แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พวกเราที่นี่ส่วนใหญ่ก็คงจะเรียกตัวเองว่าเป็นชาวพุทธ นับถือพระพุทธศาสนา เมื่อเราตั้งใจและนับถือพระพุทธศาสนาก็ควรนับถือให้ถูกต้อง การนับถือให้ถูกต้องได้จะต้องรู้ให้ชัดเสียก่อนว่าพุทธศาสนานั้นหมายถึงอะไร คนส่วนใหญ่เวลานับถือพุทธศาสนาก็นึกว่าเป็นศาสนาแบบในความหมายที่ว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประเพณีพิธีกรรมที่ต้องปฏิบัติ แต่ว่าก็ไม่รู้ความหมาย พิธีกรรมเหล่านี้ก็มีรายละเอียดที่ทำให้บางทีก็สับสน ไม่แน่ใจ เช่นทำบุญนี้จะต้องกล่าวบทไหน สวดบทไหน จะถวายสังฆทานจะต้องสวดอย่างไร ถวายเสร็จกรวดน้ำก็ต้องมีขั้นมีตอน ไปให้ความสำคัญกับเรื่องประเพณีพิธีกรรมอย่างนั้นเสียเยอะ เพราะว่าไปเข้าใจว่าพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาแบบหนึ่งตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไป
ที่จริงคำว่าพระพุทธศาสนาแปลว่าคำสั่งสอน คำสอนเป็นคำชี้แนะที่ช่วยในการดำเนินชีวิต หรือว่าถ้าพูดให้เข้าใจง่ายก็คือวิชาชีวิตนั่นเอง ถ้าเรามองว่าพุทธศาสนาเป็นวิชาชีวิตก็หมายความว่ามันเป็นเรื่องของความจริงเราต้องเรียนรู้วิชาทางโลก เรียนเพื่อไปทำมาหากิน เพื่อจะได้มีเงินมีทอง เพื่อไต่เต้าเลื่อนขั้นทางสังคม คนยากคนจนก็อยากให้ลูกไปเรียนหนังสือจะได้พ้นจากความยากจน จะได้ลืมตาอ้าปากได้ จะได้เป็นเจ้าคนนายคน อันนี้ก็คือความมุ่งหมายของวิชาทางโลก แต่วิชาชีวิตที่พระพุทธศาสนานั้น จุดมุ่งหมายสูงสุดไม่ใช่อย่างนั้นและก็ไม่ได้มุ่งเอาความร่ำรวย เป็นเจ้าคนนายคนมีอำนาจวาสนาเป็นที่ตั้ง ไม่ได้ปฏิเสธแต่ว่าไม่ถือว่านั่นเป็นจุดหมายสำคัญของชีวิต เพราะว่าวิชาชีวิตนั้น มุ่งหมายเพื่อให้เรามีชีวิตที่เจริญงอกงามและผาสุก ไม่ได้แปลว่าร่ำรวยเพราะว่ารวยแล้วแต่ไม่สุขก็มีเยอะ รวยแล้วเครียดเป็นโรคประสาท กินไม่ได้นอนไม่หลับ ต้องพึ่งยานอนหลับ อันนี้ก็มีมาก ยังไม่ต้องพูดถึงอีกหลายคนที่ฆ่าตัวตาย เงินมันเป็นแค่ผลพลอยได้ ความร่ำรวยก็เป็นผลพลอยได้แต่ว่าจะได้หรือไม่ได้ ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า ทำให้ชีวิตมีความสุขปลอดจากความทุกข์ อันนี้วิชาชีวิตมันก็ต้องศึกษา ศึกษาเราเรียกว่า ”ปริยัติ” การที่เรามานั่งฟังแบบนี้เขาเรียกว่าเป็นปริยัติได้เหมือนกัน รวมทั้งการอ่านหนังสือ อ่านตำรา อ่านพระไตรปิฎก นี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในวิชาชีวิต แต่ว่าเท่านั้นไม่พอนะต้องปฏิบัติด้วย
ถ้าศึกษาแล้วไม่ปฏิบัติ ก็ถือว่าสอบไม่ผ่านวิชาชีวิต ไม่เหมือนกับวิชาทางโลกที่มุ่งเน้นที่การอ่านตำรับตำรา เน้นวิธีการท่องจำ ทำข้อสอบได้ก็ถือว่าผ่าน และข้อสอบก็ถือเป็นแค่กระดาษ เขียนคำตอบลงไปในข้อสอบ ถูกต้องก็ผ่าน แต่ว่าวิชาชีวิตนี้ทำอย่างนั้นไม่พอ มันต้องปฏิบัติด้วย ก็คงเหมือนกับเรียนวาดรูปจะเรียนแต่ทฤษฎีไม่ได้มันต้องมีการลงมือปฏิบัติ ปฏิบัติในพุทธศาสนามันคืออะไร ไม่ใช่การเซ่นไหว้ ไม่ใช่การบนบานศาลกล่าว อันนั้นมาศาสนาผี มันไม่ใช่วิชาชีวิต วิชาชีวิตปฏิบัติก็มีหลักมีเกณฑ์ ขั้นตอนการปฏิบัตินี้ก็มีสรุปย่อๆแล้วในโอวาทปาติโมกข์ การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อมและการชำระจิตของตนให้ขาวรอบ ควรจะเข้าใจว่าพุทธศาสนาสอนแค่ให้ละชั่วทำดี เด็กๆก็ตอบกันผู้ใหญ่ก็ตอบ บางทีก็นกแก้วนกขุนทอง ว่าทุกศาสนารวมถึงพุทธศาสนาก็สอนให้ละชั่วทำดี ศาสนาอื่นจะเป็นอย่างนั้นแต่พุทธศาสนาไม่ใช่ มันยังมีข้อที่ ๓ อีกคือว่าชำระจิตของตนให้ขาวรอบ หรือว่าขัดเกลาจิตให้ผ่องใส ๓ ข้อนี้บางครั้งพระพุทธเจ้าอธิบายในรูปอื่น ก็คือทาน ศีล ภาวนา
ทานศีลนี้ก็ครอบคลุมเรื่องการละชั่ว ทำดี จริงๆ การละชั่วนั้นก็ยังพูดไม่ถูกต้อง เพราะว่ามันมีอยู่แล้วก็ค่อยละ ต้องเรียกว่าไม่ทำชั่ว ดีกว่าเพราะคำว่าละนี้แปลว่ามีอยู่แล้วก็ทิ้งมันไป แต่ที่จริงต้องเริ่มต้นด้วยการที่ไม่เอามันตั้งแต่แรก ก็คือไม่ทำความชั่ว ทานศีลในบุญกิริยาวัตถุ ๓ ก็คือการไม่ทำชั่วและการทำความดี ภาวนาคือการชำระจิตของตนเองให้ขาวรอบ แต่ว่าในบางที่ท่านก็เน้นเรื่องภาวนา ก็เลยเป็นไตรสิกขา ไตรสิกขานี้คือศีล สมาธิ ปัญญา ศีลก็รวม ๒ ข้อแรกในโอวาทปาติโมกข์คือไม่ทำความชั่ว ทำแต่ความดี ส่วนการชำระจิตของตนให้ขาวรอบก็ซอยออกมาเป็น ๒ คือสมาธิและปัญญา สมาธิการฝึกจิตปัญญาก็คือการฝึกปัญญาให้เกิดความเข้าใจความจริงเห็นแจ้งในสัจธรรม เพราะฉะนั้นเรื่องโอวาทปาติโมกข์ บุญกิริยาวัตถุ ๓ ไตรสิกขานั้นถึงแม้ว่าเขียนไม่เหมือนกัน แต่ว่าสาระนั้นเหมือนกัน
คนส่วนใหญ่ชาวพุทธนั้นแม้จะลงมือปฏิบัติแต่ว่าก็มักจะปฏิบัติกันไม่ครบ หรือบางทีก็ปฏิบัติผิด เช่นไปหมกมุ่นกับพิธีกรรม ไปบูชาชูชก ไปบูชาราหู หลายวัดก็มีแบบนั้น ชาวพุทธก็หลงผิดหลงพลาดไปบูชา อันนี้เพราะว่าหวังความร่ำรวย หวังร่ำหวังรวยเป็นที่ตั้งก็เลยจะให้บูชาอะไรก็ทำทั้งนั้น ดีที่ไม่ไปคดโกง ไม่ไปคอรัปชั่น แต่ว่ามันก็ไม่ใช่ทางที่ถูก การปฏิบัติต้องทำให้ถูกทำให้ครบ ก็คือว่าทำบุญด้วยการให้ทาน ด้วยการรักษาศีล แล้วก็ต้องภาวนาด้วย ฝึกจิตฝึกใจ อย่างคนที่มาที่นี่ส่วนใหญ่ก็มาเพื่อที่จะฝึกจิตฝึกใจด้วย ไม่ใช่มาเพื่อแค่มาทำบุญให้ทานอย่างเดียว ถ้าเป็นเรื่องการทำบุญให้ทานวัดอื่นอาจจะเด่นมากกว่าและก็มีสิ่งจูงใจมากกว่า แต่ที่นี่เราเน้นเรื่องข้อที่ ๓ ก็คือภาวนา เน้นเรื่องการชำระจิตของตัวให้ขาวรอบ โดยเฉพาะเราเน้นเรื่องการฝึกสติ การสร้างสติความรู้สึกตัว ซึ่งอันนี้ก็ไปเสริมสมาธิและปัญญาด้วย วิธีการสร้างสมาธิเรียกว่าสมถะ วิธีการสร้างปัญญาเรียกว่าวิปัสสนา ใครที่ได้ยินคำว่าสมถะและวิปัสสนาก็ให้เข้าใจด้วยว่ามันมีวัตถุประสงค์ต่างกัน สมถะมุ่งให้จิตสงบคือเป็นสมาธิ วิปัสสนามุ่งให้จิตสว่างเกิดปัญญา แต่ทั้งสมถะและวิปัสสนาถือว่าสมาธิและปัญญาต้องอาศัยสติเป็นแกน หรือว่าเป็นเครื่องมือ
ที่จริงแม้กระทั่งการทำความดี ให้ทาน กับรักษาศีล หรือการทำบุญที่เราเข้าใจทั่วไปก็ต้องมีสติ มีความรู้สึกตัวเป็นพื้นรองรับ เพราะถ้าไม่มีแล้วนั้น ทานหรือศีลที่ทำมันก็บกพร่อง ทำบุญบางทีแทนที่จะได้บุญกับเกิดโทษขึ้นมา อย่างเช่นตั้งใจจะทำครัว ทำอาหารถวายพระ ตั้งใจทำอย่างดีเครื่องก็ครบหมด แต่ว่าระหว่างที่ปรุงอาหารใจลอย แทนที่จะหยิบเอาน้ำตาล ก็ไปหยิบเอาเกลือมาหยอดใส่อาหารที่ปรุง พระฉันท่านก็เค็ม อย่างนี้ก็ได้บุญเหมือนกัน แต่ไม่บรรลุวัตถุประสงค์เพราะว่าอยากจะปรุงอาหารที่ประณีตให้กับพระ แต่ว่าใจลอยประโยชน์ที่เกิดขึ้นมันก็เลยไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเพราะไม่มีสติ จะทำความดีจะทำบุญจะอุปถัมภ์พระแต่ไม่มีสติรู้สึกตัว ระหว่างที่ทำนั้นใจลอยมันก็กลายเป็นโทษขึ้นมาได้ มีโยมคนหนึ่งนิมนต์พระมาฉันอาหารที่บ้าน เสร็จแล้วก็จะพาพระกลับวัด จึงนิมนต์พระนั่งข้างหลัง ๒ รูป โยมก็ขับรถตั้งใจจะไปส่งท่านที่วัด แต่ว่าจู่ๆ กลางทางก็เลี้ยวซ้าย พระก็งงเพราะว่านั่นไม่ใช่ทางไปวัด ก็ถามว่าโยมจะพาอาตมาไปไหน โยมก็บอกว่าจะพาท่านไปส่งที่วัด พระก็บอกว่าไม่ใช่ทางนี้ โยมเลยนึกขึ้นมาได้ว่านี่มันทางเลี้ยวเข้าบ้าน ทำไมถึงทำอย่างนั้น ก็เพราะว่าไม่มีสติ ตอนนั้นลืมตัว พอถึงทางแยกความเคยชินเลี้ยวซ้ายประจำ ถนนไปบ้านไปเส้นนั้น อันนี้ก็เรียกว่าอยากจะทำบุญช่วยพระ แต่บางทีมันกลายเป็นว่าไม่สำเร็จประโยชน์ เพราะไม่มีสติไม่มีความรู้สึกตัว
ในสมัยพุทธกาลมีพระรูปหนึ่งชื่อท่านสังฆรักขิตะ เป็นพระหนุ่ม วันหนึ่งท่านก็ได้ผ้าจำนำพรรษามา ท่านก็ดีใจอยากจะถวายให้หลวงลุง ซึ่งเป็นอุปัชฌาย์ของท่าน สมัยก่อนการถวายผ้าเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะว่าผ้านั้นหายาก สมัยก่อนมันต้องไปเก็บมาจากผ้าห่อศพ ถ้าได้ผ้าเนื้อดีมายิ่งยากเข้าไปใหญ่ ก็ได้ผ้าจำนำพรรษามาก็จะไปถวายหลวงลุงซึ่งเป็นอุปัชฌาย์ แต่ท่านปฏิเสธ อาจเป็นเพราะว่าท่านเห็นว่าท่านมีเยอะแล้ว ท่านอยากจะให้พระที่เป็นหลานชายได้เก็บเอาไปใช้ ท่านสังฆรักขิตะก็น้อยใจไม่เข้าใจเจตนาของหลวงลุง เสียใจว่าท่านไม่เห็นความสำคัญของเรา ท่านไม่ให้เกียรติเรา ก็คิดไปอย่างนี้ด้วยความขุ่นเคือง ด้วยความน้อยใจ ก็เก็บเอาไปคิดตลอด แม้กระทั่งในช่วงที่กำลังปรนนิบัติพัดวีหลวงลุง ขณะที่พัดวีไปก็นึกคิดไปว่าหลวงลุงท่านไม่เห็นคุณค่าของเรา ดีแล้วเราจะสึก สึกแล้วก็จะเอาผ้าไปขาย ได้เงินมาก็จะซื้อแพะ แล้วก็จะเลี้ยงแพะ พอมันออกลูกมาก็จะเอาลูกแพะไปขาย ได้เงินมาก็จะซื้อแพะหลายๆตัว เรียกว่าทำฟาร์มแพะเลย เมื่อได้เงินมาพอสมควรก็จะไปขอผู้หญิงมาเป็นเมีย แล้วจะช่วยกันทำมาหาเงิน เมื่อไรก็ตามมีลูกและมีฐานะพอสมควร ก็จะพาลูกพาเมียไปกราบหลวงลุง จะนั่งเกวียนมา ในระหว่างที่นั่งเกวียนมาก็จะต้องกำชับให้เมียอุ้มลูกดีๆ เพราะถ้าอุ้มลูกไม่ดีลูกตกลงมาจากเกวียน อาจจะบาดเจ็บได้ ถ้าเกิดว่าเมียอุ้มลูกไม่ดีลูกตกลงมาจากเกวียน เราจะเอาปฏักทิ่มเมียเป็นการลงโทษ ระหว่างที่นึกอย่างนี้ก็พอดีกำลังพัดวีท่าน พอคิดว่าจะเอาปฏักทิ่มเมียก็เผลอเอาพัดฟาดหัวอุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์ก็สะดุ้งเลย แล้วก็เลยรู้ว่าหลานพระที่เป็นหลานชายใจลอย ดังนั้น พอทำความดีแต่ถ้าไม่มีสติ มันก็กลายเป็นโทษ
หลายคนตั้งใจดูแลพ่อแม่ในยามป่วย แต่ว่าพ่อแม่ท่านจู้จี้ ท่านจะคอยปลุกอยู่เรื่อย ดึกดื่นอย่างไรก็ปลุกคอยเรียกหาทั้งกลางวันและกลางคืน คนที่ดูแลก็ไม่ได้พักไม่ได้ผ่อน ก็เครียด พอหงุดหงิดอารมณ์เสียเข้าเพราะสะสมมาหลายวัน ก็หลุดปากต่อว่าพ่อต่อว่าแม่ เสร็จแล้วก็เสียใจทั้งสองฝ่าย คนป่วยก็เสียใจ คนดูแลก็เสียใจรู้สึกผิด ถ้าทำความดีแต่ไม่มีสติมันก็เกิดโทษ เพราะฉะนั้นแล้วเราอย่ามัวแต่ทำความดี ให้ทาน รักษาศีลอย่างเดียว แล้วละเลยเรื่องภาวนาเรื่องการรักษาใจให้มีสติ ให้มีความรู้สึกตัว มันเป็นพื้นฐานของการทำความดีทั้งหลาย ที่จริงแม้แต่การทำงานทางโลก มันก็ทิ้งสติไม่ได้ แค่ขับรถไปทำงานก็ต้องมีสติ เครื่องใช้ไม้สอย โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าถ้าไม่มีสติก็เกิดอันตรายได้ กินอาหารถ้าไม่มีสติต่อไปก็เกิดโรค อย่างน้อยๆ ก็โรคที่เกิดจากความอ้วน ไขมันเยอะเพราะเพลินในการกิน แต่ว่านั่นเป็นผลระยะยาว ระยะสั้นยิ่งอาจจะมาเร็วกว่านั้นหรือว่ารุนแรงกว่านั้น เช่นเคี้ยวอาหารแล้วติดคอ นั่นเพราะว่าไม่มีสติ เพลินกับการกิน กินไปคุยไปอาหารติดคอบางทีถึงกับตาย บางคนไม่ตายแต่ว่ากลายเป็นผัก อันนี้หนักเข้าไปใหญ่ กลายเป็นภาระของลูกหลาน หายใจไม่ได้นี่สมองก็ตาย พอสมองตายมันตายบางส่วน มันไม่ได้ตายหมด มันก็กลายเป็นผัก
เพราะฉะนั้นการเจริญสติจึงสำคัญละทิ้งไม่ได้ มันเป็นเครื่องช่วยในการรักษาใจไม่ให้ความทุกข์เข้ามาครอบงำ คนเราทุกข์เพราะว่าความคิด ทุกข์กายก็เรื่องหนึ่ง แต่ทุกข์ใจเป็นเพราะความคิดที่ฟุ้งซ่าน ไปเก็บเอาเรื่องราวในอดีตมา ไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวาง นึกถึงคำหรือการกระทำของคนที่ทำให้เราเจ็บปวด ก็โกรธแค้นแล้วก็พยาบาท และทั้งๆ ที่คิดถึงแล้วความโกรธมันก็เผาลนจิตใจเราทำให้รุ่มร้อน แต่แทนที่จะหาทางปล่อยมันไป แทนที่จะหาทางดับมัน กับประคับประคองมันเอาไว้ เหมือนกับว่าพยายามที่จะเติมฟืนเติมเชื้อให้กับกองไฟ ให้มันเผาลนจิตใจเราตลอดเวลา เวลาโกรธเราเคยสังเกตไหมว่ามันไม่เพียงแต่อยากจะให้เราด่า ให้เราทำร้ายให้เราตอบโต้ ให้เราแก้แค้นเท่านั้น ในเวลาที่ตอบโต้ไม่ได้ แก้แค้นไม่ได้ มันก็เผาใจเราจนกินไม่ได้นอนไม่หลับความดันขึ้น ร่างกายเจ็บป่วย ทั้งที่ทุกข์เพราะเหตุนี้แล้วก็ยังไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวาง ใครมาบอกว่าให้อภัยเขาไปเถอะ ก็ไม่ยอม กลับไม่พอใจคนที่แนะนำว่าให้ให้อภัยเขาอีก ทำไมถึงหวงแหนความโกรธอย่างนั้น ความโกรธมันดีตรงไหน ทำไมถึงหวงแหนมัน ก็เพราะว่าไม่รู้ตัว เป็นเพราะลืมตัว ตอนนั้นตกอยู่ภายใต้การครอบงำของความโกรธ ความโกรธนี้มันกลัว มันกลัวอะไรก็ตามที่ทำให้มันสงบ ทำให้มันดับหายไป เหมือนกับสิ่งมีชีวิต สิ่งมีชีวิตนี้ก็พยายามที่จะรักษาตัวมันเองให้ยืดเยื้อ ให้มีชีวิตอยู่ได้นานที่สุด อยู่อย่างเดียวไม่พอมันยังแพร่พันธุ์ไปอีก เชื้อโรคก็เป็นแบบนี้ ความโกรธพอมันครองใจแล้ว มันจะพยายามทำทุกอย่างที่จะทำให้มันลุกลามขยายตัวไปเรื่อยๆ ใครที่มาแนะนำให้ปล่อยวางความโกรธใคร ใครที่มาแนะนำให้ให้อภัย ความโกรธมันจะสั่งให้เราเกลียดเขา จะสั่งให้เราโกรธเขา จะสั่งให้เราไม่พอใจเขา
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะว่า ใจที่ไม่มีสติ มันไม่ใช่แค่ความโกรธอย่างเดียว แต่บางทีมันเป็นความรู้สึกผิด ความรู้สึกผิดนี้หนักกว่าความโกรธ ความโกรธนั้นเวลาอาจจะช่วยเยียวยาให้ลืมเลือนได้ แต่ความรู้สึกผิดผ่านไป ๓๐ ปีผ่านไป ๕๐ ปีก็ยังไม่เลือนหายเลย เพียงแต่ว่าอาจจะกดข่มมันได้ชั่วคราว แต่พอเผลอเมื่อไหร่มันก็โผล่ขึ้นมา ความรู้สึกผิดก็เป็นสิ่งที่กรีดแทงจิตใจเรา แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่ยอมสลัดไม่ยอมวาง ก็รักษามันเอาไว้ประคบประหงมมันเอาไว้ นอกจากเรื่องที่ผ่านไปแล้ว เรื่องที่ยังมาไม่ถึงก็เหมือนกัน มันยังมาไม่ถึงก็เอาแต่วิตกกังวล ว่ามันจะเป็นอย่างโน้นว่ามันจะเป็นอย่างนี้ มันยังไม่เกิดขึ้นเลยแต่ว่าปรุงแต่งไปแล้ว ให้เป็นไปในทางร้ายสารพัด แล้วก็เครียดและก็หนักอกหนักใจวิตกกังวล รู้ว่ามันหนัก รู้ว่ามันบีบคั้นใจ แต่ไม่ยอมปล่อยสักทีเอาแต่นั่งเจ่าจุกคิดซึม คนที่พบว่าตัวเองเป็นมะเร็งหรือว่าคนที่พบว่าตัวเองเป็นหนี้มากมาย ตอนนี้คนที่เล่นหุ้นหลายคนก็กำลังวิตกกังวล เพราะหุ้นมันก็ตกไปเรื่อยๆ ตกไปเรื่อยๆ บางทีหุ้นก็ไม่ได้ตกมากแต่ว่าใจนึกไปถึงว่าหุ้นมันต่ำเตี้ยติดกระดานเลย เพราะคิดแบบนี้เข้า ฉันต้องสูญเสียเงินเป็นหลายล้านเป็น ๑๐ ล้าน เท่านั้นไม่พอไปกู้เขามาอีก แล้วฉันจะอยู่อย่างไร แล้วบ้านฉันจะถูกยึดไหม รถจะถูกยึดไหม แล้วถ้ารถถูกยึดบ้านถูกยึดนี่ ฉันจะอยู่อย่างไร เป็นข้าราชการเสียด้วย หรือว่ามีหน้ามีตาในสังคมเสียด้วย คิดแบบนี้ไปมันก็ทรุดเลย บางคนถึงกับฆ่าตัวตายเลย ทั้งๆ ที่มันยังไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น แต่ว่าความฟุ้งซ่านมันพาไป อันนี้เราปล่อยให้ความคิดนั้นมาทำร้ายจิตใจ และจิตใจของเรานี้ก็เปิดรับ แทนที่จะมีสติคอยรักษาใจควบคุมจิต ไม่ให้มันพาเราถลำไปในทางที่เป็นทุกข์ หรือไปในทางที่ตกต่ำย่ำแย่ ก็กับปล่อยให้ใจเตลิดเปิดเปิงไป อันนี้เรียกว่าเป็นการทำร้ายตัวเองแบบหนึ่ง
พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนพาลปัญญาทรามนั้น ย่อมทำกับตัวเองเหมือนเป็นศัตรู คนพาลปัญญาทรามนั้นเขาไม่ได้รักตัวเอง เพราะถ้าเขารักตัวเอง เขาจะไม่ทำกับตัวเองเหมือนกับเป็นศัตรู ก็คือทำร้ายตัวเอง ทำร้ายตัวเองอย่างไร ทำร้ายตัวเองด้วยการทำชั่วผิดศีล ทำให้เกิดวิบาก ทำให้เกิดการแก้แค้นตามติดตามมา แต่ถึงแม้จะไม่ผิดศีล ให้ทานรักษาศีล ตั้งใจสร้างบุญสร้างกุศล แต่ไม่รักษาใจ ไม่มีสติ ปล่อยให้จิตใจมันว้าวุ่นฟุ้งซ่าน ไหลไปอดีตบ้างลอยไปอนาคตบ้าง อันนี้ก็เป็นการทำร้ายตัวเองอีกแบบหนึ่ง ก็จัดว่าเป็นคนพาลได้เหมือนกัน คนพาลในที่นี้ก็คือไม่มีปัญญา ปัญญาทรามก็บอกอยู่แล้วว่าไม่มีปัญญา แล้วเราต้องทำอย่างไรล่ะ เราก็ต้องรักษาใจเอาไว้ เรื่องของพระสังฆรักขิตะที่พึ่งเล่าเมื่อสักครู่ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้เอามาเล่าให้พระสาวกฟัง เสร็จแล้วพระองค์ก็ตรัสสรุปในตอนท้ายว่า บุคคลพึงรักษาจิต ซึ่งชอบท่องเที่ยวว้าวุ่นฟุ้งซ่าน ผู้ใดที่รักษาจิตได้ ย่อมพ้นบ่วงแห่งมาร มารนั้นมันชอบพยายามควบคุมชีวิตจิตใจของเรา ไม่ให้ไปในทางที่สูง พยายามดึงไปในทางที่ต่ำ และจะทำให้สำเร็จได้ก็ต้องเข้าไปครอบงำจิตใจของเรา ปล่อยให้ความโกรธปล่อยให้กิเลสปล่อยให้ความรู้สึกผิดความทุกข์ต่างๆเข้ามาเล่นงาน
ฉะนั้น ถ้าเราทำความดี ให้ทาน รักษาศีล ยังไงก็ตามแต่ไม่รู้จักรักษาใจ นอกจากทานศีลจะเกิดประโยชน์น้อยหรือว่ากลายเป็นโทษแล้วนั้น บางทียังเกิดความทุกข์จากการให้ทานรักษาศีลด้วยซ้ำ เช่นวิตกกังวลว่าเราจะได้บุญไหม หรือว่ารู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจที่ทำบุญแล้ว พระท่านไม่อนุโมทนาเพราะท่านไม่รับรู้หรือว่าท่านเผลอไปไม่เห็น ถวายอาหารอย่างดีแล้วท่านไม่ฉัน ถวายจีวรเนื้อดีท่านไม่ครอง ก็เสียใจว่าทำไมท่านไม่ฉันอาหารของเรา ทำไมท่านไม่ห่มผ้าห่มจีวรของเรา เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ รู้สึกผิด หรือบางทีเราอาจจะโกรธพระ ที่ท่านไม่สนองศรัทธาของเรา อันนี้เป็นการทำบุญให้ทานด้วยความยึดติด ยังไปยึดว่าเป็นอาหารของเรา ยังไปยึดว่าเป็นจีวรของเรา ทั้งๆ ที่ถวายท่านไปแล้วก็ต้องเป็นของท่าน ไม่ใช่ของเรา ในการที่ยึดมั่นถือมั่นก็เกิดจากการที่ไม่รู้จักดูใจของตัว หรือว่าทำบุญไปถวายทาน ก็เกิดอิจฉาว่าคนอื่นเขาถวายมากกว่าเรา หรือว่าเกิดความเสียใจว่าเราถวายน้อยกว่าเขา หรือว่าถวายไปแล้วไม่มีคนถ่ายรูปเอาขึ้น Facebook รู้สึกว่าสูญเปล่า สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้ใจรู้สึกทุกข์ทั้งนั้น และเกิดจากการที่วางใจผิด เกิดจากการที่ไม่มีสติ ไม่มาไต่ตรองดูว่าตอนนี้กำลังทำบุญด้วยความรู้สึกแบบไหน ด้วยใจแบบไหน ใจที่มีกิเลส ใจที่มีความยึดติดถือมั่น ใจที่มีโลภะหรือเปล่า
ดังนั้น ทำบุญแล้วทุกข์ ก็มีเยอะ ให้ทานแล้วทุกข์ ก็มีเยอะ รักษาศีลแต่ทุกข์ ก็มีเยอะ ทุกข์อาจจะเพราะว่าไปดูถูกคนอื่นว่าเขาถือศีลไม่เคร่งเหมือนเรา ดูเหมือนว่ามันเกิดความภาคภูมิใจ แต่ว่ามันเปิดช่องให้อัตตาหรือมานะเข้ามาครองใจ พอคนอื่นถือศีลเคร่งกว่าเราหรือถือศีลมากข้อกว่าเราก็กลายเป็นอิจฉาเขา ไปถือศีลก็ไม่ได้แปลว่าจะมีความสุขถ้าหากว่าวางใจไม่เป็น ถ้าจิตนั้นไม่มีสติรักษา มันก็จะเปิดช่องให้กิเลสเข้ามาเล่นงานจิตใจเราได้ ก็ทำให้เกิดความทุกข์ ฉะนั้นถ้าเกิดอยากให้ชีวิตเรามีความสุข มันก็ต้องฝึกเรื่องของสติ เรื่องการภาวนาให้มีความรู้สึกตัวให้มีปัญญา สติกับปัญญาเป็นของคู่กันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการปฏิบัติอย่างนี้แหละที่มันทำให้การทำความดีของเราครบเครื่อง ปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติให้ถูก และก็ต้องปฏิบัติให้ครบทั้งทาน ศีล ภาวนา ทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ทำชั่วและสร้างบุญกุศลก็ดีแล้ว แต่ว่าต้องชำระจิตของตนให้ขาวรอบ รักษาจิตของตนให้เบิกบานผ่องใสด้วย ไม่ว่าเราจะทำอะไร มันก็จะเป็นความดีที่เกิดประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ไปพร้อมๆกัน