แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บทสวดมนต์ที่เราสาธยายทุกเช้าทุกเย็น มันมีความหมายที่เราควรพิจารณาอยู่เสมอ โดยเฉพาะทำวัตรเช้าก็จะมีบทสวดที่พิเศษกว่า หรือเพิ่มเติมจากทำวัตรเย็น ก็คือการสาธยายถึงความทุกข์ ทุกข์ที่เราได้สาธยายมาถ้าอาตมาได้พิจารณาดู จะมีประโยชน์มาก จริงๆ แล้วจะเรียกว่าเป็นแผนที่หรือว่าเป็นสูตรในการเข้าใจชีวิต เข้าใจตัวเรา เข้าใจโลกรอบตัวได้ดีทีเดียว ชีวิตหรือชะตาของผู้คนจะว่าไปแล้วก็วนเวียนกับทุกข์ 12 ประการหรือว่าทุกข์ 12 อาการ คือ ความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่บายใจ ความคับแค้นใจ ประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจ พลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจ ปรารถนาอย่างไรแล้วไม่ได้อย่างนั้น
อันนี้ก็เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเพศใดวัยใด อยู่ในสถานะใด จนหรือรวย โง่หรือฉลาด พระหรือโยม ผู้หญิงหรือว่าผู้ชาย ก็ล้วนแล้วต้องเจอต้องผ่าน เคยผ่านแล้วกำลังเจอ และจะต้องประสบอีกไม่มีทางหนีพ้นได้
เคยรู้จักพระรูปหนึ่ง ท่านเป็นผู้รู้ด้านสมุนไพรเชี่ยวชาญมาก วัดท่านก็มีสมุนไพรนานาชนิด แต่ว่าโยมจำนวนมากมาหาท่าน เพราะเหตุว่าเขาลือกันว่าท่านทำนายทายทักได้แม่น ก็มาเพื่อมาขอคำแนะนำ หรือว่ามาขอให้ท่านช่วยปลดทุกข์ให้ เพราะคิดว่าท่านมีความสามารถพิเศษทางจิต นั่งทางในได้ ท่านบอกว่าท่านไม่ได้นั่งทางในอะไรเลย ท่านก็อาศัยคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เพราะคำหรือข้อความที่สวดทำวัตรเช้า ก็คือข้อความที่เพิ่งสรุปย่อๆ เมื่อสักครู่ ท่านบอกว่าคนที่มาหาท่านก็ล้วนแล้วแต่มีความทุกข์ และที่ท่านทายทักถูกก็เพราะว่าท่านรู้และก็เชื่อว่าความทุกข์คนเราก็หนีไม่พ้น ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ตามที่เราสวดกันทุกเช้า ท่านคุยกับเขาสักพักท่านก็รู้แล้วว่าเขาทุกข์เรื่องอะไร ซึ่งก็หนีไม่พ้น แก่ เจ็บ ตาย พลัดพราก สูญเสียประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ไม่ได้อย่างที่ต้องการอย่างที่ปรารถนา พอท่านทายทักถูก เขาก็ศรัทธาในตัวท่าน และสิ่งที่ท่านได้ทำนายไป ก็เป็นการให้คำชี้แนะ ให้ข้อเตือนใจ แล้วก็ความหวังแก่เขาทั้งนั้น
ทุกข์ที่เราได้สาธยาย 12 อาการหรือว่า 12 ลักษณะ ไม่เพียงแต่ช่วยทำให้บำบัดทุกข์ทางโลกเท่านั้น แต่ว่ายังสามารถช่วยบำบัดความทุกข์ทางใจ ไม่ใช่ของใคร ของเราเอง จะใช้ความรู้นี้ช่วยบำบัดทุกข์ของผู้อื่นก็ได้ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ บำบัดทุกข์ในใจของเรา ฉะนั้นถ้าเราเข้าใจความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเรา ความทุกข์ที่อาตมาได้สาธยายมาสรุปง่ายๆ ย่อๆ ก็มีแค่ความทุกข์กายกับทุกข์ใจ ทุกข์กายที่เกิดขึ้นทันทีที่เกิดมา ก็มีความแก่ ความเจ็บหรือความไม่สบายกาย แล้วที่สุดก็ความตาย อันนี้ไม่มีใครหนีพ้น พระพุทธเจ้าท่านก็ต้องประสบกับความทุกข์ลักษณะนี้ แต่ว่าความโศกความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ไม่ใช่ว่าจะต้องเกิดขึ้นกับทุกคนเสมอไปหรือตลอดไป เราสามารถที่จะก้าวข้ามความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจได้
ถ้าเราเข้าใจหรือตระหนักกับความจริงว่า ความทุกข์กายมีสาเหตุมาจากอะไร ความทุกข์กายก็เป็นความทุกข์ของรูป แล้วที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า กายหรือรูปเป็นตัวทุกข์ อันนี้ก็รวมไปถึงสิ่งของที่ผู้คนรักหรือพอใจหวงแหน ไม่ว่ารูปธรรมหรือนามธรรม ซึ่งเมื่อพลัดพรากไปก็ทำให้ทุกข์ เกิดความโศกความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ถามว่าทำไมถึงพลัดพราก ก็เพราะว่ามันเป็นทุกข์ มันคือตัวทุกข์เช่นเดียวกับรูปหรือร่างกายของเรา ทรัพย์สินเงินทองไม่เคยอยู่ยั่งยืน ต้องเสื่อมต้องดับไป รวมทั้งสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น ความสุข ความรัก ความผูกพัน ซึ่งมันเป็นนามธรรมก็จริง แต่ว่ามันก็ไม่เที่ยง แล้วที่ไม่เที่ยงก็เพราะว่ามันเป็นตัวทุกข์ ตัวทุกข์ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่ามีทุกขเวทนา เพราะว่าวัตถุสิ่งของไม่มีความรู้สึกอยู่แล้ว แต่ที่เขาว่าเป็นตัวทุกข์ก็เพราะว่ามีความพร่อง มีความไม่สมบูรณ์ มีความบีบคั้นขัดแย้งอยู่ภายใน
คำว่าทุกข์ในที่นี้หมายถึงอันนี้ ไม่ว่าจะเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่สรุปง่ายๆเรียกว่าอุปาทาน ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์ ตัวข้อความนี้เป็นข้อความที่สำคัญ เพราะว่าเป็นตัวที่อธิบายว่าทำไมเราถึงต้องแก่ ต้องเจ็บและต้องตาย และทำไมเราถึงต้องประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจและพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจ ก็เพราะสิ่งที่เรารักที่เราพอใจ มันล้วนแล้วแต่เป็นตัวทุกข์
ไม่ใช่แค่ไม่เที่ยงอย่างเดียว ที่ไม่เที่ยงก็เพราะว่ามันเป็นตัวทุกข์ มีความขัดแย้งอยู่ภายใน ความขัดแย้งบีบคั้นตึงเครียดภายใน อธิบายง่ายๆ ก็อย่างเช่น รถยนต์ รถยนต์เสีย ใช้การไม่ได้เรียกว่าเสื่อม แล้วก็ผุพังไปกลายเป็นเศษเหล็ก เพราะอะไร ก็เพราะว่าชิ้นส่วนที่ประกอบขึ้นเป็นตัวรถ ถ้าเกิดว่าในยามที่ชิ้นส่วนเหล่านั้นปกติดี รถก็ใช้การได้ดี รถใหม่ก็เป็นอย่างนี้กันทั้งนั้น ก็คือว่า ชิ้นส่วนทุกชิ้นส่วนเข้ากันได้ดี แต่พอใช้ไปนานๆ หรือพอใช้ไปได้ไม่เท่าไหร่ สมมุติว่ามีชิ้นส่วนชิ้นหนึ่งเกิดเสียไป รถก็เกิดอาการติดขัดกันขึ้นมา บางทีก็ถึงกับว่ารถเสียไปเลยขยับเขยื้อนเคลื่อนไม่ได้ การที่ชิ้นส่วนอันใดอันหนึ่งเสียไป ทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นภายในระบบของรถยนต์ ก็เรียกว่าไม่เป็นปกติ มันก็รวนไม่เป็นระเบียบ ภาษาฝรั่งอธิบายดีมาก ถ้าเสียก็ใช้คำว่า OUT OF ORDER คือว่าไม่เป็นระเบียบแล้ว มันรวนแล้ว
อันนี้ก็เรียกว่าเกิดปัญหา เสีย ถ้าเป็นคนก็คือป่วย แล้วถ้าไม่ใช่ชิ้นใดชิ้นหนึ่งที่เสียไป ถ้าลามไปถึงชิ้นอื่นด้วย อันนี้เรียกว่าอันที่เคยมี ที่เคยเกิด ดับแล้ว องค์ประกอบเหตุปัจจัยเริ่มจะดับกันทีละชิ้นๆ ทีละส่วนๆ คราวนี้รถก็เสียเลย ใช้การไม่ได้ ถ้าเป็นนาฬิกาก็นาฬิกาตาย อันนี้ก็เรียกว่าดับแล้ว ถ้าเป็นคนก็คือตาย
อาการเหล่านี้เรียกว่า ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องชี้ว่าทุกสิ่งทุกอย่าง โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นรูปธรรมซึ่งเห็นได้ง่าย มีความตึงเครียดอยู่ภายในตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับว่าองค์ประกอบหรือชิ้นส่วนแต่ละส่วนหรืออวัยวะแต่ละส่วนยังเข้ากันได้ แต่ก็เป็นของชั่วคราว ร่างกายเราเกิดอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งเสียไปก็ป่วยแล้ว เพราะว่าอายุหรือความปกติของไม่เที่ยงไม่แน่นอน
อันนี้พูดรวมๆ ก็คือว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีความตึงเครียดอยู่ภายใน เพราะความเกิดดับเพราะถูกบีบคั้นด้วยความเกิดดับของเหตุปัจจัยต่างๆ ถ้าทุกส่วนเกิดและทำงานได้ดีก็แล้วไป แต่ถ้าบางส่วนเริ่มดับไป ตอนนี้รวนแล้ว คำว่าเสียใช้ไม่ได้ ก็คือดับ หรือว่าตัวน็อตตัวไหนหลุดไปจากเครื่องยนต์ ก็เสีย ก็เกิดทุกข์ขึ้นมา รถใช้ไม่ได้ก็เรียกว่าเป็นทุกข์
ทีนี้เข้าใจตัวทุกข์กันให้ดีว่าหมายความว่าอย่างนี้ ก็คือว่ามีความไม่สมบูรณ์ พร่อง มีความตึงเครียดอยู่ภายใน เพราะว่าเหตุปัจจัยที่ประกอบขึ้นมานั้น เกิดดับแตกต่างกันคราวเป็นธรรมดา นั้นคือเหตุผลว่าทำไมร่างกายของเรา ถึงต้องแก่ ต้องเจ็บ และสุดท้ายต้องตาย คราวนี้ถ้าเรารู้ว่าเป็นธรรมดา เราก็ไม่ทุกข์ แต่เป็นเพราะว่าคนเราไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ ไม่รู้ว่าเป็นตัวทุกข์ ก็ไปยึดเอาไว้ ไปยึดด้วยความเข้าใจว่าจะเที่ยง หรือว่าจะให้ความสุขกับเราไปได้ตลอด ครั้นเสื่อมไปเสียไปดับไป คราวนี้เกิดความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจขึ้นมาทันที สิ่งสำคัญอยู่ตรงที่ไปยึดถือในสิ่งที่ไม่เที่ยง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ ตรงนี้ที่คำว่า“อุปปาทาน”เข้ามาเกี่ยวข้อง
ที่จริงอุปาทานขันธ์ทั้ง 5 ไม่ว่าจะถูกเรายึดหรือไม่ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นตัวทุกข์ทั้งนั้น แต่ทำไมจึงมีคำว่า“อุปปาทานขันธ์” หรือว่าขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น ก็เพราะว่าถ้าไปยึดเมื่อไหร่ คนยึดก็จะทุกข์ไปด้วย ความทุกข์ของสิ่งที่ถูกยึด ก็ลามมาสู่คนที่ไปยึด เรียกว่าถ่ายทอดทุกข์ ของเดิมทุกข์อยู่แล้วพอไปยึดมั่น พอคนไปยึดมันก็ทุกข์เลย ของเดิมตกอยู่ภายใต้ความบีบคั้นเครียด แต่พอใครไปยึดคนยึดตึงเครียดไปด้วย และของที่ไปยึดนั่นก็เหมือนจะกลายเป็นสิ่งบีบคั้นกับคนที่ไปยึด ของที่ถูกยึดจะไปบีบคั้นกับคนที่ไปยึดสิ่งนั้น เช่น เรายึดในร่างกายนี้อยากให้หนุ่มสาวไม่แก่ อยากให้มีสุขภาพดี พอไปยึดเข้าว่าเป็นเราเป็นของเรา ไปยึดว่าเที่ยง ร่างกายนี้บีบคั้นใจเราเลย คือ พอเริ่มผมหงอก พอเริ่มเหี่ยว เราซึ่งไปบีบซึ่งไปยึดถือมั่นในร่างกายนี้ เราเครียดเราทุกข์เรานอนไม่หลับ มันบีบคั้นเรา เพราะว่าไม่เที่ยง ทุกข์ตัวเองก็ถูกบีบคั้นตึงเครียด เพราะเหตุปัจจัยองค์ประกอบแปรปรวน คราวนี้พอเราไปยึดเข้าก็เหมือนกับว่าบีบคั้นเราให้เป็นทุกข์ มีอะไรแล้วไปยึดสิ่งนั้นก็ทุกข์เพราะสิ่งนั้น
อันนี้พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ตั้งแต่สองพันหกร้อยปีแล้ว มีโคก็ทุกข์เพราะโค มีลูกก็ทุกข์เพราะลูก ก็คือถูกบีบคั้นด้วยโค ถูกบีบคั้นด้วยลูก ด้วยสิ่งของเพราะอะไรเพราะไปยึด ไปยึดในสิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ไม่ใช่เพียงยึดว่ามันต้องเที่ยง ต้องให้ความสุขกับเรา ซึ่งสวนทางกับความเป็นจริง แต่ยังไปยึดว่ามันเป็นเราเป็นของเรา สิ่งทั้งปวงก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และก็ไม่ใช่ตัวตนด้วย ไม่ใช่ตัวตนหมายความว่าไง ก็หมายความว่าไม่ได้เกิดขึ้นเอง ไม่ได้มีอยู่ด้วยตัวเอง แต่เกิดขึ้นจากส่วนประกอบต่างๆที่เราเรียกกันว่า เหตุปัจจัยมาทำให้เกิดขึ้น
ทุกอย่างล้วนแล้วแต่เหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น ก็เหมือนกับรถยนต์เกิดขึ้นได้ก็เพราะมีชิ้นส่วนต่างๆมาประกอบกัน ร่างกายของเราก็มีอวัยวะต่างๆ เล็กน้อยมาประกอบกันเป็นร่างกาย ซึ่งบางทีท่านก็อธิบายง่ายๆ ว่าประกอบด้วยอาการ ๓๒ หรือบางทีก็ย่อให้สั้น ก็คือ ดินน้ำไฟลม ที่เราพิจารณาอาการ 32 เริ่มด้วย เกศา โลมา ขา ทันตา ตะโจ ผม ขน หนัง ฟัน เล็บ อันนี้ก็คือองค์ประกอบซึ่งมารวมกันเมื่อไหร่ จึงเกิดมีร่างกายขึ้นมา และเราก็เรียกว่าตัวเรา พอไปยึดว่าร่างกายนี้เป็นตัวเรา อันนี้ก็มีปัญหาขึ้นมาทันที เพราะว่าเกิดความยึดแล้วว่าเป็นเราเป็นของเรา เกิดความยึดว่าเป็นตัวตน
แต่ที่จริงมันไม่มีตัวตนของมันเอง คำว่า“อนัตตา”มันไม่ใช่ตน หมายถึงว่าไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตนที่เป็นของมันหรือเป็นตัวตน ที่แท้ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นมาเพราะอิงอาศัยองค์ประกอบต่างๆ มีองค์ประกอบมีเหตุปัจจัย มันถึงเกิดขึ้น ถ้าไม่มีองค์ประกอบไม่มีเหตุปัจจัยมันก็ไม่เกิดขึ้น ลองถอดชิ้นส่วนรถไปทีละส่วนๆ สิ ถอดไปจนในที่สุดก็เหลือความว่าง ความว่างก็คือไม่มีตัวตน เก้าอี้ถ้าเราลองถอดชิ้นส่วนออกไปทีละส่วน ก็เหลือแต่ความว่าง ถอดขาออกไป ถอดพนักออกไป เอาตะปูออก ถอดกาวออก ถอดไปทีละส่วนๆ ก็เหลือแต่ความว่าง ความว่างในที่นี้คือ ว่างเปล่าจากตัวตน แต่ที่เราเรียกเก้าอี้ก็เพราะเป็นคำสมมุติ ใช้เรียกองค์ประกอบที่มารวมกันว่าเก้าอี้เหมือนกับเราเรียกชิ้นส่วนต่างๆ ที่มารวมกันว่ารถ เราเรียกชิ้นส่วนที่มารวมกันว่านาฬิกา ชื่อเรียกต่างกัน แต่ถามว่าตัวรถมี ตัวนาฬิกามี ไม่มี ลองถอดชิ้นส่วนแต่ละชิ้นส่วนออกไปก็เหลือแต่ความว่าง คำว่ารถ คำว่าเก้าอี้ เป็นเพียงแค่คำสมมุติที่ใช้เรียก สิ่งรวมๆ กัน ก็มีชื่อเรียก และชื่อเรียกก็แตกต่างกันไป
ที่จริงไม่ต้องดูอื่นไกล กำปั้นของเรา เวลาเราลองดูกำปั้นของเรา ถามว่ากำปั้นของเรามีจริงหรือเปล่า ตัวตนกำปั้นมี ลองคลายนิ้วออกสิ เหลืออะไร เหลือความว่าง กำปั้นจริงๆไม่มีตัวตน กำปั้นไม่มี แต่ที่เราเรียกกำปั้น ก็คือเราเรียกอาการของนิ้วที่รวบเข้าหากัน เมื่อนิ้วมือรวบเข้าหากัน เราก็เรียกสิ่งนี้ว่ากำปั้น กำปั้นคือคำเรียกคำสมมุติ ที่ใช้เรียกนิ้วมือที่รวบเข้าหากัน แต่ตัวตนกำปั้นไม่มีจริง พอคลายนิ้วออกกำปั้นไม่มีแล้ว อันนี้เรียกว่ากำปั้นไม่มีตัวตน แต่พอไปคิดว่ามีตัวมีตนเข้าเป็นทุกข์เลย
โดยเฉพาะไปยึดว่าเราคิดว่าของเรา เราลองชี้มาที่ตัวเราสิว่าตรงไหนที่คือเรา ถ้าชี้มาที่อกไม่ใช่เรา นั่นคือหน้าอก ลองหาตำแหน่งหรือตรงจุดไหนที่เราชี้ว่าเป็นตัวเราบ้าง ลองชี้ไปไม่ว่าตรงไหนๆ ถ้าไม่ใช่หัวก็เป็นแขนเป็นลำตัว เป็นหูเป็นตา หาสิ่งที่เป็นตัวตน ตัวฉันไม่ได้เลย เพราะจุดที่ชี้เป็นแขนเป็นขาเป็นมือเป็นหัวทั้งนั้น แต่เราเรียกว่าตัวเรา ก็คือเป็นคำเรียกอวัยวะต่างๆ เหล่านี้รวมกันแล้วก็เรียกว่าเรา ต้องไปยึดอีกว่าเป็นร่างกายของเรา แต่ถ้าเป็นของเราจริง เราก็สั่งให้ไม่แก่ สั่งให้ไม่เจ็บ ไม่ปวดท้อง สั่งให้ไม่ปวดไม่เมื่อยก็ต้องสั่งได้ แต่เราสั่งไม่ได้ สั่งให้สวยยังสั่งไม่ได้เลย สั่งให้ไม่มีสิว สั่งให้ผมไม่หงอกก็สั่งไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะเรียกว่าเป็นของเราได้อย่างไร สิ่งของก็เหมือนกันสั่งให้ไม่เกิดไม่ดับก็ไม่ได้
อันนี้คือความจริง ที่เรามองไม่เห็นความจริงตรงนี้ ก็เลยไปยึดว่า รูปก็ดีร่างกายนี้ก็ดี รวมทั้งคนรักคนที่เราเกี่ยวข้องด้วยก็ดี ทรัพย์สมบัติก็ดี ไปยึดว่าเป็นเราเป็นของเรา ไปยึดอยากให้เที่ยง ไปยึดอยากให้เป็นสุข แล้วไปหลงคิดว่าเป็นตัวตน แต่ถ้าเริ่มตันจากการที่เราเห็นชัดว่าสิ่งทั้งปวงเป็นตัวทุกข์ ก็คือในที่สุดก็ต้องเสื่อมต้องดับไป เราเรียกสิ่งที่เสื่อมดับไปว่าไม่เที่ยง และที่เสื่อมดับไปเพราะไม่มีตัวตนของตัวเอง ต้องพึ่งพิงอาศัยปัจจัยอื่น และปัจจัยอื่นก็ดันไม่เที่ยงเหมือนกันอีก
และถ้าเราเห็นว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน เราก็จะคลายปัญญา เกิดเราก็จะไม่ยึด เมื่อไม่ยึดเสื่อมไปดับไปเราก็ไม่ทุกข์ ที่จริงแล้วคำว่าเราก็ไม่มี หรือถึงมีก็มีโดยสมมุติ แต่ที่มีเราๆ ตลอดเวลาก็เพราะยังมีความสำคัญมั่นหมายว่ายังมีกูอยู่ เมื่อใดเห็นว่าไม่มีกู ความจริงมีแต่รูปกับนาม มีแต่กายกับใจ ความยึดมั่นในตัวกูก็จะลดลง และเมื่อเห็นว่าสิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ความไปยึดว่าสิ่งนั้นเป็นเราเป็นของเราก็จะไม่มี
ถ้าถามว่าเราจะเห็นความจริงเหล่านี้ได้อย่างไร มันไม่ได้เกิดจากการคิดเอา แต่เกิดจากการที่เราพิจารณาหรือการที่เราเห็นความจริง ทั้งที่ปรากฏอยู่รอบตัวแล้ว ที่สำคัญก็คือที่เกิดขึ้นกับกายและใจ การเจริญสติก็คือการที่เอาสติมาใช้ดูกายและใจ เมื่อเราเอาสติมาดูมามองตน ในที่สุดเราก็จะเห็นว่าที่จริงไม่มีเรา มีแต่รูปกับนาม มีแต่กายกับใจ
อันนี้เป็นวิธีการเบื้องต้นเป็นพื้นฐานเลย จะเห็นจะเข้าใจเรื่องอนัตตา จะเข้าใจว่าไม่มีเราก็เริ่มต้นจากการที่เราใช้สติมาดูสิ่งที่เรียกว่าเรา แล้วเมื่อมาดูก็จะพบว่าไม่มีเรามีแต่กายกับใจ มีแต่รูปกับนาม เมื่อเรามีสติในการยกมือ ในการเดิน เราก็จะเห็นว่าเป็นรูปที่ยก เป็นกายที่เดิน ไม่ใช่เรายก ไม่ใช่เราเดิน เมื่อมีความคิดเกิดขึ้นก็จะเห็นว่าไม่ใช่เราคิดแต่เป็นแค่ความคิดที่เกิดขึ้นในใจ ความโกรธเกิดขึ้นมาไม่ใช่เราโกรธแต่ว่าความโกรธเกิดขึ้นในใจหรือเกิดขึ้นกับนาม เมื่อปวดเมื่อเมื่อยไม่ใช่เราปวด ไม่ใช่เราเมื่อย แต่ว่ามีความปวดเกิดขึ้นกับกายของเรา จะเห็นความจริงแยกออกมาเป็นส่วนๆ ที่เขาเรียกว่า แยกรูปแยกนามคืออันนี้ แต่ก่อนเห็นรวมๆ เห็นคลุมๆไปว่า เรา ๆๆๆ อันนี้เพราะไม่สติ
แต่พอเรามีสติ สติในที่นี้คือสัมมาสติหรือสติปัฏฐาน ตัวเราจะหายไป จะเห็นแต่ความจริงพื้นฐานคือ รูปกับนาม กายกับใจ และตรงนี้เป็นขั้นแรกที่จะเข้าใจเรื่องอนัตตา เราจะเห็นว่า รูปก็ไม่ใช่เรา นามก็ไม่ใช่เรา ความคิดความโกรธก็ไม่ใช่เราและสติปัฏฐาน 4 ที่อธิบายง่ายๆว่า เห็นกายในกาย พิจารณากายในกาย พิจารณาเวทนาในเวทนา พิจารณาจิตในจิต ธรรมในธรรม ความหมายก็คือว่า เห็นกายว่าเป็นกายไมใช่เรา เห็นเวทนาว่าเป็นเวทนาไม่ใช่เรา เห็นจิตว่าเป็นจิตไม่ใช่เรา เห็นธรรมว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา แต่ถ้าไม่มีสติ กายก็คือเรา ความปวดก็คือเรา เราปวดเราเมื่อยเราเจ็บ เราทั้งนั้น แต่ถ้าใช้สติปัฏฐานเมื่อไหร่ ก็จะเห็นว่า ไม่ใช่เราเจ็บ เราปวด เห็นว่าเวทนาก็เป็นเวทนา
ตรงนี้สติปัฏฐานก็ช่วยได้ทำให้เราได้เห็นว่า ที่ความมีความสำคัญมั่นหมายว่า เราๆๆๆ ไม่ใช่ มีแต่รูปกับนามกายกับใจ และใจก็แยกออกมา เวทนาก็อันหนึ่ง ความคิดอารมณ์ก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง แล้วก็ไม่ใช่ของเราสั่งไม่ได้ อันนี้ที่จะทำให้เราได้เห็นความจริง และปัญญาก็จะเกิด เมื่อปัญญาเกิดก็จะวาง ไม่ยึดแล้ว ที่เคยยึดว่าเป็นของเราเพราะว่ารู้แล้วไม่ใช่เรา รวมทั้งกายนี้จิตนี้และที่ไปยึดสิ่งต่างๆ ว่าเที่ยงเป็นสุข ก็จะไม่ยึด เพราะรู้ว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ทุกข์ทั้งนั้นเลย อุปปาทานขันธ์ทั้งห้า หรือไม่ต้องอุปปาทานขันธ์ เฉยๆ ขันธ์ทั้งห้าก็เป็นตัวทุกข์ยึดไม่ได้ จิตก็วางสลัดคืนสู่ธรรมชาติไป แต่ก่อนยึดว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา ทีนี้สลัดแล้วสลัดคืนให้เป็นของธรรมชาติ จิตก็ปลอดโปร่ง ใจก็พ้นทุกข์ นี้ก็เริ่มต้นด้วยจากการเห็นความจริงขั้นพื้นฐาน คือเห็นทุกข์ เห็นว่าสิ่งทั้งปวงเป็นตัวทุกข์ ไม่มีอะไรที่น่าจะยึดถือได้เลย
พระอรหันต์ทั้งหลายท่านก็เห็นว่าสิ่งทั้งปวงเป็นตัวทุกข์โดยเฉพาะสังขารร่างกายเป็นตัวทุกข์ และทุกข์แสดงได้ชัดมากตอนเจ็บตอนป่วยตอนที่พลัดพรากสูญเสีย เพราะฉะนั้นการบรรลุธรรมของหลายท่าน ของพระอรหันต์ท่านบรรลุธรรมเมื่อเจ็บป่วย เมื่อพลัดพรากสูญเสีย ฉะนั้นความเจ็บป่วยความพลัดพรากสูญเสีย ก็จะว่าไปก็เป็นของดีที่สามารถจะเปิดตาเราให้เห็นสัจธรรมความจริงได้ ไม่ใช่สิ่งที่พึงหนีพึงถอยพึงรังเกียจพึงหันหลัง แต่เป็นสิ่งที่พึงพิจารณา อริยสัจสี่ ข้อแรกทุกข์ จึงเป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ กำหนดก็คือการใช้ปัญญา ท่านใช้คำว่าปริญญาคือปัญญานั่นเอง เมื่อมีทุกข์ก็พยายามพิจารณาให้เห็น รวมความว่าเห็นทุกข์จึงพ้นทุกข์ เห็นทุกข์ก็พ้นทุกข์ ความหมายอันนี้คือ เห็นว่าสิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์ จิตก็ไม่ยึดถืออะไรอีกต่อไป แล้วนั่นก็คืออิสรภาพ คือพ้นจากทุกข์