แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในสมัยพุทธกาลมีพราหมณ์คนหนึ่งเสียพ่อ พ่อก็อายุมากแล้ว แม้กระนั้น เมื่อพ่อจากไปก็มีความเศร้าโศกเสียใจมาก อยากจะทำพิธีส่งวิญญาณพ่อให้ได้ไปสวรรค์ ได้ทราบว่าพระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ใกล้ๆ ที่นั้น ไม่รู้จักพระพุทธเจ้าหรอก แต่รู้ว่าเป็นนักบวชที่ผู้คนเคารพศรัทธามาก เชื่อว่าพระองค์มีบุญบารมีมากพอที่จะช่วยให้วิญญาณพ่อเขาได้ไปสวรรค์ ได้ไปทูลพระพุทธองค์ให้ช่วยส่งวิญญาณพ่อได้ไปสวรรค์ด้วย พระพุทธองค์ก็ไม่ได้ปฏิเสธ ได้บอกให้พราหมณ์คนนี้ไปหาหม้อดินเผามาสองหม้อ หม้อหนึ่งใส่กรวดให้เต็ม อีกหม้อหนึ่งใส่เนย คนอินเดียเขากินเนยกันเป็นธรรมดา เป็นอาหารประจำวันของเขา เนยใส เนยข้น ใส่ในหม้อแล้วก็ปิดปากหม้อให้ดี แล้วไปหย่อนลงน้ำ หย่อนเสร็จก็ให้พราหมณ์ทุบหม้อให้แตก
พราหมณ์ก็ทำตามที่พระพุทธเจ้าสั่ง แล้วก็ดีใจว่าช่วยพ่อให้ได้ไปสวรรค์แล้ว เพราะว่าธรรมเนียมของที่นั่นเวลานั้น เขาก็มีธรรมเนียมประเภทว่าพอเผาศพเสร็จก็ตีกะโหลกให้แตก เพราะเชื่อว่าทำอย่างนั้นแล้วผู้ตายจะได้ไปสวรรค์ ทีนี้พระพุทธเจ้าก็ชี้ให้ดูว่า พอหม้อถูกทุบแตกกรวดก็จมลงน้ำ ส่วนเนยก็ลอยขึ้นมา พระพุทธเจ้าบอกพราหมณ์ว่าให้ไปหาพราหมณ์ที่มีชื่อผู้ทำพิธีมาช่วยทำให้กรวดลอยขึ้นมาเหนือน้ำ แล้วให้เนยจมน้ำ พราหมณ์ก็บอกว่าเป็นไม่ได้ เพราะว่ากรวดก็ต้องจมน้ำสิ ส่วนเนยก็ต้องลอยน้ำ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ก็เหมือนกัน คนที่ทำชั่ววิญญาณก็ต้องไปสู่อบาย สู่นรก ไม่มีใครที่จะฉุดให้ขึ้นมาพ้นจากนรก หรือไปสวรรค์ได้ ส่วนคนที่ทำความดี เมื่อตายไปแล้ววิญญาณก็ต้องไปสู่สุคติ ไม่มีใครจะฉุดให้ลงไปสู่อบายหรือนรกได้
สรุปก็คือพระพุทธเจ้านอกจากจะไม่ได้ทำตามคำขอของเขาแล้วยังชี้ให้เขาเห็นว่า คนเราจะไปอบาย หรือว่าไปสวรรค์ ไปสู่สุคติ หลังตายแล้วมันไม่มีใครช่วยได้ มันอยู่ที่เจ้าตัวเอง ถ้าทำความดีสร้างบุญสร้างกุศล ตายไปแล้วก็ได้ไปสวรรค์ ถ้าทำชั่วตายไปแล้วก็ลงนรก ไม่มีใครหรือคนใดจะช่วยให้ไปสวรรค์ได้ถ้าหากว่าทำกรรมชั่วไว้ตั้งแต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่ อันนี้ก็รวมถึงว่าตอนใกล้จะตายนี้จิตเป็นอกุศลด้วย ถ้าจิตเป็นอกุศลนี้ก็ไปอบายได้ โดยเฉพาะถ้าจิตสุดท้ายเป็นอกุศล อันนี้ถ้าสรุปง่ายๆ คือเป็นเรื่องของกรรมใครกรรมมัน อันนี้พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้อยู่แล้ว เราก็สวดอยู่บ่อย ๆ “เรามีกรรมเป็นของตน” การมีกรรมเป็นของตนก็หมายความว่าเราทำกรรมใดไว้ก็ต้องรับผลแห่งกรรมนั้น ถ้าทำกรรมดีก็ได้ผลคือความดี เช่นความสุข ถ้าทำชั่วก็ได้ผลคือความทุกข์ ต้องพูดว่าความเดือดเนื้อร้อนใจ ไม่ต้องรอให้ไปนรกเมื่อตายแล้ว ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ก็เหมือนกับลงนรก เพราะว่าจิตใจรุ่มร้อน ส่วนคนทำดีก็ไม่ต้องรอว่าตายแล้วถึงจะได้ไปสวรรค์ ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ก็อยู่เย็นเป็นสุข นรกมันก็อยู่ที่ใจนี้แหละ ไม่ต้องรอหลังตายแล้ว
พระพุทธเจ้าเรียกว่ามีนรกชนิดหนึ่งเรียกว่า “ฉผัสสายตนิกะนรก” หมายถึงนรกทั้ง 6 ที่เกิดจากผัสสะ “ฉ” แปลว่า 6 ผัสสายตนิกะนรก นรกที่เกิดจากผัสสะและอายตนะ ก็คือ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง แล้วเกิดจิตใจรุ่มร้อน หรือเพราะว่าไปทำชั่วมาแล้วถูกคนประนามด่าว่า ต้องถูกจับคุก ติดตะราง เกิดความทุกข์ขึ้นมาในจิตใจ หรือแม้แต่ยังไม่ถูกจับ ยังไม่มีใครล่วงรู้ แต่จิตใจก็รุ่มร้อน เพราะกลัวว่าเขาจะจับได้ กลัวความผิดจะเปิดเผย อันนี้ก็นรกแล้ว นรกอย่างนี้น่ากลัวกว่า เพราะว่าเจอเองเห็นจริง ไม่ต้องใช้หลักฐานมาพิสูจน์ว่าชาติหน้ามีนรกหรือเปล่า นรกข้างหน้าไม่รู้ แต่นรกในปัจจุบันทุกคนก็รับรู้ได้ถ้าเกิดทำชั่ว อย่าว่าแต่ทำชั่วทางกาย วาจาเลย แค่นึกในใจก็ทุกข์แล้ว นึกในใจไม่ได้หมายถึงแค่การมุ่งร้ายทำร้าย หรือว่ามีจิตคิดพยาบาท ถ้าวางใจไม่เป็น ไปคิดถึงเรื่องราวในอดีตที่เลวร้ายย่ำแย่ นึกถึงความสูญเสีย เงินทองที่ถูกขโมย ทรัพย์สมบัติที่ถูกไฟเผาผลาญเพราะความผิดพลาดของคนบางคนเผลอเรอ หรือนึกถึงคำพูดคำด่าที่บางคนเขาสาดใส่เรา โกรธแค้น อันนี้ก็นรกเหมือนกัน นรกไม่ได้เกิดจากการทำชั่วที่ไปเบียดเบียนเขาเท่านั้น วางจิตวางใจไม่ถูกก็ทำให้จิตมันพลัดเข้าไปในนรกได้เหมือนกัน
อันนี้อย่างที่บอกว่าเราทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน มีกรรมเป็นของตัว ความหมายนั้นก็คือว่าถ้าอยากมีความสุขความเจริญ หรือว่าตายแล้วอยากไปสวรรค์ ก็ต้องทำความดี ไม่มีใครจะมาช่วยให้ไปสวรรค์ได้ถ้าเราทำชั่ว แต่เรื่องอุทิศบุญกุศลไปให้ทำได้ คล้ายๆ เป็นตัวเสริม ตัวช่วย อันนี้ทำได้ ทำความดีทำบุญถวายสังฆทานแล้วก็น้อมจิตอุทิศบุญกุศลไปให้กับผู้ที่ล่วงลับอันนี้ช่วยได้อยู่ แต่ว่าถ้าใครไปอยู่ในนรกแล้ว ลูกหลานจะทำดี สร้างบุญสร้างกุศล ทำสังฆทานยังไงก็ไม่สามารถจะฉุดให้วิญญาณที่อยู่ในนรกพ้นจากนรกได้ จนกว่ากรรมชั่วหรือวิบากมันจะหมดไป
คราวนี้เรามีกรรมเป็นของตัว มันยังมีความหมายว่า เวลาลูกเกิดความทุกข์เพราะไปทำชั่ว แม่อยากจะช่วยลูกยังไง แม่ก็ไม่สามารถจะรับเอาความทุกข์ของลูก หรือถ่ายเทความทุกข์ของลูกมาไว้ที่ตัวเองได้ แม่อยากจะช่วย เห็นลูกไปทำชั่วทำบาปมา หรือว่าไปติดยา ลูกก็เหมือนว่าตกนรกทั้งเป็นแล้ว แม่อยากจะถ่ายเอาความทุกข์ของเขามาอยู่ที่ตัวแม่เอง เพราะความรักของแม่ไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ ยอมทุกข์เพื่อลูกได้ แต่แม้แม่อยากจะทำอย่างนั้นก็ทำไม่ได้ เพราะว่ากรรมใครก็กรรมมัน ใครทำอะไรไปก็ต้องรับวิบากนั้น มันเหมือนกับว่าลูกกินอาหาร กินจนอ้วนเลย แม่ก็ห่วงว่าถ้าลูกอ้วนเดี๋ยวลูกจะเป็นโรคหัวใจ เป็นเบาหวาน เป็นโรคสารพัด แม่อยากจะเอาความอ้วนของลูกมาไว้ที่ตัวแม่ ทำได้ไหม ทำไม่ได้ นี่ขนาดเรื่องที่มันเห็นชัดๆ หรือว่าลูกติดยาจนผ่ายผอม แล้วก็ลงแดง พอไม่ได้กินยาเข้าไปก็ลงแดง แม่อยากจะเอาความทุกข์ของลูกมาไว้ที่ตัวแม่ แม่ยอมลงแดงแทนลูก เพื่อให้ลูกพ้นจากความทุกข์แม่ก็ทำไม่ได้
ไม่ใช่แม่ จะเป็นพ่อ หรือจะเป็นคนรักก็ตาม ไม่สามารถจะถ่ายเทเอาความทุกข์ของคนที่ตัวเองรักมาไว้กับตัวได้แม้จะอยากเพียงใดก็ตาม แต่ช่วยได้ ช่วยให้คลายความทุกข์ได้ เช่น แม่เห็นว่าลูกอ้วน น้ำหนักมากแล้ว ก็อาจจะชักชวนลูกให้ออกกำลังกาย หรืออาจจะทำอาหารที่มีไขมันน้อยให้ลูกกิน หรือพาลูกไปอยู่ในถิ่นที่ไม่มีอาหารที่ผิดหลักอนามัยมาเย้ายวนลูก อันนี้ทำได้ ช่วยได้ ช่วยให้ความอ้วนลดลงได้ แต่มันอยู่ที่เจ้าตัว เจ้าตัวถ้ายังกินแต่อาหารที่มีไขมัน มีเนื้อ มีน้ำตาล แม่ช่วยยังไงก็ไม่มีประโยชน์ ตราบใดที่ลูกยังไม่หยุดกินอาหารแบบนั้น
เหมือนกันตราบใดที่ลูกยังทำชั่วอยู่ ก็ต้องรับผลบาปนั้นไป ไม่มีใครที่จะถ่ายเทรับเอาความทุกข์ของคนทำชั่วมาไว้กับตัวได้ ในตอนเดียวกัน ถ้าเกิดแม่ทำชั่วก็ไม่ได้แปลว่าลูกจะต้องรับกรรมของแม่ แม่ทำชั่วแม่ก็ต้องรับกรรมของแม่เอง อันนี้บางคนไปเข้าใจว่าถ้าเกิดพ่อแม่ทำชั่วลูกอาจจะรับกรรม มันไม่มีใครจะรับหรือว่าถ่ายเทเอากรรมชั่วของใครมาไว้กับตัวได้ ขณะเดียวกันความชั่วที่ใครบางคนทำเอาไว้ มันก็ไม่สามารถที่จะถ่ายเทหรือเผลอไปอยู่กับคนอื่นได้ ใครทำชั่วคนนั้นก็ต้องรับกรรมเอง แต่ถ้าหากว่าคนที่ทำชั่วนั้นเขาไม่ระมัดระวัง เช่นไปทำร้ายคนอื่น แล้วคนอื่นแก้แค้น เขาอาจจะแก้แค้นด้วยการจุดไฟเผาทั้งบ้านเลย เพราะต้องการแก้แค้นคนที่เป็นพ่อหรือคนที่เป็นแม่ แต่ก็เป็นไปได้ว่าลูกอาจจะโดนลูกหลงไปด้วย เช่นอยู่ในบ้านที่ถูกไฟไหม้ พ่อก็ตาย แม่ก็ตาย ลูกก็ตาย เพราะว่ามีคนแก้แค้น บางทีคนที่แก้แค้นก็เคยเป็นเพื่อน อาจจะค้ายาด้วยกัน แล้วถูกหักหลัง เขาก็แก้แค้นด้วยการจุดไฟเผา เอาระเบิดโยนไปในบ้าน ทีนี้คนที่ตายก็มีทั้งพ่อ ทั้งแม่ ทั้งลูก ลูกไม่รู้อิโหน่อิเหน่ แต่ก็ตายไปด้วย อันนี้มันก็เป็นไปได้ แต่ไม่ได้เป็นเพราะว่าลูกรับกรรมแทนพ่อแม่ อันนี้เราพูดตามประสาชาวบ้าน เราก็อาจจะพูดอย่างนั้นว่าลูกพลอยรับกรรมที่พ่อแม่ทำเอาไว้ แต่จริงๆ แล้วกรรมใครก็กรรมมัน เพียงแต่ว่าเราก็ไม่รู้ว่าลูกอาจจะเคยได้ทำอะไรไว้ก่อนหรือเปล่า จึงต้องพลอยเจอเหตุการณ์เดียวกับพ่อแม่
แต่ที่จริงแล้วเพียงแค่การเลือกตัดสินใจที่จะอยู่ในที่ที่เดียวกับคนที่ทำชั่ว มันก็พลอยจะโดนลูกหลงได้เหมือนกัน มันเหมือนกับพ่อแม่พาลูกมาอยู่ในถิ่นที่มีมลภาวะ มีสารพิษเยอะ แล้วลูกวันดีคืนดีก็เป็นมะเร็ง เพราะสารพิษที่สะสมในร่างกาย ที่เกิดจากอากาศบ้าง เกิดจากน้ำเป็นพิษบ้าง อันนี้ก็เป็นไปได้ เพราะการมาอยู่ในถิ่นที่มันไม่ปลอดภัย มันก็สามารถจะรับโทษ หรือเกิดอันตรายได้ เพราะฉะนั้นการที่ลูกมาอยู่กับพ่อแม่ซึ่งทำชั่ว บางทีเหตุร้ายที่เกิดขึ้นกับพ่อแม่ก็พลอยพลัดไปตกอยู่กับลูกด้วย แต่อันนี้ก็ถือว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน แต่อย่าไปเข้าใจว่ากรรมของพ่อแม่ไปลงกับลูก มันไม่ใช่หรอก เรื่องกฎแห่งกรรมมันมีความซับซ้อนมากกว่านั้นเยอะ ซึ่งบางทีก็ต้องอาศัยความรู้ที่หยั่งลึก
พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า ผลแห่งกรรมเป็นเรื่องอจินไตย “อจินไตย” หมายความว่า เป็นเรื่องที่ไม่สามารถที่จะหยั่งรู้เข้าใจได้ด้วยเหตุผลอย่างเดียว ความรู้ของมนุษย์ หรือว่าปัญญาของมนุษย์ มันไม่สามารถที่จะหยั่งรู้ไปได้ถึง เพราะมันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เช่นเดียวกับเรื่องกำเนิดโลก กำเนิดจักรวาล แม้วันนี้จะมีความรู้มากมายเกี่ยวกับเรื่องกำเนิดจักรวาลแล้ว แต่มันก็ยังมีข้อสงสัยมากมาย ที่มนุษย์เราพยายามที่จะหาคำตอบ แต่ว่าเรื่องแบบนี้บางทีหาไปเท่าไหร่มันก็เกิดคำถามมากขึ้น เจอคำตอบนี้ก็เจอคำถามอีกหลายคำถามตามมา มันอาจจะเป็นความรู้ที่มนุษย์เราไม่สามารถจะรู้ได้ แม้จะมีวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าก็ตาม
เมื่อเร็วๆ นี้ มีหนังสือเล่มหนึ่ง ถ้าแปลเป็นภาษาไทยชื่อ “สิ่งที่เราไม่อาจรู้ได้” คนเขียนเป็นนักวิทยาศาสตร์ เขาพยายามอธิบายว่า อย่าไปคิดว่าวิทยาศาสตร์จะให้คำตอบได้ทุกเรื่อง มันจะมีบางเรื่องและอาจจะหลายเรื่องด้วยก็ได้ที่ไม่ว่าจะมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์แค่ไหนก็หาคำตอบไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องที่เหนือวิสัยการที่มนุษย์จะเข้าใจ อันนี้หมายถึงการเข้าใจด้วยปัญญา ด้วยเหตุด้วยผล แต่มันจะมีการเข้าใจเข้าถึงความจริงได้ด้วยญาณ ซึ่งอันนี้มันเป็นเรื่องพ้นวิสัยที่วิทยาศาสตร์จะเข้าใจได้ แม้กระทั่งความทุกข์ของมนุษย์จะให้ใช้เครื่องวัดอย่างไรเพื่อจะวัดความทุกข์ของมนุษย์ก็วัดยาก แม้กระทั่งสิ่งที่เป็นความรัก ความเมตตา ก็เป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์เข้าใจได้ยาก เพราะมันเป็นเรื่องนามธรรม
อันนี้ให้เราเข้าใจว่าแม้เรื่องกรรมจะเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจให้ถ่องแท้ แต่มันก็เป็นเรื่องที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย มันไม่ใช่เป็นเรื่องความบังเอิญ มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยกันทั้งสิ้น คนบางคนทำดีแต่ทำไมตกนรก อันนี้ก็มีเหตุปัจจัย อย่างเช่น นางมัลลิกาเทวี เป็นมเหสีพระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นคนดี ชักชวนให้พระเจ้าปเสนทิโกศลหันมาทำบุญทำทาน หันมามีศรัทธาในพระรัตนตรัย แต่ไม่ถึงกับระดับพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารศรัทธามากจนกระทั่งเข้าถึงธรรมเป็นพระโสดาบัน แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลนี่ยังไม่ จิตใจยังเป็นปุถุชนยังมีความกลัว ความหวาดระแวง และก็มีความเหี้ยมโหดด้วย ขนาดฆ่าเพื่อนซึ่งช่วยเหลือเกื้อกูลกันมานานเพราะความระแวง ฆ่าเพื่อนแล้วก็ลูกอีก 32 คนของเพื่อนตายเกลี้ยงเลย เสนาบดีชื่อพันธุละ อันนี้เป็นเพื่อนสนิทมากเรียนมาด้วยกัน แต่โดนคนเป่าหู ก็ระแวงแล้วก็ฆ่า สุดท้ายก็ตายอย่างอนาถ
อย่างไรก็ตามนางมัลลิกาเทวีก็ช่วยให้พระเจ้าปเสนทิโกศลหันมาทำบุญ สร้างกุศลได้เยอะทีเดียว และนางมัลลิกาเทวีก็เป็นที่รักของพระเจ้าปเสนทิโกศลมาก แต่ว่าเธอตายตั้งแต่ยังสาว อายุ 20-30 กว่าก็ตาย ปรากฎว่าตายแล้วลงนรก ลงนรกก็เพราะว่าก่อนจะตาย จิตใจนึกถึงความผิดที่ได้ทำเอาไว้ เป็นความผิดเล็กๆ น้อยๆ คือไปโกหกพระเจ้าปเสนทิโกศล ในเรื่องที่มันน่าอับอาย พระเจ้าปเสนทิโกศลก็เห็น แต่นางมัลลิกาเทวีก็โกหกว่ามันไม่ได้เป็นอย่างที่พระเจ้าปเสนทิโกศลเห็น พระเจ้าปเสนทิโกศลตาฟ้าฟางหรือว่าเห็นคลาดเคลื่อนไป พระเจ้าปเสนทิโกศลก็เชื่อ รอดตัวไป แต่ตอนนางจะตายไปนึกถึงเหตุการณ์ตอนนั้นแล้วรู้สึกจิตเศร้าหมองที่โกหก มุสาวาท ปล่อยวางไม่ได้ เผอิญเป็นจิตสุดท้ายพอดี อาสันนกรรมเป็นกรรมที่ให้ผลทันที ถ้าจิตเป็นอกุศลก็ไปอบายทันที ถ้าจิตเป็นกุศลก็ไปสุคติทันทีเหมือนกัน แต่เนื่องจากจิตสุดท้ายหรืออาสันนกรรมของนางมัลลิกาเทวีไปหน่วงเหนี่ยวอยู่กับสิ่งที่มันเป็นความเศร้าหมอง อารมณ์ที่เศร้าหมอง ก็เลยไปอบายเลย ลงนรก 7 วัน แต่ความดีที่ได้ทำเอาไว้ก็หนุนส่งให้ได้หลุดจากนรกขึ้นสวรรค์ในที่สุด เป็นไปได้ว่าคนทำดีแล้วลงนรก แต่นั่นเพราะว่า ไม่ใช่เพราะความดีที่ได้ทำ แต่เพราะว่าจิตสุดท้ายเป็นอกุศล พูดง่ายๆ คือวางใจไม่เป็น ทำจิตไม่ถูก ก็สามารถจะส่งผลได้เหมือนกัน
กรรมทุกชนิดมีผลทั้งนั้น กรรมบางอย่างให้ผลช้า กรรมบางอย่างให้ผลเร็ว กรรมบางอย่างให้ผลทันที อาสันนกรรมนี้ให้ผลทันที พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนกับวัวที่มันถูกขังอยู่ในคอกหลายๆ ตัวจนแน่นเลย ถ้าเกิดเปิดประตูคอกขึ้นมา วัวที่อยู่ใกล้ประตูมากที่สุดก็จะออกมาก่อน แม้จะเป็นวัวแก่ก็ตามก็จะออกมาก่อน อันนี้ก็หมายความว่ากรรมที่ทำสุดท้าย หรือท้ายสุดเลยมันจะส่งผลก่อน แต่หลังจากนั้นกรรมอื่นก็จะส่งผลตามมา ถ้าเปรียบก็เหมือนกับรถ รถที่ติดไฟแดงตรงสี่แยก ถ้าไฟแดงเปลี่ยนเป็นไฟเขียว คันที่อยู่ใกล้สัญญาณไฟมากที่สุดมันก็จะออกก่อน ไม่ว่าจะเป็นรถจักรยาน หรือว่ารถสามล้อ ตุ๊กๆ มันต้องออกมาก่อน แต่หลังจากนั้นแล้ว ไอ้รถคันหลังถ้าหากว่าเร็วกว่าก็จะแซงได้ เช่น รถเก๋ง รถมอเตอร์ไซค์ หรือว่ารถสิบล้อ มันเร็วกว่ารถจักรยาน เร็วกว่ารถตุ๊กๆ มันก็แซง กรรมก็คล้ายๆ อย่างนั้นเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นอย่าไปแปลกใจ ทำไมคนทำกรรมดีมาทั้งชีวิตทำไมตายแล้วลงนรก ทำไมคนทำชั่วมาตลอดหรือทำชั่วเป็นอาจิณ ทำไมตายแล้วไปสวรรค์ อันนี้มันมีเหตุ เหตุบางอย่างเราก็เข้าใจอธิบายได้ แต่เหตุบางอย่างเราก็ไม่สามารถจะหยั่งรู้ได้ เพราะไม่มีใครรู้หรอกว่าตอนใครตายจิตสุดท้ายเขานึกถึงอะไร คนธรรมดาไม่รู้หรอก จะใช้เหตุใช้ผลว่าทำดีแล้วต้องไปสวรรค์ อันนี้มันไม่แน่ มันมีอะไรที่ซับซ้อนกว่านั้นเยอะ ซึ่งจิตของคนเราหรือการใช้เหตุใช้ผลของคนเราไม่สามารถจะหยั่งรู้เข้าถึงได้ ต่อเมื่อมีจิตที่หยั่งรู้ภายในถึงจะเห็นว่า อ๋อ จิตสุดท้ายเขาเป็นอกุศล เขาก็เลยไปไม่ดี
เรื่องนี้ก็มีเกร็ด ตอนที่นางมัลลิกาเทวีตาย พระเจ้าปเสนทิโกศลก็เศร้ามากเสียใจมาก อยากจะรู้ว่านางมัลลิกาเทวีตายแล้วไปไหน เลยไปเฝ้าพระพุทธเจ้าวันรุ่งขึ้น พระพุทธเจ้าก็รู้ว่าถ้าตอบไปว่านางมัลลิกาเทวีลงนรก นอกจากพระเจ้าปเสนทิโกศลจะเศร้าหมองเสียใจแล้วก็อาจจะเกิดความคลางแคลงว่าทำไมทำดีแล้วไม่ได้ดี ทำไมคนดีอย่างนางมัลลิกาเทวีถึงลงนรก พระพุทธเจ้าตอบความจริงไปก็จะเกิดผลเสีย แต่ถ้าโกหกก็ทำไม่ได้ พอพระเจ้าปเสนทิโกศลมาเพื่อจะถาม พระองค์ก็ดลบันดาลให้พระเจ้าปเสนทิโกศลลืมถาม สนทนาเรื่องอื่นแทน กลับวังเลยนึกขึ้นมาได้ว่าไม่ได้ถามเรื่องนี้ วันรุ่งขึ้นก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าอีก ตั้งใจว่าจะถามเรื่องนี้แหละ นางมัลลิกาเทวีตายแล้วไปไหน ก็ลืมอีก เป็นอย่างนี้อยู่ 7 วัน 7 ครั้ง พอวันที่ 8 พระพุทธเจ้าทราบว่านางมัลลิกาเทวีได้ขึ้นสวรรค์แล้ว คราวนี้พระเจ้าปเสนทิโกศลมาถาม พระพุทธเจ้าก็เลยตอบว่าตอนนี้นางมัลลิกาเทวีได้อยู่บนสวรรค์แล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ดีใจ ปลาบปลื้ม
อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เป็นตัวอย่างว่า บางครั้งการทำความดี มันไม่ใช่ว่าความดีมันจะส่งผลทันที อาจจะต้องใช้เวลาแต่ไม่ใช่ว่าจะไม่ส่งผล แต่ถ้าเกิดคนรู้ไม่ละเอียดเพียงพอหรือรู้แค่ครึ่งๆ กลางๆ ก็จะเสียใจ อย่างเช่น ถ้าพระเจ้าปเสนทิโกศลรู้ว่านางมัลลิกาเทวีตายแล้วลงนรกก็จะเสียใจ แล้วก็ไม่มีความศรัทธาในกรรม ศรัทธาในกรรมสำคัญ ศรัทธาในกรรมคือ ศรัทธา หรือความเชื่อว่า ทำกรรมดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว หรือศรัทธาว่าคนเราจะได้ดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับความเพียรพยายามขึ้นอยู่กับการกระทำของตน ศรัทธานี้สำคัญแต่ก็ต้องอาศัยความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย ถ้าเข้าใจไม่ถูกต้อง ครี่งๆ กลางๆ ก็จะอาจจะเกิดความเสื่อมความศรัทธาได้ หรือว่ามองไม่รอบด้าน เช่น บางคนทำความดี มีความซื่อสัตย์สุจริต แต่ทำไมงานการไม่ก้าวหน้า เจ้านายไม่เลื่อนขั้นให้ เลยเกิดความลังเลคลางแคลงใจว่าทำดีแล้วไม่ได้ดี ที่จริงมันไม่เกี่ยวกัน
กฎแห่งกรรมเป็นกฎธรรมชาติ ถ้าทำเดี๋ยวนั้นก็ได้เดี๋ยวนั้นเลยคือความสุขใจ ส่วนทำแล้วคนจะเห็นหรือไม่เป็นเรื่องของคนอื่นเขา ทำแล้วเจ้านายจะเห็นหรือไม่ก็เป็นเรื่องของเขา อันนี้เป็นเรื่องของทางโลกก็ว่าได้ เหมือนที่เคยเปรียบเทียบว่าปลูกมะม่วงก็ได้มะม่วง อันนี้เป็นกฎธรรมชาติ ปลูกมะม่วงแล้วได้ทุเรียนเป็นไปไม่ได้ แต่ปลูกมะม่วงได้มะม่วง ก็ไม่ได้แปลว่าปลูกมะม่วงแล้วจะรวย ไอ้จะรวยหรือไม่มันขึ้นอยู่กับราคาตลาด มันขึ้นอยู่กับราคามะม่วงในตลาดเวลานั้น เรื่องราคามะม่วงเป็นเรื่องสมมติ เป็นเรื่องกฎเกณฑ์ทางสังคม อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะกำหนดราคามั้ยว่ามะม่วงต้องราคาเท่านี้ หรือขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลให้เป็นเรื่องของกลไกตลาด ถ้าปล่อยให้ราคาถูกกำหนดโดยกลไกตลาด ถ้ามะม่วงเยอะราคาก็ตก ถ้ามะม่วงน้อยราคาก็ขึ้น อันนี้ถ้าเกิดว่ารัฐบาลปล่อยให้ราคามะม่วงเป็นเรื่องกลไกตลาด ปลูกมะม่วงก็อาจจะจนได้ถ้าเกิดว่ามะม่วงล้นตลาด เว้นแต่ว่ารัฐบาลกำหนดราคามะม่วงว่าลูกหนึ่งราคา 100 ปลูกมะม่วงเยอะก็รวย ใครปลูกน้อยก็รวยน้อย ใครปลูกมากก็รวยมาก เพราะรัฐบาลกำหนดราคา ซื้อทุกลูก ลูกละร้อย อันนี้เป็นเรื่องของสังคม ไม่ใช่เรื่องกฎธรรมชาติ
เพราะฉะนั้นทำดีก็ต้องได้ดี แต่ทำดีแล้วไม่ได้แปลว่าจะรวย หรือว่าจะมีคนยกย่องนับหน้าถือตา อันนี้เป็นเรื่องของสังคม เป็นเรื่องค่านิยม ต้องแยกกัน