แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ทุกเย็นเมื่อเราทำวัตรจะมีข้อความหนึ่งที่เรากล่าวเป็นประจำ “ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ข้าพเจ้าขอเจริญในพระศาสนาของพระศาสดา” ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ สิ่งนี้เรียกว่าเป็นสัตยาธิษฐาน สัตยาธิษฐานคือการกล่าวคำสัตย์ หรือบางทีเรียกว่าสัจจกิริยา จะเรียกว่าเป็นธรรมเนียมของชาวพุทธมาแต่โบราณก็ได้ ความหมายคือการอ้างความจริงเพื่อให้เป็นพลังบันดาลให้บรรลุผลบางอย่าง คือชาวพุทธเราไม่นิยมบนบานศาลกล่าวว่า ขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือแม้แต่เทวดาให้มาคุ้มครองรักษาเราให้ปลอดภัย วิสัยชาวพุทธเราจะไม่ทำอย่างนั้น อย่างมากที่สุดคืออ้างหรือปรารภความจริง ความจริงที่ว่าหมายถึงคุณธรรมความดีที่เราได้ทำจริง หรือการกระทำของเราอะไรก็ตามที่เป็นความดี คนสมัยก่อนเขาจะอ้างคุณงามความดีที่มีอยู่จริง หากว่าต้องการพลังบันดาล เช่นปกป้องให้ปลอดภัย ให้แคล้วคลาดจากอันตราย จะไม่ได้อ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไร แต่จะอ้างเอาคุณงามความดีหรือการประพฤติปฏิบัติที่ทำจริงเรียกว่าสัจจกิริยา
อย่างเช่นเมื่อสักครู่นี้เราได้กล่าวสัจจะวาจาว่า “สรณะอื่นของเราไม่มี พระพุทธเจ้า หรือพระธรรมเจ้า แล้วก็พระสงฆ์เจ้า เป็นสรณะประเสริฐของข้าพเจ้า ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ข้าพเจ้าจึงเจริญในพระศาสนาของพระศาสดา” เสร็จแล้วพูดต่อไปว่า “ข้าพเจ้าผู้ไหว้อยู่ซึ่งพระพุทธเจ้า ผู้ไหว้อยู่ซึ่งพระธรรม ผู้ไหว้อยู่ซึ่งพระสงฆ์ ได้ขวนขวายบุญใดในบัดนี้ ขออันตรายทั้งปวงอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้า ด้วยเดชแห่งบุญนั้น” สังเกตว่าเมื่อจะขอให้แคล้วคลาดจากอันตราย ก็ไม่ได้อ้างขอร้องสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไร แต่เอาคุณงามความดีหรือการประพฤติปฏิบัติของเราเป็นสรณะหรือเป็นสิ่งตอกย้ำ คือการที่เรานับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะอันประเสริฐ แล้วก็ไม่ใช่แค่นับถือแต่ว่าขวนขวายด้วย ข้าพเจ้าผู้ไหว้อยู่ซึ่งพระพุทธเจ้าขวนขวายบุญใดในบัดนี้ ขวนขวายคือได้พากเพียรพยายาม อันตรายทั้งปวงอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้า ด้วยเดชแห่งบุญนั้น สิ่งนี้จะเรียกว่าหลักการหรือท่าทีของชาวพุทธ เพราะชาวพุทธเราจะไม่พึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธ์ หรืออำนาจดลบันดาลของเทวดาทั้งหลาย เราจะพึ่งแต่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
หรือหากเกิดมีเหตุเภทภัย ปรารถนาอำนาจดลบันดาลที่จะช่วยให้เราปลอดภัย ชาวพุทธสมัยก่อนก็จะกระทำหรือบำเพ็ญสัจจกิริยา ขออ้างเอาคุณงามความดีที่มีอยู่ หรือเอาการประพฤติปฏิบัติที่ได้ทำจริงมาเป็นพลัง เพื่อจะช่วยปกป้องให้แคล้วคลาดจากอันตราย ในชาดกมีเรื่องสัจจกิริยามาก ชาดกเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ก่อนที่จะตรัสรู้มาเป็นพระพุทธเจ้าที่เรานับถือเป็นสรณะทุกวันนี้ อย่างเช่นมีเรื่องหนึ่งมีเด็กถูกงูกัดแล้วก็กำลังจะตาย พิษแรงมากอสรพิษ ตอนนั้นมีคนอยู่ในเหตุการณ์คือพ่อแม่ แล้วก็มีบรรพชิตหรือนักบวช สมัยนั้นยังไม่ได้เป็นพระ ยังไม่มีพระ ทั้งสามท่านก็อ้างสัจจกิริยา
นักบวชซึ่งคือพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์คือผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต นักบวชนั้นอ้างกล่าวคำสัตย์ว่า ข้าพเจ้าได้ถือเพศพรหมจรรย์ต้องการสร้างบุญสร้างกุศลแต่พอใจในเพศพรหมจรรย์เพียงแค่เจ็ดวันเท่านั้น หลังจากนั้นไม่ได้มีความพอใจเลย คือปฎิบัติธรรมไม่ได้ด้วยความพอใจปฏิบัติธรรมเช่นนั้นมาห้าสิบปี ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ขอให้อันตรายอย่าได้บังเกิดกับเด็กชายผู้นี้เลย คือขอให้ปลอดภัย ส่วนพ่อบอกว่าเมื่อมีสมณชีพราหมณ์มาหามาที่บ้าน ข้าพเจ้าไม่ได้ยินดีที่จะให้พักเลย แต่สมณชีพราหมณ์เหล่านั้นก็หาทราบไม่ว่าข้าพเจ้าไม่พอใจ แม้ข้าพเจ้าไม่พอใจแต่ข้าพเจ้ายังให้ทานอยู่ ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ขอให้ลูกได้ปลอดภัย แคล้วคลาดจากภัยอสรพิษ ส่วนแม่บอกว่าอสรพิษนี้ได้ทำร้ายลูกของเรา แต่ว่าไปแล้วอสรพิษกับสามีของเรา ไม่ได้แตกต่างกันเลย คือเราไม่ได้ชอบแม้แต่น้อย ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ขอให้ลูกได้พ้นจากอันตราย ขอให้สังเกตว่าทั้งสามท่าน ท่านไม่ได้อ้างคุณธรรมอะไรมากมาย แต่เปิดเผยความจริงว่าตัวเองได้มีความคิดหรือความรู้สึกอย่างไรบ้างในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง
เช่น นักบวชบอกว่าไม่ได้พอใจในการบวชเลยหลังจากผ่านไปเจ็ดวันแล้ว แต่ยังบวชจนผ่านมาห้าสิบปี ส่วนพ่อบอกว่าไม่ได้ยินดีในการให้สมณชีพราหมณ์ได้พักเลย แต่ยังบำเพ็ญทานอยู่ แม่ก็เหมือนกันบอกว่าไม่ได้รักพ่อเลย เมียไม่ได้บอกว่ารักสามีเลยเป็นการเอาความจริงมาเปิดเผย เพราะเชื่อว่าความจริงมีพลังในการที่จะบันดาลให้คนที่ตัวเองรักแคล้วคลาดจากอันตรายได้ ปรากฎว่าสัจจกิริยานี้ได้เกิดผล เพราะว่าเด็กในที่สุดก็รอดตาย เรื่องนี้เป็นสิ่งที่พวกเราชาวพุทธควรจะรับรู้เอาไว้ เพราะว่าเดี๋ยวนี้เวลาเราอยากจะให้มีความสุขความเจริญก็จะขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้มาช่วย ไปเซ่นไหว้เทวดา ไปศาลพระพรหม หรือไปกราบไหว้พระนารายณ์ เดี๋ยวนี้ไปกราบไหว้พระพิฆเนศ ตอนหลังก็พระราหู แล้วตอนหลังไปถึงชูชกก็มี ไปกราบไหว้ชูชก ไม่รู้ว่าชูชกมีคุณความดีอะไรที่จะทำให้เราเชื่อในอำนาจของคุณงามความดี
ถ้าหากว่าไม่ได้บำเพ็ญสัจจกิริยายังสามารถที่จะทำความดีอย่างอื่นได้ เช่นการให้ทาน การรักษาศีล การภาวนา สิ่งเหล่านี้ก็เป็นบุญเหมือนกัน ถ้าเราต้องการความสุขความเจริญแคล้วคลาดจากอันตราย เราต้องลงทุนลงแรงด้วยการทำความดี ไม่ใช่ว่าไปซื้อเครื่องเซ่นไหว้มา ไปหาดอกไม้ธูปเทียนมา แล้วก็บนบานศาลกล่าวศาลพระพรหม ไปบนบานศาลกล่าวอะไรต่ออะไรมากมาย บางทีก็เพี้ยนหนัก เช่นไปบนบานว่าขอให้รอดพ้นจากอุปสรรคปัญหาในชีวิต ถ้าสำเร็จจะมีทำอะไรแปลกๆก็มี เช่นรำแบบรำเปลือยก็มี ตอนที่คิดแบบนี้ขึ้นมาได้ก็เพราะว่าจนตรอก คิดว่าถ้าทำแบบนั้นแล้วศาลพระพรหมจะโปรดปรานและช่วยทำให้ประสบสิ่งที่ตั้งใจเอาไว้ได้
มีหลวงพ่อท่านหนึ่งท่านเล่าว่า มีวันหนึ่งมีโยมมาถวายสังฆทาน เครื่องสังฆทานก็มีหลายอย่าง ที่แปลกใจคือมีหนังสือเป็นนิตยสารหลายเล่มทีเดียวพร้อมกับเครื่องสังฆทาน หลวงพ่อท่านดูหน้าปกรู้สึกว่ามันวับๆแวมๆ โยมก็บอกว่าหลวงพ่อเปิดหน่อยสิ หลวงพ่อก็ลองเปิดดูปรากฎว่าเป็นนิตยสารปลุกใจเสือป่าหนังสือโป๊พูดง่ายๆ ท่านรีบปิดเลย ส่วนโยมซึ่งเป็นผู้หญิงบอกว่าเปิดอ่านหน่อยอ่านทั้งเล่มเลยเป็นสังฆทาน หลวงพ่อท่านถามว่าอ่านทำไม มันไม่ดีมันไม่เหมาะ แกก็เล่าว่าแกไปบนบานศาลพระพรหม แล้วก็บอกว่าถ้าบนสำเร็จแกจะแก้บนด้วยการเปลื้องผ้ารำถวาย แต่พอได้สำเร็จแกก็เริ่มอายเลยไม่กล้า เลยหาทางออกด้วยการให้หลวงพ่ออ่านหนังสือโป๊แล้วก็ส่งไปให้พระพรหม เป็นบุรุษไปรษณีย์ทำนองนั้นส่งไปให้ท่านแทน ให้ท่านได้ดูภาพโป๊จากหนังสือแทนที่จะรำเปลื้องผ้าถวาย
นี่เพี้ยนขนาดนี้ เพี้ยนทั้งในแง่ที่ที่ว่าเอาสังฆทานแบบนี้มาถวายพระ แล้วก็มองว่าพระเป็นบุรุษไปรษณีย์ ให้พระดูหนังสือโป๊แล้วเพื่อว่าจะได้ส่งภาพโป๊ทางโทรจิตไปให้พระพรหมให้ท่านได้ดูท่านเสพ แล้วก็รวมถึงความเพี้ยนในแง่ที่ว่า ใช้วิธีบนบานศาลกล่าวโดยที่ไม่ได้ดูความเหมาะสมเลย แค่บนบานศาลกล่าวก็แย่แล้วแถมยังติดสินบนศาลพระพรหมด้วยการรำเปลื้องผ้า เสร็จแล้วค่อยมารู้สึกละอายใจหรือว่าอับอายภายหลัง
ชาวพุทธเราถ้าหากว่าเราต้องการความสำเร็จ ต้องการความสุขความเจริญ เราจะไม่บนบานศาลกล่าว แต่เราจะลงมือทำด้วยความเพียรของเรา ขณะเดียวกันก็ทำความดีด้วย เพราะเราเชื่อว่าความดีคือบุญกุศลจะทำให้เกิดอำนาจในทางที่จะช่วยทำให้เกิดความสุขความเจริญแล้วก็ปกป้องอันตรายได้ หรือถ้านึกถึงความดีอะไรไม่ได้เลยในยามที่น่าสิ่วน่าขวาน ก็อ้างสภาพที่เป็นอยู่จริงๆก็ได้ บางทีความดีคุณธรรมที่ทำอยู่จริงนึกไม่ออกก็เอาสภาพที่เป็นจริงแล้วนำมากล่าว แบบนี้เรียกว่าสัจจกิริยา ซึ่งยกตัวอย่างที่เล่าเมื่อสักครู่นี้ แบบนี้เป็นธรรมเนียมของชาวพุทธไทยสมัยก่อน ซึ่งตอนหลังก็จืดจางกันไป ตอนหลังไม่คิดจะอ้างคุณงามความดีหรือไม่อ้างสภาพที่เป็นจริงเพื่อให้เกิดพลังบันดาล แต่ใช้วิธีบนบานศากล่าวหรือเซ่นไหว้แทน
อย่างไรก็ตามไม่ว่าเราจะทำให้เกิดความสุขความเจริญ แต่เราต้องไม่ลืมว่าความสุขความเจริญที่แท้ไม่ใช่การมีทรัพย์สมบัติ การมีทรัพย์สินเงินทอง การมีสุขภาพดี หรือการมีการงานที่ดีเท่านั้น เหล่านั้นเป็นส่วนภายนอกด้วยซ้ำ ความสุขความเจริญที่แท้อยู่ที่ใจ ทำใจให้เจริญงอกงาม ความเจริญงอกงามของจิตใจส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เราทำดี การทำความดี การให้ทาน การรักษาศีล ช่วยกล่อมเกลาให้จิตใจเรามีความเจริญ ให้จิตใจเรามีความงดงาม ช่วยลดความเห็นแก่ตัวข้างใน แต่เท่านั้นไม่พอ เราต้องฝึกให้ใจของเรามีคุณธรรมอย่างอื่นด้วย เช่น มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา มีเมตตากรุณา สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวป้องกันใจของเราไม่ให้ประสบกับความทุกข์
ทรัพย์สมบัติหรือการงานหรือสุขภาพที่ปกติช่วยให้เรามีความสุขใจได้ในระดับหนึ่ง แต่คนที่มีสิ่งเหล่านี้แล้วก็ยังมีความทุกข์ เศรษฐีที่ร่ำรวย ร่างกายไม่ได้เจ็บป่วย เป็นที่นับหน้าถือตาของผู้คนจำนวนไม่น้อย มีทุกอย่างอย่างที่เราอยากจะมี แต่เขาก็นอนไม่หลับ เขาก็เครียด ความดันขึ้น มีความกลุ้มอกกลุ้มใจ นั่นเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะใจของเขาขาดธรรมะที่จะช่วยรักษาใจ เขาอาจจะไม่รู้จักพอในสิ่งที่ได้มา ไม่มีความสันโดษ ได้เท่าไรก็ไม่พอใจ เหตุนี้ก็ทำให้ทุกข์ได้ เราต้องรู้จักฝึกใจให้รู้จักพอในสิ่งเราที่ได้มา การมีสติสำคัญเพราะว่าถ้าเราไม่มีสติ เราก็อาจจะลืมตัว ลืมตัวคือลืมกายลืมใจ ขับรถ ถ้าเราลืมตัว อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ หรือเราเดินลงบันได แต่เราไม่มีสติ ลืมตัว ใจลอยคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ ก้าวเท้าพลาดตกลงมาก็แข้งขาหักหรือพิการ หรืออาจจะหัวกระแทกพื้นตายเลยก็ได้
แต่ถึงแม้ว่าสุขภาพดีแต่ถ้าใจไม่มีสติก็จะทุกข์ ทุกข์ในสิ่งที่ผ่านไปแล้ว เหตุการณ์ผ่านไปแล้วเป็นเดือนเป็นปีก็ยังเก็บมาคิด เขาพูดเขาว่าเรา คนพูดลืมไปแล้ว แต่เรายังจดจำแล้วเอามาย้ำทิ่มแทงตัวเองจนจิตใจรุ่มร้อนนอนไม่หลับ หลวงพ่อเฟื่อง โชติโก ท่านพูดไว้ดีว่า “คนที่เขาด่าเราเขาก็ลืมไปแล้วว่าเขาพูดอะไรไป แต่เรายังจำแม่น ไม่ต่างอะไรกับการที่เขาคายเศษอาหารลงบนพื้น แล้วเรายังคว้าเก็บเอามากิน” แบบนี้เรียกว่าฉลาดหรือโง่ คำต่อว่าด่าทอของเขาบางทีเป็นคำที่หยาบคาย ก็ไม่ต่างอะไรกับเศษอาหารที่เขาขากถุย ควรหรือไม่ที่เราจะเก็บเอามากิน อย่าว่าแต่อาหารที่เขาคายลงพื้นเลย อาหารที่เราเคี้ยวอยู่จะเป็นไก่ย่างจะเป็นหูฉลามจะเป็นแฮมเบอร์เกอร์ เราเคี้ยวๆ ตอนที่เราเคี้ยวอร่อยใช่ไหม แต่ถ้าเกิดว่าเราคายใส่จานเรากล้าที่จะกินกล้าที่จะเอาใส่ปากกลับไปใหม่ไหม
ขนาดอาหารหรือไม่ใช่เศษอาหารด้วยซ้ำอาหารที่เรากำลังกินอยู่แล้วเราคายออกมา คนส่วนใหญ่จะไม่กล้าตักใส่ปากเข้าไปใหม่เลย แต่ทำไมเราถึงเอาเศษอาหารของคนอื่นเขาคายทิ้งมาเก็บใส่ปากเรา คำพูดที่เขาพูดมาที่เขาต่อว่าด่าทออะไรก็ไม่ต่างจากเศษอาหาร ทำไมเราต้องเอามาเก็บมาใส่ปากเราด้วย ปากในที่นี้ก็คือใจ อย่าเก็บมาไว้ที่ใจ เราต้องทิ้งมันไป แต่ถ้าใจเราไม่มีสติมันก็จะไปฉวยไปเก็บเอามา ใจที่ไม่มีสติไปฉวยไปคว้าเอาคำพูดเหล่านี้มาทิ่มแทง เหมือนกับว่าเอามีดมากรีดแทงจิตใจของเรา เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะรวยแค่ไหน หรือสุขภาพดีอย่างไร มีฐานะตำแหน่งสูงแค่ไหน แต่ถ้าใจเราเป็นแบบนี้ก็ไม่มีความสุข ไม่ใช่แค่คำพูดที่เป็นเสมือนเศษอาหารหรือเศษขยะที่ควรจะทิ้งมากกว่าที่จะเอามาใส่ปากเราเท่านั้น ยังมีอีกหลายอย่างที่ใจเราไม่ควรไปคว้ามา แต่ที่ไปคว้ามาเพราะอะไร เพราะไม่มีสติ
คนเราทุกวันนี้ทุกข์เพราะความคิด ทุกข์กายไม่เท่าไร เดี๋ยวนี้ไม่ทุกข์กายกันแล้วเพราะว่ามีสิ่งอำนวยความสะดวกมาก แต่ความทุกข์ใจเดี๋ยวนี้เป็นกันมาก ไม่ว่าร่ำรวยแค่ไหนก็หนีความทุกข์ใจไม่พ้น แล้วก็เป็นหนักกว่าเดิมด้วย คนเรามักจะปล่อยให้จิตใจตกอยู่ในอันตราย เพราะว่าไม่รู้จักหาสติมารักษาใจ มีนิทานเรื่องหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระน่าสนใจ เป็นเรื่องของนกเหยี่ยวกับนกชนิดหนึ่งชื่อว่านกมูลไถ นกมูลไถคือนกที่ชอบหากินตามกองดินที่เกิดจากรอยไถเขาเรียกว่ามูลไถ ปรากฎว่านกมูลไถเกิดพลาดท่าโดนเหยี่ยวจับเอาไว้ได้ ขณะที่มันลอยอยู่บนฟ้ามันก็ร้องคร่ำครวญพูดขึ้นมาให้เหยี่ยวได้ยินว่า เป็นเพราะว่าข้าพเจ้าไปหากินในที่ไม่ใช่ดินแดนของบิดาจึงถูกจับพลาดท่ากับนกเหยี่ยว ถ้าหากว่าข้าพเจ้าได้หากินอยู่ในดินแดนของบิดาก็จะสู้เหยี่ยวได้อย่างแน่นอน
เหยี่ยวได้ยินมันก็สงสัยว่า หมายความว่าอย่างไร ดินแดนของบิดาของเจ้าคืออะไร นกมูลไถบอกว่าเป็นมูลดินที่เกิดจากรอยไถนั่นแหละเป็นดินแดนของบิดาของข้าพเจ้า เหยี่ยวโดนนกมูลไถท้าทายว่า ถ้านกมูลไถได้หากินดินแดนที่เป็นของบิดา ก็จะสู้เหยี่ยวได้ เหยี่ยวก็อยากจะพิสูจน์ว่านกมูลไถแน่จริงหรือไม่ เลยปล่อยนกมูลไถไปตรงกองดินที่เกิดจากรอยไถ พอนกมูลไถเป็นอิสระ มันก็เรียกท้าทายเหยี่ยวเข้ามาเลยๆ นกเหยี่ยวก็มั่นใจในความสามารถ มันก็เลยพุ่งลงมาเลย หุบปีกแล้วพุ่งลงมาอย่างแรง พอเหยี่ยวใกล้จะถึงนกมูลไถ นกมูลไถก็หลบเข้าไปในซอกดิน ปรากฎว่านกเหยี่ยวก็ชนกระแทกดินตายเลย เรื่องนี้เป็นนิทานที่พระพุทธเจ้าเล่าให้กับพระฟัง แล้วก็บอกว่าถ้าพระได้โคจรหรือท่องเที่ยวอยู่ในดินแดนของบิดา มารจะไม่มีโอกาสได้ช่อง จะไม่เปิดช่องให้มารได้เลย มารคือผู้ที่จะมาทำให้พระยังหลงวนเวียนอยู่ในวัฏฏสงสาร
พระพุทธเจ้าตรัสว่าถ้าพระท่องเที่ยวอยู่ในดินแดนของบิดา จะไม่เปิดช่องให้มารได้มาทำร้ายอย่างเด็ดขาด แล้วพระพุทธเจ้าอธิบายว่าดินแดนของบิดาคืออะไร คือสติปัฏฐาน 4 ถ้าหากว่าพระสงฆ์สาวกได้โคจรอยู่ในดินแดนนี้ คือได้ปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน 4 คือ รู้กายเห็นกาย รู้เวทนาหรือเห็นเวทนา รู้จิต แล้วก็รู้ธรรม กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธรรมานุปัสสนา พูดง่ายๆคือ ใช้ใจของตัวเองฝึกใจให้รู้กาย เวลาทำอะไรใจก็รู้ เวลามีเวทนาเกิดขึ้นใจก็รู้ เห็นไม่เข้าไปเป็น คำนี้พูดภาษาหลวงพ่อคำเขียน เห็นไม่เข้าไปเป็น หรือเวลาจิตมีราคะมีโทสะก็รู้ พูดง่ายๆคือ รู้กายรู้ใจ ไม่ลืมกายไม่ลืมใจ แล้วก็รู้ธรรมด้วย ถ้าหากว่าพระสาวกหรือภิกษุสามเณรได้ฝึกใจให้ตามแนวทางสติปัฏฐาน 4 ก็จะปลอดภัย มารทำอะไรไม่ได้ สิ่งนี้เรียกว่าเป็นการแคล้วคลาดจากอันตรายอย่าแท้จริง แคล้วคลาดจากบ่วงแห่งมาร
เรื่องนี้คือสิ่งที่พวกเราชาวพุทธควรจะใส่ใจ นอกเหนือจากการที่เราขวนขวายในการให้ทาน ในการรักษาศีลแล้ว การภาวนาเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องขวนขวาย สิ่งนี้เป็นบุญที่มีอานิสงส์มาก คนไทยนิยมให้ทานเพราะเชื่อว่าจะได้บุญมาก แต่มองข้ามภาวนาว่า ภาวนาให้บุญเรียกว่าเป็นสิบเป็นร้อยเท่าของการให้ทาน พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า “เพียงแค่เจริญเมตตาจิตชั่วขณะเดียว ชั่วขณะที่ดมกลิ่นหอม ชั่วขณะที่ดมไม้หอม มีอานิสงส์มากกว่าการถวายทานเป็นอาหารถึงสามร้อยหม้อ” อาหารสามร้อยหม้อกว่าจะทำเสร็จใช้เวลากันเป็นอาทิตย์เลย เริ่มตั้งแต่ไปหาเครื่องไปหาของมา แล้วก็ต้องมาต้มมาปรุงกว่าจะได้สามร้อยหม้อเป็นอาทิตย์ทีเดียว แต่ยังสู้การเจริญเมตตาไม่ได้ เจริญเมตตาจิตจนกระทั่งปลดเปลื้องความโกรธความเกลียดออกไปจากใจ แม้จะทำเพียงแค่ชั่วดมดอกไม้หอมมีอานิสงส์ขนาดนั้น
หรือการเจริญอนิจสัญญา คือการพิจารณาถึงความไม่เที่ยงของสังขาร “การเจริญอนิจจสัญญา ว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่ว่าภายนอกภายในไม่เที่ยง เพียงแค่ลัดนิ้วมือเดียว มีอานิสงส์มากกว่าการถวายทานแก่สงฆ์ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน หรือมีอานิสงส์มากกว่าการถวายทานแก่พระอรหันต์ถึงร้อยรูป” พวกเราแค่ได้ถวายทานแก่พระอรหันต์แค่รูปเดียวก็ถือว่าได้บุญมากแล้ว แต่จะได้มีโอกาสถวายทานแก่พระอรหันต์หรือไม่ยังไม่รู้เลยเพราะว่าหายาก แต่แม้กระนั้นถึงแม้จะได้มีโชคดีถวายทานแก่พระอรหันต์ถึงร้อยรูป ยังไม่เท่ากับการที่ได้เจริญอานิจจสัญญาเพียงแค่ชั่วลัดนิ้วมือเดียว
เรื่องนี้พระพุทธเจ้าพูดเป็นรูปธรรมเพื่อชี้ให้เห็นว่า การภาวนาได้บุญมากกว่าการถวายทานมากมาย แต่ชาวพุทธเราจำนวนมากก็ยังเอาแต่ล่าบุญด้วยการถวายทาน หลายคนคิดอย่างนั้นจริงๆ คือล่าบุญ อยากจะได้บุญมากๆ คิดว่าจะไปถวายทานที่ไหนดีที่วัดนั้นวัดนี้ ที่จริงไม่ต้องไปไหนหรอก อยู่บ้านแล้วก็เจริญสติเจริญเมตตาภาวนาหรือเจริญวิปัสสนา ไม่ต้องเปลืองเงิน ไม่ต้องใช้เงิน ไม่ต้องเสียเวลาอะไรมาก
แต่ถ้าหากบ้านยังไม่เป็นสถานที่ที่เหมาะกับการภาวนา หรือยังไม่รู้จะภาวนาอย่างไร จะมาวัดอย่างที่พวกเรามากันแบบนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนา ให้ถือว่าสิ่งที่เราทำเป็นการให้รางวัลกับจิตใจของตัวเอง จิตใจของเราเหนื่อยล้ามามาก จิตใจของเราทุกข์มามากแล้ว เพราะไม่มีธรรมมะเป็นเครื่องรักษา อาจจะเคยคิดถ้ามีเงินมากหรือมีสิ่งอำนวยความสะดวกมาก ได้ไปเที่ยวห้างไปดูหนังจะทำให้มีความสุข อย่าไปคิดว่านั่นคือรางวัลของชีวิตรางวัลของจิตใจ เพราะว่ามันไม่ใช่เป็นของแท้ อาจจะดีใจหรือมีความสุขชั่วประเดี๋ยวประด๋าว เสร็จแล้วก็เบื่อ ตอนที่ได้ดูได้เสพก็มีความสุข แต่พอไม่ได้เสพก็เป็นทุกข์ใหม่ แล้วครั้นจะเสพบ่อยๆก็ชักเบื่อ ต้องหาของใหม่ต้องหาของที่แปลกไปจากเดิม สิ่งนั้นไม่ใช่ความสุขที่แท้ ความสุขที่แท้เราต้องทำที่ใจ การทำให้ใจเรามีสติ มีสมาธิ มีปัญญา มีความรู้สึกตัว สิ่งเหล่านี้จะช่วยปกป้องรักษาใจของเราไม่ให้ทุกข์