แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คำว่าพุทธะ หมายถึงการมีคุณสมบัติที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พระพุทธองค์ได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จะเรียกว่าเป็นคุณสมบัติสำคัญของพุทธองค์ รู้ตื่น รู้เบิกบาน อย่างถึงที่สุด จนความทุกข์และกิเลส มิอาจจับต้องได้พวกเราซึ่งเรียกตนเองว่าเป็นชาวพุทธ ก็ต้องพยายามเดินตามรอยพระพุทธองค์ในเรื่องนี้ คือทำความตื่น ความรู้ ความเบิกบานให้เกิดขึ้น คือถ้าตื่นก็ตื่นจากความหลง เราตื่นจากความหลับยังไม่พอต้องตื่นจากความหลงด้วย หลงในที่นี้ ก็หมายถึง หลงตัวลืมตน หลงในอารมณ์ถูกครอบงำด้วยอวิชชา ถึงแม้ว่าการหลุดพ้นจากอวิชชายังไม่ได้เกิดขึ้นกับเรา แต่ว่าการตื่นจากความหลงที่เป็นความหลงเพลินในอารมณ์ อันนี้เป็นสิ่งที่เราทำได้ ทำได้เดี๋ยวนี้ เวลานี้ หลงในอารมณ์ หลงในความเพลิดเพลินในอารมณ์ก็ได้ หลงแบบจมหายเข้าไปในอารมณ์ก็ได้ สิ่งที่ช่วยทำให้เรา หลุดจากความหลงที่กล่าวมานี้ คือความรู้สึกตัว
ความรู้สึกตัวในทางธรรมนี้ มันไม่ได้หมายความเพียงแต่ความรู้สึกตัวเมื่อตื่นจากความสลบไสล หรือความรู้สึกตัวจากฤทธิ์ยาชา คนที่ผ่าตัดเสร็จแล้วก็ยามันหมดฤทธิ์ แล้วก็เริ่มรู้สึกตัวแล้วอันนี้เรียกว่าความรู้สึกตัวในทางการแพทย์ หรือความรู้สึกตัวอย่างสามัญ คนที่สลบเริ่มจะรู้สึกตัว เริ่มจะพูดคุยรู้เรื่อง อันนี้เขาเรียกว่าเรารู้สึกตัวแล้ว แต่ว่าความรู้สึกตัวในทางธรรมนี้มันมีมากกว่านั้น มันหมายถึงการที่จิตนี้อยู่กับเนื้อกับตัว จิตไม่ไหลไปในอารมณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูป รส กลิ่น เสียง เวลาเห็นภาพ เวลาดูหนัง จิตเราไหลไปสู่ภาพเหล่านั้น ตอนนั้นเราก็ลืมตัว ไหลไปในอารมณ์ภายนอก หรือว่าลอยไปอดีตบ้าง ไปอนาคตบ้าง เมื่อใดตามใจที่เราลอยไปอดีต ย้อนถอยหลังกลับไปถึงวันวานอันหวานชื่นหรือว่าเหตุการณ์ที่เจ็บปวด ตอนนั้นเราลืมตัวไปแล้ว เราไม่รู้สึกตัว หรือว่าลอยในอนาคต ไปในภาพปรุงแต่งที่เรานึกว่ามันจะเกิดขึ้น จนบางทีเห็นเป็นจริงเป็นจังว่ามันจะเกิดขึ้นแน่ๆ เสร็จแล้วก็เสียใจ หรือกลัดกลุ้มใจกับภาพที่ปรุงแต่งขึ้น ทั้งๆ ที่มันยังไม่เกิดแต่ว่าหมดตัวไปแล้วกับภาพอนาคตที่วาดเอาไว้ หรือบางทีก็เพลิดเพลินกับภาพที่ปรุงแต่งขึ้น ที่เขาเรียกว่าฝันกลางวัน จะได้ไปเจอคนรัก หรือว่าได้ไปเที่ยวในต่างประเทศที่หมายมั่นอยากจะไปมาหลายปี แล้วก็ฟุ้งไปว่าได้ไปนั่นถึงนั่นแล้ว ก็มีความเพลิดเพลิน มีความปลาบปลื้ม
อันนี้เขาเรียกว่าไม่รู้สึกตัว ใจมันลอยไปแล้ว ไม่ว่าจะไหลหรือลอย ในที่สุดก็จม จมอยู่ในอารมณ์ อารมณ์ที่น่ายินดี อารมณ์น่ายินร้าย หรือความเพลิดเพลินก็มี ความทุกข์ ความเสียใจก็มี จมในอารมณ์นั้นก็ยึดในอยู่ในอารมณ์นั้นไม่อยากจะออก ไม่ใช่แต่อารมณ์เพลิน แม้แต่อารมณ์เศร้า ความโกรธ ความเสียใจ จิตมันก็คว้าอารมณ์นั้นอย่างเหนียวแน่น ปักตรึงไม่ยอมถอนออกมาอย่างง่าย ให้ปล่อยให้วางก็ไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวาง หลายคนก็รู้ว่าควรปล่อยควรวาง แต่ว่าก็มักจะพูดว่ามันปล่อยวางไม่ได้ มันวางไม่ได้เสียที เพราะอะไร เพราะว่าใจมันไม่ยอม นี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของความจริงที่ว่าจิตเป็นอนัตตา คือมันไม่ใช่ของเรา ถ้ามันเป็นของเรา เราก็สั่งได้ ควบคุมได้ บางทีหมาเรายังสั่งได้ง่ายกว่า หมาที่ฝึกดีๆ นี้สั่งได้ทุกอย่าง เอาอาหารให้มัน เอาขนมให้มัน วางไว้ข้างหน้ามัน แล้วก็บอกให้รอ มันก็รอ มันรอจนน้ำลายยืด
มีเพื่อนคนหนึ่ง เลี้ยงหมาตอนที่อยู่อเมริกา พอกลับมาเมืองไทยก็เอามาด้วย เขาก็ฝึกไว้ดีพอประมาณ มันยอมทำตามคำสั่งทุกอย่าง วางขนมไว้ข้างหน้ามัน แล้วก็บอกให้รอ มันก็รอ มันไม่แตะไม่ต้องอาหารหรือขนมนั้นเลย ทั้งที่มันชอบ น้ำลายมันก็ยืดด้วยความอยาก แต่มันก็บังคับใจได้ ต่อเมื่อสั่งมันว่า กินได้แล้ว มันก็ถึงคว้าหมับไปเลย แต่ใจเรานี้ หลายคนจะพบว่าสั่งอย่างนั้นไม่ได้ สั่งให้มันวางมันก็ไม่ยอมวาง ทั้งๆ ที่รู้ว่าแบกเอาไว้ก็เป็นทุกข์ อันนี้เรียกว่าจิตมันปักตรึงในอารมณ์ แล้วก็กลายเป็นความยึดติด เวลาโกรธ จิตมีความหวงแหนความโกรธมาก หากมีเพื่อนแนะนำว่าให้อภัยเขาซิ ก็ไม่ยอม ไม่ยอมให้อภัย ทั้งๆ ที่รู้ว่าความโกรธมันเผาในใจ แต่ฉันไม่ยอมให้อภัยมันเด็ดขาด จะอาฆาตมันไปจนถึงวันตาย ตายแล้วก็จะไม่เผาผี นอกจากจะไม่ให้อภัยแล้วนี้ ใครที่แนะนำว่าให้ให้อภัยเขา ก็จะโกรธเขาด้วยว่า แทนที่จะเชียร์ แทนที่จะส่งเสริมดุด่าคนนั้น กลับมาบอกว่าให้อภัยมัน
ไม่ใช่เฉพาะความโกรธ ความเศร้าก็เหมือนกัน เวลาเศร้าใจมันก็จมดิ่งปักอยู่ในความเศร้า ใครมาชวนไปเที่ยวก็ไม่ไป จะไปเจออารมณ์ใดๆ ที่ให้ไถ่ถอนจากความเศร้าก็ไม่ยอม ฟังเพลงก็จะฟังเพลงแต่ที่เพลงเศร้าๆ ยิ่งเศร้ายิ่งชอบ นี้ก็เรียกว่าใจมันจม มันปัก มันตรึงอยู่ในอารมณ์ และยิ่งทำเช่นนั้นก็ยิ่งไม่รู้สึกตัว แต่ถ้าเกิดว่ารู้สึกตัวขึ้นเมื่อไรนี่ มันหลุดไปจากอารมณ์นั้นได้เลย พอมีสติปุ๊ปนี่ ความรู้สึกตัวเกิดขึ้น คนที่โกรธมากๆ คนที่เกลียดมากๆ นี่ พอมีคนเตือนดีๆ ก็ได้สติ ปากอาจจะเตรียมด่าแล้วหรือว่ามือเตรียมจะทำร้ายแล้ว ลูกขอร้อง ก็ได้สติขึ้นมาทันทีเลย พอได้สติขึ้นมาปุ๊บ ความรู้สึกตัวเกิดขึ้น มันหลุดไปจากอารมณ์นั้นเลย มันวางได้ทันที อันนี้เรียกว่า ตื่นจากหลง ความหลงในอารมณ์ ไม่ว่าอารมณ์ที่เพลิดเพลินยินดี หรืออารมณ์ที่โกรธอยากผลักไสก็ตาม
ความรู้ ความตื่น ความเบิกบานของชาวพุทธ มันเริ่มจากความรู้สึกตัว อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นเลย ถ้าไม่รู้สึกตัว รู้อย่างอื่นหรือตื่นจากอวิชชา ย่อมเป็นไปได้ยาก เราอาจจะยังไม่ตื่นอย่างแท้จริง ก็ขอให้รู้สึกตัวไว้ก่อน เพราะว่ามันทำได้เลย มันทำได้เดี๋ยวนี้ตอนนี้ สลัดจิตออกจากความง่วง อย่าปล่อยใจไถลไปตามความง่วง พอรู้ปุ๊บนี่มันตื่นเลย สิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความรู้สึกตัวคือนิวรณ์ ๕ ตัวแรกคือความง่วง ง่วงจนบางทีนั่งสัปหงก หัวก็ปะหงก อันนี้เรียกว่าไม่รู้สึกตัวแล้ว นอกจากความง่วง มันก็มีความฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านจิตฟุ้งปรุงแต่ง ก็ทำให้ใจลอยใจไหลไปอดีตไปอนาคต มันก็ไม่รู้สึกตัว นักปฏิบัติจะเจอนิวรณ์ตัวนี้มากโดยเฉพาะเมื่อผ่านความง่วงมาได้ ตอนง่วงนี้มันไม่นึกไม่คิดอะไรเลย แต่พอหายง่วงแล้วมันก็ฟุ้งใหญ่เลย
อย่างเช่นตอนเช้ามืดนี้มันจะง่วงเป็นหลัก จะไม่ค่อยนึกคิดอะไรเท่าไหร่ แต่พอเริ่มสว่างหรือสว่างแล้วความฟุ้งซ่านจะมา การปฏิบัติหลายคนจะชอบช่วงกลางคืนเพราะจิตมันไม่ฟุ้งมาก การเจริญสมาธิภาวนาจะทำได้ดี ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรม ก็ในช่วงกลางคืน ตั้งแต่ยามหนึ่งยามสอง แล้วก็มาถึงยามสาม ไม่ได้ตรัสรู้ตอนกลางวัน อาจจะเป็นเพราะกลางวันมันเป็นช่วงที่จิตมันตื่นจนกระทั่งกลายเป็นฟุ้งไป ท่านอาจารย์พระพุทธทาสเคยบอกไว้ว่า กลางคืนหรือเช้ามืดมันเป็นช่วงเวลาที่จิตเหมือนน้ำไม่เต็มแก้ว คือยังไม่เต็มด้วยความคิด เป็นเวลาที่เหมาะกับการภาวนา แต่ว่านักภาวนาใหม่ๆ ก็จะง่วง แต่พอจิตปรับได้ใจปรับได้ ความง่วงก็จะค่อยๆ เลือนหายไป มันก็จะมีความตื่น และภาวนาจะทำได้ดี แต่พอเริ่มสว่างหรือว่าพอเข้าตอนสายแล้ว จิตมันจะเหวี่ยงไปอีกทางหนึ่งก็คือว่า แส่ส่ายมากเพราะว่ามันตื่น มันเริ่มกระชุ่มกระชวยจนเป็นความฟุ้งซ่านไปเลย
ความง่วง ความฟุ้งซ่าน ก็เป็นแค่สองตัวแรกของนิวรณ์ ยังมีตัวอื่นอีก เช่น กามฉันทะ ก็คือความปรารถนาในรูป รส กลิ่น เสียงที่น่าพอใจ พูดง่ายๆ คือความโลภ พอจิตมันมีความโลภแล้วมันอยู่เฉยไม่ได้แล้ว มันจะเกิดการดิ้นรนแส่ส่ายแสวงหา ตัณหาก็นำไปสู่อุปาทาน อุปทานคือความยึดติด โลภะกับตัณหาก็ตัวเดียวกัน พอมีแล้วมันก็เกิดอุปาทาน มันก็ยึดติด มันดิ้นรน มันแสวงหา เกิดสิ่งที่เรียกว่า ปริเยสนา คือ ความแส่ส่ายอยากจะเอาให้ได้ๆ ถ้าไปนึกถึงรสชาติที่เอร็ดอร่อยที่บ้าน มันก็อยากออกจากวัดกลับไปบ้าน บางทีอยากจะสึกขึ้นมาเรียกว่าร้อนผ้าเหลือง อันนี้ก็ร้อนด้วยอำนาจของกามฉันทะก็ได้ ซึ่งมันไม่ใช่เป็นเฉพาะเรื่องเมถุนธรรม หรือเรื่องเพศตรงข้าม อาจเป็นอย่างอื่นก็ได้ สมัยตอนที่อาตมาบวชใหม่ๆ อยู่ที่วัดสนามใน อยากจะสึกเพราะว่ามีหนังดีๆ หลายเรื่องเข้ามาฉายโรง ตอนนั้นคือหนังเรื่องอีที E.T. กับ คานธี สองเรื่องนี้น่าดูทั้งนั้นเลย ก็รอว่าเมื่อจะครบกำหนดสึกสักที ตอนนั้นกำหนดสึกสามเดือน นับวัน เห็นพระใหม่สึกเราก็อยากจะสึกตามเขาบ้าง อยากจะไปดูหนังเรื่องนั้น แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ดูเพราะบวชยาวเลย เพราะว่าตอนหลังมันมีความสุขจากการปฏิบัติมาทดแทน ความสุขจากหนังก็กลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไป
แต่ว่านี่มันก็ทำให้เกิดความหลง ความรู้สึกตัวก็หายไปเพราะกามฉันทะ ซึ่งก็มีหลายระดับ พยาบาท ความโกรธ ก็ทำให้ยิ่งลืมตัว ไม่รู้สึกตัวเข้าไปใหญ่ มันคิดแต่จะเล่นงาน คิดแต่จะแก้แค้น คิดแต่จะผลักไสออกไป อันนี้ก็รู้กันดี อีกตัวหนึ่งคือความลังเลสงสัย ความลังสงสัยนี่ก็เป็นปัญหาของนักปฏิบัติ แล้วก็ไม่ค่อยตระหนักเฉลียวใจว่ามันเป็นปัญหาอย่างไรบ้าง เวลามีความสงสัยก็หมกมุ่นครุ่นคิดเพื่อที่จะหาคำตอบ ถ้าไม่รู้คำตอบก็อยู่เฉยไม่ได้ วางไม่ได้ นักปฏิบิติก็จะมีความสงสัยเยอะ พอสงสัยแล้วถึงจุดหนึ่งก็จะงุ่นง่าน เกิดอาการ อุทธัจจกุกกุจจะ ไม่สงบ อยู่ไม่เป็นที่ เราต้องอยู่กับความสงสัยได้ มันจะมีความสงสัยอย่างไรก็อย่าให้มันครอบงำใจ ก็ดูกันไป อยู่กับมันได้ อย่าต้องไปพยายามกำจัดหักล้างความสงสัยด้วยการพยายามคำตอบที่น่าพอใจ ยังสงสัยยังไม่รู้ก็ช่างมัน อย่าให้มันมารบกวนจิตใจ ไม่ใช่ว่าคนเรานี้จะสงบได้โดยที่ปราศจากความสงสัย มันมีได้ แต่ว่าไม่ให้มารบกวนใจ
เช่นเดียวกับความโกรธ ความเกลียด อาจจะเกิดขึ้นในใจของเราได้ อย่าไปเสียใจถ้ามันจะเกิดขึ้น แต่ว่าก็อย่าทุกข์กับมัน มันเกิดขึ้นก็ดูกันไป ความเบื่อก็เช่นเดียวกัน พวกนี้ล้วนแต่เป็นปฏิปักษ์ต่อความรู้สึกตัว แต่ถ้าเกิดเมื่อไหร่ก็ตามที่เราจับหลักได้ มีสติ มีความระลึกได้ ไม่ลืมกายไม่ลืมใจ เวลาใจมันลอย มันไหลไปข้างนอก ไหลไปอดีตอนาคต ก็ระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ เช่นขณะที่นั่งอยู่นี้ใจมันไหลไปข้างนอกแล้ว ลอยไปอดีตแล้ว หรือจมอยู่ในความง่วง มีสติระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ไม่ใช่กำลังนอน แต่กำลังฟัง ความระลึกได้ตรงนี้มันจะดึงจิตออกมาจากอารมณ์ มันจะดึงจิตออกมาจากอดีตจากอนาคต อยู่กลับมาปัจจุบัน กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว พอจิตกับมาอยู่กับเนื้อกับตัวเมื่อไหร่ ความรู้สึกตัวเกิดขึ้นทันที
สติกับความรู้สึกตัวหรือสัมปชัญญะ จึงเป็นพี่น้องฝาแฝดกัน จะมีความรู้สึกตัวหรือจะมีสัมปชัญญะได้ ต้องมีสติ มีความระลึกได้ก่อน แต่ระลึกได้ในที่นี้ไม่ใช่ระลึกเรื่องข้าวของ เงินทอง กุญแจ หรือว่ารถ อันนั้นเรื่องนอกตัว แต่หมายถึงว่าระลึกได้เรื่องกายเรื่องใจ ไม่ลืมกายไม่ลืมใจ ที่ฟุ้งไปเพราะมันลืมใจ แล้วพอลืมใจก็ลืมกาย ไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ บางคนก็ฝันไปแล้วโดยที่ไม่รู้ว่ากำลังนั่งอยู่ กำลังฟังอยู่ อันนี้ลืมกายแล้ว แล้วพอลืมกายมันก็ยิ่งส่งเสริมให้ลืมใจหนักเข้าไปใหญ่ แต่พอมีสติไม่ลืมกายไม่ลืมใจ จิตกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว เกิดความรู้สึกตัว แล้วพอรู้สึกตัวมันก็จะเบา มันจะโปร่ง เพราะว่ามันวางอารมณ์ต่างๆ ลงได้ มันไม่ใช่แค่วางอารมณ์ มันวางความตัวกูลงได้ รู้สึกตัวเมื่อไหร่ กูก็หายไป แต่ถ้าลืมตัวหรือไม่รู้สึกตัวเมื่อไหร่ ตัวกูก็เข้ามาเป็นเจ้าข้าวเจ้าของกายและใจเต็มที่เลย
แต่อย่างที่บอกไว้แล้วว่า ตัวกูมันไม่มีจริง มันเกิดจากการปรุงแต่ง เมื่อไม่รู้สึกตัวเมื่อไม่มีสติ มันก็เข้าไปในความหลง แล้วความหลงปรุงแต่งตัวกูขึ้นมา แล้วพอมีตัวกู ก็มีของกูตามมา แต่ทันทีที่เรารู้สึกตัวขึ้นมา ความหลงหาย เหมือนกับความมืดหายเมื่อเจอแสงสว่าง การปรุงตัวกูก็ไม่มี ตัวกูก็ดับไป เมื่อตัวกูดับไป มันก็เบา มันเป็นภาวะที่เบา เพราะวางอารมณ์ลง เพราะว่าไม่แบกตัวกู มันก็ทำให้เกิดความสุขอย่างลึกๆ เป็นความสุขเพราะว่าเบา เพราะว่าสบาย ไม่ใช่สุขเพราะว่าตื่นเต้นที่ได้เสพสิ่งที่น่าพอใจ อาหารที่อร่อย เพลงที่ไพเราะ สัมผัสที่น่าเร้าใจ มันไม่ใช่อย่างนั้น มันคนละรสชาติ เป็นความสุขที่เป็นความเบา ความสบาย ความโปร่งโล่ง แล้วความรู้สึกตัวนี้มันก็หล่อเลี้ยงด้วยสติ ไม่ลืมกายไม่ลืมใจ
ในการปฏิบัติของเรานี้ เราสร้างความรู้สึกตัวได้ เราสร้างสติได้ จากการฝึกให้จิตรู้กายก่อน กำหนดที่การเคลื่อนไหว เช่น การเดินจงกรม การสร้างจังหวะ เป็นต้น กำหนดในที่นี้คือความใส่ใจ ไม่ได้แปลว่าเพ่ง ใส่ใจกับเพ่งไม่เหมือนกัน เวลาเราทำครัว หั่นผัก เราใส่ใจกับการทำครัว ใส่ใจกับการหั่นผัก เราไม่ได้เพ่ง สังเกตหรือเปล่า เวลาหั่นผักเราไม่ได้เพ่ง แต่ว่าเราใส่ใจ เมื่อเราใส่ใจตรงนั้นแหละคือเราทำด้วยสติ และก็จะเกิดความรู้สึกตัวตามมา เราก็จะหั่นผักได้ถูกต้องเมื่อมีความรู้สึกตัว ถ้าไม่มีความรู้สึกตัว เราก็จะทำไปตามความเคยชิน เวลาเราขับรถ บ่อยครั้งเราก็เผลอไป เลยอยากจะไปหาเพื่อน มีธุระ แต่ว่าช่วงที่ใจลอยนี่ พอถึงถนนหรือทางแยกที่เลี้ยวเข้าบ้าน เราก็เลี้ยวเลย ทำอย่างนั้นเป็นอัตโนมัติ เป็นนิสัย ทำอย่างนี้ทุกวันๆ ช่วงที่ใจลอยนี่มันลืมไปเลยว่าจะไปหาเพื่อน จะไปธุระ มันเลี้ยวซ้ายเข้าบ้านเฉยเลย นี่เรียกว่าลืมตัวแล้วก็เลยทำอะไรผิดๆพลาดๆ
การที่เราปฏิบัติโดยกำหนดที่กาย มันทำเรารู้สึก รู้สึกว่ามือเคลื่อนไหว รู้สึกว่าตัวกำลังเดิน เมื่อมีความรู้สึกตัวก็มีความรู้สึกว่ากายทำอะไร มันไปด้วยกันความรู้สึกตัวกับการรู้สึกว่ากายกำลังทำอะไร แต่ถ้าไม่รู้ตัวหรือลืมตัวเมื่อไหร่ยกมือก็ไม่รู้สึกว่ามือยก เดินก็ไม่รู้สึกว่าตัวกำลังเดิน เวลาครูบาอาจารย์บอกว่าให้รู้สึกๆ นี่ก็คืออันนี้คือให้กลับมารู้สึกตัว มันจะได้รู้สึกว่ามือกำลังเคลื่อน อย่างนี้เขาเรียกว่ารู้กายเคลื่อนไหว คือรู้สึกเมื่อกายมันเคลื่อนไหวซึ่งไม่ใช่แค่ยกมือหรือเดิน กินข้าว อาบน้ำ อิริยาบถใหญ่ อิริยาบถย่อย เช่น กลืนน้ำลาย กระพริบตา อันนี้เวลาเราทำเราก็จะรู้สึกได้ แต่ถ้าเราไม่รู้สึกตัวหรือไม่รู้ตัว เดินก็ยังไม่รู้เลยว่าเดิน
การปฏิบัติใหม่ๆ เริ่มที่รู้กายเคลื่อนไหว ให้กายเป็นฐานของใจ เพราะว่าถ้าไม่มีการเคลื่อนไหว ใจจะลอย หลวงพ่อเทียนท่านจะสอนว่าเวลาทำอะไรอย่าอยู่นิ่งๆ อย่าอยู่เฉยๆ เช่นในขณะที่รอกินอาหาร รอเพื่อน รอรถ เราก็เคลื่อนไหวสร้างอิริยาบท อาจจะยกมือ หรือถ้ายกมือไม่สะดวก เราก็คลึงนิ้วไปกระดิกนิ้วไป ขณะที่กำลังถ่ายอุจาระถ่ายปัสสาวะ หรือขณะที่เรารอโยมใส่บาตรเราก็กระดิกนิ้วไป ตามลมหายใจไปด้วย อย่าอยู่เฉยๆ ต้องมีการเคลื่อนไหว อาศัยการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติ เช่น ลมหายใจ หรือว่าสร้างมันขึ้นมา อันนี้เพื่อให้ใจมันมีฐาน มีที่ตั้ง ไม่เช่นนั้นใจจะลอย ลอยไปข้างนอกบ้าง ไหลไปอดีตบ้าง อนาคตบ้าง ในอารมณ์บ้าง ต้องหางานให้จิตทำ แต่ไม่ใช่เป็นงานที่เป็นความคิดฟุ้งซ่าน แต่เป็นแค่ความรู้สึก ให้จิตรู้สึกว่ามือเคลื่อนไหว รู้สึกว่าลมหายใจเข้าออก ให้จิตรู้สึกว่ามือกระดิกนิ้วกระดิก ตรงนี้มันทำให้สติเกิดขึ้น คือว่ารู้กาย คือว่าระลึกได้ ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ใช้ความรู้สึกของกายเป็นตัวเลี้ยงสติให้มันโต
ต่อไปเวลามันลืมตัว ไม่มีสติ พอรู้สึกว่ามือเคลื่อนไหว พอรู้สึกว่าเท้ากำลังเดิน มันเรียกสติกลับมาเลย หรือเรียกอีกอย่างว่าจิตกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว ทีแรกมีสติ อยู่กับการเคลื่อนไหวหรือรู้สึกถึงการเคลื่อนไหว แต่ต่อไปนี้การเคลื่อนไหวนี่แหละที่จะเรียกสติกลับมา มันจะเรียกจิตให้กับมาอยู่กับเนื้อกับตัว เพราะว่าจิตมันจำได้ว่า การเคลื่อนไหวนี่แหละ ความรู้สึกที่มือเคลื่อนไหว เท้าเดินไปมานี่แหละ มันหมายถึงการมีสติ ทีแรกมีสติอยู่กับการเคลื่อนไหว มีสติอยู่กับการเดิน มีสติอยู่กับการสร้างจังหวะ แต่ต่อไปตอนลืมสติ การรู้สึกที่กายเคลื่อนไหวนี่มันจะไปเรียกสติกลับมา เราจะสังเกตได้ว่าหลายครั้งที่ใจลอย แต่สักพักจู่ๆ ก็รู้สึกได้ว่ามือกำลังเคลื่อนไหว เพียงแค่แวบเดียวเกิดความระลึกได้เลยว่านี่เรากำลังปฏิบัติอยู่ นี่เรากำลังสร้างจังหวะอยู่ หรือว่านี่เรากำลังฟังอยู่ เวลาเรายกมือสร้างจังหวะอยู่หรือว่ากำลังคลึงนิ้วขณะที่นั่งฟังอยู่มันก็มีประโยชน์อย่างหนึ่ง ก็คือว่าคอยเตือนสติให้กลับมาเวลามันเผลอไป จิตมันจำได้แล้วว่าเคลื่อนไหวของมือของเท้า ไม่จะเป็นสร้างจังหวะ กระดิกนิ้วหรือว่าการเดินไปมา มันคือเสียงเรียกให้จิตกลับมาจากอดีต จากอนาคต อันนี้แสดงว่าจิตมันจำได้ การที่จิตจำได้อันนี้เรียกว่าสติ สติหรือความระลึกได้ ความจำได้
ดังนั้นการสร้างจังหวะหรือการฝึกให้จิต รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของกายนี้ สำคัญมากในการสร้างสติให้เกิดมีขึ้น จิตมันจำได้ เหมือนกับเวลาเราเจอภาษาต่างประเทศ เจอคำๆ หนึ่ง ถ้าเราท่องคำนั้นจนขึ้นใจ พอเห็นคำนั้น เช่น mindfulness คำว่าสติ มันเกิดขึ้นในใจเลย เพราะว่ามันเชื่อมโยงได้ระหว่างคำว่า mindfulness กับสติ จิตนี้มันจะเรียนรู้ได้เร็ว ต่อไปมันจะเชื่อมระหว่างการเคลื่อนไหวมือ การเคลื่อนไหวเท้า การเดิน กับสติหรือความรู้ตัว เพราะฉะนั้นเวลาจิตมันลืมตัวไป ไหลไปนู่นลอยไปนี่ พอรู้สึกตัว พอรู้สึกว่ามือเคลื่อนไหว เท้าเดินไปเดินมา มันเรียกสติกลับมาเลย แล้วตรงนี้แหละที่จะทำให้สติเจริญงอกงามมากขึ้น หลังจากนั้นพอรู้กายเคลื่อนไหวแล้วต่อไปพอสติเราไวมันจะรู้ใจคิดนึก เมื่อใจเผลอคิดนึกไปมันก็จะรู้ทัน
ดังนั้นรู้กายเคลื่อนไหวรู้ใจคิดนึก หรือเห็นใจคิดนึก มันเป็นหลักการสำคัญของการเจริญสติ ทีแรกให้กายกับใจมาอยู่ด้วยกันก่อน หลักข้อแรกคือตัวอยู่ไหนใจอยู่นั่น คนที่สงสัยว่าการเจริญสติทำอย่างไร ก็ให้รู้ว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้ตัวอยู่ไหนใจอยู่นั่น อาบน้ำก็ไม่ใช่อาบแต่ตัว แต่ใจก็อยู่ด้วย กินข้าวก็ไม่ได้กินแต่ตัว แต่ใจก็อยู่ด้วย ไม่ใช่ตัวอยู่นี่ใจอยู่นั่น อันนั้นไม่ใช่ ตัวอยู่ไหนใจอยู่นั่น หลังจากนั้นมันก็จะเห็นกายเคลื่อนไหว หรือรู้กายเคลื่อนไหวเห็นใจคิดนึก พอเห็นใจคิดนึก ขั้นต่อมาคือว่า ไม่ว่าจะเห็นความคิดอะไร อารมณ์อะไร ก็เห็นแบบเฉยๆ รู้เฉยๆ รู้ซื่อๆ ไม่ใช่เห็นแล้วจะไปกดข่ม ไม่ใช่เห็นแล้วไปตะปบ ให้รู้หรือเห็นแบบเป็นกลางๆ ตรงนี้แหละที่คำว่ารู้ซื่อๆ มันมีความหมาย รู้กายเคลื่อนไหวเห็นใจคิดนึก รู้ว่ามีเวทนาเกิดขึ้นกับกาย รู้ว่ามีอารมณ์โกรธเกิดขึ้นกับใจ ก็แค่รู้เฉยๆ แค่รู้เท่านั้นก็พอแล้ว ไม่ต้องไปทำอะไรกับความคิดนั้น อย่าพยายามไปกดข่มความโกรธ
เคยมีคนถามหลวงปู่ดุลย์ อตุโล ลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของหลวงปู่มั่น ถามว่าหลวงปู่ทำอย่างไรถึงจะตัดความโกรธให้ขาด หลวงปู่ตอบว่า ไม่มีใครตัดความโกรธให้ขาดได้ มีแต่รู้ทันมัน เมื่อรู้ทันมัน มันก็ดับไป รู้ทันก็คือรู้ซื่อๆ นี่แหละ เมื่อรู้ซื่อๆ แล้วมันก็จะเห็นไม่เข้าไปเป็น แต่ถ้าไม่รู้ซื่อๆ เมื่อไหร่ จะเข้าไปกดข่มมัน มันเข้าไปเป็นทันทีเลย อยากจะผลักไส ความโกรธจะกลายเป็นผู้โกรธทันที รู้ซื่อๆ ทำให้เห็น ไม่เป็น ฉะนั้นการเห็นนี่แหละมันสำคัญมาก เมื่อเรามีสติความรู้สึกตัว เราจะเห็นกายเห็นใจอย่างที่มันเป็น ไม่ใช่อย่างที่อยากเป็น
ดังนั้น จับหลักการเจริญสติให้ได้ อย่างที่พูดย่อๆ มาก็จะช่วยทำให้ความรู้ตัว ความเป็นผู้ตื่นผู้เบิกบาน มันเกิดขึ้นกับทีละนิด ๆ จริงๆ ใจของเรานี้มันผ่องใสอยู่แล้ว แต่ที่มันทุกข์เพราะว่ามันมีกิเลส มันมีอารมณ์ต่างๆ เข้ามาจร อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เดิมจิตนั้นประภัสสร แต่มันเศร้าหมองเพราะว่ากิเลสจรเข้ามา เมื่อไหร่ก็ตามที่เราปล่อยให้กิเลสผ่านเลยไป ไม่ยึดไม่เหนี่ยวมันเอาไว้ สุดท้ายใจก็ประภัสสรเหมือนเดิม ความรู้สึกตัวนี้มันทำให้เราได้สัมผัสได้เข้าใกล้กับจิตประภัสสร ซึ่งเป็นความตื่น และนำมาซึ่งความเบิกบาน