แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บทสวดมนต์ที่เราสาธยายเมื่อสักครู่มีความสำคัญมาก ถือว่าเป็นส่วนยอดของพุทธศาสนาหรือคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นส่วนยอดที่ต่อยอดจากปฐมเทศนาซึ่งพระองค์ได้แสดงในวันเพ็ญเดือนแปด ที่เราเรียกว่าวันอาสาฬหบูชา หลังจากที่พระองค์ได้แสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งทำให้ท่านโกณฑัญญะได้มีดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบัน ผ่านไป ๕ วันพระองค์ก็แสดงอนัตตลักขณสูตร ส่งผลให้ปัญจวัคคีย์ทั้งห้าท่านได้รู้ธรรมเป็นพระอรหันต์ ก็คือมีปัญญาเห็นแจ้งในสัจธรรมจนจิตหลุดพ้นจากความทุกข์ อันนี้ถึงเรียกว่าเป็นส่วนยอด หรือว่าแก่นกลางในคำสอนของพระพุทธเจ้าเลยทีเดียว
เมื่อเราสวดแล้วก็ลองพิจารณาดูว่ามันมีความสำคัญอย่างไรบ้าง ถึงแม้ว่าอาจจะเข้าใจยากสักหน่อยสำหรับผู้ใหม่ แต่การที่ได้ฟังเอาไว้แล้วก็ได้พิจารณาไปด้วยนี้ จะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจในบางด้านบางส่วนได้ ที่พระองค์ได้ตรัสสอนด้วยอนัตตลักขณสูตรนี้ ก็เพื่อที่จะถอนความเห็นผิด ความเห็นผิดของปัญจวัคคีย์ หรือว่าของผู้คนทั่วไปว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอัตตา สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอัตตา พระองค์ก็อธิบายว่า มันจะเป็นอัตตาได้อย่างไร ในเมื่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งก็คือสรรพสิ่งทั้งหมด สรรพสิ่งทั้งหลายก็หนีไม่พ้นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เรียกว่าขันธ์ห้า หรือบางทีเราก็เรียกว่าสังขาร คำว่าสังขารนี้ก็มีความหมายหลายระดับ ถ้าสังขารที่เป็นส่วนหนึ่งของขันธ์ห้า แปลว่าความปรุงแต่ง ความปรุงแต่งในจิตใจ ก็คือความรู้สึกนึกคิดนั่นแหละ แต่ถ้าสังขารในความหมายกว้างก็หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ยกเว้นพระนิพพาน อันนี้พระพุทธเจ้าก็ชี้ให้เห็นว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้มันมีวันที่จะต้องเสื่อมสลาย เรียกว่าเป็นไปเพื่ออาพาธ อาพาธก็คือป่วย ถ้าเป็นร่างกายก็เจ็บป่วย ถ้าเป็นนามธรรมมันก็คือเสื่อมสลาย และไม่ว่าอะไรก็ตาม ก็ไม่อาจจะบังคับหรือบงการให้เป็นไปตามใจหวังได้ เช่น เราไม่สามารถจะสั่งให้ร่างกายนี้ไม่ป่วย ไม่เจ็บ สั่งให้ร่างกายนี้หนุ่มสาวเสมอ สั่งไม่ได้ จะสั่งให้อ้วนให้ผอม ก็สั่งไม่ได้ แม้แต่เวลาปวดหัว สั่งให้มันหยุดปวดหัวก็สั่งไม่ได้ นอกจากจะทำเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น เช่น กินยา หรือว่าพักผ่อน เวทนาก็เหมือนกัน อยากจะให้มีแต่สุขเวทนาเกิดขึ้นกับเรา ก็สั่งไม่ได้ เพราะว่าตอนนี้อาจจะเกิดทุกขเวทนาขึ้นก็ได้ เช่น ปวดเมื่อย สั่งให้ไม่ปวดไม่เมื่อย สั่งให้ความปวดความเมื่อยหายไปก็สั่งไม่ได้
จะว่าไปแล้วไม่มีอะไรที่สั่งได้ซักอย่างเลย ไม่ว่าจะเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งที่มันอยู่กับตัวเราแท้ๆ นับประสาอะไรกับสิ่งที่อยู่นอกตัว เช่น สิ่งของ หรือว่าลูก คนรัก สั่งตัวเองยังสั่งไม่ได้เลย แล้วจะสั่งลูก สั่งคนรัก ได้อย่างไร คราวนี้เมื่อสั่งไม่ได้เราก็เห็นอยู่แท้ๆ ว่ามันเจ็บ มันป่วย มันเสื่อมสลายไป แล้วมันจะเป็นตัวตนได้อย่างไร ความหมายหนึ่งของตัวตนหรืออัตตา คือว่าสั่งได้ บงการได้ หรือว่าคงอยู่เที่ยงแท้ เป็นนิจนิรันดร์ ไม่แปรเปลี่ยน ก็เห็นอยู่ว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้มันก็ไม่คงที่ มันแปรเปลี่ยน มันเสื่อมสลาย สั่งไม่ได้ แล้วมันจะเป็นอัตตาได้อย่างไร พระองค์ก็อธิบายต่อไปว่า ให้เห็นว่าสังขารทั้งห้านี้ ว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ เมื่อมันเป็นทุกข์อย่างนี้แล้ว เราจะยึดมันว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวตนของเราได้อย่างไร ยึดว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ได้อย่างไร ภาษาบาลีที่ใช้แทนกันได้ก็คือตัณหา มานะ ทิฏฐิ ตัณหาคือความยึด ความอยากว่าของเรา หรืออยากได้มาเป็นของเรา มานะก็คือความยึดว่านี่คือเรา ทิฏฐิก็คือความยึดในความเชื่อว่า ตัวตนนี่แหละคือเรา มันจะคล้ายๆ กันแต่ถ้าใช้คำหรือภาษาของอาจารย์พุทธทาสจะเห็นได้ชัด ตัณหาคือ“ของกู” ทิฏฐิคือ“ตัวกู” ส่วนมานะก็คือ“นี่กูนะ” อาจารย์พุทธทาสท่านใช้แต่คำว่าตัวกู ของกู แต่ว่าที่จริงมันมี ๓ ไม่ใช่ ๒ นอกจากตัวกู ของกูแล้ว อีกตัวหนึ่งคือ นี่กูนะ ก็คือมานะนั่นเอง เป็นการย้ำว่า นี่กูนะ หรือที่พระพุทธเจ้าท่านใช้คำว่า นั่นเป็นตัวตนของเรา
เมื่อเราได้พิจารณาตามเช่นนี้ อย่างที่ท่านปัญจวัคคีย์พิจารณาตาม ก็จะเพิกถอนความยึดมั่นว่า ขันธ์ห้านี้เป็นตัวตน แล้วถอนจากความยึดมั่นว่า นี่ของเรา นี่เป็นเรา นี่เป็นตัวตนของเรา เกิดปัญญาขึ้นมาว่าสิ่งทั้งปวงนั้นเป็นอนัตตา คือว่าไม่ใช่ตัวตน แล้วก็ไม่มีอะไรที่จะยึดว่าเป็น ตัวกู ของกู หรือว่านี่กูนะ ได้เลยเมื่อพูดอย่างภาษาของท่านพุทธทาส เมื่อมีปัญญาเกิดขึ้นแล้วจะทำอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้น ก็จะเกิดสัมมาทิฏฐิขึ้นมาก็ว่าได้ แต่เป็นสัมมาทิฏฐิขั้นสูง เรียกว่าโลกุตตรสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิมีสองระดับ ระดับพื้นๆ คือโลกียะสัมมาทิฏฐิ ก็เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำบุญกุศลแล้วจะเกิดความสุขขึ้นมา อย่างนี้เป็นต้น แต่ว่าอีกขั้นที่สูงกว่านั้นเรียกว่าโลกุตตรสัมมาทิฏฐิ คือการที่มีปัญญาเห็นแจ้งในสัจธรรมว่า มันไม่มีอะไรที่เป็นตัวเรา ของเราเลย ไม่มีอะไรที่จะยึดว่า นี่ของเรา นี่ตัวเรา นี่เป็นตัวตนของเรา มีความเห็นแจ่มแจ้งในสัจธรรมว่า ไม่มีอะไรที่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นอัตตาได้เลย มันเป็นอนัตตาทั้งนั้น ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน พอเกิดโลกุตตรสัมมาทิฏฐิ หรือว่าเกิดปัญญาอย่างนี้ขึ้นมา ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จิตใจ คือเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด จิตก็หลุดพ้น
ทางพุทธศาสนาแยกระหว่างปัญญากับจิต ปัญญาคือความเห็น การเห็นแจ้ง เห็นแจ้งในสัจธรรม เมื่อเห็นแจ้งแบบนี้แล้ว หรือว่าเห็นว่าไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนเลย ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จิตใจ เบื่อหน่าย คลายกำหนัด แล้วก็หลุดพ้น หลุดพ้นนี้เป็นเรื่องของจิต ส่วนการเห็นแจ้งเป็นเรื่องของปัญญา อันนี้เป็นรายละเอียดที่เรารู้ไว้ก็ดี เพราะว่าส่วนใหญ่เรื่องของใจเราจะพูดคลุมๆ ไป แต่พุทธศาสนานี้แยกใจออกเป็นสองคือปัญญากับจิต ปัญญาเป็นเรื่องของการเห็น ไม่ใช่เห็นเอาตามความคิดนึก อันนั้นยังไม่ใช่ปัญญาแท้ แต่คือการเห็นตามความเป็นจริง คือเห็นแจ้งในสัจธรรม เรียกว่าปัญญา เมื่อเห็นเช่นนั้นจิตก็หลุดพ้น ความหลุดพ้นหรือว่าความสบายผ่อนคลายสำหรับปุถุชนนี้ก็เป็นเรื่องของจิต เมื่อปัญญาพัฒนา จิตก็พัฒนาตาม จึงเกิดความหลุดพ้น คราวนี้ก็ไม่มีทุกข์แล้ว อะไรเกิดขึ้นก็ไม่สามารถจะทำให้จิตเป็นทุกข์ได้ เพราะว่าความทุกข์ของจิตนี้มันล้วนแล้วแต่เกิดจากความยึดมั่นถือมั่น ว่า นี่ของเรา นี่เป็นเรา นี่เป็นตัวตนของเรา หรือยึดว่า นี่ตัวกูของกู
ความทุกข์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ ถ้าเป็นความทุกข์ใจแล้ว สาวไป ๆ สุดท้ายก็จะพบว่า มันล้วนแล้วแต่เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวกูของกูทั้งสิ้น หรือความยึดมั่นอันนึงว่า นี่กูนะ เช่น ลูกไม่เชื่อฟังพ่อแม่ พ่อแม่นี้แม้จะรักลูกอย่างไร แต่พอลูกทำเช่นนั้นกับพ่อแม่ก็โกรธไม่พอใจ อันนี้เพราะว่ามานะ ว่าฉันเป็นพ่อเธอนะ ฉันเป็นแม่เธอนะ ทำไมไม่ฟังฉัน หรือทำไมมาพูดเช่นนี้กับฉัน อันนี้คือมานะ เวลาลูกน้องเขาแนะนำเรา หรือว่าเวลานักเรียนแนะนำครู ครูก็โกรธ เจ้านายก็ไม่พอใจ เธอเป็นนักเรียน เธอเป็นลูกน้องมาแนะนำฉันอย่างนี้ได้อย่างไร อันนี้ก็เป็นมานะคือความถือตัวว่าฉันสูงกว่า ฉันเหนือกว่า แต่ที่จริงไม่ต้องเป็นลูกน้องหรือคนที่ต่ำกว่าเรา คนที่เสมอกับเราหรือคนที่เหนือกว่าเราก็ได้ เช่น ครู อาจารย์ อาจารย์แนะนำศิษย์ ศิษย์ก็ไม่พอเพราะรู้สึกเสียหน้า ตัวอัตตามันถูกกระทบ อันนี้ก็เป็นเรื่องของมานะเหมือนกันว่า นี่กูนะ ส่วนตัวกูของกู อย่างที่เรารู้กัน ก็คือความยึดว่าเป็นของเรา ๆ ตั้งแต่ร่างกายนี้ไปจนถึงความรู้สึกนึกคิดของเรา ๆ ออกไปนอกตัว รถของเรา บ้านของเรา ลูกของเรา พอไปยึดว่าเป็นของเราแล้วมันก็ไปสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวเราได้ง่ายๆ เช่น ยึดว่านี่ รถของเรา รถของเรา ไปๆ มาๆ รถก็คือเรา พอใครมาตำหนิว่ารถคันนี้ไม่สวย รถคันนี้เก่า รถคันนี้แรงไม่ดี เราก็รู้สึกว่าตัวตนถูกกระทบไปด้วย เพราะตอนนั้นยังไปยึดมั่นว่ารถนี้มันเป็นเรา มันไม่ใช่แค่ของเราเท่านั้น แต่มันเป็นเราเลย หรือคนที่เขาอยากจะเชิดชูตัวตนให้สูงเด่น เขาก็จะไปซื้อของแบรนด์เนมมา ซื้อนาฬิกาโรเล็กซ์ กระเป๋าหลุยส์วิตตอง หรือว่าพวกเสื้อผ้าราคาแพง พวกนี้เขายอมทุ่มเทเงินเป็นแสนหรือบางทีเป็นล้าน ก็เพราะเขาเชื่อว่ามันจะทำให้ตัวตนเขาสูงขึ้น เด่นขึ้น มีคุณค่าขึ้น บางคนก็ไปซื้อรถเบนซ์มาเพราะว่าขับรถเบนซ์แล้วรู้สึกว่าทำให้ตัวเองรู้สึกว่าดูภูมิฐาน เกิดความรู้สึกมั่นใจ หลายคนเวลาจะไปทำธุรกิจก็จะต้องขับรถเบนซ์ไป ไม่ใช่เพียงเพื่อให้คนอื่นเขามองเราว่า เราดูมีภูมิฐานเท่านั้น แต่มันยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองด้วย ว่า กูเก่ง กูแน่ กูดี กูเด่น อันนี้ก็แปลว่ารถนี้กลายเป็นตัวกูไปแล้ว รถไม่ใช่แค่ของกู แต่เป็นตัวกูไปแล้ว และความยึดมั่นอย่างนี้แหละที่ทำให้ทุกข์ง่าย เพราะว่าพอเกิดอะไรขึ้นมากับรถ เกิดอะไรขึ้นมากับสิ่งที่เราคิดว่าเป็นตัวกูของกู มันก็จะทุกข์เลย
ความพลัดพรากจากสิ่งใดก็ตาม ทำให้เป็นทุกข์ก็เพราะความยึดมั่น ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเรา เป็นของเรา ยึดมาไว้เป็นตัวกูของกู เพราะฉะนั้นเวลาเรามีความทุกข์ใจเมื่อไหร่ ให้ลองพิจารณา ดูไปเถอะมันก็สุดท้ายก็จะหนีไม่พ้นที่ความยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นตัวกูของกู หรือยึดมั่นว่านี่กูนะ เสมอไป จะว่าไปแล้วเวลาเรามีความทุกข์ มันก็มีประโยชน์เหมือนกัน ไม่ว่าทุกข์กายหรือทุกข์ใจ เพราะว่าจะทำให้ตัวกิเลสนี้แสดงตัวเด่นชัด มันทำให้เราได้เห็นเลยว่าความยึดมั่นในตัวกูของกูมันนี้แสดงตัวมาชัดเจนมาก เวลาสบายๆ การที่จะเห็นกิเลสในตัวเอง หรือว่าเห็นสัจธรรมของกายและใจนี้มันเห็นยาก เพราะว่ามีความเพลิดเพลินในความสุขที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเกิดว่าเราล้มป่วยขึ้นมา หรือเพียงแค่ปวดเมื่อย มันก็จะทำให้เราได้เห็นสัจธรรมได้ทีเดียวเลย เช่น ขณะที่นั่งอยู่แล้วปวดเมื่อยนี่ มันก็ทำให้เราเห็นแล้วว่า รูปนี้ มันไม่ใช่ว่าสุข มันเจือไปด้วยทุกข์ หรือว่าทุกข์นี้มันแฝงอยู่ในรูป ในร่างกายของเราอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่ว่ามันอาจจะแสดงตัวไม่ชัดในช่วงแรกๆ ขณะที่นั่งอยู่ใหม่ๆ ความทุกข์มันก็ไม่ค่อยแสดงตัวหรือออกมาน้อยๆ แต่พอนั่งไปนานๆ ความทุกข์มันก็แสดงตัวให้เห็นชัดทำให้เห็นว่าร่างกายมันไม่ใช่ว่าจะสุขอย่างเดียว ร่างกายนี้มันก็เจือไปด้วยทุกข์ หรือมันก็ทำให้ว่า รูปนี้ ไม่ใช่ว่าเราจะสั่งมันได้ มันปวดมันเมื่อยก็สั่งมันไม่ได้ว่าให้หายปวดหายเมื่อย สั่งรูปก็ไม่ได้ สั่งเวทนาก็ไม่ได้
ตอนที่ป่วย ตอนที่เจ็บ ตอนที่เมื่อยนี่แหละ ถ้าเราลองพิจารณาดูก็จะเห็นความจริงเรื่องอนัตตา ความจริงเรื่องทุกขัง ความจริงเรื่องอนิจจัง แต่ส่วนใหญ่มองไม่ค่อยเห็น เพราะว่าไม่ค่อยได้ดูอาการที่เกิดขึ้นเหล่านั้นเท่าไหร่ ตอนนั้นจิตมันมัวแต่บ่นโวยวาย ตีโพยตีพาย ปวด ๆ ๆ หรือไม่ก็ ทำไมถึงเป็นฉัน ฉันทำอะไร ฉันอุตส่าห์ทำความดีทำไมถึงเจ็บป่วยแบบนี้ จิตที่บ่นจิตที่โวยวายตีโพยตีพาย หรือว่า เอาแต่ต่อสู้กับเวทนาและความปวดเมื่อยที่เกิดขึ้นนี่ มันก็จะไม่มีเวลาจะมาดูหรอกว่า ความจริงมันได้แสดงให้เห็นแล้ว ที่จริงตอนนั้นจิตนี้มันไม่สามารถจะทำหน้าที่เห็นได้เลย เพราะว่ามันกลายเป็นผู้เป็นไปแล้ว เป็นทุกข์ไปแล้ว ความทุกข์นี้เมื่อมันโผล่ออกมานี่ ถ้าเห็นมันก็จะเกิดประโยชน์ เพราะว่าจะทำให้ได้เห็นสัจธรรม ได้เห็นกายและใจตามที่เป็นจริง แต่ส่วนใหญ่นี้ไม่ทันได้เห็น หรือไม่สนใจที่จะเห็นด้วยเพราะมันเข้าไปเป็นแล้ว แทนที่จะเห็นความปวดความเมื่อยก็เป็นผู้ปวดผู้เมื่อยไปแล้ว เวลาที่เราปวด เวลาที่เราเมื่อย มันไม่ใช่แค่กายปวด กายเมื่อยเท่านั้น แต่ใจก็ปวด ใจก็เมื่อย ใจก็ทุกข์ไปด้วย เพราะตอนนั้นไม่มีสติ ตอนนั้นเข้าเป็นไปเสียแล้ว
แต่ถ้าหากว่ามีสติเมื่อไหร่ จิตมันไม่เข้าไปเป็นผู้ปวดผู้เมื่อย หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า จิตมันไม่ปรุงตัวกูขึ้นมาเป็นผู้ปวดผู้เมื่อย เมื่อใดก็ตามที่เรามีสติ หรือเมื่อใดก็ตามที่สติเกิดขึ้นที่ใจนี้ มันก็จะเห็นความปวดความเมื่อย ว่าเป็นอันหนึ่ง ไม่ว่าจะปวดหรือเมื่อยหรือเจ็บก็ตาม ก็เห็นว่า นี่แหละ ความปวดความเมื่อยเกิดขึ้นที่กายแล้ว หรือว่าทุกข์เกิดขึ้นที่กายแล้ว มันก็จะเห็นโดยที่ไม่มีความรู้สึกว่ากูปวด กูเมื่อย กูเจ็บ ตรงนี้ข้อดีอย่างหนึ่งก็คือ มันทำให้จิตไม่ทุกข์ ถ้าเห็นความปวดความเมื่อยที่กายนี้ จิตมันจะไม่ทุกข์ แต่ที่จิตทุกข์เพราะอะไร เพราะไปยึดว่า ความปวดความเมื่อยนี้เป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวกูของกู ก็เกิดตัวกูผู้ปวดขึ้นมา ตัวกูผู้เจ็บขึ้นมา พอเกิดอย่างนี้ขึ้นมา จิตมันก็ทุกข์เลย เพราะฉะนั้นเวลาเราปวดเราเมื่อยนี่ ให้เราสังเกตไปดูว่า มันไม่ใช่แค่กายที่ปวดที่เมื่อย บ่อยครั้งจิตมันก็จะปวดจะเมื่อยไปด้วย แต่พอมีสติปุ๊บ จิตมันหลุดเลย จิตมันหายปวด หายเมื่อย หายทุกข์เลย เพราะว่าเห็นแต่กายที่มันปวดที่มันเมื่อยเท่านั้น เพราะฉะนั้นการที่มีสติเห็นนี้ มันช่วยลดความทุกข์ได้ กายยังทุกข์อยู่ แต่ว่าใจไม่ทุกข์แล้ว แม้จะป่วยหนักๆ แม้จะเจ็บหนักๆ
มันก็เหมือนกับเวลามีกองไฟอยู่กองหนึ่ง แล้วก็เอาไม้ชื้นๆ เปียกๆ โยนเข้าไปในกองไฟ สักพักมันก็จะไหม้ แต่ก็จะไหม้แบบบิดเบี้ยว เวลาเห็นไม้มันบิดเบี้ยว หรือไม้กำลังลุกโพลงนี้ เราทุกข์หรือเปล่า ไม้มันดูเหมือนทุกข์มากเลย แต่ว่าเราซึ่งเป็นผู้ดู นี่ไม่ทุกข์เลย ในทำนองเดียวกันเวลากายปวดกายเมื่อย หรือว่ากายมันมีทุกขเวทนาบีบคั้น ถ้าเป็นผู้ดู ก็ไม่ทุกข์ที่ใจ เพราะว่ากายมันก็เหมือนกับไม้ คือมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เวลาเราเห็นไม้ที่มันถูกไฟไหม้ เรารู้อยู่แล้วว่ามันไม่ใช่เรา พอมันไม่ใช่เรา เราก็ไม่ทุกข์ แต่ถ้าไปยึดว่ามันเป็นของเราเมื่อไหร่ ก็ทุกข์ขึ้นมาเลย เช่น ถ้าไม้นี้เป็นไม้พะยูง ซื้อมาราคาแพง แล้วก็มีลวดลายสลักด้วย พอไปคิดว่าเป็นของเรานี่ มันก็ทุกข์เลย เพราะตอนนั้นไม่ใช่แค่ของเรา แต่มันเป็นตัวเราแล้ว ใจก็ทุกข์เลย แต่ถ้ามันไม่ใช่ไม้ของใคร เราก็ไม่ทุกข์ เพราะเรารู้ว่ามันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
ในทำนองเดียวกัน เวลากายที่ปวดกายที่เมื่อย ถ้าเป็นผู้ดูเฉยๆ มันจะถอนความยึดมั่นว่าเป็นเรา เป็นของเรา ร่างกายจะปวดก็ปวดไป แต่ใจไม่ทุกข์ เหมือนกับเราดูไม้ที่กำลังถูกไฟไหม้ ดังนั้นการเป็นผู้เห็นนี้มันช่วยทำให้ความทุกข์ของกาย หรือว่าความทุกข์ที่เกิดกับวัตถุสิ่งของ มันไม่มาบีบคั้นใจได้ ใจก็ไม่เป็นทุกข์ การเห็นที่ไม่ใช่ผู้เป็น มันก็ทำให้ใจไม่ทุกข์ แล้วต่อไปก็จะทำให้เกิดปัญญาด้วย พอเห็นไปเรื่อยๆ ก็จะเห็นแจ่มชัดจริงๆ ว่ามันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันไม่ใช่ตัว มันไม่ใช่ตนเลย ความเห็นอย่างนี้แหละที่ทำให้ปัญจวัคคีย์ทั้งห้าท่าน บรรลุธรรม เพราะว่าเกิดปัญญาเห็นแจ้งในสัจธรรม การเห็นนี้ นอกจากจะทำให้ไม่ทุกข์แล้ว มันยังทำให้เกิดปัญญาด้วย และปัญญาที่เกิดขึ้นอย่างแจ่มแจ้งก็จะช่วยดึงจิตให้หลุดพ้นจากความทุกข์ เพราะว่าพอปัญญาเกิด ความเบื่อหน่าย คลายกำหนัดก็เกิดขึ้น แล้วจิตก็หลุดพ้น เพราะฉะนั้นเรื่องการหมั่นดูกายดูใจ เป็นสิ่งสำคัญมาก เป็นหัวใจสำคัญของการภาวนาแบบพุทธ
สติปัฏฐาน ๔ นี้เป็นหัวใจการภาวนาแบบพุทธ การภาวนาแบบพุทธนั้นมีหลายวิธี การเจริญอนุสติ ให้เกิดพุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสติ เพื่อเพิ่มพูนศรัทธานี่ก็เป็นภาวนาหรือกรรมฐานแบบหนึ่ง การเจริญมรณสติเพื่อให้เกิดความไม่ประมาท เพื่อให้เกิดความพากเพียร ก็เป็นการภาวนาแบบพุทธอย่างหนึ่ง เพราะว่าเมื่อเราพิจารณาแล้วทำให้เกิดความกระตือรือร้น เกิดความพากเพียร ความเพียรเป็นกิจที่ต้องทำวันนี้ ใครจะรู้ความตายแม้พรุ่งนี้ พอเจริญมรณสติแล้วมันก็กระตุ้นให้เกิดความเพียร อันนี้ก็เป็นภาวนาแบบหนึ่ง การเจริญเมตตาให้เกิดขึ้นในใจ เพื่อจะได้รู้จักให้อภัยหรือว่าทำให้จิตเป็นกุศล เกิดความผ่อนคลายสงบเย็น อันนี้ก็เป็นภาวนาแบบนึงในพุทธศาสนา แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่ถือว่าสำคัญเท่ากับสติปัฏฐาน ๔ แต่ถึงแม้ว่าจะสำคัญรองลงมา ก็มีประโยชน์ที่เอามาใช้หนุนให้เกิดความใส่ใจในการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ได้ สติปัฏฐาน ๔ ก็คือเรื่องของการดูกาย ดูเวทนา ดูจิต ดูธรรม หรือพูดย่อๆ สั้นๆ เอาที่เป็นหัวใจ คือดูกายกับดูใจ เพราะฉะนั้นถ้าเราใช้สติเข้ามาดู กายและดูใจ ไม่ว่าในยามสุข หรือในยามทุกข์นี่ มันทำให้เราเกิดปัญญามากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต้องไปดูสิ่งนอกตัวก็ได้ แต่ถึงจะดู ถ้าดูเป็น ก็เกิดดวงตาเห็นธรรมได้เหมือนกัน
อย่างที่พระอรหันต์บางท่าน ท่านเห็นดอกบัวที่ร่วงโรย ท่านก็น้อมเข้ามาใส่ตัวว่าสังขาร ร่างกาย หรือตัวเราก็จะเสื่อมสลายไปเหมือนดอกบัวเช่นกัน มันเป็นอนิจจัง ท่านเห็นอนิจจัง แล้วก็โยงมาสู่ทุกขัง อนัตตา นี้ก็จากการเห็นสิ่งนอกตัว แต่เห็นอย่างมีสติ อย่างมีโยนิโสมนสิการ คือรู้จักมองก็ทำให้เกิดปัญญาได้ แต่ว่าสิ่งภายนอกนี้ มันก็ไม่ใช่ว่าจะเห็นอะไรต่ออะไรได้ง่ายๆ ดอกบัวไม่ใช่ว่าจะหาได้ตลอดเวลา แต่กายและใจนี้มันแสดงธรรมให้เราเห็นตลอดเวลา โดยเฉพาะเวลาป่วย หรือว่ามีอะไรขัดอกขัดใจ คนเขาทำไม่ถูกใจเรา เราเกิดความขุ่นเคืองขึ้นมา ภาวะนั้นแหละที่มันจะสอนธรรมให้เห็นทุกข์ได้
ถ้าทุกคนทำตามใจเราหมด มันจะเห็นทุกข์ลำบาก ถ้าดินฟ้าอากาศเป็นไปตามใจเราหมด สบาย ทุกอย่างสบายนี้ มันจะเห็นทุกข์ยาก คำว่าทุกขังนี้จะเห็นได้ก็ก็ตอนที่เกิดความรู้สึกว่าทุกอย่างมันไม่เป็นไปตามใจ เกิดความรู้สึกขัดอกขัดใจขึ้นมา นั่นแหละที่ทุกขังนี้มันจะแสดงให้เห็น และตรงนี้แหละที่มันจะทำให้เกิดปัญญาได้ เพราะฉะนั้นเราต้องขอบคุณความทุกข์ที่เกิดขึ้น ความเจ็บความป่วยที่เกิดขึ้น เพราะว่ามันสอนธรรมได้ หรือว่าเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ก็พยายามหาประโยชน์จากมัน ไม่ใช่เอาแต่โวยวายตีโพยตีพาย หรือว่าบ่นก่นด่าชะตากรรม รู้จักมอง มองให้ดี อย่าเข้าไปเป็น มันก็จะเห็นธรรมได้