แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การปฏิบัติธรรม เป็นคำที่เดี๋ยวนี้เราใช้กันอย่างแพร่หลาย คำว่าปฏิบัติ ถ้าเป็นในสมัยพุทธกาล ท่านใช้อีกคำหนึ่ง ท่านใช้คำว่ากขา เหมือนกับที่เราเรียกว่าไตรสิกขา คำว่าสิกขา แปลมาเป็นภาษาสันสกฤตก็คือศึกษา ศึกษากับสิกขาจริง ๆ แล้วก็เป็นคำเดียวกัน สิกขาเป็นบาลี ศึกษาเป็นสันสกฤต แต่ว่าศึกษาที่เรารู้จักกันในขณะนี้กลายเป็นการอ่านการเขียนกันไป แต่ว่าสิกขาที่ใช้ในคำว่าไตรสิกขานี้ เป็นเรื่องการปฏิบัติโดยตรง ไตรสิกขามี ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือถ้าพูดให้เต็มยศก็เรียกว่าอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา อธิแปลว่ามาก ทำให้เพิ่มขึ้น ก็คือการปฏิบัติเพื่อทำให้ศีลเจริญงอกงาม การปฏิบัติที่ทำให้จิตเจริญงอกงาม การปฏิบัติที่ทำให้ปัญญาเจริญงอกงาม คำว่าสิกขานี้ยังใช้กับวินัยของพระ วินัยเป็นคำเรียกรวม ๆ ถ้าแจกแจงเป็นแต่ละข้อ ๆ เรียกว่า สิกขาบท คือบทศึกษาหรือว่าข้อปฏิบัตินั่นเอง ถ้าเราแปลว่าข้อปฏิบัติจะเข้าใจง่ายกว่า
ไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นการอบรมกาย วาจา อันนี้เป็นเรื่องของศีล การอบรมจิตทำให้จิตเจริญงอกงามเรียกว่าสมาธิ คำว่าสมาธิในที่นี้ไม่ได้หมายถึงจิตใจแน่วแน่แต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการพัฒนาคุณภาพจิต อะไรที่เกี่ยวกับคุณภาพจิตก็รวมอยู่ในสิกขาข้อที่ ๒ ที่เราเรียกสั้น ๆ ว่า สมาธิ แต่ถ้าเรียกเต็มยศเขาเรียกว่า อธิจิตตสิกขา
พุทธศาสนาแยกใจออกเป็น ๒ อย่าง คือ จิตกับปัญญา จิตอันหนึ่ง ปัญญาก็อันหนึ่ง แต่รวมแล้วเรียกว่าใจ ทำไมถึงแยก เพราะว่ามันไม่ใช่อันเดียวกันทีเดียว แต่สัมพันธ์กัน อย่างเช่นเมื่อมีปัญญาเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นอนัตตา เป็นทุกขัง เป็นอนิจจัง ก็จะทำให้จิตเกิดการคลายความยึดติด ทีแรกเบื่อหน่ายก่อน นิพพิทา แล้ววิราคะก็คลาย คลายความยึดติดหรือคลายความลุ่มหลง อย่างที่เราสวดอนัตตลักขณสูตร ตอนสุดท้ายก็บอกว่าเมื่อเห็นชอบด้วยปัญญาว่าขันธ์ทั้ง ๕ เป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา เมื่อนั้นก็จะคลาย เกิดความเบื่อหน่าย นิพพิทา แล้วก็เกิดการคลาย คลายความยึดติด ในตอนที่เห็นสังขารหรือขันธ์ทั้ง ๕ เป็นอนัตตา อันนี้เป็นเรื่องของปัญญาที่ได้รับการอบรมบ่มเพาะจนกระทั่งเห็นอย่างแจ่มแจ้งอย่างที่ว่ามา เมื่อนั้นจิตก็จะเบื่อหน่ายแล้วก็คลายความยึดติด จะเห็นได้ว่าการที่แยกจิตและปัญญาออกจากกัน ช่วยให้เข้าใจการทำงานของใจเรา
วิธีการปฏิบัติธรรมหรือไตรสิกขา ถ้าจะอธิบายอย่างง่าย ๆ ข้อที่หนึ่ง คือ ทำให้เกิดความกลมกลืนสอดคล้องกันระหว่างเรากับสิ่งแวดล้อมและผู้คน ข้อที่สอง คือ ทำให้เกิดความกลมกลืนระหว่างกายกับใจ และข้อที่สาม คือ ทำให้เกิดความกลมกลืนสอดคล้องสามัคคีกันระหว่างเหตุผลกับอารมณ์ หรือความคิดกับความรู้สึก หรือระหว่างสมองกับหัวใจ ถ้าพูดไปแล้วไตรสิกขาโดยรวม ๆ แล้วทำให้เกิดความกลมกลืนสอดคล้องเกื้อกูลกันใน ๓ ระดับ อย่างเช่นความกลมกลืนระหว่างเรากับผู้คน สังคมแวดล้อม รวมทั้งธรรมชาติด้วย อันนี้ต้องอาศัยศีลเป็นตัวนำ เช่นถ้าเรามีศีล ๕ ครบถ้วนบริบูรณ์ ก็ทำให้เราไม่ไปก่อเรื่องวุ่นวาย สร้างปัญหาให้กับผู้คนและชุมชนแวดล้อม เมื่อเรารักษาศีล ๕ ดี เราก็เป็นมิตรกับผู้คน ยิ่งถ้าเรารู้จักให้ทาน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ก็ทำให้เกิดความสามัคคีกัน เกิดความกลมเกลียวกัน
มีธรรมะหมวดหนึ่งที่ชื่อว่า สังคหวัตถุ ๔ คำว่า สังคหะ คือ สงเคราะห์ แปลว่า ยึดเหนี่ยว เป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยว ถ้ามีธรรม ๔ ข้อนี้ก็จะยึดเหนี่ยวน้ำใจเรากับผู้อื่น หรือยึดเหนี่ยวให้เกิดความสามัคคีกัน สังคหวัตถุ ๔ มีอะไรบ้าง มี (๑) ทาน (๒) ปิยวาจา การพูดไพเราะ พูดดี พูดเกื้อกูล (๓) อัตถจริยา คือ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ด้วยการลงไม้ลงมือ ช่วยเหลือเขา และ (๔) สมานัตตตา คือ การปฏิบัติร่วมทุกข์ร่วมสุขกับผู้อื่น เรียกว่าสมานอัตตาก็ได้ คือปฏิบัติกับผู้อื่นด้วยความเท่าเทียมกัน แต่สังคหวัตถุ ๔ มีตัวที่เป็นฐาน คือ พรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ซึ่งส่วนใหญ่หมายถึงคุณภาพจิต
ที่นี้ถ้าเราเกิดมีทั้งพรหมวิหาร ๔ และสังคหวัตถุ ๔ ก็จะทำให้เราไม่มีเรื่องขัดแย้งกับใคร ทำให้เกิดชีวิตที่เกื้อกูลกัน อันนี้เป็นความเกื้อกูลเป็นความกลมกลืนกันในระดับเบื้องต้น ซึ่งรวมไปถึงกับสิ่งแวดล้อมกับธรรมชาติด้วย ดังนั้นคนเราถ้ามีธรรมะ การทำลายสิ่งแวดล้อมจนกระทั่งเกิดวิกฤตมันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าจะอยู่อย่างสอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติ ในทำนองเดียวกันถ้ามีแค่พรหมวิหาร ๔ กับสังคหวัตถุ ๔ ก็ไม่เกิดการเอาเปรียบเบียดเบียนกัน มีแต่ความสามัคคีกัน อันนี้เป็นความกลมกลืนในระดับแรกที่เกิดจากการมีจิตที่พัฒนาและการมีศีลที่พัฒนา หรือว่าเมื่อมีความขัดแย้งกับใคร หรือว่าใครที่จะมามุ่งร้ายกับเรา เมื่อเราปฏิบัติกับเขาด้วยธรรมะ ด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ก็ทำให้สามารถจะเปลี่ยนเขาจากศัตรูเป็นมิตรได้ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เอาชนะความชั่วด้วยความดี เอาชนะคนตระหนี่ด้วยการให้ เอาชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ ชนะในที่นี้หมายถึงเปลี่ยนเขาจากศัตรูกลายเป็นมิตร เมื่อเป็นมิตรก็มีความกลมกลืนกันมาแทนที่ความปฏิปักษ์
ความกลมกลืนสอดคล้องประการที่สอง สำคัญมากเหมือนกัน คือความกลมกลืนระหว่างกายกับใจ คนเราส่วนใหญ่มีความไม่ค่อยกลมกลืนกันระหว่างกายกับใจ ใจจะเป็นตัวการทำร้ายร่างกาย เช่น เอาสิ่งที่ไม่ดีมาให้กับกาย บุหรี่ก็ตาม เหล้าก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นการทำลายร่างกายแท้ ๆ เลย ทุกวันนี้ผู้คนทำร้ายตัวเองโดยไม่รู้ตัวด้วยการเอาสิ่งเสพติด สิ่งที่เป็นโทษ สิ่งที่เป็นโทษไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งเสพติด เช่น เหล้า บุหรี่ หรือเฮโรอีน อาจจะเป็นอาหารที่ดูอร่อยแต่เจือไปด้วยสารเคมี เดี๋ยวนี้สารเคมีมันแทรกซึมไปในอาหารที่เขาปรุงแต่งเพื่อทำให้ดูน่ากิน ใจอยากจะเสพอาหารที่ดูอร่อย อาหารที่ดูสวย บางทีก็รู้ว่ามีสารเคมีแต่ก็ยังกินเข้าไป อันนี้เป็นการทำร้ายร่างกายโดยตรงเลย ซึ่งในที่สุดก็ทำให้ป่วยได้ ลองมาคิดดู ในแต่ละวันใจมันเป็นตัวการทำร้ายร่างกายอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะเมื่อใจมีกิเลสมีตัณหา ก็ทำร้ายร่างกายทีละนิด ๆ
ความหลงของใจไม่ใช่มีแต่เฉพาะเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด เดี๋ยวนี้มีความลุ่มหลงใหม่ ๆ เกิดขึ้น เช่น เกมส์ออนไลน์ จิตมันอยากจะเสพเกมส์เพราะว่ามันตื่นเต้น รู้สึกว่าตัวเองได้เป็นพระเอก เมื่อเสพติดเกมส์ออนไลน์แล้วก็ใช้ร่างกายในการเสพ จนกระทั่งร่างกายมันไม่ไหว บางคนเล่นโดยที่ไม่ได้พัก ไม่ได้นอนเลย ร่างกายก็อุทธรณ์ร้องบ่นว่าไม่ไหวแล้ว ไม่ไหวแล้ว แต่ว่าใจก็ยังไม่สน ก็ยังเล่นแบบไม่บันยะบันยัง จนบางทีหัวใจวายตายก็มี อย่างเช่นเมื่อหลายปีก่อนที่ประเทศเกาหลี มีหนุ่มเกาหลีเล่นเกมส์ออนไลน์จนกระทั่งไม่เป็นอันทำงาน ถูกไล่ออกจากงานแทนที่จะเสียใจกลับดีใจว่าจะได้เล่นเต็มที่ ก็เลยเล่นอย่างเมามันมาก เรียกว่า non-stop ไม่หยุดเลย ตั้งแต่เช้าจรดเย็นจนถึงค่ำ นั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์นี่แหละ กินก็ไม่ค่อยได้กิน นอนนี่ไม่ต้องพูดถึง ไม่นอนเลย ปรากฏว่าเล่นไปได้ ๓๖ ชั่วโมง ก็ช็อกตายคาเครื่องเลย อันนี้เรียกว่าจิตมันทำร้ายกาย ถามว่าร่างกายมันไม่บ่นไม่อุทธรณ์เหรอ มันก็บ่น มันก็ร้อง แต่ว่าไม่สนใจ จิตใจไม่สนใจเพราะว่าเพลินในความสนุก ถ้าเกิดว่ามีการปฏิบัติธรรม มีการเจริญไตรสิกขา โดยเฉพาะในเรื่องของอธิจิตตสิกขาหรือสมาธิ ก็จะมีสติรู้ สติจะมาทำให้รู้ รู้กาย ถ้าเรามีสติดีเราก็จะรู้ว่ากายมันไม่ไหวแล้ว กายมันบ่นแล้ว แต่ว่าถ้าเราลุ่มหลงจนลืมตัว กายมันร้องอุทธรณ์ยังไงก็ไม่รู้
จิตนี้ยังทำร้ายกายในหลายวิธีด้วยกัน เช่น จิตที่เก็บสะสมความโกรธเอาไว้ จิตที่ไม่รู้จักปล่อยไม่รู้จักวาง เก็บสะสมความโกรธความเครียดเอาไว้ ก็ทำให้ร่างกายป่วย ป่วยด้วยโรคหัวใจ ป่วยด้วยโรคสารพัด เคยมีผู้หญิงคนหนึ่งอายุ ๒๐ กว่ายังสาวอยู่เลย แต่ว่าเป็นโรคเรื้อรัง โรคเรื้อรังที่ว่านี้ก็คือ ปวดหัวเรื้อรัง ปวดท้องเรื้อรัง ความดันขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำ ไปหาหมอเท่าไรก็ไม่หาย เพราะหมอตรวจสุขภาพก็ไม่พบความผิดปกติของร่างกาย หมอก็แปลกใจว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร อุปาทานหรือเปล่า แต่มันก็ไม่ใช่ จนกระทั่งวันหนึ่งหมอก็ถามคนไข้ว่า ไหนคุณเล่าประวัติของคุณให้ฟังหน่อย คนไข้พอเล่าประวัติว่าตัวเองเป็นเด็กกำพร้า กำพร้าพ่อ กำพร้าแม่ อยู่ในความดูแลของพี่สาว แต่ว่ามีเรื่องขัดแย้งกับพี่สาว เมื่อถึงพี่สาวก็มีความน้อยเนื้อต่ำใจ แล้วก็มีอาการโกรธ อาการที่ออกมานี้ หมอก็เห็นเลย มันชัดเจน ก็เลยแนะนำคนไข้ว่าให้อภัยพี่สาว หมอไม่ได้ให้ยา แต่หมอบอกว่าให้อภัยพี่สาวสิ คนไข้ไม่พอใจว่าหมอทำไมแนะนำอย่างนี้ แทนที่จะให้ยา แทนที่จะแนะนำอะไรที่เป็นเหตุเป็นผลหน่อย สุดท้ายคนไข้ก็หายไปเลย ไม่กลับมาหาหมออีกเพราะว่าไม่เชื่อหมอ
หนึ่งปีผ่านไป คนไข้คนนี้ก็เขียนจดหมายมาบอกหมอว่าหายแล้ว อาการที่ว่าปวดหัว ปวดท้อง ความดัน เพราะว่าทำตามที่หมอแนะนำคือให้อภัย ที่เธอป่วยเพราะอะไร ป่วยเพราะว่าใจมันโกรธ เก็บสะสมความโกรธเอาไว้ หมอแนะนำว่าให้อภัยยังไม่ยอมเลย ใจที่โกรธก็ไปฉุดให้ร่างกายเจ็บป่วย แต่ถ้าหากว่าเจริญสติ เจริญสมาธิ หรือรู้จักแผ่เมตตา ก็ช่วยทำให้จิตใจผ่อนคลาย จิตใจปล่อยวาง ซึ่งก็ช่วยทำให้ร่างกายกลับมาคืนดีได้ ให้ลองสังเกตดูว่าบ่อยครั้งแค่ไหนที่ใจมันไปฉุดกายให้แย่ลง บางคนป่วยไม่มากเท่าไร แต่ว่าพอใจปรุงแต่งก็ทำให้ร่างกายทรุดลง
มีคุณป้าคนหนึ่งไม่สบายไม่รู้เป็นอะไร แกก็เข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาลอยู่นั่นแหละ แล้ววันหนึ่งหมอก็บอกว่า ป้าเป็นมะเร็งตับอยู่ได้ไม่เกิน ๓ เดือน แกตกใจมากเลย กังวลครุ่นคิดแต่เรื่องความตายที่จะมาถึง วิตกกังวลเรื่องครอบครัว มีทั้งความเครียด ทั้งความกลัว ทั้งความกังวล ปรากฏว่าอยู่ได้แค่ ๑๒ วันแกก็ตาย ถามว่าเป็นเพราะว่ามะเร็งลุกลามเร็วมากอย่างนั้นหรือ ก็ไม่ใช่ แต่ที่จริงเป็นเพราะใจ ใจที่ปรุงแต่ง ความกลัว ความวิตก ก็ฉุดให้ร่างกายนี้แย่ลงไป ดังนั้นถ้าเราไม่รู้ทัน ปล่อยให้ใจปรุงแต่งไปเรื่อย ๆ ใจนี้เองที่จะทำร้ายร่างกาย ไม่ใช่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน แต่การปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะอธิจิตตสิกขาหรือการฝึกจิต จะช่วยทำให้ใจกลับมาเกื้อกูลกาย ไม่ใช่ฉุด แต่ว่าจะช่วยเลย บางคนป่วยแต่ว่าพอทำสมาธิหรือปฏิบัติธรรม ร่างกายมันดีขึ้น เพราะว่าสมาธิช่วยทำให้การทำงานต่าง ๆ ของร่างกายดีขึ้น ภูมิคุ้มกันก็ดีขึ้น หรือบางทีก็ช่วยทำให้ความปวดกายทุเลาลง
คุณหมออมรา มลิลา เคยเล่าให้ฟังว่า เคยไปเยี่ยมคนไข้คนหนึ่งเป็นอาจารย์แพทย์ อายุ ๔๐ กว่า แต่เป็นมะเร็ง และลามไปถึงกระดูก ตอนที่ไปเยี่ยม คนไข้ปวดมาก ยาก็เอาไม่อยู่ นอนก็ไม่ได้ต้องนั่ง นั่งก็นั่งแบบตัวงอ ปากซีด เหงื่อออกเม็ดโต ๆ ปวดมาก คุณหมออยากจะช่วย เลยชวนทำสมาธิ คนไข้ไม่เคยทำ ก็เลยแนะนำง่าย ๆ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ เอาใจมาอยู่ที่ลมหายใจ บริกรรมพุทโธ ตอนแรกคุณหมออมราก็คิดว่าคนไข้คนนี้คงทำได้ไม่เกิน ๕ นาที เพราะว่าเป็นมือใหม่แล้วก็ปวดมาก แต่ ๕ นาทีก็แล้ว ๑๐ นาทีก็แล้ว ๒๐ นาทีก็แล้วก็ยังทำ ยิ่งทำหลังก็ยิ่งตรง ผ่อนคลาย ปรากฏว่าทำไปถึง ๕๐ นาที พอทำเสร็จแล้วก็รู้สึกสบายมาก เลือดลมดีขึ้น ปากก็เป็นสีชมพู ที่เคยซีดหายไปเลย เหงื่อเม็ดโต ๆ ก็หาย ร่างกายดีขึ้นเลย ความปวดทุเลาไปมาก แบบนี้เรียกว่าร่างกายถูกใจฉุดขึ้นมา การปฏิบัติธรรมช่วยได้ ถ้าไม่ปฏิบัติธรรม จิตจะฉุดกายทำให้แย่ลงหรือทำร้ายร่างกาย แต่ถ้าปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิ รักษาศีล ก็ช่วยทำให้จิตเป็นตัวดึงกายขึ้นมา ที่เคยทำร้ายร่างกายด้วยความโกรธก็ดี ด้วยอบายมุข ด้วยยาเสพติด เหล้า บุหรี่ หรืออาหารที่เป็นโทษ ก็จะหมดไป ทำให้เกิดความสมดุลความกลมกลืนระหว่างกายกับใจ โดยเฉพาะการเจริญสติทำหน้าที่นี้โดยตรง คือทำให้กายกับใจไปด้วยกัน กายอยู่ไหน ใจอยู่นั้น นี่คืองานของสติเลย
เมื่อเราเจริญสติ หลักการง่าย ๆ คือ ตัวอยู่ไหน ใจอยู่นั้น ไม่ใช่ตัวอยู่นี่ ใจไปอยู่โน้น แบบนี้มันแปลกแยกกัน กายกับใจกลายเป็นคนที่เหินห่างหมางเมินกัน แต่พอเจริญสติเข้า กายกับใจกลับมาสามัคคีกัน กายอยู่ไหน ใจอยู่นั้น มันก็เอื้อเฟื้อทั้งกายและใจ แล้วพอปฏิบัติไปต่อไปกายก็ช่วยใจด้วย เช่น เมื่อเครียด เมื่อง่วง เราก็อาศัยกายเป็นตัวช่วยผ่อนคลายจิตใจ เช่น เมื่อเครียด หัวใจจะเต้นเร็ว หรือว่าหายใจถี่ หายใจสั้น ในขณะปฏิบัติคนมักไม่ค่อยสังเกตว่าเมื่อเครียดแล้วลมหายใจถี่หรือสั้น ลองตั้งสติซักพักแล้วหายใจเข้าลึก ๆ หายใจยาว ๆ สัก ๔-๕ ครั้ง จนรู้สึกว่าใจผ่อนคลาย หรือเดินออกไปข้างนอกชมนกชมไม้ มองฟ้า เมื่อรู้สึกว่าใจผ่อนคลายแล้ว กายก็ผ่อนคลายไปด้วย ที่เคยเครียดก็ผ่อนคลาย ที่เคยง่วงก็สว่างไสวขึ้นมา เรียกว่าอาศัยใจช่วยกาย อาศัยกายช่วยใจ มันช่วยกันได้ ๒ ทาง ใจช่วยกาย กายช่วยใจ เพราะว่าเรารู้จักปฏิบัติ
ความกลมกลืนอย่างที่สาม ซึ่งก็ละเอียดเข้าไปอีก ก็คือ กลมกลืนสอดคล้องกันระหว่างเหตุผลกับอารมณ์ ระหว่างความคิดกับความรู้สึก ระหว่างสมองกับหัวใจ อธิบายง่าย ๆ ว่า บางครั้งคนเราก็รู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี แต่ทำไม่ได้ ที่ทำไม่ได้เพราะว่าใจไม่คล้อยตาม อย่างเช่นคนที่ติดเหล้า ติดบุหรี่ เขาก็รู้ว่าเหล้าบุหรี่มันไม่ดี เขารู้ เขามีข้อมูล ความคิดบอกว่าไม่อยากจะเสพของพวกนี้ มันมีความคิดความตั้งใจอยู่ แต่ว่าเลิกไม่ได้ เพราะใจมันไม่ยอม ใจมันโหยหา ใจมันหวนระลึกถึงแล้วก็โหยหา หลายคนก็รู้ว่าความโกรธไม่ดี แต่ว่าเมื่อมีอะไรมากระทบ เมื่อมีคนมาพูดไม่ถูกหู ก็โกรธ นักปฏิบัติธรรมมีความทุกข์มากเพราะเรื่องนี้ เพราะว่าจิตใจมันไม่คล้อยตามความคิดของเรา เราอยากจะให้อภัย แต่ว่าใจมันไม่ยอม
เมื่อวันก่อนก็มีคนมาปรึกษาเรื่องที่สามีมีเมียน้อย เขาก็รู้ว่าคิดเรื่องพวกนี้แล้วมันทุกข์ แต่เขาบอกว่ามันตัดใจไม่ได้ อยากจะวางแต่วางไม่ได้ ความคิดหรือความรู้จากการฟังธรรมบอกว่าต้องวาง แต่ว่าใจมันวางไม่ได้ อันนี้มันมีช่องว่างระหว่างความคิดกับความรู้สึก หรือระหว่างสมองกับหัวใจ หรือระหว่างเหตุผลกับอารมณ์ เหมือนกับคำว่า ดีชั่วรู้หมด แต่อดใจไม่ได้ พวกเราก็มีปัญหาแบบนี้กันทั้งนั้น บางคนก็รู้ว่าการกินอาหารแบบนั้นแบบนี้ไม่ได้ เพราะว่ามีไขมันมาก เพราะว่าไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ รู้หมด แต่ก็ห้ามใจไม่ได้ จิตใจอ่อนแอ ซึ่งการปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะจิตตภาวนาจะช่วยทำให้เกิดความกลมกลืนกัน เช่น เมื่อเราฝึกสติมาก ๆ จิตก็จะอ่อนโยน จิตก็สามารถปล่อยวางความคิดที่ทิ่มแทงจิตใจ ทำให้จิตมีกำลัง
เมื่อตั้งใจจะเลิกเหล้าเลิกอบายมุข แต่ก่อนทำไม่ได้เพราะจิตใจอ่อนแอ แต่ว่าเมื่อมาภาวนาแล้วจิตใจจะเข้มแข็ง มีขันติ มีสมาธิ แล้วก็มีสติ ไม่อ่อนไหวหรือไม่ลุ่มหลงต่อสิ่งยั่วยุภายนอกง่าย ๆ อะไรที่รู้ว่าถูกก็สามารถที่จะน้อมใจให้ทำสิ่งนั้นได้ อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากตั้งแต่ระดับเด็กเล็ก ๆ จนถึงผู้ใหญ่ อย่างที่เคยเล่าให้ฟังว่า เคยมีการทดลองเอาเด็กประมาณ ๓-๔ ขวบ เข้าไปในห้อง ซึ่งมีถาดใส่ขนมอร่อย ๆ ทั้งนั้น ผู้ใหญ่ก็บอกเด็กว่าถ้ากินตอนนี้กินได้ ๑ เม็ด แต่ถ้ารอ ๑๕ นาทีจะได้กิน ๒ เม็ด เด็กทุกคนรู้ว่า ๒ เม็ดดีกว่า ๑ เม็ด แต่ว่าเด็ก ๖๐-๗๐% เลือกที่จะกิน ๑ เม็ด ที่เลือกกิน ๑ เม็ดเพราะว่าห้ามใจไม่ได้ รู้ว่า ๒ เม็ดดีกว่า ๑ เม็ด แต่ว่าใจมันห้ามไม่ได้ อันนี้เพราะว่าจิตใจไม่เข้มแข็ง ผู้ใหญ่ก็มีปัญหาอีกแบบหนึ่ง อาจจะรู้ว่าการมีกิ๊ก การมีเมียน้อย หรือการทำตัวนอกใจคู่ครองไม่ดี ขืนทำไปวุ่นวายแน่ แต่ก็ห้ามใจไม่ได้ จิตใจอ่อนแอ เพราะว่าประมาทบ้าง ลุ่มหลงบ้าง หรือว่าลืมตัวบ้าง แต่ถ้าเจริญภาวนาบำเพ็ญเพียรทางจิต มีการฝึกจิตบ่อย ๆ จิตก็จะเข้มแข็ง จิตก็จะมีสติรู้ตัวได้ไว สามารถรู้ทันกิเลสที่มันเกิดขึ้น หรือว่าสามารถกดข่มมันได้ จะใช้สติ จะใช้ความรู้สึกตัว หรือจะใช้สมาธิก็แล้วแต่ หรือแม้กระทั่งใช้ภาวนาแบบอื่น เช่น เจริญอสุภะกรรมฐาน จนกระทั่งตัวตัณหาราคะมันฝ่อไป อันนี้ก็ช่วยได้ทั้งนั้น บทสวด พิจารณาอาการ ๓๒ ก็เป็นวิธีการอย่างหนึ่ง เป็นอุบายอย่างหนึ่ง ในการที่ทำให้จิตใจมันคลาย จากกาม ก็ทำให้ใจอ่อนโยนและเชื่อฟังเหตุผล เชื่อฟังความคิดที่ถูกต้อง หรือว่าทำตามความเห็นถูก สัมมาทิฏฐิ เหตุผลในที่นี้หรือสมองในที่นี้ก็รวมถึงสัมมาทิฏฐิด้วย
ที่พูดมานี้ เพื่อให้เห็นว่า ใจที่ยอมคล้อยตามเหตุผลหรือความคิดที่ดี บางครั้งใจก็สามารถเป็นตัวเสริมให้มีความคิดที่ถูกต้องก็ได้ บางทีความคิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่การพัฒนาจิตใจหรือพัฒนาอารมณ์ก็ทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิได้ อย่างเช่นคนจำนวนไม่น้อยก็เชื่อว่าจะสุขได้ก็ต้องมีการเสพ ยิ่งเสพมากเท่าไรก็ยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น แต่พอได้มาอยู่ในที่ ๆ สงบ ที่ ๆ อยู่กันแบบเรียบง่าย ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมาก ไม่มีสิ่งเสพมาปรนเปรอมาก แต่ว่าใจมันสงบ หลายคนอยู่ในเมืองสบายดีอยู่แล้ว ไม่อยากมาที่นี่ แต่พอได้มาแล้ว ใจก็ค่อย ๆ สงบลง ใจที่สงบทั้ง ๆ ที่ก็ไม่ได้มีสิ่งเสพอะไรมาก หนังก็ไม่ได้ดู เพลงก็ไม่ได้ฟัง ไม่มีแสงสีเท่าไร แต่รู้สึกได้ถึงความสงบ ก็ทำให้เกิดความเห็นที่เปลี่ยนไป ที่เคยคิดว่าต้องเสพมาก ๆ ถึงจะสุข มันไม่ใช่แล้ว หรือบางคนคิดว่านั่งกินนอนกินสบายกว่า มีความสุข ถ้าทำอะไรแล้วมันเหนื่อย มีความคิดแบบนี้ แต่พอได้มาลงมือทำอะไรร่วมกัน เช่นได้มาปลูกป่าร่วมกัน หรือเด็กนักเรียนวัยรุ่นหลายคนมาเดินธรรมยาตรา ลำบากทั้งนั้น ไม่มีสบายเลย แต่ว่าทำไป ๆ แล้วเขามีความสุข มันเป็นความสุขใจถึงแม้ว่ากายจะลำบาก ความรู้สึกแบบนี้ก็ไปเปลี่ยนทิฏฐิความเห็นในสมองว่า ไม่ใช่ว่าเสพแล้วถึงจะมีความสุข ไม่ใช่ว่าสบายแล้วถึงจะมีความสุข
ความสุขกับความสบายมันคนละเรื่องกันเลย ถึงแม้จะไม่สบายแต่ก็มีความสุขได้ ถึงแม้จะไม่มีสิ่งเสพมากก็มีความสุขได้ ตรงนี้เรียกว่าความรู้สึกก็ไปเปลี่ยนความคิด ความรู้สึกที่เป็นกุศลก็ไปเปลี่ยนความคิดให้มีความเห็นที่ถูกต้องมากขึ้น ไม่ใช่ว่าเหตุผลหรือความคิดดั้งเดิมจะดีเสมอไป บางทีก็ไม่ดี แต่ว่าอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะว่าได้ทำความดีได้ฝึกจิตฝึกใจ เกิดอารมณ์ที่เป็นกุศล พูดง่าย ๆ คือเกิดความสุข ก็ทำให้ความคิดความเห็นเปลี่ยนแปลง จากมิจฉาทิฏฐิก็เป็นสัมมาทิฏฐิได้
จะเห็นได้ว่าเรื่องการปฏิบัติมีความสำคัญมาก ในการที่จะทำให้ใจของเราในส่วนเป็นเหตุผลกับส่วนที่เป็นอารมณ์กลมกลืนกัน แล้วก็เป็นการกลมกลืนกันในทางที่ดี ช่วยกัน ไม่ใช่กลมกลืนกันในทางที่ชั่ว อันนั้นเป็นไปได้แน่นอน ถ้าเกิดว่าไม่ได้ฝึก ไม่ได้ปฏิบัติธรรม สัมมาทิฏฐิไม่มี มีแต่มิจฉาทิฏฐิ แล้วก็อารมณ์ที่ใฝ่เสพใฝ่บริโภค มักโกรธ เต็มไปด้วยตัณหาราคะ อันนี้จะพาชีวิตไปในทางที่ตกต่ำ แล้วก็สร้างความขัดแย้งกับผู้คน เกิดเรื่องเกิดราวกันมากมาย ถ้าเรามองดูในดี ไตรสิกขาหรือการปฏิบัติธรรมทำให้เกิดความกลมกลืนกันในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับภายนอกระหว่างเรากับสังคม ชุมชน หรือครอบครัว รวมทั้งสิ่งแวดล้อม เกิดความกลมกลืนภายในระหว่างกายกับใจ และในส่วนใจก็มีความกลมกลืนกันระหว่างเหตุผลกับอารมณ์ ระหว่างความคิดกับความรู้สึก เพราะฉะนั้นมันทำให้เกิดความเจริญงอกงามตั้งแต่จากภายนอกสู่ภายใน และความเจริญงอกงามภายในก็นำไปสู่ความเจริญงอกงาม ความราบรื่นความสงบสุข และสันติภาพภายนอกด้วย