แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
สิ่งที่หล่อเลี้ยงความดีที่สำคัญคือความสุข การทำความดี การรักษาศีล ทำกาย วาจา ใจ ให้สุจริต รวมทั้งการประพฤติพรหมจรรย์ หรือว่าการดำรงชีวิตแบบนักบวช มันจะอยู่ได้อย่างยั่งยืนและมีคุณค่าก็ต่อเมื่อเรามีความสุขเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ความสุขที่ว่านี้คือความสุขใจ ไม่ใช่สุขจากการเสพ รูป รส กลิ่นเสียง สัมผัส ซึ่งเราเรียกว่ากามสุข เชื่อว่าคนทั่วไปอยู่ได้เพราะกามสุข ถ้าปราศจากกามสุขเขาก็จะรู้สึกเหมือนกับว่าชีวิตมันแห้งผาก รู้สึกว่าแข็งกระด้าง หรือว่าไม่มีความหมายในการที่จะมีชีวิต แต่ที่จริงแล้วถึงแม้จะห่างไกลจากกามสุข มันก็ยังมีความสุขอีกอย่างหนึ่งที่สามารถจะเข้าถึงได้ แล้วก็เข้าถึงได้ง่ายด้วยเพราะว่าไม่ต้องใช้เงินใช้ทอง ไม่ต้องไปเที่ยวห้าง ไม่จำเป็นต้องไปดูหนังฟังเพลงถึงจะสุข อยู่ที่นี่ ตรงไหนก็เข้าถึงความสุขชนิดนี้ได้ ก็คือความสุขทางใจ
ความสุขเช่นนี้ที่จะหล่อเลี้ยงชีวิตนักปฏิบัติธรรม นักบวช แม่ชี พระให้อยู่ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องกล้ำกลืนฝืนทน หลายคนมาบวชแล้วก็กล้ำกลืนฝืนทน เพราะว่าสุขจากกามก็ไม่ได้เสพ หรือว่าเสพได้ไม่เต็มที่ ส่วนสุขทางใจก็ไม่รู้จัก ก็เลยเหมือนอยู่กับภาวะครึ่งๆ กลางๆ ประโยชน์จากเพศฆราวาสก็ไม่ได้ ประโยชน์จากเพศฆราวาสคือความสุขจากกาม จากรูป รส กลิ่น เสียงที่น่าพอใจเช่น อาหารที่อร่อย เพลงที่เพราะ หนังที่สนุก หรือว่าสัมผัสที่น่าเพลิดเพลิน มาบวชแล้วก็ไม่ได้เสพ หรือว่าเสพได้ก็ไม่มาก ถ้าเป็นการบวชที่ถูกต้องตามพระวินัย ประเภทที่ลักลอบหรือว่าทำนอกพระวินัยนั้นก็ยกเอาไว้ก่อน ความสุขแบบนี้ถ้าเป็นนักบวชก็ได้เสพน้อย ถ้าเกิดว่ามาบวชแล้วยังไม่ได้รับความสุขทางใจ อันนั้นเขาเรียกว่าเสียประโยชน์ แล้วก็ทำให้การบวชนั้น การปฏิบัติ มันเต็มไปด้วยความทุกข์
ในสมัยพุทธกาลก็มีหลายท่านที่บวชมาหลายปีแล้วก็ไม่ได้รับความสงบทางใจ บางท่านนี่ถึงกับตัดสินใจฆ่าตัวตายเลย อย่างเช่น ท่านสัปปทาส บวช ๒๕ ปีแล้วบอกว่าไม่พบกับความสงบสุขทางใจเลย จะสึกก็ไม่กล้าสึก หรือว่าไม่เห็นประโยชน์ของการอยู่แบบฆราวาส แต่ท่านอยู่ไปในฐานะที่เป็นพระก็มีความทุกข์ เลยตัดสินใจฆ่าตัวตาย แต่ว่าตอนที่จะฆ่าตัวตายนั้น ปาดมีดไปแล้วที่คอ เกิดได้สติขึ้นมา พิจารณาความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น เห็นชัดเจนเลยว่าสังขารเป็นทุกข์มาก ไม่น่ายึดถือเลย จิตก็ปล่อยวางเลยเกิดปัญญาจิตหลุดพ้น เป็นพระอรหันต์ในขณะที่สิ้นลม อันนี้ก็เป็นกรณีที่ยกเว้นมาก ๆ ที่ว่าสามารถที่จะบรรลุธรรมได้ แต่ว่าที่บรรลุธรรมได้ก็เพราะความทุกข์ ความทุกข์มันสอนธรรม หรือว่ามันแสดงธรรมให้เห็น อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของคนที่ในแง่หนึ่ง ไม่ประสบความสำเร็จในการบวชเพราะว่าไม่พบกับความสุขทางใจ แต่ในแง่หนึ่งก็ได้ชี้ว่า ความทุกข์นั้นมันก็มีประโยชน์เหมือนกัน สามารถจะเปิดใจให้เห็นธรรมจนจิตหลุดพ้นได้
อย่างไรก็ตามนอกจากการบวช การประพฤติพรหมจรรย์หรือว่าการรักษาตนให้มั่นคงในธรรมะแล้ว การปฏิบัติธรรมก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ที่เราควรมีความสุขเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ความสุขใจ ความสุขใจก็มีหลายอย่าง สุขใจที่ได้ทำคุณงามความดี สุขใจที่ได้ช่วยเหลือส่วนรวม สุขใจเพราะว่าได้ให้ทาน สุขใจเพราะว่าได้ทำงานที่เป็นประโยชน์มีคุณค่า แม้จะเหนื่อยกายแต่ว่าใจเป็นสุข หลายคนมีความสุขใจที่ได้ปลูกป่า หรือว่าบางคนอาจมีความสุขใจที่ได้ช่วยเหลืองานวัดอย่างเมื่อเช้าหรือตอนบ่าย ความสุขอีกส่วนหนึ่งก็เป็นความสุขจากการที่จิตใจมันปลอดโปร่งจากสิ่งล่อเร้าเย้ายวน อันนี้เรียกว่าเนกขัมมะสุข ซึ่งก็ได้พูดไปแล้วเมื่อเช้าว่า เนกขัมมะนี้ไม่ได้หมายถึงการออกบวชหรือว่าการมาถือศีล ๘ อย่างเดียว การที่จิตใจนี้ปลอดโปร่งจากสิ่งล่อเล้าเย้ายวนทางรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อันนี้ก็เป็นความสุขที่เรียกว่า เนกขัมมะสุข นักปฏิบัติควรจะเปิดใจให้ได้รับรู้ถึงความสุขชนิดนี้
ที่จริงใจของเรานี้พร้อมที่จะเป็นสุขจากเนกขัมมะอยู่แล้ว ถ้าใจเราเปิด แต่ถ้าใจเราไม่เปิดใจเราไปหวนอาลัยความสุขที่เคยมีตอนอยู่บ้าน หรือว่าตอนเป็นคฤหัสถ์ นึกถึงอาหารที่อร่อย เพลงที่ไพเราะ แฟนที่หลงรัก ใจมันก็จะปิด ทำให้ไม่สามารถที่จะรับรู้ความสุขจากความสงบ หรือว่าความสุขจากชีวิตที่เรียบง่าย ปลอดโปร่งจากสิ่งล่อเล้าเย้ายวนได้ ใจเราต้องว่างมันถึงจะรับสัมผัสกับเนกขัมมะสุขได้ ที่จริงอย่าว่าแต่เนกขัมมะสุขเลย แม้กระทั่งสุขแบบโลกๆ เช่น เพลงที่ไพเราะ ถ้าใจไม่ว่างมันก็ไม่รับรู้
ที่อเมริกาเคยมีเหตุการณ์หนึ่งคือว่ามีนักดนตรีมาสีไวโอลินตรงสถานีรถไฟใต้ดินที่วอชิงตัน ในช่วงตอนเช้าซึ่งเป็นช่วงเวลาทำงาน rush hour ชายหนุ่มคนนี้ก็สีไวโอลินอยู่ประมาณ ๔๕ นาที แต่ว่าคนส่วนใหญ่ไม่สนใจฟังเลย เดินผ่านอย่างเดียว อาจจะมีก็เฉพาะเด็ก ๆ ที่แม่พาไปโรงเรียน พอเดินผ่านนักสีไวโอลินคนนี้ก็จะหยุดฟัง แต่ว่าฟังได้ประเดี๋ยวเดียวแม่ก็ลากให้ไปขึ้นรถไฟ นักดนตรีคนนี้อยู่สีได้ประมาณ ๔๕ นาทีได้เงินแค่ ๒๐ เหรียญ มีคนฟังน้อยมาก ที่มันน่าสนใจก็เพราะว่านักดนตรีคนนี้นี่ไม่ใช่คนธรรมดา เขาเป็นนักดนตรีที่มีชื่อระดับโลกชื่อ Joshua Bell แล้วเพลงที่เขาบรรเลงก็เป็นเพลงที่มีชื่อมากของ Bach ซึ่งเป็นนักแต่งเพลงที่ไพเราะมากระดับโลก ไวโอลินที่เขาใช้ในการสีนี้ก็เป็นไวโอลินที่เก่า ๒-๓ ร้อยปี แพงมากราคาหลายล้าน หลายล้านนี้ล้านดอลลาร์ ไม่ใช่ล้านบาทไทย
ก่อนหน้าที่เขาจะมาสีไวโอลินที่สถานีรถไฟใต้ดินนี้เขาเคย เขาไปแสดงสดที่นิวยอร์ก ตั๋วนี้ราคาเป็นร้อยดอลลาร์ แล้วก็หลายร้อยก็มี ปรากฏว่าคนซื้อตั๋วหมดเลย คนยอมเสียเป็นร้อยๆ ดอลลาร์เพื่อมาฟังเขาบรรเลง แต่ว่าพอเขามาบรรเลงฟรีๆ ที่สถานีรถไฟใต้ดินที่วอชิงตันไม่มีใครสนใจเลย น่าแปลกที่มีแต่เด็กที่สนใจ เด็กสามารถจะรับรู้ได้ว่าดนตรีที่ Joshua Bell บรรเลงนี้ไพเราะ แต่ผู้ใหญ่เป็นร้อยเป็นพันไม่สนใจทั้งๆ ที่คนเรานี้ก็อาจจะยอมเสียเงินเป็นร้อยเพื่อฟัง Joshua Bell เล่น แต่ว่าในช่วงเวลานั้นนี่ไม่มีใครรู้เลยว่าเพลงที่ Joshua Bell บรรเลงนี้ไพเราะ เพราะอะไร เพราะว่าใจไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน ใจมันไปอยู่กับอนาคต ใจตอนนั้นคิดอยู่อย่างเดียวว่าทำยังไงจะขึ้นรถไฟให้ทัน คิดถึงเรื่องงานการที่คอยอยู่ แต่เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ก็มีคนถ่าย VDO ไว้เพราะเป็นการทดลองของหนังสือพิมพ์แห่งหนึ่งที่อยากจะรู้ว่าเวลาคนที่จะเร่งรีบ เขาจะรู้สึกอย่างไรกับเสียงเพลงที่มาบรรเลงโดยนักดนตรีระดับโลก ซึ่งก็ได้ผลว่าไม่มีใครสนใจ เพราะว่าใจตอนนั้นมันไม่ได้เปิดรับดนตรีที่บรรเลง ใจมันไปไหนแล้วก็ไม่รู้ ขนาดเป็นความสุขทางโลกจากเพลง ถ้าใจไม่เปิดเพราะว่าใจไปหมกมุ่นครุ่นคิดหรือว่าร้อนรน ก็ไม่มีโอกาสที่จะสัมผัสได้ถึงความไพเราะของเพลง แล้วก็ไม่สามารถที่จะเกิดความสุข อันนี้เป็นความสุขทางหู ซึ่งก็เป็นกามสุขอย่างหนึ่ง คนที่จิตไม่ว่างก็ยังรับรู้ไม่ได้ นับประสาอะไรกับความสุขทางใจ หรือว่าเนกขัมมะสุข ซึ่งมันเป็นสุขที่ประณีต ละเอียด แล้วก็ยิ่งต้องอาศัยใจที่เปิด
ในเวลาเราปฏิบัติธรรม ถึงแม้ว่าเราจะไม่มีสิ่งเสพมาปรนเปรอให้เกิดความสุขอย่างที่เราเคยรับเคยสัมผัส แต่ว่าใจที่สงบมันก็สามารถให้ความสุขกับเราได้ มันเป็นภาวะที่เบา สบาย ปลอดโปร่ง ซึ่งส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่ไม่ถูกล่อเร้าด้วยสิ่งเย้ายวน ทำให้เพลิดเพลินหลงใหล ทำให้เกิดความอยากได้อยากครอบครอง ความเพลิดเพลินหลงใหลนี่ก็ทำให้เกิดทุกข์ แต่มันจะมีทุกข์อีกแบบหนึ่งที่เป็นปฏิปักษ์กับเนกขัมมะสุข ก็คือ จิตที่ผลักไสต่อต้าน ความหลงใหลใฝ่หาอยากเสพ อยากครอบครองกามสุข อันนี้ก็ทำให้ทุกข์ แต่ว่านอกจากอันนั้นแล้ว จิตที่ผลักไส ปฏิเสธก็ทำให้ทุกข์ แล้วทำให้ไม่สามารถจะสัมผัสกับความสุขทางใจได้ ๒ อย่างนี้มันตรงข้ามกัน อันหนึ่ง อยากมี อยากได้ใฝ่หาอันนี้ก็ทำให้ทุกข์ อีกอย่างหนึ่ง อยากผลักไส จิตที่ผลักไสนี้มันทำให้ทุกข์ บ่อยครั้งที่เราอยากจะผลักไสบางสิ่งบางอย่างแล้วเราก็ทุกข์ขึ้นมา แต่ความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากสิ่งนั้น จริงๆ แล้วมันไม่ค่อยหนักเท่ากับความทุกข์ที่เกิดจากความผลักไส เสียงมันไม่ได้รบกวนเราเท่าไร แต่ทันทีที่เราผลักไสมัน ใจเราไม่ชอบใจเราชังต่อเสียงนั้น ความทุกข์มันเพิ่มพูนขึ้นมาทันที ทุกขเวทนาความเจ็บความปวด จริง ๆ อาจจะไม่เท่าไร แต่พอจิตมันผลักไสไม่ชอบ ความปวดที่เกิดขึ้นมันจะเพิ่มขึ้นเป็น ๒ เท่า ๓ เท่าทันที
เคยมีการวิจัยพบว่าคนที่กลัวเข็ม เข็มฉีดยาหลายคนก็คงกลัวเข็มฉีดยา คนที่กลัวเข็มฉีดยา พอโดนเข็มทิ่มนี่เขาจะรู้สึกเจ็บเป็น ๓ เท่าของคนที่ไม่กลัว อันนี้ก็ไม่ทราบว่าเขาวัดอย่างไร แต่ว่านี่เป็นข้อสรุป ความกลัวทำให้ความเจ็บหรือความทุกข์นี่เพิ่มเป็น ๒ เท่า นอกเหนือจากความเจ็บทางกายที่เกิดจากเข็มมันทิ่มเข้าไป คนที่ไม่กลัวนี้เจ็บแค่ ๑ เท่า แต่คนกลัวนี้เจ็บ ๓ เท่า ส่วน ๒ เท่าที่มันเพิ่มขึ้นมานี้เกิดจากอะไร เกิดจากความกลัว ความกลัวนี้ก็เป็นอาการผลักไสชนิดหนึ่ง ผลักไสนี้มันแสดงอาการออกมาหลายแบบ เช่น ความกลัว ความโกรธ ความชัง ความไม่ชอบ สิ่งที่เราผลักไส สิ่งที่เราชังนี้จริงๆ แล้วอาจจะไม่สร้างปัญหาให้กับเรามากเท่ากับความรู้สึกผลักไส เราคงทราบว่าลิงนี้มันเกลียดกะปิมาก แต่ถ้าบังเอิญมือมันโดนกะปิ สิ่งที่มันทำทันทีคืออะไร ก็คือเอามือนี้ถูกับหินบ้าง ถูกับเปลือกไม้บ้าง เพื่อที่จะได้ลบกลิ่นกะปิให้ออกไป มันถูเสร็จมันก็จะดม มันไม่ชอบกะปิแต่มันก็ต้องดม และถ้ามันยังได้กลิ่นกะปิมันก็จะถูอีก มันถูแล้วถูอีก ๆ จนกระทั่งเป็นแผลเลือดไหล บางทีถูจนถลอกเลยแล้วก็ยังไม่เลิกถู
คำถามที่น่าคิดก็คือว่าอะไรทำให้มือลิงเป็นแผล อะไรทำให้ลิงเลือดไหล หลายคนก็อาจจะตอบว่าเป็นเพราะกะปิ แต่ที่จริงไม่ใช่ ถ้าดูดีๆ เป็นเพราะความเกลียดกะปิต่างหาก ความเกลียดกะปินี้ทำให้ลิงต้องถู ต้องทำยังไงก็ได้เพื่อให้กะปิหายไป กะปิไม่ทำให้ลิงมีบาดแผล แต่ความเกลียดกะปิต่างหากที่ทำให้ลิงเป็นแผล เพราะมันก็จะพยามยามถูๆ ๆ อยู่นั่นแหละ ความเกลียดนี้ผลักไสให้ลิงมันต้องถู เอามือมาถูกับเปลือกไม้ เอามือมาถูกับหิน เพราะฉะนั้นกะปิไม่สร้างปัญหาให้กับลิงเท่ากับความเกลียดกะปิเสียงก็ไม่สร้างปัญหาให้กับเราเท่ากับความเกลียดเสียงนั้น อันนี้รวมถึงอย่างอื่นด้วยเช่น สิว ไม่ทำให้เราทุกข์มากกว่าความรู้สึกเกลียดสิว ความเกลียดสิวมันเป็นปัญหามากกว่าตัวเม็ดสิวเอง
สิ่งที่จะช่วยให้เราทุกข์น้อยลงก็คือว่า ทำใจ วางใจเป็นกลาง ไม่ผลักไสต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น มันจะช่วยทำให้เราพบกับความสงบใจได้ พอจิตไม่ผลักไสมันก็สงบ จิตสงบ สิ่งที่เรียกว่าเนกขัมมะสุขนั้นก็จะเกิดขึ้น ความสงบไม่ได้เกิดจากการที่ไม่มีเสียงมารบกวน เสียงอาจจะมารบกวน อาจจะมีแดดแผดเผา แต่ถ้าใจไม่ผลักไสแล้ว ใจก็ไม่เป็นทุกข์ ใจก็จะยังนิ่งอยู่ได้ ความนิ่งนี้ก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง ยิ่งผลักไสมันยิ่งแบก ยิ่งผลักไสยิ่งยึดติด ยิ่งเราเกลียดเสียง ใจก็ยิ่งจดจ่อเสียงนั้น ยิ่งเกลียดกลิ่นเหม็น ใจก็ยิ่งจดจ่อ อย่างลิงนี่มันเกลียดกะปิมากแต่ว่ามันถูทีไรมันก็ต้องเอานิ้วมาดมว่ามีกลิ่นหรือเปล่า อันนี้ก็เหมือนกับคน อย่าว่าแต่ลิงเลย ถ้ามือเราถูกขี้หมา หรือไปถูกสี หรือไปถูกปลาร้า หรือน้ำปลานี่ เราไม่ชอบกลิ่นเราก็จะรีบล้าง ล้างเสร็จแล้วทำยังไงเอามือมาดมเอานิ้วมาดม เราไม่ชอบกลิ่นแต่ว่าอดดมไม่ได้ เวลาเราเกลียดใคร เราก็จะนึกถึงเขาบ่อยมาก คำพูดใดที่ทำให้เราเจ็บปวด เราก็จะยิ่งคิดถึงคำพูดนั้น คำด่าที่ทำให้เราเจ็บปวด เรายิ่งอยากจะรู้ อยากจะนึกถึงมัน มีเพื่อนบอกว่า สมทรงนี่เขาว่าเรา เขานินทาเรา ปฏิกิริยาแรกของเราก็คือว่า อยากจะรู้ว่าเขาว่าอะไร และถ้าเกิดว่ารู้จริงๆ ว่าเขาว่าอะไร เขานินทาว่าอะไร ก็จะโกรธ หลายคนก็รู้ ถ้าได้ยินแล้วก็จะโกรธ แต่ก็ยังอยากได้ยินว่า เขาว่าอะไรฉัน
มีนักแสดงคนหนึ่ง ซึ่งค่อนข้างจะถูกวิจารณ์เพราะว่าเธอชอบแสดงหนังเอ็กซ์ แล้วตอนหลังก็มาแสดงละครทีวี มีคนแฉโพยและก็มีคนด่าทางอินเตอร์เน็ต ทาง Facebook เธอก็เครียดไม่อยากฟังไม่อยากอ่านแต่ก็ห้ามใจไม่ได้ จะต้องไปดูให้ได้ว่า เขาว่าอะไรฉัน ไม่ใช่ไปดูตามเฟซ ตามเพจ ต่างๆ แต่ถึงกับไปเสิร์จ Google เลยว่าเขาว่าอะไรฉันบ้าง แล้วพอได้อ่านก็ร้อนรุ่ม แต่ก็ยังห้ามใจไม่ได้ ยิ่งผลักไสใจมันยิ่งยึดติด ยิ่งอยากจะรู้
ถ้าเรารู้จักวางใจเป็นกลาง กับสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่น่าพอใจไม่ว่าจะเป็น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ถ้าเราฝึกวางใจเป็นกลาง ใจเราจะทุกข์เพราะสิ่งนั้นน้อยลง จะเป็นเสียงดัง จะเป็นแดดร้อนหรือว่าแมลงรบกวน นี่คือแบบฝึกหัดให้เรารู้จักฝึกใจให้เป็นกลาง มันจะกัดก็เจ็บแต่กายแต่ว่าใจนี้สงบนิ่ง แดดจะร้อนก็ร้อนแต่กายแต่ว่าใจปกติ อันนี้เป็นแบบฝึกหัดที่สำคัญสำหรับนักปฏิบัติ และจากนั้นก็มาให้ฝึกใจเป็นกลางต่ออารมณ์ที่เกิดขึ้น บางทีมันเผลอไปแล้วเจอยุงกัดเจอแมลงรบกวน เกิดความไม่พอใจขึ้นมา เกิดความชังเกิดความโทสะเกิดความหงุดหงิดขึ้นมา อารมณ์เหล่านี้เราไม่ชอบ พอไม่ชอบก็จะกดข่มมัน นักปฏิบัติจำนวนมากไม่ชอบอารมณ์แบบนี้ แล้วก็จะเผลอกดข่มมัน รวมทั้งความคิดด้วย ความคิดอะไรก็ตาม แต่ก่อนมาปฏิบัตินี่คิดอะไรก็ปล่อยใจไปตามความคิด แต่ตอนนี้ตั้งท่าจะเล่นงานแล้ว คอยดักเฝ้าดูว่ามาเมื่อไหร่จะตะปบมัน จะกดข่มมัน อันนี้เป็นการวางใจที่ยังไม่ถูกต้องสำหรับนักปฏิบัติ เราต้องรู้จักทำใจเป็นกลาง มันเกิดขึ้นก็รู้แต่ไม่กดข่มมัน ไม่ผลักไสมัน
หลวงพ่อเทียน หลวงพ่อคำเขียน ท่านใช้คำว่ารู้ซื่อๆ รู้ซื่อๆ คือว่ารู้เฉยๆ ว่ามีความคิดมีอารมณ์เกิดขึ้น อารมณ์ที่พอใจก็ไม่ไขว่คว้าเพลิดเพลินหลงใหลใฝ่หา อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจก็ไม่ปฏิเสธก็ไม่ผลักไสไม่กดข่ม นี่ก็เป็นการบ้านสำหรับนักปฏิบัติธรรมซึ่งต้องผ่านให้ได้ เป็นกลางกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ นอกเหนือจากเป็นกลางต่อ รูป รส กลิ่น เสียง ต่อภายนอกที่มากระทบต่อตัวเราแล้ว ในอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจก็เช่นเดียวกัน ต้องรู้จักวางใจเป็นกลางให้ได้ แต่ว่าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เริ่มต้นใหม่ เราเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ นอกจากรูป รส กลิ่น เสียง ไม่น่าพอใจที่มากระทบ แล้วก็อารมณ์ความคิดที่เกิดขึ้นในใจแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นกับกายก็เช่นเดียวกัน เช่นความเจ็บ ความปวด ความเมื่อย อันนี้เราไม่ชอบ แต่ว่าเราลองวางใจเป็นกลางกับมันดู มันเจ็บมันปวดมันเมื่อยก็อย่าไปผลักไสมัน ดูมันเฉยๆ รู้เฉยๆ รู้เวทนานี้จะรู้ยากซักนิดหน่อย ไม่เหมือนกับรู้จิต เวลากายเจ็บ กายปวด กายเมื่อยนี่ ใจมันจะมีอาการต่อต้านผลักไสขึ้นมา จะมีความหงุดหงิดโทสะขึ้นมา เรารู้ทันมัน เราวางใจเป็นกลางก็ดูกันไป แต่คราวนี้เราก็มาดูอีกที กลับมาฝึกดูเวทนา ความปวดความเมื่อยหรือความคัน เราวางใจเป็นกลางกับมันดู ดูเวทนาดูเฉยๆ ไม่ผลักไสมัน ไม่กดข่มมัน
นี้เป็นการบ้าน ๓ อย่างของนักปฏิบัติ (๑) วางใจเป็นกลางต่อรูป รส กลิ่น เสียง ที่มากระทบ (๒) วางใจเป็นกลางต่อความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ แล้วก็ (๓) วางใจเป็นกลางต่อเวทนา ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นกับกาย ซึ่งส่วนหนึ่งก็เกิดจากสัมผัสหรือว่าโผฏฐัพพะ ทีนี้ถ้าเกิดว่าเราฝึกใจวางใจให้เป็นกลางต่อสิ่งเหล่านี้ได้ เวลาเราเจอสิ่งที่เรียกว่าโลกธรรมฝ่ายลบ โลกธรรมฝ่ายลบก็คือเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ประสบกับการนินทาหรือว่าความทุกข์ เราก็จะไม่หวั่นไหวกับสิ่งเหล่านี้เพราะว่าเรารู้จักวางใจเป็นกลางกับสิ่งนั้น ยิ่งถ้าเรามองเห็นว่ามันเป็นธรรมดา อันนี้เราก็มาใช้กับอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นกับเราอย่างที่พูดมา ๓ อย่าง ฝนตก แดดร้อน เสียงดัง แมลงรบกวน ก็มองว่า มันเป็นธรรมดาเป็นเช่นนั้นเอง ตัวนี้ก็ช่วยทำให้ใจเราเป็นกลางกับมันได้ เวลามันมีความคิดมีอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจเกิดขึ้น เช่นความชังความโกรธความหงุดหงิด อย่าไปเกลียดเขาให้มองว่า มันเป็นธรรมดาเช่นนั้นเอง อย่างที่อาจารย์สุรินทร์ได้พูดไว้แล้วเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว หรือว่าเวลาเกิดความปวดความเมื่อยเราก็บอกกับตัวเองด้วยว่า มันเป็นธรรมดา นอกจากมีสติดูเวทนารู้เวทนาแล้ว คำว่า ธรรมดา เป็นเช่นนั้นเอง หรือไม่เป็นไร นี่ทำให้เราวางใจเป็นกลางกับมันได้
พอถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรา ที่โลกธรรมฝ่ายลบ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา หรือว่าเจอทุกข์เราก็มองว่า มันก็ธรรมดา มีกับได้เป็นของคู่กัน เจอกับจาก พบกับพรากเป็นของคู่กัน สรรเสริญนินทาก็เป็นของคู่กัน พอเจอโลกธรรมฝ่ายบวก เราก็ไม่ยินดีมาก ครั้นเจอโลกธรรมฝ่ายลบเราก็ไม่หวั่นไหว อันนี้เรียกว่าไม่ยินร้าย ในสิ่งเหล่านี้เป็นการทำให้เรามีความพร้อมเวลาเจอธรรมดาที่หนักกว่านั้น ได้แก่ความแก่ ความเจ็บ ความพลัดพรากสูญเสีย และความตาย อย่างที่เราสวดสาธยายอภิณหปัจจเวกขณ์ เมื่อสักครู่ เรามีความแก่เป็นธรรมดาจะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้ เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาจะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้ เรามีความตายเป็นธรรมดาจะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้ เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งนั้น อันนี้คือสิ่งที่ทุกคนต้องเจอไม่ช้าก็เร็ว บางอย่างก็กำลังเกิดขึ้นอยู่ทุกขณะ เช่นความแก่ บางอย่างก็อาจจะเกิดขึ้นแล้ว เช่นความเจ็บ ความปวด แต่นี้ก็คือสิ่งที่เรียกว่าเป็นทุกข์ประจำสังขาร เราทั้งหลายเป็นผู้ที่ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว เราทั้งหลายเป็นผู้ที่มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว อย่างที่เราสวดตอนเช้า
สี่ตัวนี้คือทุกข์ตัวสำคัญ ที่จะต้องเกิดขึ้นกับเราไม่ช้าก็เร็ว บางอย่างก็เบาบ้าง บางอย่างก็หนักบ้าง นี่คือสิ่งที่ทำให้ผู้คนทุกข์ ทุกข์ทั้งกายทุกข์ทั้งใจ ที่ทุกข์ใจเพราะอะไร ก็เพราะไม่ได้เตรียมตัวไม่ได้เตรียมใจรับมือกับมันเลย พอเจอปุ๊บก็ผลักไส พอเจอปุ๊บก็คร่ำครวญ พอเจอปุ๊บก็พยายามปฏิเสธไม่ยอมรับ แต่ถ้าเกิดว่าเราได้ฝึกวางใจเป็นกลางในเรื่องพื้นฐานที่เล่ามา ก็คือว่าเป็นกลางต่อรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่เกิดขึ้นเป็นกลางต่อความคิดอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ เป็นกลางต่อเวทนาที่เกิดขึ้นกับกาย รวมทั้งขยับขึ้นมา เป็นกลางต่อโลกธรรมทั้งฝ่ายลบฝ่ายบวก ฝ่ายบวกก็ไม่ยินดี ฝ่ายลบก็ไม่ยินร้าย ไม่ผลักไส ถึงตอนนั้นเราก็จะมีความพร้อมเมื่อเจอความแก่ชรา ความเจ็บ ความป่วย ความพลัดพรากสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นคนรักหรือของรัก รวมทั้งความตาย เราจะไม่ผลักไส เราจะสามารถวางใจเป็นกลาง เป็นปกติ และนั่นทำให้จิตเราสงบและเป็นสุขได้ ความแก่เป็นทุกข์ก็จริงแต่ไม่ได้แปลว่าแก่แล้วต้องทุกข์ใจ ความป่วยเป็นทุกข์ก็จริงแต่ไม่แปลว่าป่วยแล้วต้องทุกข์ใจเสมอไป ประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก พลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก สิ่งเหล่านี้อาจจะหมายถึงการสูญเสีย แต่ไม่แปลว่าจะต้องทำให้ทุกข์ใจเสมอไป ความตายเป็นทุกข์ แต่ไม่ได้แปลว่าจะตายแล้วทุกข์ใจเสมอไป เราสามารถที่จะส่งใจเป็นปกติได้ สงบได้ นิ่งได้ เมื่อเจอเหตุการณ์เหล่านี้ และนี่แหละคือรางวัลของการปฏิบัติธรรม รางวัลที่เราได้ตระเตรียมมามาโดยตลอด จากการที่เราเริ่มปฏิบัติ หรือมาปฏิบัติที่นี่ วันนี้และก็ที่จะทำต่อ ๆ ไป