แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีเรื่องเล่าว่า สมัยหนึ่งพระสารีบุตรได้จำพรรษาที่เชตวัน ออกพรรษาแล้ว ท่านก็มีกิจจะจาริกไปยังที่อื่น เป็นระยะเวลานาน คงจะหลายเดือน พระที่เป็นลูกศิษย์ลูกหา ที่เคารพนับถือท่านก็มายืนรอส่ง ที่หน้าประตู ครูบาอาจารย์จะจาริกไปไกลแล้ว ก็มายืนรอส่ง แล้วก็แสดงความเคารพ พระสารีบุตรท่านก็เป็นพระอัครสาวกที่มีความสุภาพ แล้วก็อ่อนน้อมถ่อมตน เมื่อมีผู้มายืนรอส่ง รอแสดงความเคารพ ท่านก็ทักทาย การทักทายก็ถามชื่อ ถามโคตร หรือพูดง่ายๆ ถามชื่อแซ่นั่นเอง เพราะว่าหลายท่าน ท่านก็ไม่รู้จัก ก็เป็นการทักทายตลอดทาง ก็คงจะใช้เวลานาน ทักทายหลายคน
แต่มีพระรูปหนึ่ง ซึ่งก็อยู่ในที่นั้นด้วย ก็รอส่งพระสารีบุตร แต่ว่าพระสารีบุตรบังเอิญมองไม่เห็น ก็เดินข้ามไป ไปทักทายคนอื่น ท่านก็มีความไม่พอใจ นึกในใจว่าพระสารีบุตรไม่ทักทายเราเลย ไม่ถามชื่อไม่ถามโคตรของเราเลย มีทั้งความน้อยใจ แล้วก็โกรธด้วย ไม่พอใจ ก็บังเอิญในขณะที่พระสารีบุตรเดินผ่าน ชายหรือมุมสังฆาฏิของท่านก็ไปถูกตัวพระรูปนี้ พระรูปนี้ก็ถือเป็นข้ออ้าง เนื่องจากมีความขุ่นเคืองใจที่พระสารีบุตรไม่ทักทาย ก็หาเหตุไปฟ้องพระพุทธเจ้าว่า ถูกพระสารีบุตรทำร้าย
พระพุทธองค์ก็เลยจัดเรียกให้มีการประชุมสงฆ์ คิดว่าเป็นอธิกรณ์แล้ว แม้เรื่องอย่างนี้พระองค์ก็ไม่ให้ผ่าน พระองค์แทนที่จะแก้ต่าง พระองค์เห็นว่า ทางที่ดีก็คือให้มีการไต่สวน ประชุมสงฆ์ทั้งเชตวัน แล้วก็ถามพระสารีบุตรว่า ท่านทำเช่นนั้นจริงหรือเปล่า พระสารีบุตรก็ไม่ได้ปฏิเสธ แต่พูดว่า คนที่ไม่มีสติ เมื่อทำอะไรไปก็อาจจะไปกระทบกับผู้อื่นได้ อาจจะไปเบียดเบียนผู้อื่นได้ แล้วพระสารีบุตรก็กล่าวต่อไปว่า ข้าพระองค์รักษาใจเปรียบเหมือนกับแผ่นดิน น้ำ อากาศ ไฟ
อันนี้เป็นคำอุปมาอุปไมย หมายความว่า มีจิตใจที่ไม่แปรผัน มั่นคง ดั่งแผ่นดิน ผืนน้ำ อากาศ ไฟ อันนี้มีความหมาย ที่อุปมาแบบนี้ก็เพราะว่าพระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า แผ่นดินแม้จะทิ้งขยะลงไป แม้จะหาจอบหาเสียมมาขุด คนขุดนั้นก็บอกว่าแกอย่าเป็นแผ่นดินเลย แต่แผ่นดินก็ยังเป็นแผ่นดินอยู่ น้ำจะทิ้งอะไรลงไป ก็ยังเป็นน้ำอยู่นั่นเอง อากาศนี้จะวาดรูป หรือลมจะพัดที่ไหน ไปที่ไหน จะผ่านของหอม ของเหม็น ก็ยังเป็นอากาศอยู่ ไฟก็เหมือนกัน จะโยนอะไรลงไป จะเป็นไม้ จะเป็นถ่าน จะเป็นซากพืช ซากสัตว์ ก็ยังเป็นไฟ
อันนี้เป็นคำเปรียบเทียบถึงความมั่นคง ไม่แปรผัน ไม่ว่ามีอะไรมากระทบ ก็ยังนิ่งได้ ยังคงที่ แล้วพระสารีบุตรก็กล่าวว่า ข้าพระองค์ก็มีจิตใจแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย ก็อธิบาย พูดเพื่อที่จะอธิบาย ไม่ได้แก้ตัวโดยตรง แต่ชี้ให้เห็นว่า ท่านไม่มีจิตคิดร้ายต่อผู้ใด ไม่ว่าใครจะทำอะไรท่าน ท่านก็มีจิตใจมั่นคง พูดเช่นนี้ พระรูปนั้นก็เกิดสำนึกผิดขึ้นมา ขอโทษ ขอขมาพระสารีบุตร พระสารีบุตรก็กล่าวว่า ท่านก็ไม่ได้คิดร้ายอะไร ก็ยินดีให้อภัย และขณะเดียวกันก็ขอขมาพระรูปนั้นด้วยว่า ถ้าหากว่าทำอะไรผิดพลาดไป
อันนี้ก็เป็นเหตุการณ์เล็กๆในเชตวัน ซึ่งมีจารึกไว้ในพระไตรปิฎก ซึ่งในด้านหนึ่ง ก็ชี้ให้เห็นถึงบุคลิกลักษณะของพระสารีบุตร ว่าท่านเป็นสุภาพบุรุษ พูดแบบภาษาชาวบ้าน เป็นสุภาพบุรุษที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ถึงแม้ว่าท่านจะเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา เป็นมือขวาของพระพุทธเจ้า แต่ว่าไม่แสดงอำนาจ เมื่อเขาขอขมา ไม่เพียงแต่ยินดีรับขมา ก็ยังพร้อมที่จะขอขมาอีกฝ่ายหนึ่งด้วย เพราะว่าท่านอาจจะเห็นว่า การที่ไม่ได้ทักทาย มองข้ามไปนี้ ก็เป็นสิ่งที่ควรจะขออภัยเหมือนกัน แม้ว่าท่านจะเป็นพระผู้ใหญ่ เรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่ควรจะขอโทษเช่นเดียวกัน
อีกประเด็นที่น่าสนใจ ที่น่าจะพิจารณา ก็คือว่า พระรูปนี้ซึ่งเป็นพระผู้น้อย ท่านก็คงมีศรัทธา มีความเคารพนับถือในพระสารีบุตร จึงไปยืนรอส่ง คราวนี้ ก็มีคำถามว่า ทำไมเมื่อมีความศรัทธาในพระสารีบุตรแล้ว จึงลงเอยแบบนี้ คือกลายเป็นว่าจิตมีความมุ่งร้าย หาเรื่อง กล่าวหาพระสารีบุตร ถ้าจะว่าไปแล้วก็เพราะ“ศรัทธา” จึงมีความขุ่นเคือง เพราะว่าเมื่อพระรูปนี้มีความศรัทธาในพระสารีบุตร คือให้ความสำคัญกับพระสารีบุตร เมื่อให้ความสำคัญแล้ว ก็คิดว่าถ้าพระสารีบุตรมาทักทายตัวเองบ้างก็จะดี มีความปรารถนาอยากจะให้พระสารีบุตรได้ทักทาย คนเราถ้าไม่ศรัทธาใคร ก็ไม่ปรารถนาจะให้คนนั้นเขามาทักทายเรา หรือมาสนทนากับเรา อันนี้ก็เป็นความศรัทธา ที่มีต่อพระสารีบุตร ที่ทำให้เกิดความขุ่นเคืองใจ
ธรรมดา“ศรัทธา” เมื่อศรัทธาใคร ก็หมายความว่าเรายอมลงให้กับผู้นั้น แต่ทำไมในเมื่อศรัทธาพระสารีบุตรแล้ว จึงมาทำร้าย มามุ่งร้ายพระสารีบุตร ก็แสดงว่ามีความอยากให้พระสารีบุตรมาให้ความสำคัญกับตน อยากให้ตัวเองเป็นใครสักคน ที่ภาษาฝรั่งเขาเรียกว่า ซัมบอดี้ (Somebody) ในสายตาของพระสารีบุตร ยิ่งศรัทธาใคร เราก็อยากจะให้คนนั้น เห็นความสำคัญของเรา ถ้าไม่ศรัทธาใคร ก็ไม่สนใจว่าใครคนนั้นเขาจะมาสนใจเราหรือเปล่า มาให้ความสำคัญกับเราหรือไม่ พระรูปนั้นก็คงจะมีท่าทีแบบนั้น คือพอศรัทธาพระสารีบุตรแล้ว ก็อยากพระสารีบุตรเห็นความสำคัญของเรา พอพระสารีบุตรมีอาการเหมือนกับว่า ไม่เห็นความสำคัญของเรา ไม่ทักทายเรา ก็เลยโกรธ เป็นความโกรธที่เกิดจากความผิดหวัง ผิดหวังเพราะว่าอยากจะให้พระสารีบุตรแคร์เรา สนใจเรา
ความผิดหวังแบบนี้ เป็นความผิดหวังที่เกิดจากความยึดติด ถือมั่นในตัวกู ถ้าจะว่าไปแล้ว ศรัทธาที่มีต่อพระสารีบุตร มันไม่เป็นศรัทธาล้วนๆ เพราะถ้าเป็นศรัทธาล้วนๆ คือการยอมลงให้ ยอมมอบกายถวายชีวิตให้ อย่างที่ถ้าเกิดศรัทธาในพระรัตนตรัย ถ้าเป็นศรัทธาที่แท้ก็เรียกว่า ยอมทุ่มเทชีวิต ยอมลงให้ จะยากลำบากยังไงก็ยอม แต่อาการของพระรูปนี้ มันส่อว่า ไม่ได้เป็นศรัทธาล้วนๆ แต่เจือด้วยความยึดติดในตัวตน หรือว่าเป็นศรัทธาที่เจือไปด้วยกิเลส คือมานะ มานะคือความถือตัว อยากจะให้ตัวตนมันได้รับการเชิดชู คราวนี้พอพระสารีบุตรไม่ทักทาย ด้วยความไม่รู้ ตัวกิเลส ตัวอัตตา มันก็เลยเรียกว่าพิโรธ ไม่พอใจ เพราะว่าไม่ได้รับความสำคัญ ก็กลายเป็นว่า จากคนที่ศรัทธา ก็กลับตัวกลายเป็นปฏิปักษ์ทันที
อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดเพราะว่า ศรัทธาของผู้คน ไม่ใช่เฉพาะพระรูปนี้ ศรัทธาของผู้คนทั้งหลาย ก็เป็นอย่างนี้กันมากมาย จะเรียกว่าเป็นส่วนใหญ่ก็ว่าได้ คือมีศรัทธาที่เจือไปด้วยกิเลส มีความยึดติดในตัวตนสูง อย่างหลายคนนับถือครูบาอาจารย์ จะนับถือมากๆ ทีเดียว แต่พอครูบาอาจารย์ต่อว่า บางทีไม่ได้ต่อว่า เพียงแค่ทักท้วงท่ามกลางผู้คน หรือว่าทักท้วงสองต่อสอง ก็โกรธ แล้วบางทีก็กลายเป็นว่า ท่าทีเปลี่ยน จากที่เคยเคารพ ก็กลายเป็นไม่พอใจ หรือถึงขั้นเกลียดชัง ทั้งๆที่ถ้าพูดไปแล้ว “ศรัทธา”ตามความหมายคือการยอมลงให้ คนเราถ้ายอมลงให้ ใครเขาจะพูดจะว่ายังไงก็ยอม แต่เราก็เห็น คนที่ศรัทธาในครูบาอาจารย์หลายคน พอถูกครูบาอาจารย์ว่า พอถูกครูบาอาจารย์ทักท้วง ก็กลายเป็นโกรธ โกรธก็คือความมุ่งร้าย ไม่ยอม จะตอบโต้ บางคนก็อาจจะเป็นแค่ชั่วคราว เพราะได้สติ แต่บางคนก็อาจจะเก็บความไม่พอใจ ฝังไว้ในใจ
มีโยมคนหนึ่งเป็นโยมที่มีอายุมาก 60-70 ปี มีศรัทธา มีความเคารพในพระรูปหนึ่ง มีการทอดกฐิน ก็ดั้นด้นไปร่วมคณะกฐิน ไปถึงวัด พระรูปนั้นก็ลงมาทักทายญาติโยมที่มาวัด ก็ทักทายหลายคน แต่ว่าคงจะลืมหรือว่ามองไม่เห็นโยมคนนั้น ไม่ได้ทักทายด้วย โยมคนนั้นก็โกรธ ไม่พอใจ แล้วก็หลังจากนั้นก็ไม่เคยกลับไปที่วัดนั้นอีกเลย เท่านั้นไม่พอ เวลามีใครพูดถึงพระรูปนั้น ก็จะโกรธ ก็จะหาเรื่องว่า ตำหนิ บางทีก็ถึงขั้นต่อว่า หรือด่าว่าเลย อันนี้ก็คงเป็นศรัทธาในลักษณะเดียวกับพระรูปที่ว่า ก็คือเป็นศรัทธาที่มันเจือไปด้วยกิเลส เจือไปด้วยอัตตา
ที่จริงเป็นเพราะอัตตาด้วย เป็นเพราะความยึดถือในตัวตนด้วย ก็เลยเป็นเหตุให้ศรัทธาพระรูปนั้น เช่น อาจจะเป็นเพราะว่าพระรูปนั้น หรือพระสารีบุตรทำอะไรที่ถูกใจตัวเอง พอทำอะไรถูกใจตัวเอง ก็เลยชอบ ก็เลยศรัทธา อันนี้มันเป็นศรัทธาที่จะเรียกว่าอิงกับตัวอัตตาก็ได้ ไม่ใช่ศรัทธาโดยธรรม ถ้าเป็นศรัทธาที่ดี มันคือเป็นศรัทธาโดยธรรม เช่น ศรัทธาเพราะว่าพระรูปนี้ หรือศรัทธาพระสารีบุตร เพราะว่าท่านสอนธรรมได้ดี ประพฤติตัวถูกต้อง ถูกต้องทางธรรม แต่หลายคนศรัทธา มันไม่ใช่เป็นศรัทธาโดยธรรม แต่ว่าเป็นศรัทธาเพราะว่าถูกใจตัว พระรูปนี้ถูกใจตัว หรือพระสารีบุตรทำอะไรถูกใจเรา ก็เลยเกิดความศรัทธาขึ้นมา
อันนี้เป็นศรัทธาที่ง่อนแง่น มันแปรเปลี่ยน กลายเป็นความโกรธ และความเกลียดได้ มันก็เหมือนความรัก เราก็พบและก็คงเจอมามาก รักใครก็ตาม บางทีรักมากๆ กลายเป็นโกรธแค้นมาก ที่ฆ่ากันตายหลายคู่ หลายคดี ก็เพราะเคยมีความรักกัน คนที่ถูกฆ่าก็อาจจะเป็นแฟน หรือเป็นคู่รัก ตอนที่รักกันก็ดูดดื่ม แต่พอฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเขาทำไม่ถูกใจตัว เขาอาจจะไปปันใจให้ผู้ชายคนอื่น ผู้หญิงคนอื่น หรืออาจจะต่อว่า ไม่ทำตามใจ ก็โกรธ จากโกรธก็กลายเป็นเกลียด แล้วพอเกลียดก็คิดมุ่งร้าย ถึงขั้นทำร้าย ถึงตาย
คนส่วนใหญ่ คนธรรมดาทั่วไป จะไม่ค่อยมีโอกาสเป็นฆาตกร แต่เหตุหนึ่งที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อย ธรรมดาๆ กลายเป็นฆาตกรได้ ก็คือ เรื่องของความผิดหวังในความรัก ความแค้นในคู่รัก คู่ครองของตัว ทำไมถึงโกรธและเกลียดถึงขั้นฆ่าได้ ทั้งๆที่เคยมีความรักมาก่อน ก็เพราะเป็นความรักที่มันเจือไปด้วยกิเลส เป็นความรักที่หมายจะเอามาปรนเปรอกิเลส มาปรนเปรอตนเอง ที่เคยรักเขาเพราะเขาถูกใจเรา เขาทำอะไรถูกใจ เขาหน้าตาสะสวย หรือว่าหล่อ ถูกใจเรา ก็เลยรักเขา หรือเพราะเขาปรนเปรอเรา แล้วก็พูดจาหวานๆ กับเรา ก็เลยรักเขา แต่พอเขาทำไม่ถูกใจเรา ก็กลายเป็นโกรธ แล้วก็เกลียด
อย่าว่าแต่ความรักระหว่างคู่รักเลย แม้กระทั่งความรักระหว่างพ่อแม่ กับลูก พ่อแม่หลายคนก็โกรธลูก เพราะว่าลูกไม่ทำตามใจตัวเอง เรียนในคณะที่พ่อแม่ไม่ต้องการ หรือว่ามีคู่ครองที่พ่อแม่ไม่เห็นด้วย หรือไปมีอาชีพที่พ่อแม่เห็นว่าไม่มีอนาคต ก็ดูเหมือนว่ารักลูก หวังดีกับลูก แต่ว่ามันก็เจือด้วยความปรารถนา ความอยากให้เขาทำถูกใจเรา ทำตามความคิดของเรา หรือว่าเป็นคนดี มีอนาคตตามแบบของเรา
ของเรานี่ก็คือตัวกู ของกู มันหนีไม่พ้น ของเรา ตัวเรา หรือตัวกู ของกูทั้งนั้น เพราะฉะนั้นพ่อแม่หลายคนก็ลงเอยด้วยความโกรธลูก เกลียดลูก ไล่ลูกออกจากบ้าน นี่ขนาดความรักของพ่อแม่ ซึ่งก็เรียกว่ามีความเห็นแก่ตัวน้อยแล้ว แต่ว่าถ้าเผลอให้กิเลส หรือว่าอัตตาครองใจ มันก็สามารถทำให้จากความรักกลายเป็นความโกรธ ความเกลียด อาจถึงขั้นไม่มองหน้า ไม่เผาผี หรือว่าทำร้ายกันเลยก็มี
เราพิจารณาดูศรัทธาของเรา ไม่ว่าจะเป็นศรัทธาในศาสนา ศรัทธาในครูบาอาจารย์ มันเป็นศรัทธาโดยธรรมหรือเปล่า หรือว่ามันเจือไปด้วยกิเลส เจือไปด้วยความเห็นแก่ตัว เจือไปด้วยความคาดหวัง อยากจะได้สิ่งตอบแทน สิ่งตอบแทนอาจจะไม่ได้เป็นอะไร นอกจากการได้รับความสำคัญ การอยู่ในสายตาของเขา เป็นซัมบอดี้ในสายตาของเขา หรือว่าบางทีความปรารถนาอาจเป็นเรื่องที่หยาบๆก็ได้ ลึกๆก็อยากจะได้ชื่อเสียง ได้การยกย่อง หรือว่าได้โชคได้ลาภจากเขา หรือว่าจากสิ่งที่เราศรัทธา
เมื่อสองปีหรือปีที่แล้ว มีผู้กำกับหนังคนหนึ่งยอมทุ่มเทกู้เงินหลายสิบล้าน มาสร้างหนัง เป็นหนังเกี่ยวกับเรื่องหลวงพ่อโต ตั้งชื่อหนังว่า“ขรัวโต” คนที่ทำหนังแบบนี้ได้ก็ต้องมีศรัทธา ศรัทธาในหลวงพ่อโต ศรัทธาในพุทธศาสนา ปรากฏว่าหนังเรื่องนี้ขาดทุน ฉายในโรงได้ไม่กี่วันก็ถูกถอด เพราะว่าเป็นหนังที่คนอาจจะรู้สึกว่าทำได้ไม่ดี ผู้กำกับก็เป็นหนี้หลายสิบล้าน เข้าใจว่า 30 ล้าน หรืออาจจะน้อยกว่านั้น ก็ต้องหลบหนี้ หลบลี้หนีหน้าผู้คน เพราะว่าโดนเจ้าหนี้ตามทวง และไม่นานภรรยาก็ทิ้ง แกเสียใจมาก วันดีคืนดีก็ประกาศว่า ต่อไปนี้ไม่นับถือพุทธศาสนาแล้ว เพราะว่าทุ่มเทให้กับพุทธศาสนามา มีศรัทธาในศาสนา แทนที่จะประสบความสุขความเจริญ กลับเป็นหนี้ล้นพ้นตัว ต้องหลบลี้หนีหน้าผู้คน แล้วเมียยังทิ้งอีก ไม่ได้ความเจริญยั่งยืนอะไรเลย ก็เลยประกาศไม่นับถือพุทธศาสนา ในใจนี่คงรู้สึกลบกับพุทธศาสนา จากคนที่ศรัทธาในพุทธศาสนามาก ยอมทุ่มเท กลายเป็นคนที่หันหลัง แล้วก็รู้สึกเป็นลบกับพุทธศาสนา
อันนี้ก็เหมือนกัน มันเป็นศรัทธาที่ตีกลับ ศรัทธามันจะกลายเป็นความไม่ศรัทธา หรือจะกลายเป็นความเกลียดชัง ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าเป็นศรัทธาที่มันเจือไปด้วยกิเลส คือแรกๆ อาจจะมีความศรัทธาเพราะว่า สอนดี ช่วยคนพ้นทุกข์ แต่ว่าพอศรัทธาไปศรัทธามา กิเลสมันก็ไปครอบงำ ตัณหาไปเข้าแทรก หวังว่าพอมีศรัทธาในพุทธศาสนาแล้ว ชีวิตจะประสบความสุขความเจริญ พระรัตนตรัยจะคุ้มครองให้ได้โชคได้ลาภ อันนี้ก็ไม่ต่างจากคนที่ศรัทธาในบุญกุศล หลายคนก็ทำบุญทำกุศลด้วยมีความศรัทธาในอานิสงส์ ในอานุภาพของบุญกุศล เชื่อว่าทำแล้ว ทำบุญเยอะๆ เดี๋ยวบุญจะรักษา ธรรมะจะคุ้มครอง
แต่พอวันดีคืนดีเกิดป่วยเป็นมะเร็ง หรือว่ามีหนี้สิน กิจการล้มละลาย หรือว่าครอบครัวแตกแยก จิตมันพลิกเลย จากที่เคยทำบุญ หรือว่ามีศรัทธาในศาสนา นี่มันพลิกเลยเป็นตรงข้าม คือไม่ทำบุญแล้ว ทำดีไม่ได้ดี ต่อไปนี้ไม่เข้าวัดแล้ว เหมือนกับโยมหลายคนที่จังหวัดสุรินทร์ เมื่อสัก 40 ปีที่แล้ว มีไฟไหม้ใหญ่กลางเมือง กลางจังหวัดสุรินทร์ บ้านเรือนก็ถูกเผาทำลายไป คนนับสิบนับร้อย สิ้นเนื้อประดาตัวกันมากมาย ก็มีหลายคนไปพูด ฝากโยมคนหนึ่งของหลวงปู่ดุลย์ โยมนี้เขาก็มาเล่าให้หลวงปู่ดุลย์ฟังว่า มีครอบครัวหนึ่งเขา บอกว่าเขาทำบุญมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย พ่อแม่เขาก็ทำบุญมาก ตัวเขาเองก็ทำบุญผ้าป่า กฐิน ก็ไม่ขาด แต่ทำไมต้องมาเจอเรื่องแบบนี้ ทำไมบุญไม่รักษา ทำไมธรรมะไม่คุ้มครอง ต่อไปนี้จะไม่ทำบุญแล้ว จะไม่เข้าวัดแล้ว
หลวงปู่ดุลย์ก็เลยต้องอธิบายว่า ไฟมันทำตามหน้าที่ของมัน แล้วท่านอธิบายว่า ธรรมะไม่ได้ทำหน้าที่อย่างนั้น ท่านขยายความว่า ความเสื่อม ความอันตรธาน ความวิบัติ ความพลัดพราก มันเป็นธรรมดาโลก ไม่ใช่ว่าพอทำบุญ ปฏิบัติธรรมแล้วจะไม่เกิดเหตุแบบนี้ ฉะนั้นคนที่ทำบุญ คนที่ใฝ่ธรรม ปฏิบัติธรรม เมื่อเกิดเหตุแบบนี้ ก็ต้องพิจารณาว่า ธรรมะนี่จะใช้รักษาจิตใจได้อย่างไร หน้าที่ของธรรมะอยู่ตรงนั้น คือทำให้ใจไม่ทุกข์ เพราะเห็นว่ามันเป็นธรรมดา ไม่ใช่ไปคิดว่า มีธรรมะแล้วนี่จะไม่หิว จะไม่เจ็บป่วย จะไม่เป็นโรค จะไม่เกิดภัยพิบัติ ไม่ใช่
ธรรมะก็สอนเราอยู่แล้วตลอดเวลา อย่างที่เราสวดกันอยู่บ่อยๆ เรามีความแก่เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้ เรามีความป่วยไข้เป็นธรรมดา จะพ้นจากความป่วยไข้ไปไม่ได้ มีความตายเป็นธรรมดา จะพ้นจากความตายไปไม่ได้ เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งนั้น ธรรมะนี่ก็พูดแต่เรื่องนี้ เราทั้งหลายเป็นผู้ที่มีความทุกข์หยั่งเอาแล้ว เป็นผู้มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว ถ้าเปิดใจฟังธรรมะจริงๆ ก็ต้องซึมซับความจริงเหล่านี้เข้าไปในหัวจิตหัวใจบ้าง ซึ่งจะทำให้มีภูมิคุ้มกัน แล้วถ้ามีตรงนี้ มันก็เรียกว่า ยิ่งทำให้เกิดศรัทธามากขึ้น แต่เป็นศรัทธาที่เรียกว่าประกอบไปด้วยปัญญา เรียกว่า“ศรัทธาญาณสัมปยุต”
“ศรัทธาญาณสัมปยุต” ก็คือ ศรัทธาที่เจือไปด้วยปัญญา หรือประกอบด้วยปัญญา หรือว่ามีปัญญาเป็นฐาน ก็คือศรัทธาโดยธรรม ศรัทธาเพราะเห็นว่าสิ่งนี้ถูกต้อง ไม่ว่าสิ่งนี้จะเป็นคน หรือว่าเป็นคำสอน หรือว่าเป็นศาสนาก็ตาม มีความศรัทธาไม่ใช่เพราะว่ามันถูกใจเรา เพราะว่ามันทำให้เรากลายเป็นคนสำคัญ ทำให้เรามีความหวังว่าจะได้โชคได้ลาภ นี่มันเป็นศรัทธาที่มันเจือไปด้วยกิเลส ศรัทธาที่เต็มไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ศรัทธาแบบนี้ง่อนแง่น มันสามารถจะกลายเป็นตรงกันข้าม จากศรัทธากลายเป็นความเป็นปฏิปักษ์ ความเกลียดชัง
เราก็ต้องตรวจสอบศรัทธาของเรา เวลาเราศรัทธาในคนก็ตาม ครูบาอาจารย์ ศรัทธาในศาสนา ถ้ามันเป็นศรัทธาที่เต็มไปด้วยความยึด ความอยาก ความคาดหวังที่จะมาปรนเปรอตนเอง มันสามารถจะกลับมาเป็นโทษแก่เราได้ สามารถทำให้เราโกรธ ทำให้เราน้อยเนื้อต่ำใจ กลายเป็นความเกลียดได้ ถ้าเราต้องตรวจสอบ วิธีตรวจสอบอย่างหนึ่งก็คือว่า เวลาครูบาอาจารย์ หรือสิ่งที่เราศรัทธาเกิดส่งผลไม่ถูกใจเรา เราโกรธไหม เราเกลียดไหม ครูบาอาจารย์พูดไม่ถูกหู หรือว่าท้วงติง วิจารณ์ เรามีความโกรธไหม มีความไม่พอใจหรือเปล่า ถ้ามีความโกรธ ความไม่พอใจ ก็แสดงว่า เป็นศรัทธาที่ยังเจือไปด้วยอัตตา ไม่ใช่ศรัทธาโดยธรรม เพราะถ้าเป็นศรัทธาโดยธรรม ก็ต้องพิจารณาว่า ที่ท่านพูดมาถูกไหม ถูกหรือเปล่า ถูกต้องไหม มีประโยชน์หรือเปล่า ไม่ใช่โกรธเพียงเพราะว่า พูดมากระทบเรา เพียงแค่พูดกระทบอัตตาเราก็โกรธ แต่ไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณาว่า ที่ท่านพูดมาจริงไหม มีประโยชน์กับเราหรือเปล่า ถูกต้องตามธรรมไหม
ถ้าหมั่นพิจารณาแบบนี้บ้าง มันจะทำให้ศรัทธาของเรามั่นคง เพราะเป็นศรัทธาโดยธรรม แต่ถ้าเอาตัวตนเป็นหลัก มันก็อยากจะได้ยินแต่คำชม คำพะเน้าพะนอ คำพูดที่ถูกใจ หรือการให้ความหวังว่าจะร่ำรวย จะมีโชคมีลาภ หรือว่าได้รับความสำคัญ มีหน้ามีตา ไปอวดคนได้ว่าฉันเป็นศิษย์ของครูบาอาจารย์คนนี้
หลายคนนับถือเพียงเพื่อที่จะได้ไปอวด ไปอวดคนว่า ฉันเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อ หลวงตา หลวงปู่คนนี้ ยิ่งเป็นพระที่เด่นดังมากเท่าไร ก็อยากที่จะแห่กันไปเป็นลูกศิษย์ทั้งนั้นแหละ แต่พอครูบาอาจารย์สอน ครูบาอาจารย์ตำหนิ ก็ไม่พอใจ น้อยใจ ขุ่นเคืองใจ นี่ต้องระวัง บางทีศรัทธาของเรามันเป็นไป เพื่อเชิดชูกิเลส เพื่อประกาศตัวตนของเราในอีกแบบหนึ่ง ซึ่งมันก็จะทำให้เรามีความทุกข์ แล้วก็ไม่เจริญ รวมทั้งไม่ได้ประโยชน์จากสิ่งที่เราศรัทธา แม้สิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่ดีงามก็ตาม