แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คุณสมบัติประการหนึ่งที่เราเรียกว่าธรรมคุณคือโอปะนะยิโก เราสวดทั้งเช้าทั้งเย็น แปลว่าเป็นสิ่งที่พึงน้อมเข้ามาใส่ตัว ความหมายหนึ่งคือธรรมะที่เราได้อ่านได้ฟังจากพระไตรปิฎกก็ดี จากคัมภีร์หนังสือและคำสอนครูบาอาจารย์ก็ดี เราต้องน้อมนำมาปฏิบัติกับตัว ฝึกหัดดัดแปลงที่กายวาจาแล้วก็ใจ ถ้าไม่น้อมเข้ามาปฏิบัติกับตัวเองก็ไม่เรียกว่าธรรมะ ยังเป็นสิ่งที่อยู่ในหนังสือ จะเรียกว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมหรือผู้รู้ธรรมยังไม่ได้ แต่การน้อมนำเข้ามาใส่ตัวมีความหมายมากกว่าที่พูดมา หมายความว่าอะไรก็ตามที่อยู่นอกตัวเรา ได้ยินก็ดี ได้เห็นก็ดี ได้สัมผัสก็ดี ถ้าเราน้อมเข้ามาเป็นเครื่องเตือนใจหรือเป็นสิ่งสอนใจทำให้เกิดกุศลธรรมขึ้น เช่น ทำให้เข้าใจความจริงของชีวิต ทำให้ตั้งจิตอยู่ในความไม่ประมาท หรือทำให้เกิดความเพียรเป็นต้น แบบนั้นก็ถือว่าเป็นธรรมะได้
เพราะฉะนั้นธรรมะไม่ใช่จำกัดแค่ถ้อยคำในพระไตรปิฎก ในคัมภีร์ หรือถ้อยคำที่ครูบาอาจารย์ได้เทศนาสั่งสอน แต่หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างเลยก็ได้ ที่เราน้อมเข้ามาเพื่อทำให้เกิดการเจริญงอกงามทั้งกายวาจาหรือใจ หรือทำให้เกิดศีล สมาธิ ปัญญา ความหมายของโอปะนะยิโกแบบหลังนี้สำคัญมาก เพราะว่าทำให้เราสามารถจะเห็นธรรมได้จากทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วก็สามารถจะนำทุกสิ่งทุกอย่างมาเป็นเครื่องฝึกฝนพัฒนาตนได้ ถ้าไม่เข้าใจเช่นนี้เราก็จะไปนึกว่าธรรมะมีอยู่แต่ในพระไตรปิฎก อยู่ในคัมภีร์ หรืออยู่ในแผ่นซีดีของครูบาอาจารย์ อย่างนั้นจะเป็นความหมายที่แคบมาก แล้วก็เลยจะเข้าใจต่อไปว่าต้องเรียนตำรา ต้องอ่านคัมภีร์ หรือต้องเข้าวัดถึงจะรู้ธรรม
สมัยที่หลวงปู่มั่นยังมีชีวิตอยู่แล้วยังไม่ได้มีชื่อเสียง ประมาณสัก ๗๐ หรือ ๘๐ ปีมาแล้ว ท่านมีวัตรปฏิบัติที่แตกต่างจากพระทั่วไปโดยเฉพาะพระธรรมยุต เพราะว่าพระธรรมยุตส่วนใหญ่จะอยู่วัดแล้วก็เรียนปริยัติ ธรรมยุติเป็นนิกายที่ในสมัยนั้นให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาด้านปริยัติธรรมมาก ตำราต่างๆที่ผลิตกันในช่วงนั้นเกิดจากสมเด็จพระสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ท่านเป็นประมุขของธรรมยุติ แล้วท่านส่งพระธรรมยุตที่เรียนที่ศึกษาจากหลักสูตรของท่านไปตามหัวเมืองเพื่อนำเอาการศึกษาด้านปริยัติธรรมไปเผยแพร่ แต่ท่านอาจารย์มั่นท่านไม่ได้มีใจไปทางนั้น ท่านเน้นเรื่องการปฏิบัติธรรมในป่า เดินธุดงค์จาริก แล้วตอนหลังมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย สิ่งนี้สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ปกครองคณะสงฆ์ตั้งแต่ระดับจังหวัดจนถึงระดับมณฑล สมัยนั้นยังมีมณฑลอยู่ คณะมณฑลอีสานท่านไม่พอใจมากที่เห็นพระที่เป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์มั่นรวมทั้งพระอาจารย์สิงห์สหายธรรมของพระอาจารย์มั่นท่านชอบจาริกธุดงค์ ไม่อยู่วัด เรียกว่าเป็นพระจรจัด
พระจรจัดเป็นคำใช้เรียกพระป่าในสมัยนั้น คือแสดงความดูถูกพระจรจัดไม่เป็นหลักแหล่ง เวลาพระสายหลวงปู่มั่นหลวงปู่สิงห์ไปจาริกที่ไหนในภาคอีสาน อย่างเช่นคราวหนึ่งไปจาริกแถวอุบล รู้สึกจะที่อำเภอม่วงสามสิบ เจ้าคณะมณฑลอีสานสั่งให้เจ้าคณะอำเภอไล่ให้ออกจากพื้นที่ เพราะถือว่าไม่ปฏิบัติตามคณะสงฆ์ จนกระทั่งต่อมาเจ้าคณะมณฑลนั้นภายหลังได้มาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เป็นสังฆนายก แต่ถึงตอนนั้นท่านก็เปลี่ยนใจแล้ว ไม่รังเกียจพระป่าโดยเฉพาะสายหลวงปู่มั่นหลวงปู่สิงห์ เกิดศรัทธา ที่ศรัทธาเพราะว่าท่านป่วย ทำอย่างไรก็ไม่หาย
แต่เพราะท่านสมเด็จพระราชาคณะพระมหาวีรวงศ์ได้รับคำแนะนำจากลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่นคืออาจารย์ฝั้นอาจารย์ลี ซึ่งเก่งในเรื่องสมาธิและสมุนไพร ท่านก็ทำสมาธิแล้วใช้สมุนไพรทำให้หายป่วย ถึงกับออกปากว่าตั้งแต่เกิดมาไม่เคยคิดเลยว่าสมาธิจะมีคุณถึงเพียงนี้ ขนาดท่านเป็นพระที่เรียนสูงชั้นปริยัติประโยค ๖ ประโยค ๗ ได้ เพิ่งมาเห็นคุณค่าของสมาธิตอนที่ป่วยแล้วก็รักษาได้ด้วยสมาธิ เกิดศรัทธาหลวงปู่มั่นซึ่งเป็นอาจารย์ของพระอาจารย์ฝั้นพระอาจารย์ลี และเมื่อวันหนึ่งได้มีโอกาสพบพระอาจารย์หลวงปู่มั่น ก็ถามว่าอาจารย์มั่นไม่ได้เรียนสูง ปริยัติธรรมก็ไม่ค่อยได้เรียนเท่าไร แต่ทำไมรู้ธรรมได้อย่างลึกซึ้ง แสดงธรรมได้อย่างแจ่มแจ้ง หลวงปู่มั่นตอบว่าธรรมะมีอยู่ทุกแห่งหนสำหรับผู้มีปัญญา ธรรมะอยู่ทุกที่ อยู่ที่ว่าจะมองเป็นหรือไม่ ถ้ามองเป็นก็เห็นธรรม
กรณีนี้มีตัวอย่างมากมายจากเรื่องราวของพระเถระเถรีทั้งหลายในสมัยพุทธกาล ตัวอย่างหนึ่งได้แก่ท่านพระจูฬปันถก พระจูฬปันถกท่านเป็นหลานของเศรษฐีเมืองราชคฤห์แต่ปัญญาทึบ มาบวชพร้อมพี่ชายแต่พี่ชายมีปัญญามาก ฉลาดบรรลุธรรมได้เร็ว ก็พยายามเคี่ยวเข็ญน้องให้เข้าใจธรรมะ เคยให้คาถาธรรมอยู่หนึ่งคาถาให้น้องชายไปท่อง ท่านใช้เวลา ๔ เดือนก็ยังท่องไม่ได้ พี่ชายเลยเห็นว่าน้องชายคงหมดหวังแล้วหรืออาจจะคิดว่าไม่มีความเพียร แค่คาถาหนึ่งคาถาไม่กี่บรรทัดยังท่องไม่ได้ ก็ไล่ให้สึก ท่านจูฬปันถกเสียใจก็คิดว่าสึกดีกว่า เอาดีทางนี้ไม่ได้พี่ชายก็ไล่ด้วย
แต่พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าจูฬปันถกมีความสามารถที่จะบรรลุธรรมได้ เพราะว่าการบรรลุธรรมไม่ได้เกี่ยวข้องกับความฉลาดหรือความช่างจดช่างจำได้หรือไม่ ก็มอบกรรมฐานให้กับพระจูฬปันถก คือมอบผ้าสีขาวให้ผืนหนึ่งแล้วให้ท่านจูฬปันถกลูบผ้าไปเรื่อยๆ แล้วก็บริกรรมไปด้วยว่า รโชหรณํ รโชหรณํ แปลว่าผ้าเปื้อนฝุ่นหรือผ้าเปื้อนธุลี ท่านจูฬปันถกถึงแม้ท่านจะปัญญาทึบแต่เป็นคนที่ว่าง่าย ก็ทำตาม ลูบผ้าไปลูบไปเรื่อยๆ แล้วบริกรรมไปด้วย ทำไปๆจิตก็เป็นสมาธิ แล้วในเวลาเดียวกันก็เห็นว่าผ้าที่เคยขาวก็ค่อยๆหมองคล้ำลง คล้ำด้วยเหงื่อ คล้ำด้วยธุลี พอจิตเป็นสมาธิท่านก็เห็นท่านก็น้อมผ้าที่หมองคล้ำ คือโยงเข้ามากับตัวเองเลยว่าผ้าที่หมองคล้ำก็ไม่ต่างจากจิตที่สว่างไสวแล้วก็เศร้าหมองเพราะว่ากิเลสเข้ามาเกาะ ในขณะเดียวกันท่านเห็นความไม่จีรังหรือพระไตรลักษณ์จากผ้านั้นด้วย ปรากฏว่าท่านบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ทันทีเลย แล้วก็มีอภิญญาตามมาด้วย
กรณีนี้เป็นตัวอย่างว่าผ้าสีขาวเมื่อลูบจนหมองคล้ำ แล้วถ้าพิจารณาไม่ใช่เห็นสักแต่ว่าผ้า แต่โยงเข้ามาสู่ใจของตัวเองก็จะเกิดปัญญาขึ้นมาได้ เห็นว่าจิตนี้เศร้าหมองเพราะกิเลส ทำให้เห็นภัยของกิเลส และขณะเดียวกันทำให้เห็นความเป็นไตรลักษณ์จากผ้าที่แปรเปลี่ยนไปจากขาวเป็นหมอง ท่านมองให้เห็นเป็นไตรลักษณ์ได้ แบบนี้เรียกว่าน้อมเข้ามาใส่ตัวได้ คนทั่วไปเห็นผ้าขาวแล้วกลายเป็นคล้ำก็เฉยๆ ไม่ได้แปลกอะไร นั่นเป็นเพราะว่าไม่ได้น้อมเข้ามาสู่จิตสู่ใจของตัวเอง หรือไม่รู้จักโยง ไม่รู้จักเทียบ
กรณีของท่านจูฬปันถกนี้ชี้ให้เห็นว่าเรื่องการบรรลุธรรม หรือการเกิดปัญญาเห็นแจ้งในสัจธรรมนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสติปัญญาทางโลกหรือความช่างจดช่างจำ ที่จริงแล้วไม่ว่าเป็นใครก็มีโอกาสที่จะบรรลุธรรมได้ ถึงแม้จะเป็นโจรผู้ร้ายอย่างองคุลิมาล หรือเป็นคนช่างขโมยอย่างนางขุชชุตตราที่ชอบขโมยยักยอกเงินที่นางสามาวดีให้ไปซื้อดอกไม้ก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันได้ โจรผู้ร้ายหลายคนก็เป็นพระอรหันต์ แม้แต่เณรก็สามารถจะบรรลุธรรมได้
สามเณรสุขเป็นตัวอย่างหนึ่ง เป็นศิษย์ของพระสารีบุตร วันหนึ่งบิณฑบาตตามพระสารีบุตร ไประหว่างทางก็ผ่านทุ่งนา ก่อนจะเข้าถึงหมู่บ้านก็เห็นทุ่งนา เห็นชาวนากำลังทดน้ำเข้านา เดินไปสักพักเข้าไปในหมู่บ้านเห็นชาวบ้านที่เป็นช่างธนูกำลังดัดลูกศร เดินต่อไปอีกหน่อยเห็นช่างไม้กำลังถากไม้ ท่านมีความคิดหนึ่งวาบขึ้นมาว่าสิ่งที่ไม่มีชีวิตจิตใจอย่างน้ำก็ดี อย่างไม้หรือลูกศร มนุษย์เรายังสามารถที่จะบังคับควบคุมดัดแปลงให้เป็นประโยชน์ได้ แล้วเราล่ะ เราซึ่งมีจิตใจทำไมจะบังคับควบคุมตนเองให้เกิดประโยชน์หรือให้เจริญงอกงามไม่ได้ พอคิดเช่นนี้เข้าท่านก็เกิดความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะบำเพ็ญภาวนา เลยขอลาพระสารีบุตรบอกว่าขอกลับไปที่วัด ไม่ได้บอกสาเหตุไม่ได้บอกเหตุผล แต่พอกลับไปถึงเชตวันก็เข้าไปบำเพ็ญภาวนาในวิหาร จิตเป็นสมาธิเกือบจะรู้แจ้งอยู่แล้วพระสารีบุตรกลับมาถึงเชตวันพอดี พระพุทธเจ้าก็เกรงว่าพระสารีบุตรจะมาขวางทำให้การปฏิบัติการเจริญภาวนาของสามเณรสุขสะดุด เลยไปขวางเอาไว้คือชวนคุย ชวนคุยอยู่พักหนึ่งจนกระทั่งสามเณรสุขบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
เรื่องนี้จึงเป็นที่มาของภาษิตของพระพุทธเจ้าที่บอกว่า “ชาวนาไขน้ำเข้านา ช่างธนูดัดลูกศร ช่างไม้ถากไม้ ส่วนบัณฑิตฝึกตน” คือสามเณรสุขเห็นสิ่งต่างๆ เห็นสามปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งแสนจะธรรมดามาก แต่ท่านไม่ได้เห็นแล้วมองผ่านไป ท่านมองย้อนเข้ามาสู่ตัวว่าน้ำก็ดี ไม้ก็ดี ลูกศรก็ดี ไม่มีจิตใจมนุษย์เรายังสามารถบังคับดัดแปลงให้เกิดประโยชน์ได้ แล้วเราล่ะมีจิตใจ เราจะบังคับควบคุมดัดแปลงตนเองไม่ได้เชียวหรือ ท่านยังมองเห็นอีกว่าชาวนาดัดแปลงสิ่งภายนอก ช่างธนูดัดแปลงสิ่งภายนอก แล้วเราเป็นนักบวชจะทำอะไร ก็ต้องมาจัดการฝึกฝนตนเอง แบบนี้เรียกว่าน้อมเข้ามาใส่ตัว คือน้อมสิ่งที่เห็นเพื่อมาเตือนสติหรือเตือนใจให้ทำความเพียร
มีเรื่องแบบนี้มาก บางท่านพิจารณาดอกบัวที่ตูมแล้วก็บานแล้วก็เริ่มร่วงโรย ท่านไม่ได้เห็นแค่นี้แต่ท่านเห็นโยงมาถึงสังขารของตนว่าย่อมมีเสื่อมไป เห็นดอกบัวแล้วท่านก็เห็นไตรลักษณ์ ซึ่งรวมถึงเห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวตนของสังขาร คือรูปนามกายใจที่ครองอยู่ด้วย พระเถรีบางท่าน อย่างท่านทันถิกาเถรีภาวนาอยู่ แล้วบางครั้งก็ไม่ค่อยมีความกระตือรือร้นเท่าไร แต่วันหนึ่งเห็นควาญช้างบังคับควบคุมช้างให้มันย่อเข่าลง ให้มันยืนขึ้น ยอมให้ควาญช้างเข้าไปขึ้นขี่คอ ท่านก็เห็นว่าช้างเป็นสัตว์เดรัจฉานยังฝึกได้ แล้วทำไมใจของเราจะฝึกไม่ได้ ท่านก็เกิดความเพียรในการฝึกจิตฝึกใจของตนจนกระทั่งบรรลุธรรม
แบบนี้เป็นวิสัยของบัณฑิตที่รู้จักมอง สามารถที่จะเอาสิ่งต่างๆมาใช้ในการเตือนสติตัวเองได้ สิ่งนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่แสนจะธรรมดาสามัญ หรืออาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ดีก็ได้ สิ่งที่คนเขาอาจจะมองว่าเป็นสิ่งกระตุ้นราคะ แต่ว่าถ้ามองให้เป็นก็เห็นธรรมได้เหมือนกัน อย่างพระลกุณฏกภัททิยตัวเล็กๆตัวเตี้ยๆป้อมๆ เราลองนึกภาพอย่างโก๊ะตี๋ ท่านเป็นพระ วันหนึ่งนางคณิกานั่งรถม้าผ่านมา พอเห็นพระลกุณฏกภัททิยท่าทางตัวเล็กๆ ก็ยิ้มให้เห็นฟันสวยเลย ท่านลกุณฏกภัททิยเห็นฟันของนางคณิกาซึ่งก็คงจะสวย แต่แทนที่ท่านจะเห็นแล้วเกิดราคะ ท่านกลับมองว่ามันเป็นบ่วงแห่งมาร เป็นบ่วงแห่งพญามัจจุราชที่ทำให้คนลุ่มหลงในวัฏสงสาร จมอยู่ในทุกข์ ท่านเห็นเป็นโทษเลยว่านี่โทษของสังขาร โทษของกาม ความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดก็เกิด แล้วท่านก็บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามี แต่บางท่านก็เห็นภาพคล้ายๆกัน แต่ว่าบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้ก็มี อย่างเช่นพระนาคสมาล
เรื่องนี้เป็นตัวอย่างมากมายว่าธรรมะไม่ใช่อยู่แต่ในคัมภีร์ แต่มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ถ้ามองเป็นก็จะเห็นธรรม หรือถ้าโยงเข้ามาสู่จิตสู่ใจของตัวเองก็เกิดเป็นธรรมะขึ้นมา ทำให้เกิดกุศลธรรมขึ้น เหตุนี้ที่ทำให้หลวงปู่มั่นท่านพูดว่า “ธรรมะมีอยู่ทุกหย่อมหญ้าสำหรับผู้ที่มีปัญญา” เราเห็นอะไรก็ตาม ถ้าเรามองเป็นเราจะได้ประโยชน์จากสิ่งที่เห็น ได้เคยเล่าแล้วว่า ผู้ชายคนหนึ่งที่เห็นคนเมาในร้านอาหาร แล้วพูดดูถูกว่าโง่ฉิบหายเลยกินเหล้าแต่ถูกเหล้ากิน เสร็จแล้วในที่สุดก็กลายเป็นคนติดเหล้า ทีแรกก็กินเบียร์ก่อนทีหลังกินเบียร์ขวดเดียวไม่พอต้อง ๔-๕ ขวด พอกินมากๆเงินไม่พอจ่ายเพราะว่าเป็นแค่นักวาดรูป ก็เลยเปลี่ยนมากินเหล้าแทน บอกว่าเป๊กเดียวก็พอแล้วเป๊กเดียวก็เอาอยู่แล้วมันแทนเบียร์ ๔-๕ ขวดได้ สุดท้ายก็ติดเหล้า แล้วเป็นอัมพาตแล้วก็ตายเพราะเหล้า
แต่ถ้าเขาเป็นคนฉลาดในการมอง เขาจะมองว่าเห็นคนกินเหล้าแล้วเมาอย่างนี้ ก็น้อมเข้ามาใส่ตัวเป็นเครื่องเตือนใจว่าเหล้าน่ากลัว พยายามอย่าเข้าใกล้ ถ้าเขาคิดแบบนี้เขาก็จะอยู่ในความไม่ประมาท แต่การที่เขาพูดจาดูถูกคนกินเหล้าก็ทำให้ตัวเองประมาท คิดว่าตัวเองแน่แล้วเหล้าไม่สามารถจะเล่นงานตัวเองได้ มันเล่นได้แต่คนโง่แต่เล่นงานฉันไม่ได้ แบบนี้ความประมาทเกิดขึ้น ฉะนั้นการเห็นคนกินเหล้าแล้วเราน้อมเข้ามาใส่ตัวให้เห็น เพื่อเตือนใจไม่ให้ประมาทก็เป็นธรรมะได้ คนกินเหล้าก็สามารถจะเป็นธรรมะสอนใจเราได้ เหมือนกับเราเห็นคนโกรธ เห็นคนโกรธแล้วเราก็น้อมเข้ามาใส่ตัวเตือนใจว่าถ้าโกรธอย่างเขาเราก็เป็นยักษ์เป็นมารได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ดูหนังดูละครก็เป็นประโยชน์ ละครที่เขาเรียกว่าน้ำเน่าทั้งหลายซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่มากมาย ถ้าน้อมเข้ามาใส่ตัวเราจะเห็นโทษของความโกรธ ความโลภ ความอิจฉา เราจะระมัดระวังตัวไม่ให้เป็นอย่างนั้น
ธรรมะนี้ถึงที่สุดแล้วคือการกลับมามองที่ตัวเอง ไม่ว่าจะเห็นอะไรก็ตาม จะไม่ส่งจิตออกนอกหรือไม่ไปลุ่มหลงหรือว่าผลักไสสิ่งที่เห็น แต่จะฉลาดในการที่จะโยงเข้ามาเพื่อสอนตัวเอง หรือกลับมาดูใจของตัวเองว่ารู้สึกอย่างไรต่อสิ่งที่เห็นสิ่งที่รับรู้ คนทั่วไปมุ่งส่งจิตออกนอก มุ่งไปปรับปรุงสิ่งภายนอก แต่นักปฏิบัติธรรมหรือบัณฑิต ที่พระพุทธเจ้าชอบใช้คำว่าบัณฑิต คือกลับมามองตัวเอง กลับมาแก้ไขที่ตัวเอง ไม่ใช่มุ่งแต่ไปแก้ไขภายนอก ถ้าเรากลับมามองตัวเองเราจะเห็นว่าจริงๆแล้วเวลาความทุกข์ใจเกิดขึ้น ไม่ได้แก้ที่ไหน แก้ที่ตัวเองไม่ใช่แก้ที่คนอื่น แต่ถ้าไม่รู้จักแก้ที่ตัวเอง เช่น ไม่รู้จักระมัดระวัง ปล่อยให้ความทุกข์เข้ามาครอบงำ ให้ความโกรธความเกลียดความเศร้าครอบงำ ก็เป็นเราเองที่ย่ำแย่
มีหลายคนมาปรึกษา ไม่รู้ว่ามาปรึกษาหรือมาระบายมาคร่ำครวญ อย่างเช่นผู้หญิงหลายคนก็มาคร่ำครวญเสียใจที่สามีมีชู้ สามีนอกใจ แล้วก็ทำใจไม่ได้ ก็เตือนเขาไปว่าเราเสียใจที่เขาไม่รักเรา แต่เราเคยถามตัวเราเองไหมว่าทำไมเราไม่รักตัวเอง ในเมื่อเราไม่รักตัวเองจะให้คนอื่นรักเราได้อย่างไร เขาก็สงสัยว่าไม่รักตัวเองอย่างไร ก็จะรักตัวเองได้อย่างไร ถ้ารักตัวเองก็ไม่ปล่อยให้ความทุกข์เล่นงานจิตใจ เอาแต่ครุ่นคิดถึงเรื่องที่ผ่านไปแล้ว เฝ้าแต่เรียกร้องให้คนอื่นรักเราๆแล้วทุกข์ใจที่เขาไม่รักเรา แต่ว่าเรากลับไม่รักตัวเอง คนที่ส่งจิตออกนอกจะไม่เคยถามเลยว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ตอนนี้คือการทำร้ายตัวเอง
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “คนพาลทำกับตัวเองเหมือนกับศัตรู” คือทำร้ายตัวเอง คนพาลในที่นี้ท่านหมายถึงคนชั่วที่ทำบาปทั้งกายวาจาใจ บาปที่ทำทุจริตที่ทำทางกายวาจาใจย่อมกลับมาทำร้ายตัวเอง แต่ไม่ใช่เฉพาะคนพาลเท่านั้น บางทีคนที่ไม่มีปัญญาก็ทำกับตัวเองเหมือนกับศัตรูเหมือนกัน คือเอาแต่แบกเอาแต่ครุ่นคิดถึงสิ่งที่ทิ่มแทงใจตัวเอง ไม่รู้จักปล่อยไม่รู้จักวาง เป็นเพราะเขาไม่มองตัวเองเขาถึงไม่รู้ว่าเขากำลังทำร้ายตัวเอง เขาไม่ได้รักตัวเองเลย และเมื่อเขาไม่รักตัวเองแล้วจะหวังให้คนอื่นรักเขาได้อย่างไร หลายคนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า พอผู้ชายทิ้งไปก็ลงโทษตัวเองว่าฉันไม่มีคุณค่า ตราบใดที่ไม่เห็นคุณค่าของตัวเองแล้วจะให้คนอื่นเห็นคุณค่าของเราได้อย่างไร ถ้ากลับมามองแบบนี้ก็จะไม่จมอยู่ในความเศร้า จะสลัดความทุกข์ออกไป แล้วกลับลุกขึ้นมายืนหยัดเดินต่อไป ใครจะทำกับฉันอย่างไรแต่ฉันจะไม่ทำร้ายตัวเอง
ไม่มีใครที่จะขโมยความสุขไปจากเราได้ ไม่มีใครที่จะยัดเยียดความทุกข์ให้กับเราได้ เขาอาจจะด่าเรา เขาอาจจะไม่เคารพเรา อาจจะดูหมิ่นเรา อาจจะไปรักคนอื่น นอกใจเรา แต่เขาไม่สามารถจะทำให้เราทุกข์ได้ เขาไม่สามารถทำให้เราทุกข์ใจได้ ที่ทุกข์ใจก็เพราะว่าปล่อยให้ความโกรธความเศร้าความแค้นเล่นงานจิตใจ ด้วยการเอาแต่ครุ่นคิด ครุ่นคิดถึงอดีตและไม่ยอมรับความจริง คนเราถ้ายังครุ่นคิดถึงอดีตไม่ปล่อยไม่วางสิ่งที่ผ่านไปแล้ว แล้วก็ไม่ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นก็จะทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง ไม่ว่าเงินที่หาย ทรัพย์สมบัติที่สูญไป ก็เป็นอดีตไปแล้ว หรือความสัมพันธ์ที่เคยหวานชื่นเป็นอดีตไปแล้ว ก็ต้องปล่อย หรือแม้กระทั่งการกระทำที่ไม่ดีที่เขาทำกับเราก็ผ่านไปแล้ว ก็ต้องวาง แล้วยอมรับความจริง เป็นเพราะไม่ยอมรับความจริง แล้วยังติดอยู่กับอดีตก็ทำให้ทุกข์เอง
เรากลับมามองใจกลับมาดูใจตัวเองจะเห็นว่า เป็นเพราะความคิดเป็นเพราะความยึดติดของตัวต่างหากที่ทำให้เป็นทุกข์ และนี่แหละที่เรียกว่าเป็นการทำร้ายตัวเอง แต่ถ้าเห็นแล้วมันก็จะหยุดทำร้ายตัวเอง แล้วปล่อยวาง แล้วก็เดินหน้าต่อไป และถ้าฉลาดกว่านั้นก็จะเอาสิ่งที่เกิดขึ้นที่ใครๆเรียกว่าเคราะห์เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ คือนอกจากจะไม่ทุกข์เพราะเหตุการณ์หรือเคราะห์แล้ว ยังสามารถจะเจริญงอกงามได้จากสิ่งที่เกิดขึ้น คือรู้จักใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์นั้น หลายคนพอผ่านเหตุร้ายไปได้เขาขอบคุณ ขอบคุณที่ป่วย ขอบคุณที่ล้มละลาย ขอบคุณที่แฟนทิ้ง เพราะว่าทำให้เขาได้เห็นธรรม ทำให้เขาได้กล้าแกร่งกว่าเดิม ทำให้เขาเข้าใจชีวิตมากขึ้น หรือทำให้เขาเป็นอิสระมากขึ้น อย่างนี้เพราะว่าไม่ปล่อยใจให้จมอยู่ในความทุกข์ก็เลยมีสติมีปัญญา สามารถที่จะน้อมเอาเหตุการณ์ต่างๆที่แย่แค่ไหนก็ตามให้มาเป็นเครื่องเตือนใจหรือสอนใจได้ เพราะฉะนั้นเรื่องการน้อมเข้ามาใส่ตัวนี้ ถ้าเราฉลาดในการทำเช่นนี้ก็จะเห็นธรรม แล้วจะได้เข้าใจธรรมจากสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นกับเรา ไม่ว่าบวกหรือลบหรือไม่ว่าจะเป็นธรรมดาแค่ไหนก็ตาม