แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พวกเราทั้งหลาย ถ้ายังไม่หมดกิเลส ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ก็เรียกว่ายังต้องเป็นผู้ที่ต้องศึกษา ต้องเรียนรู้อยู่ต่อไป การศึกษาที่ว่านี่ก็หมายถึงการฝึกฝนตน เพื่อให้ได้เห็นถึงความจริงอย่างแจ่มแจ้ง ถ้าเรียกโดยใช้ภาษาบาลีก็ เราเป็นเสขบุคคล ก็คือว่า ผู้ที่ยังต้องศึกษาอยู่ แต่ไม่ใช่หมายถึงการเข้าห้องเรียน การอ่านตำรับตำรา แต่ได้แก่การปฏิบัติตนเพื่อพัฒนาตน เสขบุคคลคือพวกเราก็มีกิจที่จะต้องเรียนรู้จนกว่าจะจบกิจ นั่นก็คือว่า สิ้นกิเลสหรือว่าดับทุกข์ได้
ทีนี้ในการศึกษาของพวกเราในฐานะชาวพุทธหรือผู้ที่มุ่งเข้าถึงความหลุดพ้นแห่งทุกข์ เราก็จำเป็นต้องมีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์สูงสุดของเราก็คือพระบรมศาสดา พระพุทธองค์ แต่ว่าพระองค์ก็เสด็จปรินิพพานไปนานแล้ว ทิ้งไว้แต่คำสอน แต่ครูบาอาจารย์ที่จะช่วยเราได้ก็ยังมีอยู่ จะเป็นพระอริยสงฆ์ก็ดีหรือว่ามิใช่ก็ตาม แต่พวกเราก็ต้องอาศัยครูบาอาจารย์ จะเป็นครูบาอาจารย์ที่อยู่ใกล้หรืออยู่ไกลก็แล้วแต่ อันนี้ก็เรียกว่าเป็นความจำเป็นก็ว่าได้ เพราะว่ากัลยาณมิตรเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเราซึ่งยังเป็นผู้ที่ยังต้องศึกษา ยิ่งเป็นปุถุชนด้วยแล้วนี่ยิ่งต้องมีกัลยาณมิตรคอยช่วยเหลือ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ได้แก่ ครูบาอาจารย์
อันนี้ครูบาอาจารย์ท่านจะช่วยเราได้อย่างไรหรือมีประโยชน์ต่อเราอย่างไร ส่วนหนึ่งก็มีประโยชน์ด้วยคำสอนของท่าน คำสอน คำเทศนา คำชี้แนะ อาจจะรวมถึงคำท้วงติงหรือว่าคำตักเตือน ในชาวพุทธเราก็ถือว่าคำตักเตือน คำท้วงติง อันนี้เป็นเสมือนการชี้ขุมทรัพย์ ซึ่งทำให้เรารู้ว่า อะไรที่เรายังทำได้ไม่ดี ยังบกพร่องอยู่
แต่สิ่งสำคัญกว่าคำสอนที่เป็นคำพูดของครูบาอาจารย์นั่นก็คือวัตรปฏิบัติ การปฏิบัติตนของท่าน อันนี้มันเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าคำสอน คำสอนนี่พูดให้ดีอย่างไรก็ได้ จดจำมาจากพระไตรปิฎกก็ได้ แต่ว่าสิ่งที่จะแสดงถึงความเป็นครูบาอาจารย์ที่เราจะเรียนรู้ได้ ก็จากการประพฤติปฏิบัติของท่าน ซึ่งเราก็มักจะสรุปด้วยคำว่า ทำให้ดู อยู่ให้เห็น อันนี้มันจะแสดงถึงความเป็นของจริงมากกว่า คำพูดนี่มันก็ประดิดประดอยได้ มันไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นของจริงเสมอไป บางท่านนี่ท่านก็เข้าถึงธรรม รู้แจ้ง แต่ว่าท่านก็ไม่สามารถจะสอนได้ มีข้อจำกัดในเรื่องการถ่ายทอด อย่าว่าแต่ครูบาอาจารย์ที่เป็นปุถุชนหรือแม้แต่อริยบุคคลเลย แม้กระทั่งพระพุทธเจ้าที่เราเรียกว่าปัจเจกพุทธเจ้า ท่านเป็นถึงพระพุทธเจ้า แต่ว่าท่านสอนไม่ได้ สอนไม่เป็น มีข้อจำกัดในการพูด ในการถ่ายทอด แต่ว่าการปฏิบัติของท่านสามารถที่จะเป็นแบบอย่างที่ดีที่ประเสริฐให้กับเราได้
ลักษณะหนึ่งของครูบาอาจารย์ ที่จริงเรียกว่าสองลักษณะดีกว่าที่มาควบคู่กัน ที่อยากจะพูดให้เป็นข้อสังเกตคือว่า ในด้านหนึ่งท่านก็มีวัตรปฏิบัติที่งดงามแต่อีกด้านหนึ่งท่านก็มีความมั่นคงเข้มแข็ง เวลาพูดถึงความเข้มแข็ง เราก็มักจะหมายถึงของที่มันหยาบ ที่มันกระด้าง แต่สำหรับครูบาอาจารย์ความเข้มแข็งของท่านมาพร้อมกับความงดงาม ความประณีต ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมก็เช่นว่า เวลาท่านจะทำอะไรท่านก็ทำด้วยความใส่ใจ ระแวดระวัง ไม่ส่งเสียงดัง ทำเบาๆ จนบางทีเหมือนกับว่า ไม่ได้มีท่านอยู่ในที่นั้นด้วย เพราะว่าไม่ได้ยินเสียง ไม่ได้แปลว่าท่านจะทำเนิบช้า ท่านก็ทำคล่องแคล่วแต่ว่าระมัดระวัง ไม่ทำให้เกิดเสียงรบกวนผู้อื่น อันนี้เรียกว่า ความงดงาม
แต่ว่าเวลามีคนส่งเสียงดังให้ท่านได้ยิน ท่านกลับสงบ ไม่ได้ขุ่นเคืองใจ ในขณะที่ท่านมีพฤติกรรมที่ไม่รบกวนผู้อื่น แต่ว่าเวลาใครมารบกวนท่าน ท่านกลับสงบนิ่ง ไม่รู้สึกทุกข์ร้อนด้วย เวลาท่านพูด ท่านก็พูดด้วยวาจาที่ไพเราะ สุภาพ แต่เวลามีคนมาใช้วาจาหยาบคายกับท่าน กล่าวหาใส่ร้ายท่าน ท่านกลับสงบ
อันนี้มันเหมือนกับว่าเป็นคุณสมบัติที่ขัดแย้งกันในตัว คือในด้านหนึ่งก็สงบเรียบร้อย ในด้านหนึ่งก็เข้มแข็ง อย่างหลวงพ่อคำเขียน เท่าที่อยู่กับท่านมา 30 กว่าปีก็ไม่เห็น ไม่เคยได้ยินท่านว่าร้ายใคร แต่ท่านกลับพูดจาสุภาพด้วย แต่ว่าเวลามีคนใส่ร้ายกล่าวหาท่าน ท่านกลับเฉย ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมานี่ท่านก็โดนใส่ร้ายมาก เพราะว่าตอนนั้นท่านก็ยังไม่ได้เป็นพระที่มีคนรู้จักมาก อายุท่านก็ 40 ปีกว่าก็เรียกว่าเป็นพระหนุ่ม ท่านทำในสิ่งที่พระหลายรูปไม่ทำ เช่น ใส่ใจพัฒนาชุมชน ตั้งศูนย์เด็ก มีการทำสหกรณ์เพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน สมัยนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดา
แต่สมัยก่อนก็เป็นเรื่องที่ไม่ใช่แปลกอย่างเดียว น่าระแวงด้วย เพราะว่าสมัยโน้นพื้นที่แถวนี้ก็เป็นเขตสีชมพู เป็นเขตทำงานของฝ่ายคอมมิวนิสต์ เจ้าหน้าที่รัฐบาลก็จับตามองผู้คนบนหลังเขา ใครขึ้นมาก็เรียกได้ว่าถูกจับตา จำได้ว่าสมัยที่อาตมาขึ้นมาหาหลวงพ่อปี 23 ท่านต้อนรับอย่างดี แต่มัคทายกระแวง เพราะนึกว่าเราเป็นนักศึกษา พอคิดว่าเป็นนักศึกษาก็คิดว่าเป็นพวกแนวร่วมคอมมิวนิสต์ มาขอซักถามรายละเอียดอย่างชัดอย่างละเอียด ชื่ออะไร บ้านอยู่ไหน ทำงานที่ไหน ขอดูบัตรประชาชนอะไรต่างๆ เป็นต้น แต่ว่าเพราะฉะนั้นหลวงพ่อพอท่านอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ก็ถูกระแวง แล้วไม่ได้ถูกระแวงเปล่าๆ ถูกใส่ร้ายด้วย คนที่ไม่ได้รับประโยชน์จากงานที่ท่านทำ ท่านมีทำสหกรณ์ข้าวได้เงินมา คนถวายเงินมาเป็นแสน
เมื่อสี่สิบปีที่แล้ว เงินเป็นแสนนี่ถ้าเทียบกับสมัยนี้ก็เป็นล้าน ชาวบ้านหลายคนที่เป็นผู้นำก็คงตาวาว แต่พอไม่สามารถจะหาผลประโยชน์จากเงินก้อนนี้ได้ก็ไม่พอใจท่าน กล่าวร้ายท่าน ใส่ร้ายท่าน ก็เห็นหลวงพ่อท่านก็นิ่งเฉย ไม่มีอาการทุกข์ร้อนอะไร อันนี้ก็เป็นลักษณะของครูบาอาจารย์ คือว่าในด้านหนึ่งก็สุภาพกับผู้คน ไม่ใส่ร้าย แต่เวลาถูกใส่ร้ายบ้างก็ไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไร
ครูบาอาจารย์ทุกท่านไม่มีความคิดหรือไม่เคยที่จะไปเบียดเบียนใคร ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ใคร แต่เวลามีคนมาสร้างความเดือดร้อนบางทีถึงขั้นมาทำร้าย ท่านก็สงบ สงบนิ่ง อย่างหลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร อดีตเจ้าอาวาสวัดถ้ำยายปริก เกาะสีชัง มีคราวหนึ่งมีพระนักเลงถือไม้หน้าสามมาหาท่านที่กุฏิแล้วถามว่า ท่านแน่หรือ หลวงพ่อท่านก็ไม่อยากหาเรื่อง ก็บอกว่า ผมไม่แน่ แต่แทนที่พระรูปนั้นจะอยู่เฉย ก็กลับเอาไม้หน้าสามฟาดท่าน ไม่ได้ฟาดทีเดียว ฟาดหลายที หลวงพ่อประสิทธิ์ท่านก็ไม่ตอบโต้ ท่านกลับยืนนิ่งให้พระรูปนั้นฟาดด้วยซ้ำ ในใจท่านก็นึกพิจารณาว่า เนื้อหนังมังสาเป็นของเน่าเปื่อย อันนี้ก็แสดงว่า ท่านไม่ได้มีความยึดติดถือมั่นกับร่างกายนี้เลย โดนฟาดจนกระทั่งเลือดชุ่มจีวร ท่านก็กลับมองว่า ดีเหมือนกัน เลือดเราออกมันจะได้ล้างธรณีสงฆ์ สุดท้ายชาวบ้านนี่มาห้ามเอาไว้ มากันเอาไว้
อันนี้ก็เป็นตัวอย่างว่า แม้ว่าท่านจะไม่เบียดเบียนใคร เพราะว่าท่านมั่นคงในศีลในวินัย แต่ครูบาอาจารย์ที่แท้จริง แม้ถูกทำร้าย ท่านก็ไม่ตอบโต้ด้วยซ้ำหรืออย่างน้อยก็ไม่ทำร้ายกลับ แล้วก็ไม่ได้ทุกข์ร้อนด้วย อันนี้เป็นเพราะว่าท่านมีจิตใจที่มั่นคงเข้มแข็งด้วยอำนาจของขันติธรรม แต่คิดว่าท่านมีมากกว่านั้น คือท่านมีสติ มีเมตตากรุณาแล้วก็มีปัญญาด้วย
ปัญญานี่ทำให้ท่านมองว่า คำต่อว่าด่าทอก็ดี ค่าใส่ร้ายก็ดี มันเป็นเรื่องธรรมดา เป็นโลกธรรม ไม่มีใครที่จะหลีกพ้น เป็นธรรมดาโลก โลกธรรมมันแปลหมายถึงธรรมดาโลก ขนาดพระพุทธเจ้าก็ยังโดนมาแล้ว หนักกว่านี้มาก ท่านโดนใส่ร้ายก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร อีกส่วนที่สำคัญคือท่านมีความยึดติดในตัวตนน้อย คนเรานี่ถ้ายึดติดในตัวตนน้อยหรือว่ามีความยึดติดถือมั่นในตัวกูของกูน้อย จะด่ายังไงก็เฉย ที่ไม่เฉยก็เพราะว่ามันยังมีความยึดติดในตัวตน ยังห่วงใยภาพลักษณ์ ห่วงใยหน้าตารวมไปถึงศักดิ์ศรีด้วย พอถ้าถูกใส่ร้ายหรือถูกด่าว่าก็รู้สึกว่าตัวตนมันถูกกระทบ
ที่จริงไม่ต้องใส่ร้ายหรอก แค่ไม่ชมนี่ก็รู้สึกกระเทือนแล้ว ถ้าไม่มีคนชมก็ต้องพยายามหาเรื่องให้คนชม ว่าฉันเก่งอย่างโน้น ฉันเก่งอย่างนี้ คนจะได้ชมฉัน อันนี้มันก็แสดงว่ายังมีความยึดติดในตัวตนอยู่ แล้วถ้ายังมีความยึดติดในตัวตนก็ย่อมธรรมดาเวลาถูกด่าว่า ถูกใส่ร้ายก็ยิ่งโกรธ ยิ่งโมโห ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องการถูกทำร้ายทางกาย แต่ถ้าคนนี้เข้าถึง มีปัญญา ถ้าไม่มีความยึดติดในตัวตน ไม่ได้คิดว่าร่างกายนี้เป็นกูเป็นของกูก็จะฟาดยังไงท่านก็ไม่มีความโกรธแค้น ท่านอาจจะเห็นไปถึงขั้นว่า มันมีแต่กายที่ปวด แต่ใจไม่ได้ปวดด้วย
อันนี้ก็เรียกว่า มีปัญญาถึงขั้น จนกระทั่งจิตมันไม่ไปยึดเอาทุกขเวทนาหรือความปวดของกายมาเป็นความปวดของกู ซึ่งมีแต่ทำให้จิตมันทุกข์มากขึ้น กายปวดก็ปวดไป ใจไม่ทุกข์ พอใจไม่ทุกข์แล้วมันก็ไม่มีความโกรธ ไม่มีความพยาบาท ไม่มีความคิดที่จะตอบโต้แก้แค้น เพราะฉะนั้นจิตใจก็มั่นคงได้ อันนี้ก็เป็นลักษณะบางประการของครูบาอาจารย์ที่เราน่าจะนำมาพิจารณามาเป็นแบบอย่างได้ในแง่ที่ว่า เวลาเราจะฝึกฝนพัฒนาตน เราต้องพยายามรักษากายวาจาของเราไม่ให้ไปเบียดเบียนผู้อื่น
ศีลมันก็เรียกว่าเป็นรั้วหรือเป็นเครื่องคอยตักเตือน ไม่ให้เราใช้กายวาจาไปเบียดเบียนผู้อื่น คราวนี้เมื่อรักษาศีลดีแล้ว ถามว่าพอมั้ย มันยังไม่พอ ถึงแม้เราไม่ไปเบียดเบียนใคร ไม่ไปรบกวนใครให้เดือดร้อน แต่ว่าถ้ามีคนมารบกวนเรา มาเบียดเบียนเรา แล้วเราเกิดเป็นทุกข์ขึ้นมา อันนี้ก็เรียกว่ายังปฏิบัติได้ไม่ครบถ้วน ถ้าจะปฏิบัติอย่างครบถ้วนคือว่า นอกจากจะรักษาศีลให้ดี ไม่ไปเบียดเบียนใคร แต่เวลาถูกเบียดเบียน ใจก็ไม่ทุกข์ อันนี้เรียกว่ามันเป็นสิ่งที่เราจะต้องพัฒนาตนเองไปให้ถึง
มันก็เหมือนกับเวลาเรามาให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตนไม่ให้ไปรบกวนคนอื่น ไม่ส่งเสียงรบกวนคนอื่น อันนี้มันก็เป็นมารยาทขั้นพื้นฐาน การทำอะไรที่ไม่ไปรบกวน ไม่ส่งเสียงรบกวนผู้อื่น ยิ่งมาเป็นนักปฏิบัติแล้ว เวลาเดินก็ดี เวลาฉันก็ดี เวลาพูดคุยก็ดี นี่ก็ไม่ส่งเสียงดัง ยิ่งในสำนักที่เป็นสำนักปฏิบัติในการใช้เสียงก็ต้องระมัดระวัง มันก็ต้องใช้สติ แต่เวลามีคนส่งเสียงดัง เราก็ต้องรักษาใจเราไม่ให้ทุกข์
นักปฏิบัติหลายคนพยายามระมัดระวังในการใช้เสียง ไม่ว่าการเดิน การขบฉัน การปัดกวาดทำความสะอาดที่พัก การพูดคุย ก็ระมัดระวังไม่ใช้เสียง แต่พอมีเสียงดังมากระทบหูจะขุ่นเคือง อาจจะเป็นเสียงดังที่เกิดจากการพูดคุยของคนอยู่รอบข้าง คนที่พักในห้องข้างๆหรือว่าเสียงรถยนต์ เสียงมอเตอร์ไซต์หรือว่าเสียงจากลำโพงในหมู่บ้าน อันนี้เห็นได้เยอะ สังเกตได้เยอะ พยายามรักษา ระงับไม่ให้ส่งเสียงดังรบกวน ตัวเองพยายามระมัดระวังไม่ให้เกิดเสียงดัง แต่พอเจอเสียงดังบ้าง ทำใจไม่ได้ขุ่นเคือง อันนี้เรียกว่า ทำดีได้ครึ่งหนึ่ง ครึ่งหนึ่งก็คือว่าเราไม่ไปรบกวนคนอื่น เราระมัดระวังไม่ไปรบกวนคนอื่น แต่ว่าไอ้ที่ยังไม่ได้ทำหรือยังทำได้ไม่ดีคือพอคนอื่นมารบกวนเรา เราขุ่นเคืองใจ
นักปฏิบัติจะต้องทำให้ได้ดีทั้งสองอย่าง ก็คือว่าหนึ่งเราไม่รบกวนใคร สองถ้ามีคนมารบกวนเรา เราไม่ทุกข์ หลายคนใส่ใจเคร่งครัดในการรักษาศีล พยายามทำให้ศีลทั้งข้อ1 ข้อ5 นี่สมบูรณ์ไม่ขาดตกบกพร่อง แต่ว่าเวลามีคนมาละเมิดศีล ส่งผลมารบกวนหรือรังแกตัวเองกลับทำใจไม่ได้ เช่น อุตส่าห์รักษาศีลดี แต่ว่าถูกโกง ก็จะบ่นตีโพยตีพายว่าทำไมฉันทำบุญรักษาศีล ทำไมจึงต้องมาเจอเรื่องแบบนี้ หรือบางทีไม่ใช่มีใครมาทำร้ายเราด้วยเจตนา แต่ว่าด้วยความไม่ตั้งใจ เช่น เกิดอุบัติเหตุรถชน ก็จะตีโพยตีพาย ก็จะอ้างว่า ฉันอุตส่าห์รักษาศีลทำความดี แต่ทำไมต้องมาเจอเคราะห์กรรมแบบนี้ ยังไม่ต้องพูดถึงเจอภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม อันนี้ก็เรียกว่าไม่สามารถจะทำจิตใจให้มั่นคงเข้มแข็งได้ อันนี้ก็เรียกว่า ยังทำไม่ดีพอ เพราะว่าถ้าเป็นชาวพุทธ ในด้านหนึ่งเราก็รักษาศีล ดูแลพฤติกรรม การกระทำทางกายวาจาของเราไม่ให้ไปเบียดเบียนใคร
แต่ถ้าใครมาเบียดเบียนเรา เราก็ต้องฝึกใจให้เข้มแข็งมั่นคง คือไม่ทุกข์ อันนี้ก็เป็นเรื่องภาวนาโดยตรง การไม่ไปเบียดเบียนใครก็เรื่องศีล แต่ถ้าเกิดถูกคนมาเบียดเบียนแล้วจิตใจเป็นปกติมั่นคงก็ต้องอาศัยการภาวนา หมายความว่า รักษาศีลยังไม่พอ ยังต้องภาวนาด้วย ต้องภาวนาถึงขั้นที่เรียกว่า แม้มีคนมาทำร้าย แม้มีคนมารบกวน ใจก็ไม่ทุกข์ ไม่บ่นโวยวาย ตีโพยตีพาย แล้วก็ไม่เกิดโทสะ ทำดีกับใคร อันนี้เป็นเรื่องดี แต่ถ้าเค้าทำไม่ดีกับเรา เค้ามาใส่ร้ายเรา เราก็ไม่ทุกข์
ฉะนั้นเราต้องปฏิบัติถึงขั้นนี้ อันนี้ถึงจะเรียกว่า เราเดินตามรอยครูบาอาจารย์หรือว่าเราเป็นผู้ที่มีการศึกษาที่มีพัฒนาการ จะว่าไปแล้วคนเรา พัฒนาการคนเรามันก็สามารถที่จะดูได้จากตรงที่ว่าหนึ่ง เบียดเบียนผู้อื่นหรือเปล่าและสอง ผู้อื่นเบียดเบียนแล้ว เราเป็นทุกข์มั้ย คนที่ชอบเบียดเบียนผู้อื่น ส่วนใหญ่เกือบร้อยทั้งร้อย พอถูกเบียดเบียนบ้างก็จะโวยวาย ตีโพยตีพาย โกรธ โมโห ทุกข์ คนที่ไม่มีศีล ไปฆ่าสัตว์ ไปทำร้ายคน ไปลักขโมย ไปประพฤติผิดในกาม โกหกใส่ร้าย เวลาถูกคนเค้าทำกับตัวเองบ้าง มาทำร้ายตัวเองหรือว่าโกงเงิน เอาทรัพย์สมบัติ แย่งชิงไปหรือว่าเค้ามาเป็นชู้กับเมียตัว หรือว่าเค้ามาโกหกใส่ร้าย โอ ทนไม่ได้ อันนี้เรียกว่า แย่สุด คือหนึ่ง ทำร้ายคนอื่น สอง เวลาถูกทำร้าย ใจก็ทุกข์ อันที่ดีกว่าก็คือ ไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่รบกวนผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรักษาศีล การใช้เสียงหรือว่าเรื่องอื่นๆ ที่มันนอกเหนือจากการไปเบียดเบียนในลักษณะของการผิดศีล
อันนี้ถือว่าดี แต่ถ้าเกิดว่ามีคนมารบกวนตัวเอง ละเมิดศีลส่งผลกระทบต่อตัวเองหรือว่าส่งเสียงดัง กล่าวหาใส่ร้ายตัวเอง แล้วทุกข์ อันนี้ถือว่า ดีหนึ่งแต่ว่าอีกอันหนึ่งยังไม่ดี ดีแค่หนึ่ง อันนี้ก็ยังเรียกว่า ดีกว่าประเภทแรกก็คือพวกที่ผิดศีล แล้วก็พอคนอื่นเค้ามารบกวน มาเบียดเบียนก็ทุกข์ แต่ว่าประเภทว่าไม่เบียดเบียนใคร แต่พอคนมาเบียดเบียนหรือมารบกวนตัวเองแล้วเป็นทุกข์ อันนี้ยังไม่ดีพอ ต้องประเภทที่สามคือว่า ไม่เบียดเบียนใครด้วย ไม่รบกวนใครด้วยและถึงแม้จะถูกรบกวน ถูกเบียดเบียน ใจก็ไม่ทุกข์ ไม่เอะอะโวยวาย ไม่ตีโพยตีพาย แล้วก็ไม่โกรธด้วย
ตรงนี้แหละเป็นสิ่งที่นักปฏิบัติควรใส่ใจ เพราะว่าเท่าที่เห็นหลายคน ไม่ใช่เฉพาะที่นี่ ที่อื่นด้วย ในด้านหนึ่งก็รักษากายวาจาให้ดี ไม่ไปเบียดเบียนใคร แต่ว่าใจไม่ได้รักษาให้ดีเพียงพอ พอถูกเบียดเบียนเข้าก็เป็นทุกข์ ตัวอย่างง่ายๆ เราไม่ส่งเสียงรบกวนใคร แต่พอคนอื่นมาส่งเสียงรบกวนเราเราหงุดหงิด งุ่นง่าน ตีโพยตีพาย เราไม่ว่าร้ายใคร แต่พอคนอื่นมาว่าร้ายเรา เราโมโห เราขุ่นเคืองใจ
นักปฏิบัติธรรมถ้ายังทำได้แค่นี้ ยังถือว่ามีการบ้านที่ต้องฝึก อย่าพอใจเพียงแค่ว่าฉันรักษาศีลดี ศีลฉันไม่บกพร่องแล้ว แต่ว่าถ้าใครมาทำอะไรฉันนี่ โกรธ โมโห เพียงแค่นินทาก็ไม่พอใจแล้ว บางที่คิดอยากจะตอบโต้ อยากจะว่าร้ายกลับ อันนี้เรียกว่ายังไม่ได้ฝึกที่ใจของตัวเอง ฝึกแค่ที่กายวาจา
ท่านถามตัวเองว่า เราทำได้ขั้นไหนแล้ว เราทำได้แค่ขั้นที่สองหรือเปล่า หรือว่าทำได้ถึงขั้นที่สาม ขั้นที่สองหมายความว่า เราไม่ไปเบียดเบียนรบกวนใคร แต่เรายังทุกข์เมื่อมีคนมาเบียดเบียนรบกวนเรา ไม่ว่าจะว่าร้าย ใส่ร้าย หรือว่าลักขโมย คดโกงทรัพย์สมบัติของเราหรือเอาของรักของหวงของเราไป หรือมาทำร้ายตัวเรา เพราะฉะนั้นอย่ามองข้ามประเด็นนี้เพราะว่าจะไปเข้าใจว่า คนเราพอทำดีแล้ว มันจะมีคนทำดีกับเราด้วย
อันนี้นักปฏิบัติธรรมหรือว่าผู้รักษาศีลหลายคนมีความเข้าใจแบบนี้ว่า ในเมื่อฉันทำดีแล้ว คนอื่นก็จะดีกับฉันด้วย ที่จริงการทำดีของเรามันก็เป็นปราการที่จะคอยป้องกันไม่ไห้ความทุกข์ความร้อนเข้ามาเล่นงาน รังควานเรา แต่มันก็ไม่สามารถจะป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ กำแพงความดีของเรามันไม่สามารถจะป้องกันความชั่วร้ายหรือว่าทุกข์ภัยไม่ให้มาถึงเราอย่างสิ้นเชิง ป้องกันได้แค่หกสิบ เจ็ดสิบ แปดสิบเปอร์เซ็นต์ แต่มันก็ต้องมียี่สิบเปอร์เซ็นต์เล็ดลอดมาได้
ขนาดพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ทำความดี เรียกว่าไม่เคยมุ่งร้ายต่อใคร มุ่งแต่บำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น เพราะประโยชน์ตนพระองค์ทำเสร็จสิ้นแล้ว เสร็จกิจแล้ว พระองค์มีพระกรุณาเมตตายิ่งใหญ่แล้วยังมีคนไม่แค่ใส่ร้ายท่าน แต่ถึงขั้นทำร้ายจะเอาชีวิต หมายปองชีวิต แล้วบางทีก็ไม่ใช่คนไกล คนใกล้พระเทวทัต คนไกลก็มีพวกอัญญเดียรถีย์ พวกที่มีลัทธิตรงข้ามกับพระองค์ นี่ขนาดพระองค์เป็นบุรุษที่ประเสริฐอย่างยิ่งก็ยังไม่สามารถจะหลุดพ้นการเบียดเบียน การรบกวน การทำร้ายได้ แล้วเราซึ่งเป็นปุถุชน เพียงแค่มีศีลดี มั่นใจในศีลของตัวเอง แล้วถ้าไปเผลอคาดหว่งว่าจะไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับเรา อันนี้ก็แสดงว่ายังขาดปัญญา ขาดปัญญาในแง่ที่ว่า เหตุร้ายเหล่านี้มันเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในการควบคุมของเราและความดีของเรา ไม่ว่าจะมีมากแค่ไหนมันก็ไม่สามารถจะป้องกันไม่ให้คนชั่วร้ายหรือคนที่คิดร้ายมาทำร้ายเราได้
อันนี้ไม่ต้องพูดถึงทุกข์ภัยอย่างอื่น เช่น ความแก่ ความเจ็บ โรคภัยที่ร้ายแรงหรือว่าอันตรายจากภัยธรรมชาติ ความพลัดพรากสูญเสีย พวกนี้ไม่ใช่เรื่องว่าใครมาทำร้ายเรา แต่ว่ามันเป็นเหตุการณ์ธรรมชาติ หลายคนพอทำความดี ให้ทาน รักษาศีลมากก็ไปมีความคาดหวังว่า เรื่องแบบนี้ต้องไม่เกิดขึ้นกับฉัน อันนี้ก็เป็นความหลง อวิชชาอย่างหนึ่ง ไม่เข้าใจว่าโลกมันไม่ได้อยู่ในการควบคุมของเรา คนในโลกนี้ก็ต่างจิตต่างใจ คนดีก็มี คนชั่วก็มี คนชั่วนี่ก็อาจจะเห็นเราเป็นเป้าก็มาเบียดเบียนเรา แต่ว่าข้อสำคัญคือว่า เค้ามาเบียดเบียนเรา เขามาเบียดเบียนแต่กาย แต่ว่าใจไม่ทุกข์ เขามาเบียดเบียนเอาทรัพย์สมบัติของเราไป แต่ใจเราไม่ทุกข์
อันนี้เป็นการบ้านสำหรับชาวพุทธสำนักปฏิบัติธรรม ซึ่งต้องอาศัยการภาวนา ภาวนาให้มีสติจนกระทั่งสามารถจะไม่ปล่อยใจให้จมอยู่ในความทุกข์ รักษาจิตไม่ให้กระเพื่อมเวลามีอะไรมากระทบกายหรือว่ามีวาจามากระทบหู หรือว่ามีคนมารบกวน ดูแลใจไม่ให้เป็นทุกข์ได้ หรือว่าถ้ามีปัญญา พัฒนาปัญญาจนถึงขั้นว่า ไม่มีความยึดติดในตัวกู ของกู ไม่ว่าใครมาทำอะไรก็ไม่รู้สึกว่ามาโดนกูซักที ไม่ว่าจะทำอะไรก็ไม่มีคำว่า มากระทบตัวกูเลย
อย่างหลวงพ่อประสิทธิ์ ตอนที่ท่านมาเปิดสร้าง วัดถ้ำยายปริกใหม่ๆ คนที่ไม่เห็นด้วยก็มีมาก แล้วส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่คนดี เป็นพวกนักเลงอันธพาล อยากจะได้ประโยชน์จากที่วัด ก็พยายามหาทางกลั่นแกล้งพระ เพื่อขับไล่พระออกไปจากวัด แต่หลวงพ่อประสิทธิ์ท่านก็ไม่ยอม ท่านก็เห็นว่า วัดนี้มันเป็นประโยชน์กับผู้คน ไม่ใช่เฉพาะพระสงฆ์แต่รวมถึงแม่ชีด้วย ถูกกลั่นแกล่งยังไงท่านก็ไม่ท้อถอย แต่พวกนั้นก็หาทางแกล้ง ใส่ร้าย ด่าว่า บางทีพระบิณฑบาตก็แกล้งมาเดินชนจนกระทั่งบาตรตก หลวงพ่อประสิทธิ์ท่านก็เคยโดนชนจนกระทั่งหกล้ม แต่ท่านก็ไม่ได้โกรธแค้นหรือไม่ได้ท้อถอย
มีอยู่วันหนึ่งท่านเดินเข้าไปในหมู่บ้านผ่านหน้าบ้านของนักเลงคนหนึ่ง นักเลงคนนั้นพอเห็นหลวงพ่อเดินผ่านก็ถือว่า หมูมาชนปังตอแล้ว ก็เลยด่าว่าท่าน ได้โอกาสด่าว่าท่าน ด่าว่าแรงๆ คนเราเวลาพอถูกด่าว่าก็มักจาทำสองอย่าง ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง คือหนึ่ง ทำหูทวนลม สอง โกรธ ด่ากลับ หลวงพ่อประสิทธิ์นี่ท่านไม่ทำทั้งสองอย่าง ท่านเดินเข้าไปหาผู้ชายคนนั้น พอไปถึงตัวก็จับแขนเขย่า มึงด่าใคร ผู้ชายคนนั้นก็บอกว่า ก็ด่ามึงน่ะสิ พูดกับพระ หลวงพ่อประสิทธิ์ได้ยินก็ยิ้ม แล้วพูดว่าแล้วไป ที่แท้ก็ด่ามึง อย่าด่ากูแล้วกัน คือถ้าคนที่ไม่มีตัวตน ถูกด่ายังไงก็ไม่รู้สึก แถมยังสามารถจะพูดให้คนฟังงงว่า ตกลงกูด่าใครกันแน่วะ แต่ถ้ามีตัวตน มันจะรับเอาคำด่าเข้ามาเต็มเปาเลย เปิดตัวกู ชูตัวกูให้คำด่ามากระแทกอย่างแรง แต่คนที่มีตัวตนน้อยหรือไม่มีตัวตน ด่ายังไงก็ไม่ถูกตัวแม้จะด่าตรงๆก็ไม่ได้เดือดร้อน เหมือนอย่างที่หลวงพ่อประสิทธิ์ว่า ดีแล้วอย่าด่ากูแล้วกัน ที่แท้ก็ด่ามึง อย่าด่ากูแล้วกัน ไอ้ที่ด่าๆไปนี่ไม่โดนตัวท่านเลย เพราะว่าท่านไม่มีตัวตนที่จะชูที่จะยึด