แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้เป็นวันแรกของเทศกาลเข้าพรรษา ที่จริงแล้วช่วงในพรรษากับช่วงนอกพรรษา มันก็ไม่น่าจะมีอะไรแตกต่างกัน เหมือนกับวันนี้กับเมื่อวานก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่างกัน เมื่อวานนี้เรียกว่านอกพรรษา วันนี้เรียกว่าในพรรษาแล้ว มองในแง่หนึ่งก็เป็นสมมติ และอันที่จริงคนเราไม่ว่าจะในหรือนอกพรรษา เราก็มีหน้าที่ต่อชีวิตจิตใจของตัว ก็คือการดูแลรักษากายกับใจให้เป็นปกติ มีความสุข ไกลจากความทุกข์ แล้วก็ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น หน้าที่อันนี้ ไม่ว่าในพรรษาหรือนอกพรรษาก็เหมือนกัน มันก็ไม่น่าจะมีอะไรแตกต่างกัน แต่ว่าความแตกต่างมันก็มีอยู่ โดยเฉพาะท่านที่เป็นนักบวช จะเป็นพระหรือแม่ชี ช่วงในพรรษาเราได้เหมือนกับมีตั้งปฏิญญาไว้กับตัวเอง ว่าเราจะอยู่ที่วัดนี้ ในอาวาสนี้ด้วยกันตลอด ๓ เดือน มันไม่ใช่เป็นแค่ความตั้งใจเท่านั้น แต่มีการประกาศออกไปด้วย ที่เราเรียกว่าอธิษฐานพรรษาเมื่อเช้านี้
อธิษฐานพรรษา ความหมายคือว่าความตั้งใจมั่น ในการที่จะอยู่ในอาวาสนี้ในวัดนี้ตลอด ๓ เดือน อันนี้มันเป็นความแตกต่างระหว่างในกับนอกพรรษา นอกพรรษานี้เราอาจจะไม่มีการประกาศ หรือว่ายืนยันว่าเราจะอยู่ที่นี่ด้วยกันนานเท่าไหร่ อาจจะอยู่แค่ ๒-๓ วัน อาจจะอยู่แค่ ๒-๓ อาทิตย์ แล้วพอรู้สึกว่าที่นี่ไม่ค่อยน่าอยู่ หรือว่ามันไม่เหมาะกับเรา หรือว่ามีภารกิจที่เร่งด่วนทำให้เปลี่ยนใจ ออกจากที่นี่ไป อันนี้ก็ทำได้เป็นเรื่องปกติธรรมดาในช่วงนอกพรรษา แต่ว่าในช่วงในพรรษานี้มันแตกต่างกัน เพราะว่าได้มีการลั่นวาจาไว้ เมื่อเช้านี้พระทุกท่านคงจะรวมถึงแม่ชีด้วย ก็ได้ประกาศออกไปต่อหมู่คณะว่าจะอยู่ที่นี่ตลอด ๓ เดือนจนออกพรรษา นั่นก็หมายความว่าไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น ก็จะพยายามอยู่ให้ได้ ความคิดที่จะเปลี่ยนไปอยู่ที่อื่น ย้ายไปที่นั่นที่นี่ ก็เป็นอันตัดไปได้คือไม่ต้องคิด เพราะว่าได้ลั่นวาจาไว้แล้ว ที่เรียกว่าอธิษฐาน ถ้าเป็นช่วงนอกพรรษา เราไม่มีธรรมเนียม ไม่มีพิธีกรรมนี้ ก็เปลี่ยนใจได้ง่าย ซึ่งในแง่หนึ่งมันก็ทำให้จิตใจไม่อดทนในการที่จะอยู่ให้ได้ตลอด ๓ เดือน บางคนเจออาหารที่ไม่ถูกใจ หรือว่ารู้สึกว่ากุฏิคับแคบ ยุงเยอะ อยู่ได้ ๓ วันก็มาขอลา อันนั้นทำได้ในช่วงเวลานอกพรรษา แต่ในพรรษาทำอย่างนั้นไม่ได้
ที่จริงก่อนที่จะมาอธิษฐานพรรษาที่นี่ ก็ต้องมาดูให้เรียบร้อยว่าที่นี่เป็นอย่างไร เวลาใครจะมาบวชที่นี่ ก็แนะนำว่าให้มาดูก่อน อย่าเพิ่งตัดสินใจเพียงเพราะว่าได้ยินชื่อเสียงวัดป่าสุคะโตว่าร่มรื่น สงบ หรือว่ามีครูบาอาจารย์ที่พูดกันรู้เรื่อง ตัดสินใจมา เท่านั้นยังไม่พอต้องมาดูก่อนว่าชอบไหม เหมาะไหม มันจะช่วยขัดเกลากิเลสของตัวได้ไหม ชอบใจอย่างเดียวไม่พอ หรือว่าถูกใจอย่างเดียวไม่พอ ต้องดูว่ามันถูกต้องไหม เมื่อมาดูแล้วถึงค่อยตัดสินใจ เมื่อตัดสินใจแล้วก็ต้องเดินหน้าอย่าถอยหลัง ยิ่งอธิษฐานพรรษาไว้แล้ว ก็ไม่ต้องลังเลสงสัยแล้ว คนเราถ้ายังไม่ตัดสินใจหรือยังไม่ประกาศแสดงเจตนารมณ์ มันก็ยังมีช่องทางให้เหลียวหลัง หรือว่าลังเลสงสัยเปิดช่องให้มีการเปลี่ยนใจได้ง่าย ซึ่งนั่นก็ไม่เป็นประโยชน์สำหรับการปฏิบัติ เพราะว่าธรรมดาคนเราเวลาจะทำอะไรก็ตามโดยเฉพาะทำในสิ่งที่มันยาก สิ่งที่เป็นการทวนกระแสกิเลส มันก็จะมีความลังเลสงสัยเกิดขึ้นเป็นระยะๆ หรือว่าเกิดความไม่แน่ใจ หรือบางทีก็พ่ายแพ้ต่อกิเลส กิเลสมันบอกว่าไม่ไหวแล้ว ไม่ไหวแล้ว ไปที่อื่นดีกว่า หลายคนก็หันหัวเรือ ทำตามกิเลสได้ง่าย นั่นคือสิ่งที่อาจจะเกิดได้ในช่วงนอกพรรษา
แต่ในพรรษานี้ เมื่อเราได้ลั่นวาจาได้ประกาศต่อหมู่คณะแล้วนั่นก็หมายความว่าต้องอยู่ที่นี่ให้ได้ ไม่มีคำว่าเปลี่ยนใจ เว้นแต่ว่ามีเรื่องด่วนจริงๆ แต่บางทีกิเลสก็หาเรื่องได้ อย่างบางคนตั้งใจว่าจะอยู่ให้ได้ทั้งพรรษา แต่พออยู่ไปๆ รู้สึกว่าไม่ชอบ มันไม่คุ้นกับชีวิตแบบป่าๆ ของที่นี่ หรือว่ารู้สึกเหงา อยู่ที่บ้าน อยู่ที่ทำงานมีเพื่อนเยอะ พอมาอยู่คนเดียวในกุฏิ ไม่ค่อยมีคนชวนคุยก็เริ่มที่จะหาข้อแก้ตัว อยากจะออก อยากจะย้าย บางทีถึงกับอยากจะสึกก็มี มีข้ออ้างว่าแม่ไม่สบาย อ้างว่าพ่อไม่สบาย หรืออ้างว่าลูกมีปัญหาจะต้องกลับไปที่บ้าน พอกลับไปถึงที่บ้าน ก็ไม่กลับมาอีกเลย เพราะว่ากิเลสมันสมอยากแล้ว ถ้ามันสามารถดึงเราออกไปจากวัด กลับไปที่บ้าน มันก็สามารถจะอ้าง หรือชวนให้เราหาข้ออ้าง ที่จะเปลี่ยนใจไม่กลับมา แต่คนเราเมื่ออธิษฐานไปแล้วก็ต้องทำตามสิ่งที่อธิษฐานให้ได้ แต่เดี๋ยวนี้คำว่าอธิษฐาน คนสมัยนี้ไม่ค่อยให้ค่าให้ความสำคัญเท่าไหร่ เพราะไปเข้าใจความหมายผิดเพี้ยนไป อธิษฐานสมัยนี้หมายความว่าขอ คนสมัยนี้อธิษฐานง่ายเหลือเกินเพราะว่ามันไม่ต้องทำอะไรมากนอกจากขอ ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยให้ประสบความสำเร็จ ให้เรียนจบ ให้ทำวิทยานิพนธ์สำเร็จ หรือว่าให้หายป่วย ให้ร่ำรวย คนไทยเดี๋ยวนี้อธิษฐานง่ายมาก เพราะมันไม่ต้องทำอะไร แค่นึกว่าอยากจะได้อะไรก็อธิษฐาน
แต่ที่จริงคำว่าอธิษฐานในภาษาบาลี ไม่ได้มีความหมายอย่างนี้เลย มันแปลว่าความตั้งใจมั่นที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อธิษฐานเป็นบารมีอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ บารมีก็แปลว่าความดีขั้นสูง ไม่ใช่ความดีธรรมดา บารมีมันมีแค่ ๑๐ เท่านั้น ความดีมีมากมายแต่ว่าบารมีมีแค่ ๑๐ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา สัจจะ วิริยะ ขันติ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา แต่ละข้อๆ ไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ แต่เดี๋ยวนี้เราทำให้ความหมายของบารมีผิดเพี้ยนไปหลายข้อ เช่น ทานแปลว่าให้ สละ ไม่ใช่แค่สละข้าวของ สละวัตถุ สละแม้กระทั่งอวัยวะและชีวิต อย่างที่พระโพธิสัตว์ได้สละอวัยวะ สละชีวิตมาแล้ว บางทีไม่ได้สละให้ใครเลย ไม่ได้สละให้พี่น้อง ไม่ได้สละไต สละตับให้พ่อแม่ บางทีสละชีวิตให้กับเสือที่ไม่เคยรู้จักกัน อย่างมีเรื่องเล่าในชาดกว่า สมัยที่พระโพธิสัตว์เป็นฤาษี จาริกในป่า ก็มีลูกศิษย์ตามมาด้วย ไปเห็นเสือแม่ลูกอ่อนมันเพิ่งคลอดลูก มันหิวโซมากแต่ไม่มีอะไรจะกิน จึงก็คิดจะกินลูกของมัน พระโพธิสัตว์ก็ให้ลูกศิษย์ไปหาอาหารมาให้แม่เสือ แต่ลูกศิษย์ก็ไปไกลเหลือเกินไม่กลับมา หรือว่าหาไม่เจอก็ไม่ทราบ แม่เสือก็กำลังจะขย้ำลูก ท่านอยากจะช่วยชีวิตลูกเสือไว้ และไม่อยากให้แม่เสือทำบาปทำกรรม ก็เลยโดดลงไปให้แม่เสือกินเป็นอาหาร อันนี้เรียกว่าปรมัตถบารมี เป็นทานบารมีขั้นปรมัตถ์ คือสละชีวิต สรุปว่าทานแปลว่าการให้ การสละ
แต่สมัยนี้ทานแปลว่าเอาใส่ปาก ทานอาหารแปลว่าเอาอาหารใส่ปาก คนละเรื่องเลย ทานบาลีแปลว่าให้ สละออกไป ทานภาษาไทยแปลว่าเอาเข้าปาก เอาใส่ท้อง อธิษฐานก็เหมือนกัน ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ ไม่ใช่การขอ ขอนี่มันง่ายมาก และทำให้งอมืองอเท้าไปเลย คนไทยอธิษฐานบ่อยมากจนกลายเป็นคนช่างขอ ขอไปหมด เทวดา ขอพระพิฆเนศ ขอจตุคามรามเทพ ตอนหลังก็เริ่มขอชูชก มีการบูชาชูชก ไม่ฉลาดเลยเพราะชูชกคิดแต่จะเอา ไม่เคยให้ใครเลย ทำไมคนไทยถึงไปขอชูชกก็ไม่รู้ นี่คืออธิษฐานสมัยนี้ แต่อธิษฐานภาษาบาลี อย่างที่บอก หมายถึงความตั้งใจมั่น เมื่อตั้งใจก็ต้องทำให้ได้ จะอะไรเกิดขึ้นก็แล้วแต่ ต้องทำให้ได้ เมื่อเราอธิษฐานพรรษาแล้วก็เช่นเดียวกัน เราก็ต้องตั้งใจมั่นว่าเราไม่ใช่แค่พูดแต่ปาก หรือว่าพูดสักแต่ว่าตามประเพณี แต่ว่าต้องตั้งใจทำให้ได้
ทำไมถึงต้องอธิษฐานพรรษา ก็เพราะว่าการที่อยู่ร่วมกันในอาวาส หรือว่าการที่อยู่ในวัดร่วมกันตลอด ๓ เดือนไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งมากคนก็มากความ คนเราก็มีความหลากหลาย มีความแตกต่างทั้งนิสัยใจคอ ทั้งพฤติกรรม และเมื่ออยู่ด้วยกันแล้ว ความแตกต่างแทนที่จะเสริมกัน ช่วยกัน บางทีมันก็กลายเป็นความขัดแย้งกันขึ้นมา ซึ่งก็ทำให้เกิดความกระทบกระทั่งกันในที่สุด ยังไม่ต้องพูดถึงว่า แม้จะอยู่คนเดียวไม่มีใครเลย การที่จะอยู่กับที่ ๓ เดือน สมัยนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะว่าคนสมัยนี้อยู่กับที่ไหนนานๆ ก็ไม่ค่อยได้ อยู่สักพักก็ไปแล้ว เบื่อแล้ว เพราะคนสมัยนี้เบื่อง่าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกิน การเสพ กินอาหารจานซ้ำๆ กันไม่กี่ครั้งก็เบื่อแล้ว ฟังเพลงเดียวไม่กี่ครั้งก็เบื่อแล้ว อยู่กับคู่รักไม่กี่เดือน อย่าว่าแต่ไม่กี่ปีเลย เอาว่าไม่กี่เดือนก็เบื่อแล้ว
ยิ่งมาอยู่ป่าหรือว่ามาอยู่ในอาวาส อยู่ในวัดซึ่งโดยทั่วไปแล้วก็ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเท่าไหร่ การที่ต้องหลีกเร้นจากวิถีชีวิตที่อำนวยความสะดวก บ้านติดแอร์ มีโทรทัศน์ มีวีดีโอ มีอินเทอร์เน็ต มีตู้เย็น ในตู้เย็นก็มีของกิน กินได้ตลอดเวลา ทั้งน้ำอัดลม ทั้งขนมหวาน แต่พอมาอยู่ในวัด ซึ่งตามหลักก็ควรจะไม่มีอะไรมาก โดยเฉพาะที่นี่ก็ไม่ค่อยมีอะไรมากอยู่แล้ว คนก็เริ่มกระสับกระส่าย โดยเฉพาะวันแรกๆ จะรู้สึกว่ามันอยู่ยาก เพราะว่าเวลามันเยอะ และต้องอยู่กับตัวเอง แต่ก่อนอยู่ในเมือง มีเวลามีโอกาสที่จะหนีตัวเองได้ง่าย ชีวิตของคนในเมืองเป็นชีวิตที่หนีตัวเอง หนีไปพูดคุยกับคน หนีไปเที่ยวห้าง หนีไปอยู่กับเฟซบุ๊ค ไปอยู่กับไลน์ ไปอยู่กับอินเทอร์เน็ต ไปอยู่กับเกมออนไลน์ มันหนีง่าย ก็เลยลืมตัวได้ง่ายเหมือนกัน แต่พอมาอยู่วัดแล้วโดยเฉพาะวัดแบบนี้ การที่จะหนีตัวเองนี้มันยาก ต้องมาเจอ ต้องมาประจันหน้ากับตัวเอง พอทนอยู่กับตัวเองไม่ได้ก็เริ่มกระสับกระส่าย เพราะฉะนั้นใหม่ๆ ก็ไม่ใช่จะสุขสบายเท่าไหร่ สบายกายก็ไม่สบายมาก สบายใจก็ยังทำไม่ได้เพราะว่าจิตว้าวุ่นอย่างที่เล่ามา เพราะฉะนั้นการที่จิตใจโอนเอนหรือว่าเกิดความลังเลสงสัย หรือว่าคิดจะเปลี่ยนใจที่จะหนีอออกไปจากที่นี่ก็มีได้ง่าย แต่ว่าถ้าเราอธิษฐานไปแล้ว อย่างที่บอกก็คือว่าต้องทำให้ได้ ต้องอยู่ให้ได้
แต่ที่จริงทุกคนอยู่ได้ทั้งนั้นแหละ เพียงแต่ว่าต้องให้เวลากับกายและใจในการปรับตัว พวกเราทุกคนไม่ว่าพระหรือว่าแม่ชีที่มาอยู่ใหม่ หรือว่านักปฏิบัติก็ตาม ให้เวลากับกายและใจของตัวในการปรับตัว เพราะธรรมชาติของคนเรามันปรับตัวได้ง่ายอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกายหรือใจ คนที่อยู่สะดวกสบายมา เวลาไปค้างแรมในป่าหรือว่าไปเดินธรรมยาตราอย่างที่นี่จัดทุกปี ใหม่ๆ ก็จะรู้สึกอึดอัด หรือว่ารู้สึกกระสับกระส่ายไม่เป็นสุข แต่ว่าพอผ่านไปสัก ๓-๔ วัน ก็จะเริ่มเข้าที่เข้าทาง ร่างกายก็ปรับได้ ไม่ว่าเวลานอน เวลากิน บางทีพอปรับไปได้สักพัก การนอนกลางดินกินกลางทรายเป็นเรื่องง่าย เป็นเรื่องสบาย อาจจะนอนหลับได้ดีกว่าตอนอยู่บ้านด้วยซ้ำ เพราะมันไม่มีสิ่งจะมากระตุ้นให้ตาสว่างตลอดทั้งคืน เหมือนพวกอินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊ค หรือว่าโทรทัศน์ วีดีโอ พยายามให้เวลากับกายและใจของเรา ใจของเราก็เหมือนกันมันปรับได้ง่าย ถ้าเราอดทนสักหน่อย ต้องมีขันติธรรม มนุษย์เราไม่ว่ากายหรือใจ มันมีความสามารถในการปรับตัวได้เร็ว คนที่กิน ๓ มื้อมาตลอดชีวิต พอจะมาถือศีลแปด อดมื้อเย็น วันแรกสองวันแรกก็จะรู้สึกหิว ท้องร้อง แต่ว่าพอผ่านไปสามสี่วันก็จะรู้สึกดีขึ้น คนที่อดอาหาร ไม่ใช่อดแค่มื้อเย็น แต่ว่าอดสามมื้อเลย เขาก็จะรู้สึกว่า ๒-๓ วันแรกมันทรมาน แต่พอวันที่ ๔ แล้วก็จะดีขึ้น คนที่มาทำสมาธิ เก็บอารมณ์ ไม่ว่าในสำนักไหน เขาก็จะพูดคล้ายๆ กันว่าในช่วงสามวันแรกนี้ทรมานมาก บางสำนักให้นั่งทั้งวัน บางสำนักให้เดินจงกรมวันละหลายชั่วโมง แต่ช่วง ๓ วันแรกจะเป็นช่วงที่ทรมานมาก เพราะร่างกายยังไม่คุ้น แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นช่วงเวลาที่เค้าเริ่มปรับตัวทั้งกายและใจ
เพราะฉะนั้นพวกเรา สำหรับคนที่มาใหม่ ถึงแม้ว่าช่วงนี้จะรู้สึกอึดอัด รู้สึกเหงา รู้สึกว้าเหว่ รู้สึกลำบาก ก็ให้ดูไป ดูอาการเหล่านี้ไป อาการทางกายและใจ พอเวลาผ่านไป ๓-๔ วันหรือ ๑ อาทิตย์ก็จะเริ่มดีขึ้น และอย่าไปเสียเวลานับถอยหลัง บางคนเริ่มนับถอยหลังอีก ๙๐ วันจะออกพรรษา อีก ๙๐ วันจะสึก อีก ๙๐ วันจะออกจากวัด ยิ่งนับถอยหลังก็ยิ่งเป็นทุกข์ เพราะจะรู้สึกว่าเวลามันช้ามาก คนที่นับถอยหลังหรือเอาแต่คิดว่าเมื่อไหร่จะถึงวันออกพรรษา เมื่อไหร่จะถึงวันที่สึก ยิ่งนับถอยหลังจะยิ่งเป็นทุกข์ เพราะว่ารู้สึกว่ามันช้า และใจที่ไม่อยู่กับปัจจุบัน ใจที่ไปอยู่กับอนาคต จะเป็นทุกข์ง่าย ให้รู้ทัน ตื่นขึ้นมาก็เริ่มนับถอยหลัง ตื่นขึ้นมาอีกตั้ง ๒ เดือน กับอีก ๒๘ วันนี่ พอคิดแบบนี้เข้าก็ห่อเหี่ยวเลย วางมันลงเสีย ลืมมันไปเลย แล้วจะพบว่าเวลาผ่านไปเร็ว ธรรมดาช่วงอาทิตย์แรกจะช้า สำหรับผู้มาใหม่จะรู้สึกว่ามันช้า แต่เผลอแป๊ปเดียว เดือนหนึ่งแล้ว เผลอแป๊ปเดียวอีกทีออกพรรษาแล้ว ช่วงอาทิตย์หรือสองอาทิตย์แรกเวลาจะผ่านไปช้ามาก เวลาจะเคลื่อนช้ามาก ก็อย่าไปทุรนทุรายกับมัน อยู่ไปสักพักจะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็ว แต่ละวันแต่วันผ่านไปเร็วมาก เดี๋ยวเดือนแรกก็จะผ่านไปแล้ว แป๊ปเดียว เดือนที่ ๒ เดือนที่ ๓ แล้วก็ออกพรรษา แล้วพอถึงตอนนั้นก็จะรู้สึกเสียดาย ไม่อยากออก ไม่อยากสึก อันนี้เป็นธรรมดา เพราะพอใจเราปรับตัวได้ก็จะสบาย
อย่าว่าแต่พระเลย โยมก็เหมือนกัน เคยมีโยมผู้ชาย มาอยู่วัดด้วยความจำใจ เพราะหนีหนี้มา ตอนที่มาอยู่อาตมาก็ไม่รู้หรอก พี่สาวพามาส่ง เจ้าตัวก็ยังหนุ่มอยู่เลย ไม่ถึง ๓๐ ไปอยู่หอไตร สมัยก่อนหอไตรอยู่บนเขา ไม่มีกุฏิเท่าไหร่ อยู่คนเดียวบนหอไตร วันแรกๆ ก็ร้องไห้ คิดถึงลูก ลูกยังเด็กอยู่เลย สมัยนั้นโทรศัพท์มือถือก็ไม่มี ติดต่อลำบากมาก เป็นห่วงลูก คิดถึงลูก และคิดถึงความสะดวกสบาย อาทิตย์แรกร้องไห้ทุกวัน แต่ว่าลงไปไม่ได้ อันนี้หนักกว่าเรา คือถ้าลงไปก็เจอคุกสถานเดียว แต่ตอนหลังพออยู่ไปสัก ๒ อาทิตย์ก็เริ่มคุ้นแล้ว วันๆ ก็ไม่ต้องทำอะไร นอกจากกิจวัตรที่ช่วยงานวัด ก็กวาดศาลา เช็ดถูศาลา กวาดใบไม้รอบหอไตร ทำไปๆ เพลิน พอผ่านไป ๑ เดือนก็ขอบวชเลย เพราะรู้สึกว่ามันสงบ นี่ธรรมชาติของใจมันเป็นอย่างนั้น กายของเราก็เหมือนกัน ที่เคยนอนดึกตื่นสาย พอมาอยู่วัดก็นอนหัวค่ำตื่นเช้ามืด ก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาไป เราต้องให้เวลากับกายและใจของเรา
อย่างไรก็ตามนอกจากการที่เราพยายามปรับตัวปรับใจ สิ่งหนึ่งที่เราต้องมี คือความอดทนต่ออารมณ์ของผู้คน หรือว่าการปฏิบัติตัวของคนรอบข้าง อย่างที่บอกไว้แล้วว่า ที่นี่คนเยอะ พระก็ดี แม่ชีก็ดี โยมก็ดี ก็มาคนละทิศคนละทาง ถ้าภาษาชาวบ้านก็เรียกว่า ร้อยพ่อพันแม่ เพราะฉะนั้นก็อาจจะมีอะไรที่ไม่ถูกใจเราบ้าง การกระทำบางอย่าง สำหรับเจ้าตัวเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับเราเป็นคำที่ไม่สุภาพ เป็นคำที่ไม่มีหางเสียง คนพูดไม่ได้คิดอะไร แต่คนฟังก็ไม่พอใจ ให้เราต้องรู้จักมั่นคง อดทนต่ออารมณ์ ต่อพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นการขบฉันก็ดี การบิณฑบาตก็ดี การตักอาหารก็ดี หรือโดยเฉพาะเวลาทำงานด้วยกัน เช่นในครัว ให้เราถือว่าเป็นการฝึกใจ ให้เข้มแข็งมั่นคง การอยู่ร่วมกันด้วยความพร้อมเพรียงกันเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าเราอยู่ด้วยกันโดยที่ไม่มีเรื่องวิวาทกัน ก็ทำให้การปฏิบัติธรรม เป็นไปได้ง่าย
สมัยที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปเยือนพระสาวก ตอนนั้นพระสาวกอยู่กัน ๓ รูป พระอนุรุทธะ พระนันทิยะ พระกิมิละ ตอนนั้นก็ปลีกวิเวกกัน อยู่ในป่าชื่อป่าโคสิงคสาลวัน เป็นป่าที่มีชื่อ ที่มีการกล่าวถึงในพระไตรปิฎกหลายครั้ง พระองค์ก็เสด็จไปเยี่ยม ประโยคแรกที่พระองค์ถามก็คือว่า ลำบากหรือเปล่า พอทนไหวหรือเปล่า บิณฑบาตลำบากหรือเปล่า ถามเรื่อง อาหารการกินก่อน เรื่องการกินความเป็นอยู่ทางกายภาพ ทั้งสามท่านก็ตอบว่า บิณฑบาตได้สบาย ไม่ลำบาก ดังนั้นในเรื่องของร่างกายก็หมดปัญหา ทีนี้พระองค์ก็ถามต่อว่า แล้วอยู่กันอย่างพร้อมเพรียงหรือเปล่า ชื่นชมกันหรือเปล่า มีการวิวาทกันหรือเปล่า เข้ากันได้เหมือนน้ำกับน้ำนมหรือเปล่า ท่านเปรียบได้ดี เข้ากันได้เหมือนน้ำกับน้ำนมหรือเปล่า ถ้าเข้ากันไม่ได้ ท่านจะเปรียบเหมือนน้ำกับน้ำมัน เข้ากันได้เหมือน้ำกับน้ำนมหรือเปล่า มองกันด้วยนัยน์ตาที่เปี่ยมด้วยความรักหรือเปล่า พระพุทธเจ้าท่านใช้คำที่ไพเราะมาก มองด้วยนัยน์ตาที่เปี่ยมไปด้วยความรักความเมตตาหรือเปล่า ทั้งสามท่านก็ตอบดี ตอบว่า แม้กายของข้าพระองค์จะต่างกันแต่จิตใจก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อีกท่านหนึ่งก็บอกว่า ข้าพระองค์เก็บจิตของตนไว้ และปฏิบัติตามอำนาจจิตของผู้อื่น นี่เป็นการลดอีโก้ ลดอัตตาอย่างเต็มที่เลย ท่านใช้คำว่า เก็บจิตของตนไว้ และปฏิบัติตามอำนาจจิตของผู้อื่น คือของเพื่อนนั่นแหละ อีกสองรูป คือไม่เอาตัวเองเป็นใหญ่ แต่ว่าเอาหมู่คณะเป็นใหญ่ ทำไมพระพุทธเจ้าถึงถามเรื่องนี้ เพราะว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการปฏิบัติ เพราะถ้าพร้อมเพรียงกันแล้ว ไม่วิวาทกัน ไม่ใช่แค่ไม่วิวาทกันอย่างเดียว ชื่นชมกันด้วย มันก็จะทำให้เกิดบรรยากาศ หรือสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อการปฏิบัติ ลำพังแค่ไม่วิวาทกันยังไม่พอ ต้องชื่นชมกันด้วย
อันนี้ก็เป็นแบบฝึกหัดของพวกเราด้วยเหมือนกันว่า นอกจากจะไม่วิวาทกัน ไม่ขัดแย้งกัน ต้องชื่นชมกัน พยายามมองเห็นข้อดีของกันและกันให้ได้ และที่ท่านตอบพระพุทธเจ้าก็น่าคิดมากทีเดียว ว่า เราจะทำได้หรือเปล่า นี่ก็เป็นแบบฝึกหัดให้เราได้พยายามทำ แม้ว่ากายของข้าพระองค์จะแตกต่างกัน จิตก็เป็นอันเดียวกัน ข้าพระองค์เก็บจิตของตนไว้ และปฏิบัติตามอำนาจจิตของผู้อื่น หลังจากที่พระพุทธเจ้าถามเรื่องความพร้อมเพรียงกันแล้ว พระองค์ถึงจะถามว่าตอนนี้ยังไม่ประมาทอยู่หรือเปล่า หรือว่ามีการอุทิศกายและใจเพื่อการปฏิบัติหรือไม่ ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่าที่เราบวชมาก็เพื่อการนี้แหละ เพื่อการปฏิบัติ และการที่เราจะปฏิบัติให้ได้ผล ก็ต้องไม่ประมาท มีความขวนขวาย มีความเพียร หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าถึงถามว่า แล้วได้มีคุณวิเศษบ้างหรือเปล่า หรือว่าได้รับผลแห่งการปฏิบัติบ้างหรือเปล่า เรื่องผลแห่งการปฏิบัติพระองค์จะถามเป็นคำถามสุดท้าย ก่อนที่จะถามเรื่องผลการปฏิบัติ พระองค์จะถามว่า ตั้งใจปฏิบัติหรือเปล่า เพราะพระพุทธเจ้าให้ความสำคัญกับเรื่องของความเพียรพยายามมาก ผลเป็นเรื่องตามมาทีหลัง แต่ว่าต้องเพียรพยายามก่อน ถึงแม้ผลจะไม่บังเกิด ถ้ามีความเพียรพยายามก็ถือว่า น่ายกย่องน่าชื่นชม
พ่อแม่หลายคน เวลาถามลูก ก็จะถามว่า สอบได้ดีหรือเปล่า ได้เกรดเท่าไหร่ แทนที่จะถามว่ามีความตั้งใจหรือเปล่า มีความเพียรพยายามหรือเปล่า พ่อแม่ที่ฉลาดก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องความเพียรพยายามก่อน เกรดเป็นอย่างไร ผลเป็นอย่างไรก็อีกเรื่องหนึ่ง แข่งกีฬาก็จะไม่ได้ให้ความสำคัญว่าชนะหรือแพ้ แต่ถามว่าได้ตั้งใจหรือเปล่า ได้สู้เต็มที่หรือเปล่า พ่อแม่ที่ฉลาดก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องความเพียรพยายาม ผลเป็นเรื่องทีหลัง แต่ว่าพ่อแม่หลายคนก็ไปให้ความสำคัญกับเรื่องผลมาก บางทีเด็กก็เพียรพยายามเต็มที่ แต่ว่าแพ้ หรือได้เกรดไม่ดี พ่อแม่รู้ก็ต่อว่าเลย ทำให้เด็กรู้สึกล้มเหลว และรู้สึกว่าความเพียรพยายามไม่สำคัญ สิ่งสำคัญก็คือผลชนะหรือว่าเกรดที่ดี ถ้าเด็กคิดแบบนี้ต่อไปเด็กก็จะคิดเรื่องการโกง โกงยังไงถึงจะชนะ หรือว่าโกงอย่างไรถึงจะได้คะแนนดี เพราะว่าพ่อแม่ไม่เห็นความสำคัญของความเพียรพยายาม เด็กไทยจำนวนมากเป็นอย่างนี้ ก็คือโกง โกงการสอบ หรือว่าโกงในการแข่งกีฬา ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็เป็นกันไปเยอะ เล่นกีฬาก็ทำอย่างไรก็ได้ ขอให้ชนะ ส่วนความเพียรพยายาม คนไม่ค่อยให้ค่าเท่าไหร่
แต่นี่ไม่ใช่วิสัยของชาวพุทธ พระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่างว่า ผลสำเร็จหรืออานิสงค์ของการปฏิบัติ ยังไม่สำคัญเท่ากับความเพียรพยายาม ขอให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทมีความขวนขวาย ทุ่มเทกายและใจ อันนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญกว่า แต่จะทำอย่างนั้นได้ก็ต้องอาศัยหมู่คณะ พระพุทธเจ้าจึงถามคำถามที่สอง ก่อนหน้าที่จะถามเรื่องความเพียรพยายามว่า มีความพร้อมเพรียงกันหรือเปล่า เพราะฉะนั้น การที่เรามาอยู่ร่วมกันในที่นี้ สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การปฏิบัติของเรา เจริญงอกงาม หรือว่าทำให้เรามีความทุ่มเท ขวนขวายในการปฏิบัติ ก็คือหมู่คณะ หมู่คณะสำคัญมาก ถ้าไปเจอหมู่คณะที่ดีก็ทำให้เราเกิดความเพียรได้ง่ายขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ในมงคลสูตรที่เราพึ่งสวดกันเมื่อสักครู่ สองข้อแรกจึงเป็นเรื่องของเพื่อน การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต ถ้าคบคนพาลเป็นเพื่อนก็แย่เลย ชีวิตเจริญได้ยาก แต่ถ้าเราคบบัณฑิตเป็นเพื่อน หรือว่ามีกัลยาณมิตร ก็จะทำให้ชีวิตของเราและการปฏิบัติของเราเป็นไปได้ง่ายขึ้น อย่างน้อยๆ ก็เริ่มต้นด้วยการมีกำลังใจในการปฏิบัติ เพราะเพื่อนก็ทำ เราก็มีกำลังใจที่จะทำอย่างนั้นบ้าง พระพุทธเจ้ายังตรัสว่ากัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์ เดี๋ยวในบทสวดมนต์ของเรา จะมีบทหนึ่งท่านจะพูดเรื่องกัลยาณมิตรเลย พระอานนท์เคยบอกว่ากัลยาณมิตรเป็นครึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์ พระพุทธเจ้าตรัสว่า อย่ากล่าวเช่นนั้นอานนท์ กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์
พรหมจรรย์คือชีวิตที่ประเสริฐ ชีวิตที่เจริญงอกงาม และการที่เรามาที่นี่ ไม่ว่าจะมาในเพศของพระ แม่ชี หรือฆราวาส เราก็มุ่งชีวิตพรหมจรรย์ พรหมจรรย์ในที่นี้ ไม่ได้แปลว่าไม่มีคู่หรือโสด พรหมจรรย์แปลว่าชีวิตอันประเสริฐซึ่งมีการปฏิบัติที่ตั้งมั่นในธรรม ถือศีล ๕ ก็ถือว่าเป็นพรหมจรรย์ได้ มีครอบครัวแต่พอใจในคู่ครองของตัว เรียกว่ามีสทารสันโดษก็ถือว่าเป็นพรหมจรรย์ได้ ไม่ใช่ว่าต้องบวชพระ เพราะว่าพรหมจรรย์ความหมายจริงๆคือชีวิตที่ประเสริฐ ชีวิตที่มีศีลมีธรรม ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ ประการสำคัญคือต้องอาศัยสิ่งแวดล้อม อาศัยมิตร ที่นี่เรื่องอาหารบิณฑบาตหมดปัญหา ที่พระพุทธเจ้าเคยถามคำถามแรกกับทั้งสามท่านว่าบิณฑบาตได้หรือเปล่า ลำบากหรือเปล่า ความเป็นอยู่ลำบากเพียงใด ข้อนี้ตัดไปได้ที่นี่ ถึงแม้คนที่มาในเมืองอาจจะรู้สึกว่า มันไม่สะดวกสบาย แต่ว่าก็ไม่ถึงขั้นลำบาก
วัดป่าสุคะโตก็ผ่านข้อแรกไปได้อย่างไม่ยาก เรื่องบิณฑบาต เรื่องความเป็นอยู่ แต่ข้อที่สองก็เป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันสร้างขึ้น เป็นภารกิจที่เราต้องพยายามทำให้เกิดมีขึ้น ทั้งพระ ทั้งแม่ชี และญาติโยม มันเป็นความท้าทายด้วยว่า เราจะอยู่กันด้วยความพร้อมเพรียง ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน เข้ากันได้เหมือนน้ำกับน้ำนมหรือเปล่า มองกันด้วยสายตาที่เปี่ยมด้วยความเป็นมิตรหรือเปล่า อาจจะไม่ถึงขั้นนั้นก็ได้ แต่อย่างน้อยก็ไม่วิวาทกัน แต่เราจะไม่วิวาทกันได้ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการรู้จักชื่นชมกัน ถ้าเราชื่นชมกัน เวลามีอะไรมากระทบกระทั่งก็จะให้อภัยกัน เราก็ไม่ถือเป็นเรื่องใหญ่ การวิวาทก็จะไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ ข้อสองนี้คือสิ่งที่เราต้องทำให้ได้ในพรรษานี้
อย่างไรก็ตามก็อย่าไปรอให้มีข้อสองก่อน เราถึงจะขยัน ไม่เช่นนั้นเดี๋ยวจะกลายเป็นว่า พอหมู่คณะไม่พร้อมเพรียงกันเราก็เลยขี้เกียจ เราก็เลยเฉื่อยชา นั้นไม่ใช่ จริงอยู่หมู่คณะสำคัญมาก แต่ว่าเราก็อย่าไปพึ่งหมู่คณะอย่างเดียว เราก็ต้องมีความเพียรของตัวเราเองด้วย ไม่ใช่ไปรอว่าต้องให้หมู่คณะพร้อมเพรียงก่อน เราถึงจะพากเพียรขวนขวายปฏิบัติ ไม่ต้องรอ ทำเลย ตั้งแต่คืนนี้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป แล้วก็ไม่ต้องสนใจว่าผลหรือคุณวิเศษการปฏิบัติจะเป็นอย่างไรบ้าง เพราะว่าสิ่งที่ชาวพุทธควรสนใจคือประกอบเหตุให้ดี เมื่อทำเหตุให้ดีแล้ว ผลมันตามมาเอง อย่าไปสนใจผล สนใจจดจ่ออยู่กับเหตุ การประกอบเหตุให้ดี แล้วผลก็จะตามมา