แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อาทิตย์ที่แล้วก่อนที่จะเข้าพรรษา ไปบรรยายที่สถานที่แห่งหนึ่งในกรุงเทพ บรรยายเสร็จก็มีคนถามว่าพระพุทธเจ้านี้มีจริงหรือ เป็นไปได้ไหมที่พระพุทธเจ้าไม่มีจริง แต่ว่าแต่งขึ้นมาเพื่อที่จะทำให้คำสอนในพระไตรปิฎกมีความน่าเชื่อถือ หรือทำให้คนมีศรัทธาในคำสอน จารึกไว้ในพระไตรปิฎก คำถามออกมาทำนองนั้น
ที่จริงเวลาคนตั้งคำถามแบบนี้ หลายคนได้คำตอบแล้วก็จะไม่พอใจ หาว่า ไม่ใช่ชาวพุทธบ้าง หรือว่าเป็นพวกนอกศาสนา
เคยมีนักเขียนชื่อดังเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วตั้งคำถามทำนองนี้ว่า พระพุทธเจ้ามีจริงหรือเปล่า ไม่มีจริงใช่ไหม ก็โดนวิจารณ์ อันที่จริงเรื่องแบบนี้ ถามได้ ตั้งคำถามได้ ก็ตอบเขาไปว่า ในทัศชาวพุทธเราก็เชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริง แต่ว่าถึงแม้จะไม่เชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริง อันนี้ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งสำคัญเท่าไหร่ เพราะเห็นว่าสิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าหลักธรรมหรือคำสอนของพระองค์มันจริงไหม ปฏิบัติแล้วได้ผลหรือเปล่า อันนี้สำคัญกว่า
พุทธศาสนาต่างจากศาสนาอื่น อย่างเช่น ศาสนาคริสต์ ถ้าหากว่าไปพูดว่าพระเยซูคริสต์ไม่มีจริงเรื่องใหญ่ ยิ่งถ้าไปหาหลักฐานมาชี้ว่า พระเยซูคริสต์ไม่มีจริง อันนี้มันมีผลกระทบมากต่อความเชื่อต่อศรัทธาของชาวคริสต์ เพราะว่าชาวคริสต์เขาเชื่อว่าพระเยซูคริสต์เป็นบุตรของพระเจ้า คำสอน ในคัมภีร์ไบเบิล โดยเฉพาะคัมภีร์ใหม่ ก็ต้องอิงอยู่กับความเชื่อว่าพระเยซูคริสต์มีจริง เพราะว่าคำสอนเขาเน้นที่ศรัทธาในพระเจ้า อันนี้ก็คงจะเหมือนกับศาสนาอิสลามที่ต้องเชื่อว่าศาสดามูฮัมหมัดมีจริง ถ้าไม่มีจริงก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่าคัมภีร์
อัลกุรอานก็ถือว่ามาจากจะเรียกว่าเป็นพระวจนะของพระเจ้าก็ได้ที่เผยมาทางศาสดามูฮัมหมัด แต่ว่าทางศาสนาพุทธเราไม่มีความเชื่อแบบนั้น เรามองว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ได้อิงอยู่กับพระเจ้าหรือใคร แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ใช่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่อิงหรือตั้งอยู่บนสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติ ธรรมะคือกฎธรรมชาติ และธรรมชาติก็เป็นสัจธรรม เป็นอกาลิโก ก็คือว่าไม่ว่าสถานที่ใดเวลาใด ธรรมชาติก็ยังคงอยู่อย่างนั้น
ทีนี้สำหรับการปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าที่จะต้องเชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่ จริงอยู่ศาสนาพุทธเรา เราต้องมีศรัทธาในพระรัตนตรัย ก็ต้องเริ่มต้นจากความศรัทธาในพระรัตนตรัย แต่ถึงแม้เป็นคนที่ไม่มีศรัทธาในพระรัตนตรัย ถ้าเอาธรรมะของพระองค์ไปปฏิบัติ คำถามคือว่าจริงไหม คำสอนพระองค์จริงไหม อย่างเช่น ความทุกข์ ทุกข์ 12 อาการ 12 ประการที่อาตมาสาธยาย ทุกวันมันจริงไหม เกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายจริงหรือเปล่า แล้วความทุกข์ของคนเรามันก็หนีไม่พ้น ประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ พลัดพรากจากที่สิ่งรักที่พอใจก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ ความทุกข์เรามันก็ไม่ได้พ้นไปจาก 3 ข้อนี้เลย โดยเฉพาะความทุกข์ใจ
แต่ว่าพระองค์หรือว่าคำสอนพระองค์ลงไปลึกกว่านั้น อธิบายได้ว่าที่ทุกข์มันเพราะอะไร ก็เพราะว่าขันธ์ทั้ง 5 มันเป็นตัวทุกข์ ตัวทุกข์ในที่นี้หมายความว่ามันพร่อง มันไม่สมบูรณ์มันมีความขัดแย้งอยู่ภายใน เพราะว่ามันประกอบขึ้นจากเหตุปัจจัยมากมาย และเหตุปัจจัยเหล่านั้นก็ล้วนแล้วแต่ไม่เที่ยง เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ อย่างร่างกายเรามันก็ประกอบไปด้วยอวัยวะต่างๆมากมาย ลงลึกไปถึงระดับเซลล์ ก็มีการเกิดดับแล้วมีการสร้างใหม่ ถ้าสร้างใหม่ได้ดีก็อยู่ได้นาน มีสุขภาพปกติ ถ้าดับแล้วสร้างใหม่ เซลล์ที่สร้างใหม่เกิดเพี้ยน มันก็ทำให้อวัยวะส่วนนั้นทำงานไม่ได้ หรือไม่ดี หรือว่าเผลอมีโรค เช่น มะเร็ง พออวัยวะ 99% ดีแต่ว่ามี 1% ไม่ดีเช่นเป็นมะเร็ง หรือว่าหัวใจ หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนนั้นมันอุดดัน เช่น หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง มันก็รวนกันไปหมด สุดท้ายก็ป่วยและตาย อันนี้เขาเรียกว่ามันมีความพร่อง
อันนี้จริงไหมก็ต้องพิจารณา ถ้าจริงก็ลองนำเอาความรู้หรือว่าความจริงเหล่านั้นนำไปใช้กับชีวิต ไปวางจิตวางใจให้ถูกต้อง นอกจากคำสอนพระองค์จะจริงหรือเปล่าแล้ว ก็ต้องถามว่า นำไปปฏิบัติแล้วได้ผลไหม ปฏิบัติแล้วทำให้ชีวิตดีขึ้นหรือเปล่า เช่น ศีล 5 หรือว่าการฝึกจิตให้มีสมาธิทำแล้วมีความสุขขึ้นไหม ไกลจากความทุกข์หรือเปล่า แก้ปัญหาชีวิตได้ไหม ตรงนี้คือสิ่งสำคัญกว่า
สำหรับพุทธศาสนาไม่ต้องเชื่อก็ได้ว่าพระพุทธเจ้ามีจริง แต่ว่าขอให้ลองเอาไปปฏิบัติเพราะถ้าปฏิบัติแล้วมันก็จะดีกับตัวเองด้วย แล้วก็ทำให้สังคมส่วนรวม ชุมชนรอบข้างเขาสงบร่มเย็น อันนี้พอไปปฏิบัติแล้ว ในที่สุดก็จะ ก็จะเริ่มเห็นว่าพระพุทธเจ้าต้องมีจริงแน่นอน เพราะว่าถ้าไม่มีจริงใครเล่าที่จะค้นพบคำสอน ทั้งสัจธรรมและข้อปฏิบัติ ที่มันเป็นความจริงและแก้ปัญหาชีวิตได้จริง อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่ชาวพุทธเราควรตระหนัก ใครเขาจะไม่เชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริงก็อย่าไปโกรธเขา ถึงแม้ว่าเขาจะอ้างตัวเป็นชาวพุทธหรือว่าเขาคิดว่าตัวเองเป็นชาวพุทธ เขาสงสัยนั่นแหละ
ที่จริงปุถุชน มันก็ต้องมีวิกิกิจฉาเป็นธรรมดา ตราบใดที่ยังไม่เป็นพระอริยะ เริ่มตั้งแต่พระโสดาบัน ก็ต้องมีวิกิกิจฉา คนเราตราบใดที่ยังไม่บรรลุธรรมเป็นโสดาบัน มันก็มีวิจิกิจฉาบางช่วงบางขณะ มันก็ต้องสงสัยว่าพระพุทธเจ้ามีจริงไหม บางช่วงก็สงสัยว่าธรรมะมีจริงไหม คำสอนเรื่องกรรมจริงหรือ ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ความสงสัยหรือวิจิกิจฉามันมีกับมนุษย์ทุกคนที่เป็นปุถุชน อย่าไปหลอกตัวเองว่าเรามีความเชื่อแน่นแฟ้นไม่มีความสงสัยแล้ว แล้วครั้นใครสงสัยว่าพระรัตนตรัยมีจริงไหม พระพุทธเจ้ามีจริงหรือเปล่า ก็อย่าไปโกรธเขาเพราะมันเป็นธรรมดาของมนุษย์ปุถุชน และยิ่งยังไม่ได้เข้าใจคำสอนเขาอาจจะมีความเชื่อแบบนี้ได้
แต่ถึงไม่เชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริงแต่ลองเอาคำสอนของพระองค์ไปปฏิบัติ ถ้ามันไม่ได้ผล มันไม่ได้เรื่องจริงก็ค่อยปฏิเสธพระพุทธศาสนา แต่ถ้าพิจารณาแล้วเห็นจริง สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นอริยสัจ 4 มันจริง มันมีเหตุมีผล แล้วก็ไม่ใช่แค่พิจารณาอย่างเดียวต้องเอาไปปฏิบัติด้วย
ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด คือ เอาไปปฏิบัติ ไม่ใช่แค่คิดเอา คิดเอาด้วยเหตุด้วยผลมันก็ยังไม่สำคัญเท่ากับว่าปฏิบัติจนเห็นจริงด้วยตัวเอง ไม่ต้องเชื่อใคร ในกาลมสูตร 10 ประการ ข้อสุดท้าย พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “อย่าเชื่อเพียงเพราะสมณะผู้นี้เป็นครูของเรา” อย่าเชื่อเพียงเพราะพระพุทธเจ้าตรัสแล้เราเชื่อ อันนี้ก็ยังไม่ใช่เป็นชาวพุทธ ต้องปฏิบัติจนเห็นจริงว่าอันนี้คือกุศล อันนี้เป็นอกุศล อันนี้ทำแล้วเป็นโทษอันนี้ทำแล้วเกิดประโยชน์ คำข้อสุดท้าย ข้อ 10 อย่าเชื่อว่าผู้พูดเป็นครูของเรา สมณะนี้เป็นครูของเราก็อาจจะขยายความไปถึงว่า แม้ไม่เชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริง ก็เอาคำสอนของพระองค์ หรือ เชื่อว่าเป็นของพระองค์นำไปพิจารณาแล้วก็นำไปปฏิบัติ
ที่จริงคำสอนหลายอย่าง มันก็อาจจะไม่มีความจริงรองรับอยู่ก็ได้ เช่น นิทานอีสป นิทานอีสปมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร เรื่องกระต่ายกับเต่าบ้าง เรื่องหมาป่ากับลูกแกะบ้าง ราชสีห์กับหนูบ้าง สัตว์เหล่านี้คุยกันได้ กระต่ายคุยกับเต่า แล้วก็ราชสีห์คุยกับหนู ในความจริงมันคุยกันได้รึเปล่า มันรู้ภาษากันรึเปล่า เราก็รู้ว่ามันเป็นเรื่องแต่ง แต่ถามว่ามีประโยชน์ไหม นิทานอีสปมีประโยชน์ ไม่ว่ากับเด็กหรือกระทั่งผู้ใหญ่ กระต่ายกับเต่าก็ดี ราชสีห์กับหนูก็ดี มีประโยชน์สอนใจ เป็นเครื่องเตือนใจให้ไม่ประมาท เป็นเครื่องสอนใจให้รู้จักถ่อมตน อย่าดูถูก อย่าไปดูถูกดูแคลนคนอื่นแม้จะดูเหมือนว่า เขาไม่มีน้ำยาอะไร อย่างเช่นราชสีห์ก็ไปดูถูกหนู ว่าแกจะช่วยอะไรชั้นได้ สุดท้ายหนูก็ช่วยราชสีห์ให้พ้นจากกับดักของพรานได้
นิทานอีสปเราก็รู้ว่ามันไม่จริง แต่งเอาทั้งนั้น สัตว์อะไรพูดกันได้ แต่ทำไมนิทานอีสปจึงยังสืบทอดยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้ สองพันสามพันปีแล้วก็เพราะมันมีประโยชน์
แต่พระธรรมคำสอนในพระไตรปิฎกมันมีความลึกซึ้ง ยิ่งกว่านิทานอีสป เพราะว่าถ้านำไปปฏิบัติอย่างจริงจังก็พ้นทุกข์ได้ โดยเฉพาะสติปัฏฐาน 4 ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นทางสายตรงที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ สายตรงคือทางลัด ใครที่นำเอาหลักสติปัฏฐาน 4 ไปใช้ไปพิจารณา ไปปฏิบัติ เชื่อได้เลยว่าจะปลดเปลื้องจิตใจของตนจากความทุกข์ ได้มากขึ้นเป็นลำดับ จนถึงขั้นเรียกว่าพ้นทุกข์
แต่ถึงขั้นยังไม่พ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง เมื่อปฏิบัติไปแล้วเห็นผลในที่สุดก็จะเชื่อว่าคำสอนของพระองค์ไม่ใช่แค่จริงทั้งนั้นมีประโยชน์ทั้งนั้น แต่ว่าพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นที่มาของคำสอนนั้นก็ย่อมมีจริงด้วย เพราะไม่อย่างนั้นจะค้นพบ จะมีใครค้นพบคำสอนหรือหลักธรรมที่ลึกซึ้งได้อย่างไร
ประเด็นหลายประเด็นจะว่าไปแล้วพุทธศาสนาก็ไม่ได้เห็นความสำคัญของการต้องมาโต้เถียงกันว่าจริงหรือไม่จริง ตราบใดที่มันยังไม่ใช่เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว หรือเป็นเรื่องของปัจจุบัน ที่จะแก้ทุกข์ในปัจจุบันได้ พระพุทธเจ้าจึงมีจริงหรือไม่ก็ไม่สำคัญแต่สำคัญที่ว่าตอนนี้มีทุกข์รึเปล่า และอยากจะแก้ทุกข์ไหม
แม้แต่เรื่องนรกสวรรค์ ซึ่งในพระไตรปิฎกก็มีเยอะ แต่พระพุทธเจ้าก็เตือนว่าไปถกเถียงกันว่ามีจริงหรือเปล่า เพราะว่ามันหาข้อพิสูจน์ มายืนยันได้ยาก ถึงแม้จะมีคนมาพูดว่านรกสวรรค์มีจริงมันก็ยังมีข้อแย้งอยู่ร่ำไป พระองค์จึงบอกว่าอย่าไปเถียงกันแต่ให้คิดแบบนี้ว่า ถ้าสมมตินรกสวรรค์มีจริง และเราทำความดี ถ้าเราทำความดีเราก็จะได้รับความสุขในชีวิตนี้ ในภพนี้ แล้วเกิดมีสวรรค์จริง ชาติหน้ามีจริง เราก็จะได้รับประโยชน์สุขหรือว่าได้มีความสุขในภพหน้าด้วย เช่น ได้ไปเกิดในสวรรค์ แต่ถึงแม้ไม่มีจริงอย่างน้อยก็ได้ประโยชน์สุขในภพนี้ ในทางตรงข้ามถ้าเกิดว่ามีนรก แล้วเราไม่ทำความดี นอกจากจะประสบทุกข์อยู่ร้อนนอนทุกข์ในภพนี้แล้ว ภพหน้าก็ยังต้องไปรับวิบากรับเคราะห์ ต้องไปประสบทุกข์อีก แต่ถ้าไม่มีนรกอย่างน้อย ๆ ก็ต้องเจอความทุกข์ในภพนี้
พูดง่าย ๆ คือว่าจะเชื่อว่ามีนรกหรือสวรรค์หรือไม่ก็ตาม ทำดีเอาไว้ก่อน เพราะอย่างน้อยได้ประโยชน์แน่หนึ่งส่วนก็คือได้ประโยชน์สุขในภพนี้ และถ้าเกิดมีสวรรค์จริง ๆ ก็ได้อีกหนึ่งส่วน เรียกว่าได้สองเด้งเลย แต่ถึงไม่มีสวรรค์ก็อย่างน้อยก็ได้หนึ่งเด้ง ตรงข้ามถ้าเกิดว่า ไม่เชื่อว่ามีนรก แล้วก็ทำชั่ว ก็ได้รับโทษอย่างน้อยหนึ่งเด้ง แล้วเกิดมีนรกจริง ๆ เจออีกเด้ง เป็นเด้งที่สองก็คือต้องไปเสวยทุกข์ในภพหน้า เช่น ตกนรกไปอบาย คิดแบบนี้แล้วใช้เหตุผลพิจารณาแบบนี้แล้ว ทำความดีดีกว่า อย่างน้อยมันมันได้ประโยชน์แน่ อย่างน้อยก็หนึ่งส่วน ถ้าไม่ทำดีทำชั่ว ก็อันตรายมากเพราะว่าอาจจะเจอเข้าไปสองเด้ง ทั้งทุกข์ในภพนี้และทุกข์ในภพหน้า ถ้าคิดแบบนี้ก็พอ มันก็ทำให้เห็นว่าจะมีนรกสวรรค์หรือไม่ก็ตาม ทำดีเอาไว้ก่อน เป็นหลักประกัน
เพราะฉะนั้นนี่เป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่า จะไปเสียเวลาทุ่มเถียงกันว่ามีนรกสวรรค์หรือไม่ มีชาตินี้ชาติหน้าหรือไม่มันไม่มีประโยชน์ สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าทำความดีกันดีกว่า เพราะถ้าทำความดีแล้วมันได้ประโยชน์แน่นอน ถึงแม้ชาติหน้าไม่มี ชาตินี้ก็ได้รับอานิสงค์แล้ว แล้วยิ่งถ้ามีก็เท่ากับว่าได้รางวัล แถมพ่วงเข้าไปอีก
อันนี้เป็นมุมมองทางพระพุทธศาสนาก็คือ จะไม่มาถกเถียงกันว่าเรื่องที่ไกลตัวมีจริงไหม แต่เอาเรื่องที่ใกล้ตัวก่อนดีกว่า พระพุทธเจ้าจะมีจริงหรือไม่ ตราบใดที่เรายังมีความทุกข์ลองเอาคำสอนพระองค์ไปปฏิบัติ แล้วถ้ามันแก้ทุกข์ได้ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ แล้วสุดท้ายก็จะเชื่อเองว่าพระพุทธเจ้านี้มีจริง อันนี้พอเชื่อแล้วมันก็มีประโยชน์ตามมาอีกหลายอย่าง เพราะว่าในการที่คนเรานี้จะทำความเพียร ศรัทธาเป็นสิ่งสำคัญ มันทำให้การปฏิบัติมีความยั่งยืนต่อเนื่องไม่ท้อถอยง่าย ๆ เพราะถ้าเรามีความเชื่อแล้ว ถึงแม้ผลยังไม่ปรากฏ เช่น ถ้าเราเชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ถึงแม้ว่าตอนนี้เราทำดีแล้วยัง ยัง ยังประสบอุปสรรคหลายอย่าง เราทำงานด้วยความสื่อสัตย์สุจริต แต่ว่าชีวิตยังไม่ค่อยเจริญก้าวหน้าเท่าไหร่ แต่เราก็ยังเชื่อว่าทำดีได้ดีแน่นอน อันนี้เป็นความเชื่อแล้วเราก็พยายามทำความดีเรื่อยไป สุดท้ายผลแห่งความดีย่อมปรากฏ เมื่อผลแห่งความดีปรากฏว่าทำดีได้ดีจริง ๆ แค่ก็ต้องเข้าใจว่าผลแห่งความดีนี้หมายถึงอะไร ผลแห่งความดีนี้ หมายถึง ผลแห่งคาวมดีที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติ เช่น ปลูกมะม่วงก็ต้องได้มะม่วง ส่วนปลูกมะม่วงแล้วจะรวยหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่ว่าปลูกมะม่วงแล้วจะรวย
พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น พระพุทธเจ้าสอนว่าปลูกมะม่วงก็ได้มะม่วง หว่านพืชเช่นใดก็ได้ผลเช่นนั้น ปลูกมะม่วงก็ได้มะม่วงแต่ ปลูกมะม่วงแล้วต้องรวย พอปลูกมะม่วงแล้วไม่รวยเพราะว่าราคามันตกทุกข์เลย แล้วก็ไปโทษว่าพระพุทธเจ้าสอนผิด ที่จริงพระพุทธเจ้าสอนถูกแล้ว แต่เราไปเข้าใจผิด เพราะว่าปลูกมะม่วงแล้วมันจะรวยหรือไม่มันขึ้นอยู่กับราคาตลาด ราคาในตลาด บางช่วงบางฤดูกาล ราคามะม่วงมันสูง ถ้าปลูกมะม่วงตอนนั้นได้ผลตอนนั้นก็รายได้ดี รวย แต่บางช่วงบางเทศกาลบางเดือน เรียกว่ามะม่วงล้นตลาด มะม่วงก็ราคาตก ปลูกไปแล้วก็บางทีรายได้ไม่พอกับรายจ่ายก็อาจเป็นหนี้เป็นสิน
อันนี้จะไปโทษกฎแห่งกรรมไม่ได้ จะไปโทษธรรมชาติไม่ได้ มันเป็นเรื่องของกติกาของสังคม เช่น ราคาตลาด ราคามะม่วงมันเป็นเรื่องของกติกาของสังคม มันไม่ใช่เรื่องกฎธรรมชาติ กฎธรรมชาติคือว่าปลูกมะม่วงได้มะม่วง เพราะฉะนั้นทำดีได้ดีก็หมายความว่าทำดีแล้วมันอย่างน้อยมันดีที่ใจ ทำดีเดี๋ยวนั้น ทำตรงนั้นก็ได้ดีเดี๋ยวนั้น ก็คือจิตใจสงบร่มเย็นสบาย ไม่มีความเดือดเนื้อร้อนใจ
ส่วนทำดีแล้วเช่นซื่อสัตย์สุจริตแล้ว จะเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงานได้รับการเลื่อนขั้นหรือไม่ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับกฎธรรมชาติ มันขึ้นอยู่เจ้านาย มันขึ้นอยู่กับระบบ มันขึ้นอยู่กับองค์กรหรือหน่วยราชการ ถ้าหน่วยราชการเวลานั้นมันมีการคอรัปชั่นมากมาย คนไม่ไม่มีศีล เห็นเงินและเส้นสายเป็นเรื่องสำคัญ ซื่อสัตย์สุจริตก็อาจจะไม่เจริญก้าวหน้า แต่ว่าใจสบายแน่ ใจมีความสุขแน่
แต่วางใจผิดอันนี้ก็เป็นกรรมแบบหนึ่งว่าวางใจผิดว่า หรือเข้าใจผิดว่า ซื่อสัตย์สุจริตแล้วจะต้องรวย จะต้องมีอาชีพการงานมั่นคงเจริญก้าวหน้า อันนี้มันเป็นความเข้าใจผิด เมื่อมีความเข้าใจผิดก็อาจจะเกิดโทษได้ อาจจะเกิดผลในทางที่เป็นโทษได้ ก็คือ เกิดความรุ่มร้อนใจ เกิดความลังเลสงสัยว่าทำไมทำดีแล้วไม่ได้ดี มันไม่ใช่ทำดีล้วน ๆ ร้อยเปอร์เซนต์เพราะมันเจือไปด้วยความเข้าใจผิด ถึงแม้จะมีความซื่อสัตย์สุจริตแต่มีความเข้าใจผิดว่า สุจริตแล้วจะต้องรวยอันนี้เป็นความเข้าใจผิด เพราะไม่เข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม เมื่อเข้าใจผิดก็อาจจะเกิดโทษ คือ เกิดความทุกข์ได้
เพราะฉะนั้นจึงบอกที่ตัวเองนี้ยังมีความทุกข์อยู่ ไม่ใช่เป็นเพราะว่าทำดีแล้วมันไม่ได้ดี แต่เป็นเพราะยังไม่ได้ดีจริง ยังไม่ใช่ทำดีจริง ซื่อสัตย์สุจริตจริงแต่ว่ามันมี มันเจือไปด้วยความเข้าใจผิด วางใจผิด ไอ้วางใจผิด มันก็ย่อมทำให้เกิดโทษตามหลักกฎแห่งกรรม ถ้าวางใจถูกก็ย่อมเกิดประโยชน์ เกิดคุณ อันนี้ก็เป็นไปตามกฎแห่งกรรม เป็นกฎธรรมชาติ
เข้าใจให้ดีว่าเวลาบอกว่าทำดีแล้วไม่ได้ดี บางทีก็ต้องไปถามตัวเองว่า ทำดีจริงไหม วางใจถูกรึเปล่า ทีนี้ถ้าเกิดว่าซื่อสัตย์สุจริตด้วย วางใจถูกด้วย ก็ต้องรอหน่อย เพราะว่าบางทีผลมันใช้เวลา เหมือนกับปลูกมะม่วง ปลูกวันนี้จะเอาพรุ่งนี้ ปลูกมะม่วงวันนี้ อยากให้ได้พรุ่งนี้มันออกดอกออกผล มันเป็นไปไม่ได้ ปลูกมะม่วงกว่ามะม่วงจะโต กว่ามันจะออกดอกออกผล ใช้เวลาเป็นปี พอมะม่วงไม่โตหรือโตแล้วยังไม่ออกผล เพราะว่าเพิ่งปลูกไปได้ 6 เดือน แล้วก็บอกว่าทำไมปลูกมะม่วงแล้วไม่ได้มะม่วง อันนี้ไม่ถูก มันต้องได้แน่ผลมะม่วงแต่มันต้องใช้เวลา ความดีจะส่งผลก็ต้องใช้เวลา ไม่ใช่ว่าทำวันนี้จะได้ผลวันพรุ่งนี้หรือว่าจะได้ผลเดือนหน้า บางทีมันใช้เวลานานกว่านั้น อันนี้ก็ต้องเข้าใจด้วย
ทีนี้พอเราเข้าใจแล้วว่าทำดีแล้วได้ดีจริง ๆ เห็นผลแห่งความดีที่ได้ทำ มันก็ทำให้เราเชื่อมีศรัทธามากขึ้นในกฎแห่งกรรม ในทำนองเดียวกันถ้าเรานำคำสอนของพระองค์ไปปฏิบัติ ไม่มัวแต่ไปคิดว่าพระพุทธเจ้ามีจริง พระพุทธเจ้าสุดยอดเลยเป็นยอดมนุษย์แล้วก็จบไม่ทำอะไรเลย อันนี้ที่สุดมันก็จะเกิดความ เกิดวิจิกิจฉาเกิดความลังเลสงสัยขึ้นมาว่า พระองค์มีจริงรึเปล่า แต่ถ้าเกิดว่าเราไม่มัวแต่พอใจแค่นั้นเรานำเอาคำสอนของพระองค์ไปปฏิบัติ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องทานเรื่องศีลแต่รวมไปถึงเรื่องภาวนา ปฏิบัติจนกระทั่งเห็นแจ้งในสัจธรรมความจริง ไม่ใช่ทำแต่ความดี คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ใช่สอนแต่เรื่องการทำดี แต่สอนเรื่องการเห็นแจ้งในความจริงด้วยเพราะถ้าเห็นชัดทะลุในความจริงที่เรียกว่าสัจธรรมมันก็จะทำให้เกิดปัญญาชนิดที่ทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้ เพราะความทุกข์ของมนุษย์ โดยเฉพาะทุกข์ใจถึงที่สุดแล้วก็เกิดจากความหลง เกิดจากอวิชชา
พอมีปัญญาแจ่มแจ้งอวิชชาดับไป ความทุกข์ก็หมดไปด้วย ทุกข์กายยังมีอยู่ยังต้องแก่ต้องเจ็บ ยังต้องพลัดพรากสูญเสียเพราะว่าความแก่ความเจ็บมันเป็นเรื่องของสังขารร่างกายซึ่งเป็นตัวทุกข์ รูปก็เป็นตัวทุกข์ ทรัพย์สมบัติก็เป็นรูปซึ่งก็เป็นตัวทุกข์ ตัวทุกข์ในที่นี้หมายถึงทุกข์ในไตรลักษณ์ แม้แต่ทรัพย์สมบัติก็ยังทุกข์ แต่มันไม่ใช่ทุกข์เพราะมีเวทนาบีบคั้นแต่เป็นทุกข์เพราะมันพร่อง มันไม่สมบูรณ์ มันก็ต้องเสื่อมต้องดับต้องสลายไป ในที่สุดก็ต้องพลัดพรากจากเราไป แต่ว่าใจไม่ทุกข์เพราะว่าใจเห็นความจริงว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง จิตใจไม่ยึดติดถือมั่น อันนี้มันต้องเกิดจากการปฏิบัติไม่ใช่แค่คิดเอา คิดเอาเท่าไหร่มันก็ไม่เกิดประโยชน์ พอปฏิบัติแล้วเห็นจริงก็จะเกิดศรัทธาในพระรัตนตรัย
อย่างหลวงพ่อคำเขียน พอท่านปฏิบัติแล้วก็ท่านเห็นเข้าใจ เข้าใจเรื่องรูปเรื่องนาม ท่านบอกว่า มันไม่มีความลังเลสงสัยเลยในในในเรื่องของธรรมะ แต่ตราบใดที่ยังไม่เห็นธรรม มันก็ยังมีความลังเลสงสัย อย่าไปคิดว่าเราเป็นชาวพุทธแล้วเรากราบไหว้พระพุทธเจ้าทุกวันทุกวัน ระลึกถึงพระรัตนตรัยทุกวันมันจะไม่มีความสงสัย มันมีวิจิกิจฉาอยู่เพราะว่าเรายังเป็นปุถุชน เพียงแต่เราบางช่วงบางเวลาอาจจะไม่มีความลังเลสงสัย แต่ถ้าเกิดคนอื่นเขาจะลังเลสงสัยขึ้นมาก็อย่าไปว่าเขา อย่าไปประนามเขา แต่พยายามชี้แจ้งเขาว่าสงสัยไม่เป็นไร พระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่ก็ไม่ต้องมาเสียเวลาทุ่มเถียงกัน ที่จริงจะเอาหลักฐานมายืนยันก็คงจะได้ แต่ว่ามันเสียเวลา เพราะว่าก็จะต้องมีข้อแย้งอยู่ร่ำไป แต่ถ้าเกิดว่าเอาแนะนำให้เขานำเอาธรรมะไปปฏิบัติอันนี้จะดีกว่า พิจารณาว่าจริงไหม ปฏิบัติแล้วได้ผลดีหรือเปล่า ความทุกข์ลดลงไหม ความสงบเย็นเพิ่มขึ้นไหม อันนี้คือสิ่งสำคัญกว่า