แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
สองสามวันมานี้ได้มีการเปิดน้ำ ทำให้น้ำจากสระที่อยู่ข้างวัดถ่ายเทลงมายังสระใหญ่ของเรา น้ำก็ค่อยเพิ่มระดับสูงขึ้น พวกเราคงสังเกตได้ บริเวณบางส่วนที่เป็นพื้นดิน ที่เคยเป็นพื้นสระมันก็ค่อยๆ มีน้ำท่วม ตอนนี้บางส่วนก็โดนน้ำท่วมไป ปกติถ้ามาถึงช่วงหน้าฝนมันไม่เคยที่จะมีน้ำน้อยขนาดนี้ จนกระทั่งเห็นพื้นสระ แต่นี้สิงหาแล้ว ถ้าไม่เปิดน้ำ ระดับน้ำในสระก็ยังน้อยอยู่ พอน้ำเริ่มท่วมขึ้น สูงขึ้นๆ แล้วก็ท่วมส่วนที่มันเป็นผืนดิน สิ่งที่ตามมาก็คือว่า พวกปลามันก็เริ่มไปหากินตรงบริเวณที่เคยเป็นพื้นดิน อย่างใต้ถุนศาลากลางน้ำ ก่อนหน้านี้มันก็เป็นดิน ตอนนี้ก็เริ่มมีน้ำท่วม บางทีกลางคืนก็ได้ยินเสียงปลาฟาดน้ำ ก็จะเป็นปลาช่อนเริ่มไปหากินอาหารตามพื้นที่เหมือนเคยเป็นดินแห้งๆ พื้นพวกนี้มันก็มีแมลง อาจจะมีไส้เดือน อาจจะมีสัตว์เล็กสัตว์น้อยอาศัย แต่ก่อนก็อยู่สบายเพราะไม่มีน้ำ แต่พอน้ำท่วมแล้วปลามันเข้าไปหาอาหารกินสัตว์พวกนี้แหละ ปลาดุกปลาช่อนมันชอบอยู่แล้วที่เป็นเลนเป็นโคลน มีอาหารให้มัน
ทำให้นึกถึงสำนวนที่ว่า “น้ำมาปลากินมด น้ำลดมดกินปลา” อันนี้เราก็คงจะคุ้นเคยกับปรากฏการณ์นี้ ถ้าน้ำมาเมื่อไหร่ปลาก็ไปกินมดที่เคยอยู่บนพื้นดินที่มันแห้งผาก อันนี้ก็รวมถึงแมลงอย่างอื่นด้วย ในทางตรงข้าม ถ้าน้ำมันลดเมื่อไหร่ ปลาก็จะกลายเป็นอาหารของมดได้เหมือนกัน เพราะว่าปลามันก็ตาย สำนวนนี้ก็สะท้อนให้เห็นปรากฏการณ์ที่ว่า สัตว์ทุกชนิดไม่ใช่เป็นแค่เหยื่ออย่างเดียว มันก็สามารถที่จะเป็นผู้ล่าเหยื่อได้เหมือนกัน สัตว์บางอย่าง สัตว์ทุกชนิด บางอย่างเป็นเหยื่อ แต่ว่าบางขณะ ในบางโอกาสมันก็เป็นผู้ล่าเหยื่อ ส่วนผู้ล่าในบางขณะก็สามารถจะกลายเป็นเหยื่อได้เหมือนกัน มันขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในโอกาสในเงื่อนไขไหน
มาดูปรากฏการณ์นี้แล้วทำให้นึกถึงสิ่งที่พวกเราสนใจกัน ก็คือเรื่องของการพัฒนาจิต การพัฒนาจิตต้องอาศัยความรู้สึกตัวเป็นพื้นฐาน เวลาเราพัฒนาจิตเราก็พยายามจะส่งเสริมให้กุศลธรรมมันสามารถจะอยู่เหนืออกุศลธรรม สองอย่างนี้เป็นปฏิปักษ์กัน กุศลธรรมกับอกุศลธรรมไม่ถูกกัน การที่เราจะให้กุศลธรรมขึ้นมา สามารถชนะอกุศลธรรมได้ มันก็ต้องอาศัยตัวช่วย ตัวช่วยนั้นก็คือความรู้สึกตัว ถ้าเราทำความรู้สึกตัวให้เกิดมีขึ้น ก็เหมือนกับพอน้ำเริ่มท่วมพื้น ปลามันก็กินมด น้ำก็อาจจะเปรียบได้กับความรู้สึกตัว พอความรู้สึกตัวมันเข้ามาในใจเรา มันก็เป็นโอกาสที่ดีสำหรับกุศลธรรมที่จะเข้าไปจัดการกับอกุศลธรรม ปลานี้ก็เปรียบเหมือนกับกุศลธรรม มดนี้ก็คืออกุศลธรรม พอมีความรู้สึกตัวพรั่งพรูหรือว่าไหลถ่ายเทเข้ามาในใจเรา กุศลธรรมก็จะมีกำลัง สามารถจะเล่นงานอกุศลธรรมที่มันเคยครองจิตครองใจเราได้ กุศลธรรมเช่นอะไรบ้าง ก็เช่น ความเมตตากรุณา ความอดทน ขันติ ความพากเพียรพยายาม รวมทั้งสติและปัญญาด้วย อันนี้รวมไปถึงกุศลธรรมอย่างอื่นด้วย เช่น ปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดการรู้ธรรม เรียกว่า โพชฌงค์ ส่วนอกุศลธรรมก็ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ ความเกียจคร้าน ความเห็นแก่ตัว ความกลัว ความวิตก ใครๆ ก็ไม่ค่อยชอบอกุศลธรรม เพราะว่ามีแล้วทำให้เป็นทุกข์ และทำให้เราห่างไกลจากความดี สิ่งที่เรียกว่า นิวรณ์ มันก็เป็นอกุศลธรรมเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น ความง่วงเหงาหาวนอน หรือว่า ความโกรธ ความพยาบาท ความหงุดหงิดขุ่นเคือง ความฟุ้งซ่าน ความลังเลสงสัย หรือว่าความใคร่ในกาม อันนี้เกิดขึ้นในใจเมื่อไหร่ ใจเราก็ทุกข์ พระพุทธเจ้าเปรียบนิวรณ์เหล่านี้มันเหมือนกับสิ่งที่บีบคั้นใจ เช่น เปรียบเหมือนกับสิ่งที่ทำให้คนหิวโหย ติดคุก หรือว่าต้องอ้างว้างเหมือนกับเดินอยู่ในทะเลทราย อันนี้เป็นลักษณะของนิวรณ์ที่มันทำให้จิตใจของเราเป็นทุกข์
ทีนี้การที่จะทำให้อกุศลธรรมเหล่านี้มันลดน้อยถอยลงไปจากจิตใจ เราก็ต้องเพิ่มกำลัง ให้กำลังให้กับกุศลธรรม การที่จะให้กำลังให้กับกุศลธรรมในการจัดการกับอกุศลธรรม ก็ต้องอาศัยความรู้สึกตัว คนเราพอมีความรู้สึกตัวปุ๊บ มันง่ายที่จะมีความเมตตากรุณา มันง่ายที่จะมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มันง่ายที่จะมีความอดทน อดกลั้นต่ออารมณ์ มันง่ายที่เราจะมีความพากเพียรพยายาม เพราะว่าความรู้สึกตัวเป็นตัวสนับสนุนกุศลธรรม เหมือนกับปลาต้องอาศัยน้ำ พอน้ำมาปลานี่เรียกว่าดีใจเลย สามารถที่จะอยู่ มีกำลังที่จะจัดการกับพวกแมลงต่างๆ ได้ เช่น ปลาก็กินมด พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลเมื่อมีความรู้สึกตัว กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เมื่อมีความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวนั้นจะเป็นไปเพื่อประโยชน์อันยิ่งใหญ่ เพื่อความตั้งมั่นของสัทธรรมเพื่อความตั้งมั่นไม่อันตรธาน ไม่เสื่อมสูญของพระสัทธรรม สัทธรรมในที่นี้หมายถึงกุศลธรรมก็ได้ หรือว่าคุณงามความดีในจิตใจของเรา ถ้าเราต้องการให้กุศลธรรมเกิดขึ้นในใจ แล้วต้องการทำให้อกุศลธรรมมันเลือนหายไปจากจิตใจ มันก็ต้องอาศัยความรู้สึกตัวนี้แหละเป็นเบื้องต้น พระพุทธเจ้ายังตรัสว่าความรู้สึกตัวเป็นไปเพื่อประโยชน์อันยิ่งใหญ่ เพื่อความตั้งมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งพระสัทธรรม
เพราะฉะนั้นเวลาเราทำความดี เราต้องเริ่มต้นจากการทำความรู้สึกตัวก่อน เพราะถ้าเราไม่รู้สึกตัวแล้ว โอกาสที่อกุศลธรรมจะเข้ามาครอบงำใจก็จะมี อาจจะเกิดความง่วงเหงาหาวนอน จิตใจก็จะฟุ้งซ่าน คิดไปต่างๆ นานา คิดไปบางเรื่องก็ทำให้ขุ่นเคืองใจ ทำให้เศร้าโศกเสียใจ คิดไปบางเรื่องก็ทำให้เกิดความวิตกกังวล ทำให้เกิดความโกรธแค้น อยากจะแก้แค้น อยากจะตอบโต้ แล้วก็อาจจะลงทำมือ โดยเฉพาะเมื่ออารมณ์เหล่านี้ครอบงำจิตใจจนลืมตัว คนเราเมื่อลืมตัวแล้วมันก็สามารถจะทำชั่วได้ง่าย บางทีทำไปแล้วถึงค่อยมารู้สึกตัว แล้วก็เกิดความเสียใจ
มีโยมคนหนึ่งเป็นคนที่สนใจใฝ่ธรรมะ เข้าวัดเข้าวา แต่ว่าลูกชายไม่สนใจเลย ลูกชายเป็นวัยรุ่น แล้วก็ดื้อด้วย ไม่เข้าวัดไม่เป็นไร แต่ว่าไม่ค่อยเชื่อฟังพ่อแม่ ชอบขัดคำสั่งพ่อแม่อยู่เป็นประจำ ที่จริงลูกก็ไม่ได้เป็นคนเกกมะเหรกเกเรอะไร เพียงแต่ว่าไม่ค่อยเชื่อฟังพ่อแม่ อาจจะชอบเถลไถลไปตามเรื่อง พ่อห้ามพ่อสั่งก็ไม่ทำตาม พ่อก็เริ่มมีความโกรธ ต่อว่าลูกเป็นประจำ วันหนึ่งลูกมาขอพ่อ จะขอยืมรถพ่อขับไปหาเพื่อนตอนกลางคืน พ่อไม่ให้ แต่พอพ่อเผลอ ลูกชายก็ขับไป พ่อโกรธมาก ไปตามลูกชายกลับมา มาถึงบ้านก็ทะเลาะกัน ลูกก็เถียง พ่อก็ยิ่งโกรธ ไปถึงขั้นด่าว่ากัน แล้วพอลูกโต้แย้งมาก ก็มีการลงไม้ลงมือ ลูกก็โกรธ ก็คงมีการด่าว่ากัน พ่อห้ามใจไม่อยู่ เผอิญมีปืนอยู่ในห้องนั้น ก็คว้าปืนขึ้นมายิงลูก ยิงลูกตายเลย พอยิงลูกตายถึงรู้สึกตัวว่าทำอะไรลงไป
ตอนจะยิงมันไม่รู้สึกตัว เพราะว่าถูกความโกรธมันครอบงำ มันพร้อมจะทำอะไรก็ได้ อยากจะทำร้ายลูก ตอนนั้นมันไม่ใช่แค่โกรธแล้ว มันเกลียดแล้ว ลูกที่ตัวเองเคยรัก จากรักก็กลายเป็นเกลียดฉับพลันทันที เพราะทำสิ่งที่พ่อผิดหวัง พอยิงไปแล้วถึงค่อยรู้สึกตัวว่าฉันทำอะไรลงไป บ่อยครั้งความรู้สึกตัวกลับมาเมื่อมันทำไปเรียบร้อยแล้ว หลายคนตอนโกรธมันไม่รู้สึกตัว มันคิดอยากจะด่าให้เต็มที่ ให้เขาเจ็บปวดมากที่สุด พอด่าไปแล้วถึงค่อยรู้สึกตัวว่าทำอะไรลงไป แล้วก็เสียใจ คนส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้น บางทีก็ลงไม้ลงมือไปแล้วถึงค่อยรู้สึกตัว แต่พอรู้สึกตัวไปแล้ว มันก็รู้สึกตัวประเดี๋ยวเดียว เพราะความรู้สึกผิดรวมทั้งความกลัวมันก็เข้ามาจู่โจมครอบงำจิตใจ อย่างเช่น พ่อคนนี้ พอยิงลูกตายไปแล้ว รู้สึกตัวขึ้นมาว่าทำอะไรลงไป แล้วก็รู้สึกเสียใจว่าฆ่าลูกไปแล้ว อาจจะคิดต่อไปว่าจะต้องติดคุกติดตาราง หรือว่าเสียชื่อ เป็นคนที่ธรรมะธรรมโมแต่ดันฆ่าลูกตาย แล้วฉันจะทนสู้หน้า หรือเอาหน้าไปไว้ไหน อับอายขายหน้า คิดขึ้นมาทันทีเลย ตอนนี้แหละ ที่รู้สึกตัวมันก็รู้สึกตัวประเดี๋ยวประด๋าว แล้วก็กลับมาถูกท่วมทับด้วยความรู้สึกกลัว รู้สึกผิด รู้สึกเสียใจ แล้วทำยังไง หน้ามืด ลืมตัว ก็เลยยิงตัวเองตาย ตายทั้งลูกตายทั้งพ่อ อันนี้เพราะว่าความลืมตัวโดยแท้เลย พอไม่รู้สึกตัวแล้วคนเราก็สามารถจะทำอะไรที่เลวร้ายที่ตัวเองนึกไม่ถึงก็ได้
ความลืมตัวเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก เพราะว่าถ้าลืมตัวแล้ว การที่จะทำความดีมันก็ยาก มันมีแต่จะคิดทำสิ่งที่ชั่วร้าย คนบางคนจะรู้สึกตัวได้ก็เพราะว่ามีปัจจัยภายนอกมาช่วยเตือน จะว่าไปไม่ใช่คนบางคนหรอก ส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้น ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่เราใจลอยคิดไปนู้นคิดไปนี่ พอเพื่อนทักขึ้นมา อ้าว รู้สึกตัวแล้ว การทักของเพื่อนทำให้เรารู้สึกตัว ซึ่งอันนี้ก็ยังดี เพราะว่าใจมันลอยไปไม่ไกล แล้วก็เรื่องที่ทำให้ใจลอยหรือลืมตัวก็อาจจะไม่ใช่เป็นเรื่องใหญ่โตเท่าไหร่ แต่บางทีคนทักนี้ก็ไม่ได้ผล เพราะว่าใจมันจมอยู่ในอารมณ์ มันลืมตัว เช่นเวลาโกรธ หรือเวลาหน้ามืด ไม่ใช่หน้ามืดด้วยโทสะอย่างเดียว อาจจะหน้ามืดด้วยราคะก็ได้ พอหน้ามืดด้วยราคะมันไม่สนใจอะไรแล้ว อย่างคนที่ไปฉุดคร่าผู้หญิง บางทีก็เป็นคนที่มีหน้ามีตา แต่พอหน้ามืดด้วยราคะ ก็สามารถจะฉุดคร่า หรือกระทำชำเราคนที่ตัวเองอาจจะรู้จักด้วยซ้ำ พอทำไปแล้ว รู้ตัวขึ้นมา หลังจากที่ปลดเปลื้องอารมณ์ราคะหรืออารมณ์หื่นไปแล้ว มันก็กลับมารู้ตัว พอรู้ตัวว่าทำอะไรลงไป กลัวโทษทัณฑ์ กลัวอันตราย กลัวภัยที่จะเกิดขึ้น เพราะเดี๋ยวผู้หญิงไปบอกไปฟ้องตำรวจ กลัวเสียชื่อ เสียหน้า เป็นคนมีชื่อเสียง หรือบางทีกลัวคุกกลัวตะราง ความกลัวก็กลับมาทำให้ลืมตัวอีกครั้ง เมื่อกี้รู้สึกตัว แต่พอลืมตัวเพราะความกลัว เอาละ อาจจะหาทางปิดปากผู้หญิง ปิดปากเหยื่อ หนักเข้าไปใหญ่ อาจจะถึงขั้นทำร้าย อันนี้ทำด้วยความกลัวหรือว่าความโกรธ ก็หนักเข้าไปใหญ่เลย
เพราะฉะนั้น คนเราสามารถจะถลำไปสู่ความฉิบหาย หรืออบายได้ เพราะความลืมตัว ที่จริงถ้าเรามีสติ สติมันจะช่วยทำให้เรากลับมารู้สึกตัวได้เร็ว แล้วก็รู้สึกตัวก่อนที่จะผลีผลามทำอะไรลงไป ไม่ใช่ทำเสร็จไปแล้ว ทำสุด ระบายอารมณ์เสร็จแล้วถึงค่อยมารู้ตัว คนส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้น แต่ถ้ามีสติ มันแค่คิดก็พอ คิดยังไม่ทันจะพูดเลย คิดไม่ทันจะทำเลย มันก็มีสติแล้ว ก็สามารถทำให้ความรู้สึกตัวกลับมา พอความรู้สึกตัวกลับมา ความคิดที่เป็นความชั่วร้ายไม่ว่าจะเป็น มโนกรรม วจีกรรม หรือกายกรรม มันก็ล่าถอยไป เพราะว่าความรู้สึกผิดชอบชั่วดีมันกลับมา มโนธรรมมันกลับมา กุศลธรรมมันกลับมา เพราะว่าความรู้สึกตัวเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลธรรม ความคิดที่จะทำชั่ว ที่จะทำในสิ่งที่เป็นโทษกับตัวเองหรือเป็นโทษกับผู้อื่น มันก็เลือนหายไป
จำเป็นมากที่เราต้องฝึกให้มีสติที่ฉับไว เพราะสติจะช่วยทำให้เรารู้สึกตัวได้เร็วขึ้น ไม่ต้องรอตัวช่วยจากข้างนอก หรือไม่ใช่ว่าทำจนเสร็จแล้วถึงค่อยมารู้ตัว ด่าเสร็จแล้วถึงค่อยรู้ตัวว่าทำอะไรลงไป คนที่ปล่อยชีวิตอยู่ในสภาพเช่นนั้นถือว่าชีวิตเขาอยู่ในความเสี่ยงมาก ต้องหมั่นเจริญสติให้ไว การเจริญสติ ให้ฝึกสติอยู่กับการเคลื่อนไหว อันนี้เป็นเบื้องต้นเลย มันก็มีหลักง่ายๆ ว่า ตัวอยู่ไหนใจอยู่นั่น เวลากายทำอะไรใจก็รับรู้หรือว่ารู้สึก คำว่ารับรู้หรือรู้สึกมันก็เป็นตัวเดียวกัน รับรู้ก็จะรู้สึกว่ามือเคลื่อนไหว ไม่ใช่รู้สึกเจ็บ รู้สึกปวด ปวดเมื่อย อันนี้คนละตัวกัน อันนั้นคือเวทนา กายเคลื่อนไหวใจก็รับรู้ หรือบางทีก็เรียกว่า เห็นกายเคลื่อนไหว เห็นนี้เห็นด้วยสติ เห็นด้วยตาใน ไม่ใช่เห็นด้วยตาเนื้อ แม้จะอยู่ในห้องมืด เคลื่อนไหว กายเคลื่อนไหวใจก็รับรู้ ถึงแม้ตาจะมองไม่เห็น
กายเคลื่อนไหวใจรับรู้ เห็นกายเคลื่อนไหว โดยเฉพาะเวลาเมื่อเวลาเราทำกิจการงานต่างๆ การทำกิจการงานต่างๆ มันต้องอาศัยกายเคลื่อนไหวเป็นพื้นฐานส่วนใหญ่ กิจในที่นี้ไม่ได้แปลว่าการงานอย่างเดียว กิจส่วนตัว ทำธุระส่วนตัว เช่น เข้าห้องน้ำ หรือว่าล้างหน้าแปรงฟัน ทำผม อันนี้ก็มีการเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวส่วนกาย กายเคลื่อนไหวใจก็รับรู้ อันนี้คือเห็นกายเคลื่อนไหว เวลาใจคิดนึกไปก็รู้ ใจคิดนึก มีอารมณ์เกิดขึ้นเพราะความคิดนั้นก็รู้ทัน
ความคิดจะว่าไปแล้วมันรู้ทันได้ง่ายกว่าอารมณ์ เวลาเราคิดเรามักจะคิดเป็นคำพูด หรือไม่ก็คิดเป็นภาพ ถ้าหากว่าเป็นการนึกถึงอดีต หรือบางทีก็สร้างภาพขึ้นมาเวลานึกถึงอนาคต อันนี้เราปรุงแต่ง หรือไม่ก็นึกเป็นคำโดยเฉพาะสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น คิดถึงเหตุผลที่จะอธิบายว่าทำไมเราอยากจะทำอย่างนั้น ทำไมเราทำอย่างนี้ บางทีจะหาข้อแก้ตัว เราก็คิดเป็นคำเพื่อเป็นเหตุผลที่จะใช้อ้าง หรือเวลาจะพูด เวลาจะต่อรองทำสัญญา เราคิดล่วงหน้า เราก็ต้องคิดเป็นคำพูด บางทีก็นึกเป็นภาพเหตุการณ์จำลองขึ้นมาในใจ เพราะเหตุว่าเราคิดเป็นคำหรือคิดเป็นภาพเราจึงรู้ทันได้ง่ายกว่าอารมณ์
อารมณ์มันเหมือนกับเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น มันเป็นอะไรที่เหมือนกับเป็นม่านหมอกที่มันคลุมใจเอาไว้ บางทีมันก็ไม่ใช่เป็นม่านหมอก มันอาจจะเป็นไฟ เป็นความรู้สึก ถ้าเกิดว่าสติเราไม่ไวมันก็รู้ทันอารมณ์ยาก การเจริญสติเราฝึกสติจากเรื่องง่ายๆ คือ เห็นสิ่งที่มันหยาบ รู้ในสิ่งที่มันหยาบก่อนก็คือการเคลื่อนไหว หรืออิริยาบถ อันนี้มันหยาบ และการยกมือมันก็ให้ความรู้สึกที่หยาบกว่าการกระพริบตา การกลืนน้ำลาย หรือการหายใจ เพราะฉะนั้นสำหรับคนที่ฝึกสติใหม่ๆ ก็อาจจะพบว่าเวลายกมือสร้างจังหวะ เวลาเดินจงกรม มันรู้สึกตัวได้ดีกว่า ได้ไวกว่า เพราะจะว่าไป การเคลื่อนไหวของมือ หรือเวลาเท้าก้าวเดิน มันจะส่งความรู้สึกไปเรียกจิตที่ฟุ้งซ่านกลับมา
อันนี้พูดเปรียบเปรย เวลายกมือสร้างจังหวะ เวลาเดินจงกรม มันจะส่งความรู้สึกไปสะกิดใจ ใจที่กำลังเผลอลอยไปนู้นไปนี้ พอมีความรู้สึกไปสะกิด มันจะรู้ตัวได้ไวแล้วก็จะกลับมา เหมือนคนที่ใจลอย พอมีเพื่อนสะกิด พอมีเพื่อนแตะไหล่ ไอ้ที่ลอยไปไหนมันกลับมาเลย ไอ้ที่คิดนู้นคิดนี้มันสะดุด มันหยุดไปเลย บางทีคิดในเรื่องที่ทำให้ขุ่นเคือง กำลังโกรธ ตอนคิดนี้โกรธมากเลย พอเพื่อนแตะหลัง พอเพื่อนแตะมือ รู้สึกตัวเลย พอรู้สึกตัว ความคิดและความโกรธที่มันครอบงำจิตมันหลุดไปเลย มันไม่ใช่เป็นการห้ามคิด แต่มันหลุดไปเอง เพราะอะไร เพราะความรู้สึกตัว
อันนี้ที่พระพุทธเจ้าบอกว่า เมื่อบุคคลมีความรู้สึกตัว อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จะโกรธจะกลัว หรือว่าจะมีราคะเพราะการคิดปรุงแต่ง ขณะที่กำลังนั่งฟังคำบรรยาย ขณะที่กำลังนั่งอยู่เฉยๆ พอมีเพื่อนมาแตะไหล่ มาแตะมือ หรือพอมีเสียงครูบาอาจารย์พูด ได้ยินเสียงจากข้างหลัง รู้สึกตัวขึ้นมา อารมณ์อกุศลทั้งหลายที่มันก่อตัวขึ้นมา มันหายไปเลยนะ ลองสังเกตดู อันนี้แหละเรียกว่า อานุภาพของความรู้สึกตัว
แต่ว่าอย่างที่บอก จะไปรอให้คนมาทักเรา มาแตะมือเรา อันนี้มันหวังยาก บางทีเราก็อยู่คนเดียว แต่ถ้าเราใช้อริยาบถการเคลื่อนไหวของกายนี่แหละ หรือว่าเท้าที่ก้าวเดินนี่แหละ มันเป็นตัวสะกิด มันส่งความรู้สึกไปสะกิด ไปสะกิดใจให้กลับมารู้ตัว เพราะฉะนั้นการยกมือสร้างจังหวะการเดินจงกรมมันช่วยได้ดี นอกเหนือจากการที่เป็นแบบฝึกหัดให้ใจกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว เป็นแบบฝึกหัดให้ใจมารับรู้กายที่เคลื่อนไหว ตรงนั้นเรียกว่ารู้กาย แต่ขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวนี่แหละมันก็สามารถจะส่งความรู้สึกไปสะกิดใจให้กลับมารู้ใจได้ ให้ใจกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว พอใจกลับมาอยู่เนื้อกับตัวเมื่อไหร่ นิวรณ์ก็ดี อกุศลที่ก่อตัวขึ้นมาจากความคิด มันหายไปเลย มันหลุดไปเลย
แต่ว่าถ้าสติเราไม่ดีพอ หรือความรู้สึกตัวเรายังไม่ตั้งมั่น เดี๋ยวมันก็เผลอไปอีก ความรู้สึกตัวของคนเรามันเกิดขึ้นชั่วคราว เหมือนคนขี้ลืม คนขี้ลืมบางทีจำชื่อคนได้ประเดี๋ยวประด๋าว มีคนบางประเภทขี้ลืมมากเพราะมีปัญหาเกี่ยวกับสมอง แนะนำตัวว่าชื่ออะไร บอกให้เขาฟัง เขาก็จำได้ แต่เขาจำได้แค่ 5 นาที ผ่านไป 5 นาทีเขาลืมแล้ว ต้องถามชื่อใหม่ว่าชื่ออะไร หรือว่าคุยไปสักพักก็เดินออกไปนอกห้อง แล้วกลับมาใหม่ อีกคนหนึ่งเขาลืมเลยว่าเมื่อกี้เราเพิ่งคุยกัน หรือว่าลืมชื่อไปเลยว่าคนที่กลับเข้าห้องนี้ชื่ออะไร ทั้งๆ ที่คุยกันเป็นวรรคเป็นเวรเมื่อสักครู่ 5 นาที 10 นาที แต่พอไม่ได้เห็นหน้าแค่ไม่กี่วินาที ลืมแล้ว อันนี้เรียกว่าความหลงมันมาเร็วมากเลย แต่อันนี้มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับสมอง
แต่ถึงแม้คนปกติไม่มีปัญหาเกี่ยวกับสมองแต่ความรู้ตัวมันจะอยู่ประเดี๋ยวประด๋าวมาก เผลอปุ๊บเดียวลืมอีกแล้ว ใจลอยอีกแล้ว บางทีก็เหมือนกับแบตเตอรี่ที่เก็บไฟได้ประเดี๋ยวประด๋าว โทรศัพท์มือถือที่เราใช้กันหลายปี หรือคอมพิวเตอร์ก็ได้ พอใช้ไปนานๆ แบตเตอรี่เสื่อมนะ ชาร์ทไฟไปครึ่งชั่วโมง บางทีชาร์ทไปเป็นชั่วโมงเลย มันเก็บไฟได้ประเดี๋ยวเดียว พอใช้ไป 5 นาทีมันหมดแล้ว มันเก็บไฟได้น้อยมาก ก็เหมือนกับจิตของคนที่เพิ่งปฏิบัติธรรม เพิ่งเจริญสติ จิตมันจะมีความรู้สึกตัวได้ประเดี๋ยวเดียว เดี๋ยวก็ลืมอีกแล้ว แต่เราก็อย่าท้อ เราก็ทำไปๆ จิตมันจะดีขึ้นเรื่อยๆ ความรู้สึกตัวจะอยู่นานขึ้นๆ แล้วต่อไปความหลงก็จะน้อยลงๆ คิดไปก็รู้ทัน คิดไปก็รู้ทันได้เร็ว เรียกว่าคิดปุ๊บรู้ปั๊บ อันนี้แหละที่ทำให้ความรู้สึกตัวอยู่ต่อเนื่อง แล้วกุศลธรรมมันก็จะคงอยู่ในใจของเราได้นานขึ้น แล้วก็ไม่เปิดช่องให้อกุศลธรรมเข้ามาครอบงำใจ
แต่ถ้าเกิดว่าความรู้สึกตัวมีน้อย มันก็เหมือนกับพอน้ำลดมดกินปลา ถ้าความรู้สึกตัวเรามีน้อย อกุศลธรรมก็เข้ามาเล่นงานจัดการกุศลธรรมในใจ ไม่เหลือหลอเลย เหมือนกับมดกินปลา เราต้องกลับกัน ต้องทำให้น้ำมา ปลามันจะได้กินมด อย่าให้น้ำลด น้ำลดเมื่อไหร่นี่เสร็จ ตัวกิเลสตัวตัณหาเข้ามาครอบงำ รวมทั้งความทุกข์ด้วย หมั่นสร้างความรู้สึกตัวมากขึ้นๆ เรื่อยๆ ให้มันครองใจเราไว้ หรือว่าต่อเนื่อง รักษาใจของเราอย่าให้ความรู้สึกตัวรั่วไหล แล้วกุศลธรรมก็จะเจริญงอกงามในใจ แล้วก็จัดการตัวอกุศลธรรมให้ออกไปจากใจเรา ความสุขก็จะเกิดขึ้นกับใจ ความสงบ ความเจริญงอกงาม การทำความดีก็จะเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง