แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ก็เข้าใจว่าเป็นช่วงสมัยต้นๆ ของพระพุทธเจ้า หมายถึงพรรษาแรกๆ มีคราวหนึ่งพระองค์ก็เสด็จไปเยี่ยมเยือนพระสาวกสามรูปที่หลีกเร้นไปปฏิบัติอยู่ในป่า พระองค์ก็เสด็จไปผู้เดียว และตอนนั้นก็คงจะไม่มีพระปัจฉาสมณะ พระทั้งสามรูปที่พระองค์เสด็จไปเยี่ยม ก็ได้แก่พระอนุรุทธะ พระนันทิยะ และพระกิมพิละ ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่ได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยะบุคคล แต่ภายหลังทั้งสามท่านก็ได้บรรลุอรหัตผลทั้งสามท่าน ตอนนั้นทั้งสามท่านก็ยังทำความเพียรอยู่ เพิ่งบวชมาใหม่ๆ
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปเยี่ยม ประโยคแรกที่พระองค์ตรัสเป็นคำถาม ก็คือว่า พออยู่ได้ไหม บิณฑบาตได้หรือเปล่า ทั้งสามก็ตอบว่าอยู่ได้ การบิณฑบาตไม่ขัดสน แล้วพระองค์ก็ถามต่อมาว่า ยังมีความพร้อมเพรียงกันดีหรือชื่นชมกันไม่วิวาทกัน เข้ากันได้เหมือนน้ำกับน้ำนม มองกันด้วยสายตาหรือนัยน์ตาที่เปี่ยมไปด้วยความรักหรือเปล่า ทั้งสามท่านตอบอย่างพร้อมเพรียงกันว่ามี และมีท่านหนึ่งตอบว่า ข้าพระองค์ได้พิจารณาว่า พึงเก็บจิตของตนไว้และประพฤติตามจิตของผู้อื่นในที่นี้ก็หมายถึงอีกสองท่านนั่นเอง แล้วก็บอกว่าแม้กายของข้าพระองค์จะแตกต่างกัน แต่ว่าจิตดูเหมือนเป็นอันเดียวกัน ท่านตอบดี ท่านตอบว่าเก็บจิตของตนเอาไว้ แล้วก็ตามจิตของผู้อื่น ก็คือว่าไม่เอาความต้องการของตนเป็นใหญ่ แต่ว่าคำนึงถึงจิตใจของผู้อื่นหรือมิตรสหาย แม้กายของข้าพระองค์จะแตกต่างกัน แต่ว่าจิตของข้าพระองค์ดูเหมือนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เรียกว่ามีความพร้อมเพรียงกันมาก จากนั้นพระองค์จึงถามว่า ยังมีความไม่ประมาท มีความเพียรในการปฏิบัติอยู่ทั้งกายและใจหรือเปล่า ทั้งสามท่านก็ตอบว่ามีความเพียร ความตั้งใจในการปฏิบัติดี
แล้วสุดท้ายพระองค์จึงถามว่า บรรลุคุณวิเศษบ้างหรือยัง น่าสนใจที่พระองค์ถามเป็นลำดับ แทนที่พระองค์จะถามว่า ปฏิบัติสำเร็จมากน้อยแค่ไหนเป็นคำถามแรก พระองค์กลับถามเรื่องของความเป็นอยู่ก่อน เรื่องความสุขสบายทางกายภาพ พออยู่ได้ไหม บิณฑบาตได้หรือเปล่า จากนั้นก็จึงถามถึงเรื่องความพร้อมเพรียง ความสามัคคี แล้วจึงค่อยถามถึงเรื่องความตั้งใจในการปฏิบัติ
อันนี้ถ้าเราพิจารณาดูดีๆ มันก็ให้แง่คิดกับพวกเราซึ่งเป็นนักปฏิบัติ ก็คือว่าในการปฏิบัติ ความตั้งใจ ความเพียรเป็นเรื่องสำคัญอยู่แล้ว แต่ว่าสิ่งที่จะช่วยเกื้อหนุนให้ความเพียร การปฏิบัติมันเป็นไปได้ หรือบังเกิดผล ก็มีอยู่สองอย่าง คือ เรื่องของทางกาย ก็ได้แก่ความเป็นอยู่ โดยเฉพาะเรื่องบิณฑบาต แต่ที่จริงคงจะรวมไปถึงเรื่องของเสนาสนะ อันนี้เป็นเรื่องของกายภาพ ซึ่งถ้าจะว่าไปก็รวมถึงเรื่องดินฟ้าอากาศด้วย
และประการต่อมาก็คือความสัมพันธ์ของผู้ที่อยู่ด้วยกัน ว่าเป็นกัลยาณมิตรกันหรือเปล่า มีความพร้อมเพรียง ความสามัคคีกันไหม คำที่พระองค์ใช้ก็น่าสนใจ เหมือนน้ำที่เข้ากันได้กับน้ำนม หรือว่าเข้ากันไม่ได้เหมือนน้ำกับน้ำมัน มองกันด้วยนัยน์ตาที่เปี่ยมด้วยความรักหรือเปล่า ก็คือความเมตตานั่น อันนี้ถ้าเกิดว่าความสัมพันธ์ในหมู่ผู้ที่อยู่ด้วยกันราบรื่นกลมเกลียว มันก็เอื้อให้ผู้ปฏิบัติมีความเจริญก้าวหน้า
สิ่งที่น่าสนใจประการต่อมาก็คือ พระองค์จะไม่ถามเรื่องความสำเร็จก่อน แต่จะถามถึงความตั้งใจก่อน ถ้ามีความตั้งใจ เรื่องผลสำเร็จหรือคุณวิเศษมันก็เป็นเรื่องที่ตามมา อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะว่าแม่หลายคนเวลาถามลูกก็จะถามถึงความสำเร็จว่า เป็นยังไง สอบได้เท่าไร ไปแข่งกีฬามาใช่ไหม แต่ไม่ค่อยได้ถามก่อนว่ามีความตั้งใจหรือเปล่า ความตั้งใจมันต้องมาก่อนความเพียร
แต่ความเพียรจะเกิดขึ้นได้ความตั้งใจอย่างเดียวไม่พอ มันต้องอาศัยสิ่งแวดล้อม เช่น อาหาร การกินอยู่ แล้วก็เพื่อนที่แวดล้อม ถ้าอาหารการกินอยู่ขัดสน แล้วมิหนำซ้ำ เพื่อนที่อยู่ด้วยกันมีความขัดแย้งกัน ทะเลาะวิวาทกัน ไม่ชื่นชมกัน อันนี้ก็ทำให้การปฏิบัติของใครก็ตาม แม้จะมีความตั้งใจ มันก็ทำได้ไม่ต่อเนื่อง อย่าว่าแต่จะประสบความสำเร็จ กระทั่งจะทำความเพียรให้ยั่งยืน มันก็คงทำได้ยาก เพราะคนเราก็ต้องอาศัยสิ่งแวดล้อม
พระพุทธเจ้าถึงตรัสอย่างที่เราตรวจที่ว่า กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์ พระอานนท์ที่แรกก็ตอบว่ากัลยาณมิตรเป็นครึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์ พระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่ากล่าวอย่างนั้น อานนท์ กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์ อันนี้ก็หมายความว่า การปฏิบัติ ให้เจริญในมรรคมีองค์แปด จะเป็นไปได้ต้องอาศัยกัลยาณมิตรมากทีเดียว อันนี้สำหรับปุถุชน พระพุทธเจ้าพระองค์ไม่มีกัลยาณมิตรที่ทำให้พระองค์เห็นแจ้ง ตรัสรู้เป็นสัมมาสัมโพธิญาณ จึงเรียกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คือผู้ที่ตรัสรู้เอง ไม่มีกัลยาณมิตรหรือศาสดา ครูบาอาจารย์จะมาแนะนำ
แต่สำหรับปุถุชนแล้ว กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์ คือการปฏิบัติจะเจริญก้าวหน้าได้ต้องอาศัยกัลยาณมิตรล้วนๆ ซึ่งก็ไม่ใช่หมายถึงมิตรสหายเท่านั้น แต่รวมถึงครูบาอาจารย์ด้วย อันนี้ก็เป็นโชคดีของพวกเราที่ว่า การที่เรามาปฏิบัติที่นี่ เรื่องเสนาสนะ ความเป็นอยู่ ก็มีผู้เกื้อกูลมาก แต่ก่อนวัดป่าสุขะโตค่อนข้างขาดแคลนเรื่องอาหาร เพราะว่าเส้นทาง ก็ทุรกันดาร อยู่ไกล แต่เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีคำว่าขาด มีแต่คำว่าเหลือ ไม่ว่าจะเป็นจีวร ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสนาสนะสิ่งอำนวยความสะดวก ก็ไม่ถึงกับเรียกว่าสุขสบาย ตามมาตรฐานของคนในเมือง แต่ก็เรียกว่าสุขสบายตามมาตรฐานของวัดป่า แต่อาจจะสบายกว่าด้วยเมื่อเทียบกับชาวบ้านที่เขาอยู่รอบวัด
แต่ว่าสิ่งที่เราต้องสร้างให้เกิดมีขึ้น ก็คือเรื่องของความสามัคคี ความพร้อมเพรียง อันนี้มันเป็นเรื่องที่ทำได้ยากกว่า เรื่องเสนาสนะเรื่องอาหารก็มีคนมาถวาย มาบริจาคอยู่ไม่ขาดสาย แทบจะทุกวันก็ว่าได้ ที่จริงที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าเขามีศรัทธาในพระสงฆ์ แล้วก็ต้องเห็นว่าพระสงฆ์สามัคคีกัน เพราะถ้าชาวบ้านเห็นว่าพระไม่สามัคคีกัน ก็ไม่มีศรัทธาที่จะนำเอาของมีค่า มีราคาที่เขาต้องหามาด้วยน้ำพักน้ำแรงของเขามาถวาย แต่ทีนี้เมื่อเรามีปัจจัยอำนวยความสะดวกในเรื่องกายภาพแล้วก็ต้องช่วยกันสร้างสภาพทางสังคม หรือว่าความสัมพันธ์ให้มันเกื้อกูล คือการสร้างความสามัคคีให้เกิดมีขึ้น มันก็เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แล้วก็เป็นประโยชน์ต่อแต่ละคนด้วย
ส่วนรวมในที่นี้ก็ไม่ใช่เฉพาะวัดป่าสุขะโต อาจจะรวมไปถึงคณะสงฆ์ เพราะว่าการปฏิบัติของเราแต่ละคน เราแต่ละคนก็เป็นตัวแทนของคณะสงฆ์ ไม่ได้เป็นตัวแทนของตัวเองหรือว่าเป็นตัวแทนของวัดป่าสุขะโตเท่านั้น เพราะฉะนั้นเรื่องการที่เรามาร่วมกันสร้างความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน มันก็เป็นสิ่งที่จะช่วยทำให้ ไม่ว่าจะเป็นสุขะโตก็ดี หรือว่าคณะสงฆ์ อันนี้ก็เป็นไปในทางที่ดี แล้วก็เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติของเราด้วย อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ที่ต้องช่วยกันทำให้เกิดมีขึ้น
คราวนี้ความพร้อมเพรียงกันเกิดได้อย่างไร ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่เรามาทำกิจวัตรร่วมกัน เมื่อเรามาทำกิจวัตรร่วมกันในด้านหนึ่งมันก็แสดงความพร้อมเพรียง ขณะเดียวกันมันก็เป็นตัวเสริมความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น เพราะถ้าต่างคนต่างอยู่ ไม่มีการทำกิจวัตรร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำวัตรสวดมนต์ หรือการบิณฑบาต หรือฉันอาหารร่วมกัน การที่จะคุ้นเคยกัน มันก็เกิดขึ้นได้ยาก มันก็จะเกิดค่านิยมหรือทัศนคติว่าต่างคนต่างอยู่ ตัวใครตัวมัน แล้วค่านิยมแบบนี้มันจะไม่มีทางเสริมสร้างให้เกิดความพร้อมเพรียงกันได้ มันก็จำเป็นที่วัดเราหรือวัดอะไรก็ตามที่เป็นของหมู่คณะ อยากจะให้มาทำพร้อมเพรียง แต่ความพร้อมเพรียงที่ว่าไม่ได้เกิดจากการทำวัตร สวดมนต์ การบิณฑบาต การฉันเท่านั้น การทำงานร่วมกันก็มีส่วนสำคัญ ที่เราก็มีกิจวัตรที่ทำร่วมกัน แต่ว่าก็ไม่ได้ถึงกับทำพร้อมเพรียงกันทั้งวัด
ด้วยเหตุนี้ในแต่ละปักษ์เราจึงมีวันพิเศษ วันโกน ซึ่งพรุ่งนี้ก็จะเป็นวันโกนแรกของพรรษานี้ ก็หลายปีที่ผ่านมาพอถึงวันโกนเราก็จะมีการทำกิจกรรมร่วมกัน พระทั้งวัด รวมทั้งแม่ชี นักปฏิบัติก็มาทำกิจที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม กิจเหล่านี้มันมีความสำคัญ มันไม่ใช่เป็นประโยชน์ต่อวัดเท่านั้น เช่น ทำให้วัดสะอาดสะอ้าน มีการซ่อมแซม ทาสี ทำความสะอาด อันนั้นก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องอาศัยกำลังของคนในวัด
อีกส่วนหนึ่งก็เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติของเราด้วย อย่างน้อยๆมันก็เป็นตัวเชื่อม เป็นตัวสร้างความพร้อมเพรียง ความสามัคคี เพราะว่าการทำงานร่วมกัน มันก็เป็นโอกาสให้คนได้มารู้จักกัน แล้วก็ได้มาเห็นน้ำใจของกัน บางทีการได้เห็นน้ำใจ เห็นความเสียสละของเพื่อน ซึ่งบางคนไม่รู้จัก ไม่ค่อยได้พบปะพูดคุย แต่เห็นน้ำใจของเขามันก็ทำให้เกิดการชื่นชมกัน อันนี้ก็เป็นเรื่องของการสร้างความพร้อมเพรียง แล้วมันก็เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติของเราแต่ละคนด้วยในการทำงานร่วมกัน การปฏิบัติธรรมเราจะเข้าใจว่าทำด้วยการปลีกตัว เดินจรงกรม สร้างจังหวะเท่านั้น เรายังสามารถจะทำได้ด้วยการทำกิจกรรมร่วมกัน ที่เป็นประโยชน์ส่วนรวม
มีเรื่องเล่าว่าสมัยที่หลวงพ่อชา สุภัทโท ท่านยังมีชีวิตอยู่ ที่วัดหนองป่าพงก็จะมีกิจกรรมที่พระมาร่วมกันทำงานสม่ำเสมอ จะเรียกว่าทุกวันก็ว่าได้ บ่ายสามบ่ายสี่พระก็ออกมาจากกุฏิ มากวาดลานวัด มาเช็ดถูศาลา แล้ววันดีคืนดีก็มีกิจกรรมที่อาศัยความพร้อมเพรียง ในสถานที่เดียวกัน เช่น คราวหนึ่งก็มีพระมาขนดิน เพื่อมาถมพื้นที่รอบโบสถ์ ที่ตอนนั้นก็เริ่มสร้าง พระก็ทำงานกันแข็งขัน ก็มีวัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง เดินผ่านมาก็มาเฝ้าดู วัยรุ่นกลุ่มนี้ดูท่าทางก็จะไม่ค่อยมีความสัมมาคารวะ มีคนหนึ่งก็พูดกับหลวงพ่อชาซึ่งอยู่ใกล้ว่า ทำไมพาพระมาทำงาน ไม่พานั่งสมาธิ มีการทักท้วงหลวงพ่อชา ก็พูดจาไม่สุภาพ หลวงพ่อชาก็ตอบว่า “นั่งนานขี้ไม่ออกว่ะ” แล้วท่านก็อธิบายว่า นั่งอย่างเดียวมันก็ไม่ใช่ จะเดินอย่างเดียวก็ไม่ใช่ ที่ถูกมันต้องนั่งบ้าง ทำประโยชน์บ้าง แล้วก็ทำความเห็น ความรู้ให้ถูกต้อง อย่างนี้จึงเป็นการปฏิบัติ แล้วก็สอนวัยรุ่นกลุ่มนั้นว่า ถ้าไม่รู้เรื่องการปฏิบัติก็อย่าพูด พูดไปขายหน้าเขา
เพราะฉะนั้นการที่พระมาร่วมกันปฏิบัติอย่างที่เราจะร่วมกันทำในวันโกนพรุ่งนี้ มันก็เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติธรรม ในด้านหนึ่งก็เป็นการบำเพ็ญประโยชน์ตน ช่วยเหลือเกื้อกูลวัด บางคนจะบอกว่าทำไมไม่จ้าง ที่จริงการจ้างมันเป็นเรื่องที่มาทีหลัง สมัยก่อนพระเราก็ทำกันเองทั้งนั้น เราไม่ได้จ้างใครที่ไหน บางวัดแม้กระทั่งก่อสร้าง สร้างโบสถ์ สร้างศาลา สร้างกุฏิ ก็ใช้กำลังของพระ บางครั้งก็แม่ชีด้วย วัดเราโชคดีที่ว่าไม่ได้ทำถึงขนาดนั้น ก็มีการจ้าง แต่จะให้จ้างทุกเรื่องก็ไม่เหมาะ ควรจะเหลืองานบางอย่างให้พระทำ ให้แม่ชีและนักปฏิบัติร่วมกันทำด้วย เพื่อเป็นการปฏิบัติธรรมไปในตัว อย่างที่หลวงพ่อชาบอกให้ทำความเห็น ความรู้ให้ถูกต้อง พูดง่ายๆให้รู้จักวางใจให้ถูกต้อง เพราะคนเราไม่ค่อยอยากจะทำงาน
โดยเฉพาะนักปฏิบัติอยากจะนั่งเฉยๆ อยากจะอยู่คนเดียวในกุฏิ สร้างจังหวะ เดินจงกรมตามลมหายใจ ก็มีประโยชน์ แต่ว่าถ้าอยู่อย่างนั้นนานๆ มันจะติดที่ ติดสงบ ติดสบาย บางทีก็ต้องออกมาเจอกับความยากลำบากมั่ง เคยพูดไว้แล้วว่าความสบายมันเป็นหนทาง หรือเหยื่อล่อ กับดักของมาร พรานเวลาดักจับสัตว์เขาจะทำทางให้มันเรียบ เพื่อล่อให้สัตว์ เช่น พวกตะกรวด กระรอก ให้ไปติดกับดัก เพราะธรรมชาติของสัตว์มันชอบความสะดวกสบาย ทางเรียบ ทางรกมันไม่ไป พรานใช้นิสัยแบบนี้เป็นเครื่องล่อให้มาติดกับดัก ติดแล้วก็ไปตาย เพราะฉะนั้นถ้าเราติดสบายมากมันก็เหมือนกัน เป็นทางไปสู่กับดักของมารได้
เพราะฉะนั้นการที่เราได้ออกมาทำอะไรที่มันได้ใช้เรี่ยวใช้แรง ซึ่งมันอาจจะฝืนกิเลส ไม่ถูกใจกิเลส มันเป็นสิ่งที่ดี คนเรามันต้องเจอความยากลำบากมั่ง หรือเจอแรงเสียดทานบ้าง เพราะว่าเมื่อเกิดอุปสรรค ความยากลำบาก ทำยังไงถึงจะรักษาใจให้เป็นปกติได้ มันเหนื่อยกายแต่ใจเป็นปกติ บางครั้งการทำงานมันก็จะมีโอกาสกระทบกระทั่งกัน การกระทบกระทั่งมันก็ไม่ใช่เพื่อจะให้ความสามัคคีมันร้าวฉาน แต่เพื่อเป็นการฝึกใจ จะบอกว่าเป็นการฝึกใจก็ได้ ก็คือว่ากระทบกระทั่งยังไงแต่ใจเราก็สามารถมั่นคง เข้มแข้งได้
เราต้องฝึกใจของเราแบบนี้ด้วย ฝึกใจ แล้วฝึกสติจากการที่เกิดผัสสะที่หยาบกระด้าง หรือว่าเกิดแรงเสียดทานขึ้น การเจริญสติไม่ใช่ว่ารู้กายเคลื่อนไหวอย่างเดียว แต่ว่าต้องรู้ทันจิตใจเวลาเกิดผัสสะ ผัสสะที่สบาย ก็เป็นเครื่องฝึกใจเหมือนกัน แต่คนมักจะหลง เคลิ้ม ยิ่งมาเจอผัสสะที่มันหยาบ เผ็ดร้อน หรือว่าเจอแรงเสียดแทนก็มักจะพลาดท่าเสียทีได้ง่าย เพราะไม่มีสติ แต่ถ้าเรามีสติ หรือว่ารู้จักใช้สติในการที่จะรับมือกับอารมณ์อกุศลที่เกิดขั้น มันก็จะทำให้สติของเราก้าวหน้าเข้มแข็งขึ้น รวมทั้งรู้จักใช้โยนิโสมนสิการในการฝึกใจให้ไม่ทุกข์กับสิ่งเหล่านี้ เช่น มีการกระทบกระทั่งก็คิดว่าเป็นของดี ได้มาฝึกให้เราเข็มแข็ง ฝึกให้เรามีขันติธรรม ฝึกให้เรารู้จักมั่นคงไม่หวั่นไหว
มันต้องฝึกกับของจริง ไม่ใช่ฝึกแต่เฉพาะเวลาอยู่ในกุฏิเท่านั้น สมัยที่อาตมาไปปฏิบัติเข้าพรรษาอยู่ที่วัดอมราวดี อยู่ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งสมัยหลวงพ่อสุเมโธเป็นเจ้าอาวาส ที่นั่นมีกิจวัตรทั้งวันมีแต่การทำร่วมกัน ไม่ใช่เฉพาะบิณฑบาต ทำวัตรสวดมนต์ เวลาฉัน แต่ว่ายังมีกิจกรรม เช่น ทำความสะอาดภาชนะ ล้างจาน ฉันเสร็จมีจานเป็นร้อยสองร้อย ภาชนะก็มีหม้อ มีช้อนส้อมมากมาย กว่าจะเสร็จก็เที่ยงครึ่ง บ่ายโมงก็ต้องมาเจอหน้าพร้อมกันเพื่อมาทำงาน ทำงานร่วมกันตั้งแต่บ่ายโมงถึงบ่ายสี่ ถึงเวลาน้ำปาณะก็ฉันด้วยกัน ต่อเมื่อเวลาทำกิจส่วนตัวนั้น ก็จึงแยกย้ายกันไป หกโมงเย็นก็มาสวดมนต์ แล้วก็ฟังธรรม เป็นอย่างนี้
หลายคนก็อยู่ลำบาก ไม่สบายใจ เพราะรู้สึกว่าไม่มีชีวิตส่วนตัว มีความทุกข์ หลวงพ่อสุเมโธก็บอกว่า มันเป็นการสอน การฝึกใจเรา เพราะว่าคนเรามันจะฝึกได้ดีถ้ามันเจอแรงเสียดทาน เราก็จะได้รู้วิธีที่จะรับมือกับมัน ซึ่งใครที่เข้าใจก็ได้รับประโยชน์จากวิถีชีวิตแบบนั้น ถึงแม้ว่ามันจะมากไป แต่ว่านักปฏิบัติไม่ว่าอะไรมันจะเกิดขึ้นก็สามารถที่จะอยู่กับมันได้ ด้วยใจไม่ทุกข์ แดดร้อนก็ร้อนแต่กาย ใจไม่ทุกข์ อากาศหนาวมันก็หนาวแต่กาย แต่ใจปกติ ทำงานก็ต้องฝึก เราจะไม่ใช่ทำแต่งานแต่ลืมใจของเรา ต้องกลับมาดูใจของเราด้วยว่า ใจของเราขุ่นเคืองไหม มีอะไรมากระทบหระทั่งแล้วใจมันเป็นอย่างไร
จุดมุ่งหมายของการทำงานในวันโกนก็เพื่อเหตุนี้ด้วย ไม่ใช่งานเสร็จอย่างเดียว งานเสร็จแต่จิตใจหม่นหมอง อันนี้ก็ไม่ถูก ทำไปได้งานด้วย ใจก็เป็นปกติด้วย ขณะที่ตาก็มองใบไม้ กอหญ้าที่กำลังกวาด หรือว่าไม้ที่กำลังเลื่อย สติก็ดูใจไปด้วย อันนี้มันเป็นสิ่งที่จะฝึกเราได้ ไม่ใช่ว่าตามองเห็นพื้น มองใบไม้ แต่ว่าใจมันถูกครอบงำด้วยความหงุดหงิด เมื่อไหร่จะเสร็จ เมื่อไหร่จะเร็จ บ่นในใจ ไม่มีสติมองเห็นว่าใจมันกำลังบ่น สภาวะแบบนี้จำเป็นที่จะต้องเอาสติมาดู เวลามันบ่นในใจ ทำไมต้องมาทำงานแบบนี้ อยู่บ้านไม่เคยลำบากแบบนี้ ใจมันนึกถึงว่าเมื่อไรจะเข้ากุฏิ ฉันอยากจะอยู่ในกุฏิ ฉันอยากจะเจอความสงบ ต้องเห็น เห็นอาการเหล่านี้ ไม่ใช่ปล่อยให้มันบ่นโวยวาย ตีโพยตีพายแล้วก็เกิดโทสะ อันนี้ถือว่าสอบตก ขณะที่เจอสิ่งที่เสียดแทง หรือผัสสะที่หยาบกร้านก็กลับมาดูใจ ใจที่มีโทสะ ใจที่เร่งเร้าอยากจะให้เสร็จเร็วๆ
อันนี้มันเป็นโอกาสในการฝึกจิตอย่างดี ที่มูลนิธิสวนโมกข์ จึงมีกิจกรรมที่เรียกว่าวันโกน หรือวันกรรมกร พระเราไม่ใช่ว่ารังเกียจแรงงาน บางทีเราอยู่สบายจนกระทั่งการใช้แรงงานเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ ที่จริงมันเป็นสิ่งที่เป็นกิจวัตร เป็นสิ่งที่ต้องทำทีเดียว วัดสุคะโตยุคแรกๆ พระทำเองทุกอย่าง แม้กระทั่งหาบน้ำ ไม่ใช่มีเครื่องสูบน้ำอย่างทุกวันนี้
ทุกวันนี้เราก็สบายมากแล้วแต่ก็ไม่ควรสบายมาก ควรจะทำกิจกรรม ที่มันเป็นประโยชน์ส่วนรวมและเป็นการฝึกจิตฝึกใจ เจริญสติให้มันรู้ทันความคิด อารมณ์ที่มันเกิดขึ้น เป็นการลดละการเห็นแก่ตัว เป็นการฝึกจิตไม่ให้ติดสบาย ไม่ให้เพลินกับความสงบ จนกระทั่งมันจะกลายเป็นผลเสีย เพราะว่าคนเราไม่ว่าเราจะสงบ จะสบายอย่างไรสุดท้ายก็ต้องเจอกับพายุ พายุที่มันเกิดขึ้นเป็นพายุชีวิต พายุอารมณ์ มันต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว อย่างที่เราสวดทุกวัน เราทั้งหลายเป็นผู้ที่ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว เป็นผู้ที่มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว วันนี้สบายก็จริง แต่ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้มะรืนนี้จะเจอความปั่นป่วนมากน้อยเพียงใด อย่างเช่นอาจจะเจอความเจ็บป่วย ถ้าไม่ฝึกใจไว้ มันก็โดนทุกขเวทนามันครอบงำใจ
อันนี้เป็นกับคนจำนวนมากเพราะไม่รู้จักฝึกใจไว้ เพลินกับความสบายไม่รู้ว่าซักวันจะต้องเจอความยากลำบาก เจอทุกขเวทนา เจอสิ่งที่มันขัดอกขัดใจ คนเราทุกคนมันต้องเจอ เจอพายุอารมณ์ เจอสงครามชีวิตในวันข้างหน้า มันมีคำสำนวนว่ายามสงบเราฝึก ยามศึกเรารบ ตอนนี้ถ้าเราสบายมีกำลังวังชาดี ก็ต้องฝึก ฝึกกับความยากลำบาก พอเรารู้จักทำจิตว่าลำบากยังไงใจเป็นปกติ พอเราเจออุปสรรคเจอความยากลำบาก เจ็บป่วย พลัดพราก สูญเสีย เราก็ทำใจได้ หรือว่าเจอแรงกระทบกระแทกจากคนรอบข้าง ผู้คนรอบตัว เราก็สงบได้ ถ้าไม่ฝึกไว้อย่างนี้ ก็ถือว่าตกอยู่ในความประมาท
โดยเฉพาะพวกเราซึ่งเป็นผู้ที่เข้าใกล้ธรรมะสวดมนต์ทุกวันทั้งเช้าและเย็น บทสวดมนต์ก็เตือนเราว่าให้เตรียมพร้อมที่จะเจอความทุกข์ แต่พอเราเจอความสงบแล้วเราก็ติดมัน สบายเพลินอันนี้เรียกว่าประมาท เพราะฉะนั้นให้เราพร้อมที่จะเข้าหาความยากลำบาก เวลามีกิจส่วนรวม ยิ่งต้องพร้อม ถือว่ามันเป็นเครื่องฝึกใจเรา วันพรุ่งนี้ก็อยากจะให้พวกเราพร้อมเพรียง แล้วก็มีความตั้งใจ ว่าเราจะเรียนรู้จากงาน จากกิจกรรมเหล่านี้ได้อย่างไร เราจะฝึกใจได้อย่างไร อย่าหวงความสงบไว้จนกระทั่งไม่กล้าที่จะออกไปเจอผู้เจอคน เจอแรงกระทบกระทั่งซึ่งอาจจะมีบ้างกับการทำงานร่วมกัน แต่ถ้าเราทำใจได้การปฏิบัติของเราก็จะเจริญก้าวหน้า