แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ทุกครั้งที่เรามาทำวัตรสวดมนต์ นอกจากการสาธยายธรรม ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นพุทธภาษิต แล้วก็แผ่เมตตา นอกจากแผ่เมตตาแล้ว ส่วนใหญ่จะมีการกรวดน้ำ ไม่ว่าเช้า หรือว่าเย็น คำว่ากรวดน้ำนี้ก็เป็นคำเรียกอย่างทั่วๆ ไป เพราะว่าจริงๆ ก็ไม่มีน้ำจะกรวด แต่ไม่มีน้ำก็ไม่สำคัญ สิ่งสำคัญคือ ใจ เรากรวดน้ำตอนเช้า กรวดน้ำเย็น อันที่จริงก็คือการอุทิศบุญกุศล คุณงามความดีที่เราทำให้แก่สรรพสัตว์ ถึงแม้ว่าบางวันเราจะไม่ได้กล่าวคำกรวดน้ำ หรือว่าการอุทิศบุญกุศล แต่ให้ใจเราน้อมนึกตามโอกาส ตามเวลาที่มี การน้อมนึกถึงความดี แล้วอุทิศบุญกุศลไปให้เรียกว่าแผ่ไปให้อย่างกว้างไกล ตั้งแต่อุปัชฌาอาจารย์ พ่อแม่ รวมทั้งผู้คนทั้งหลาย ที่เราเกี่ยวข้อง ทั้งมิตรสหาย ทั้งผู้ที่จองล้าง คิดร้ายกับเรา มีเรื่องติดข้องหมองใจกัน เราก็แผ่ไปให้ รวมทั้งคนที่เรารู้สึกเฉยๆ กลางๆ ที่เรียกว่า “ผู้เป็นกลาง ผู้จ้องผลาญ”
อันนี้เป็นวิสัยชาวพุทธ เมื่อเราทำความดีแล้ว เราก็ไม่เก็บไว้คนเดียว เราแผ่ไปให้ ไม่ต้องกลัวว่าแผ่ไปแล้วจะหมด มันไม่เหมือนกับเงิน เงินนี้เราให้ใคร มากเท่าไหร่ เงินในกระเป๋าก็เหลือน้อยลง แต่ว่าการแผ่บุญกุศล อุทิศคุณงามความดีไปให้ มันไม่มีหมด มันขึ้นอยู่กับว่าเรามีอยู่เท่าไหร่ มันก็เหมือนกับการที่เราจุดไฟ จุดเทียน เรามีเทียนอยู่เล่มหนึ่ง เราจุดเทียนให้ความสว่างแก่เทียนของคนอื่น จะมีกี่เล่ม ร้อยเล่ม เราจุด ไม่ว่าร้อยหรือพัน เทียนของเราก็ไม่ได้ลดน้อยถอยลง ต่างคนต่างก็จุด ก็แพร่กระจายไป เทียนของเราก็ยังส่องสว่างเหมือนเดิม ไม่ได้ลดน้อยถอยลง ตรงกันข้ามกลับทำให้เทียนของคนอื่นก็สว่างไสวมากขึ้น อันนี้เปรียบเหมือนกับการแผ่บุญกุศล อุทิศบุญกุศลไปให้ ก็เป็นอย่างนั้นแหละ ที่จริงยิ่งทำยิ่งให้ ก็ยิ่งได้
บุญกุศลที่เกิดจากการที่แผ่อุทิศบุญกุศลให้กับผู้อื่นนี้ เราเรียกว่า ปัตติทานมัย คือการอุทิศคุณงามความดี แผ่บุญกุศลไปให้ ยิ่งทำ เราก็ยิ่งได้ ไม่ต้องกลัวว่าบุญกุศลของเราจะหมด อันนี้มันเป็นภาวนาแบบหนึ่ง ที่ทำให้จิตใจเราเจริญงอกงาม อันนี้แผ่ไปแล้ว เราต่อด้วยการที่เราระลึกถึงจุดมุ่งหมาย หรือตั้งจุดมุ่งหมายในการดำเนินชีวิต ไม่ใช่แค่การปฏิบัติธรรม ยังมีตอนหนึ่งเราจะกล่าวว่า “ด้วยบุญนี้ที่เราทำ เราพลันได้ซึ่งการตัดตัวตัณหา อุปาทาน สิ่งชั่วในดวงใจ มลายสิ้นจากสันดาน จนกว่าเราจะถึงนิพพาน” อันนี้เป็นจุดมุ่งหมายของการทำความดี จุดมุ่งหมายของการสร้างบุญสร้างกุศล หลายคนทำบุญก็หวังร่ำรวย หวังมีโชคมีลาภ หวังให้มีเงินมีทองไหลมาเทมา แต่จริงๆ แล้ว อันนั้นยังเป็นเรื่องรอง สิ่งสำคัญกว่า และประเสริฐกว่า คือการทำเพื่อให้ตัณหา อุปาทาน มันออกไปจากใจ
การทำบุญแต่ละครั้ง ถ้าเราทำบุญอย่างถูกต้อง มันจะช่วยลดความเห็นแก่ตัว มันเป็นการช่วยขูด หรือว่าลดตัวตัณหา อุปาทาน หรือพูดง่ายๆ คือ ตัวกิเลสนั่นแหละ ให้มันเหลือน้อยลงไป เพราะว่าถ้าตราบใดที่เรายังมีกิเลสเยอะ ชีวิตเราก็หาความสุขได้ยาก มันเหมือนกับว่า จิตใจเรายังมีช่องโหว่ ยังมีรูโหว่ ที่จะให้มารเข้ามาเล่นงาน เป็นรูโหว่ที่ทำให้ทุกข์เข้ามา เผาผลาญ ทิ่มแทงจิตใจเราได้ ถ้ายังมีสิ่งชั่วในดวงใจอยู่ ก็อย่าหวังว่าจะมีความสุข ความสงบในชีวิตนี้ เพราะว่า ความชั่วนี่แหละมันจะทำให้เรามีความทุกข์ ทุกข์เพราะพูดชั่ว ทำชั่ว หรือว่าทุกข์ เพราะวางจิตวางใจไม่เป็น มีตัณหา อุปาทาน เพราะฉะนั้น ได้เท่าไรก็ไม่พอ ได้แล้วก็ยังไม่พอใจ แม้จะร่ำรวยแค่ไหน ก็ยังอยากจะได้อีก เพราะว่ากิเลส ตัณหา อุปาทาน มันครองจิต ครองใจของเรา
ฉะนั้นชาวพุทธเรา เวลาตั้งจิตปรารถนา เราก็จะไม่ได้มุ่งหวังว่า ขอให้รวย ขอให้รวย ขอให้รวย เพราะเรารู้ว่า มีสิ่งที่ดีกว่า ประเสริฐกว่า รวยแค่ไหนก็ยังทุกข์ ถ้าหากว่าใจยังมีตัณหา อุปาทาน มันก็เท่ากับว่า ยังมีช่อง มีรู ที่จะให้ความทุกข์มันเล็ดรอดเข้ามา บางทีมันไม่ได้แค่เล็ดรอด มันเรียกได้ว่า หลั่งไหลท่วมท้น เข้ามาเลย จริงอยู่คนเราต้องมีเงิน มีทอง มีทรัพย์สมบัติ มันให้ความสุขกับเรา แต่ว่าความสุขที่เกิดจากทรัพย์สมบัติ มันก็ไม่เที่ยง แล้วการที่จะได้มันมา ก็ไม่ใช่ว่าจะสบาย มันก็เหนื่อย ก็เป็นทุกข์อีกแบบหนึ่ง
มีเรื่องเล่าว่า เคยมีชายหนุ่มคนหนึ่ง ไปกราบหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ ที่วัดสะแก แกก็เล่าว่า เพิ่งไปเช่าพระอุปคุตมา หลวงปู่ดู่ก็ถามว่า เช่ามาทำไม ชายหนุ่มคนนั้นก็บอกว่า จะได้รวยไง หลวงปู่ หลวงปู่ท่านก็เลยเปรยขึ้นมาเบาๆ ว่า รวยกับซวย มันใกล้กันนะ ชายหนุ่มคนนั้นก็งงเลย เพราะคิดไม่ถึงว่า ไอ้รวยกับซวย มันจะใกล้กันได้ยังไง เลยถามว่า เป็นยังไง หลวงปู่ ทีแรกท่านก็บอกว่า เออ เขียนคล้ายๆกัน เสร็จแล้วท่านก็อธิบายต่อไปว่า รวยนี้ มันรวยเท่าไรก็ทุกข์ มันทุกข์ตั้งแต่ตอนหามาแล้ว ตอนหาก็ทุกข์ เก็บรักษามันก็ทุกข์ ครั้นมันหายไป เสื่อมไป ก็ทุกข์ คือมันทุกข์ทุกขั้นตอนเลยถ้าจะหวังรวย แล้วท่านก็บอกว่าอย่าเอารวยเลย เอาดี ดีกว่า
เอาดีในที่นี้ก็หมายถึง ทำความดี แล้วไม่ใช่แค่ความดีที่กาย วาจา ต้องทำให้ ใจดีด้วย บางคนรักษาศีล ศีลดี ไม่ไปเบียดเบียนใคร แต่ใจยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะว่าใจก็ยังมีความ เขาเรียกว่า มีกิเลส มีตัณหา อุปาทานอยู่ เวลารักษาศีล ก็อยากให้คนชม อยากให้คนรู้ว่าเรารักษาศีล บางทีก็ไปประกาศทางเฟสบุ๊ค ประกาศทางสื่อโซเชียลมีเดีย ว่า วันนี้ฉันมารักษาศีล บางทีก็อ้างว่า ที่ประกาศนี้เพื่อเอาบุญมาฝาก แต่ที่จริง เหตุผลลึกๆ ก็คือต้องการประกาศให้คนรู้ว่า ฉันมาปฏิบัติธรรม ฉันมารักษาศีล มันก็มี คนที่ไม่ได้ตั้งใจจะเอาบุญมาฝาก แต่เอามาเป็นข้ออ้าง เพื่อจะได้ประกาศให้รู้ว่า ฉันรักษาศีล เพื่อจะได้รู้สึกว่า เป็นคนดี อยากให้คนเห็นว่าฉันเป็นคนดี อยากให้คนได้ชื่นชมสรรเสริญ อันนี้เรียกว่า ทำดี แต่มันยังไม่ดีจริง เพราะว่าใจไม่ได้ดีไปด้วย ใจก็ยังมีกิเลส กิเลสนี้ชื่อว่า มานะ คืออยากประกาศให้โลกรู้ว่า ฉันเป็นคนดี ฉันเป็นคนเก่ง ฉันเป็นนักปฏิบัติธรรม อันนี้มันยังไม่ถูก ต้องทำให้ใจดี คือว่า ทำดีนี่ ไม่ต้องประกาศให้ใครรู้ ขอเพียงแต่ว่า ทำให้ถูกต้อง ก็คือ มุ่งลดความเห็นแก่ตัว สำหรับความร่ำรวย สิ่งที่มันเป็นจุดมุ่งหมายของคนทั่วไป ก็อาจจะได้แก่ ความยิ่งใหญ่ ความมีหน้ามีตา มียศ ทรัพย์ อำนาจ อันนี้มันก็ไม่ใช่เป็นสรณะอันประเสริฐเหมือนกัน มันก็ยังไม่ใช่สิ่งที่ทำให้มีความสุขที่เที่ยงแท้ ผู้ที่รู้ธรรมจะไม่ได้มุ่งหมายจะให้ชีวิตนี้มีสิ่งนี้เลย
จิตตคหบดี เป็นอุบาสกสมัยพุทธกาล เป็นผู้ที่เข้าใจธรรมอย่างลึกซึ้ง แม้จะเป็นอุบาสก ความรู้ทางธรรม หรือว่าความเข้าใจธรรมของท่านมากกว่าพระหลายรูป ตอนที่ท่านใกล้จะเสียชีวิต เทวดาก็มาเยี่ยม แล้วเทวดาก็แนะนำด้วยความปรารถนาดีว่า ให้จิตตคหบดีนึกถึง ตั้งปณิธานว่า จะเกิดไปเป็นพระจักรพรรดิในชาติหน้า ก็บอกว่าจิตตคหบดีทำความดีมาเยอะ สร้างบุญ สร้างกุศลมามาก ถ้าน้อมใจนึกถึงการเป็นจักรพรรดิ เมื่อตายไปก็จะได้เป็นจักรพรรดิอย่างแน่นอน หลายๆ คนก็อยากเป็น แต่จิตตคหบดีปฏิเสธ บอกว่า ไม่เอา เพราะอะไร เพราะว่ามันก็ไม่เที่ยง จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ครองราชย์สมบัติ ยิ่งใหญ่แค่ไหน มันก็ไม่เที่ยง ไอ้ที่ไม่เที่ยงนี้ มีทั้งความหมายที่ว่า พอตายไปแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะไปดี อาจจะไปไม่ดีก็ได้ ไม่ใช่ว่าจะเป็นจักรพรรดิไปทุกๆ ชาติ บางคนเป็นจักรพรรดิในชาตินี้ หรือเป็นพระราชาในชาตินี้ ชาติหน้าก็อาจจะไปอบายก็ได้ เพราะว่ามันเป็นของไม่เที่ยง หรือความหมายอีกความหมายหนึ่งก็คือว่า ราชสมบัติมันก็ไม่เที่ยง จะมีอันเป็นไป ถูกคนแย่งชิงไปก็ได้
ที่จริงในสมัยพุทธกาล ก็มีตัวอย่างเห็นชัด พระเจ้าพิมพิสารก็ดี พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ดี สองพระองค์นี้เป็นพระราชาที่มีบทบาทสำคัญในพุทธศาสนา สมัยพุทธกาล ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้าทั้งสองคน แต่ว่าไม่มีใครที่ตายดีสักคนเลย พระเจ้าพิมพิสารถูกลูกชายคือพระเจ้าอชาตศัตรูยึดอำนาจ จับขังคุกไว้ พระเจ้าปเสนทิโกศลยิ่งใหญ่แค่ไหน สุดท้ายก็ถูกลูกยึดอำนาจ พระเจ้าวิฑูฑภะเสร็จแล้วตัวเองก็ต้องซมซาน หนีมา แล้วสุดท้ายก็ตายหน้าประตูเมือง ตายแบบอนาถาเลย พระเจ้าพิมพิสารก็ตายในคุก
อันนี้มันแสดงให้เห็นว่า เป็นพระราชาไม่ใช่ว่าจะสุขสบาย แล้วบางทีก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะตายดีด้วย ทั้งสองท่านนก็ตายไม่ดีทั้งคู่ ถูกลูกยึดอำนาจ ไม่ใช่คนใกล้ คนไกลเลย ไม่ใช่คนไกลเลย คนใกล้แท้ๆ อันนี้ก็เป็นมาทุกยุคทุกสมัย ในอินเดีย พระราชา ไม่ว่าจะราชวงศ์ไหน ก็ล้วนแล้วแต่มีเรื่องราวแบบนี้ทั้งนั้น จนกระทั่งราชวงศ์สุดท้าย ราชวงศ์โมกุล ซึ่งเป็นอิสลาม ก็ลงเอยกันแบบนี้ กันแทบทุกรัชกาล คือ ถูกลูกยึดอำนาจ ลูกฆ่าพ่อ ลูกจับพ่อไปขังจนตายในคุก หรือไม่เช่นนั้นก็พี่ก็ฆ่าน้อง น้องฆ่าพี่ เกือบจะเป็นอย่างนี้ทุกรัชกาลเลย อันนี้มันแสดงให้เห็นเลยว่า มันก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ประเสริฐ หรือว่าเป็นสิ่งที่จะเป็นหลักประกัน แห่งความสุขอย่างแท้จริง
ชาวพุทธที่เข้าใจธรรมะจะไม่ได้หวังรวย ไมได้หวังยิ่งใหญ่ แต่สิ่งที่ต้องการคือความพ้นทุกข์ อย่างจิตตคหบดี ท่านก็มุ่งนิพพาน จักรพรรดิจะเป็นทำไม มันไม่เที่ยง มุ่งนิพพาน มุ่งความดับทุกข์ดีกว่า ซึ่งเกิดขึ้นจากการฝึกฝนจิตใจ วิธีการฝึกฝนจิตใจนี้ก็มีอยู่แล้ว อย่างที่เราสวดเมื่อสักครู่ อริยมรรคมีองค์ 8 เริ่มตั้งแต่สัมมาทิฐิ จนกระทั่งไปถึงสัมมาสมาธิ เป็นการฝึกทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ และใจนี้ก็ไม่ใช่หมายถึงแค่ความสงบ แต่การมีปัญญา ตรงนี้แหละที่มันจะทำให้ชีวิตเข้าถึงความเจริญงอกงามอย่างแท้จริง คือว่า ไกลจากความทุกข์ เข้าถึงความสงบเย็น นิพพานนี้เขาเรียกว่าเป็น บรมสุข สุขยิ่งกว่าอะไรทั้งสิ้น แล้วก็เป็นสุขที่ไม่มีใครจะมาแย่งชิงได้
ชาวพุทธที่เข้าใจธรรมะจะน้อมจิตไปเพื่อสิ่งนี้ แล้วไม่ใช่แค่น้อมเปล่าๆ จะปฏิบัติด้วย ถ้าเป็นชาวพุทธจะไม่ได้กลัว จะไม่กลัวจน จะไม่กลัวตกระกำลำบาก จะกลัวว่ามารจะเข้ามาครอบงำ กลัวว่าสิ่งชั่วในดวงใจ มันจะเข้ามาครอบงำจิตใจ อย่างที่บทสวดกรวดน้ำนี้มันก็จะมีตอนท้ายๆ กรวดน้ำเย็นก็จะบอกว่า “ด้วยเดชบุญทั้งสิบป้อง ขอหมู่มารอย่าได้ช่อง ด้วยเดชบุญทั้งสิบป้อง อย่าเปิดโอกาสแก่มาร” เราจะทำความดีเพื่อจะปิดโอกาสไม่ให้มาร เข้ามาครอบงำ ไม่ใช่ทำบุญเพื่อไม่ให้เจอความทุกข์ ความยาก ความลำบาก เพราะของแบบนี้มันห้ามยาก โดยเฉพาะถ้าทำความดีเพื่อไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ มันเป็นไปไม่ได้เลย แต่สิ่งที่เราทำได้คือว่า ทำความดี สร้างบุญ สร้างกุศล เพื่อไม่ให้จิตใจมันเปิดช่องให้มารเข้ามา เพราะถ้ามารเข้ามาแล้วมันก็ลากเอาความทุกข์เข้ามาด้วย
การรักษาใจเป็นเรื่องสำคัญกว่า เรื่องอื่นเป็นเรื่องรอง ไม่ใช่ไม่สำคัญ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการที่เรารักษาใจของเรา ไม่ให้มีกิเลส รวมทั้งเปิดจิตเปิดใจของเราให้เห็นสัจจธรรม การที่เห็นสัจจธรรมความจริง มันจะทำให้จิต พ้นจากอำนาจของตัณหา อุปาทาน คือพอเห็นความจริงว่า สิ่งทั้งปวง ไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน มันไม่น่ายึดถือ หรือยิ่งกว่านั้นคือ มันยึดถือไม่ได้ คือไม่ว่าจะยึดถือยังไง มันก็แปรเปลี่ยนไป มันไม่ใช่ของแท้ เพราะฉะนั้นถ้าไปยึด ไปฝากความหวังเอาไว้กับสิ่งนี้ ก็เหมือนกับว่า เราไปพิงเสาที่มันง่อนแง่น เสาที่มันง่อนแง่นมันจะพิงไปได้กี่น้ำ พอเสาพังเสาหัก ถ้าเราพิงเสาพิงเต็มที่เลย เราก็จะล้มคว่ำ กระแทกพื้น จะไปพิงเสาได้ไง เพราะเสามันก็ยังพึ่งตัวเองไม่ได้ เสานี้มันก็ต้องเสื่อม ตัองพังไป ตัวมันเองมันยังเป็นที่พึ่งให้มันเองไม่ได้เลย เราจะไปพึ่งเสาได้อย่างไร
อันนี้ก็เปรียบเหมือนกับทรัพย์สมบัติ อำนาจ ชื่อเสียง ตัวมันเองมันก็ยังไม่เที่ยงเลย ถ้าเราเอาจิตเอาใจ เอาความสุขไปฝากไว้กับมัน ก็ต้องรอวันที่จะเป็นทุกข์ เพราะความเสื่อม ความดับของสิ่งเหล่านี้ แต่ถ้าเกิดเรามีจิตใจที่เข้าถึงธรรม ไม่มีกิเลส ตัณหา อุปาทาน ครอบงำ จิตมันก็จะเป็นอิสระ แล้วจะมีแต่ความสงบเย็น ถึงตอนนั้นถึงแม้ว่าจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้น ไม่ว่าความแก่ ความเจ็บ หรือเจอความวิบัติ ซึ่งเป็นธรรมดาโลกนี่ ก็ไม่ทุกข์ อย่างพระเจ้าพิมพิสาร ถึงแม้ว่าวาระสุดท้ายจะอยู่ในคุก ร่างกายไม่มีความสะดวกสบาย แต่ใจท่านเป็นปกติ เพราะท่านได้เห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน ถึงแม้กายจะถูกคุมขัง แต่ใจก็เป็นอิสระ ก็ไม่ได้ทุกข์ ไม่ได้ร้อนอะไร
นางสามาวดีก็เหมือนกัน ถึงแม้ว่าจะโดนไฟคลอกตาย มองแบบคนทั่วไป ก็ถือว่าตายไม่ดีทั้งคู่ ก็คือว่า ตายแบบทุกข์ทรมาน แต่ที่จริงก็ตายแค่ไม่สวยตามมาตรฐานชาวโลก แต่ว่าจิตใจไม่ได้ทุกข์อะไร นางสามาวดีถูกไฟคลอก แต่ว่ามีธรรมะ มีวิชาที่จะช่วยรักษาใจ ไม่ให้ทุกข์ วิชานั้นคือ วิชาสติปัฎฐาน เพราะตอนที่ถูกไฟคลอก ถูกแกล้ง ถูกรังแก นางมาคันทิยากลั่นแกล้ง เพราะอิจฉาที่พระเจ้าอุเทน ไปชอบนางสามาวดีซึ่งเป็นอัครมเหสี นางมาคันทิยาอิจฉาเลยอยากจะกำจัด ลวงให้นางสามาวดีไปติดอยู่ในคลังผ้า แล้วถือโอกาสเผาเลย ให้ตายหมู่ นางสามาวดีกับบริษัท บริวาร ในพระไตรปิฎกก็ว่าห้าร้อย ห้าร้อยแปลว่ามาก อย่าไปเคร่งครัดกับตัวอักษร ตัวเลขมาก แต่นางสามาวดีก็ไม่ได้ทุกข์ทรมานอะไรเลย นอกจากจะให้อภัยนางมาคันทิยาแล้วยังน้อมจิต เรียกว่า เอาเวทนาเป็นอารมณ์ คือดูความเจ็บความปวด ดูทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น ใช้จิตมาดู ใช้สติดูเวทนา เห็นเวทนา แต่ไม่เป็นผู้เจ็บผู้ปวด กายมันปวด ถูกไฟเผา กายมันก็ต้องปวดแหละ แต่ว่าเห็นความปวด โดยที่ใจไม่ได้รู้สึกว่าเป็นผู้ปวด เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าในที่สุดจะตาย เนื้อตัวร่างกายดำเป็นตอตะโก แต่ก็เรียกว่า ไปดี จิตไม่ได้มีความทุกข์ ความทรมานอะไรเลย พระพุทธเจ้าก็บอกว่าการตายของนางเป็นการตายที่ไม่สูญเปล่า เพราะเป็นการตายที่ทำให้ในขณะที่ตายจิตเป็นกุศลได้เข้าถึงธรรมขั้นสูง บริษัทบริวารก็เหมือนกัน บางคนก็ได้เป็นโสดาบัน บางคนก็ได้เป็นสกิทาคามี บางคนก็ได้เป็นอนาคามี อย่างนี้ไม่เรียกว่าตายแย่ เรียกว่าเป็นการตายดี เป็นการตายดีอย่างพุทธศาสนาก็คือว่า ใจสงบ จิตขึ้นสู่ภูมิธรรมขั้นสูง
เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะมีความวิบัติเกิดขึ้น จะมีความเสื่อม ความพลัดพราก ซึ่งอันนี้เป็นธรรมดาโลก ไม่ใช่ว่าคนดีจะไม่เกิดเรื่องแบบนี้ แต่ว่าถึงแม้เกิด ใจก็ไม่ได้ทุกข์อะไร ฉะนั้นถ้าเราอยากให้ชีวิตของเรามีความสุขอย่างแท้จริง ก็ต้องน้อมใจไปเพื่อมุ่งให้จิตใจของเรา มีการพัฒนา ให้ตัณหา อุปาทาน มันลดลง ให้มีปัญญา สามารถที่จะเข้าใจความจริงของชีวิต แล้วก็ปิดโอกาสไม่ให้มารเข้ามาครอบงำ เล่นงาน ที่เรามาเจริญสติ สร้างความรู้สึกตัวนั่นแหละ มันก็คือการสร้าง การหาเครื่องรักษาจิต เพื่อปกปิด ป้องปิด ไม่ให้พวกกิเลส ตัณหา อุปาทานเข้ามาครอบงำจิตใจ
การรักษาใจนี้ มันไม่มีอะไรดีเท่ากับสติ ไม่มีอะไรดีเท่ากับความรู้สึกตัว เพราะว่าสตินี้ พระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นเครื่องตัดกระแสกิเลส แต่ตราบใดที่ยังไม่มีปัญญาเห็นแจ้งในสัจจธรรม กิเลสมันก็จะคอยหาช่องผุดโผล่ หรือยังคงมีกระแสกิเลสไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง หรือเป็นพักๆ จนกว่าจะมีปัญญา ถ้ามีปัญญาก็เรียกว่า กิเลสมันไม่มีที่ตั้ง อันนี้ก็ทำให้เป็นสุขอย่างแท้จริง