แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ขอคารวะพระคุณเจ้า ขอเจริญพรอาจารย์กำพล และญาติโยมสาธุชนทุกท่าน ตอนนี้บ่ายสามอากาศก็ยังร้อนอยู่ แล้วพวกเราได้ฟังกันมา 3 ชั่วโมง ติดต่อกัน 2 ชั่วโมงครึ่งแล้ว แล้วอาตมาก็จะมาบรรยายให้พวกเราฟังอีก 40 นาที แล้วเป็นการบรรยายที่อาจจะค่อนข้างหนัก ไม่มีบรรยากาศที่หลากหลาย หลายรสชาติเหมือนเมื่อช่วงที่มีการเสวนาตอนบ่าย เพราะฉะนั้นก็หมายความว่าความง่วงอาจจะเกิดกับพวกเรา แต่ให้ถือว่าเป็นช่วงเวลาของการปฏิบัติ ขอให้เห็นความง่วง แต่อย่าเป็นผู้ง่วง สิ่งนี้ถือว่าถ้าติดตามสิ่งที่อาตมาพูดได้ไม่ค่อยต่อเนื่อง อย่างน้อยได้ฝึกดูความง่วงของตัวเองไป
หัวข้อบรรยาย “เห็น...ไม่เป็น” คำว่าเห็น เป็นกิริยาหรือเป็นสภาวะที่สำคัญมากในพุทธศาสนา พวกเราจะเคยได้ยินคำว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ตถาคต” ประโยคสั้นๆ คำว่าเห็นธรรมมีความหมายมากทีเดียว เห็นธรรมคือบรรลุถึงอุดมคติของความเป็นพุทธเลยก็ว่าได้ มีคำคล้ายๆกันอีก เช่นดวงตาเห็นธรรม หรือเห็นสัจธรรมอย่างแจ่มแจ้ง ดวงตาเห็นธรรมคือเป็นพระโสดาบัน เห็นธรรมอย่างแจ่มแจ้งหมายถึงบรรลุอรหันตผล และคำว่าเห็น เป็นคำไทยแท้ๆ ไม่ได้เป็นคำบาลีที่ยากอะไรเลย แต่มีความหมายที่ลึกซึ้งและมีความสำคัญมาก ในพุทธพจน์จะมีข้อความที่ใช้คำว่า เห็น อยู่บ่อยๆ ใครที่คุ้นเคยกับบทสวดติลักขณาทิคาถา บททำวัตรของสวนโมกข์ จะมีข้อความหนึ่งบอกว่า “เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ หรือธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ที่ตนหลง นั่นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพาน อันเป็นธรรมหมดจด” ฉะนั้น เห็น จะโยงกับเรื่องของพระนิพพานเลยทีเดียว
ในบทสวดอีกบทหนึ่งที่ชื่อว่าภัทเทกรัตตคาถา จะมีข้อความว่า “ผู้ใดเห็นธรรมอันเกิดขึ้นเฉพาะหน้าในที่นั้นๆ อย่างแจ่มแจ้ง ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน เขาควรพอกพูนอาการเช่นนั้นไว้” แบบนี้เป็นอีกความหมายหนึ่งอีกแง่หนึ่งของคำว่า เห็น ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำสม่ำเสมอ เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่หลวงพ่อคำเขียนท่านจะพูดว่า เห็น...เห็น อยู่เป็นประจำ “เห็น...ไม่เข้าไปเป็น” ถามว่าเห็นอะไร สำหรับนักปฏิบัติธรรมที่เพิ่งฝึกใหม่ หรือที่จริงผู้ที่เชี่ยวชาญแล้วก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่เห็นธรรมอย่างแจ่มแจ้งก็ต้องฝึกให้เห็นความคิด เห็นความคิดบางทีท่านใช้คำว่า จ๊ะเอ๋ความคิด เมื่อเห็นความคิดท่านบอกว่าจิตใจจะเปลี่ยนแปลง เห็นความคิดรวมถึงเห็นอารมณ์
ความคิดกับอารมณ์ไม่เหมือนกัน อารมณ์ในที่นี้หมายถึงอารมณ์ที่เราเข้าใจโดยทั่วไป เช่น ดีใจ เสียใจ โกรธ โมโห เศร้า ต้องเห็นอารมณ์ด้วย เมื่อเห็นอารมณ์จะทำให้เกิดความอุ่นใจ อุ่นใจเพราะว่าเมื่อเห็นก็จะหลุดจากอารมณ์นั้น ที่เคยบีบคั้นที่เคยเผารนก็จะคลี่คลายไป จะเกิดความอบอุ่นใจ ในภาวะเช่นนั้นก็จะมีความรู้สึกตัวเกิดขึ้น เห็นอาการที่เกิดกับรูปและนาม กายกับใจ อาการที่เกิดกับรูปนาม กายกับใจ อาจจะยกตัวอย่างเช่น ความเจ็บความปวด ความเมื่อย สิ่งนี้เป็นอาการที่เกิดกับกาย หรือความรู้สึกถูกบีบคั้นที่ใจ ก็ควรจะฝึกให้เห็นมัน และเวลาเราพูดคำว่า เห็น เบื้องต้นเลยคือ เห็นความคิด เห็นอารมณ์ เห็นอาการที่เกิดขึ้นกับกายใจ แล้วทั้งหมดจะนำไปสู่การเห็นธรรม แล้วเห็นธรรมอย่างไร เดี๋ยวก็จะพูดต่อไป
คำว่า เห็น หลวงพ่อคำเขียนเมื่อใช้กับความคิดอารมณ์และอาการที่เกิดกับกายและใจ จะมาคู่กับคำว่า “รู้ซื่อๆ” ถ้าเห็นจริงๆ จะเกิดสภาวะคือ “รู้ซื่อๆ” เมื่อสักครู่อาจารย์ประมวลได้อธิบายว่า “รู้ สักแต่ว่ารู้” โดยที่ไม่ปรุงแต่ง ยกตัวอย่างเช่นเห็นเขากระซิบกระซาบกัน ก็ควรจะเห็นเท่านั้น ไม่ควรจะปรุงแต่งต่อไปว่าเขากำลังนินทาเราหรือไม่ ทันทีที่คุณไปปรุงแต่งว่าเขากำลังนินทาเราไหม คุณทุกข์ทันที คุณเกิดความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อต้านคนที่เขากำลังจับกลุ่มซุบซิบกันทันที แบบนี้เราปรุงแต่ง ปรุงแต่งยังรวมหมายถึงการที่คุณให้ค่าการที่เห็น ถ้าเราให้ค่าเป็นลบเราทุกข์ทันที เช่นสมมุติบนโต๊ะเกิดมีขี้ตุ๊กแก คนเรามักจะให้ค่าขี้ตุ๊กแกว่าสกปรก ไม่ดี เห็นก็ทุกข์ใช่ไหม แต่เห็นดอกไม้เราให้ค่าว่าดี เราเห็นแล้วเรายินดีเรามีความสุข การให้ค่าว่า ดี ร้าย บวก ลบ อย่างนี้เรียกว่าไม่ใช่รู้ซื่อๆ และก็เป็นที่มาของความทุกข์ด้วยเหมือนกัน
รู้ซื่อๆ ยังมีความหมายว่าไม่ผลักไสไม่ต่อต้านเมื่อเกิดผัสสะ ไม่ว่าจะเป็นรูปที่เห็นด้วยตา เสียงที่ได้ยินทางหู หรืออารมณ์ที่เกิดขึ้นที่ใจ เมื่อได้ยินเสียง เช่นเสียงโทรศัพท์ดังขณะที่อาตมากำลังบรรยาย ทันทีที่ใจเราต่อต้านเสียงนั้น ใจเราทุกข์เลย เราจะเกิดความหงุดหงิด เราจะเกิดความไม่พอใจ แบบนี้เรียกว่าไม่ใช่รู้ซื่อๆ มีอาการต่อต้าน ถ้ารู้ซื่อๆ คือรู้เฉยๆ
แต่คราวนี้สำหรับนักปฏิบัติ หลวงพ่อคำเขียนท่านจะใช้คำว่า รู้ซื่อๆ กับอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ รวมทั้งความคิดด้วย เช่นความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้น อย่าไปกดข่มมัน นักปฏิบัติจะไม่ชอบความคิดฟุ้งซ่าน พอเข้าไปกดข่มมัน มันเป็นปัญหาทันที ความคิดฟุ้งซ่านไม่ใช่ปัญหา สิ่งนี้พูดสำหรับนักปฏิบัติความคิดฟุ้งซ่านไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือการที่เราไปผลักไสกดข่มมัน เพราะทันทีที่เรามีปฏิกิริยาลบแบบนั้น เราทุกข์ทันที นักปฏิบัติธรรมหลายคนบอกทำอย่างไรดี ปฏิบัติมาฟุ้งซ่านเหลือเกิน ฟุ้งซ่านไม่ใช่ปัญหา ความรู้สึกลบรู้สึกผลักไสต่อความฟุ้งซ่านคือปัญหาหรือคือตัวการของปัญหา
รู้ซื่อๆ คือ แค่รู้เฉยๆ ก็เห็นมันเกิดขึ้น วางใจเป็นกลางกับมัน สิ่งนี้รวมไปถึงความโกรธหรืออารมณ์ความเศร้าเกิดขึ้น เพียงสักแต่ว่ารู้เฉยๆ ไม่ไปผลักไสหนึ่ง แล้วก็ไม่ไปคล้อยตามหลงใหลกับมัน เป็นอารมณ์ที่เป็นเรียกว่าฝ่ายบวกอิฏฐารมณ์ คือไม่ใช่เคลิ้มคล้อยกับมัน เช่นเกิดปีติขึ้นมาก็รู้ซื่อๆ คือดูมันเฉยๆ เห็นมัน ไม่ไปจมดิ่งกลืนหายไปกับอารมณ์ปีตินั้น ถ้าเป็นลบ โกรธ หงุดหงิด ก็แค่เห็นมัน รู้ซื่อๆ คือไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน วางใจเป็นกลางกับมัน มันจะไม่เป็นปัญหา
รู้ซื่อๆ ยังรวมถึงว่าการไม่ปรุงแต่งตัวกู เพราะปกติเวลาเราเกิดผัสสะขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ถ้าสักแต่ว่ารู้ก็จบเท่านั้น แต่คนเรามักจะปรุงแต่งว่า มีตัวกูขึ้นมาเป็นผู้เห็นเป็นผู้ได้ยิน หรือขณะนี้คุณกำลังปวด คุณกำลังมีความเมื่อย ถ้าคุณรู้ซื่อๆ คือคุณรู้ว่ามันเกิดขึ้น แล้วก็ไม่ไปทำอะไรกับมัน ไม่ผลักไสมัน ไม่ไปทะเลาะวิวาทกับความปวดความเมื่อย แต่พอคุณไปผลักไสมัน กดข่มมัน คุณทุกข์ และในกระบวนการนั้นเอง พอไม่มีสติก็มักจะเผลอปรุงตัวกูขึ้นมา เป็นผู้ปวดผู้เมื่อย ในการปรุงตัวกูขึ้นมา เป็นอาการที่เรียกว่าปรุงแต่งแบบหนึ่ง ถ้ารู้ซื่อๆ ก็แค่รู้ว่าปวด แต่ไม่มีตัวกูผู้ปวด ตัวกูผู้เมื่อย
เพราะฉะนั้นคำว่า “เห็น” กับ “รู้ซื่อๆ” จะไปด้วยกัน คำว่ารู้ซื่อๆ ก็อาจจะเป็นคำอธิบายคำว่า เห็น ให้เข้าใจว่าเห็นจริงๆ เห็นที่ครูบาอาจารย์พูดหมายถึงอะไร ถ้าผิดจากรู้ซื่อๆ ก็แปลว่าไม่เห็นแล้ว เข้าไปเป็นแล้ว หลวงพ่อท่านจะมักจะไม่ได้พูดคำว่าเห็นเฉยๆ มักจะเติมหรือว่าเสริมคำว่า “ไม่เข้าไปเป็น” หลายครั้งท่านจะพูด เห็นและไม่เข้าไม่เป็น เห็นอย่าเข้าไปเป็น และบ่อยครั้งท่านจะไม่ใช้คำว่าเห็น แต่ท่านใช้คำว่าภาวะ ภาวะที่เห็น ภาวะที่ดู และไม่เข้าไปเป็น มันเป็นสภาวะไม่ใช่แค่กิริยาเท่านั้น มันเป็นสภาวะ
ซึ่งเหตุนี้มีคำถามต่อไปว่า เป็น คืออะไร หมายความว่าอย่างไร ความหมายง่ายๆ คือเมื่อมีอารมณ์ใดเกิดขึ้นก็เข้าไปในอารมณ์นั้น เหมือนกับเราเห็นเสา ถ้าเห็นเสาก็ไม่มีอะไร แต่คนส่วนใหญ่จะเข้าไปกอดเสาเอาไว้ จะโผเข้าไปกอดเสาเอาไว้ คือไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอารมณ์นั้น ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์โกรธ อารมณ์เศร้า เข้าไปกอดมันเอาไว้ แบบนี้เรียกว่าเข้าไปในอารมณ์นั้น
หลวงพ่อคำเขียนบางทีท่านเปรียบว่าเหมือนกับคนที่อยู่ในน้ำ คนที่อยู่ในน้ำคือกระโจนไปในน้ำ เห็นน้ำอยู่กระโจนเข้าไปเลย คนที่กระโจนเข้าไปในอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์บวกอารมณ์ลบ นั่นก็คือเป็น แต่ถ้าเห็น คืออยู่บนฝั่ง ท่านใช้คำว่าคนที่ขึ้นฝั่งหรืออยู่บนฝั่ง เมื่อคุณอยู่บนฝั่งคุณก็เห็นกระแสน้ำไหล มันก็ไหลของมันไป มันจะเอาหมาเน่าลอยน้ำก็ช่างมัน มันจะมีเรือสำราญลอยผ่านไปก็เป็นเรื่องของมัน แต่ถ้าเข้าไปเป็นคือกระโจนเข้าไปในน้ำ อาจจะเข้าไปเพื่อที่จะยึดหรือลากเรือสำราญให้มาเป็นของเรา หรือพยายามผลักไสหมาเน่าลอยน้ำให้มันผ่านไปไกลๆ ทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะยึดเอาเข้ามาหรือผลักไสออกไปก็หนีไม่พ้นการที่เข้าไปในอารมณ์นั้น
เป็น ยังมีความหมายว่า ยึดมั่นสำคัญหมายว่า เป็นเรา เป็นของเรา แทนที่จะเห็นความโกรธก็เป็นผู้โกรธ แทนที่จะเห็นความปวดความเมื่อยก็เป็นผู้ปวดผู้เมื่อย อย่างนี้เรียกว่าไปยึดมั่นสำคัญหมายว่า เป็นเราเป็นของเรา ทีนี้มีความคิดเกิดขึ้นแทนที่จะเห็นมันเฉยๆ ก็ไปยึดว่านี่คือความคิดของเรา เราเป็นผู้คิด และเมื่อเป็นความคิดของเราใช่ไหม ใครที่วิจารณ์ความคิดนี้ก็จะโกรธ เพราะเหมือนกับว่ากำลังวิจารณ์เราเพราะความคิดมันเป็นเรา และที่ผู้คนทุ่มเถียงกันทะเลาะเบาะแว้งกันบ่อยครั้งเพราะความคิด แต่ความคิดไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือการที่เราไปยึดมั่นว่าความคิดของกู พอความคิดของกูและเธอไม่เห็นด้วยก็กลายเป็นปฏิปักษ์ จะเป็นลูกจะเป็นพ่อเป็นแม่แต่คิดไม่เหมือนเราหรือวิจารณ์ความคิดของเรา ก็เกิดความโกรธ เกิดการทะเลาะเบาะแว้งขึ้นมา
เป็น ยังมีความหมายว่า ปรุงตัวกูขึ้นมาเป็นผู้เสวยอารมณ์นั้น อารมณ์หรือผัสสะที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะดีใจเสียใจ พอมันเกิดขึ้นก็เป็นธรรมดาของมัน ความโกรธเกิดขึ้นเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง แต่พอ เป็น มันก็จะปรุงตัวกูขึ้นมา เป็นผู้โกรธ เป็นผู้ปวดผู้เจ็บ ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า เห็น กับ เป็น จะแตกต่างกัน เห็น จะไม่มีการยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา จะไม่ใช่เป็นการโจนเข้าไปในอารมณ์นั้น ฉะนั้นถ้า เห็น จริงๆแล้ว จะไม่มีอาการยึด ไม่มีอาการยึดมั่นสำคัญหมาย มีความโกรธเกิดขึ้นเห็นความโกรธนั้น ความโกรธสักพักก็เลือนหายไป
ปัญหาของผู้คนคือ พอความโกรธเกิดขึ้นก็ไปยึดว่าความโกรธเป็นฉันเป็นของฉัน เป็นกูเป็นของกู การยึดที่ทำให้ทุกข์ เหมือนกับมีกองไฟอยู่ข้างหน้า แทนที่จะเห็นกองไฟ ถ้าเราเห็นกองไฟอยู่ข้างหน้า เราทุกข์ไหม เราไม่ทุกข์ แต่มันทุกข์เมื่อเราโจนเข้าไปในกองไฟ กองไฟนั้นอาจจะเปรียบได้กับความโกรธ เราเห็นความโกรธมันไม่ทุกข์ ประเดี๋ยวความโกรธก็เลือนหายไป เพราะไม่มีการไปเติมเชื้อเติมฟืนให้มัน แต่ส่วนใหญ่พอความโกรธเกิดขึ้น ไม่ใช่เห็น เข้าไปเป็น เหมือนกับโจนเข้าไปในกองไฟนั้น ก็ร้อน ก็ปวด ความโกรธไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือการที่ไปยึดมันต่างหาก หรือเข้าไปเป็นมัน
อาตมายกตัวอย่างง่ายๆ ก็ไม่รู้ง่ายหรือไม่ เคยมีคนถามหลวงปู่ดุลย์ อตุโล ว่าหลวงปู่มีโกรธไหม เขาเชื่อว่าหลวงปู่ดุลย์เป็นพระอรหันต์ แทนที่ท่านจะบอกว่าไม่โกรธ ท่านตอบว่า มีแต่ไม่เอา เข้าใจไหมมีแต่ไม่เอา อย่างนี้แสดงว่าท่านเห็น เมื่อความโกรธเกิดขึ้นท่านเห็นมัน แต่เมื่อไม่ไปยึดว่าเป็นเราเป็นของเรา ไม่ไปเอามันก็ไม่เป็นปัญหา มันก็เลือนหายไปเพราะไม่มีการปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นให้เราเห็นความแตกต่างระหว่าง เห็น กับ เป็น ว่าแตกต่างกันอย่างไร
ตัวอย่างหนึ่งที่อาจจะอธิบายให้เห็นชัดขึ้น เคยมีนักปฏิบัติคนหนึ่งเป็นนักศึกษา เป็นคนสาวมาปฏิบัติที่สุคโตฟังคำบรรยายของหลวงพ่อไปสองสามวันแล้วก็ไปปฏิบัติ วันหนึ่งมากราบถามหลวงพ่อคำเขียนว่า หลวงพ่อทำอย่างไรดี หนูเครียดเหลือเกิน หลวงพ่อแทนที่จะตอบท่านถามถามกลับไปว่าให้ถามใหม่ ท่านบอกให้นักศึกษาคนนี้ถามใหม่ ยังถามไม่ถูก แกนั่งคิดสักพักแล้วแกก็พูดขึ้นมาว่า หนูเห็นความเครียดมากเหลือเกิน ต่างกันไหมระหว่างหนูเครียดกับหนูเห็นความเครียด หนูเครียดคือหนูเป็นผู้เครียด นั่นคือ เป็น หนูเห็นความเครียด นั่นคือ เห็น และถ้าเห็น จะรู้ซื่อๆ คือไม่เข้าไปเป็นผู้เครียด
อาจารย์ประสงค์ ปริปุณโณ ท่านเคยเล่าว่า เคยไปบรรยายที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง คงจะเป็นโรงเรียนประถม บรรยายเสร็จก็เจอเด็กอายุ 8 ขวบ เด็กคนนี้ท่าทางฉลาด อาจารย์ประสงค์ก็คุยกับเด็ก สนทนากันสักพักก็พอใจ บอกว่าหนูเป็นเด็กฉลาด หนูเป็นเด็กดี หลวงพ่อจะให้รางวัลหนู เสร็จแล้วก็หยิบลูกประคำขึ้นมาจากย่าม เด็กพอเห็นเด็กก็ร้องอู้ฮู อาจารย์ประสงค์ท่านก็ไวท่านถามเลย หนูร้องอู้ฮู หนูเห็นอะไร เด็กตอบว่าอย่างไรทราบไหม เด็กบอกว่าหนูเห็นข้างในมันดีใจค่ะ ถ้าถามผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่บอกผมดีใจหนูดีหรือดิฉันดีใจ แต่เด็กตอบว่าหนูเห็นข้างในมันดีใจค่ะ นั่นแปลว่าอะไร นั่นเห็น เห็นความดีใจ ไม่ใช่เป็นผู้ดีใจ อาจารย์ประสงค์ถามต่อว่า แล้วหนูทำอย่างไรกับมัน เด็กตอบทันทีว่าหนูไม่ทำอะไรกับมันเลยค่ะ หนูแค่ดูมันเฉยๆ ตอนนี้ข้างในมันเบาลงแล้ว ความดีใจมันลดลงแล้ว คุณเห็นไหมนี่คือ รู้ซื่อๆ คืออย่างนี้ คือไม่ต้องทำอะไรกับมัน เด็กนี้แม้กระทั่งความดีใจเด็กก็เห็น ไม่ใช่ว่าดีใจก็เป็น แต่จะเห็นก็ต่อเมื่อทุกข์ใจนั้นไม่ใช่
บางคนบอกว่าถ้าทุกข์ใจขอ เห็น พอ ถ้าดีใจขอ เป็น ได้ไหม อย่างนั้นไม่ได้ ถ้าคุณเป็นผู้ดีใจคุณเจอความเสียใจคุณก็เป็นใช่ไหม เหมือนคนที่เขาชมเราดีเราก็ดีใจ ถ้าเขาไม่ชมเราหรือเขาด่าเราเราก็ทุกข์ ไม่ใช่ว่าเขาชมเราแล้วเราดีใจ พอเขาด่าเราแล้วเราไม่เสียใจ แบบนี้เป็นไปไม่ได้ มันไปด้วยกัน เมื่อคุณชมแล้วดีใจคุณก็ต้องทุกข์เมื่อเขาไม่ชมหรือเมื่อเขาตำหนิ ฉะนั้นเด็กคนนี้แม้กระทั่งความดีใจแกก็เห็น และแกก็ทำอย่างที่ครูบาอาจารย์ อย่างเช่นหลวงพ่อคำเขียนพูดคือ รู้ซื่อๆ ไม่ต้องทำอะไรกับมัน แล้วเด็กบอกว่าพอไม่ทำอะไรกับมัน มันก็สงบลง มันก็เบาลง ไม่ใช่แค่ความดีใจที่เป็นอย่างนั้น ความเสียใจ ความโกรธ ก็เป็นอย่างนั้น คือถ้าคุณเห็นมัน มันก็จะเบาลง สงบลง ตรงข้ามถ้าคุณไปกดข่มมันหรือคุณไปเคลิ้มคล้อยตามมัน จะเหมือนกับไปต่ออายุให้มัน คราวนี้ถ้าเราเห็นอารมณ์ที่เป็นลบเกิดขึ้นจะช่วยทำให้หลุดจากอารมณ์นั้น ที่หลุดไม่ใช่เพราะอะไร คือไม่ไปยึดมัน ไม่ไปเอามัน มันก็จะหลุด การเห็นมีอานุภาพ เวลาเศร้า เวลาเสียใจ คุณไม่ต้องไปกดข่มความเศร้า คุณก็เพียงแต่ให้เห็นและรู้ทัน
มีผู้หญิงคนหนึ่งแกมาพบว่าสามีที่อยู่กันมา 10 กว่าปีนอกใจไปมีกิ๊ก เธอเคยมีความศรัทธามีความไว้วางใจผู้ชายคนนี้มาก แล้วเคยรู้สึกว่าโชคดีที่ได้ผู้ชายคนนี้มาเป็นสามี แต่พอมาพบความจริงเข้าเธอโกรธมาก ขึ้นมึงขึ้นกูกับผู้ชายคนนั้น รู้สึกเสียดายเวลา 10 กว่าปีที่อยู่กับผู้ชายคนนี้ แต่ในที่สุดเธอตัดใจได้เธอก็เลิกลาเขาไป เธอยังดีใจยังแปลกใจเลยว่าไม่ได้กลุ้มอกกลุ้มใจอะไรมากกับการที่ต้องหย่าร้างกับผู้ชายคนนี้ ยังชมตัวเองเลยว่าเราปฏิบัติธรรมได้ดี แต่หลังจากนั้นไม่นานไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม 7 วัน พอเข้าคอร์สแค่วันแรกเธอก็ร้อนรุ่มเลย เพราะว่าหวนคิดถึงผู้ชายคนนั้น รู้สึกโกรธ รู้สึกเจ็บแค้น รู้สึกว่าเขาทำลายช่วงเวลาดีๆของเธอไป รู้สึกเจ็บปวดมาก ร้อนรุ่มทั้งวัน วันที่ 2 ก็ยังเหมือนเดิม ที่เคยคิดว่าเราทำใจได้ ที่จริงไม่ใช่ ตอนที่ทำใจได้เพราะว่ามีโน่นนี่ให้ทำใจก็เลยลืมเรื่องนั้นไป แต่พอใจว่างไม่มีอะไรให้ทำก็ไปหวนคิดเรื่องนี้ วันที่ 2 ก็แล้ว วันที่ 3 ก็ยังร้อนรุ่ม รู้สึกแย่มากเลย ไม่รู้ว่าจะอยู่ปฏิบัติได้ครบ 7 วันหรือไม่ วันที่ 4 เธอก็ร้อน
แต่มีช่วงหนึ่งเธอเดินจงกรม เดินจงกรมเอามือประสานไว้ที่ข้างหน้า เดินไปสักชั่วโมงหนึ่งก็เมื่อย พอเมื่อยเธอก็ปล่อยมือ พอปล่อยมือเสร็จก็สบาย ความรู้สึกสบายที่เกิดขึ้นทำให้เธอฉุกคิดขึ้นมาเลยว่า มันทุกข์เพราะยึด และในตรงนั้นเองจิตเห็นเลย สติเห็นจิตที่ไปยึดเอาเรื่องที่ผ่านไปแล้ว คือเรื่องผู้ชายคนนั้น ครุ่นคิดแต่เรื่องที่ผ่านไปแล้ว แล้วก็ไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวาง พอเห็นความยึดติดที่ผูกพันกับเรื่องในอดีต พอเห็นแล้วรู้ พอรู้มันวางเลย แค่รู้เท่านั้นมันวางเลย พอวางเสร็จจิตโปร่งโล่งเบาสบายเลย เธอไม่ได้กดข่มความคิดเกี่ยวกับอดีตสามี เพียงแต่รู้ทันว่าใจไปเผลอแบก พอรู้ทันมันจะวางไปเอง
เพราะฉะนั้นการที่เห็น ช่วยทำให้ใจโปร่งเบาสบายได้ พูดอีกอย่างคือทำให้ใจสงบ สิ่งนี้เป็นอานิสงส์หรือประโยชน์ของการเห็น ไม่ใช่แค่ทำให้ใจสงบ แต่สามารถจะนำไปสู่การเกิดปัญญาได้ เพราะว่าเมื่อเราเห็นความคิดและอารมณ์ เห็นอาการที่เกิดขึ้นกับกายและใจอยู่เนืองๆ จะเห็นความจริงของมัน หรือที่บางทีครูบาอาจารย์พูดว่า ความจริงแสดงตัวออกมา ที่จริงความจริงแสดงตัวออกมาอยู่ตลอดเวลา กายและใจแสดงความจริงออกมาให้เราอยู่ตลอดเวลา แต่เพราะเราไม่เห็น เพราะเราเข้าไปเป็น แต่เมื่อใดก็ตามที่เราเห็น เห็นในที่นี้คือมีสติเห็น ความจริงของกายและใจก็จะปรากฎให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งเข้าใจความจริงของรูปของนาม ของกายและใจ
ผู้ปฏิบัติหลายคนจะพบว่า เห็น พอปฏิบัติถึงจุดหนึ่งเกิดพัฒนา เกิดปัญญาขึ้นมาก็ใช้คำว่า เห็นรูปนาม เห็นรูปนามหมายความว่าเห็นรูปและนามแยกกัน แต่ก่อนไม่เห็น เวลาเดินก็รู้สึกแต่ว่าเราเดิน เวลาคิดก็รู้สึกว่าเราคิด หรือสำคัญมั่นหมายว่าเราคิด เวลาโกรธก็สำคัญมั่นหมายว่าเราโกรธ มีตัวเราตลอดเวลา เป็นผู้เดิน เป็นผู้คิด เป็นผู้โกรธ แต่พอมาดูกายดูใจ จะเห็นเลยว่า กายก็อันหนึ่ง ใจก็อันหนึ่ง รูปก็อันหนึ่ง นามก็อันหนึ่ง เวลาเดินรูปมันเดิน เวลาคิดใจมันคิด ไม่ใช่เราคิด ไม่ใช่เราเดิน
หลวงพ่อคำเขียนใช้คำว่ามันถลุงมันย่อย เวลาถลุงแร่มันจะทำให้สินแร่มันหลุดออกมาเป็นส่วนๆ ไม่ใช่เป็นก้อนเป็นดุ้น การเจริญสติเป็นการที่ทำให้ถลุง เห็นตัวเราที่คิดว่าเป็นดุ้นเป็นก้อน ให้เห็นเป็นรูปเป็นนาม และตรงนั้นก็จะรู้ว่ามันแยกกัน และเพราะเช่นนั้นจะไม่เห็นเลยว่ามีตัวกูอยู่เบื้องหลัง มีแต่รูปกับนาม มีแต่กายกับใจ และถ้าดูต่อไปก็จะเห็นว่า ใจก็แยกออกมาเป็นส่วนๆเหมือนกัน จิตก็อันหนึ่งความคิดก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่งอารมณ์ก็อันหนึ่ง ภาษาพระเรียกว่าเจตสิก จิตกับเจตสิกคนละอันกัน เวทนาก็อันหนึ่งกายก็อันหนึ่ง จะเห็นเลยว่าขันธ์ 5 แยกออกเป็นส่วนๆ กายก็อันหนึ่งเวทนาก็อันหนึ่ง
อย่างคุณตอนนี้ถ้าคุณปวดเมื่อย ถ้าคุณดูด้วยสติคุณก็จะเห็นว่า ร่างกายก็อันหนึ่งความปวดก็อันหนึ่ง ไม่ได้อยู่ด้วยกันแต่อิงอาศัยกัน หรือความปวดเกิดขึ้นที่กายความโกรธเกิดขึ้นที่ใจ แต่ไม่ใช่เป็นตัวเดียวกับใจหรือจิต มันแยกกัน แล้วตรงนี้ที่บางคนเขาเรียกกันว่าเห็นการแยกขันธ์ แล้วตรงนี้ทำให้ความยึดมั่นในตัวกู หรือความสำคัญมั่นหมายว่ามีตัวกูจืดจางบรรเทาเบาบางลง ตรงนี้ที่เรียกว่าเกิดปัญญา และนอกจากเห็นความจริงของกายและใจในลักษณะที่ว่ามาแล้ว ยังเห็นลักษณะของกายและใจ เห็นความจริงว่าเป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ตรงนี้แหละที่ทำให้เกิดปัญญา
หลวงพ่อคำเขียนท่านพูดว่า เมื่อเราเจริญสติแล้วก็เห็นบ่อยๆ รู้ซื่อๆ ในที่สุดก็จะเห็นไตรลักษณ์ ท่านพูดว่าเห็นไตรลักษณ์อย่างเดียวก็ผ่านได้ตลอด และไปสู่ความสิ้นทุกข์ได้ เพราะว่าเมื่อมีปัญญาเห็นไตรลักษณ์ก็จะทำให้ปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น และเมื่อไม่ยึดไม่ยึดมั่นถือมั่นก็เรียกว่าพ้นทุกข์ได้ ยังแก่ ยังเจ็บ ยังต้องสูญเสีย ยังต้องเจอกับความพลัดพราก แต่ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องที่เกิดกับกาย เกิดขึ้นกับวัตถุสิ่งของ เกิดขึ้นกับผู้คน แต่ไม่ทำให้ใจเป็นทุกข์ เพราะว่าจิตไม่ได้ยึดมั่นไม่ได้เกาะเกี่ยวว่าเป็นเราเป็นของเรา
เพราะฉะนั้นสรุปคือ เห็นจะเห็นได้สองอย่าง เห็นด้วยสติ เมื่อสักครู่อาตมายกพุทธภาษิตว่า “ผู้ใดเห็นธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าในที่นั้นๆ อย่างแจ่มแจ้ง ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน เขาควรพอกพูนอาการเช่นนั้นไว้” ความหมายคือการเห็นด้วยสติ ธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า จะเป็นความคิด จะเป็นอารมณ์ จะเป็นความโกรธ จะเป็นความเกลียด คือธรรม แล้วคุณไม่ต้องทำอะไรกับมัน คุณแค่เห็นธรรม เห็นธรรมเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน คือจิตตั้งมั่น ไม่ไปเคลิ้มคล้อยแล้วก็ไม่ไปผลักไส ทำอย่างนี้บ่อยๆต่อไปจะ เห็นด้วยปัญญา เห็นด้วยปัญญาอย่างเช่น อาตมายกตัวอย่างเมื่อสักครู่ตอนต้นว่า “เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ สังขารทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ที่ตนหลง นั่นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพาน อันเป็นธรรมหมดจด” คือ เมื่อด้วยเห็นด้วยปัญญา ก็จะเข้าไปสู่กระแสของพระนิพพาน หรือการพ้นทุกข์ได้
ฉะนั้นให้เข้าใจเวลาครูบาอาจารย์พูดคำว่าเห็น บางทีท่านหมายความว่า เห็นด้วยสติ บางครั้งท่านหมายความว่า เห็นด้วยปัญญา เห็นด้วยสติคือ เห็นอาการที่เกิดขึ้นกับกายและใจ รู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์ ซึ่งเมื่อรู้ทันแล้วมันจะวาง เมื่อวางก็เกิดความสงบ ตอนนั้นจิตที่รุ่มร้อนทุกข์ก็จะคลี่คลายบรรเทาลง แบบนี้เรียกว่าหมดทุกข์เป็นคราวๆ ไป แต่ถ้าเห็นด้วยปัญญาและเป็นปัญญาที่แจ่มแจ้งในไตรลักษณ์ จิตจะเป็นอิสระอย่างแท้จริง แล้วก็หมดทุกข์อย่างสิ้นเชิง เพราะว่ากิเลสไม่มีที่ตั้ง ตัณหาไม่มีที่ตั้ง เพราะฉะนั้นเห็นด้วยสติทำให้พ้นทุกข์เป็นคราวๆ แต่เห็นด้วยปัญญาสามารถทำให้พ้นทุกข์ได้อย่างถาวร
อาจารย์ประมวลได้สรุปไว้อย่างดีเลยเมื่อสักครู่นี้ว่า การพ้นทุกข์มี 2 แบบ พ้นทุกข์เล็กๆน้อยๆ กับพ้นทุกข์ในสังสารวัฏ พ้นทุกข์เล็กๆน้อยๆ อาจจะหมายถึงการพ้นทุกข์เป็นคราวๆ ไป พวกเรายังสามารถที่จะพ้นทุกข์เป็นคราวๆ ไปได้ เมื่อเราหมั่นที่จะเห็นมัน ใหม่ๆ อินทรีย์เรายังไม่แก่กล้าเราก็เห็นด้วยสติ แต่เมื่อเราปฏิบัติไปเราก็จะเห็นด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นถ้าพูดอย่างนี้ก็จะเข้าใจ เมื่อหลวงพ่อคำเขียนท่านบันทึกไว้ในตอนที่ท่านอาพาธว่า “เห็นทุกข์ก็พ้นทุกข์” ทุกข์ตัวแรกอาจจะหมายถึงทุกขเวทนาก็ได้ เช่นคุณกำลังปวดคุณกำลังเมื่อย พอคุณเห็นทุกข์เห็นความปวดความเมื่อย จิตคุณก็ไม่ทุกข์จิตคุณก็จะสงบ กายยังปวดอยู่กายยังเมื่อยอยู่ แต่จิตคุณสงบ
อาจารย์กำพล ท่านบอกว่าจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้พ้นจากความทุกข์ เวลาพ้นทุกข์จากความพิการก็ตอนที่เจริญสติพลิกมือไปพลิกมือมา แล้วก็เห็นเลยว่าที่ทุกข์คือกายทุกข์แต่ใจไม่ได้ทุกข์ด้วย ที่พิการคือกายพิการแต่ใจไม่ได้พิการด้วย เมื่อเห็นว่ากายพิการแต่ไม่ใช่กูพิการ จิตก็ลาออกจากความทุกข์เลย ยังพิการอยู่แต่ใจไม่ทุกข์แล้ว แบบนี้เรียกว่าเห็นทุกข์ตัวแรก คำว่าเห็นทุกข์ก็พ้นทุกข์ ทุกข์ตัวแรกอาจจะหมายถึงทุกขเวทนาก็พ้นทุกข์ พ้นทุกข์แบบนี้อาจจะเป็นการพ้นทุกข์เป็นคราวๆก็ได้ เช่นเห็นความปวดความเมื่อยแล้วจิตก็ไม่ไปยึดมัน กายทุกข์กายปวดแต่ใจไม่ปวด แบบนี้เรียกว่าพ้นทุกข์ในความหมายหนึ่ง
ในความหมายที่สองคือพ้นทุกข์ ทุกข์ตัวแรกเห็นทุกข์แต่ไม่พ้นทุกข์ เห็นทุกข์ยังหมายถึงการที่เห็นทุกข์ในไตรลักษณ์ ทุกข์ในไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นว่าสิ่งทั้งปวงล้วนแล้วแต่ทุกข์ทั้งนั้น คือมันถูกบีบคั้นด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ถูกบีบคั้นด้วยอำนาจของความเกิดและความดับ สิ่งนี้เราเรียกว่าทุกข์ในไตรลักษณ์ ซึ่งเกิดขึ้นได้กับสิ่งที่ไม่มีชีวิตก็ได้ เกิดขึ้นกับสิ่งที่เป็นนามธรรมก็ได้ เช่นความคิด หรือความสุข ก้อนหิน ต้นไม้ ล้วนแล้วแต่เป็นทุกข์ในความหมายที่ว่าทุกข์ในไตรลักษณ์ เมื่อเห็นทุกข์ในไตรลักษณ์ก็จะพ้นทุกข์ ทุกข์ตัวที่สองหมายถึงทุกข์ในอริยสัจ 4 เราเรียกว่าทุกขสัจจ์ เช่นความโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์ ความโทมนัส พวกนี้เป็นทุกข์ในอริยสัจ ซึ่งเราสามารถจะพ้นจากมันได้เมื่อเราเห็นแจ่มแจ้งว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ทั้งนั้น ทุกข์ในที่นี้คือทุกข์ในไตรลักษณ์ คือคำว่าทุกข์ในพระพุทธศาสนาบางทีคุณต้องแยกว่าเวลาที่ท่านพูดถึงทุกข์ ท่านพูดถึงทุกข์ในความหมายไหน หมายถึงทุกขเวทนา หมายถึงทุกข์ในอริยสัจ 4 หมายถึงทุกข์ในไตรลักษณ์
สุดท้ายปลายทางของหลวงพ่อคำเขียน ท่านต้องการจะบอกว่า เมื่อเราเห็นว่าสังขารทั้งปวงเป็นทุกข์อย่างแจ่มแจ้ง จิตก็จะพ้นทุกข์ ยังแก่ ยังเจ็บ ยังป่วย และยังต้องตาย อย่างหลวงพ่อ ใจท่านไม่ทุกข์แล้ว เพราะว่าท่านเห็นว่าสังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ และเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เวลาใครที่ศึกษาเรื่องอริยสัจ 4 จะตระหนักดีเลยว่าเวลาท่านพูดเรื่อง ทุกข์ ทุกข์ ทุกข์ ท่านจะบอกต่อไปว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ กำหนดรู้ไม่ใช่ไปเพ่งมัน ภาษาบาลีท่านใช้คำว่า ปริญญา คือรู้รอบ ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องรู้ พูดง่ายๆ แล้วคุณจะรู้ได้คุณต้องเห็นมันก่อน แต่คนส่วนใหญ่เวลาเจอทุกข์แล้วเป็นทุกข์ ไม่ได้เห็นทุกข์
ทุกข์มีประโยชน์ ถ้าเราเห็นมัน แต่มันจะกลายเป็นโทษทันที ถ้าเราเป็นมัน เป็นทุกข์ หรือเป็นผู้ทุกข์ ฉะนั้นชาวพุทธเราไม่กลัวทุกข์ เพราะเรามีเครื่องมือที่จะรับมือกับมัน คือรู้ทันมัน เห็นมัน ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยกลัวทุกข์ เวลาไปอธิษฐานก็ขอให้พบแต่ความสุข ความเจริญ ไม่เจ็บ ไม่ป่วย ไม่มีคำว่าไม่มี ซึ่งเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ต้องเจอคำว่าพร่อง เพราะคำว่าทุกข์ แปลว่าพร่อง ชาวพุทธเราไม่กลัวทุกข์ เพราะเรารู้ว่าทุกข์สามารถจะสอนธรรมให้กับเราได้ ทุกข์เป็นประตูไปสู่นิโรธ พระพุทธเจ้าจึงให้ทุกขสัจจ์เป็นข้อแรกในอริยสัจ 4 เพราะว่าถ้าผ่านตรงนี้มาได้ก็จะเข้าใจเรื่องสมุทัย แล้วก็จะเข้าถึงนิโรธได้ด้วยการเจริญให้องค์มรรคให้มากขึ้น
ทุกข์มีประโยชน์ แต่จะมีประโยชน์ได้คุณต้องเห็นทุกข์ ไม่ใช่เป็นทุกข์ แล้วชาวพุทธเราอย่าไปกลัวทุกข์ เรารู้วิธีที่จะเห็นทุกข์ แล้วเราก็จะสามารถใช้ทุกข์ให้เป็นประโยชน์ได้ เห็นทุกข์ก็จะถึงธรรม เราเคยได้ยินที่ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า “ทุกข์ไม่ได้มีไว้เป็น ทุกข์มีไว้เห็น” เพราะฉะนั้นเวลาที่คุณปวด คุณเมื่อย ก็อย่าไปตีโพยตีพายโอดโอย ลองมองว่านี่คือโอกาสที่เราจะได้เห็นทุกข์ ที่เราจะได้เจริญปัญญา ที่พูดมาทั้งหมดก็จะเห็นเลยว่า เห็นกับเป็น มันแยกกันคนละอันกันตรงข้ามกันเลย เห็นคู่กับรู้ เป็นคู่กับหลง และเมื่อรู้แล้วก็จะหลุดก็จะวาง แต่ถ้าหลงแล้วก็จะยึดมากขึ้น เวลาคุณโกรธแล้วคุณจมไปในความโกรธ เวลาคุณเศร้าคุณจมไปในความเศร้า คุณยึดความเศร้าไว้คุณยิ่งจมไปในความเศร้ามากขึ้น เวลาคนเศร้าเพื่อนชวนไปเที่ยวไม่ไป จะขอนั่งเจ่าจุก เวลาเศร้าอยากฟังเพลงอะไร อยากฟังเพลงสนุกไหม อยากฟังเพลงเศร้าใช่ไหม คือว่ายิ่งเศร้าก็ยิ่งยึด แล้วก็ยิ่งยึดก็ยิ่งจมไปในความเศร้า แล้วก็ยิ่งทุกข์มากขึ้น โกรธแล้วก็หลงในความโกรธก็ยิ่งจมลงไปในความโกรธ แล้วก็ยิ่งรุ่มร้อน แต่ถ้าคุณเห็น คุณรู้ทัน คุณก็จะหลุดได้
อาตมาได้พูดเรื่อง เห็น คือเห็นความคิด เห็นอารมณ์ อยากจะเน้นตัวหนึ่งซึ่งเราควรจะฝึกให้ได้คือ เห็นเวทนา เห็นเวทนาคือมื่อมีความปวดเกิดขึ้นก็ไม่เป็นผู้ปวด ไม่เป็นผู้เสวยเวทนา เห็นเวทนาเห็นความปวดมันเกิดขึ้น หลวงพ่อคำเขียนท่านสอนพวกเราได้มากเลยในช่วงเวลาที่ท่านปวดเวลาที่ท่านเจ็บป่วย ตอนที่ท่านป่วยครั้งแรกที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ท่านมีทุกขเวทนามาก ลูกศิษย์ลูกหาเห็นท่านแล้วก็ร้องไห้เสียใจ แต่หลวงพ่อท่านสงบ ตอนหลังพอท่านออกมาท่านก็บอกลูกศิษย์ว่า ความปวดไม่ลงโทษเรา มันไม่เท่าไรหรอก แต่ถ้าเป็นผู้ปวดสิมันลงโทษเรา ความปวดมีเอาไว้เห็นเอาไว้ดู
เคยมีตอนที่ท่านปวดตอนที่ท่านป่วย หมอเคยมากดที่ท้องท่าน เพราะว่าหมอได้พบว่าเนื้อมะเร็งสงสัยกระจายไปที่ตับอ่อน ท่านก็ปวดมาก หมอถามหลวงพ่อปวดไหม หลวงพ่อบอกปวดเต็มร้อยเลยปวดเกินร้อย แล้วหมอถามว่าแล้วทำไมหลวงพ่อไม่ร้อง หลวงพ่อบอกว่าปวดแล้วจะร้องทำไมให้มันขาดทุน ปวดเป็นเรื่องของกาย แต่ถ้าร้องเป็นเรื่องของความทุกข์ทรมาน คุณหมอสุมาลีพูดดี ปวดเป็นทุกขเวทนา ทุกขเวทนาเป็นเรื่องของกาย ทุกข์ทรมานเป็นเรื่องของจิต ทุกขเวทนาเป็นความจริง แต่ทุกข์ทรมานเป็นเรื่องการปรุงแต่ง ปรุงแต่งว่ามีกูเป็นผู้ปวด ฉะนั้นหลวงพ่อท่านสอนไว้เลยว่า ให้ตระหนักว่าความปวดเป็นเพียงแค่อาการเอาไว้ดู ไม่ใช่เอาไว้เป็น แล้วท่านก็ทำให้เราดู ท่านไม่ใช่แค่พูด ไม่ว่าจะเป็นอาการป่วยครั้งแรกที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองปี 2549 หรือป่วยครั้งที่สองซึ่งเป็นการป่วยครั้งสุดท้ายของท่านปีที่แล้ว ท่านแสดงให้เห็นเลยว่าตลอดเวลา ท่านดูตลอดเวลา ท่านเห็นตลอดเวลา ความปวดที่เกิดขึ้น แต่ไม่เป็นผู้เป็น
คราวนี้เมื่อพูดเรื่องเห็นกับเป็นแล้ว ต้องหนีไม่พ้นต้องพูดคำว่า “ไม่เป็นอะไรกับอะไร” หมายความว่าอย่างไร ในบันทึกของท่านยามอาพาธ โชคดีของเราซึ่งไม่รู้ว่าเป็นโชคดีหรือไม่ คือการที่ท่านพูดไม่ได้ทำให้ท่านเขียนบันทึกมาก แล้วก็ทำให้เราก็จะรู้ได้ว่าเวลาท่านพูดว่า ไม่เป็นอะไรกับอะไร ท่านหมายความว่าอย่างไร ในบันทึกยามอาพาธของท่าน มีหลายตอนที่ท่านขยายความว่า ไม่เป็นอะไรกับอะไร คือไม่เข้าไปเป็นอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับรูปและนาม ไม่เข้าไปเป็นอะไรกับอาการที่เกิดขึ้นกับกายและใจ สิ่งที่เกิดขึ้นกับรูปและนามอาการที่เกิดขึ้นกับกายและใจได้แก่อะไรบ้าง เช่น ความปวด อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ไม่เป็นอะไรกับมัน คือไม่ไปยึดมั่นว่าเป็นเราเป็นของเรา ปวดก็เป็นเรื่องความปวดไป แต่ไม่ใช่เราปวด ไม่ใช่ความปวดเป็นของเรา
ในความหมายนี้ไม่เป็นอะไรกับอะไร เป็นตัวมรรคก็ได้ เป็นตัวมรรคคืออย่าไปยึดมั่นกับมัน อย่าไปยึดมั่นว่ามันเป็นเราเป็นของเรา แต่ในอีกความหมายหนึ่ง เป็นตัวผลด้วย ท่านเขียนไว้ว่า การไม่เป็นอะไรกับอะไรคือที่สุดแห่งทุกข์ทั้งปวง เพราะฉะนั้นเวลาที่ท่านพูดว่าไม่เป็นอะไรกับอะไร มีความหมายในตัวมรรค หรือวิธีการที่จะทำให้ไม่ทุกข์ คือไม่ไปยึดอาการที่เกิดขึ้นกับกายและใจ ว่าเป็นเราเป็นของเรา และผลที่เกิดขึ้นคือ ไม่เป็นอะไรกับอะไร คือพ้นทุกข์ หรือเข้าถึงที่สุดแห่งทุกข์
อย่างไรก็ตามอาตมาคิดว่า คำว่าไม่เป็นอะไรกับอะไรยังมีอีกความหมายหนึ่ง ซึ่งท่านอาจจะพูดเป็นนัยๆ นอกจากหมายความที่ว่าไม่ไปยึดมั่น ไม่ไปยึดอาการที่เกิดขึ้นกับกายและใจ ว่าเป็นเราเป็นของเรา หรือนอกจากหมายถึงการที่ไม่ทุกข์หรือถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว ยังมีความหมายอีกแง่หนึ่งคือการที่ท่านมองว่า หมายถึงการที่ไม่สำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่ ไม่สำคัญมั่นหมายกับภาวะใดๆ ว่าฉันเป็นเจ้าของภาวะนั้น พูดอย่างภาษาธรรมคือ ไม่มีภพ ไม่มีชาติ ความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นนั่นเป็นนี่ ไม่ว่าจะเป็นพระ ไม่ว่าจะเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นคนดี แบบนี้สามารถจะทำให้เกิดทุกข์ได้ เป็นอะไรก็ทุกข์ทั้งนั้น
เคยมีคนถามพระพุทธเจ้าว่า เห็นพระองค์เดินอย่างสงบ มีสง่า ถามว่าท่านเป็นเทวดาหรือ พระพุทธเจ้าตอบว่า เปล่า ไม่ได้เป็นเทวดา ท่านเป็นคนธรรพ์หรือ คนธรรพ์เป็นเทวดาชนิดหนึ่ง พระพุทธเจ้าก็ปฏิเสธ ท่านเป็นยักษ์หรือ พระพุทธเจ้าก็ปฏิเสธ พราหมณ์ก็เลยถามไปว่าท่านเป็นมนุษย์ใช่ไหม พระพุทธเจ้าก็ปฏิเสธ พราหมณ์ก็เลยงง ตกลงพระพุทธเจ้าเป็นอะไร พระพุทธเจ้าไม่เป็นอะไรเลย แล้วพระองค์อธิบายขยายความว่า “กิเลสที่จะทำให้พระองค์เป็นนั่นเป็นนี่ไม่มีแล้ว แต่ถ้าจะเรียกพระองค์ก็เรียกพระองค์ว่า พุทธะ” คือพระพุทธเจ้าพระองค์ไม่ได้สำคัญมั่นหมายว่าพระองค์เป็นอะไร ในสายตาของลูกศิษย์ท่านเป็นพระบรมศาสดา ในสายตาชาวพุทธท่านเป็นพระพุทธเจ้า ในสายตาของญาติท่านอาจจะเป็นอดีตเจ้าชายสิทธัตถะ แต่จริงๆแล้วพระองค์ไม่เป็นอะไรเลย เพราะว่ากิเลสที่จะทำให้ยึดมั่นสำคัญหมาย เป็นนั่นเป็นนี่ไม่มีแล้ว คือไม่มีภพไม่มีชาติ
เป็นอะไรก็ทุกข์ทั้งนั้น เป็นพ่อก็ทุกข์เป็นแม่ก็ทุกข์ เวลาสอนเวลาแนะนำลูก ลูกไม่ฟังลูกเถียง ไม่ต้องเถียงลูกแค่ไม่เห็นด้วยแย้งขึ้นมา พ่อแม่ทุกข์เลย ฉันเป็นพ่อฉันเป็นแม่ทำไมมาพูดกับพ่อแม่แบบนี้ เป็นพระบางทีโยมมานั่งแล้วเอาขายื่นมาที่พระก็จะโกรธ หรือมาแล้วไม่กราบ หรือมาแล้วไม่เรียกพระอาจารย์ โกรธเลย สำคัญมั่นหมายว่าเป็นพระอาจารย์ก็ทุกข์ มีคนเรียกหลวงพี่ก็โกรธเลย ทำไมไม่เรียกเราพระอาจารย์ ความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นนั่นเป็นนี่ แม้กระทั่งเป็นพระอาจารย์ เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นพระ ยังทุกข์เลย นับประสาอะไรกับการเป็นผู้แพ้ การเป็นคนไม่ดี สำคัญมั่นหมายเป็นคนดีก็ทุกข์
เคยมีตอนที่หลวงพ่อชาไปแสดงธรรมที่อังกฤษ มีฝรั่งคนหนึ่งแกสนใจพุทธศาสนาหลายแนว ทั้งเถรวาท ทั้งมหายาน แกถามหลวงพ่อชาว่าจะภาวนาจะปฏิบัติธรรม เพื่อเป็นพระอรหันต์ดี หรือเพื่อเป็นพระโพธิสัตว์ดี อาจารย์ชาตอบว่าไม่ต้องเป็นอะไรเลย ไม่ต้องเป็นพระอรหันต์ ไม่ต้องเป็นพระโพธิสัตว์ แม้แต่ไม่ต้องเป็นพระพุทธเจ้า เพราะเป็นอะไรก็ทุกข์ทั้งนั้น เพราะว่าเมื่อความสำคัญมั่นหมายว่าเป็น มันทำด้วยอุปาทาน และอุปาทานก็จะเจือด้วยกิเลส มีตัวกูของกูตลอดเวลา
แล้วที่หลวงพ่อคำเขียนบอกว่า “ไม่เป็นอะไรกับอะไร” ความหมายหนึ่งคือ คุณไม่ต้องเป็นอะไรเลย ไม่ต้องเป็นแม้กระทั่งคนดี เพราะเป็นคนดีเวลาเจอคนไม่ดีก็คิดเห็นเป็นคนละพวก แล้วคนที่ยึดมั่นสำคัญหมายว่าฉันเป็นคนดี เจอคนไม่ดีคนละพวกเลย แม้แต่คนที่ยึดมั่นสำคัญหมายว่าฉันเป็นคนศีล 5 ถือศีล 5 เจอคนไม่มีศีล รู้สึกเป็นคนละพวก เกิดความรู้สึกเป็นลบขึ้นมาทันที สิ่งนี้คือกิเลสอย่างหนึ่งที่เกิดจากอุปาทาน เพราะฉะนั้นอาตมาก็กล่าวพอสมควรแล้ว ขอยุติเพียงเท่านี้ ขออนุโมทนา