แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เทศกาลเข้าพรรษา คนส่วนใหญ่ก็เข้าใจว่า มันเป็นช่วงเวลาสำหรับนักบวชคือพระกับแม่ชีเท่านั้น ที่จริงยังมีความหมายสำหรับฆราวาส ญาติโยม ทั่วไปด้วย มันไม่ใช่เป็นช่วงเวลาที่พระและก็แม่ชี มาศึกษาปฏิบัติอย่างจริงจังตลอด ๓ เดือนเท่านั้น แต่ยังเป็นช่วงเวลาสำหรับฆราวาส จะได้มาฝึกฝนพัฒนาตนด้วย เป็นการฝึกฝนพัฒนาตนในทางธรรม ส่วนใหญ่นี่เราก็เห็นความสำคัญของการฝึกฝนพัฒนาตนในทางโลก เช่น ไปศึกษาหาความรู้มากขึ้น ไปฝึกทักษะเพื่อเป็นประโยชน์ในการทำมาหากิน ไปเรียนวิชาต่างๆ เพื่อให้มีความรู้มากขึ้น แต่นอกจากวิชาทางโลกแล้ว วิชาทางธรรมหรือวิชาชีวิตก็สำคัญ
ช่วงเข้าพรรษานี้ก็เหมือนกับว่า มาติวเข้มหรือว่ามาฝึกฝนตนให้มากขึ้นในเรื่องวิชาชีวิต ซึ่งก็เป็นเรื่องของการพัฒนากายและใจนั่นเอง ว่าไปแล้วการเข้าพรรษาก็เหมือนการเปิดเทอม เดือนนี้ทางนักเรียน นักศึกษา เขาก็เปิดเทอม อันนั้นเขาเรียนทางโลก แต่ว่าพวกเรามาเปิดเทอมเพื่อมาฝึกฝนตนในเรื่องทางธรรมมากขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องการศึกษาอย่างหนึ่งเหมือนกัน ศึกษาเป็นภาษาสันสฤต มันมาจากภาษาบาลีว่า สิกขา สิกขาในภาษาบาลีนี้มันมีความหมายว่าเป็นการปฏิบัติ เพื่อฝึกฝนตน อย่างเช่น วินัยของพระแต่ละข้อ ๆที่มี 227 ข้อนี้ เขาเรียกว่าสิกขาบท ก็คือข้อปฏิบัติ บางทีก็แปลว่าบทศึกษา บทศึกษาเราก็เลยนึกว่าเป็นเรื่องที่ต้องมาท่องจำกัน แต่ที่จริงถ้าแปลให้ถูกต้อง หรือว่าเข้ากับสมัยนี้ก็คือ ข้อปฏิบัติ ไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา นี้ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องของการอ่านตำรับตำรา แต่เป็นเรื่องการปฏิบัติ ปรับปรุงพฤติกรรม พัฒนาจิต เพิ่มพูนปัญญา มันเป็นการศึกษาเหมือนกัน แต่ว่าศึกษาคนละแบบกับที่เราเข้าใจ เรามาศึกษาด้วยการปฏิบัตินี้ ก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับฆราวาส ญาติโยม และตามประเพณีไทยก็ถือว่า ช่วงเข้าพรรษานี้แหละ ก็เป็นช่วงเวลาที่ฆราวาสก็จะได้มาฝึกฝนพัฒนาตน ให้มากขึ้นกว่าเดิม หรือว่าเข้มข้นขึ้น
คนไทยสมัยก่อนหรือสมัยนี้ก็ตาม ก็จะมาจำศีลกันในวันพระ แต่เดี๋ยวนี้ก็มีแต่คนแก่ หรือผู้มีอายุ มาจำศีล จำศีลนี้จำศีลอะไร ก็ศีล 8 แต่ว่าคนที่ไม่มีเวลาจะมาจำศีล มาค้างที่วัด เขาก็ถือศีลเหมือนกัน คือว่าถือศีล 5 โดยเฉพาะข้อที่ 5 ซึ่งส่วนใหญ่ก็ทำกันไม่ค่อยได้ ช่วงนอกพรรษาก็มาทำกันจริงจัง ก็คือว่า งดเหล้า เราคงได้ยินคำว่า งดเหล้าเข้าพรรษา อันนี้มันไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นสมัยที่มี สสส. มารณรงค์ ที่จริงคนไทยเราก็งดเหล้าเข้าพรรษานี้มาเป็นประเพณีนานแล้ว มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนที่ติดเหล้า แต่ว่าเขาก็เห็นว่าช่วงเข้าพรรษานี้ ต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อเป็นบุญกุศล จะว่าเป็นการแสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัยหรือศาสนาก็ได้ ก็เลยงดเหล้า หรือจะมองว่าเป็นการพัฒนาตนก็ได้ เพราะว่าคนเราจะพัฒนาตนได้ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการลด ละ หรือเลิก สิ่งที่ไม่ดี อย่างเช่นมงคล 38 ที่เราสาธยายกันเมื่อวานนี้ ข้อแรก คือการงด การเว้น งดเว้นอะไร งดเว้นจากการคบคนพาล ในการทำความดีหรือการพัฒนาตน ก็ต้องเริ่มต้นจากการงดเว้นก่อน เช่นงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากลักขโมย งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม งดเว้นจากการพูดปด งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา
หรือว่าในโอวาทปาฏิโมกข์ก็เริ่มต้นด้วยคำว่า การไม่ทำบาปทั้งปวง หลังจากนั้นก็ทำกุศลให้ถึงพร้อม การลด การละ การเลิก นี้เป็นเบื้องต้นของการทำความดี แต่ถ้าทำความดีโดยยังไม่ลดละเลยนี้มันก็ดีไม่แท้ เช่น ให้ทาน ทำบุญ แต่ว่ายังไม่เลิกเหล้านี่ เดี๋ยวนี้เราเห็นมาก งานบุญมากมาย เช่นงานผ้าป่า งานทอดกฐิน แต่เขาก็ไม่เลิกเหล้า อันนั้นมันก็เป็นงานบุญที่ดีไม่ได้ มันต้องเริ่มต้นจากการลด ละ ก่อน หรือว่าเลิกไปเลย ดังนั้นการพัฒนาตนมันก็เช่นเดียวกัน มันต้องเริ่มต้นจากการที่เราลด ละ เลิก สิ่งที่ไม่ดี แม้ชั่วคราวก็ยังดีกว่าไม่ทำเลย หลังจากนั้นก็อาจจะทำความดีเพิ่มเติมเข้าไป ในช่วงเข้าพรรษา เป็นช่วงเวลาที่ฆราวาส ญาติโยม ควรให้ความใส่ใจกับการที่จะฝึกฝนพัฒนาตน เริ่มต้นด้วยการลด ละ ขัด เกลา แล้วก็ตามมาด้วยการทำความดี สิ่งที่พึงทำแต่ว่าทำน้อย ก็ทำให้มากขึ้นช่วงเข้าพรรษา สิ่งที่ไม่ดีก็ทำให้น้อยลงหรือว่าเลิกไปเลย หรือว่าเลิกชั่วคราวก็ยังดี อันนี้มองในแง่หนึ่งมันก็เป็นการพักกายพักใจ การพัฒนาตนกับการพักกายพักใจนี้ไม่ได้ขัดแย้งกัน ถึงแม้ว่าการพัฒนาตนอาจจะต้องใช้ความเพียรพยายามสักหน่อย ในการที่จะลด ละ ความเคยชินบางอย่างที่ไม่ดี แต่ว่าผลที่ตามมาก็คือการพัก พักกาย พักใจ
ยกตัวอย่างง่ายๆ ถือศีล 8 นี้ เพียงแค่ศีลข้อ 6 ข้อเดียวคือ วิกาลโภชนา การงดเว้นจากการกินอาหารในเวลาวิกาล ตั้งแต่เที่ยงลับไปจนถึงวันใหม่ หรือการพูดง่ายๆ คือการงดข้าวเย็น มันช่วยประหยัดเวลาและประหยัดพลังงานไปได้มาก เพราะลองนึกภาพถ้าหากเราต้องกินข้าวเย็น เราก็ต้องเสียเวลา เสียพลังงานไปกับการทำอาหาร กว่าจะทำอาหารก็ต้องไปหาเครื่อง หาผัก หาปลามา หามาได้ก็ต้องมาทำ มาปรุง ปรุงเสร็จ มากิน กินเสร็จร่างกายก็ต้องย่อย มันก็เหนื่อยเหมือนกัน ไม่ใช่แค่เปลืองเวลาเท่านั้น ถึงแม้ว่าใหม่ๆ คนที่งดข้าวเย็นก็จะรู้สึกหิว แต่ว่าผ่านไป 2-3 วันก็จะรู้สึกสบายขึ้น
ศีลข้อที่ 7 ก็เหมือนกัน การไม่เที่ยว ไม่เล่น ไม่ร้องรำทำเพลง ไม่ประดับประดา ร่างกายด้วยของหอม สิ่งเหล่านี้มันก็สิ้นเปลืองทั้งเวลาและพลังงาน การเที่ยวการเล่น ถึงแม้นจะสนุก แต่ว่ามันทำให้เหนื่อยล้าได้ง่าย เหนื่อยทั้งกาย เหนื่อยทั้งใจ ยิ่งถ้าเที่ยวเล่นจนไม่ได้หลับไม่ได้นอน หรือว่านอนดึก เที่ยวผับ เที่ยวบาร์ ฟังเพลง เล่นดนตรีจนถึงเที่ยงคืน ตีหนึ่ง ตีสองนี่ มันก็เหนื่อย แต่พอถือศีลข้อที่ 7 นัจจะคี ตะวาทิ ตะ นี้ ก็เรียกว่าได้พักผ่อนแล้ว ได้เข้านอนแต่หัวค่ำ ที่เคยติดโทรทัศน์ ติดหนัง ติดละคร ดูจนเที่ยงคืน ตีหนึ่ง ก็เป็นอันว่าตัดปัญหาไปได้ มันก็ได้พักกายและพักใจด้วย ถึงเวลานอนหลับก็นอนได้ดี หลับสนิท ก็ฝันดี
ศีลข้อที่ 3 อะพรัหมะจริยา การไม่หลับนอนกับคู่ครองหรือเพศตรงข้าม หรือว่าเพศเดียวกันก็แล้วแต่ พอไม่ทำแบบนี้เข้า มันก็ประหยัดพลังงานไปได้เหมือนกัน ที่จริงเหนื่อยตั้งแต่ไปตามหาคู่ครองแล้ว พยายามไปจีบไปเกี้ยวพาราสีนี่ พวกนี้ก็เหนื่อย พอถือศีลข้อที่ 3 ใน เรียกว่า อะพรัหมะจริยา ก็เรียกว่าหายเหนื่อย ไม่วุ่นวาย
ศีล 5 ก็เหมือนกัน ถ้าเราพิจารณาดูดีๆ ถ้าทำได้ จะช่วยทำให้เราไม่ใช้พลังงานไปในทางที่เป็นโทษกับตนเองและผู้อื่น ดังนั้นการรักษาศีลไม่ว่าจะเป็น ศีล 5 หรือ ศีล 8 ก็ตาม ใหม่ๆ อาจจะยากต้องใช้ความอดทน ต้องสู้กับกระแสกิเลส และความเคยชิน แต่พอทำได้ลงตัวก็จะพักกาย พักใจ ดังนั้นถ้าเราเห็นคุณค่าตรงนี้ เราก็เอาไปใช้กับชีวิตประจำวันของเราได้ ถึงแม้ว่าสมัยนี้จะไม่ค่อยมีเวลามาวัด ไม่มีเวลามาจำศีล อย่างคนในเมือง ก็ยังสามารถที่จะปฏิบัติธรรมได้ ฝึกฝนตนได้ในช่วงเข้าพรรษา เช่น อยู่ที่บ้านเราก็ลองดูสิว่า เรามีนิสัย มีความเคยชินอะไรบ้าง ที่มันทำให้เราเหนื่อยล้าได้ง่าย มันบั่นทอน ร่างกายและจิตใจ หรือว่าเป็นโทษ
เราก็ลองใช้ช่วงเข้าพรรษานี้ เลิกทำสิ่งนั้นดูสักพัก บางคนอาจจะติดโทรทัศน์ บางคนอาจจะติดละคร บางคนติดอินเตอร์เน็ตใช้เล่นเฟซบุ๊ควันหนึ่งหลายชั่วโมง บางคนชอบหยิบโทรศัพท์มาดูข้อความ ดูทางไลน์วันละหลายครั้ง บางคนหยิบมาดูชั่วโมงละ 10 ครั้งก็มี ดูแล้วดูอีก ๆ ว่าจะมีข้อความส่งมาถึงตัวหรือเปล่า หรือว่ามาเช็คดูเฟซบุ๊ค ก็ไม่เป็นอันทำงานแล้วก็เหนื่อยล้า เพราะข้อความบางทีมันก็ทำให้จิตใจขุ่นมัว ข้อความในเฟสบุ๊ค ในไลน์สิ้นเปลืองพลังงานเรามาก หรือว่าทำให้เราเหนื่อยล้า เข้าพรรษานี้ก็ลองคิดดู เราจะทำให้มัน เราจะเปิดดูให้น้อยลง เช่น เช็คข้อมูลหรือว่าเช็คอีเมล์วันละ 3 ครั้งพอ แทนที่จะเปิดโทรศัพท์ เปิดสัญญาณทิ้งเอาไว้ทั้งวัน ก็เปิดแล้วปิดเป็นเวลา ได้เวลาจะเช็คข้อความทางไลน์ก็ดี เฟซบุ๊คก็ดี อีเมล์ก็ดี ก็ค่อยเปิดสัญญาณ พอดูเสร็จก็ปิดเสีย อันนี้ช่วยได้เยอะเพราะคนที่เปิดค้างไว้ตลอดเวลา ก็จะกังวลว่า เดี๋ยวเพื่อนเขาส่งข้อมูลมา ส่งข้อความมา แล้วเราไม่รีบตอบเดี๋ยวเขาจะน้อยใจ เดี๋ยวเขาจะว่า แต่ถ้าเราปิดสัญญาณ เพื่อนส่งข้อความมา เขาก็รู้ว่าข้อความที่ส่งไปยังไม่มีคนอ่าน หรือไม่ก็อาจจะบอกเขาว่า เข้าพรรษานี้ฉันจะเปิดเช็คอินเตอร์เน็ตแค่วันละ 3 ครั้งเท่านั้น เช้า กลางวัน เย็น แค่นั้นแหละ บอกเพื่อน เพื่อนเขาจะได้รู้ว่าถ้าเกิดเราไม่ตอบไป ก็ไม่ได้มีอะไรผิดปกติ อย่างนี้เป็นต้น
บางคนอาจจะติดกาแฟ ติดกาแฟมากจนกระทั่งร่างกายเริ่มแย่แล้ว หรือไปไหนก็กระสับกระส่ายถ้าไม่มีกาแฟ ลองฝึกดูว่าเราจะลด ละ กาแฟ หรือว่าเลิกไปเลยตลอดพรรษา เผลอๆ สามารถจะเลิกไปได้ตลอดชีวิตก็ได้ หรือว่าถึงไม่เลิกก็ไม่ติด บุหรี่ก็เหมือนกัน บางคนชอบติดช็อปปิ้ง อาทิตย์หนึ่งต้องไปเที่ยวห้างหลายครั้ง ก็ลองงดดูเสียบ้าง มันทั้งประหยัดเงิน ประหยัดเวลา แล้วก็ประหยัดพลังงานไปได้มาก ทำให้ใจสงบได้ง่ายเพราะว่าไม่มีสิ่งล่อเร้าเย้ายวนให้ว้าวุ่นให้ฟุ้งซ่าน ถ้าลองคิดดูว่าในพรรษานี้ตลอด 3 เดือนเราจะลด ละ เลิก อะไรได้บ้าง ให้ใช้ช่วงเวลาเข้าพรรษา จะเป็นช่วงเวลาของการถอนตัว ออกจากวิถีชีวิตหรือความเคยชิน และที่ก่อโทษให้กับเรา ที่บั่นทอนพลังงานทั้งกายและใจ
ที่จริงการที่พระมาบวช การที่คนมาปฏิบัติธรรมในวัด จะมาบวชชีก็ตาม หรือว่าบวชเนกขัมมะก็ตาม มันก็คือการถอนตัว ถอนตัวจากวิถีชีวิตและความคุ้นเคยเดิมๆ ที่มันเป็นโทษหรือว่าไม่ค่อยเกื้อกูลต่อความงอกงามด้านใน ส่วนฆราวาส ญาติโยมนี้ ถึงแม้จะไม่ถอนตัวออกมาจากชีวิตเดิม ๆ แต่ว่าเราสามารถถอนออกมาจากนิสัยความเคยชินบางอย่างที่ไม่ดีก็ได้ บางคนก็คิดว่าสิ่งที่ไม่ดีนี้ฉันก็ไม่ค่อยมีแล้ว เราก็มาเพิ่มพูนสิ่งที่ดีๆมากขึ้นก็ได้ เช่นในพรรษานี้ตั้งใจว่าจะสวดมนต์ทุกคืนก่อนนอน หรือว่าจะนั่งสมาธิเจริญสติก่อนนอน วันละ 10 นาทีก็ได้ ครึ่งชั่วโมงก็ได้ คนที่ไม่เคยทำก็อาจจะตั้งใจทำวันละ 10 นาที คนที่ทำมาเป็นประจำก็อาจจะเพิ่มเป็นครึ่งชั่วโมง หรือว่าจะออกกำลังกายก็ได้ ร่างกายไม่ค่อยดี กินมากน้ำหนักเยอะ ตั้งใจว่าในพรรษานี้ ฉันจะออกกำลังกาย เป็นการฝึก ความเพียร วิริยะบารมี แล้วก็ขันติบารมีด้วย สิ่งนี้ทำได้ถึงแม้ว่าเราจะไม่มีเวลามาบวช ไม่มีเวลามาจำศีล แต่เราสามารถทำให้ชีวิตประจำวันของเราได้ อันนี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าพรรษา เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกฝนพัฒนาตนได้
สิ่งสำคัญก็คือว่าต้องทำทุกวัน และเพราะเหตุนี้ต้องมีการอธิษฐาน ฆราวาสก็มีการอธิษฐานได้ว่า เราจะตั้งใจจะเลิกกาแฟ เราตั้งใจว่าจะกินอาหารมังสวิรัติ เพราะว่าจะได้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพแล้วก็ไม่ติดในรสชาติ หรือว่าเพื่อที่จะทำบุญ ไม่ส่งเสริมการทำปาณาติบาต เมื่อตั้งใจแล้วก็ทำทุกวัน แต่การที่จะทำได้ทุกวันก็ต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง จึงต้องมีการอธิษฐาน ไม่ต้องมีพิธีกรรมอะไรมาก แค่ตั้งใจหรือว่าไปอธิษฐานต่อพระพุทธรูปก็ได้ว่าจะตั้งใจลด ละ เลิก อะไรบ้างอย่างนี้ หรือตั้งใจว่าจะทำวัตรสวดมนต์ทุกวัน ทำสมาธิทุกวัน เจริญสติทุกคืน เมื่อเราอธิษฐานแล้ว ก็จะเกิดความมุ่งมั่น ความแน่วแน่ ไม่ลังเลสงสัย ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนง่ายๆ สิ่งที่เราจะทำในเข้าพรรษานี้ไม่ต้องยิ่งใหญ่อะไรมาก เล็กๆ แต่ทำทุกวัน ดีกว่าทำสิ่งที่ยากๆ แล้วทำไม่ได้ทุกวัน
สิ่งเล็กๆ ง่ายๆ นี่ถ้ามันเป็นความดีแล้ว ก็อย่าประมาท มงคลข้อหนึ่งใน 38 ประการก็คือว่า ความไม่ประมาทในธรรมทั้งปวง อัปปะมาโท จะ ธัมเมสุ เอตัมมังคะละมุตตะมัง การไม่ประมาทในธรรมทั้งปวง เป็นมงคลอันสูงสุด ธรรมะเล็กๆ แต่ว่าไม่ประมาท ทำทุกวันนี้มันมีอานิสงค์มาก แม้แต่การนั่งสมาธิแค่วันละ 5 นาทีทำทุกวันนี้ สามารถจะเปลี่ยนชีวิตเราได้ สมัยที่หลวงปู่ดู่วัดสระแก อยุธยา ท่านยังมีชีวิตอยู่ คราวหนึ่งก็มีลูกศิษย์มากราบท่านแล้วก็พาเพื่อนมาด้วย เพื่อนที่เขาพามานี้ก็เป็นคนที่ชอบกินเหล้า แล้วก็ไม่ค่อยสนใจธรรมะ ลูกศิษย์ก็เลยชวนเพื่อนว่า ไหนๆ มากราบหลวงปู่แล้วก็ให้ตั้งใจ สมาทานศีล 5 แล้วก็ทำสมาธิภาวนา เพื่อนคนนั้นก็บอกว่าทำไม่ได้ จะทำได้ยังไงยังกินเหล้าเมายาอยู่ พูดต่อหน้าหลวงปู่ดู่ หลวงปู่ดู่ก็เลยพูดว่าเอ็งจะกินก็กินไปสิข้าไม่ว่า แต่เอ็งทำสมาธิให้ข้าวันละ 5 นาทีก็พอ ผู้ชายคนนั้นพอรู้ว่าแค่ทำสมาธิ 5 นาที และก็ยังไม่ต้องเลิกเหล้า ก็รับปากหลวงปู่ดู่ รับปากเสร็จก็ไม่ได้แค่รับปากเปล่าๆ เขาก็ตั้งใจทำตามที่รับปาก ถึงแม้ยังกินเหล้าอยู่ แต่ว่าก็นั่งสมาธิทุกวัน วันละ 5 นาที ไม่ได้ขาดเลย บางวันนั่งเสร็จก็ไปกินเหล้า เพื่อนชวน แต่บางวันกำลังนั่งอยู่เพื่อนชวนก็ไม่ไปเพราะว่ายังนั่งสมาธิไม่ครบ นั่งครบ 5 นาทีแล้วตอนหลังก็นั่งต่อเป็น 10 นาที เพราะว่านั่งแล้วสบาย นั่ง 10 นาทีเสร็จก็ยังไปกินเหล้า แต่ตอนหลังนี้ ก็ได้รับความสงบจากการนั่งสมาธิ นั่งได้นานขึ้นและตอนหลังก็เลิกเหล้าได้ เพราะว่าพอได้ความสงบจากสมาธิมาแล้วนี่ ความสุขจากการกินเหล้าหรือความสนุกจากการเมายา มันก็กลายเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยไป คนเรานี้ถ้าไม่มีความสุขที่ละเอียดประณีตมาแทนที่ ก็ยังยึดติดหรือว่าหลงใหลในความสุขที่หยาบๆ อยู่
พวกที่ติดเหล้า พวกที่ยังเพลิดเพลินกับความสุขแบบหยาบๆ นี่ เพราะว่าไม่รู้จักความสุขที่ประณีต แต่พอได้พบความสุขที่ประณีตแล้วนี้ ก็จะรู้สึกว่าความสุขที่ตัวเองเคยมัวเมาอยู่นี่ มันหยาบมาก มันเทียบไม่ได้เลย ก็สลัดได้ง่าย ตอนหลังผู้ชายคนนี้ก็มาบวชพระเลย หลังจากที่เลิกเหล้าได้ก็มาบวชพระ แล้วชีวิตเขาก็เปลี่ยนไปเลย เพียงแค่นั่งสมาธิ วันละ 5 นาทีเท่านั้นแหละ แต่ว่าเขาทำทุกวัน สิ่งที่ดูเหมือนเล็กน้อยนี้เราอย่าประมาท เพราะว่ามันสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตเราได้
มีเพื่อนคนหนึ่งแก่ทำโครงการ คล้ายๆ เรียกชื่อว่า มหาวิทยาลัยชีวิต คล้ายๆเป็นคอร์สอบรม ให้คนมาเรียนรู้ เกี่ยวกับเรื่องชีวิต ไม่เชิงปฏิบัติธรรมทีเดียว มันเป็นเวิร์กชอป มันเป็นการสัมมนาเหมือนกับห้องเรียน แต่ว่า แทนที่จะเรียนเรื่องวิชาเศรษฐศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ก็มาเรียนเรื่องชีวิต แล้วก็ให้แต่ละคนได้มา ใคร่ครวญทบทวนตัวเองว่า ชีวิตตัวเองมีปัญหาอะไรบ้าง และมีพฤติกรรมอะไรบางอย่างที่มีพฤติกรรมอะไรบ้างที่มันสร้างปัญหาให้กับชีวิต ที่ทำให้ไม่มีความสุข ที่ทำให้ชีวิตครอบครัวไม่ราบรื่น แล้วก็ให้เลือก แต่ละคนก็เลือกมาว่า จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลง หรือลด ละ เลิก พฤติกรรมอะไรได้บ้าง เอาแค่อย่างเดียว ให้ทำตลอด 3 เดือน และมารายงานหน้าชั้นทุกอาทิตย์ว่าได้ทำอะไรคืบหน้าไปบ้าง
ก็มีผู้หญิงคนหนึ่ง เธอก็บอกว่า เขาเป็นคนใจร้อน ทำงานเยอะ กินข้าวก็รีบๆ กิน แล้วก็รีบไปทำงาน เธอก็เลยเลือกโครงงานก็คือกินข้าวให้ช้าลง แล้วเธอก็เริ่มสตาร์ท ที่เธอเลือกอันนี้เพราะว่าเธอกินข้าวเร็วมากเลย มื้อหนึ่งไม่ถึง 5 นาที แต่พอเสนอโครงงานนี้ก็ต้องตั้งใจทำ ก็เพราะว่าพอกินข้าวให้ช้าลงนี่ สองสามวันแรกเธอก็พบว่า ข้าวนี้มีรสชาติ คือมันหวาน แต่ก่อนกินนี้ไม่รู้รสชาติของข้าวเลย เพราะว่า กิน ๆ ๆ ไม่ค่อยทัน ไม่ค่อยเคี้ยวให้ละเอียด ใจก็ลอยคิดถึงงาน คิดแต่ว่าจะรีบกินให้เสร็จ จะได้ไปทำงาน เพราะเป็นนักธุรกิจ มีงานเยอะ พอเคี้ยวข้าวให้ช้าลง จิตก็เริ่มมีสติ อยู่กับการกิน แล้วก็รับรู้รสชาติของอาหาร รสชาติของข้าวว่ามันหวาน พวกเราเคยสังเกตหรือเปล่ารสชาติของข้าวนั้นมันหวาน หรือไม่สังเกตเลย แล้วข้าวแต่ละชนิดก็มีรสชาติไม่เหมือนกัน ตอนหลังเธอกินข้าวช้าลง เธอก็มีเวลาอยู่บนโต๊ะอาหารนานขึ้น แต่ก่อนนี้กินโดยไม่สนใจลูกชายที่ร่วมโต๊ะ ไม่คุยกับลูกชายเลย แต่พอกินข้าวให้ช้าลง เคี้ยวข้าวให้ช้าลงก็เริ่มมีเวลา ก็เริ่มมีเวลาพูดคุยกับลูกชาย ทักทาย
แต่ก่อนนี้เธอไม่ค่อยไว้ใจลูกชาย เป็นนักธุรกิจร่วมงานคนเดียว ตอนหลังพอมีเวลาพูดคุยกับลูกชายมากขึ้น ก็เริ่มไว้วางใจลูกชาย ก็เริ่มค่อยมอบงานให้ลูกชายทำบ้าง แล้วพอเธอกินข้าวให้ช้าลงก็พบว่าร่างกายเธอดีขึ้น แต่ก่อนเธอปวดท้องแล้วก็หายใจไม่ค่อยทัน หายใจไม่ทัน คงหายใจไม่เต็มท้อง แต่คงหนักกว่าหายใจไม่เต็มท้องคือหายใจไม่ทัน เป็นมาสิบปีแล้ว กินยาเท่าไหร่ก็ไม่หาย พอเคี้ยวข้าวให้ช้าลงนี่แค่ไม่กี่อาทิตย์ก็หายเป็นปลิดทิ้งเลย ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะความเครียดด้วย เวลากินก็คิดแต่เรื่องงานเรื่องการ หรือจะรีบกินเร็วไวๆ พอเคี้ยวข้าวให้ช้าลง เริ่มมีสติมากขึ้น ใจก็เริ่มสงบ ตอนหลังความสงบนี้ก็ทำให้เวลาทำงานไม่วู่วาม แต่ก่อนนี้ใช้อารมณ์กับลูกน้อง ไม่ไว้ใจลูกน้อง ตอนหลังพอใจเย็นมากขึ้น ลูกน้องก็ร่วมมือดีขึ้น แล้วเธอก็เริ่มไว้ใจลูกน้อง คราวนี้งานที่เธอมีมากมาย ก็โอนไปให้ลูกน้องทำบ้าง ปรากฏว่ามีเวลาว่างมากขึ้น เคี้ยวข้าวให้ช้าลง น่าแปลกที่ใช้เวลากินข้าวนานขึ้น แต่ว่ามีเวลาเหลือมากขึ้น ก็ได้ผลจากการที่ไว้ใจลูกน้อง ไว้ใจลูกชาย ก็โอนงานให้ทำแล้ว ไม่หวงไว้คนเดียว
และเมื่อมีเวลาเหลือแล้วก็นึกถึงพ่อ พ่อที่อยู่ต่างจังหวัดถามเธอว่าเมื่อไหร่จะมาเยี่ยมสักที เธอบอกไม่มีเวลา ตอนนี้มีเวลาแล้ว ก็เลยไปเยี่ยมพ่อ ตอนหลังพาพ่อไปเที่ยว ความสัมพันธ์กับพ่อดีขึ้น ความสัมพันธ์กับลูกก็ดีขึ้น กับลูกน้องก็ดีขึ้น แถมมีเวลามากขึ้นและก็มีความสุขด้วย ผู้หญิงคนนี้ก่อนที่เธอจะมาเข้าคอร์สนี่ เธอเป็นคนที่เชื่อมั่นตัวเองมาก ตอนที่เธอทำงานมากๆ แล้วไม่ยอมโอนงานให้ใครเลยนี่ เธอก็เลยเครียด และพอมีโครงการหนึ่งล้มเหลว ธุรกิจเสียหายไปหลายสิบล้าน ก็เสีย self เสียความมั่นใจ เธอก็คิดจะฆ่าตัวตายเลย แต่ตอนหลังก็ได้สติ ก็รู้สึกว่า เราต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตก็เลยมาเข้าคอร์สนี้ ถ้าไม่คิดฆ่าตัวตาย ถ้าธุรกิจไม่ล้มเหลว ก็คงจะไม่ปลีกเวลามาเข้าคอร์สนี้ อันนี้เธอเห็นเลยว่าการเคี้ยวข้าวให้ช้าลงนี่ ถ้าทำทุกวัน ๆ มันมีอานิสงค์มากทีเดียวต่อสุขภาพของเธอ ทั้งต่อความสัมพันธ์กับคนรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อ ลูก เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง แล้วความสุขเธอก็หาได้ง่ายขึ้น ตอนหลังเธอก็รู้เลยความสุขคนเรานี่ มันไม่ได้อยู่ที่ความสำเร็จ ไม่ได้อยู่ที่เงินทอง แต่มันอยู่ที่ใจ มันหาได้ไม่ยาก แล้วก็เห็นคุณค่าของการใช้ชีวิตให้ช้าลง slow life รวมทั้งการมีสติกับการอยู่กับปัจจุบัน กับการทำงานต่างๆ กินข้าว ใจก็อยู่กับปัจจุบัน ทำงาน ใจก็อยู่กับปัจจุบัน ไม่ต้องคิดถึงว่าข้างหน้ามันจะต้องทำอะไร ไม่ดังนั้นจะเร่งรีบไปหมด
ดังนั้น ในช่วงเข้าพรรษานี้ เราลองคิดดูว่า เรามีนิสัยอะไรบ้างที่มันเป็นปัญหา มันทำให้ชีวิตเราเหนื่อยล้าทำให้ร่างกายเราแย่ลง หรือว่าทำให้จิตใจเราว้าวุ่น ลองเลือกมาสักอย่างหนึ่ง จะเป็นอะไรก็ได้แต่ขอให้มันทำทุกวัน ทำได้ทุกวัน แม้จะเล็กจะน้อยก็อย่าไปดูถูก หรือว่าความดีอะไรบางอย่างที่เรารู้สึกว่ามันดี แต่เราไม่ค่อยได้ทำเท่าไหร่ ออกกำลังกาย สวดมนต์ นั่งสมาธิ หรือแม้แต่การศึกษา อ่านพระไตรปิฎก อ่านหนังสือพุทธธรรมก็ได้ พุทธธรรมนี้ หลายคนก็เห็นเป็นหนังสือดี แต่พอเห็นรูปเล่มพันหน้านี่ก็เลยตั้งวางไว้บนหิ้ง แต่ช่วงเข้าพรรษาถ้าเราลองตั้งจิตว่า จะอ่านให้ได้วันละ 10 หน้า ออกพรรษาก็ครบ 900 หน้า หรือพันหน้าได้สบายมาก ก่อนบวชอาตมาก็อ่านพุทธธรรมเสร็จด้วยวิธีนี้แหละ ก็คือว่าอ่านวันละ ๑๐ หน้าทุกวันในพรรษา พอออกพรรษาก็อ่านจบพอดี อันนี้ก็เป็นอธิษฐานที่ได้ทำเอาไว้ก่อนบวช พวกเราก็ลองพิจารณาดูว่าในพรรษานี้ เราจะทำอะไรดีๆ ให้กับตัวเองบ้าง เพื่อเป็นการพักกายพักใจ แล้วก็เป็นการฝึกฝนพัฒนาตนไปในตัว