แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ระหว่างที่เราสวดมนต์เมื่อสักครู่ สังเกตไหมว่าใจของเราอยู่ที่ไหน อยู่ที่บทสวดมนต์หรือว่าใจลอยไปที่อื่น แล้วความรู้สึกเราเป็นอย่างไร เราสวดมนต์ด้วยความรู้สึกที่สบาย เป็นปกติ หรือว่ามีความรู้สึกหนักอกหนักใจ หรือว่าขุ่นเคืองใจอะไรบ้างหรือเปล่า ที่จริงการสวดมนต์ก็ไม่น่าทำให้เรามีอารมณ์ความรู้สึกใดๆ หรือถ้าจะเกิดขึ้นก็น่าจะเป็นความรู้สึกที่สงบ ความรู้สึกที่เบาสบายด้วยซ้ำ แต่ถ้าเกิดว่ามีความหนักอกหนักใจหรือมีความขุ่นเคืองนั่นก็อาจจะเป็นเพราะว่าใจเราไปคิดถึงอะไรบางอย่าง อาจจะคิดถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้วแต่ยังติดคาอยู่ในใจ ไม่ปล่อยไม่วาง หรือว่าอาจจะนึกถึงบางสิ่งบางอย่างข้างหน้าที่กลายเป็นภาระทำให้หนักอกหนักใจ
ระหว่างที่เราสวดมนต์ก็เป็นช่วงเวลาที่เราสามารถจะเจริญสติได้พร้อมๆ กัน เจริญสติหมายความว่าขณะที่เราสวดมนต์เราก็สวดมนต์อย่างมีสติ ใจเราก็รับรู้อยู่กับการสวดมนต์ อยู่กับตัวหนังสือที่กำลังอ่านหรือว่าคำที่กำลังเปล่งออกมา แต่คนส่วนใหญ่ก็จะไม่ได้มีสติอยู่กับการสวดมนต์ไปได้ตลอดหรือว่าไม่ได้มีใจตามติดกับบทสวดมนต์ไปได้ตลอด เดี๋ยวใจก็เผลอแวบไปโน่นแวบไปนี่ เมื่อใจเผลอแวบไปเรารู้ทันไหม แล้วรู้ทันนี่รู้ทันเร็วหรือเปล่า บางทีคิดไปหลายเรื่องหลายราวแล้วก็เพิ่งมารู้ตัวว่าเผลอไปหรือเพิ่งระลึกได้ว่ากำลังสวดมนต์อยู่ แล้วเราสังเกตไหมพอเราระลึกได้นี่จิตมันก็จะกลับมาเลย จิตจะกลับมาที่การสวดมนต์ ถึงแม้ว่าจะอยู่กับการสวดมนต์ได้ประเดี๋ยวประด๋าว เดี๋ยวไปอีก แต่เมื่อไรก็ตามที่จิตระลึกได้ว่ากำลังสวดมนต์อยู่ จิตก็จะกลับมา
สิ่งที่ทำให้จิตระลึกได้อันนั้นคือสติ ความหมายหนึ่งของสติหรือหน้าที่หนึ่งของสติคือระลึกได้ ระลึกว่ากำลังทำอะไรอยู่ และทำให้กลับมารู้ตัว จิตกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวหรือจิตกลับมาอยู่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ อันนี้ก็เป็นงานของสติ และเมื่อจิตกลับมาอยู่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ อันนั้นก็เรียกว่าอยู่กับปัจจุบัน สตินอกจากจะช่วยให้เราระลึกได้ในอดีตแล้ว ก็ยังทำให้มีความรู้ต่อเนื่องในสิ่งที่เป็นปัจจุบันด้วย สิ่งที่เป็นปัจจุบันนั้นอาจจะได้แก่กิจที่กำลังทำอยู่ เช่น สวดมนต์ กินข้าว เดินจงกรม ล้างจาน หั่นผัก ทำครัวก็ได้ หรือว่าอาจจะเป็นความนึกคิดที่ผุดโผล่ขึ้นมาแล้วจิตก็ไปรู้ ถ้าเป็นจิตที่มีสติกำกับก็จะเห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่โดดเข้าไปยึดเข้าไปจับเข้าไปฉวยเข้าไปมีปฏิกิริยา ไม่ว่ายินดีหรือยินร้ายหรือว่าเข้าไปยึด เวลามันเข้าไปยึดมันก็จะยึดว่าเป็นเราเป็นของเราเสมอ มันจะเป็นธรรมชาติของอุปาทาน เพราะว่าเวลายึดนี้เมื่อไม่สติมันก็ยึดว่าเป็นเราเป็นของเรา มีอารมณ์โกรธเกิดขึ้นก็จะไปสำคัญมั่นหมายว่าฉันโกรธ คือความโกรธเป็นของฉัน ซึ่งก็เท่ากับทำให้จมเข้าไปในความโกรธ ก็จะถูกความโกรธเผา สิ่งที่ตามมาคือความทุกข์ แต่ถ้าหากว่ามีสติ จิตก็จะเห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้น เกิดความรู้ รู้ในที่นี้คือรู้ตัว อารมณ์ที่เห็นด้วยสติ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์บวกหรืออารมณ์ลบมัน ก็เป็นปัจจุบันได้เหมือนกัน เพราะว่าปัจจุบันหรือปัจจุบันธรรมความหมายคือสิ่งที่กำลังรับรู้ หรือสิ่งที่กำลังเกี่ยวข้อง แล้วก็รวมไปถึงกิจที่กำลังทำอยู่ก็ได้ ความโกรธก็เป็นปัจจุบันธรรมได้ถ้าหากว่าใช้สติเข้าไปรู้หรือว่าดูมัน
ดังนั้นสติเป็นสิ่งที่จะช่วยทำให้เราอยู่กับปัจจุบันได้อย่างต่อเนื่อง การอยู่กับปัจจุบันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าจะให้ความสำคัญกับการทำปัจจุบันให้ดี การเกี่ยวข้องกับปัจจุบันให้ถูกต้อง ซึ่งก็คือการอยู่กับปัจจุบันโดยที่ไม่ได้เข้าไปยึดเข้าไปติดในปัจจุบันหรือปัจจุบันธรรมนั้น ถ้าเราหมั่นดูใจของเราบ่อยๆ ไม่ว่าทำอะไรก็ตาม แต่ไม่ใช่ดูใจในลักษณะที่เป็นการไปจ้อง เช่นว่าขณะที่กำลังขับรถอยู่ ไม่ใช่ไปจ้องดูความคิดว่าเกิดขึ้นไหม มีอารมณ์ใดเกิดขึ้นหรือเปล่า แต่หมายความว่าในขณะที่เราขับรถแล้วก็ตาเรามองไปที่ถนนข้างหน้า เราก็รับรู้ถึงสิ่งที่อยู่บนถนน ไม่ว่าจะเป็นรถคันข้างหน้าหรือรถที่สวนเข้ามา หรือว่าสิ่งที่อยู่สองข้างทาง เราก็รับรู้โดยที่ไม่คลาดสายตา แต่ถ้าเกิดใจลอยขึ้นมา เผลอไปคิดเรื่องการทอดกฐินในอีกสามเดือนข้างหน้า ใจมันเริ่มวางแผนแล้วว่าจะเอาซองไปปล่อยที่ไหน ตรงนั้นแหละที่เราจำเป็นที่จะต้องรู้ทัน เพราะว่ามันทำให้จิตคลาดเคลื่อนออกจากปัจจุบันธรรมไป ปัจจุบันธรรมนี้อยู่ที่กิจที่เรากำลังทำอยู่หรือกิจที่ต้องทำ กำลังขับรถอยู่ แต่ถ้าไปนึกเรื่องการทอดผ้าป่า นึกเรื่องการทำบุญทำกุศล อย่างนี้มันไม่ถูก ตอนนั้นเรียกว่าจิตไม่ได้อยู่กับปัจจุบันธรรมแล้ว จิตคลาดเคลื่อนออกจากปัจจุบันไป ถ้าเรามีสติ สติก็ทำให้เรารู้ว่าใจเผลอไปแล้ว ใจลอยแล้ว มันก็จะพาจิตกลับมาอยู่กับการขับรถ ระหว่างที่เราขับรถก็เป็นโอกาสที่เราจะได้เจริญสติได้เหมือนกัน เพราะว่าถ้าเรามีสติอยู่กับการขับรถได้อย่างต่อเนื่อง สติเราก็จะเจริญหรือว่าพัฒนามากขึ้น ที่จริงไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม สติจำเป็นสำหรับการทำสิ่งต่างๆ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ พระพุทธเจ้าตรัสว่าสติเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับกิจทั้งปวง ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องอาศัยสติทั้งนั้น แล้วการเจริญสติก็คือการที่เรามีสติอยู่กับกิจต่างๆ ที่กำลังทำอยู่ ไม่ได้แปลว่าจะต้องมาเดินจงกรม ไม่ได้แปลว่าจะต้องมาสร้างจังหวะเท่านั้น แต่ว่าทุกอิริยาบถทุกกิจกรรมเป็นช่วงเวลา หรือเป็นกิจที่จะต้องมีสติเข้าไปกำกับอยู่ตลอดเวลา
สมัยที่อาตมาไปปฏิบัติกับหลวงพ่อเทียนใหม่ๆ เพิ่งบวชมาได้ ๒-๓ อาทิตย์ก็ไปวัดสนามใน หลวงพ่อเทียนท่านก็มาแนะนำการปฏิบัติ ท่านแนะนำง่ายๆ สั้นๆ เรื่องการยกมือสร้างจังหวะ ยกมือก็ให้รู้สึกตัว ก็มีความสงสัยถามหลวงพ่อเทียนว่าการปฏิบัติเราต้องปฏิบัติวันละกี่ชั่วโมง ในใจก็คิดว่าก็คงประมาณ ๙ โมงเช้าจนถึง ๔ โมงเย็น อันนี้ก็คิดแบบคนที่ไม่เข้าใจเรื่องการปฏิบัติ แล้วเพิ่งบวชก็คิดเหมือนกับว่าการปฏิบัติมีชั่วโมงปฏิบัติเหมือนเวลาราชการ หลวงพ่อเทียนท่านตอบว่าให้ทำทั้งวันตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอนเลย ได้ยินแบบนั้นก็รู้สึกหนักใจเพราะว่าแค่จะปฏิบัติวันละ ๗-๘ ชั่วโมงก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องหนักแล้ว นี่หลวงพ่อเทียนท่านว่าให้ปฏิบัติทั้งวัน ทีแรกก็เข้าใจว่าหมายถึงการปฏิบัติในรูปแบบ แล้วตอนนั้นก็ยังไปเข้าใจว่าการปฏิบัติหรือการเจริญสติเป็นเรื่องของการไปบังคับจิต บังคับจิตแค่ ๑-๒ ชั่วโมงก็เหนื่อยแล้ว จะทู่ซี้ให้ทำถึง ๗-๘ ชั่วโมงก็ยังพอไหว แต่ถ้าให้ทำทั้งวันเลยนี่จะไหวหรือ
แต่ที่จริงหลวงพ่อเทียนท่านตั้งใจที่จะบอกว่าให้มีสติกับการกระทำอะไรก็ตาม ตั้งแต่ตื่นนอนมา เริ่มตั้งแต่สลัดความง่วงออกไป ให้มีความรู้สึกตัว ไปล้างหน้าแปรงฟันก็ให้มีสตินั่นก็เป็นการปฏิบัติแล้ว ล้างหน้าแปรงฟันเสร็จ เดินจงกรม เดินจงกรมเสร็จเราอาจจะเตรียมตัวไปบิณฑบาต เดินสะพายบาตรไปยังศาลาที่นัดหมายสำหรับการแบ่งสาย นั่นก็เป็นการปฏิบัติแล้ว คือไม่ว่าจะทำอะไรถ้าทำอย่างมีสติมันก็เป็นการปฏิบัติ หรือว่าจะทำอะไรแทนที่จะปล่อยใจลอย ก็ให้มีสติให้มีความรู้สึกตัวนั่นก็เป็นการปฏิบัติแล้ว ถ้าเราทำอย่างนี้ การปฏิบัติก็ทำได้ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน แล้วยิ่งถ้าปฏิบัติโดยที่ไม่ใช่ไปบังคับจิต ไปเพ่งที่มือที่เท้า หรือว่าไปจ้องมองความคิด ไปดักดูความคิด ถ้าไม่ได้ทำอย่างนั้นการปฏิบัติทั้งวันก็ไม่ใช่เป็นเรื่องยากอะไร ที่มันยากก็เพราะว่าปฏิบัติไม่ถูก พยายามที่จะไปบังคับจิต ที่จริงตอนที่หลวงพ่อเทียนมาสอนกรรมฐาน ท่านก็บอกตั้งแต่แรกแล้วว่าให้ทำเล่นๆ ทำเล่นๆแต่ทำจริงๆ ทำเล่นๆ คือว่าทำโดยที่ไม่ได้ไปคิดจะบังคับจิตให้เป็นไปตามที่ต้องการ คือไม่ได้ทำด้วยความอยาก อยากให้จิตสงบ อยากให้จิตเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันจะพลั้งมันจะเผลอมันจะฟุ้งก็ช่างมัน ก็ทำไปเรื่อยๆ แต่ว่าทำจริงๆ ก็คือว่าทำทั้งวันนั่นแหละ ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอนเลย
คนส่วนใหญ่พอพูดถึงการปฏิบัติก็คิดว่าจะต้องไปทำอะไรกับจิต แล้วก็หนีไม่พ้นไปบังคับจิตให้เป็นไปอย่างที่ต้องการ เช่น ไม่ให้มันคิด มันคิดเมื่อไรก็ไปเบรกมันไปห้ามมัน ทำอย่างนี้ไปนานๆ ก็จะเครียด ที่จริงการเจริญสติกับการสร้างความรู้สึกตัวมันก็เป็นเรื่องเดียวกัน จะทำอะไรก็ตามก็ทำอย่างมีสติ ก็คือทำด้วยความรู้สึกตัว เพราะเมื่อไรก็ตามที่มีสติอยู่ จิตก็จะอยู่กับเนื้อกับตัวอยู่กับสิ่งที่กำลังทำ เมื่อจิตอยู่กับเนื้อกับตัวก็เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา พระพุทธเจ้าก็ได้สอนว่าให้ทำความรู้สึกตัวในทุกอิริยาบถ ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานหมวดที่เรียกว่าอิริยาบถ ท่านก็บอกว่าเดินก็ให้รู้ว่าเดิน ยืนก็ให้รู้ว่ายืน นั่งก็ให้รู้ว่านั่ง นอนก็ให้รู้ว่านอน ไม่ได้ไปบังคับกายให้มีการยืนการเดินการนั่งการนอนในทางที่มันเป็นการบังคับอะไรเลย ก็แค่รู้เฉยๆ ว่าเดินก็รู้ว่าเดิน ยืนก็รู้ว่ายืน นอนก็รู้ว่านอน นั่งก็รู้ว่านั่ง จะรู้อย่างนั้นไม่ได้แปลว่าจะต้องไปเพ่งที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง ไม่ใช่เดินก็ไปเพ่งที่เท้า ยืนก็ไปเพ่งที่เท้าหรือที่ลมหายใจ นั่งหรือนอนก็เหมือนกันก็แค่ให้รู้
ในหมวดที่เรียกว่าสัมปชัญญะหรือความรู้สึกตัว ท่านก็พูดอธิบายเป็นรูปธรรมมากขึ้น ว่าให้ทำความรู้สึกตัวเวลาก้าวไปข้างหน้าหรือถอยข้างหลัง ให้ทำความรู้สึกตัวเวลามองหรือเหลียว ทำความรู้สึกตัวเวลาครองสังฆาฏิ เวลาอุ้มบาตร เวลาห่มจีวร ทำความรู้สึกตัวเวลาคู้ เหยียด เคลื่อนไหว คู้เข้า เหยียดออก ทำความรู้สึกตัวเวลากิน เคี้ยว ดื่ม ลิ้ม อุจจาระ ปัสสาวะ รวมไปถึงเวลาเดิน ยืน นั่ง พูด นิ่ง หลับ นอน อันนี้ท่านก็พูดเป็นรูปธรรมเพื่อให้เราเห็นว่าไม่ว่าทำอะไรก็ตาม อิริยาบถเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าสิ่งที่ทำจะเล็กจะน้อยหรือว่าสำคัญแค่ไหน ก็ต้องมีสติ ต้องมีความรู้สึกตัว เราจะรู้สึกตัวได้ก็ต้องมีสติ เพราะว่าถ้าไม่มีสติ ใจลอย มันก็ลอยไปตะพึดตะพือ จิตไม่กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวสักทีแล้วจะรู้สึกตัวได้อย่างไร พอใจเผลอคิดไปซึ่งเป็นธรรมดาของมัน สติรู้ก็พาใจกลับมา อย่างที่บอกไว้แล้วว่าสตินั้นหน้าที่อันหนึ่งคือความระลึกได้ ส่วนใหญ่เราใช้สติไปในเรื่องการระลึกได้เกี่ยวกับสิ่งนอกตัว รองเท้าวางไว้ที่ไหน จอดรถไว้ที่ไหน บ้านอยู่ไหน กุฏิที่พักอยู่ตรงไหน เราระลึกได้เราถึงสามารถจะดำเนินชีวิตประจำวันได้ถูก รวมทั้งเวลาทำงานเราก็ระลึกได้ถึงวิชาความรู้ ถึงข้อมูลต่างๆ ที่เก็บไว้ในหัวก็เอามาใช้งาน แต่ว่าสติยังทำได้มากกว่านั้น ไม่ใช่แค่ระลึกเรื่องนอกตัวเท่านั้น ยังระลึกได้เรื่องกายเรื่องใจด้วย กำลังทำอะไรอยู่บางครั้งก็ลืมตัวไปชั่วขณะเพราะว่าใจลอย ขณะที่กำลังสวดมนต์อยู่ใจก็ลอย ตอนนั้นลืมตัวไปแล้วว่ากำลังสวดมนต์ หรือว่ากำลังเดินจงกรมอยู่ แต่ว่าใจลอยไปช่วงนั้น ช่วงขณะจิตนั้นก็ลืมไปว่ากำลังเดินจงกรมอยู่ เสร็จแล้วพอระลึกได้ว่านี่เรากำลังเดินจงกรม เรากำลังสวดมนต์ ความระลึกได้นี้ก็จะพาจิตกลับมาอยู่กับปัจจุบัน
สติยังช่วยทำให้เรารู้ทันในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันขณะ เช่น อยู่ดีๆ เกิดโกรธขึ้นมาหรือว่าเกิดดีใจขึ้นมา ที่จริงจะใช้คำว่า อยู่ดีๆ มันก็คงไม่ใช่ หมายความว่าโกรธขึ้นมาหรือดีใจขึ้นมาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย หรือว่าไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย หรือว่าเกิดขึ้นมาเองนั้นไม่ใช่ มันมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิด เช่น ขณะที่กำลังสวดมนต์อาจจะมีเสียงโทรศัพท์ดัง มีเสียงเครื่องยนต์รถมอเตอร์ไซค์แล่นผ่าน ทำลายความสงบก็เกิดความหงุดหงิดขึ้นมา สติทำให้เรารู้ทันอารมณ์นั้น อารมณ์โกรธ อารมณ์หงุดหงิด ตอนนั้นมันเป็นปัจจุบันที่สติเข้าไปรู้ รู้แล้วก็วาง แต่ถ้าไม่มีสติ จิตก็เข้าไปมีปฏิกิริยากับเสียงที่ดัง เกิดความไม่พอใจ หรือเมื่อเกิดความไม่พอใจแล้วก็ปรุงแต่งให้ความไม่พอใจกลายเป็นความโกรธ อันนี้เพราะไม่มีสติ แต่พอมีสติรู้ปุ๊บความโกรธก็เพลาลง เพราะว่าแทนที่จิตจะเข้าไปเป็นผู้โกรธ หรือว่าไปสำคัญมั่นหมายว่าเป็นผู้โกรธ หรือไปจมอยู่ในความโกรธจนกระทั่งมันเกิดความรู้สึกร้อน เป็นทุกข์ขึ้นมา สติมันทำให้เห็น อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนใช้คำว่า “ไม่เข้าไปเป็น เห็น” พอเห็นแล้วก็วางได้ การรู้ด้วยสตินี้ รู้แล้วทำให้วางได้ ความโกรธที่เกิดขึ้น ความหงุดหงิดที่เกิดขึ้น แม้แต่ความดีใจ เห็นแล้วก็จะวางได้เลย
ความรู้ ถ้ารู้ด้วยสติ รู้แล้วทำให้ปล่อยได้ง่าย รู้ทางโลกนั้นทำให้ยึด เช่น รู้ว่าจะมาวัดป่าสุคะโตก็ต้องผ่านแก้งคร้อ แต่ถ้าเกิดมีคนบอกว่าต้องมาทางภูเขียว สิ่งที่ได้ยินมันตรงข้าม มันผิดไปจากความรู้ที่เรารู้มาเราก็จะเถียงว่าไม่ใช่ ก็ยังยืนว่าต้องมาทางแก้งคร้อ อีกคนบอกว่ามาทางภูเขียว ก็อาจจะเกิดการโต้เถียงกันได้ ถ้ารู้แล้วไม่รู้ทันในความรู้นั้น มันก็เข้าไปยึด อะไรที่ผิดไปจากความรู้ก็จะเห็นว่า มันไม่ใช่ มันไม่ถูก คนยิ่งมีความรู้ในทางโลกมากก็ยิ่งยึดติดมาก ทำให้เกิดความหลงตัวด้วยว่าฉันรู้มาก แต่ว่าการรู้ในทางธรรมไม่ว่าจะเป็นรู้ด้วยสติหรือรู้ด้วยปัญญามันรู้แล้วก็ทำให้เกิดการวาง รู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นก็วางอารมณ์นั้น รู้ทางโลกแต่ว่าไม่รู้ทันอารมณ์ก็ทำให้เป็นคนที่จมอยู่ในอารมณ์ และพอจมอยู่ในอารมณ์แล้วความรู้ที่มีอยู่ในหัวสมองก็เอามาใช้ไม่ได้ มันก็รู้แบบครึ่งๆ กลางๆ หรือเอามาใช้แบบครึ่งๆ กลางๆ อย่างเช่นคนเวลาตกใจหรือคนเวลาโกรธมันก็ทำอะไรผิดๆ พลาดๆ หรือเวลาตกใจ
ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยเล่าว่าเมื่อสมัยสัก ๕๐-๖๐ ปีมาแล้ว มีแม่ลูกอ่อน เด็กตัวเล็กๆ เป็นทารก เล่นสตางค์ สมัยก่อนมันเป็นสตางค์ ๑ สตางค์ทำด้วยทองแดง พอเด็กเห็นสตางค์ก็หยิบใส่เข้าปาก ปรากฏว่ามันติดคอ เด็กหายใจไม่ออก แม่รู้ก็ตกใจ ขณะที่กำลังหาทางออกทางแก้อยู่ก็นึกขึ้นมาได้ว่าน้ำกรดกัดทองแดงได้ บังเอิญว่ามีน้ำกรดอยู่ใกล้ๆ อยู่ในบ้าน ก็ไปคว้าน้ำกรดมาแล้วก็กรอกใส่ปากของเด็ก ก็ได้ผลอย่างที่แม่ต้องการคือว่าสตางค์แดงก็หลุดจากคอ ไม่ติดคอแล้ว แต่ว่าน้ำกรดไม่ได้เล่นงานสตางค์แดงอย่างเดียว มันเล่นงานคอของเด็กด้วย คอของเด็กก็ไหม้ไปเลย อันนี้เรียกว่าเป็นความรู้แบบครึ่งๆกลางๆ คือรู้ว่าทองแดงถูกน้ำกรดกัดได้ แต่ว่าตอนนั้นไม่ได้เฉลียวใจว่า น้ำกรดก็เล่นงานคอของลูกน้อยตัวเองได้เหมือนกัน ตอนนั้นปัญญามันออกมาแบบครึ่งๆ กลางๆ เพราะความตื่นตกใจ
รู้ทางโลกแค่ไหน แต่ถ้าเกิดว่าไม่รู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นมันก็สร้างปัญหาได้ คนทั่วไปก็รู้ว่าถ้าไปทำร้ายคนอื่นหรือว่าไปฆ่าเขานี่ต้องติดคุกติดตาราง แต่เวลาทะเลาะเบาะแว้งกันมันลืมตัว ความรู้ว่าไปทำเขาเจ็บไปทำเขาตายมันทำให้ตัวเองเดือดร้อนได้ติดคุกได้นี่ มันลืมไปเลย ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่าฉันจะขอเล่นงานแกก่อน เอาให้ตายไปเลย เอาให้เจ็บไปเลย ไม่ได้คิดว่าผลที่ตามมาจะเกิดขึ้นอย่างไรกับตัวเอง อันนี้เรียกว่ามันลืมไปชั่วขณะ พอจัดการเขาเรียบร้อยไปแล้ว เขาบาดเจ็บ เขาพิการ หรือเขาตายไปแล้ว ถึงค่อยรู้ว่าภัยกำลังจะเกิดขึ้นกับตัวเองแล้ว พอรู้อย่างนี้หลายคนก็หนี แต่บางคนก็เสียใจกลัวอันตรายที่เกิดขึ้นก็ฆ่าตัวตาย ยิงตัวเองตายก็มีหลังจากที่ไปฆ่าเขาเรียบร้อยแล้ว
ความรู้ทางโลกถ้าไม่มีสติไปกำกับมันก็เป็นประโยชน์น้อยหรืออาจจะกลายเป็นโทษด้วยซ้ำถ้าใช้ความรู้นั้นในการทำร้ายผู้อื่น นอกจากรู้ทางโลกแล้วเราต้องมีความรู้ตัวด้วย ยิ่งรู้มากเท่าไรในเรื่องทางโลกก็ยิ่งจำเป็นต้องมีความรู้ตัวมากำกับให้รู้ทันในอารมณ์ ที่จริงแล้วมันเป็นพื้นฐานของมนุษย์เลยในการที่จะต้องรู้ทันอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แต่เห็นสิ่งนอกตัวด้วยตา หรือรับรู้ด้วยหูอย่างเดียว มนุษย์เรามีสติที่จะสามารถเป็นตาในให้เห็นจิตใจ ให้เห็นอารมณ์ หรือรู้ทันอารมณ์เหล่านี้ได้ การที่เราไม่ได้ใช้สติหรือว่าไม่ได้พัฒนาสติ มันก็เหมือนกับว่าเสียของ ผู้คนส่วนใหญ่ปล่อยให้ของดีมีค่าเปล่าประโยชน์ เสร็จแล้วก็ต้องเดือดร้อนเพราะการที่ปล่อยปละละเลยนั้น เรามาอย่างนี้ก็แสดงว่าเราเห็นความสำคัญของการพัฒนาสติ ทำให้มีตาในที่จะมารู้ทันอารมณ์ ไม่ปล่อยให้มันเข้ามาครอบงำใจ ไม่ปล่อยให้มันมาบีบคั้นเผาลนจิตใจ อันนี้ก็เท่ากับว่าเรามีเครื่องรักษาจิตที่จะช่วยป้องกันไม่ให้มีความทุกข์ ทุกข์กายมันเป็นเรื่องหนึ่ง บางทีเราก็ห้ามไม่ได้ แดดร้อนก็ทำให้ทุกข์กายแล้ว กินอาหารผิดสำแดงก็ทุกข์กายแล้ว แต่ว่าทุกข์ใจนี่มันอยู่ในวิสัยที่เราจะป้องกันได้
เพราะฉะนั้น เรื่องการเจริญสติจึงเป็นเรื่องที่เราควรจะให้ความสำคัญ เมื่อเห็นตระหนักว่าการภาวนาเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ ก็ต้องไม่ลืมการเจริญสติ การอาศัยหลักสติปัฏฐานเพื่อสร้างตาในให้รวดเร็วฉับไว และมีเครื่องคุ้มกันจิตอย่างแน่นหนามั่นคง