แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ทุกเย็นหลังจากสวดมนต์เรามีการกรวดน้ำ กรวดน้ำตอนเย็นเรียกแบบภาษาชาวบ้าน เพราะว่าไม่จำเป็นต้องมีน้ำให้กรวดก็ได้ เป็นการอุทิศส่วนบุญแล้วก็แผ่ส่วนกุศลให้กับสรรพสัตว์ ถ้าเราพิจารณาที่สาธยายเมื่อสักครู่ จะเห็นได้ว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่แสดงถึงจิตวิญญาณของชาวพุทธ หรือจะแสดงถึงอุดมคติของชาวพุทธก็ได้ อุดมคติคือคติที่สูงส่งที่งดงาม นั่นคือเมื่อเราได้ทำความดี ได้สร้างบุญสร้างกุศลมาตลอดทั้งวัน เราไม่หวงแหนเอาไว้กับตัว แต่เราก็แผ่ออกไป
เดี๋ยวนี้มีความเชื่อแปลกๆ ว่าเมื่อเราทำความดีแล้วอย่าอุทิศส่วนกุศลให้ใคร เดี๋ยวบุญกุศลของเรามันจะหดหายไป มีคนเชื่อแบบนี้ แล้วก็มีคนสอนแบบนี้ด้วย สิ่งนี้แสดงถึงความเห็นแก่ตัวที่ไม่ใช่วิสัยของชาวพุทธ เดี๋ยวนี้เห็นแก่ตัวหรือตระหนี่แม้กระทั่งหวงบุญไม่แผ่ให้ใครเลย ไม่น่าเชื่อว่ามีคนที่คิดแบบนี้ แล้วก็เชื่อแบบนี้ แล้วก็สอนแบบนี้ด้วย ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะมีคนเคยมาถามว่า จริงหรือไม่ว่าถ้าเราแผ่บุญอุทิศส่วนกุศลให้ใครแล้ว บุญกุศลของเราจะเหลือน้อยลง บุญกุศลไม่เหมือนเงิน เงินนี่ถ้าเราให้คนอื่นไปเงินในกระเป๋าก็จะหลือน้อยลง แต่ได้ความสุขกลับคืนมาสิ่งนี้ก็เรื่องหนึ่ง แต่บุญกุศลถ้าเรายิ่งแผ่ไป แล้วยิ่งเราแผ่ให้คนอื่น บุญกุศลของเรายิ่งได้มากยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น บุญชนิดนี้เรียกว่า “ปัตติทานมัย” ปัตติทานมัยคือบุญที่เกิดจากการอุทิศส่วนกุศล
คนที่พูดหรือคนที่สอนว่า แผ่ส่วนบุญไปมากๆ ให้กับคนอื่นแล้วบุญกุศลของเราจะเหลือน้อยลง แสดงว่าเขาไม่เข้าใจไม่รู้จักปัตติทานมัย ปัตติทานมัยบอกในตัวอยู่แล้วว่า การที่เราอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้อื่นคือการทำบุญอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้บุญเราเพิ่มพูนมากขึ้น แล้วก็อย่างที่เราได้สาธยายเราแผ่บุญอุทิศส่วนกุศลไปให้นี้จะถึงหรือไม่เราไม่รู้ แต่อย่างน้อยแสดงถึงเจตนารมณ์ของเราที่ไม่หวงแหนแล้วก็พร้อมที่จะแบ่งปัน และไม่ได้แบ่งปันเฉพาะคนที่เรารัก เช่นพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ แต่แผ่ไปให้แม้กระทั่งสรรพสัตว์ ทั้งข้างบนข้างล่าง ไม่ใช่แค่เทวดามารพรหมพระอินทร์ แต่รวมไปถึงดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ซึ่งคือเป็นตัวแทนของธรรมชาติ แล้วก็สัตว์เล็กสัตว์น้อยก็อยู่ในความคิดคำนึงของเรา ที่อยากจะให้เขาได้ประสบความสุข ไม่ใช่เฉพาะคนที่เรารัก ที่เราเฉยๆ หรือแม้กระทั่งคนที่เราเกลียดหรือคนที่มุ่งร้ายต่อเรา เราก็แผ่ให้เขา อย่างที่เราสวด “ผู้เป็นกลาง ผู้จ้องผลาญ” ผู้เป็นกลางคือผู้ที่เรารู้สึกเฉยๆกับเขา หรือเขาเฉยๆกับเรา ไม่ชอบไม่ชัง หรือแม้กระทั่งคนที่จองล้างจองผลาญเรา ก็แผ่ให้ เพราะนี่คือวิสัยของชาวพุทธ เรามีเมตตา เราเชื่อในเมตตาที่ไม่มีประมาณ ใครเขาจะมุ่งร้ายกับเราเพียงใดเราก็ไม่ได้โกรธเคืองเขา เขาจะโกรธเคืองเราหรือไม่เป็นเรื่องของเขา แต่เราไม่โกรธไม่เคือง ถ้าใครโกรธเคืองแบบนี้ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าเคยตรัสกับสาวกทั้งหลายกับพระว่า “แม้มีคนเอาเลื่อยมาเลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่ของเรา แต่ถ้าหากว่าเรามีจิตคิดแปรผัน มีจิตมุ่งร้าย กล่าววาจาชั่วหยาบ หรือปรารถนาจะทำร้ายเขา ผู้นั้นชื่อว่าไม่ได้ทำตามคำสอนของเราตถาคต” (เราในที่นี้หมายถึงว่าเราแต่ละคน ไม่ได้หมายถึงพระพุทธเจ้า) พระพุทธเจ้าท่านตรัสถึงขนาดนี้เลย อย่าว่าแต่เขาด่าว่าเราเลย หรือเขารังแกเรา เขาก่อกวน เขาเลื่อยขาเก้าอี้เรา แม้กระทั่งเขาเลื่อยตัวเรา เพียงแค่จิตคิดแปรผัน มุ่งร้าย หรือกล่าววาจาชั่วหยาบ ก็ถือว่าไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ สิ่งนี้คืออุดมคติของชาวพุทธ ทำได้หรือไม่ได้ไม่เป็นไร แต่ให้รู้ว่าสิ่งที่ควรทำคืออะไร
วิสัยของปุถุชนย่อมเผลอย่อมพลาด แต่เรารู้ว่าเรามีธงอยู่ข้างหน้าว่านี่คือสิ่งที่เราจะทำให้ได้ ในทำนองเดียวกันเวลาใครว่าเราและเราด่าตอบ พระพุทธเจ้าท่านก็ตำหนิ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ผู้ใดที่โกรธคนที่ด่าว่า ผู้นั้นถือว่าเลวกว่าเขา เพราะว่าได้ทำร้ายทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน” เขาโกรธเราเขาด่าว่าเราแล้วเราด่าตอบนี่ เราโง่กว่าเขาเราเลวกว่าเขา เพราะว่าเราทำร้ายทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ประโยชน์ตนคือเมื่อเราโกรธเราด่าว่าเขา จิตใจเราก็รุ่มร้อนเป็นทุกข์ เผลอๆผิดศีลด้วย แล้วก็ทำร้ายประโยชน์ของเขาคือเป็นการเบียดเบียนเขาไปด้วย
เพราะฉะนั้นเวลาแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศล เราจึงควรที่จะแผ่ให้แม้กระทั่งคนที่เขามุ่งร้ายกับเรา ขุ่นข้องหมองใจเรา หรือคนที่เราขุ่นข้องหมองใจเขา ไม่ใช่ว่าแผ่เมตตาให้เฉพาะคนที่รักเราหรือคนที่มีบุญคุณกับเรา แบบนั้นใครๆก็ทำได้ โจรก็ทำได้อุทิศกุศลให้กับพ่อแม่ แต่เราชาวพุทธเราต้องไปมากกว่านั้น คือคนที่เขามุ่งร้ายกับเรา เราก็แผ่ไปให้ด้วยความจริงใจ ซึ่งจะเป็นผลดีกับเราเองด้วยซ้ำ คือจะช่วยลดความโกรธความพยาบาท เพราะความพยาบาทความโกรธเกิดขึ้นกับใครก็ตามก็เผาลนจิตใจคนนั้น ทำให้เกิดแผลในใจขึ้นมา และยิ่งโกรธยิ่งพยาบาทแผลในใจยิ่งเรื้อรัง เวลาเรามีแผลตามเนื้อตามตัวตามขา เราก็ต้องรักษาเราก็ต้องหายามารักษา แผลในใจ อะไรคือยาที่จะรักษาได้ ก็คือการให้อภัย หรือดียิ่งกว่านั้นคือการแผ่เมตตาให้เขา อาตมาเรียกว่าเป็นยาสามัญประจำใจ
ทุกบ้านมียาสามัญประจำบ้านแล้ว แต่ยังไม่พอ แต่ละคนต้องมียาสามัญประจำใจ คือการรู้จักให้อภัย แล้วก็การแผ่เมตตา แผ่ความปรารถนาดีให้แก่เขา สิ่งนี้เป็นวิสัยของชาวพุทธ เป็นอุดมคติที่เราควรไปให้ถึง หลายคนบอกว่าจะให้อภัยได้ก็ต่อเมื่อเขาขอโทษเรา คำถามคือทำไมต้องรอให้เขาขอโทษเรา ไม่ต่างจากคนที่ถูกรถชนกลางถนนแล้วคนขับหนี สมมติว่าเราถูกรถชนนอนพังพาบแขนหักขาหัก และรถก็ชนแล้วหนี คราวนี้รถพยาบาลมารับเราไปโรงพยาบาลเพื่อรักษา แต่เราบอกว่าเราจะไม่ยอมขึ้นรถพยาบาล เราจะไม่ยอมรักษาจนกว่าคนขับรถนั้นที่ชนแล้วหนีกลับมาขอโทษเรา ปกติเราทำแบบนี้ไหม คนฉลาดทำแบบนี้หรือไม่ ฉันจะไม่ไปโรงพยายบาลเด็ดขาดจนกว่าเขาจะมาขอโทษฉัน ใครที่คิดแบบนี้ใครที่พูดแบบนี้ก็ถือว่าโง่ เพราะว่าการรักษาตัวเราเป็นเรื่องเร่งด่วนกว่า ไม่ว่าจะเป็นแขนขาหักหรือมีแผล เราต้องรีบรักษาก่อน ส่วนใครเขาจะมาขอโทษหรือไม่ นั่นเป็นเรื่องทีหลัง
ในทำนองเดียวกัน เวลาเราถูกคนทำร้ายจิตใจหรือถูกกลั่นแกล้ง แล้วเราเกิดความโกรธขึ้นมา นั่นเรามีแผลในใจแล้ว และถ้าเราไม่รีบรักษาแผลในใจเรา บอกว่าเขาต้องมาขอโทษฉันก่อนฉันจึงให้อภัย คนนั้นเรียกว่าไม่ต่างจากตัวอย่างที่อาตมาได้ยกขึ้นมา การรักษาแผลในกายเป็นเรื่องเร่งด่วนอย่างไร การรักษาแผลในใจก็เร่งด่วนอย่างนั้น ไม่ควรจะรอให้คนที่ก่อปัญหาหรือคนที่ทำร้ายเรามาขอโทษก่อน การขอโทษเป็นหน้าที่ของเขา แต่การรักษาแผลในใจเป็นหน้าที่ของเรา ถ้าเรารักตัวเราต้องรีบรักษาแผลในใจ คือให้อภัย ไม่มีเหตุผลอื่น ไม่มีข้ออ้างอื่นแล้ว
ดังนั้นการแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้จ้องผลาญจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เรื่องนั้นคือครึ่งแรกของบทกรวดน้ำตอนเย็น เป็นเรื่องของความรู้สึกสำนึกถึงจะเรียกว่าบุญคุณ หรือความรู้สึกเป็นเพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตายทั้งหมดที่สาธยายมา ตั้งแต่เทวดา มาร พรหม ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ พ่อแม่ อุปัชฌาย์ อาจารย์ ผู้เป็นกลาง ผู้จ้องผลาญ พวกนี้เราแผ่ให้หมด เพราะเราถือว่าเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ไม่ว่าจะอยู่ในภพภูมิใด ถือว่าเป็นเพื่อนร่วมทุกข์แม้กระทั่งเทวดามารพรหม ก็ถือว่าเป็นเพื่อนร่วมทุกข์เพื่อนร่วมสังสารวัฏ ไม่ได้เหนือไปกว่าเรา
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เทวดา มาร พรหม ถึงแม้ว่าเขาจะมีฤทธิ์ปาฏิหาริย์อย่างไร เราก็ไม่ได้สยบยอมถือว่าเขาเหนือกว่าเรา และเราก็ไม่เห็นว่าสัตว์เดรัจฉานต่ำกว่าเรา แต่เราถือว่าเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ ร่วมวัฏสงสาร” เราได้บุญได้กุศลมาเราก็แผ่ให้หมด เราไม่ได้คิดจะวิงวอนอ้อนวอนร้องขอเทวดาเลย สิ่งนี้เป็นวิสัยของชาวพุทธที่ไม่ได้วิงวอนร้องขอเทวดามารพรหม ถึงแม้จะมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เพียงใด เราถือว่าเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ที่ต่างก็เกื้อกูลกัน และด้วยการทำอย่างนี้ที่ทำให้มนุษย์เราสามารถจะอยู่เหนือเทวดามารและพรหมได้ แม้กระทั่งพรหมก็ต้องมาเคารพนบนอบมนุษย์ อย่างที่ได้มาเคารพนบนอบพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย ไม่ได้ร้องขอ ไม่ได้วิงวอน แต่มีพัฒนาการในคุณธรรม เราเคารพกันด้วยคุณธรรม เราไม่ได้เคารพกันเพราะว่าเขามีอิทธิปาฏิหาริย์มากกว่า เขามีอำนาจเหนือกว่าเรา ไม่ใช่
เป็นวิสัยของชาวพุทธคือเคารพกันด้วยคุณธรรม เทวดาอาจจะมีคุณธรรมน้อยกว่ามนุษย์ เทวดาที่มีคุณธรรมน้อยกว่ามนุษย์ อนาถบิณฑิกเศรษฐีเคยไล่เทวดาประจำบ้านออกไป เทวดานี่ไม่ใช่อยู่ประจำบ้าน เขามาอาศัยอยู่ที่ซุ้มประตูแล้วก็แนะนำให้อนาถบิณทิกะอย่าไปให้ทานกับพระสงฆ์ เพราะว่ายิ่งให้ทานยิ่งจนลง ยิ่งให้ทานยิ่งจน เทวดาไม่รู้ว่าประจบหรือหวังดีก็บอกว่าอย่าให้ทานเลย ท่านยิ่งให้ทานท่านยิ่งจนลง อนาถบิณฑิกะไล่เทวดาไปเลย เทวดาก็ยอมเพราะว่าอนาถบิณฑิกะคุณธรรมสูงกว่าเป็นพระโสดาบัน เทวดาไปรู้สึกผิดมาขอโทษอนาถบิณฑิกะ ในคติวิสัยของชาวพุทธเราไม่ได้คิดว่าเทวดาเหนือกว่า แต่ถ้าลัทธิคติฮินดูหรือพราหมณ์ก็จะยกย่องเทวดามากถึงกับเคารพนบนอบ มีศาลพระพรหม ศาลพระพิฆเนศ แต่ชาวพุทธเรา เราเคารพในทางที่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย จะเคารพก็ต่อเมื่อมีคุณธรรมเหนือกว่า
คราวนี้อย่างที่บอกไว้แล้วคือครึ่งหนึ่งของบทกรวดน้ำตอนเย็น อีกครึ่งหนึ่งจะเป็นเรื่องว่า เป็นการคล้ายๆเหมือนกับการตั้งจิตอธิษฐาน อธิษฐานในที่นี้ไม่ได้แปลว่าร้องขอ หรือจะเป็นการร้องขอก็ไม่ใช่ ขอให้ร่ำรวย ขอให้ประสบความสำเร็จ ขอให้มีโชคมีลาภ ไม่มีเลย ที่เราสาธยายไม่มีตรงนี้เลย ซึ่งอาจจะต่างจากเวลาเราไปทำบุญ เราจะขอโน่นขอนี่ ในสิ่งที่เราขอไม่มีในบทกรวดน้ำตอนเย็น ไม่ได้ขอให้ร่ำรวย ไม่ได้ขอให้มีชื่อเสียง ไม่ได้ขอให้ประสบความสำเร็จ แต่ขออะไร ขอให้เราตัดซึ่งตัณหาอุปาทาน สิ่งชั่วในดวงใจ ให้มลายสิ้นจากสันดาน คือขอให้กิเลสเหล่านี้มันหายไปจากใจของเรา “เราพลันได้ซึ่งการตัด ตัวตัณหาอุปาทาน สิ่งชั่วในดวงใจ มลายสิ้นจากสันดาน ทุกๆภพที่เราเกิด” และขออะไรอีก “ขอให้มีสติ ทั้งปัญญาประเสริฐ พร้อมทั้งความเพียรเลิศ เป็นเครื่องขูดกิเลสหาย” จิตตรงก่อน มีจิตตรงและสติทั้งปัญญาประเสริฐ พร้อมทั้งความเพียรเลิศ เป็นเครื่องขูดกิเลสหาย เพราะว่าชาวพุทธเรารู้ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญมากกว่าความมั่งมีความร่ำรวย
ความมั่งมีร่ำรวยมีชื่อเสียงไม่ได้แปลว่าจะทำให้เป็นสุข ไม่ได้เป็นหลักประกันแห่งความสุขเลย เพราะถ้าหากว่าร่ำรวยแล้วมีความสุข คนยุคนี้ต้องมีความสุขกว่าคนในอดีต คนในเมืองต้องมีความสุขมากกว่าคนในชนบท ลูกต้องมีความสุขมากกว่าพ่อ เพราะว่าส่วนใหญ่ลูกรวยกว่าพ่อมีเงินมากกว่าพ่อหรือแม่ แต่อย่างที่เรารู้ คนชนบทจำนวนมากมีความสุขกว่าคนในเมือง คนในอดีตมีความสุขมากกว่าคนในปัจจุบัน รู้ได้อย่างไร รู้จากยาคลายเครียด ยาระงับปวด ยาระงับโรคประสาทต่างๆ เพิ่มขึ้นทุกปีๆๆ คนที่ไปโรงพยาบาลโดยเฉพาะโรงพยาบาลประจำจังหวัดเพราะโรคเครียดเยอะมาก หมอให้ยาระงับความเครียดหรือเกี่ยวกับโรคจิตประสาทพวกนี้ไม่น้อยกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 ใน 4 ไม่ใช่ยารักษากายแต่เป็นยารักษาใจมากกว่าเพราะความเครียด ไม่ต้องพูดถึงยาเสพติดที่มันแพร่ระบาด หรือจำนวนคนที่เข้าโรงพยาบาลโรคจิตโรคประสาท มีสาเหตุเพราะว่าคนยุคนี้มีความทุกข์ใจมากกว่าทั้งๆที่รวยกว่า เพราะฉะนั้นความร่ำรวยไม่ใช่หลักประกันแห่งความสุข
ถ้าต้องการความสุขที่แท้จริง ต้องให้ตัณหาอุปาทานลดลง ให้อกุศลธรรมลดลง กุศลธรรมเพิ่มขึ้น กุศลธรรมคือจิตตรงมีสติทั้งปัญญาประเสริฐ พร้อมทั้งความเพียรเลิศ เพื่อใช้ขูดกิเลสให้มันหาย ให้มันลดทอนลงไป นี่คือคติของชาวพุทธ เราไม่ได้ปรารถนาให้มีทรัพย์ มีความมั่งมี หรือให้มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับเรา มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับเรา แต่ถ้าใจเราเต็มไปด้วยตัณหาอุปาทานหรือมีกิเลสมาก เราได้เท่าไรเราก็ยังทุกข์เพราะว่าไม่รู้จักพอ หรือได้เท่าไรก็ยังรู้สึกว่าเสีย อย่างที่พูดเคยพูดเด็กได้เงิน 10 บาทแต่เด็กไม่พอใจ เพราะว่าเด็กรู้สึกว่าเขาเสีย 90 เพราะแต่ก่อนเขาได้ 100 เขาลืมไปว่า ตอนก่อนหน้านั้นเล่นฟุตบอลเขาเล่นโดยที่ไม่ได้เงินเขาก็ยังสนุกและเขาก็เล่น แต่พอได้ 100 แล้วเหลือ 50 แล้วเหลือ 10 บาท เขาไม่พอใจแล้วเพราะเขาคิดว่าเขาเสีย 90 อย่างนั้นได้ 10 ก็ยังทุกข์ เพราะมองไม่เป็น เพราะมองแต่ลบ หรือไม่มีสติ หรือมีความโลภ
และคนสมัยนี้ไม่ใช่แค่อยากรวย แต่ต้องการรวยกว่า ไม่ใช่อยากรวยแต่ต้องการรวยกว่าคือถึงแม้จะได้มีเงิน 100 ล้าน แต่ถ้าเพื่อนๆได้ 1,000 ล้าน ตัวเองทุกข์ ตัวเองเครียดเลย แต่จะหายเครียดก็ต่อเมื่อรวยกว่าคนที่อยู่รอบตัว รวยกว่าเพื่อนบ้าน รวยกว่าเพื่อนร่วมรุ่น เห็นเพื่อนรวมรุ่นเขารวยกันทั้งนั้น เราก็รวยแต่เรารวยน้อยกว่าเขาเราก็ทุกข์ ฉะนั้นจึงบอกว่าคนทุกวันนี้ไม่ได้อยากรวยแต่อยากรวยกว่า ไม่ใช่แค่อยากสวยแต่อยากสวยกว่า ตัวเองก็สวยอยู่แล้วแต่ก็ทุกข์เพราะคนอื่นสวยกว่า แล้วอย่างนี้เท่าไรถึงจะพอ เท่าไรถึงจะมีความสุข ไม่มีทางที่จะมีความสุขได้ถ้าเกิดว่าตัณหาอุปาทานยังเพิ่มพูนไม่ได้ลดน้อยถอยลงเลย แต่เราจะมีความสุขขึ้นทันทีเมื่อตัณหาอุปาทานลดลง และเมื่อสติปัญญาและความเพียรเจริญงอกงามมากขึ้น และคนที่มีปัญญาเขาจะรู้เลยว่า ชีวิตจะมีความสุขได้ต้องมีตรงนี้ คือคุณธรรมภายใน คุณภาพภายใน ไม่ใช่เพราะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นภายนอก
มีเรื่องราวในชาดก ชาดกคือเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าที่เราเคารพกราบไหว้กันนับถือเป็นสรณะ ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะอุบัติท่านเป็นพระโพธิสัตว์มาก่อนหลายชาติทีเดียว เป็นร้อยๆชาติ มีชาติหนึ่งท่านเป็นฤาษี บำเพ็ญตบะจนกระทั่งท้าวสักกะคือพระอินทร์ศรัทธานับถือ แล้ววันหนึ่งก็มาเพื่อประทานพร บอกกับฤาษีชื่อกัณหาว่า ท้าวสักกะอยากจะประทานพร 4 ประการให้ เราลองนึกว่าเทวดามาหาเราแล้วเพราะว่าเราทำความดีทำความเพียร เทวดาบอกว่าจะให้พร 4 ประการ เราจะขออะไร เราอาจจะรู้สึกว่าพร 4 ประการน้อยไป ขอมากกว่านี้ได้ไหม
กัณหาฤาษีขออะไร ขอว่า 1.ไม่โกรธ 2.ไม่มีโทสะ 3.ไม่โลภ 4.ไม่มีเสน่หา เทวดาให้ได้ไหม เทวดาให้ไม่ได้ แต่กัณหาฤาษีรู้เลยว่าได้อย่างอื่นอย่างไรก็ทุกข์ แต่ถ้าไม่โกรธ ไม่มีโทสะ ไม่โลภ ไม่มีเสน่หา เสน่หาคือความรักใคร่ผูกพันเพื่อปรนเปรอตน ถ้าหากว่ามี 4 ประการนี้จะไม่มีทางทุกข์เลย แต่เทวดาให้ไม่ได้ เทวดาท้าวสักกะสามารถที่จะให้ทองให้เงินให้ความมั่งมี แต่คุณธรรม 4 ประการ หรือคุณสมบัติ 4 ประการนี้ ท้าวสักกะให้ไม่ได้ กัณหาฤาษีก็รู้ว่าให้ไม่ได้ แต่ก็ตอบไว้เช่นนั้นเพื่อให้รู้ว่าท่านไม่ได้ปรารถนาลาภยศความมั่งมีความร่ำรวยอะไรเลย เพราะท่านรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ช่วยทำให้มีความสุข หรือพ้นจากความทุกข์ได้
อีกชาติหนึ่งท่านก็เป็นพระโพธิสัตว์ แล้วก็เป็นฤาษีเหมือนกัน ท้าวสักกะศรัทธานับถือก็มาเยี่ยมแล้วประทานพร 4 ประการเหมือนกัน ทีแรกท่านขออะไร ท่านขอ 1.ขอให้ไม่เจอคนชั่ว 2.ไม่ได้สนทนาปราศรัยกับคนชั่ว 3.ไม่ได้อยู่ร่วมกับคนชั่ว และ 4.ไม่ยินดีในคนชั่ว เพราะว่ารู้ว่าคนชั่วหรือคนพาลไม่มีทางทำให้ชีวิตประสบความเจริญได้ ถ้าห่างไกลจากคนเหล่านี้ ไม่เห็น ไม่คุย ไม่อยู่ร่วม ไม่สนทนาปราศรัย ทั้งไม่เห็นไม่ได้ยินไม่สนทนาปราศรัยอยู่ร่วมชีวิตก็จะมีแต่ความเจริญ แต่เสร็จแล้วท่านคิดอีกที ท่านบอกว่าขอ 4 ข้อมากไป ขอข้อเดียวพอ ขอว่าอะไรรู้ไหม ขอว่าท่านอย่ามาหาเราเลย เพราะว่าถ้าท่านมาหาเราแล้วจะทำให้เราหวังพึ่งพาท่าน หวังพึ่งพรของท่านจะทำให้เราประมาท ขอข้อเดียวข้อนี้เทวดาท้าวสักกะทำให้ได้
เห็นคติของชาวพุทธหรือไม่ คติชาวพุทธคือ เราไม่ขอ หรือถ้าจะขอก็ไม่ใช่ขอสิ่งภายนอก แต่ขอสิ่งที่เป็นเรื่องคุณธรรมภายใน แต่การขอคุณธรรมภายในก็ไม่มีใครทำให้ได้นอกจากตัวเอง ในคำกรวดน้ำครึ่งหลังที่เราขอให้ “พลันได้ซึ่งการตัดตัวตัณหาอุปาทาน สิ่งชั่วในดวงใจ มลายสิ้นจากสันดาน ทุกๆภพที่เราเกิด” จริงๆก็ไม่เชิงขอใคร ไม่ใช่ขอใคร แต่เป็นการตอกย้ำกับตัวเองว่า คือสิ่งที่เป็นอุดมคติของเรา ที่เรามุ่งมั่นว่าจะสร้างให้มีขึ้นกับตัวเรา พูดง่ายๆคือขอตัวเอง บอกกับตัวเองว่าเราจะมุ่งสร้างสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นคือ จิตตรง สติปัญญาอันประเสริฐ และความเพียร เป็นการตอกย้ำกับตัวเองว่าเราจะเพียรพยายามเพื่อพัฒนาสิ่งนี้ขึ้นให้มาก เพราะเราถือว่าสิ่งนี้มีคุณค่ามากกว่าความสำเร็จทางโลก ลาภยศสุขสรรเสริญเหล่านั้นไม่ใช่สาระที่แท้ของชีวิต แต่เป็นคุณธรรมภายใน เพราะว่านี่เป็นวิสัยของบัณฑิตหรือผู้ฉลาด แต่ให้สังเกตว่าเดี๋ยวนี้เวลาทำบุญ เวลาใส่บาตร เวลาถวายสังฆทาน เราตั้งจิตอย่างไร เราขออะไร ขอมากมายไปหมดเลย ยกเว้นสิ่งที่เป็นคุณธรรมภายใน ขอให้มีสิ่งดีๆเกิดขึ้นกับเรามากมาย ลาภยศสุขสรรเสริญ แต่ไม่ได้สนใจสิ่งที่เป็นคุณธรรมภายใน แบบนี้ก็นับว่าน่าเสียดาย เพราะว่าเรากำลังมองข้ามอุดมคติของชาวพุทธไป
เพราะฉะนั้นการสวดบทกรวดน้ำทำวัตรเย็น เราอย่าทำเป็นเพียงแค่พิธีหรือทำไปตามความเคยชิน พิจารณาดูว่าทำไมท่านถึงเขียนอย่างนั้น มีเหตผลซึ่งอาจจะสวนทางกับความรู้สึกของคนทั่วๆไป เช่นการที่อุทิศส่วนกุศลให้เทวดามารพรหม อุทิศส่วนกุศลให้กับคนที่จ้องผลาญจ้องมุ่งร้ายทำลายล้างเรา เราก็แผ่เมตตาให้เขา หรือการที่เราตั้งจิตที่จะให้คุณธรรมภายในเจริญงอกงาม ให้กิเลสตัณหาลดน้อยลง ไม่ได้ขออะไรอย่างอื่นมากไปกว่านั้น หรือถ้าจะขอให้ขอสั้นๆ ขอนิพพาน คนสมัยก่อนเวลาใส่บาตรก็จะอธิษฐานหรือตั้งจิตกล่าวคำสั้นๆว่า “นิพพานะ ปัจจะโย โหตุ” ขอให้เป็นปัจจัยไปสู่พระนิพพาน แค่นั้นเอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้นไม่น้อยไปกว่านั้น ในขณะที่หลายคนขอยาวเลย
บางทีอาตมาไปบิณฑบาตก็รอเขาอธิษฐาน ประมาณหนึ่งนาทีสองนาทีได้ไม่จบสักที ขอหมดยกเว้นเรื่องคุณธรรมภายใน หรืออุดมคติสูงสุดของชาวพุทธ คือพระนิพพาน คนสมัยก่อนคนอีสานบางทีเขารู้สึกว่า "นิพพานะ ปัจจะโย โหตุ" สั้นไป เขาก็เขียนแล้วก็ท่องเป็นกลอนว่า “ข้าวของผู้ข้า (ผู้ข้าคือข้าพเจ้า) ขาวเหมือนดอกบัว ยกขึ้นเหนือหัว ถวายแด่พระสงฆ์ จิตใจจำนง มุ่งตรงต่อพระนิพพาน ขอให้ถึงเมืองแก้ว ขอให้แคล้วบ่วงมาร ขอให้ได้เกิดยุคพระศรีอาริย์” คือถ้าไม่ได้พระนิพพานในชาตินี้ ก็ขอให้ได้เกิดในยุคพระศรีอาริย์ไปเลย เพราะว่าพระศรีอาริย์คือพระพุทธเจ้าในอนาคต แล้วก็ถ้าได้เกิดในสมัยเดียวกับพระองค์ก็มีโอกาสที่จะได้เข้าถึงพระนิพพานได้ คือท่านเอาแค่นี้เอง คนสมัยก่อนเขารู้ว่านี่คืออุดมคติที่สูงสุดของชาวพุทธ ไม่มีอะไรที่สำคัญไปกว่านี้ มีเงินมีทอง มีความมั่งมีร่ำรวย ก็ไม่ใช่ว่าหายทุกข์ คนที่มาหาอาตมาเมื่อวานนี้ทั้ง 2 ราย ทั้งเช้าทั้งบ่ายรวยมากแต่เศร้าโศกเสียใจเพราะว่าลูกตาย คนหนึ่งตายเพราะอุบัติเหตุ ลูกสาวอีกคนหนึ่งตายเพราะถูกสามียิง แล้วเงินทั้งหมดที่มี แก้วแหวนเพชรนิลจินดาทั้งหมดที่มีช่วยไม่ได้เลยที่จะทำให้หายทุกข์ แต่ถ้าเรามีธรรมะ มีสติ มีปัญญา ก็จะปลดเปลื้องความทุกข์ได้
เพราะฉะนั้นให้เราตั้งจิตของเราให้ดี แม้กระทั้งคำว่า อธิษฐาน ต้องเข้าใจให้ดีว่าไม่ได้แปลว่าขอ อธิษฐานเป็นบารมี 1 ใน 10 ที่ทำให้พระโพธิสัตว์เป็นพระพุทธเจ้า อธิษฐานเป็นบารมี บารมีแปลว่าความดีอันยิ่งยวด ความตั้งใจมั่นหรือความตั้งใจแน่วแน่ ที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นความดีอันยิ่งยวด อธิษฐานไม่ได้แปลว่าขอ อธิษฐานแปลว่าทำ เดี๋ยวนี้คนไทยเราเปลี่ยนความหมายให้เพี้ยนไป คำว่าทาน แต่ก่อนแปลว่าให้ เดี๋ยวนี้แปลว่ากิน ตรงข้ามเลย แต่ก่อนทานคือให้ เอาออกไป เดี๋ยวนี้ทานแปลว่าเอาใส่ท้อง ทานข้าว ทานหิน ทานปูน อะไรอย่างนี้ อธิษฐานก็เหมือนกัน อธิษฐานความหมายคือตั้งใจมั่นที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งหมายถึงต้องเหนื่อย แต่อธิษฐานเดี๋ยวนี้แปลว่าขอ ไม่ต้องทำอะไรเลย ขอเทวดา ขอรวยโดยที่ไม่ต้องทำอะไร ขอรวยโดยที่ไม่เหนื่อย เพี้ยนไปหมดเดี๋ยวนี้ เพราะว่าความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนของเราชาวพุทธ ทีนี้เข้าใจให้ถูกต้องแล้ว