แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หลายคนในที่นี้คงเคยได้ยินชื่อคุณสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา คุณสุเมธเคยเล่าถึงชีวิตของตัวเองว่า ครั้งหนึ่งเคยจนมากแต่ก็เป็นช่วงที่มีความสุขที่สุด ช่วงที่จนนี้กินข้าววันละมื้อ มีเสื้อผ้าแค่ ๒-๓ ชิ้น ทุกเช้าต้องตื่นไปหากิน เดินไกลๆ ๒-๓ กิโลเมตร ที่พักก็แคบแค่ ๒ x ๒ เมตร จนมากแต่ว่าก็เป็นช่วงที่มีความสุขที่สุด ร่างกายก็ดี จิตใจก็ดี คนฟังก็แปลกใจ คุณสุเมธบอกว่าไม่ต้องสงสัย ที่พูดนี้หมายถึงตอนบวช หลายคนคงประสบความรู้สึกคล้ายๆ กันก็คือว่า ช่วงที่บวชหรือช่วงที่มาปฏิบัติธรรมนี้ ถึงแม้ว่าจะมีความสะดวกสบายไม่มากนัก เรื่องการกินการอยู่บางครั้งก็อาจจะอัตคัด แต่อะไรที่ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อย สามารถที่จะอยู่แบบนั้นได้ สามารถที่จะบำเพ็ญชีวิตพรหมจรรย์ได้ สิ่งที่ทำให้ชีวิตเหล่านั้นอยู่ได้ และก็อยู่ได้ดีก็เพราะมีความสุขเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง
ชีวิตนักบวชหรือชีวิตนักปฏิบัติธรรมต่างจากชีวิตฆราวาส ชีวิตของฆราวาสทั่วไปเราเรียกว่ากามโภคี กามโภคีก็คือผู้บริโภคกาม แต่ว่านักปฏิบัติธรรมหรือนักบวชเป็นผู้ที่ไม่มีกามหรือไม่มีสิ่งวัตถุสิ่งเสพที่น่าพอใจมาปรนเปรอ แต่สิ่งที่ทำให้อยู่ได้นานก็คือความสุข ความสุขนี้เป็นตัวหล่อเลี้ยง แต่เป็นความสุขที่เป็นคนละแบบกับความสุขที่หล่อเลี้ยงชีวิตฆราวาส หรือว่าขับเคลื่อนชีวิตของฆราวาสให้เดินไปข้างหน้า ความสุขของฆราวาสนี้ก็อาศัยกามสุข แต่ว่าความสุขของนักบวชหรือว่านักปฏิบัติธรรมเป็นความสุขจากชีวิตที่เรียบง่าย มันไม่ได้ปรนเปรอกายและใจเท่าไหร่ อาหารก็มีไม่มากและก็เลือกไม่ได้ ที่อยู่ก็ไม่ได้สะดวกอะไร เล็กๆ แสงสีก็ไม่มีมาปรนเปรอ ตา หู จมูก ลิ้น
แต่ว่าความสุขใจที่เกิดจากชีวิตที่เรียบง่าย รวมทั้งที่เกิดจากการภาวนา มันช่วยทำให้สามารถจะอยู่ได้อย่างมีความสุข ทั้งๆ ที่ในสายตาของคนทั่วไปเขาถือว่าจน ความสุขอย่างนี้นี่ก็เป็นความสุขใจ ซึ่งเกิดจากเหตุปัจจัยหลายอย่าง ชีวิตที่เรียบง่าย ไม่มีความวุ่นวายยุ่งเหยิง ไม่เร่งรีบ ทำให้ผ่อนคลาย ไม่ต้องไปแข่งขันกับใคร ไม่เครียด รวมทั้งความสงบสงัดจากธรรมชาติแวดล้อม และที่สำคัญคือจากการภาวนา ทำให้จิตใจมีสมาธิ มีสติ มีความรู้สึกตัว เกิดความรู้สึกโปร่งเบา ความสุขที่เกิดจากสิ่งเสพหรือว่ากามสุข มันเป็นความสุขที่สัมผัสได้ง่าย แต่ว่ามันก็จืดจางได้เร็ว และก็มันมีราคาค่างวด เช่นต้องไปซื้อมา ต้องมีเงิน ถ้าไม่มีเงินก็ไม่รู้จะไปหาความสุขชนิดนี้จากไหน และบางทีก็เป็นโทษ นอกจากเหนื่อยจากการทำมาหาเงินแล้วก็ต้องไปแข่งขันกับคนอื่น เกิดศัตรู เกิดความขัดแย้ง หรือบางทีก็เป็นโทษต่อร่างกายและจิตใจ เช่นพวกสิ่งเสพ ยาเสพติดพวกนี้เป็นต้น
ความสุขจากชีวิตที่เรียบง่าย กับความสงบสงัด มีชื่อเรียกอีกอย่างคือ เนกขัมมะสุข สุขจากเนกขัมมะ เนกขัมมะคือการออกจากกาม การปลอดจากสิ่งล่อ เร้า เย้ายวนในทางกาม หรือว่าความไม่ติดใจในทางกาม บางทีเขาก็แปลว่า การออกบวช แต่ว่าไม่จำเป็น ก็เพียงแค่พาตัวออกมาจากสิ่ง ล่อ เร้า เย้ายวนในทางกามและมามีชีวิตที่เรียบง่าย ก็ได้พบกับความสงบ ความสงบทางใจ คนเรานี้ไม่ได้ต้องการแค่อาหารและก็ปัจจัย ๔ เท่านั้น จิตใจเราก็ต้องการความสุขด้วย ถ้าหากว่าปราศจากความสุขเมื่อไหร่ก็จะเกิดความกระสับกระส่ายขึ้นมา แต่ความสุขที่คนส่วนใหญ่รู้จัก คือกามสุข คือสุขจากรูป รส กลิ่น เสียง ที่น่าพอใจ ปรนเปรอทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ว่าไม่รู้จักความสุขที่ประณีต ประเสริฐ และก็ละเอียดกว่านั้น ทำให้จมอยู่ในกามสุข ต่อเมื่อได้สัมผัสกับเนกขัมมะสุขแล้วถึงจะรู้ว่ามีความสุขที่ดีกว่านั้น
แต่ว่าถ้ายังไม่รู้จักเนกขัมมะสุข แม้ว่าจะรู้ว่ากามสุขมันมีโทษอย่างไร ก็ไม่สามารถจะออกจากมันได้ ไม่สามารถที่จะหลีกห่างออกจากมันได้ ถึงแม้จะพยายามแค่ไหน เช่น พยายามที่จะไม่เสพ ไม่กิน แต่ว่าไม่สามารถจะสัมผัสความสุขที่ประณีตกว่านั้นได้ ในที่สุดก็จะหวนกลับมาอีก อันนี้พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้เลยว่า เมื่อเรายังเป็นพระโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้ แม้จะเห็นว่า กามนี้มันมีโทษมาก คับข้องมาก แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้สัมผัสกับความสุขที่ประณีต ความสุขที่ปลอดจากอกุศลธรรม ตราบนั้นก็ยังไม่อาจปฏิญญาว่าจะไม่หวนกลับมาหากามอีก ต่อเมื่อได้สัมผัสกับความสุขที่ปราศจากกาม ความสุขที่ปลอดจากอกุศลธรรม ความสุขที่ประเสริฐ ประณีต ตราบนั้นถึงจะมั่นใจได้ว่าจะไม่เวียนกลับมาหากาม คือสามารถจะละทิ้งได้
พวกเราก็คงจำได้ เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าตรัสเทศสอนอนุปุพพิกถา จะพูดถึงเรื่องทาน อานิสงส์ของทาน ศีลซึ่งมีสวรรค์เป็นอานิสงส์ สวรรค์ในที่นี้อาจหมายถึงสวรรค์บนฟ้า สวรรค์ในใจ หรือสวรรค์ในชีวิตนี้ก็ได้ หมายถึงความสุขทางวัตถุ มีความพรั่งพร้อมบริบูรณ์ เสร็จแล้วพระองค์ก็จะตรัสถึงเรื่องโทษของกาม ก็คือโทษของสวรรค์นั่นแหล่ะ ว่ามีข้อจำกัดอะไรบ้าง แต่ว่าถ้าตรัสเท่านี้ก็คงไม่พอ เพราะว่าแม้ว่าคนเราจะเห็นโทษของกาม แต่ว่าก็ไม่สามารถจะหลุดออกจากกามได้ พระองค์ถึงตรัสข้อที่ ๕ คือ เนกขัมมะ อานิสงส์ของเนกขัมมะ นั่นแหละคือทางที่จะออกจากกาม เนกขัมมะหมายถึงความสุขที่ปลอดจากกาม ความสุขที่ไม่มีกามเป็นเครื่องกระตุ้น คือต้องมีทางออก ต้องมีสิ่งที่มาทดแทน เนกขัมมะคือสิ่งที่จะมาทดแทนกามได้ ถ้าไม่มีสิ่งนี้มาทดแทนก็ยังต้องเวียนกลับไปหากามอีก กลับไปหาความสุขจากวัตถุ กลับไปหาความมั่งคั่งร่ำรวย ชื่อเสียง ดิ้นรนแสวงหาสิ่งนั้นต่อไป
พระพุทธองค์เคยเปรียบเทียบ เหมือนกับกวางตัวหนึ่งมันอยู่ในป่า อยู่ในทุ่งหญ้าที่เขียวขจี หลงใหลในทุ่งหญ้านั้น มันกินหญ้าด้วยความเพลิดเพลิน ก็เลยโดนพรานลอบยิง กลายเป็นอาหาร ต่อมากวางตัวอื่นๆ รู้ว่าทุ่งหญ้านี้อันตราย เลยหลบเข้าไปในป่า แต่ว่าในที่สุดก็ทนต่อความหิวโหยไม่ได้ จึงต้องกลับออกมากินหญ้า แล้วก็โดนพรานลอบยิงตายอีก มีกวางหลายตัวพยายามที่จะไม่กลับไปหาทุ่งหญ้า แต่อยู่ในป่าได้ไม่นานก็ต้องกลับมา กลับออกมา แล้วก็โดนยิงตาย อันนี้พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนกับ คนที่เห็นโทษของกาม ทุ่งหญ้านี้ก็เปรียบเหมือนกับกาม เห็นโทษของกามก็รู้ว่ามันอันตราย มันมีพรานก็คือตัวความทุกข์หรือว่าตัวมารนี้คอยเล่นงาน ก็เลยพยายามที่จะหลบเข้าไปในป่า ป่านี้ก็หมายถึงการบวช ชีวิตที่ปราศจากกาม แต่ถ้าเกิดว่ายังไม่สามารถที่จะพบกับความสุขที่ดีกว่าทุ่งหญ้านั้น ในที่สุดก็ต้องเวียนกลับไปหาหญ้า กลับไปหาทุ่งหญ้า ก็โดนพรานเล่นงานถึงชีวิต คราวนี้มีกวางตัวหนึ่งไม่เพียงแต่หลบไปในป่า แต่ยังสามารถจะดั้นด้นจนกระทั่งไปเจอที่ที่มีอาหารบริบูรณ์ ที่ที่นายพรานนั้นเข้าไปไม่ถึง นั่นแหละคือคำตอบที่ทำให้กวางตัวนั้นไม่ออกไปที่ทุ่งหญ้าอีก เรียกว่าพ้นจากอันตราย อันนี้ท่านก็เปรียบว่านักบวชที่เมื่อตั้งใจที่จะใช้ชีวิตพรหมจรรย์ อยู่ไกลจากกาม แต่ว่าไม่ใช่ทำแค่นั้นแต่ยังสามารถจะบำเพ็ญเพียรจนกระทั่งค้นพบความสุขที่ประณีต เมื่อค้นพบความสุขที่ประณีต ก็ไม่มีความจำเป็นต้องกลับออกไปหากามอีก
การดำเนินชีวิตพรหมจรรย์เป็นสิ่งที่ประเสริฐ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และก็เป็นการมุ่งที่จะทำประโยชน์ตน แต่ว่าจะอยู่ได้ต้องมีความสุขเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง พุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธความสุข พระพุทธเจ้าเพียงแต่ชี้ให้เห็นว่า กามสุขนี้มีโทษอย่างไร มันมีสิ่งที่คับข้อง มันมีโทษมาก มันให้ความสุขมากก็จริง แต่เป็นความสุขที่เจือไปด้วยโทษ เหมือนกับไต้ที่ทำด้วยหญ้าแห้งแม้ว่าจุดไฟให้แสงสว่างก็จริง แต่ว่าแสงสว่างนั้นก็มัวๆ ไม่ใส และแถมมีควันอีก และควันนี้ก็ทำความระคายเคือง อันนี้เรียกว่า มีประโยขน์ก็จริงแต่โทษมาก นี่คือลักษณะของกามสุข ซึ่งยิ่งไปเสพความมัวเมา ความหลงตัวลืมต้นแล้ว ก็อาจจะได้รับโทษ เปรียบเหมือนกับโดนนายพรานยิงถึงตาย คือเราก็เห็นแล้วว่า คนที่ปล่อยให้กามสุขเป็นนาย เช่น เอาเงินเป็นสรณะ เอาเงินเป็นใหญ่ มักประสบความวิบัติ ความหายนะมามากแล้ว
พุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธความสุข แต่เห็นว่ากามสุขที่ผู้คนหลงใหลนี้มันมีโทษมาก ต้องเข้าไปหา ไปรู้จัก สัมผัสความสุขที่ประเสริฐที่ประณีตกว่า ชีวิตพรหมจรรย์ ชีวิตนักบวช ถ้าหากว่าไม่มีความสุขเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ความสุขทางใจหรือความสุขที่เรียกว่าเนกขัมมะสุขแล้ว ในที่สุดก็จะบวชได้ไม่นาน ถึงอยู่ก็อยู่ด้วยความทุกข์ เรียกว่ากัดฟันอยู่ อาจเป็นเพราะว่าไปไหนไม่ได้ ต้องกัดฟันอยู่ และสุดท้ายก็อาจจะหักห้ามใจไม่ได้ ต้องไปทำสิ่งที่ผิดทั้งๆ อยู่ในเพศผ้าเหลือง คือแทนที่จะสึกออกไปเสพกามอย่างคนทั่วไปเนื่องจากทนไม่ได้ ก็จำทนอยู่ แต่ว่าเนื่องจากจิตใจโหยหาความสุข และก็ไม่รู้จักสุขที่ประณีตก็ต้องหวนกลับไปหาความสุขที่หยาบ ทั้ง ๆ ที่ยังครองผ้าเหลืองอยู่ อันนี้มันก็อาจจะเป็นอันตราย ยิ่งถ้าไปเสพเมถุนธรรมด้วยแล้ว มันยิ่งเป็นโทษหนัก อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า หญ้าคาถ้าจับไว้ไม่ดี มันก็บาดมือ ชีวิตพรหมจรรย์ ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้อง มันก็ฉุดไปนรกได้ ฉุดไปนรกคือมันทำให้เกิดความทุกข์มาก เพราะว่ากามสุขก็ไม่ได้เสพ ส่วนสุขที่ประณีตก็ไม่รู้จัก บางทีพระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนกับดุ้นฟืนที่สองข้างมันถูกไฟเผาเป็นถ่านแล้ว ส่วนตรงนี้นี้เป็นคูถ มันเปื้อนคูถ คือใช้ไม่ได้เลย ใช้ไม่ได้สักอย่าง
เพราะฉะนั้นในเมื่อพวกเรานักบวช เราหันหลังให้กับกามสุขแม้จะไม่ทั้งหมด ยังได้มีอาหารที่อร่อยกิน ยังมีธรรมชาติที่เพลินตาเพลินใจให้เราได้ชื่นชม พวกนี้ก็เรียกว่ากาม แต่ว่าเป็นกามแบบน้อย ๆ แต่แม้กระนั้นก็ตาม การที่เราจะอยู่หรือใช้เพศพรหมจรรย์อย่างมีคุณค่าได้ รวมทั้งมีความเพียรในการปฏิบัติ มันต้องมีความสุขทางใจ หรือเนกขัมมะสุขเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ซึ่งรวมถึงสุขจากสมาธิภาวนา สุขจากการบำเพ็ญทางจิตด้วย ถ้าไม่มีตัวนี้ก็จะทำให้การอยู่ของพวกเรามันเต็มไปด้วยความทุกข์ มันเต็มไปด้วยความรุ่มร้อนเพราะใจโหยหากามสุข
ความสุขทางใจนี้มันไม่ใช่ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตพรหมจรรย์เท่านั้น คนที่ต้องการทำความดี เช่นต้องการจะเป็นคนที่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่คดโกง ก็ต้องมีความสุขแบบนี้เป็นตัวหล่อเลี้ยงด้วย เพราะไม่เช่นนั้นก็จะอยู่ด้วยความทุกข์ทรมาน เสร็จแล้วก็ไปถูกกิเลส ล่อ เร้า เย้ายวนให้ต้องไปคดโกง มีคนจำนวนมากที่อยากจะเป็นคนดี อยากเป็นข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริต แต่สุดท้ายก็ต้องยอมทุจริตเพราะว่าเห็นคนอื่นเขารวยกัน เห็นคนอื่นเขารวยเอา ๆ แต่เราจน เกิดความอิจฉาเขาหรืออยากจะเป็นอย่างเขา ที่อยากจะรวยอย่างเขาเพราะอะไร เพราะยังหลงใหลในกามสุข หลงใหลในความสุขจากวัตถุ ทำไมถึงหลงใหล ก็เพราะตัวเองไม่สามารถจะเข้าถึงความสุขที่ประณีต ความสุขที่เรียบง่ายได้ คนที่เข้าถึงความสุขที่เรียบง่าย ความสุขที่ประณีต หรือเนกขัมมะสุขก็จะไม่รู้สึกอิจฉาข้าราชการที่ร่ำรวยเพราะการทุจริตเลย เขากลับจะสงสารด้วยซ้ำว่าพวกนี้กำลังพาชีวิตสู่ความตกต่ำ ไหนจะทำชั่ว ทำบาป ไหนจะไปหลงใหลเพลิดเพลินกับสิ่งที่ไม่น่าเพลิดเพลิน คนที่จะซื่อสัตย์สุจริตได้ หรือดำรงตนอยู่ในความดีได้อย่างยั่งยืน ก็ต้องมีความสุขทางใจเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ไม่เช่นนั้นเขาจะอยู่ไม่ได้นาน หรืออยู่ด้วยความทุกข์ทรมาน อันนี้เป็นหลักประกันที่จะทำให้คนเรามีความซื่อสัตย์สุจริตได้ดีที่สุด เพราะว่าสามารถจะมีความสุขอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนทำชั่ว เพื่อที่จะมีเงินทองมากมายให้เป็นภาระ
คนอย่างอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเป็นข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริตมาก ทั้ง ๆ ที่มีสติปัญญาเหนือคนทั่วไป มีความสำเร็จมากมาย แต่ว่าก็จะสามารถอยู่แบบสมถะได้ ก็เพราะว่าสามารถจะเข้าถึงความสุขที่ไม่อิงวัตถุ อาจจะเป็นความสุขจากการชื่นชมธรรมชาติ ความสุขจากศิลปะดนตรี ซึ่งอาจารย์ป๋วยก็มีความสามารถในเรื่องนี้อยู่ เป่าขลุ่ยเป็นต้น รวมทั้งความสุขจากชีวิตที่เรียบง่าย มันจะเป็นเสาหลักที่พิง ให้คนเราสามารถจะดำรงตนมั่นคงอยู่ในความดี หรือว่าถ้าทำยิ่งกว่านั้นก็คือออกจากเพศฆราวาสมาเป็นนักบวช หรือเป็นนักปฏิบัติธรรม ก็ยิ่งต้องอาศัยความสุขทางใจ ความสุขจากชีวิตที่เรียบง่าย ความสุขจากสมาธิภาวนานี้เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง เมื่อเรามีความสุขแบบนี้แล้ว เราก็จะไม่รู้สึกอิจฉาใครต่อใครที่เขาเพลิดเพลินกับชีวิตทางโลกเลย
สมัยตอนที่บวชใหม่ๆ ๒-๓ เดือนแรกก็มี เป็นช่วงที่บวชพระภาคฤดูร้อน มี.ค. เม.ย. ก็มีหลายคนมาบวชที่วัดสนามใน ประมาณสัก ๒-๓ อาทิตย์ เสร็จแล้วพอถึงวันสึก เขาก็ลาสิกขากันไป เห็นเขาลาสิกขาก็รู้สึกอิจฉาเขา ทำไมถึงอิจฉาเขา ก็เพราะว่าเรายังไม่พบความสุขจากการบวช รู้ว่าเขาสึกไปแล้วก็จะไปเที่ยว ไปเล่น ไปดูหนัง เราก็อยากจะสัมผัสกับความสุขแบบนั้นบ้าง จิตใจก็หวั่นไหวเวลาเห็นคนสึก แต่พอบวชไปสักระยะหนึ่ง เห็นคนสึกก็เฉยๆ เพราะว่าไม่ได้อิจฉาเขาแล้ว บางทีสงสารเขาด้วยซ้ำว่าเขามีเวลาบวชได้ไม่นาน สงสารเขาที่ชีวิตต้องไปเจอกับชีวิตที่ร้อนแรง แม้ว่าจะมีความสนุก แต่ว่าก็เต็มไปด้วยความทุกข์
บางทีสิ่งหนึ่งที่จะวัดได้ว่าเรามีความสุขกับชีวิตของนักบวชหรือไม่ ก็ดูจากการที่เมื่อเห็นคนอื่นเขาสึกไป เราก็เฉยๆ เห็นใจเขาด้วย หรือถ้าเป็นนักปฏิบัติธรรม สิ่งที่จะชี้ว่าเรามีความสุขกับชีวิตนักปฏิบัติธรรมหรือไม่ ก็คือตอนที่เห็นคนอื่นเขากลับบ้าน เขามาปฏิบัติได้ ๓ วัน ๖ วัน ๗ วัน ๑ เดือนแล้วเขาก็กลับบ้าน เราเห็นเขากลับไปเรา ก็เฉยๆ ไม่ได้อิจฉาเขา ไม่ได้หวั่นไหวเลย ไม่ได้รู้สึกอยากจะกลับอย่างเขา หรือไม่ก็รู้สึกว่าเขาโชคดีว่าเขากลับกันแล้วแต่ฉันยังต้องทนอยู่อีกนาน ถ้าเรายังมีความรู้สึกแบบนี้แสดงว่า เรายังไม่ได้สัมผัสกับความสุข จากการปฏิบัติ ยังไม่ได้สัมผัสกับเนกขัมมะสุข ซึ่งก็ไม่เป็นไร ก็ขอให้ทำความเพียรต่อไป เนกขัมมะสุขมันก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่สัมผัสได้ง่ายหรือว่าสัมผัสได้ทันที มันต้องอาศัยการทำความเพียรควบคู่ไปกับการปรับตัวปรับใจด้วย บางทีเราก็รู้ว่าเนกขัมมะ ดี มีประโยชน์ แต่ว่าถ้าใจยังไม่ได้สัมผัสกับเนกขัมมะสุข มันก็ยังหวั่นไหว จิตใจไม่มั่นคง พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้อีกตอนหนึ่งว่า เมื่อเรายังเป็นพระโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้ แม้จะมีปัญญาเห็นว่า เนกขัมมะสุขนี้เป็นสิ่งดี ประเสริฐกว่ากามสุข แต่ว่าใจยังไม่เลื่อมใส ใจยังไม่น้อมตาม ใจยังไม่ตั้งมั่นในเนกขัมมะ ทั้ง ๆ ที่เห็นโทษของกามแล้ว ทั้ง ๆ ที่เห็นว่าเนกขัมมะนี้เป็นของดี ต่อเมื่อจิตใจได้สัมผัสกับอานิสงส์ของเนกขัมมะ เมื่อนั้นแหละใจจึงเลื่อมใส ใจจึงน้อมตาม ใจจึงตั้งมั่น อันนี้ก็เรียกว่าสมองกับหัวใจนี้ไปด้วยกันแล้ว กลมกลืนกันแล้ว
ทีแรกก็รู้ว่าเนกขัมมะนี้ดี แต่ใจยังไม่ไป อย่างที่พูดเมื่อวาน อันนี้เป็นปัญหาของคนทั่วไปเลย สมองกับหัวใจมันไปคนละทาง ความคิดกับความรู้สึกมันไม่ได้กลมกลืนกัน สมองบอกว่าเนกขัมมะดีแต่ใจมันไม่เอา ใจมันจะเอากาม ต่อเมื่อได้บำเพ็ญเพียร ได้ปฏิบัติ กล่อมเกลาจิตใจด้วยอธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา หรือว่าการบำเพ็ญทางจิต ทางปัญญา จนกระทั่งได้สัมผัสกับความสุข ความสงบ จากชีวิตที่เรียบง่าย จากเนกขัมมะ ถ้าถึงตอนนั้นก็เรียกได้ว่าใจไปแล้ว น้อมใจเลื่อมใส สามารถจะหันหลังให้กามสุขได้ อันนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราพึงให้ความใส่ใจ ถ้าต้องการที่จะอยู่ในเพศพรหมจรรย์อย่างมีประโยชน์ มีความหมาย และก็อยู่ได้อย่างต่อเนื่อง หรือว่าเป็นนักปฏิบัติธรรมได้อย่างต่อเนื่อง หรือแม้กระทั่งจะไม่ได้เป็นนักปฏิบัติธรรมก็ตาม แต่ต้องการเพียงแค่เป็นคนดี มีศีล ไม่เบียดเบียนใคร ความสุขทางใจนี้สำคัญมากที่จะหล่อเลี้ยงให้เราครองเพศพรหมจรรย์ สามารถจะมั่นคงในการปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่อง หรือว่าสามารถที่จะทำความดีได้โดยที่ไม่พ่ายแพ้ต่อกิเลส ไม่พ่ายแพ้ต่อความชั่ว