แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พวกเราคงทราบดีแล้วว่า พระพุทธเจ้าจำพรรษาแรกที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมื่อออกพรรษาแล้วพระองค์ก็เดินจาริกไปยังกรุงราชคฤห์ เพราะว่าเคยทรงรับปากกับพระเจ้าพิมพิสารว่า เมื่อพระองค์ตรัสรู้ธรรมก็จะมาโปรดพระเจ้าพิมพิสาร ระหว่างทางพระองค์ประทับอยู่ พักอยู่ใต้ต้นไม้ มีชายหนุ่มจำนวน 30 คน หน้าตาเลิ่กลั่กดูมีความกังวลใจเดินผ่านมา แล้วก็ถามพระพุทธเจ้าว่า เห็นผู้หญิงคนหนึ่งเดินผ่านมาไหม เรื่องของเรื่องคือว่ามานพหนุ่ม 30 คนชวนกันไปสำเริงสำราญกัน ต่างคนต่างชวนผู้หญิงของตนไปสนุกสนานกัน มีคนหนึ่งชวนเข้าใจว่าเป็นนางคณิกาไป แล้วพอคนเหล่านี้เผลอ นางคณิกาซึ่งในพระไตรปิฎกใช้คำว่าหญิงแพศยา ฉกฉวยเอาทรัพย์สมบัติของชายหนุ่มเหล่านั้นไป คงจะเป็นพวกแก้วแหวนเงินทองราคาแพง แล้วก็หายตัวไป ชายหนุ่มเหล่านั้นพอรู้เข้าก็ตกใจ ทรัพย์สมบัติแก้วแหวนเงินทองหายไปมากมาย ออกตามล่าหาผู้หญิงคนนั้น พอไปเจอพระพุทธเจ้าคนเหล่านี้ไม่รู้จัก แต่เห็นเป็นบรรพชิตคิดว่าคงจะรู้เบาะแสหรือเห็นผู้หญิงคนนั้นเดินผ่านมา จึงถามว่าเห็นผู้หญิงคนนั้นผ่านมาหรือไม่ พระพุทธเจ้าไม่ตอบว่าเห็นหรือไม่เห็น แต่ถามกลับไปว่า พวกท่านนี้ ระหว่างการแสวงหาผู้หญิงกับการแสวงหาตัวเอง อะไรจะดีกว่ากัน
พอได้ยินแบบนี้ทั้ง 30 คนก็ชะงักเลย เพราะว่าไม่คาดว่าจะเจอคำถามแบบนี้ แล้วก็อาจจะไม่เคยนึกเรื่องการแสวงตัวเองมาก่อน อาจจะเรียกว่าเป็นเรื่องหญ้าปากคอก แล้วพอพระพุทธเจ้าถาม คนเหล่านั้นก็เลยชะงักสนใจฟัง เป็นเรื่องที่น่าคิด พระพุทธเจ้าจึงแสดงธรรม คนเหล่านั้นก็พิจารณาตาม พอพระองค์แสดงธรรมจบคนเหล่านั้นก็ได้เป็นพระโสดาบันบ้าง สกิทาคามีบ้าง อนาคามีบ้าง เรียกว่าได้กลับมาค้นหาแสวงหาตัวเอง ค้นพบสัจธรรมคือพ้นทุกข์ เรื่องนี้ก็เป็นเกร็ดเล็กๆ ตอนหนึ่งของพุทธประวัติ ซึ่งถือว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสถามนับว่าทันสมัยมาก
พระพุทธเจ้าชวนให้เขากลับมาแสวงหาตัวเอง คำว่าแสวงหาตัวเองไม่ค่อยมีคนพูดถึงเท่าไร เพิ่งจะมีคนพูดถึงกันมากๆ ในช่วงสมัยใหม่นี้เอง เดี๋ยวนี้มีการพูดเรื่องการค้นหาตัวเองแสวงหาตัวเอง กลายเป็นคำที่กระทบใจหรือโดนใจคนได้ง่าย แต่สำนวนแบบนี้หรือความคิดแบบนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้นานแล้วกว่า 2,600 ปีแล้ว แต่คนสมัยนี้เพิ่งมาตื่นตัวเรื่องการค้นหาตัวเอง
ที่สำนักงานกูเกิ้ล (Google) ที่พวกเรารู้จักกันดี ที่ชอบพูดกันว่าอากู๋ หรือโปรแกรมที่เขาใช้ค้นหา search engine ตอนนี้ร่ำรวยมากเพราะว่าได้รับความนิยม เขาดึงคนคนดีๆ คนเก่งๆ เข้าไปมาก แต่สิ่งที่น่าสนใจของ google คือเขามีการฝึกสมาธิ แต่เขาไม่ได้ใช้คำว่าสมาธิ ไม่ใช่คำว่า Meditation โครงการนี้ใช้คำว่า Search Inside Yourself คือค้นหาภายในตัวเอง ได้รับความนิยมมาก พนักงานของเขามาเข้าโครงการนี้คือมาฝึกสมาธิกันอย่างเป็นจริงเป็นจัง แล้วก็ไม่ได้ทำเฉพาะสำนักงานของเขา มีการจัดอบรมนอกสถานที่ ใช้เวลาคอร์สหนึ่งเป็นอาทิตย์ มีคนสนใจล้นหลามเพราะคนสมัยนี้อยากจะรู้จักตัวเอง อยากจะค้นพบตัวเอง อยากจะแสวงหาว่าในใจของเรานั้นมีความสุข มีความสงบมากน้อยแค่ไหน
เรื่องการแสวงหาตัวเองพระพุทธเจ้าตรัสไว้นานแล้ว ไม่ใช่เป็นของใหม่สำหรับชาวพุทธแต่ชาวพุทธอาจจะลืมเลือนกันไป พอมีคนพูดเรื่องค้นหาตัวเองก็กลับมาสนใจใหม่ คราวนี้แสวงหาตัวเองค้นหาตัวเองนั้นหมายความว่าอย่างไร สำคัญอย่างไร ที่ว่าสำคัญเพราะว่าคนสมัยนี้หรือทุกยุคทุกสมัยเลยก็ว่าได้ และคนสมัยนี้เป็นหนักคือลืมตัวเอง ลืมนั้นลืมได้หลายอย่าง ลืมกระเป๋า ลืมโทรศัพท์ ลืมกุญแจรถ เมื่อใดก็ตามที่เราลืมแล้วเรานึกขึ้นได้ เราก็ต้องหาแล้วว่าเอากระเป๋าเงินไปเก็บไว้ที่ไหน เอากุญแจรถไปวางไว้ที่ไหน เราจะแสวงหาต่อเมื่อเรารู้ว่าเราลืม ในขณะเดียวกันการแสวงหาตัวเองที่ว่าสำคัญก็เพราะว่า ผู้คนส่วนใหญ่ลืม ลืมตัวลืมกายลืมใจ อย่างเวลาสวดมนต์นั้น ตัวสวดมนต์อยู่ที่ศาลาแต่ใจไม่รู้ไปไหน อย่างนี้เรียกว่าลืมกายลืมตัวก็ได้ คราวนี้เมื่อรู้ว่าลืมตัวแล้วใจก็กลับมาหาตัวเอง กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวนั่นเอง
คนเราถ้าหากว่ารู้ว่าลืมตัวนั้นยังดี ส่วนใหญ่ลืมตัวแล้วไม่รู้เลย ใจล่องลอยไป เมื่อใดก็ตามรู้ว่าลืมตัวใจกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว มีความรู้สึกตัวกลับมา ไม่ใช่แค่ลืมกาย ลืมใจด้วย ใจลอยไหลไปไหนไม่รู้ หรือใจจมอยู่ในความทุกข์ คนที่ลืมใจนั้นก็เพราะว่าใจเขาจมอยู่ในความทุกข์ ความโกรธ ความเศร้า ความท้อแท้ ความผิดหวัง มีอาการแบบนี้ขึ้นมาเมื่อไรแปลว่าลืมใจ ปล่อยใจให้ตกหล่นลงในปลักความทุกข์ความเศร้า เมื่อลืมแล้วเป็นอย่างไร ก็ต้องหาให้เจอ ถ้าเรารู้ว่าลืมแล้ว การหาก็ไม่ยากก็จะพบใจได้ไม่ยาก เราลืมใจเป็นประจำ เราลืมกายอยู่บ่อยๆ และใจเราเองก็ลืมความปกติ ความปกติเป็นสภาวะที่มันเป็นปกติของใจก็ได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่เรารู้ตัวเมื่อไรหรือใจเกิดมีสติเมื่อไร มันจะกลับมาสู่ความปกติ คำว่าการค้นหาตัวเองหมายถึงการที่เราไม่ลืมกายไม่ลืมใจ พาใจกลับมาอยู่กับกาย หรือพาใจกลับคืนมาสู่ความปกติสุข ความเป็นปกติไม่บวกไม่ลบไม่ฟูไม่แฟ่บ การรู้จักตัวเอง ถ้าเราค้นหาตัวเองเราก็จะพบตัวเอง ถ้าหาถูกก็จะพบตัวเอง รู้จักตัวเอง
คนเดี๋ยวนี้ออกไปส่งจิตออกนอก แล้วไม่รู้จักตัวเองเลยว่าเป็นใคร รู้จักตัวเองมีความหมายหลายอย่าง เช่นเห็นหน้าตัวเอง เห็นเงาตัวเองในกระจก รู้ว่านี้คือเรา อย่างนี้เป็นการรู้จักตัวเองแบบสามัญ ซึ่งมีมนุษย์และสัตว์ไม่กี่ชนิดที่รู้จักตัวเองแบบนี้ได้ เห็นเงาตัวเองในกระจกแล้วก็รู้ว่านี่คือเรา ช้างนั้นก็รู้ แต่พวกหมา พวกไก่ พวกเป็ดนั้นไม่รู้ เอากระจกมาวางไว้ข้างหน้ามันก็ยังจิกกระจกเลย เพราะว่ามันนึกว่าเงาที่มันเห็นข้างหน้าคือไก่ตัวอื่น เป็ดตัวอื่น แบบนี้แสดงว่ามันไม่รู้จักตัวเอง แต่รู้จักตัวเองแบบนี้มันยังหยาบอยู่ เพราะว่าเด็กๆก็ทำได้ ทารกก็ทำได้ ขวบสองขอบเห็นตัวเองในกระจกก็รู้ได้ว่านี้เป็นตัวเอง รู้จักตัวเอง
แต่ที่ลึกไปกว่านั้นคือรู้ว่าเรามีนิสัยใจคออย่างไร เรามีความถนัดตรงไหน บางคนชอบวาดภาพ บางคนเก่งทางช่าง บางคนถนัดเรื่องขีดเขียน สิ่งนี้ดูเหมือนว่าธรรมดาสามัญ แต่คนจำนวนมากก็ไม่รู้ว่าตัวเองถนัดอะไร เรียนหนังสือเรียนมา 12 ปียังไม่รู้ว่าตัวเองถนัดอะไร ทั้งๆที่ผ่านมาทุกวิชาแล้วทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ดนตรี ศิลปะ เขามีให้เรียนมากมายไปหมดก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองถนัดอะไร อาจจะเป็นเพราะว่าไม่ได้จดจ่อใส่ใจในเรื่องการเรียนเท่าไร เรียนมหาวิทยาลัยก็เรียนตามเพื่อน คณะนี่ก็เรียนตามเพื่อน เขาแห่ไปเรียนนิเทศศาสตร์ก็ไปเรียน ถามว่าชอบนิเทศศาสตร์หรือไม่ เพื่อนเรียนวารสารก็ไปเรียนวารสารกับเขาบ้าง ถามว่าชอบขีดเขียนชอบทำข่าวหรือ ก็บอกไม่รู้ เป็นอย่างนี้กันมาก อย่างนี้เรียกว่าไม่รู้จักตัวเอง แล้วก็เพราะไม่สนใจที่จะค้นหาตัวเองว่าเราเป็นใคร เราถนัดอะไร จบมาแล้วก็ยังไม่รู้เลยว่าจะไปทำงานอะไร ต้องให้พ่อช่วยหางานให้หรือให้พ่อช่วยเลือกให้ อายุ 20 กว่าแล้วยังไม่รู้จักตัวเอง แม้กระทั่งในความหมายที่พื้นๆ นั่นก็แย่แล้ว
การรู้จักนิสัยใจคอของตัวเองก็สำคัญ รู้ว่าตัวเองเป็นคนใจร้อน ใจเย็น หรือเป็นคนที่หุนหันพลันแล่น เป็นคนที่ชอบพูดชอบนินทา หลายคนชอบพูดๆๆๆๆๆ โดยไม่รู้เลยว่าตัวเองเป็นคนชอบพูด เจอมาก เจอโยมคนหนึ่งแกชอบพูด เห็นใครอยู่ใกล้อยู่ข้างๆ ก็ต้องชวนคุย พอไม่มีใคร เห็นพระกำลังฉันอยู่ก็ชวนพระคุย พระฉันไป โยมก็คุยกับพระไป เป็นอย่างนี้ทุกมื้อๆเลย แกไม่รู้ตัวเลยว่าแกเป็นคนที่หยุดพูดไม่เป็น จะหยุดพูดเป็นก็ต่อเมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นคนช่างคุย คุยไม่หยุด บางคนอายุ 60 ปีแล้วยังไม่รู้เลยว่าตัวเองเป็นคนมีนิสัยแบบนี้ แบบนี้เรียกว่าไม่รู้จักตัวเอง
การรู้จักตัวเองที่สำคัญกว่านั้น คือรู้กายรู้ใจ รู้กายรู้ใจในปัจจุบันขณะ เช่นขณะที่เรานั่งอยู่ เราก็รู้ว่าเรากำลังนั่ง ถ้าไม่รู้คือลืม ลืมกายลืมใจ นั่งสร้างจังหวะ บางทีบางขณะยังไม่รู้ตัวว่ากำลังสร้างจังหวะ เพราะว่าใจลอยคิดไปนู่นคิดไปนี่ เรียกว่าลืมกาย ไม่รู้กาย ใจคิดไปเป็นเรื่องเป็นราวนาน 10 นาที ก็ยังไม่รู้เลยว่าใจลอย แบบนี้เรียกว่าลืมใจไม่รู้ใจ โกรธ โกรธเป็นวรรคเป็นเวร เป็นวันเป็นอาทิตย์ก็ยังไม่รู้ตัวเลย อย่างนี้ก็ไม่รู้ใจเหมือนกัน เป็นความไม่รู้ตัวอีกแบบหนึ่ง เรารู้จักตัวเองมีความหมายที่ลึกคือการที่เรารู้ รู้กายรู้ใจในแต่ละขณะ แต่ละขณะรู้ว่า เมื่อกายเคลื่อนไหวก็รู้ว่ากายเคลื่อนไหว ในเมื่อกายนั่งก็รู้ว่ากายนั่ง เมื่อเดินก็รู้ว่ากายเดิน หรือเมื่อใจนึกคิดไปก็รู้ อย่างนี้คือการรู้จักตัวเองในความหมายที่ลึก เพราะไม่ใช่แค่รู้นิสัยใจคอ นิสัยใจคอบางทีใช้การสังเกตใช้เวลาเป็นปีถึงจะรู้ว่าเรามีนิสัยแบบนี้ เพราะนิสัยค่อนข้างจะคงที่เปลี่ยนแปลงช้า นิสัยเปลี่ยนแปลงได้แต่เปลี่ยนแปลงช้า บางคน 10 ปียังมีนิสัยเหมือนเดิมเลย ที่จริงมันก็เปลี่ยนแต่เปลี่ยนน้อย แต่ผ่านไป 10 ปียังไม่รู้ว่าเรามีนิสัยอย่างไร เป็นคนแบบไหนก็มีมาก
แต่การรู้กายรู้ใจในแต่ละขณะมันละเอียดกว่า มันเป็นขณะๆๆๆ เราอาจจะไม่มีสติรู้ทันในทุกขณะ แต่ถ้าเราหมั่นเจริญสติ เราจะรู้กายรู้ใจ อย่างนี้เป็นการรู้จักตัวเองแบบหนึ่ง เวลาโกรธก็รู้ว่าโกรธ เวลาซึมเศร้าก็รู้ว่าซึมเศร้า เวลาเครียดก็รู้ว่าเครียด สิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าถ้าเราไม่รู้แปลว่าถูกความโกรธมันครอบ ถูกความเกลียดมันครอบ หรือถูกความซึมเศร้ามันครอบ พอมันครอบใจแล้วเป็นอย่างไร ใจมันก็มืด มืดคือหลงนั่นเอง แล้วก็ทำให้ทำอะไรผิดๆพลาดๆ เสียหาย เช่นถ้าโกรธก็ไปด่าเขา บางทีทำลายข้าวของ เสร็จแล้วก็มาเสียใจ บางทีคนที่ถูกด่าว่าไม่ใช่ใครก็เป็นพ่อเป็นแม่ซึ่งอาจจะกำลังป่วย แต่พ่อแม่ดื้อ ลูกดูแลพ่อแม่ ที่จริงก็ปรารถนาดีกับพ่อแม่ แต่พอพ่อแม่ดื้อไม่ทำตาม ลูกก็ผิดหวังเสียใจหรือไม่พอใจ พอไม่พอใจมากๆ เขาก็โกรธ พอโกรธก็ลืมตัว ตอนที่ว่าพ่อว่าแม่ก็ไม่รู้ตัว แบบนี้เรียกว่าลืมใจเหมือนกันหรือลืมตัว บางทีทำอย่างนั้นกับลูกก็กลับมาเสียใจ
มีพ่อคนหนึ่ง ลูกนั่งทำการบ้านอยู่ อายุ 5-6 ขวบ ลูกทำการบ้าน พ่อคงไปพูดกับลูก ลูกไม่สนใจยังคงทำต่อ หรืออาจจะสอนลูก ลูกก็ยังทำผิดทำพลาดเพราะว่าลูกยังเด็กแค่ 5-6 ขวบ ทำเลขคณิตผิดๆพลาดๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า พ่อก็โมโหดึงสมุดของลูกเขวี้ยงทิ้งเลย เสร็จแล้วก็มาเสียใจที่ไปทำแบบนี้กับลูก ลูกยังเด็กยังเล็ก ก็มาเสียใจเพราะลืมตัว เมื่อตอนที่ลืมตัวไม่รู้ตัวหรือไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้ตัวว่ากำลังโกรธกำลังฉุนเฉียว รู้จักตัวเองต้องรู้จักให้ละเอียดลออถึงขั้นนี้ คือภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละขณะแต่ละขณะ รวมถึงความคิดด้วย รู้ว่าตอนนี้เรากำลังคิด คิดฟุ้ง หรือตอนนี้เรากำลังคิดร้ายคิดชั่ว ตัวเองกำลังคิดอกุศล แล้วพอรู้ว่าคิดอกุศลแล้วก็ต้องรู้แบบเป็นกลางๆ ไม่ใช่พอรู้ว่าพอตัวเองคิดอกุศลก็รู้สึกแย่กับตัวเอง เกลียดตัวเอง โมโหตัวเอง เกลียดตัวเองที่คิดอกุศล โมโหตัวเองที่คิดแบบนั้น เสร็จแล้วก็จมอยู่ในความรู้สึกแย่ แบบนี้แสดงว่าไม่เห็นตัวเองไม่รู้จักตัวเองว่าตอนนี้กำลังอยู่ในอารมณ์ไหน ถ้าจะเห็นชัดๆ ต้องเห็นแบบซื่อๆ รู้ซื่อๆ คือรู้โดยใจที่เป็นกลาง รู้แบบใจที่เป็นปกติ เวลามีความคิดดีก็รู้ รู้เฉยๆ เวลามีความคิดไม่ดีก็รู้ รู้เฉยๆ
อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนบอกว่า “คิดดีก็ช่าง คิดไม่ดีก็ช่าง” ไม่ใช่คิดดีเอา คิดไม่ดีก็ผลักไส หรือโมโหตัวเอง ทำร้ายตัวเองทำไมคิดชั่วแบบนั้น คิดดีก็ช่าง คิดไม่ดีก็ช่าง แค่ดูมันเฉยๆ อย่างนี้จะทำให้เรารู้จักตัวเองได้อย่างแท้จริง เพราะไม่เช่นนั้นถ้าเกิดไปวิพากษ์วิจารณ์ความคิด หรือไปมีปฎิกิริยากับความคิดที่เกิดขึ้น ก็จะไม่เห็นอย่างที่มันเป็นจริงๆ แล้วก็อาจจะถูกอารมณ์ครอบงำซ้ำสองอีก เช่นเวลาโกรธรู้ว่าโกรธเสร็จแล้วก็มาเสียใจ หรือเกิดไม่พอใจว่าทำไมเราโกรธ เราปฏิบัติมาตั้งนานทำไมเราโกรธ โมโหตัวเอง โมโหหรือโกรธตัวเองที่โกรธ แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยในนักปฏิบัติ โกรธตัวเองที่โกรธ เรียกว่าโกรธซ้อนโกรธ โกรธตัวแรกส่วนใหญ่ถ้าปฏิบัติเมื่อเกิดก็จะรู้ได้ไว แต่โกรธตัวที่สอง คือโกรธที่ตัวเองโกรธ โกรธตัวที่สองไม่ค่อยได้เห็นเพราะว่าติดดี ติดดีคือไม่อยากให้ตัวเองโกรธ ไม่อยากให้ตัวเองฟุ้ง พอโกรธเข้าก็ผิดหวังเกิดความไม่พอใจ แล้วก็เลยโกรธตัวเองผิดหวังตัวเอง แบบนี้เรียกว่าไม่รู้ซื่อๆ ไม่เห็นเฉยๆ ไปมีการวิพากษ์วิจารณ์ ไปปรุงแต่งต่ออีก เรียกว่าไม่เห็นตัวเองอย่างแท้จริง
ที่จริงถ้าเห็นตัวเองค้นหาตัวเองไป ค้นไปๆ ไม่หยุดแค่สมถะไม่หยุดแค่ความสงบที่เกิดขึ้น จากการที่มีสติเห็นความคิดเห็นการปรุงแต่งแล้วก็วาง ถ้าเรามีสติเห็นความคิดที่เกิดขึ้น แล้วจิตก็เริ่มสงบ พอสงบแล้วก็เริ่มติด ติดในความสงบ ถ้าไม่มองต่อไม่แสวงหาตัวเองต่อก็ติดอยู่แค่นั้น กลายเป็นติดความสงบไป แต่ถ้าหากว่ายังเฝ้าดูตัวเองต่อไป อย่างที่ใช้กระบวนการที่ทางพุทธศาสนาเรียกว่าวิปัสสนา ถ้าทำต่อจะเห็นเลยว่าพอเอาเข้าจริงๆ พอค้นหาตัวเองไป ค้นหาไป เพราะว่าไม่มีตัวตนอยู่เลย อย่างนี้เป็นจุดหักมุม ค้นหาไปๆ แสวงหาตัวเองไป แสวงไปเรื่อยๆ ปรากฏว่าเห็นความจริงไปเรื่อยๆ สุดท้ายไม่เหลือตัวตน หรือพบว่าไม่มีตัวตนอยู่เลยแม้แต่น้อย เหมือนกับเราลอกเปลือกของกาบกล้วย ลอกไปเรื่อยๆ ปรากฏว่าข้างในมันกลวงมันว่างเปล่า การค้นหาตัวเองในที่สุดจะลงเอยตรงที่ว่าไม่พบตัวเอง ไม่พบตัวตนหรือไม่มีตัวกูอยู่เลย สิ่งนี้เรียกว่าอนัตตา ค้นหาตัวเองในที่สุดก็พบว่า แท้จริงแล้วมันไม่มีตัวตนที่เที่ยงแท้เลย
คำว่าไม่มีตัวตนไม่ได้แปลว่าว่างเปล่า ถ้าจะแปลว่าว่างเปล่าคือว่างเปล่าจากการไม่มีตัวตนหรือว่างเปล่าจากตัวตนได้ มันมีอยู่แต่ที่มีอยู่ไม่ใช่ตัวตนที่เป็นของเที่ยงแท้แน่นอน แต่มีอยู่ในรูปของกระแส กระแสที่แปรเปลี่ยนเหมือนกระแสน้ำ เวลาเราดูกระแสน้ำมันก็ไหลตลอดเวลา หาตัวตนของน้ำไม่เจอ เพราะว่าจะจับอย่างไรมันก็ไหลเลื่อนไปเรื่อย น้ำเมื่อหนึ่งนาทีที่แล้วกับน้ำในนาทีนี้ขณะนี้ก็เป็นคนละอันกัน แม่น้ำจะไหลเอื่อยไปเรื่อยๆ ยิ่งถ้าหากว่าสร้างเขื่อนหรือสร้างทำนบน้ำก็จะหายไปเลย อาจจะไม่เหลือน้ำสักหยดเลยก็ได้
ร่างกายของเราก็แปรเปลี่ยนเป็นกระแส มีการสร้างเซลล์ใหม่แล้วเซลล์เก่าก็ตาย เซลล์ใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา วันหนึ่งๆ มีเซลล์ที่ตายในร่างกายเราห้าหมื่นถึงแสนล้านเซลล์ แต่เราไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไรเพราะว่ามีเซลล์ใหม่สร้างขึ้น ร่างกายเราแต่ละขณะๆใหม่เสมอ เขามีการคำนวณพบว่าภายในเวลา 10 ปี ร่างเราจะเป็นร่างใหม่ถอดด้ามเลยก็ว่าได้ กระดูกก็ใหม่ หนังก็ใหม่ ผมก็ใหม่ ปอดก็ใหม่ ตับก็ใหม่ อาจจะเก่าเฉพาะหัวใจหรือสมองที่ยังเหมือนเดิม ที่เหลือมันใหม่หมดเลย แม้กระทั่งร่างกายของเราก็ไม่มีตัวตนที่เที่ยงแท้แน่นอน จิตยิ่งแล้วใหญ่ไม่มีอะไรที่เป็นตัวกูเลย ค้นหาไปๆ โดยใช้วิปัสสนาจะพบว่าไม่มีตัวกูหรือตัวฉันอยู่เลยแม้แต่น้อย สิ่งที่อัตภาพที่เห็นเป็นเราก็มีแต่กายกับใจเท่านั้น ไม่มีตัวกูอยู่เลย แล้วกายก็ไม่ใช่ตัวกู ใจก็ไม่ใช่ตัวกู ที่ว่าเป็นอะไรเป็นอะไรก็เป็นแค่ชั่วคราว ไม่ได้เป็นอะไรที่ถาวร
ที่หลวงพ่อคำเขียนบอกว่า “ไม่เป็นอะไรกับอะไร” เพราะว่าไม่มีตัวกูที่จะเป็นผู้เป็นอะไรเลย การเป็นนั่นเป็นนี่ก็แค่ชั่วคราว แต่ถ้ายึดเอาไว้ก็จะเป็นทุกข์ คนเราถ้าไม่เห็นความจริงตรงนี้ เกิดอะไรกับกาย ใจก็ทุกข์ด้วย อย่างเช่นเวลานั่งอยู่นี่ กายปวดกายเมื่อยก็จะรู้สึกไปด้วยว่ากูปวดกูเมื่อย จะไม่ใช่เห็นแค่กายปวดกายเมื่อย แต่มีการปรุงตัวกูขึ้นมา มีตัวกูเป็นผู้ปวดผู้เมื่อย แบบนี้แหละที่เรียกว่าเป็นแล้ว เข้าไปเป็นแล้ว หลวงพ่อคำเขียนท่านสอนว่า “เห็น..อย่าเข้าไปเป็น” เห็นความปวดไม่ไปเป็นผู้ปวด มีความโกรธเกิดขึ้นก็เห็นความโกรธไม่เป็นผู้โกรธ มีความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้นก็เห็นความคิดแต่ไม่เป็นผู้คิดฟุ้งซ่าน แต่พอมีความหลงว่าเป็นตัวกู ก็เลยยึดโน่นยึดนี่เป็นกูเป็นของกูไปหมด กูปวด กูเมื่อย กูโกรธ กูเศร้า แบบนี้เรียกว่าเป็นแล้ว ไม่ได้เห็นแล้ว เข้าไปเป็นแล้ว เพราะฉะนั้นไม่มีสติ จะเข้าเป็นไปตะพึดตะพือ คือมีตัวกูเป็นนั่นเป็นนี่ แต่เมื่อไรก็ตามที่มีสติ เห็นเฉยๆ ก็ถอนความเป็นนั่นเป็นนี่ออกไป แต่เผลอสติเมื่อไรก็เข้าไปเป็นใหม่ มันจะเข้าๆออกๆ แบบนี้ จนกว่าจะมีปัญญาเห็นแจ่มชัดว่า ไม่มีตัวกูของกูเลยแม้แต่น้อย ถึงตอนนั้นก็ไม่เป็นอะไรกับอะไรแล้ว
อะไรเกิดกับกายกับใจก็ไม่ยึดว่า กายกับใจเป็นเราเป็นของเรา แบบนี้คือความหมายของคำว่า ไม่เป็นอะไรกับอะไร ไม่เป็นผู้โกรธ ไม่เป็นผู้เกลียด ไม่เป็นผู้ดีใจ ไม่เป็นผู้เสียใจ มีความปวดที่กายก็ไม่เป็นผู้ปวด เป็นเรื่องของกายไป ไม่เป็นเรื่องของเรา ที่ไม่เชื่อเพราะไม่มีเรามาตั้งแต่แรก สิ่งนี้คือสุดท้ายปลายทางของการค้นหาหรือค้นหาตัวเอง คือค้นหาไปๆ คือมันไม่มีตัวกูไม่มีตัวฉันเลย แต่ก่อนนั้นไปยังไม่สุดทางเลยก็คิดว่าฉันเป็นคนใจร้อน ฉันเป็นคนใจเย็น ฉันเป็นคนที่ถนัดวาดภาพ ฉันเป็นศิลปิน ฉันเป็นพ่อที่ดี ฉันเป็นแม่ที่โอบอ้อมอารี แบบนี้ยังมีตัวกูอยู่ เรียกว่ายังรู้จักตัวเองยังไม่สุดทาง พอรู้จักไปสุดทางก็พบว่าไม่เราที่จะเป็นนั้นเป็นนี่เลย เป็นความหมายของคำว่าไม่เป็นอะไรกับอะไร ที่เป็นก็เป็นที่สมมติ เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก เป็นครู เป็นศิษย์ ก็สมมติ แต่ที่จริงแล้วก็ไม่เป็นอะไรกับอะไรเลย
ทีนี้พอเห็นอย่างนี้เข้าแล้วก็พ้นทุกข์ เพราะว่ามีทุกข์เกิดขึ้นก็จริงแต่ไม่มีผู้ทุกข์ ทุกข์เท่านั้นที่มีอยู่ แล้วทุกข์เท่านั้นที่ดับไป มันก็มีเท่านั้น มีทุกข์กับความดับทุกข์ แต่ไม่มีผู้ทุกข์ แล้วก็ไม่มีผู้พ้นทุกข์ อย่างนี้เราก็ไม่ต้องเสียใจ มันมีแต่ทุกข์ทั้งนั้นแล้วจะพ้นทุกข์ได้อย่างไร มีทุกข์เท่านั้นก็จริงแต่ไม่มีผู้ทุกข์ ทำได้ ธรรมชาติความจริงเป็นอย่างนั้น ไม่มีผู้ทุกข์ มีแต่ทุกข์ไม่มีผู้ทุกข์ แต่เพราะความหลงนั้นก็เลยไปปรุงตัวกูขึ้นมาเป็นผู้ทุกข์ เป็นผู้ป่วย ผู้เจ็บ ผู้ตาย ก็เลยมีความทุกข์ใจ เกิดขึ้นมาแล้วมีแก่ มีเจ็บ มีตาย แต่ถ้าไม่มีผู้แก่ ผู้เจ็บ ผู้ตาย จะมีผู้ทุกข์ตรงไหน ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องเสียใจว่ามีแต่ทุกข์ทั้งนั้น แต่ไม่มีผู้ทุกข์ ถ้าเรามาเห็นความจริงตรงนี้ก็จะพ้นทุกข์ได้ อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนท่านเขียนเอาไว้ก่อนมรณภาพ “เห็นทุกข์ ก็พ้นทุกข์” ถ้าเห็นจริงๆ ก็รู้ว่ามีแต่ทุกข์ไม่มีผู้ทุกข์ ไม่มีผู้ทุกข์ก็พ้นทุกข์เท่านั้น