แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พวกเราหลายคนในที่นี้จะคุ้นเคยกับพระพุทธศาสนามานาน บางคนอาจจะคุ้นเคยมาตลอดชีวิตเลยก็ว่าได้ ก็คงเคยได้ยินได้ฟังได้มีความเข้าใจสิ่งที่เป็นสาระของพระพุทธศาสนา ทีนี้จะมาถามพวกเราว่า อะไรที่เป็นตัวแทน หรือเป็นสัญลักษณ์ที่ดีที่สุดของพระพุทธศาสนา สิ่งที่เป็นตัวแทนของแก่นธรรมของพระพุทธศาสนา เราจะนึกถึงอะไร อะไรที่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา บางคนจะนึกถึงพระพุทธรูป บางคนจะนึกถึงธงสีเหลือง บางคนจะนึกถึงธรรมจักร บางคนจะนึกถึงกวาง บางคนไปวัดทิเบตไปวัดจีนก็จะเห็นกวาง ๒ ตัวอยู่ข้างธรรมจักร ทั้งหมดที่พูดมานี้ยังไม่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ที่ดีที่สุดของพระพุทธศาสนา สัญลักษณ์ที่ดีที่สุดก็คือ ดอกบัว
ธรรมจักรนี้ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา แต่เป็นสัญลักษณ์ของปฐมเทศนา จะมีกวางอยู่ด้วย กวางนั้นเป็นตัวแทนอิสิปตนมฤคทายวัน ทำไมดอกบัวคือตัวแทนที่ดีที่สุดของพระพุทธศาสนา ที่จริงก็สังเกตได้ไม่ยาก พระพุทธรูปโดยเฉพาะในเมืองไทย หรือไม่ว่าที่ไหนก็ตามของจีน พม่า ทิเบต ศรีลังกา พระพุทธรูปที่เป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่บนดอกบัว เช่น พระพุทธรูปในวัดนี้ จะมีบัลลังก์เป็นรูปดอกบัว ทำไมดอกบัวจึงเป็นตัวแทนที่ดีที่สุดของพระพุทธศาสนา เพราะว่าดอกบัวนั้นเกิดในน้ำ โตในน้ำ แต่ในที่สุดก็เจริญพ้นน้ำ และน้ำนั้นก็ไม่สามารถฉาบติดทั้งใบบัวและดอกบัวได้ หมายถึงว่าดอกบัวนั้นเป็นตัวแทนของจิตที่ได้รับการฝึกอย่างดีแล้ว หรือเป็นจิตแห่งพุทธะก็ได้ ที่ว่าแม้จะเกิดมาในโลก อยู่ท่ามกลางโลก ในที่สุดจิตใจก็พัฒนาอยู่เหนือโลก เหนือโลกคือโลกุตระ เหนือโลกคือเหนือโลกธรรม โลกธรรมไม่อาจย่ำยีได้ ไม่อาจทำให้หวั่นไหว เศร้าหมองได้ อย่างที่เราสวดเมื่อสักกครู่ จิตของผู้ใดทำถูกต้องแล้วจะไม่หวั่นไหว เป็นจิตที่ไม่เศร้าโศก เป็นจิตไร้ทุกข์ ไร้กิเลส เป็นจิตเกษมศานต์ นั่นแหละเป็นจิตของผู้ที่ได้รับการฝึกฝนพัฒนา เป็นจิตของพุทธะ ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นตัวแทน เป็นแบบอย่าง
ดอกบัวนี้คือจะว่าเป็นอาจารย์สอนเราก็ได้ ให้จิตของเรา ให้ตัวเราได้พัฒนา ดอกบัวนี้เกิดในโคลนตม ดอกบัวนี้เกิดจากโคลนตม แต่ว่าสามารถที่จะสร้างกลีบที่งดงาม สะอาด จนกระทั่งใครๆ ก็อยากจะเอาไปถวายพระ เอาไปสักการะพระพุทธรูป ทั้งๆ ที่เดิมแท้ก็เกิดมาจากโคลนตม โคลนตมนี้ไม่มีใครอยากไปข้องเกี่ยว แต่ก็สามารถที่จะก่อให้เกิดดอกบัวที่งดงาม โคลนตมอาจจะหมายถึงทุกข์ก็ได้ กิเลสก็ได้ มนุษย์เราก็เกิดจากกิเลส เกิดจากกาม แต่ว่าในที่สุดเราก็สามารถพัฒนา จนกระทั่งพ้นอำนาจของกาม อำนาจของกิเลสได้ และไม่ว่าอะไรก็ตามก็ไม่สามารถทำให้จิตใจหวั่นไหว หรือว่าเศร้าโศก น้ำไม่อาจฉาบหรือว่าติดดอกบัวฉันใด ผู้ที่พัฒนาแล้ว กิเลสก็ไม่สามารถฉาบติดหรือแตะต้องได้ ด้วยเหตุนี้ดอกบัวจึงเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาเลยทีเดียว แสดงถึงอุดมคติของมนุษย์ที่ควรจะพัฒนาให้จิตใจอยู่เหนือโลกที่ไม่มีอะไรที่จะฉาบให้ติดได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปรส กลิ่น เสียง สัมผัส ก็ไม่ติดในสิ่งเหล่านั้น ถ้าเราศึกษาดอกบัวดีๆ เราจะพบว่า เขามีขุยมีขน รวมทั้งที่ใบบัวด้วยที่ทำให้น้ำติดไม่ได้ เพราะว่ามันมีสารบางอย่างของดอกบัว ใบบัวด้วย ก็เหมือนของจิตของคนเรา ถ้าเรามีสติ มีปัญญา เป็นเครื่องรักษา กิเลสก็ไม่อาจฉาบติดหรือแปดเปื้อนได้ ดอกบัวและใบบัวก็มีวิธีการป้องกันตัวเขาเอง และใบบัวเมื่อสังเกตดูถึงแม้ว่าใบจะแบน ฝนตกจะมีน้ำมาขังตรงกลางดอกบัว ไม่ได้นาน ไม่ได้เยอะ ถ้ามันขังไว้เยอะ ใบบัว ดอกบัวก็จะแส่ส่าย โอนเอียง ทำให้มันไหวเอียง เทน้ำราดออกไปหมด จิตคนเราควรจะเป็นอย่างนั้น ไม่ควรแบกอะไรมาก แบกมากแล้วมันทุกข์
ความทุกข์ของคนเราเกิดจากไปแบกไปยึดเอาไว้ แม้แต่สิ่งที่ไม่น่ายึด สิ่งที่ทำให้เป็นทุกข์ เช่น อารมณ์ที่เศร้าหมอง แต่ว่าทั้งๆ ที่มันทิ่มแทงจิตใจก็ยังไปแบกเอาไว้ คนแนะนำให้ปล่อยวาง อย่างเช่น เราโกรธและมีเพื่อนแนะนำให้อภัย ปล่อยวางความโกรธลงเสีย เราจะไม่ยอม เราจะยึดความโกรธนั้นเอาไว้ เก็บงำเรื่องราวต่างๆ เอาไว้ มีคนหนึ่งพูดไว้ดีว่า เขาไม่อยากจดจำเรื่องเศร้า เรื่องเจ็บปวดเท่าไหร่ เพราะว่าสมองคนเราก็เล็กนิดเดียว มันจะจดจำอะไรไม่ได้มากหรอก แล้วจะจดจำเรื่องราวเหล่านี้ไปทำไม วางมันลงดีกว่า จดจำแต่สิ่งดีๆ ดีกว่า ที่จริงไม่ใช่แต่สมองคนเราก็เล็กนิดเดียว เวลาของเราในโลกนี้ก็เหลือน้อย ในเมื่อเวลาในโลกนี้ก็เหลือน้อยลงไปเรื่อยๆ เราจะใช้เวลาไปกับความทุกข์ เสียเวลาไปกับความทุกข์ เสียเวลาไปกับความโกรธทำไม ทำไมเราไม่ใช้เวลาที่เหลืออยู่ในการซึมซับรับสิ่งดีๆ เอาไว้ ไปเก็บทำไม ไปจมอยู่กับความทุกข์ทำไม ไปจมอยู่กับความโศกทำไม ในเมื่อเวลาก็เหลือน้อยแล้ว เอาเวลาที่เหลือน้อยนี้ไปรับรู้ สัมผัสสิ่งดีๆ ดีกว่า
ดอกบัว ใบบัวนี้ ก็มีวิธีการที่จะป้องกันตัวเอง ไม่ให้ต้องมารับภาระ ไม่ให้น้ำมาฉาบติดหรือว่าทำให้หนักอึ้ง แต่ว่าไม่ได้ทำเท่านั้น ดอกบัวยังทำประโยชน์ให้กับโลก ทำให้ใครก็ตามที่เห็น จิตใจก็รู้สึกเบิกบาน เขาตกแต่งโลกให้สวยงาม เขาเติมแต่งจิตใจของผู้คนให้เบิกบาน และยังเป็นประโยชน์ให้พวกผึ้ง พวกแมลง และยังให้อาหารกับเรา ให้ยากับมนุษย์ด้วย เรียกได้ว่า เขารักษาตัวเองให้ดีงาม และก็ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นด้วย อันนี้ก็เป็นแบบอย่างของมนุษย์ ของเราทุกคน เราควรจะรักษาจิตใจ รักษาชีวิตของเราให้เจริญงอกงามและขณะเดียวกันก็ทำประโยชน์ให้ผู้อื่นด้วย บำเพ็ญทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน อัตตัตถะ และปรัตถะ อันนี้เป็นหน้าที่ของมนุษย์หรือว่าเป็นคุณธรรมของมนุษย์เลยที่มีพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่าง พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญปัญญาจนกระทั่งหมดทุกข์ และทรงเกื้อกูลประโยชน์แก่มนุษย์ทั้งโลก รวมทั้งเทวดา มาร พรหมด้วยความกรุณา พระปัญญาคุณและพระกรุณาคุณนี้เป็นคุณธรรมสำคัญของพระพุทธเจ้า เรียกว่า พระพุทธคุณ ชาวพุทธก็ต้องเจริญรอยตาม ทำอย่างไรเราจะบำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านได้ ประโยชน์ตนคือทำอย่างไรไม่ให้ความทุกข์มาย่ำยีจิตใจของเรา อย่างที่บอกไว้แล้ว เราต้องมีสติรักษาใจ
เมื่อเรามีสติรักษาใจ ความทุกข์ก็ไม่สามารถครอบงำย่ำยีได้ คนเราเวลาทุกข์ใจนี้ไม่มีใครมาทำให้ทุกข์ แต่เป็นใจของเราเอง เป็นตัวของเราเอง ไม่มีใครขโมยความสุขไปจากใจของเราได้ แต่เป็นเพราะใจที่ยึดติดถือมั่น ใจที่มันไม่รู้จักปล่อย ไม่รู้จักวาง เหมือนกับเรามีมีดโกนหรือเศษแก้วอยู่ในมือ มันทำอะไรเราไม่ได้เลย เว้นเสียแต่ว่าเราจะกำเอาไว้ กำเศษแก้ว กำมีดโกน กำแล้วบีบๆ ถึงตอนนั้นก็จะเกิดแผลขึ้น เราจะไปโทษมีดโกนก็ไม่ได้ จะไปโทษเศษแก้วก็ไม่ได้ เพราะถ้าเราไม่บีบ ไม่กำ มันก็ทำอะไรเราไม่ได้ ประสบการณ์และเหตุการณ์ที่เจ็บปวด เลวร้ายในอดีต หรือคำพูดในอดีตที่หยาบคาย ต่อว่าด่าทอ ถึงแม้จะอยู่ในหัวของเรา อยู่ในความทรงจำของเรา แต่ถ้าเราไม่ไปย้ำคิด ย้ำนึกก็ไม่สามารถจะทำให้หัวใจเรามีแผลได้ แต่ทำไมเราคอยไปย้ำไปนึกถึงมัน เพราะเราไม่มีสติ เราไม่รู้ทันความคิด เราต้องหันย้อนกลับมาดูใจของเรา อย่ามัวดูแต่สิ่งภายนอก เวลามีความทุกข์ใจอย่ามัวไปเพ่งโทษข้างนอก ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสิ่งของ ให้กลับมาดูใจของเรา เพราะใจที่วางไว้ไม่ถูกนั่นแหละ ที่จะสร้างปัญหา หรือแม้แต่ที่มีปัญหาเกิดขึ้นก็อย่าเพิ่งไปเพ่งโทษคนอื่น ให้กลับมาดูใจตัวเราเองด้วย
มีเรื่องเล่าที่ประเทศญี่ปุ่น เกิดขึ้นสักร้อยกว่าปีที่แล้ว คนตาบอดคนหนึ่งไปเยี่ยมเพื่อน คุยกับเพื่อนจนดึก เมื่อได้เวลาก็จะขอตัวกลับบ้าน เพื่อนก็ยื่นโคมให้เขา แล้วก็จุดเทียนให้พร้อมแล้วยื่นใส่มือ ชายตาบอดก็บอกว่า ให้โคมฉันทำไม ไม่ใช้โคมฉันก็เดินกลับบ้านได้ เพื่อนก็บอกว่า ถึงคุณจะไม่ต้องการใช้โคมก็จริง แต่คนอื่นก็ได้ประโยชน์จากโคมที่คุณถือ แล้วยังช่วยให้คนอื่นไม่เดินชนคุณด้วย ชายตาบอดก็รับและถือโคมไป แล้วก็เดินกลับบ้านไปสักพักใหญ่ จู่ๆ ก็มีคนเดินมาชนจนล้ม ชายตาบอดจึงตะโกนไปว่า แกตาบอดหรือไง ไม่เห็นฉันหรือ ชายคนที่เดินชนก็ตกใจรีบพยุงชายตาบอดลุกขึ้นมา พร้อมพูดว่า ขอโทษครับแต่โคมของคุณมันดับอยู่นี่ครับ ฟังเรื่องนี้ได้แง่คิดหรือเปล่า นี่ล่ะที่เขาเรียกว่านิทานเซน
เราได้แง่คิดอะไรบ้างจากเรื่องนี้ แง่คิดที่เราน่าจะได้จากเรื่องนี้คือ เวลาทำอะไรอย่านึกถึงแต่ตัวเองอย่างเดียว ให้นึกถึงผลประโยชน์ของคนอื่นด้วย ชายตาบอดไม่ต้องการใช้โคม แต่เขาควรถือโคมไปในตอนค่ำคืนเพราะมันเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น และประโยชน์ต่อคนอื่นในสุดท้ายจะสะท้อนย้อนกลับมาที่เขาเอง เมื่อคนอื่นเห็นโคมเห็นทางเขาก็จะไม่เดินชนคนตาบอด เวลาเราทำอะไรนี้เราอย่านึกถึงแต่ประโยชน์ของเรา เราควรนึกถึงประโยชน์ของผู้อื่นด้วย บางอย่างเราอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ แต่คนอื่นเขาอาจจะได้ใช้ ถ้าเราเอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อคนอื่น ในที่สุดผลของมันจะย้อนกลับมาที่ตัวเรา อันนี้ก็เป็นแง่คิดที่สอนใจเรา คนที่คอยเอื้อเฟื้อเพื่อนบ้าน คอยดูแลเพื่อนเวลาที่เขาขาดแคลนก็เอาไปให้เขา เวลามีของก็แบ่งปัน มีขนมก็เอาไปเกื้อกูลเขา ถ้าเวลาจะมีโจรเข้าบ้าน แอบเข้าบ้านเรา เพื่อนบ้านเราจะเป็นคนแรกที่จะมาบอกเราว่ามีขโมยจะพยายามเข้าบ้าน ความเอื้อเฟื้อที่เรามีกับเขาสุดท้ายก็จะย้อนกลับมาที่เรา
ชาวบ้านแต่ก่อนมีความเข้าใจเรื่องนี้ดีว่า การเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่นในที่สุดก็เกิดประโยชน์ต่อตนเอง มีเรื่องคุณป้า ที่คุณนิรมล เมธีสุวกุล เป็นคนทำสารคดีทุ่งแสงตะวัน ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังทำอยู่ ทุกวันเสาร์ทำมา ๒๐ ปีแล้วก็ยังไม่เลิก เธอเล่าว่า เธอเคยไปทำสารคดีในชนบท และระหว่างพักการถ่ายทำ ก็มีคุณป้าซึ่งก็คุ้นเคยจากการทำสารคดีเพราะไปอยู่เป็นอาทิตย์ คุณป้าเดินถือปลามาพวงหนึ่ง พอเดินเจอกลุ่มทำสารคดี แกก็ถามว่า จะทำอย่างไรให้ปลาพวงนี้กินได้นานๆ คนในกลุ่มสารคดีเป็นคนเมือง ตอบว่าเอาไปแช่ตู้เย็น บางคนก็ว่าเอาไปหมัก เอาไปตากแดด เอาไปทำส้ม คุณป้าบอกว่า ผิดหมดเลย เราต้องเอาไปแบ่งเพื่อนบ้านให้ทั่วถึง เมื่อเราเอาไปแบ่งเพื่อนทั่วถึง แล้วเราจึงกินได้นาน ซึ่งอันนี้อาจสวนทางความเข้าใจคนกรุงเทพ คนเมือง เพราะถ้าเราไปแบ่งคนอื่นเยอะๆ เราก็จะเหลือกินน้อยลง แต่อันนี้ก็คิดแบบแค่ปลายจมูก ถ้าเราคิดไปยาวๆ ถึงเวลาเพื่อนบ้านได้ปลามา ได้กุ้งมาก็จะเอามาแบ่ง กินได้นานเพราะความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เพราะฉะนั้นเวลาเราทำอะไร เราอย่านึกถึงแต่เรื่องของเรา ให้นึกถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกันคนอื่นด้วย
แง่คิดของนิทานที่เล่าให้ฟัง เขาบอกให้เรามองเลยพ้นตัวเองออกไป ให้นึกถึงคนอื่นด้วย แต่ในขณะเดียวกันเวลาคนอื่นมีปัญหา ก็อย่าโทษคนอื่นให้มองย้อนกลับมาที่ตัวเอง ตอนที่ชายตาบอดโดนชน แกก็โกรธและโทษคนที่มาชนว่าซุ่มซ่าม ตาบอดหรือไง แต่เขาหารู้ไม่ว่า โคมของเขามันดับไปนานแล้ว มันไม่ใช่ความผิดของชายคนนั้นเลยก็ว่าได้ แต่เป็นเพราะโคมนั้นมันดับ แต่ชายตาบอดคนนั้นก็ไม่รู้ได้เพราะเขาตาบอด คงไม่ต่างจากคนเราที่เวลาเกิดปัญหา แล้วไปโทษคนอื่นโดยที่ไม่ได้หันกลับมามองตัวเองว่า สาเหตุอาจจะเกิดจากตัวเองก็ได้ เวลาที่โทษคนอื่นโดยที่ไม่มามองตัวเอง อันนี้ก็ไม่ได้ต่างจากคนตาบอด บ่อยครั้งคนเราเอาแต่โทษคนอื่น แต่ไม่ได้ดูตัวเองว่าแท้จริงปัญหาเกิดจากเราเอง
มันก็แปลกที่ว่า เวลาที่เกิดปัญหา คนเรามักจะมองออกไปข้างนอกคือโทษคนอื่น แต่เวลาเกิดประโยชน์ก็จะมองกลับมาที่ตัวเอง คือสนใจประโยชน์ของตนเอง ไม่สนใจประโยชน์ของคนอื่น นิทานเรื่องนี้เขาสอน เรื่องที่ตรงข้ามกับนิสัยทั่วไปของคนเรา เมื่อนึกถึงประโยชน์ ก็อย่านึกถึงแต่ประโยชน์ของตัวเอง มองออกไปให้ถึงประโยชน์ของคนอื่นด้วย แต่เวลามีปัญหาก็อย่าเพิ่งไปโทษคนอื่น ให้กลับมาดูตัวเอง ถ้ามองไม่เห็นว่าตัวเองเป็นสาเหตุอย่างไรบ้าง ก็ไม่ต่างจากคนตาบอด
มีพนักงานต้อนรับโรงแรมแห่งหนึ่งเล่าว่า เช้าวันหนึ่งก็มีลูกค้ามาเช็คเอ้าท์ เขาก็ถามว่าเป็นอย่างไรครับ นอนหลับดีหรือเปล่าครับ ชายคนนั้นก็ส่ายหัว บอกไม่ไหวเลย นอนไม่ได้เลย เมื่อคืนผมหลับๆ ตื่นๆ ทั้งคืน เพราะห้องข้างๆ เอาแต่ทุบผนัง พอจะเผลอหลับสักพักก็ต้องตื่นอีกเพราะมันทุบผนังอีกแล้ว นิสัยมันเลวมากห้องข้างๆ นี่ แล้วเขาก็จากไป สักพักก็มีชายคนหนึ่งมาเช็คเอ้าท์ เขาก็ถามว่าเป็นอย่างไรบ้างครับ นอนหลับดีหรือเปล่าครับ ไม่ไหวเลย ห้องข้างๆ มันกรนทั้งคืนเลย พอผมทุบผนังมันก็เงียบไป พอผมจะหลับมันก็กรนอีก ผมต้องทุบมันถึงจะเงียบ ตกลงว่าใครเป็นปัญหากันแน่ คนแรกหรือคนที่สอง คนแรกไปโทษคนที่สองว่านิสัยเลว ชอบทุบผนัง แต่เขาไม่รู้หรอกว่าตัวเองกรน ทำไมเขาไม่รู้เพราะว่าเขาหลับ แล้วคนที่มองไม่เห็นว่าสาเหตุมาจากตัวเองนั่นก็ไม่ต่างจากคนหลับหรือคนตาบอด
ดังนั้นถ้าหากว่าเราไม่ย้อนกลับมาดูตัวเราเอง เราจะไม่มีทางรู้เลยว่า บ่อยครั้งปัญหาเกิดจากเรา ไม่ใช่เกิดจากคนอื่น ความขัดแย้งระหว่างสามีภรรยา ระหว่างพ่อแม่กับลูก ระหว่างเพื่อนร่วมงาน มันก็จะคล้ายๆ กันตรงที่ว่า ต่างฝ่ายต่างโทษซึ่งกันและกัน แต่จะมีสักกี่คนที่กลับมามองว่า ตัวเราเองอาจจะเป็นสาเหตุของปัญหาก็ได้ ตัวเราเองอาจจะมีส่วนของปัญหาก็ได้ ทุกคนไม่ต่างจากชายตาบอด หรือคนที่หลับ กรนสร้างปัญหาให้คนรอบข้าง แต่ไม่รู้ว่ากรนเพราะหลับ ไปว่าคนอื่นว่าเขาตาบอดที่ไปชน แต่ไม่รู้ว่าโคมของเรามันดับไปนานแล้ว
การจะกลับมาดูตัวเองได้ต้องมีสติ ทำให้เรามาเห็นตัวเราเอง มันต่างจากการเห็นตัวเองด้วยตาเนื้อ เวลาเรามองตัวเองผ่านกระจกนี้เราใช้ตาเนื้อ แล้วคนทุกวันนี้ก็ชอบมองแต่กระจกเป็นประจำ เพราะว่าอยากจะให้หน้าตาสะสวย ตอนนี้มีคนทำสถิติพบว่าที่อังกฤษ ผู้หญิง วันหนึ่งจะมองกระจกประมาณ ๓๖-๔๐ครั้ง แสดงว่ามองกระจกทุกครึ่งชั่วโมง คนไทยก็คงจะน้องๆ กัน มองกระจกนี้จะเป็นกระจกในห้องน้ำ กระจกรถยนต์ กระจกตามออฟฟิศต่างๆ เพื่ออะไร เพื่ออยากจะให้หน้าตาสะสวย แต่ว่าปล่อยให้จิตใจเขรอะกรัง ด้วยความเศร้า ด้วยความขุ่นมัว ด้วยความขมขื่น โกรธแค้น นี้เพราะอะไร เพราะเขาลืมใช้ตาในดูใจ เขาใช้แต่ตาเนื้อดูใบหน้า พยายามทำให้ใบหน้าสะอาด ผมเผ้าสละสลวย แต่ว่าไม่ได้สนใจที่จะใช้ตาในดูใจ ถ้าคนเรานี้ดูใจตัวเองวันละ ๓๖ ครั้ง อาตมาว่าจิตใจจะผ่องใสไม่น้อยกว่าใบหน้า แต่วันหนึ่งเราใช้ตาในของเราดูใจบ้างหรือเปล่า หรือว่าดูวันละกี่ครั้ง ๒-๓ ครั้งถึงหรือเปล่า
ธรรมชาติไม่ได้ให้เฉพาะตาเนื้อ แต่ให้ตาในมาด้วย ตาเนื้อไว้ดูสิ่งภายนอก คอยป้องกันอันตราย และคอยดูแลรักษาร่างกายโดยเฉพาะใบหน้าให้หมดจด แต่ว่าเรามักไม่ค่อยใช้ตาใน เพื่อชำระจิตใจให้สะอาด ผู้คนทุกวันนี้จำนวนมากหน้าตาสวย แต่ใจนี้หม่นหมอง ถ้าตรงข้ามมันจะดีเสียกว่า คือว่าจิตใจผ่องใส ถึงแม้หน้าตามีฝ้าไม่สะอาดเพราะไม่มีกระจกจะให้ส่อง แต่ว่าทุกวันนี้เราสามารถทำได้ทั้ง ๒ อย่าง คือว่าเราก็ดูแลหน้าตาของเราให้สดใส เพราะเรามีกระจกให้ส่องดูบ่อยๆ ตาเนื้อของเราก็ใช้การได้ และตาในก็เข้ามาดูใจของเรา เวลามันทุกข์ ทุกข์ใจ อย่าเพิ่งไปมอง อย่าเพิ่งไปใช้ตาเนื้อเพื่อกล่าวโทษคนอื่น ให้กลับมาใช้ตาในเพื่อมาดูว่าเป็นเพราะเราวางใจผิดหรือเปล่า เรามองเขาในแง่ลบหรือเปล่า หรือเป็นเพราะเรามีความยึดติดถือมั่น ถ้าพูดแบบฟันธง ทุกครั้งที่เราทุกข์ใจนี้ มันล้วนแล้วแต่มีสาเหตุมาจากความยึดติดถือมั่นไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง เช่นเวลา เราโกรธ เมื่อได้ยินคำด่า ต่อว่า ด่าทอของใคร ก็เพราะว่าถึงที่สุดเรามีความยึดติดในหน้าตาของตัวเอง ยึดติดในความเป็นตัวกู เรารู้สึกว่าเราเสียหน้าที่เขามาพูดวิจารณ์ต่อว่าเราต่อหน้าธารกำนัล หรือว่าดูหมิ่นศักดิ์ศรีของเรา อันนี้มันเป็นเพราะความยึดติดถือมั่นในตัวกู
ถ้าเราเสียใจเพราะเงินถูกขโมย หรือของหาย ผ่านไปเป็นอาทิตย์เป็นเดือนแล้วก็ยังไม่คลาย นั่นก็เพราะเรามีความยึดติดถือมั่นในของกู ถ้าของเพื่อนหายเราเฉยๆ เราก็บอกเขาว่า เงินทองเป็นของนอกกาย แต่ถ้าเป็นเงินของเราเองนี้ทำใจไม่ได้ เพราะความยึดมั่นในของกูนี้มันแรงมาก แล้วความยึดมั่นในของกูนั้นมันดีหรือเปล่า แล้วมันจริงหรือเปล่าที่อะไรที่มันเป็นของกู มันก็ไม่มีอะไรที่เป็นของกูสักอย่าง เพราะถ้าเป็นของกู ตายแล้วต้องเอาไปได้ แต่ว่าตายแล้วเอาไปไม่ได้ หรือแม้แต่ตอนที่ยังอยู่ สั่งให้มันใหม่เอี่ยมก็สั่งไม่ได้ จะสั่งให้มันใช้การได้ตลอด ไม่เสีย ก็ทำไม่ได้ มันไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา จึงไม่อาจจะเรียกว่ามันเป็นของกู
เพราะฉะนั้นลองดูให้ดี เวลาทุกข์ใจนี้ไม่ได้เป็นเพราะคนอื่นหรอก แต่เป็นเพราะใจของเรามีความยึดติดถือมั่น ยึดติดถือมั่นตั้งแต่ไปเอาเรื่องราวในอดีตที่ผ่านไปนานแล้ว มาเก็บไว้ไม่ปล่อยไม่วาง รวมทั้งยึดติดถือมั่นในความเป็นตัวกูของกู ถ้าไม่ใช้ตาในก็จะไม่เห็น จะไม่มีทางเห็นเลย และก็จะเอาแต่โทษคนอื่น เหมือนกับชายตาบอดที่โทษคนอื่นที่วิ่งมาชน โดยที่ไม่เฉลียวใจ หรือไม่รู้เลยว่าเป็นเพราะโคมของตัวเองมันดับ ดังนั้นเรามีตาในก็ต้องใช้ เพราะตาในคือสติ คือปัญญา ต้องพัฒนาให้รวดเร็วฉับไวเป็นนิสัย ทำให้เป็นนิสัยนี้ไม่ได้ยากเลย นิสัยการมองกระจก ก็เป็นนิสัยที่สร้างขึ้นมา ตอนเด็กๆ ก็ไม่มีนิสัยนี้ แต่เราก็สร้างขึ้นมา จนกระทั่งส่องกระจกวันละไม่รู้กี่ครั้ง ส่องดูหน้าตาตัวเอง การใช้สติส่องดูใจมันก็สร้างได้เหมือนกัน แล้วถ้าเราทำจนเป็นนิสัย มันจะทำงานเอง ไม่ต้องสั่งมันเป็นนิสัยแล้ว มันจะทำงานเองเหมือนกับเรื่องสัญญาณกันขโมย สัญญาณกันเพลิงกันไฟ เวลามีควันคลุ้งในห้อง ถ้าสัญญาณไวมาก พอมีควันมากระทบ มันก็รู้แล้วว่าอันตราย มันก็จะส่งเสียงให้เจ้าของบ้าน เจ้าของตึกรู้ว่ามันจะเกิดอันตราย ไม่ต้องรอให้เกิดเปลวไฟเสียก่อน เพราะถ้าเกิดเปลวไฟลุกท่วมแล้วก็จะดับเปลวไฟได้ยาก จะเป็นแค่มีควัน ควันหนาๆ นี้สัญญาณมันก็จะเตือนทันที ถ้ามันไว
สติของเราก็เหมือนกัน เวลามีอารมณ์อกุศลเกิดขึ้น แม้เพียงเล็กน้อย ความเศร้า ความโกรธ ความเบื่อ ความคับแค้น รู้ทัน ยังไม่กลายเป็นความพยาบาท เพียงแค่เกิดความหงุดหงิด โทสะเล็กๆ เราก็รู้ทันแล้ว ถึงแม้ว่ามันอาจจะเกิดจากหูได้ยินเสียงที่ไม่ไพเราะ หรือว่าตาได้เห็นอะไรที่ไม่น่าพอใจ แต่ถ้าเกิดเรารู้ทันอารมณ์อกุศลที่เกิดขึ้นมา แม้เพียงแค่ช่วงสปาร์ค หรือช่วงเกิดประกาย เราก็จะดับมันได้ทัน ความทุกข์ก็เกิดขึ้นไม่ได้ ใครจะว่าอะไรไปเราก็ไม่ทุกข์ เพราะฉะนั้นให้เราตระหนักเสมอว่าการกลับมาดูใจ ความคิด อารมณ์นั้นสำคัญมาก ไม่ว่าในยามที่เกิดทุกข์ใจ ไม่ว่าในยามที่เกิดปัญหา ขัดแย้งกับผู้อื่น อย่ามัวแต่ไปมองหรือส่งจิตออกไปข้างนอกกล่าวโทษใคร กลับมาดูใจของเรา แล้วเราจะพบว่าแท้จริงตัวเรานี้เอง เป็นเพราะใจเราเองต่างหาก ที่ทำให้เกิดปัญหา ที่ทำให้เกิดทุกข์ และนั่นแหละการดับทุกข์หรือว่าแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ง่าย