แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ร่างกายคนเราหรือพูดให้ถูกให้คลุมมากกว่านั้น ก็คือชีวิตของคนเรา มันก็ทำแค่สองอย่างเท่านั้น ก็คือ หลับกับตื่น หลังจากหลับแล้วก็ตื่น แล้วพอตื่นแล้วก็หลับ คนเราหากอายุ 60 ปี 20 ปี ก็หมดเวลาไปกับการหลับ อีก 40 ปี ก็อยู่ในภาวะตื่น ที่เราทำอะไรต่ออะไรมากมายก็ทำในภาวะที่ตื่นนั่นล่ะ อันนี้หลับ ส่วนใหญ่ก็หลับ เมื่อเรานอนเรานอนก็เพื่อที่จะหลับ ต่อเมื่อลุกขึ้นมา เราจึงจะทำโน่นทำเพราะว่ามันตื่นแล้ว แต่บางครั้ง ถึงแม้ว่าไม่ได้นอน เราก็หลับ ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถนั่งก็อาจจะหลับได้ ถ้าไม่ได้ทำอะไร ก็จะผล็อยหลับ
มันมีคนบางประเภทว่า ถ้านิ่งเป็นหลับ ต่อเมื่อขยับจึงตื่น หมายความว่า พอนิ่งเช่นไม่ได้พูดไม่ได้คุยอะไรไม่ได้ทำอะไร ก็จะหลับ ก็จะมีคนประเภทนี้ถ้าไม่ได้คุยไม่ได้สนทนา ถ้าอยู่นิ่ง ๆ แม้แค่ฟังเฉย ๆ ก็หลับไปแล้ว เรียกว่า นิ่งเป็นหลับ ขยับเป็นตื่น แต่ก็ดีกว่าคนบางประเภท เพราะบางที่เขาพูดแดกดัน เราอาจจะเคยได้ยิน นิ่งเป็นหลับ ขยับเป็นแดก แบบว่าเมื่อตื่นขึ้นมาเมื่อไหร่ก็กินอย่างเดียว เขาพูดแดกดันว่านิ่งเป็นหลับขยับเป็นแดก แต่พวกเราไม่ได้เป็นอย่างนั้นอยู่แล้วเพราะถ้าเป็นก็คงจะไม่ได้มาที่นี่
เพราะที่นี่การกินมันไม่ได้สะดวกสบายหรือว่าทำได้พร่ำเพรื่อเท่าไหร่ มานี่ก็ต้องเป็นคนที่ไม่เห็นแก่กินอยู่แล้ว แต่ถึงมาก็อาจอยู่ในประเภทที่เพิ่งพูดว่า นิ่งเป็นหลับ ต่อเมื่อขยับจึงตื่น อย่างเช่นว่า พอไม่ได้ทำวัตร พอไม่ได้สนทนา พอไม่ได้เดินจงกรม เพียงแค่นั่งนิ่งๆ นั่งฟังธรรม นั่งไปได้ 5 นาที 10 นาที ก็ผล็อยหลับแล้ว ต่อเมื่อขยับ ขยับตัวลุกขึ้นสร้างจังหวะเดินจงกรมจึงค่อยตื่น แต่บางทีแม้จะนั่ง สร้างจังหวะหรือเดินจงกรมก็หลับได้
บางทีพวกเราเคยประสบเพราะว่าถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอนมันครอบงำ อันนี้มันก็เป็นเพราะว่าใจมันไม่มีสิ่งเร้า โดยเฉพาะคนที่ออกมาจากบ้าน เคยอยู่เมืองแล้วมาอยู่วัด ในบ้านในเมืองมันมีแสงสีเสียงคอยกระตุ้นเร้าจิตใจให้ตื่น บางที่เติมกาแฟเติมชาเข้าไปด้วย ติดกาแฟก็ตื่น แต่พอมาวัด แสงสีเสียงมันก็มีน้อย แล้วมันก็ซ้ำๆ กัน อย่างเช่น เสียงมันก็เสียงแมลง เสียงมันไม่ได้กระตุ้นให้ตื่นเท่าไหร่ มันไม่มีเสียงคุย เสียงดัง ภาพที่เห็นก็เป็นภาพซ้ำๆ ก็เขียว ไปที่ไหนก็เขียว เขียวของใบไม้เขียวของต้นไม้ มันไม่มีอะไรวูบวาบ แล้วมันก็อยู่นิ่งๆ ไม่เหมือนภาพที่เราเห็น ในเมืองมันมีรถแล่นขวักไขว่ ผู้คนเดิน สีสันดูน่าสนใจ แปลกหูแปลกตา แถมมีโทรทัศน์ มีโทรศัพท์ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีภาพเคลื่อนไหว แทบจะทุกวินาที ก็กระตุ้นให้ใจมันตื่น พอมาปฏิบัติ แม้จะยกมือสร้างจังหวะแม้จะเดินจงกรม แต่เพราะว่าใจมันอยู่กับอารมณ์เดียว ก็คือรู้สึกถึงการเคลื่อนไหว ใจมันก็ง่วงขึ้นมา เพราะมันถนัดกับการถูกปลุกถูกเร้าด้วยแสงสีด้วยเสียงหรือด้วยผัสสะอายตภายนอกที่แปลกใหม่
แต่พอปฏิบัติไปๆ ก็ใจมันก็ปรับตัวได้ ความง่วงเหงาหาวนอน ความเบื่อหน่ายก็ลดลงเวลาปฏิบัติก็จะตื่น แต่ก็ต้องระวังเพราะว่าพอไม่ปฏิบัติ พอไม่ยกมือ ไม่สร้างจังหวะอยู่นิ่งๆ ไม่ทำอะไร เช่น นั่งฟังคำบรรยาย บางทีฟังไปได้ 5 นาที 10 นาที ก็หลับแล้ว ทั้งๆ ที่ยังไม่มืด บางทีมาหลับเอาตอนฟังธรรมก่อนฉันก็มี ก่อนฉันก็เจ็ดโมงครึ่ง กลับมาจากบิณฑบาต ตอนบิณฑบาตก็ตื่นกระฉับกระเฉง แต่พอมานั่งฟังธรรมก่อนฉันน่ะ ไม่ถึง 5 นาที หลับแล้ว อันนี้เรียกว่า นิ่งเป็นหลับ ขยับจึงตื่น อันนี้แสดงว่าการปฏิบัติมันยังไม่ปลุกใจเราให้ตื่นมากเพียงพอ ทั้งๆ ที่การปฏิบัติที่นี่มันเน้นให้ปลุกใจเราให้ตื่น มันไม่เน้นที่ความสงบ เปิดตา มือเคลื่อนไหว เท้าก้าวเดิน เพื่อปลุกให้เกิดความรู้สึกตัว ให้เกิดความตื่นตัวขึ้น
ที่จริงถ้าปฏิบัติแบบนี้แม้จะนิ่ง ความรู้สึกตัวก็ยังคงอยู่ในจิตใจ ถึงแม้นิ่งก็ยังตื่นไม่หลับ แต่ถ้าหลับทุกครั้งที่นิ่งแสดงว่าการปฏิบัติของเราอาจจะผิดก็ได้ คือเราปฏิบัติไม่ได้มุ่งกระตุ้นให้เกิดความตื่น แต่ไปเอาความสงบ พออยู่นิ่งๆ ก็หลับตา พอหลับตาก็ยิ่งง่วงเข้าไปใหญ่ เพราะว่าความรู้สึกตัวมันก็มีน้อยอยู่แล้ว ถ้าคนมีปัญหานี้ เวลาง่วงลองเปิดตาดู มันก็จะช่วยให้แม้จะนิ่งก็ยังไม่ถึงกับหลับ แต่ถ้านิ่งแล้วหลับ แล้วไปปิดตาด้วยมันก็ยิ่งหลับเข้าไปใหญ่ ถีนมิทธะครอบงำ
บางคนปฏิบัติมาเป็นสิบปีก็ยังไม่หลุดจากขั้นตอนนี้ นิ่งเป็นหลับ ขยับจึงตื่น อันนี้ก็อาจจะเป็นเพราะว่าปฏิบัติผิดก็ได้ เพราะถ้าปฏิบัติถูกใจมันต้องตื่น ไม่ใช่ตื่นเฉพาะเวลาขยับเวลาเคลื่อน แม้แต่เวลานิ่งใจมันก็ยังตื่น ความรู้สึกตัวมันก็ยังคงอยู่ในจิตใจมันไม่ใช่ว่าประเดี๋ยวประด๋าว ถ้าความรู้สึกตัวมันค้างอยู่ในจิตใจประเดี๋ยวประด๋าว พอไม่ขยับตัว พอไม่ยกมือสร้างจังหวะ เพียงแค่ฟังเฉยๆ ไม่ได้เขยื้อนขยับอะไร หลับแล้ว อันนี้แสดงว่าอาจจะปฏิบัติผิด หรือว่าเป็นเพราะว่าจิตนี้มันไปคุ้นกับการถูกกระตุ้น
บางคนทำอะไรแรงๆ เร็วๆ เดินเร็วๆ ทำอะไรแรงๆ จิตมันก็จะหยาบ จิตหยาบมันก็จะอาศัยการกระตุ้นที่แรง พอไม่มีการกระตุ้นที่แรง เช่นพออยู่นิ่งๆ ไม่เขยื้อนขยับมือก็มันก็จะผล็อยหลับได้ง่าย คล้ายๆ กับเท้า เท้าถ้ามันด้านบางทีสัมผัสอะไรก็ไม่รู้สึก เท้าที่ด้านเวลาเหยียบ บางทีเหยียบแมลงยังไม่รู้สึกเพราะว่ามันด้าน ไม่เหมือนเท้าที่มันบาง พอเหยียบมด เหยียบแมลงรู้ตัวคือมันไว เพราะอย่างนั้นจิตที่หยาบมันจะหลับง่าย เพราะว่ามีเสียงแม้กระทั่งมีเสียงบรรยายกระทบหูก็ยังไม่สามารถกระตุ้นใจให้ตื่นได้ ก็เพราะว่าใจมันหยาบเหมือนกับหนังเท้าที่มันหนา เหยียบก้อนหินหรือว่าเหยียบใบไม้ก็ยังไม่รับรู้ว่าเหยียบอยู่
ก็ต้องระวังเหมือนกันว่า ถ้าใจเราหยาบแล้วมันก็จะต้องคอยอาศัยสิ่งแรงๆ กระตุ้น หาไม่แล้วมันก็จะง่วงหลับ อันนี้เรียกว่านิ่งเป็นหลับ ขยับจึงตื่น สิ่งที่ควรจะพัฒนาก็คือว่า นิ่งก็ตื่น หลับก็ตื่น แม้จะอยู่เฉยๆ ไม่ยกมือสร้างจังหวะก็ยังตื่นเพราะว่ามันเป็นอานิสงส์จากการที่ตอนที่เขยื้อนขยับมันสร้างความรู้สึกตัวไว้ จิตและกายมันตื่นตัว และก็มันก็คงอยู่ในจิตใจ จิตก็ยังมีความรู้สึกตัวอยู่ ถึงแม้ไม่ขยับถึงแม้หลับตาถึงแม้นิ่งก็ยังตื่น เหมือนกับแบตเตอรี่ที่เก็บไฟจากโซล่าร์เซลล์
ถ่านหรือแบตเตอรี่ที่เก็บไฟจากโซล่าร์เซลล์ถ้าเป็นถ่านที่ดี แม้ว่าจะมืดแล้วมันก็ยังมีไฟอยู่เพราะว่ามันเก็บไฟได้มันจุไฟได้นาน หรือมีไฟฉาย เดี๋ยวนี้มันมีไฟฉายที่เกิดจากที่ทำจากโซล่าร์เซลล์ ถ้าซื้อมาใหม่ๆ หลังจากที่ตากแดดเอาไว้ทั้งวัน กลางค่ำกลางคืนมันก็ยังมีไฟ เปิดไฟก็สว่าง แต่ถ้าโซล่าร์เซลล์ แต่ถ้าแบตเตอรี่เสื่อม ไฟฉายนั้นตากแดดไว้เป็นวัน แต่พอตกค่ำแค่ 2-3 ชั่วโมง มันก็ไม่มีไฟเหลือแล้วมีเสื่อมเร็ว อันนี้รวมถึงโซล่าร์เซลล์ แบตเตอรี่ที่ใช้กับโซล่าร์เซลล์ที่วางไว้บนหลังคาเหมือนกัน
จิตของนักปฏิบัติมันไม่เหมือนแบตเตอรี่ คือแบตเตอรี่ยิ่งใช้นานมันยิ่งเสื่อมมันเก็บไฟฟ้าได้น้อยลง แต่ผู้ปฏิบัติถ้าปฏิบัติถูก ยิ่งปฏิบัตินาน ยิ่งอายุมากจะยิ่งมีความรู้สึกตัวได้นาน แม้จะนิ่งก็ยังตื่น แต่ถ้าไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูก ถ้าไม่ขยับเมื่อไหร่ ความตื่นตัวที่มันอยู่ในใจก็จะเสื่อมเร็ว พอนั่งนิ่งๆ ไม่พูดไม่คุยกับใคร ไม่เขยื้อนขยับแถมหลับตาด้วย ความตื่นมันก็จะค่อยหายไปอย่างรวดเร็ว เสร็จแล้วก็กลายเป็นหลับ ผล็อยหลับหรือสัปหงก เราต้องก้าวข้าม นักปฏิบัติ จากประเภทว่า นิ่งเป็นหลับ ขยับจึงตื่น มาเป็นว่า นิ่งก็ตื่น ถึงแม้หลับตาแต่ใจมันยังตื่น นิ่งก็ตื่น ขยับก็ตื่น
คราวนี้ตื่นแล้ว มันก็ไม่ได้แปลว่าจะรู้สึกตัว อันนี้ต้องขยายความหน่อย เพราะว่าบางคนตื่นแต่ว่าใจลอย หลงฟุ้งปรุงแต่ง อันนี้ก็เรียกว่า ลืมตัว อย่างนี้เรายังไม่เรียกว่า ยังไม่ใช่รู้สึกตัวหรือว่าไม่ใช่ตื่นตัวเต็มที่ รู้สึกตัวในพุทธศาสนาหรือในการปฏิบัติ ไม่เหมือนกับรู้สึกตัวในทางการแพทย์ ทางการแพทย์ถ้าลุกขึ้นมาเขยื้อนขยับได้ ฟังคนพูดรู้เรื่องตอบโต้ได้ หรือทำกิจการงานต่างๆ ได้ เช่น ขับรถ ล้างจาน เขาเรียกว่ารู้สึกตัว ถ้าหากว่าหลับ เมา สลบ หรือว่าอยู่ในฤทธิของยาชา อันนี้ถึงจะเรียกว่าไม่รู้สึกตัว ตื่นจากสลบถึงจะเรียกว่า เขารู้ตัวแล้ว
แต่ในทางพุทธศาสนาหรือในการปฏิบัติไม่ใช่แค่นั้น ถึงแม้ทำอะไรได้ฟังคนพูดรู้เรื่องโต้ตอบได้แต่ว่า อาจจะหลงก็ได้ ขับรถได้แต่ใจลอยอันนี้ก็เรียกว่าหลงได้เหมือนกัน ยังไม่เรียกว่ารู้สึกตัว กินข้าว หลายคนกินข้าวโดยไม่รู้สึกตัว มันก็เพลินกับรสชาติหรือว่ากินไปแต่ใจลอย ใจลอยอันนี้เรียกว่าไม่รู้ตัว ที่จริงก็เรียกว่ารู้ตัว แต่ว่ามันไม่ใช่รู้ตัวเต็มร้อยจะรู้ตัวสัก 50 - 60 เปอร์เซ็นต์ เราก็เรียกว่าไม่รู้ตัว เพราะตอนนั้นไม่รู้ว่ากำลังกินอยู่ ขับรถก็อาจจะลืมตัวไปชั่วขณะว่ากำลังขับรถ บางคนนั่งแต่ว่าลืมตัว พอเห็นรถว่ากำลังจะชนหมา ชนเด็กที่วิ่งตัดหน้า ทั้งๆ ที่เป็นคนนั่งแท้ๆ ก็ยังเหยียบเบรก คนนั่งบางทีเหยียบเบรกพอเห็นเหตุการณ์คับขัน อันเขาเรียกว่าลืมตัว รับรู้ทุกอย่างแต่ว่ายังไม่มีสติเต็มร้อย ไม่มีสติไม่มีความรู้สึกตัวเต็มร้อย เพราะฉะนั้นแม้ตื่นมันก็ไม่ได้แปลว่า รู้ตัว ทำอะไรได้ก็ไม่ได้แปลว่ารู้ตัว
คนที่ละละเมอ คนที่ละเมอเขาทำอะไรได้หลายอย่าง เขาสามารถจะเดินได้ถูก บางทีเดินเปิดประตูได้ เดี๋ยวนี้เขาว่ามีอาการใหม่เกิดขึ้นคือ ละเมอแชท แชทมันแปลว่าการเขียนโต้ตอบทางอินเตอร์เน็ต การเขียนโต้ตอบผ่านโทรศัพท์มือถือ เดี๋ยวนี้เขาพบว่ามีคนหลายคน สามารถที่จะลุกขึ้นมาทั้งที่หลับอยู่แล้วก็เขียนข้อความตอบโต้โทรศัพท์มือถือ ทางไลน์ก็ดี เฟสบุ๊คก็ดี ส่วนใหญ่เกิดเพราะว่ามันมีสัญญาณเตือน เช่น พอมีเมสเสจ มีข้อความเข้ามาก็ ปิ๊ง ปิ๊ง ก็ตื่นขึ้นมาทันที จะว่าตื่นก็ไม่ใช่ เรียกว่าลุกดีกว่าเพราะว่าตัวเองหลับ ละเมอน่ะ แต่ว่าเขียนข้อความได้ ไอ้คนที่ละเมอ ตอนนั้นเขารู้สึกว่าเขาตื่น แต่คนรอบข้างเห็นว่าละเมอ คนที่ละเมอหลายคนเขาบอกว่าเขาเห็นภาพชัด แต่ภาพที่ชัดมันเกิดจากการปรุงแต่ง
เหมือนกับเวลาเราฝัน เวลาที่เราฝันเราก็เห็นภาพชัด คนฝันส่วนใหญ่มันไม่รู้หรอกว่าภาพที่ฝันมันไม่ใช่ความจริงมันเป็นสิ่งที่จิตปรุงแต่ง บางทีก็ร้องห่มร้องไห้ บางทีก็โกรธ เอาจริงเอาจัง บางทีก็เสียใจเมื่อเห็นคนรักตายจากในฝัน พอตื่นขึ้นมาก็ดีใจว่ามันเป็นแค่ความฝันไม่ใช่ความจริง แต่เผลอร้องไห้ไปแล้วในฝัน ตื่นขึ้นมายังสะอึกสะอื้น อันนี้ก็เรียกว่าแม้หลับอยู่ก็ยังทำอะไรได้ เพราะว่ามันเห็นภาพ เราเรียกคนอย่างนี้ว่าละเมอ แต่ว่าคนละเมอมันไม่ใช่ละเมอเฉพาะหลับ ถึงแม้ตื่นมันก็ยังเรียกว่าละเมอได้เหมือนกันถ้าหากว่าทำโดยไม่รู้ตัว เพียงแต่ว่าคนที่ตื่นมาแล้วเผลอทำโน่นทำไปโดยไม่รู้ตัว เขาไม่รู้ตัวชั่วคราว เขาอาจจะกลับไปอยู่ในโลกของความฝันความคิดปรุงแต่ง ฝันกลางวัน หลงไปในอดีต ลอยไปในอนาคตแล้วก็กลับมาสู่ปัจจุบันแล้วก็กลับไปใหม่
เวลาเราคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ คิดเห็นจริงเป็นจัง จิตมันก็จะจมอยู่กับเรื่องนั้นซักพักแล้วมันก็ออกมา ออกมาแล้วเดี๋ยวมันก็กลับเข้าไปไหม่ กำลังใจลอยในขณะที่บรรยายธรรม ตอนนั้นมันลืมตัวละแต่พอได้ยินคำพูดบางคำ สะดุดใจ หรือว่าได้ยินเสียงหมาเห่า เอ้ากลับมา กลับมาสู่ความจริงกลับมาสู่ปัจจุบัน แล้วก็กลับไปใหม่ อันเรียกว่า ละเมอ ละเมอหรือหลงซัก 40 เปอร์เซนต์ ไม่เหมือนคนที่ละเมออันนั้นละเมอเต็มร้อย คือหลับอยู่
เพราะฉะนั้น จึงบอกว่าแม้ตื่นก็ไม่ใช่ว่าจะรู้ตัว มันต้องทำให้เกิดความรู้ตัวขึ้นมาขณะที่ตื่นด้วย อันนี้ก็เป็นเขาเรียกว่า ต้องพัฒนา ต้องก้าวจากประเภทว่า นิ่งก็ตื่น ขยับก็ตื่น พัฒนามาสู่ว่า นิ่งก็รู้ตัว ขยับก็รู้ตัว อันนี้ล่ะเป็นสิ่งจะเรียกว่ามีความก้าวหน้าในการปฏิบัติ คนที่ไม่ปฏิบัติ มันก็จะตกอยู่ในขั้นแรก ๆ นิ่งเป็นหลับ ขยับป็นแดก อะไรอย่างงี้ หรือขยับเป็นกินหรือไม่ก็อาจจะพัฒนามาสู่ขั้นว่า นิ่งเป็นหลับ ขยับจึงตื่น อันนี้คือคนที่ยังไม่ปฏิบัติหรือว่า ปฏิบัติก็จริงแต่ปฏิบัติไม่ถูก พอปฏิบัติไม่ถูกมันก็รู้ตัวแต่เฉพาะเวลาขยับยกมือสร้างจังหวะ เวลาเดิน แต่พอเรานั่งนิ่งๆ ไม่พูดไม่คุยกับใคร ไม่ได้ยกมือสร้างจังหวะ แค่ฟังเฉยๆ ก็หลับไปแล้ว เรียกว่า นิ่งเป็นหลับ ขยับจึงตื่น เราก็ต้องพัฒนาไปจนถึงประเภทว่า นิ่งก็ตื่น ขยับก็ตื่น ต่อเมื่อถึงเวลานอนถึงค่อยหลับ อันนี้เป็นธรรมดา เพราะคนเราก็ต้องการการหลับ ร่างกายมันเรียกร้องให้หลับ เพราะการหลับก็คือการพักผ่อน การหลับ คือการที่สมองมันสะสางข้อมูลต่างๆ ให้เข้าที่เข้าทาง
แต่ว่าถ้าไม่นอน หรือไม่ใช่เวลานอน จะเป็นกลางวันหรือแม้แต่เช้ามืด เราตื่นมาแต่เช้ามืดตี 4 ตี 5 แม้จะนิ่ง หลังจากสวดมนต์ สวดมนต์ตื่นอยู่แล้ว พอสวดมนต์เสร็จ นิ่งฟังคำบรรยาย เอ้า จิตก็ยังตื่น ไม่ว่าจะนิ่งตอนไหนถ้าไม่ใช่เวลานอนจิตก็ตื่น ยกเว้นแต่ว่าร่างกายมันเพลีย ร่างกายมันเพลียหรือป่วยไข้ไม่สบาย มันก็ต้องการการพักผ่อน ก็หลับ แต่ถ้าไม่งั้นก็แม้จะนิ่งก็ยังตื่นได้ เวลาขยับก็ตื่นเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าขยับกลับง่วง เดินจงกรม สร้างจังหวะทำไปซักพักก็ง่วงละ ง่วงมันเกิดจาก 2 แบบ เกิดจากเพราะร่างกายมันเพลีย อันนี้ก็จำเป็นต้องพักผ่อน และเราควรพักผ่อนให้เต็มที่มันจะได้ไม่มีข้ออ้างในตอนกลางวันว่าฉันต้องหลับ เพราะบางครั้งความอยากจะหลับในตอนกลางวันมันเกิดจากจิตมันหาเหตุมันไม่อยากปฏิบัติ หรือว่าเกิดความเบื่อหน่าย หรือว่าไม่มีสิ่งเร้า พอไม่มีสิ่งเร้ามันก็จะง่วงหรือว่าไม่มีสิ่งกระตุ้นมากเพียงพอเพราะว่าคุ้นเคยกับการกระตุ้นจากชีวิตในเมือง
จิตที่มันต้องตื่นเพราะมีสิ่งกระตุ้น แม้จะเป็นสิ่งกระตุ้นหยาบๆ เป็นจิตที่ไม่พัฒนา และต่อไปมันจะต้องการ ต้องใช้สิ่งที่หยาบกว่าเดิมมากระตุ้นมากขึ้น เหมือนคนที่กระตุ้นด้วยกาแฟจึงตื่น นานไปๆ มันก็ต้องกินกาแฟในปริมาณที่สูงขึ้น ถ้ากินเท่าเดิมเช่นกินครึ่งแก้วมันจะไม่ก็จะง่วงแล้ว มันต้องกินจากเดิมครึ่งแก้วมันก็เป็น 1 แก้ว จาก 1 แก้ว มันก็เป็น 2 แก้ว 3 แก้ว ถึงจะตื่นทำงานได้ ไม่ใช่ทำงานกลางคืน แม้กระทั่งกลางวัน บุหรี่ก็เหมือนกัน บางคนก็อาศัยบุหรี่เป็นตัวกระตุ้น แต่ก็อย่างที่เรารู้ส่วนใหญ่แล้ว ยิ่งสูบมากเท่าไหร่ก็ยิ่งสูบมากเท่านั้น ยิ่งสูบนานเท่าไหร่ก็ยิ่งสูบมากเท่านั้น จากวันละครึ่งซองก็เป็นวันละ 1 ซอง 2 ซอง 3 ซอง ไม่มีคำว่าลด เพราะทั้งๆ ที่ผลที่เกิดขึ้นเท่าเดิมก็คือว่าเกิดความปกติกลับคืนมาแต่ต้องใช้ปริมาณบุหรี่ที่สูงขึ้น ก็เหมือนกับเหล้า เหมือนกันต้องใช้ปริมาณที่สูงขึ้น
อันนี้คือจิตที่มัน จิตหรือกายที่มันหยาบ แต่ถ้าเราปฏิบัติให้จิตเราละเมียดละไม แม้สิ่งกระตุ้นนิดหน่อยก็ตื่น อย่างคนที่ทำความรู้สึกตัว ทีแรกจะรู้สึกตัวได้ต้องใช้การกระตุ้นที่หยาบเช่น ยกมือสร้างจังหวะ เดินจงกรม แต่พอมันรู้สึกตัวได้ไวขึ้น จิตมันไวขึ้น จิตมันประณีตขึ้น ลมหายใจก็พอแล้ว แค่อยู่กับลมหมายใจก็ตื่นแล้ว หรือว่ากระพริบตา กลืนน้ำลายก็มากพอที่จะทำให้จิตตื่น กลับมารู้สึกตัว ที่เผลอคิดโน้นคิดไป พอมีลม พอรับรู้ว่ามี พอรู้สึกว่าหายใจเข้าหายใจออก มันก็เหมือนกับว่าลมหายใจมันส่งความรู้สึกไปสะกิดจิต ไปสะกิดจิตที่เคยฟุ้งให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว หรือว่าใจลอย แต่แค่กระพริบตา กลืนน้ำลาย ความรู้สึกมันก็มากพอที่จะสะกิดใจที่หลง หรือจิตที่มันไม่รู้สึกตัวให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว กลับมาให้รู้สึกตัว
เพราะฉะนั้นเมื่อจิตมันประณีต แม้จะนิ่ง แม้จะนิ่งๆ มันก็ยังตื่น ยังรู้สึกตัวได้ ยิ่งมีเสียงพูดเสียงบรรยายมากระทบหูไม่ใช่เงียบสนิท มันก็ยังตื่นอยู่ สนใจติดตามว่า ได้ยินมาว่าอย่างไร ไม่ใช่ปล่อยใจลอยไปโน่นไป ขนาดถ้ามีเสียง ได้ยินเสียงมากระทบหูก็ยังหลับ แสดงว่าจิตเรามันยังไม่ค่อยประณีตเท่าไหร่ ความรู้สึกตัวมันยังไม่มากพอที่จะกระตุ้นให้จิตตื่นขึ้นมา แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเรารู้สึกตัวว่า นิ่งๆ แล้วมันหลับก็ขยับ ยกมือสร้างจังหวะก็ได้ หรือว่าไม่ต้องถึงกับยกมือสร้างจังหวะ แค่พลิกมือไปพลิกมือมา กระดิกนิ้ว ลองใช้อารมณ์ที่มันเบาๆบ้าง ถ้าใช้แต่อารมณ์ที่มันหยาบๆ เช่น ยกมือสร้างจังหวะ เดินจงกรม จิตมันจะคุ้นกับอารมณ์ที่หยาบ จิตมันจะคุ้นกับผัสสะที่หยาบ สิ่งกระตุ้นที่หยาบ พอเจอสิ่งกระตุ้นที่มันเบาๆ มันก็หลับ ลองใช้การกระตุ้นเบาๆ กระดิกนิ้ว พลิกมือไปพลิกมือมา
คนที่ปฏิบัติแล้วก้าวหน้าความรู้สึกตัวมันพร้อมจะตื่น พร้อมจะเกิดขึ้นมาทันทีที่แค่มีความรู้สึกเบาๆ สะกิด จากเดิมจิตมันหลง มันลอย มันฟุ้ง แค่มีความรู้สึกเบาๆ สะกิดเช่น มือ นิ้วมือที่กระดิกไปมา ลมหายใจที่เข้าและออก อันนี้มันจะส่งความรู้สึกไปสะกิดใจ ถ้าใจละเอียดประณีต สะกิดเบาๆ ก็รู้แล้ว แต่ถ้าใจหยาบ สะกิดต้องใช้แรงกระตุ้นหนักๆ เหมือนกับอย่างที่เปรียบกับหนังเท้า ถ้าหนังเท้ามันหนา อะไรมา มีเอามือมาลูบเท้าบางที่ไม่รู้สึก ต้องหยิกถึงจะรู้สึกว่า มันมีมือมาหยิกที่เท้า อันนี้เพราะว่าจิตมันด้าน มันเรียกว่าเท้ามันหนาต้องอาศัยแรงมากระทบ เพราะงั้นจิตก็เหมือนกัน ถ้าจิตปราณีตถ้ามีอะไรเบาๆ มากระทบ มันก็ตื่น หรือมีอะไรมาสะกิด หรือใช้คำว่ามากระทบไม่ถูก ต้องใช้คำว่ามาสะกิด อันนี้มันเพราะจิตมันมีความพร้อมที่จะรู้สึกตัวอยู่แล้ว หรือว่าเป็นจิตที่มีความรู้สึกตัวเก็บสะสมไว้ เหมือนกับแบตเตอรี่ที่มันเก็บไฟได้ข้ามคืน เดี๋ยวนี้แบตเตอรี่ดีๆ มันเก็บไฟได้ข้ามวัน ข้ามอาทิตย์ก็มีโดยเฉพาะหน้าฝน แดดออกแค่วันสองวัน แต่ว่าไฟใช้ได้เป็นอาทิตย์
ให้ใจเราเป็นอย่างละ ถึงแม้ว่าเราจะสร้างความรู้สึกตัวแค่เดินจงกรม สร้างจังหวะแค่ ๒ - ๓ ชั่วโมง แต่ความรู้สึกตัวมันอยู่กับใจ แม้จะนั่งฟังคำบรรยายนิ่งๆ ก็ยังรู้สึกตัว ไม่ใช่แค่ตื่นแต่ยังรู้สึกตัวด้วย อันเรียกว่าจิตมันเก็บความรู้สึกตัว หรือว่าจิตมันมีความรู้สึกตัวได้ดี อันนี้ก็เป็นเครื่องวัด วัดความก้าวหน้าของการปฏิบัติว่า จิตเรามันรู้สึกตัวได้เร็ว ได้ดีแค่ไหน หรือว่าต้องอาศัยการกระตุ้นอยู่บ่อย ๆ ถ้านิ่งเมื่อไหร่ก็เป็นหลับ ต้องขยับมือ อันนี้ก็ลองเอาไปใช้ พัฒนาให้ได้จากนิ่งเป็นหลับ ขยับจึงตื่น มาเป็นว่า นิ่งก็ตื่น ขยับก็ตื่น รวมทั้งว่า นิ่งก็รู้สึกตัว ขยับก็รู้สึกตัว