว่านิพพนานนั้นเป็นอนัตตา
ในส่วนของปุถุชนคนทั่วไปเกี่ยวข้องกับขันธ์ 5 ถ้ามีความเข้าใจเรื่องอนัตตาบ้างก็จะช่วย ในอนัตตลักขณสูตรจะเห็นว่าพระพุทธเจ้าท่านได้ชี้เห็นว่า ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เชื่อมโยงกันไม่ใช่แยกกันเป็นส่วนๆ อะไรที่ไม่เที่ยงย่อมเป็นทุกข์ และอะไรที่เป็นทุกข์ย่อมไม่อาจเรียกได้ว่านั่นของเรานั่นเป็นเรานั่นเป็นตัวตนของเรา เข้าใจเรื่องอนิจจังก็จะทำให้เข้าใจเรื่องทุกขัง เพราะอะไรที่ไม่เที่ยงก็เป็นทุกข์ อะไรที่เป็นทุกข์จะเป็นอัตตาได้อย่างไร เพราะว่าทุกข์แปลว่าเสื่อม เสื่อมแล้วก็ดับ สิ่งที่เป็นอัตตาย่อมไม่มีวันเสื่อมวันดับ มันต้องคงตัวก็จะย่อมเป็นเรียกว่าอมตะนิรันดร์กาลเลยก็ว่าได้ ไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรียกง่ายๆ อนิจจังคือไม่คงที่ ทุกขังคือไม่คงตัว อนัตตาคือไม่ใช่ตัว แบบนี้ฟังจะเข้าใจง่ายขึ้นเพราะเป็นภาษาไทยล้วนๆ ไม่คงที่ ไม่คงตัว และไม่ใช่ตัว
ในอนัตตลักขณสูตรท่านได้อธิบายไว้ว่า เป็นเพราะมันไม่เที่ยงจึงเป็นทุกข์ และเพราะมันเป็นทุกข์จึงเป็นอนัตตา แต่เราจะมองอีกด้านหนึ่งก็ได้ว่า เพราะเป็นอนัตตาจึงเป็นทุกข์ และเพราะทุกข์จึงเป็นอนิจจัง อธิบายคือว่า อนัตตาคือการที่ไม่มีตัวตนของมันเอง ต้องพึ่งพาสิ่งอื่น ต้องอาศัยสิ่งอื่นมาเป็นปัจจัยให้เกิดมีสิ่งนั้นขึ้นมา เช่น ต้นไม้ก็ต้องอาศัยน้ำ ต้องอาศัยอากาศ ต้องอาศัยออกซิเจน ต้องอาศัยแร่ธาตุต่างๆ ต้นไม้ถึงจะเกิดขึ้นได้ การที่ต้นไม้ต้องพึ่งพาเหตุปัจจัยต่างๆ แสดงว่าต้นไม้ไม่มีตัวตนของมันเอง หรือการอธิบายว่า มนุษย์เราร่างกายของเราประกอบไปด้วยธาตุ 4 หรือประกอบไปด้วยอวัยวะต่างๆ การที่ร่างกายของเราประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ ถ้าเอาอวัยวะต่างๆแต่ละอย่างๆออกไปร่างกายก็อยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นร่างกายไม่ใช่ตัวตน ไม่มีตัวตนของมันเอง
หรือที่ท่านเปรียบเทียบอยู่บ่อยๆ ในพระไตรปิฎก คือเปรียบเทียบกับรถ รถเกิดขึ้นจากส่วนประกอบต่างๆ เช่น ล้อ เพลา และอีกมากมาย ถ้าหากว่าถอดชิ้นส่วนแต่ละชิ้นออกไปรวมทั้งตัวถังพวงมาลัยก็จะไม่เหลือตัวรถให้เห็นเลย ฉะนั้นตัวรถจริงๆไม่มี แต่ที่มีขึ้นก็เพราะมีส่วนต่างๆมาประกอบกัน สิ่งนี้เรียกว่ารถไม่ใช่ตัวตน รถไม่มีตัวตน คือเป็นอนัตตา และเนื่องจากรถหรือร่างกายเราประกอบด้วยสิ่งต่างๆ เพราะต้องอาศัยสิ่งต่างๆมาประกอบถึงเกิดมีขึ้น จึงเป็นทุกข์ เพราะว่าหากส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งเกิดเสีย อะไรตามมา เช่นร่างกายของเราเกิดกระเพาะมีปัญหาหรือตับไตถูกตัดออกไป เกิดอะไรขึ้น เกิดความป่วย ป่วยคืออาการของทุกขัง รถถ้าเอาลูกสูบออกไปหรือเอาล้อเอาเพลาเอาคานออกไป แค่ตัวใดตัวหนึ่งก็อาจจะทำให้มันวิ่งไม่ได้ก็คือเสีย บางทีเราก็เรียกว่ารถตาย รถตายแล้วยังวิ่งใหม่ได้ ไม่เหมือนคนเราถ้าตายแล้วก็ตายสนิท แต่รถเราเรียกว่ารถตายเพราะว่ากลไกบางส่วนของมันเกิดเสียเกิดหายขึ้นมา นาฬิกาตายเพราะว่าฟันเฟืองบางตัวหรือชิ้นส่วนบางตัวเสียไปหายไปหมดสภาพมันก็ตาย คำว่าตายหมายถึงทุกขัง
เพราะเป็นอนัตตาถึงเกิดทุกข์ และเพราะมีทุกข์หรือเพราะเป็นทุกข์จึงไม่เที่ยงคือแปรปรวน เช่นร่างกายเรามีเซลล์ต่างๆ ตายทุกวินาที มีคนเขาคาดการณืไว้ว่ามีเซลล์ตายในร่างกายเราวันหนึ่งประมาณห้าหมื่นถึงแสนล้านเซลล์ แต่ที่ยังคงสภาพอยู่ได้เพราะว่ามันมีการสร้างเซลล์เพิ่ม แต่การที่มันตายทุกวันๆ ก็ทำให้ผิวหนังร่างกายเริ่มเหี่ยวย่น ความเหี่ยวย่นก็เป็นอนิจจังแบบหนึ่ง คือมันเริ่มแปรเปลี่ยนไป ฉะนั้นเราจะมองได้ว่า เพราะไม่เที่ยงจึงเป็นทุกข์ เพราะเป็นทุกข์จึงไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนก็ได้ หรือเพราะว่ามันไม่มีตัวตนของมันเองมันจึงทุกข์ และเมื่อมันทุกข์ก็เลยไม่เที่ยง ถ้าเราเห็นความเชื่อมโยงจะเข้าใจเรื่องไตรลักษณ์ได้ง่ายขึ้น ทำความเข้าใจให้ดีว่า ไม่มีอะไรที่มีตัวตน หรือเป็นตัวตนได้เลย เพราะว่าล้วนเกิดจากสิ่งต่างๆมาประกอบกัน และเราก็สมมติเรียกสิ่งนั้นว่า เป็นร่างกาย เป็นตัวเรา เป็นรถ เป็นบ้าน
อาจารย์ปราโมชย์ท่านเคยเล่าว่า ตอนเด็กๆ เล่นซ่อนหา พวกเราคงเคยเล่นซ่อนหาหรือวิ่งไล่จับกัน คนที่ทำหน้าที่วิ่งไล่ถ้าเกิดจับตัวได้ คนที่ถูกจับก็จะต้องเปลี่ยนมาเป็นคนวิ่งแทน แล้วก็ไปไล่จับคนอื่น มีคราวหนึ่งท่านเป็นฝ่ายถูกไล่ล่า เพื่อนมาถึงตัวท่านก็มาจับตัวท่าน แล้วก็บอกว่าจับได้แล้วจับได้แล้ว ท่านบอกว่าไม่ได้จับตัวนั่นจับไหล่ ไม่ได้จับตัว อ้าว! จับไหล่ ต้องว่ากันใหม่ก็วิ่งกันต่อไปอีก เพื่อนคนเดิมก็วิ่งมาจับพอมาจับมือท่าน ก็บอกว่าจับได้แล้วจับตัวได้แล้ว ท่านบอกว่าไม่ใช่จับตัวนั่นจับมือ แม้ว่าจับเท่าไรก็ไม่ได้จับตัวทั้งสิ้น เพราะว่าจับหัวบ้าง จับหลังบ้าง จับไหล่บ้าง จับมือบ้าง ไม่สามารถจับตัวได้เลย ให้เราลองชี้มาที่ตัวเองก็ได้ แล้วตรงไหนที่เรียกว่าเป็นตัวเรา ถ้าชี้มาตรงนี้ นี่ก็หัว ถ้าชี้ตรงนี้ นี่ก็ไหล่ ไม่ใช่ตัวเรา แล้วลองดูชี้ตรงไหนก็ไม่ใช่ตัวเราทั้งนั้น ถ้าไม่หัวก็เป็นมือหรือเป็นอกหรือเป็นท้อง คำว่าตัวเราเป็นสมมติใช่ไหม เห็นไหมว่าเป็นสมมติ
เหมือนกับเราชี้ไปที่หมู่บ้าน ว่าที่ไหนหมู่บ้านบ้านใหม่ พอชี้ไปบอกไม่ใช่หมู่บ้าน นั่นเป็นเป็นเรือนของยายเพียรไม่ใช่หมู่บ้าน แล้วพอบอกว่าดูให้ดีๆ ไม่ใช่เป็นเรือน ที่ชี้ไปคือประตูหรือเสา แล้วดูดีๆ ที่ชี้ไม่ใช่เสามันเป็นไม้ คือพูดง่ายๆ ชี้ไปหาไปๆ ไม่เจอสิ่งที่เรียกว่าหมู่บ้าน ไม่เจอตัวตนที่เรียกว่าบ้าน เพราะว่าบ้านหรือหมู่บ้านคือสมมติที่ใช้เรียก ดังนั้นคำว่าสมมติที่เราได้ยินบ่อยๆ ถ้าเราเข้าใจชัด เราจะเข้าใจเรื่องอนัตตา เพราะสิ่งที่เราคิดว่าเป็นอัตตา เช่น แก้ว บ้าน เรือน ร่างกาย ที่จริงคือสมมติ คือคำที่ใช้เรียก ตัวบ้านไม่มี ตัวเราไม่มี มีแต่สมมติที่ใช้เรียก
สิ่งที่อวัยวะต่างๆประกอบกันว่าเป็นร่างกายหรือตัวเรา บ้าน รถ เสื้อผ้า สัตว์ แมว พวกนี้สมมติกันทั้งนั้น แต่สมมติหลอกเราให้คิดว่ามีตัวตนที่เป็นแมว เป็นบ้าน เป็นคน เป็นสัตว์จริงๆ สมมติหรือชื่อเรียกมันหลอกเรา ทีแรกเราคิดสมมติขึ้นมาใช้เรียกสิ่งต่างๆ ใช้เรียกว่านี่คือรถ ใช้เรียกว่านี่คือคอมพิวเตอร์ ใช้เรียกว่านี่คือโทรศัพท์ แต่ไปๆมาๆ ชื่อมันหลอกเรา ทำให้เราคิดว่าทำให้เราเชื่อว่า มีตัวตนของรถ มีตัวตนของบ้าน มีตัวตนของคอมพิวเตอร์ มีตัวตนของโทรศัพท์จริงๆ ทีแรกเราคิดคำขึ้นมาเพื่อใช้เรียก แต่สุดท้ายมันหลอกเรา พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ชื่อครอบงำสิ่งทั้งปวง ชื่อคือสมมติ
เราลองดูว่าสมมติเช่นกำปั้น กำมือขึ้นมาเราก็บอกนี่กำปั้น แต่ตัวตนกำปั้นมีหรือเปล่า พอแบมือออกมากำปั้นหายไปไหม พอรวบนิ้วเข้าหากันกำปั้นก็เกิดขึ้น แต่พอคลายมือออกแบมือออกกำปั้นก็หายไป ตัวตนกำปั้นก็ไม่มี มีแต่คำที่เรียกว่ากำปั้น หรือกำหมัดเพื่อใช้เรียกอาการของนิ้วที่รวบเข้าหากันว่าคือกำปั้นหรือกำหมัด ตัวตนของกำปั้นไม่มี มีแต่สมมติที่ใช้เรียกว่าถ้ารวบมือแบบนี้รวบนิ้วแบบนี้คือกำปั้น ฉะนั้นเราถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ เราจะเห็นต่อไปว่าตัวเราตัวกูไม่มี เป็นแต่สิ่งที่ใช้เรียกกายกับใจนี้ว่าเรา คำว่าของเราก็ไม่มีเป็นเพียงสมมติ เป็นสมมติไม่ใช่ความจริง สมมติว่านี่ขนมของเรา แต่ว่ามดไม่สนใจไม่รับรู้ด้วยว่าขนมเป็นของเรา มันเห็นขนมมันก็เข้าไปทึ้งเลย หนูมันเห็นสบู่ เราบอกว่าสบู่ของเรา แต่ว่าหนูไม่สนใจมันไม่รับรู้ด้วยว่าสบู่ของเรา มันก็เข้าไปกัดรวมทั้งเสื้อผ้าด้วย แล้วเราก็โกรธหนูโกรธมดเพราะว่ามันมากินขนมของเรามันมากัดเสื้อผ้าของเรา แล้วความรู้สึกที่เป็นของเราทำให้เราทุกข์ เราเสียใจที่สูญหายไป เสียใจและโกรธที่มันมาทำให้ข้าวของเสียหาย
ความทุกข์ของมนุษย์ถึงที่สุดแล้วเกิดจากความยึดติดว่า เป็นเรา เป็นของเรา ตัวอย่างง่ายๆคือ ใครตายก็ไม่เป็นไร คนตกเครื่องบินหรือเครื่องบินตกก็ไม่เป็นไร เครื่องบิน MH17 ถูกยิงตกเมื่อสองอาทิตย์ก่อน ตายไปเกือบ 300 คน เราฟังข่าวก็เฉยๆ แต่พอเพียงได้ข่าวว่าเพื่อนของเรา ญาติของเรา พ่อแม่ของเราป่วย แล้วหมอสันนิษฐานว่าเป็นมะเร็ง ยังไม่ทันตายเลยเรากินไม่ได้นอนไม่หลับ ทำไมคน 300 คนตายเราเฉยๆ แต่ทำไมอีกคนหนึ่งแค่ป่วยแล้วไม่รู้ว่าเป็นมะเร็งหรือเปล่าเราจึงนอนไม่หลับ เพราะ 300 คนนั้น ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา แต่อีกคนที่ป่วยนั้น เป็นเราเป็นของเรา เป็นญาติของเรา เป็นพ่อแม่ของเรา เป็นเพื่อนของเรา แผ่นดินไหวข้าวของเสียหายมากมายที่ประเทศนั้นประเทศนี้ เราก็ไม่ได้รู้สึกอะไร แต่ถ้าเงินของเราหาย เราทุกข์ เพราะว่าความรู้สึกว่าเป็นของเรา
ความทุกข์เมื่อเกิดกับกายแล้วทำไมใจทุกข์ เวลาเจ็บ เวลาปวด เวลาเมื่อย ทำไมใจทุกข์ด้วย ก็เพราะไปยึดว่าร่างกายนี้เป็นเรา พอรู้สึกปวดรู้สึกเมื่อย ไม่ใช่เห็นว่ากายปวดกายเมื่อย แต่มันคิดต่อไปว่ากูปวดกูเมื่อย พอความคิดนี้เกิดขึ้นก็เป็นทุกข์ขึ้นมาทันที ทุกข์ใจตามมาทันที ทุกข์ใจเกิดขึ้นเพราะความยึดติดในตัวกูของกู ไปสำคัญมั่นหมายว่า ความปวดความเมื่อยนั้นเป็นเราเป็นของเรา ไม่ใช่กายปวดแต่ว่ากูปวด ไม่ใช่กายเมื่อยแต่ว่ากูเมื่อย ก็เกิดเป็นความทุกข์ใจขึ้นมา มีความแตกต่างอย่างมากระหว่าง กายปวดกับกูปวด ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยเปรียบว่า เวลามีดบาดนิ้วหรือนิ้วถูกมีดบาด จะมีความรู้สึกแตกต่างกันมากเลย ระหว่างการมองว่า นิ้วถูกมีดบาด กับเราถูกมีดบาด สองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน ถึงแม้ปรากฏการณ์เป็นปรากฏการณ์เดียวกัน แต่คนที่รู้สึกว่า ฉันถูกมีดบาด จะรู้สึกเจ็บปวดมากกว่าคนที่รู้สึกว่า นิ้วถูกมีดบาด ในความรู้สึกว่าตัวกูทำให้ความทุกข์เพิ่มขึ้น นิ้วถูกมีดบาดก็เจ็บแต่นิ้วแต่ใจไม่เจ็บด้วย แต่พอรู้สึกว่าฉันถูกมีดบาดมันเจ็บทั้งนิ้วเจ็บทั้งใจด้วย เรียกว่าเจอธนู 2 ดอก
คนที่เห็นแต่เพียงว่านิ้วถูกมีดบาดโดนแค่ธนูดอกเดียว แต่คนที่รู้สึกว่า ฉันถูกมีดบาดเจอธนู 2 ดอก สิ่งนี้เป็นคำเปรียบเปรยของพระพุทธเจ้าที่เห็นว่า คนทั่วไปเมื่อเจอทุกขเวทนาแล้วจะทุกขเวทนาทั้งกายและใจ แต่ผู้สดับและผู้ที่มีปัญญาจะเจ็บแต่กายแต่ว่าใจไม่เจ็บด้วย เสมือนกับว่าธนูดอกที่ 2 ถูกยิงผิดเป้าพลาดเป้าไป ฉะนั้นถ้าเราเข้าใจในเรื่องอนัตตาจะช่วยทำให้วางใจกับสิ่งต่างๆได้อย่างดี คือไม่มีความยึดมั่นถือมั่น แล้วเมื่อเห็นว่าอะไรที่เป็นอนัตตาซึ่งคือทุกสิ่งนั้นย่อมเสื่อมย่อมดับไป ก็จะไม่ยึดมั่นถือมั่นว่ามันเที่ยงว่ามันต้องจีรังยั่งยืน เพราะฉะนั้นเมื่อมันหายไป สูญไป เสื่อมไป ก็ไม่ทุกข์ พอเราเข้าใจเรื่องไตรลักษณ์ เรื่องอนัตตา จะทำให้เกิดการปล่อยวางได้ ไม่ยึดมั่นถือมั่น
ซึ่งถึงที่สุดแล้วก็จะมาสรุปที่คำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาที่ว่า “ธรรมทั้งปวงไม่ควรถือมั่นยึดมั่น” เพราะว่ายึดมั่นถือมั่นไม่ได้ และที่ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้เพราะมันเป็นอนัตตา มันไม่มีตัวตนมันไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นมันเป็นทุกข์ก็เลยไม่จีรัง ตรงนี้แหละเป็นเหตุปัจจัยให้เข้าถึงนิโรธ นิโรธคือความดับทุกข์ หรือการที่ทุกข์ไม่เกิดเพราะว่าเห็นความจริงตรงนี้ และเห็นความจริงตรงนี้ได้ก็ต้องทำให้องค์มรรคเกิดขึ้น คือทำให้มรรคมีองค์แปดได้เกิดขึ้น ทำให้มากขึ้น เริ่มตั้งแต่สัมมาทิฏฐิ จนกระทั่งไปสุดที่สัมมาสติและสัมมาสมาธิ ถ้าทำถูกทำได้อย่างต่อเนื่องก็จะเห็นความจริงตรงนี้ โดยเฉพาะในขั้นสุดท้ายที่เกิดจากวิปัสสนา การที่เข้าถึงความจริงตรงนี้อย่างแจ่มแจ้งทำให้บรรลุธรรมหลุดพ้นจากความทุกข์ เป็นพระอรหันต์ อย่างท่านปัญจวัคคีย์ที่ท่านพอได้เข้าใจอนัตตลักขณะอย่างแจ่มแจ้งก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ พ้นจากวัฏสงสารเพราะไม่มีตัวกูที่จะเป็นเชื้อให้เกิดอีกต่อไป ถ้ายังมีความยึดมั่นในตัวกูก็ยังมีกรรม และกรรมนั้นนำไปสู่การเกิด ไม่ว่าจะเป็นกรรมดีกรรมชั่วก็ตาม กรรมเหมือนกับเมล็ดพันธุ์ที่นำไปสู่การเกิดใหม่ คือเกิดภพใหม่ชาติใหม่
นักปฏบัติธรรมที่ไม่เข้าใจอนัตตลักษณะก็ยังมีความเชื่อเรื่อง ตัวกูของกู แต่พยายามทำให้ตัวกูเป็นตัวกูที่ดีหรือเป็นคนดี ตั้งใจปฏิบัติตนให้เป็นคนดี มีความสำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นคนดี เมื่อตายไปแล้วก็จะได้ไปสู่สุคติ แต่ยังไม่พ้นจากวัฏสงสาร จนกว่าจะก้าวข้ามพ้นความเป็นคนดีไป ไม่มีคนแล้วก็ไม่มีใครตาย สิ่งนี้เรียกว่า ตายก่อนตาย ที่อาจารย์พุทธทาสว่าต้องทำให้ตายก่อนตาย คือทำให้ตัวตนมันตายก่อนที่จะหมดลม ที่ว่าทำให้ตัวตนมันตายเป็นการพูดในเชิงโวหาร เพราะจริงๆไม่มีตัวตนตั้งแต่แรกแล้ว ถ้าพูดให้ถูกต้องพูดว่าทำให้ความยึดมั่นในตัวกูมันตายไป คือหมดความยึดมั่นในตัวกู เพราะเห็นความจริงว่าไม่มีตัวกูตั้งแต่แรก แบบนี้เรียกว่า ตายก่อนตาย เพราะฉะนั้นเมื่อถึงเวลาหมดลมก็จะไม่ความสำคัญมั่นหมายว่าฉันตาย เป็นเพียงการเปลี่ยนสภาพไปเท่านั้นเอง ไม่มีใครตายมีแต่การเปลี่ยนสภาพของขันธ์ 5 คนตายก็ไม่มี ความตายก็ไม่มี ความตายก็เป็นสมมติแบบหนึ่งที่ใช้เรียกคนเวลาหมดลมหรือสัตว์หมดลมว่าตาย หรือใช้เรียกรถที่มันหยุดวิ่งว่าตาย หรือนาฬิกาที่มันหยุดเดินว่าตาย แต่เนื่องจากเป็นคำสมมติ ตายของรถยนต์ตายของนาฬิกาก็เป็นคนละแบบกับของคนหรือของสัตว์ แต่ทั้งหมดก็เป็นสมมติ ถ้าเราเข้าใจความจริงเราจะไม่กลัวตายเพราะรู้ว่าไม่มีใครตาย และไม่ทุกข์เพราะรู้ว่าไม่มีใครทุกข์